Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

5 ข้อคิด รปห.อียิปต์: ประชาธิปไตยล้มง่ายเข้าและสร้างยากขึ้นทุกที

จากประชาไท
โดย เกษียร เตชะพีระ



ข้อคิดจากรัฐประหารในอียิปต์: ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งล้มง่ายเข้าและสร้างยากขึ้นทุกที จำเป็นต้องพัฒนากลไกมิติริเริ่มใหม่ต่าง ๆ เพื่อเปิดกว้างการใช้อำนาจแก่สังคมการเมือง

ที่กำลังเกิดขึ้นในอียิปต์ตอนนี้คือไอ้นี่ครับ = 

๑) การลุกฮือของมวลชน บวก 

๒) รัฐประหารของกองทัพ 

๓) ในนามเสรีนิยม เพื่อล้ม 

๔) ระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งของเสียงข้างมาก

๕) ที่มีแนวโน้มใช้อำนาจแบบอำนาจนิยม/ไม่เสรี

 
ในความหมายนั้น (๑+๒+๓+๔+๕) รัฐประหารในอียิปต์ครั้งนี้จึงพอเปรียบเทียบได้กับรัฐประหารของ คปค. เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙
 

"..นับวันประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันก็ ล้มง่ายเข้า และ สร้างยากขึ้น ทุกที"




เพื่อเข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องนี้ มีเหล่าปัจจัยที่ควรคำนึงดังนี้คือ:
 
๑) Information Technology, Social Media, New Media เหล่านี้ทำให้ความไม่พอใจของมวลชนสื่อถึงกันและก่อตัวเป็นกระแสได้พลิกไหว วูบวาบรวดเร็วกว่าในสมัยก่อนมาก และอาศัยสื่อเหล่านี้ การรวมตัวเชิงการเมืองแบบ flash mob ในรูปการต่าง ๆ ก็ง่ายขึ้นด้วย การเชื่อมโยงรวมตัวและรวมศูนย์ความไม่พอใจต่อรัฐบาลไปเป็นพลังฝ่ายค้านบน ท้องถนนจึงเกิดง่าย ทำให้รัฐบาลมีโอกาสเผชิญและสะดุดต่อกระแสม็อบต่อต้านอำนาจตนบ่อยเข้าและง่าย ขึ้น เสถียรภาพทางการเมืองที่ตีกรอบประคองกระแสการเมืองไว้อยู่ในครรลองสถาบัน ทางการยากจะรักษาไว้ให้มั่นคงยืนนานอย่างแต่ก่อน
 
แต่ในทางกลับกัน ม็อบประกายไฟไหม้ลามทุ่งเหล่านี้ก็เป็นประกายไฟไหม้ฟางด้วยในขณะเดียวกัน คือรวมเร็ว เลิกเร็ว ขาดความยั่งยืนเข้มแข็งมั่นคงเหนียวแน่นเชิงองค์การจัดตั้ง แกนนำ สถาบัน อุดมการณ์ หลักนโยบายในการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง จึงมีลักษณะอนาธิปไตย มีศักยภาพที่อาจทำลายอำนาจสถาปนาได้ แต่สร้างอำนาจสถาปนามาทดแทนไม่ได้ 
 
ประชาธิปไตยจึงล้มง่ายเข้าด้วยประการฉะนี้
 
แต่ขณะเดียวกันประชาธิปไตยก็สร้างยากขึ้นด้วย เนื่องจากเหตุหลายประการ กล่าวคือ
 
๒) การแตกแยกระหว่างหลักการและแบบแผนปฏิบัติของ เสรีนิยม กับ ประชาธิปไตย (liberalism & democracy) ซึ่งต่างหากจากกัน พัฒนามาในประวัติศาสตร์คนละชุดคนละกระแสกัน แล้วมาประกอบกันเข้าเป็นระบอบเสรีประชาธิปไตย (liberalism+democracy --> liberal democracy) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นี้เอง 
 
การปริแตกแยกทางระหว่าง เสรีนิยม (จำกัดอำนาจรัฐ ผ่านหลักสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกายชีวิตทรัพย์สินของบุคคลและเสียงข้างน้อย หลักนิติรัฐ ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม) กับ ประชาธิปไตย (กระจายอำนาจรัฐ ตามหลักความเสมอภาคทางการเมือง อำนาจอธิปไตยของปวงชนและการปกครองโดยเสียงข้างมาก) นี้ปรากฏขึ้นทั้งในเหล่าประเทศประชาธิปไตยตั้งมั่นศูนย์กลางตะวันตก และเหล่าประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ในถิ่นอื่น ๆ ของโลก 
 
ความต่างอยู่ตรงในประเทศประชาธิปไตยตั้งมั่นศูนย์กลาง เสรีนิยมเฟื่องฟู แต่ประชาธิปไตยฝ่อหด เกิดสภาพประชาธิปไตยที่ไร้ประชาชน
 
ส่วนในประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งมักเฟื่องฟู แต่เสรีนิยมถูกบีบรัดจำกัด เกิดสภาพประชาธิปไตยอำนาจนิยม/ไม่เสรี 
 
นี่คือเงื่อนไขแรกที่ทำให้ระบอบเสรีประชาธิปไตยเต็มใบสร้างยาก/ธำรงรักษาไว้ดังเดิมได้ยากขึ้นในที่ต่าง ๆ ของโลก
 
๓) การแพร่ขยายของแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์ในทางเศรษฐกิจ (economic neoliberalization/globalization) ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศของโลกเกิดปัญหาสงครามแก่งแย่งทรัพยากรกันระหว่างชนต่างชั้นต่างกลุ่ม ในสังคม เนื่องจากมีการผันทรัพยากรรัฐ/ส่วนรวม/ชุมชน เข้าไปในตลาดให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาฉวยใช้สะสมลงทุนกัน การบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนวิธีการใช้ ทรัพยากรเหล่านี้ ทำให้เกิดภาวะหนึ่งรัฐสองสังคมที่แตกแยกเหลื่อมล้ำขัดแย้งกันในทางวิถีชีวิต และการใช้ทรัพยากร และ ประชาธิปไตยที่ไร้อำนาจอธิปไตยสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ ในภาวะเช่นนี้ รัฐบาลประชาธิปไตยจะมีแนวโน้มอำนาจนิยมมากขึ้น เสรีนิยมน้อยลง และในที่สุดก็เป็นประชาธิปไตยน้อยลงด้วย เพื่อเอาอำนาจรัฐไปผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (ริบทรัพยากรจากคนส่วนมากที่ได้ใช้ของหลวงของส่วนรวมมาแต่เดิม มาโยนเข้าตลาดให้แย่งชิงกันแบบเอกชนเสรี ใครขวางก็ลุยปราบ) และผลักดันนโยบายประชานิยม (เพื่อสร้างความชอบธรรมชดเชยที่ไปแย่งทรัพยากรเขามา โดยผลักดันผ่านฝ่ายบริหารเป็นหลัก) 
 
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่เดินแนวทางเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์ทาง เศรษฐกิจ ยากจะรักษาฉันทมติ (consensus ความเห็นพ้องต้องกัน) และฉันทาคติ (consent ความสมยอมยอมรับอำนาจปกครอง) ของสังคมการเมืองไว้ได้ นโยบายนั้นจะไปเบียดเบียนผลประโยชน์มูลฐานของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม เสมอ ขณะที่กลุ่มอื่นได้ประโยชน์ คนในสังคมการเมืองก็ทะเลาะแบ่งแยกแตกร้าวกันเพราะเสรีนิยมใหม่ เกิดกลุ่มสังคมเศรษฐกิจบางกลุ่มที่ไม่สมยอมยอมรับอำนาจปกครองที่ดำเนิน นโยบายนั้นเพราะเสียประโยชน์ของตนไปภายใต้นโยบาย ต่อให้ชนะเลือกตั้งมาโดยชอบ ก็ไม่ยอมรับ ใส่หน้ากากเปลี่ยนสีเปลี่ยนโฉมไปประท้วงอยู่นั่นแหละ ฯลฯ ก็ทำให้ประชาธิปไตยสร้างได้ยากขึ้น
 
พรรคที่ชนะเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากของผู้ลงคะแนนสนับสนุนแนวนโยบาย กลับพบว่าพอเดินจากประชาชนผู้ออกเสียงสนับสนุนตนมา และนั่งลงในทำเนียบรัฐบาล ตัวเองกลับตกอยู่ในพลังกดดันรุมล้อมรอบทิศจากองค์การโลกบาลทางเศรษฐกิจต่าง ๆ (IMF, WTO, World Bank), ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ, และตลาดพันธบัตรโลก ที่ชี้เป็นชี้ตายอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลหนึ่ง ๆ จะต้องจ่ายให้แก่เงินกู้ที่มาซื้อพันธบัตรรัฐบาลของตน เผลอ ๆ ก็ต้องบิดเบนบิดเบี้ยวนโยบายที่รับปากประชาชนตอนหาเสียงไว้ ทำให้ไม่ได้ หรือทำให้ได้ไม่เต็มร้อยอย่างที่สัญญา ประชาธิปไตยก็เสื่อมถอยลง สร้างยากเข้าไปอีก
 
๔) การใช้อำนาจแบบอำนาจนิยม/ไม่เสรี (authoritarianism/illiberalism รวบอำนาจรวมศูนย์เพื่อผลักดันนโยบายที่ไม่เป็นที่นิยมยอมรับของกลุ่มชนใน สังคม ปิดแคบกีดกันกลุ่มอื่นที่เสียประโยชน์หรือคัดค้านออกไปจากกระบวนการนโยบาย ลดทอนสิทธิเสรีภาพของฝ่ายค้าน ฯลฯ) จึงเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวที่ดำเนินแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์ ที่ไปเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร และประชานิยมเพื่อชดเชยความชอบธรรมนั้น นับวันรัฐบาลประชาธิปไตยที่ชนะการเลือกตั้งเสียงข้างมากมาจึงใช้อำนาจไปใน ลักษณะใกล้เคียงกับรัฐบาลเผด็จการในอดีตมากขึ้น และเผชิญการคัดค้านจากมวลชนบนท้องถนน (เพราะไม่เหลือที่อื่นให้ยืนค้านในกระบวนการนโยบาย) อยู่เรื่อย ๆ
 
๕) ประชาธิปไตยหากยืนหยัดอยู่แค่ความชอบธรรมจากการเลือกตั้งเท่านั้น (ถูกต้องที่ยืนหยัด จำเป็นที่จะต้องยืนหยัด และละเว้นไมไ่ด้ที่จะต้องยืนหยัด เพื่อตัดการรัฐประหารออกไปจากสารบบการแก้ปัญหาทางการเมือง) ก็จะเผชิญสภาพไม่มั่นคง และไม่พอเพียงมากขึ้นทุกที ถ้าทั้งหมดที่เราพูดได้เพื่อปกป้องรัฐบาลประชาธิปไตยคือ เขามาจากการเลือกตั้งของเสียงข้างมากเพียงแค่นั้นแล้ว มันก็เป็นการพูดที่ถูกต้อง จำเป็นต้องพูด และละเว้นไม่ได้ที่จะต้องยืนยัน แต่มันจะไม่พอรับมือปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นจากเหตุผล ๑, ๒, ๓, ๔ ที่กล่าวมาข้างต้น 
 
 
 
ท่าทีที่จำเป็นคือยืนยันความชอบธรรมของรัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง (รัฐประหารยังเป็นความเป็นไปได้เชิงโครงสร้างของประเทศที่มีกองทัพประจำการ เสมอ ยกเว้นยุบกองทัพทิ้งแบบที่ส.ส.สงวน ตุลารักษ์เคยเสนอหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือคุมกองทัพแน่นปึ้กแบบพรรคคอมมิวนิสต์อย่างในเมืองจีน) แต่จำต้องพัฒนาประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งให้แผ่ขยายกลไก มิติ เครื่องมือในการปกครองบริหารจัดการออกไปเพื่อผนวกรวมผู้คนในสังคมที่แตกต่าง หลากหลายเข้ามาในกระบวนการใช้อำนาจมากขึ้น ลดด้านอำนาจนิยม ไม่เสรี และเชิงเดี่ยวในการใช้อำนาจผ่านตัวแทนจากการเลือกตั้งล้วน ๆ ลงไป มีแต่วิธีนี้เท่านั้นที่ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งจะยั่งยืนและก้าวหน้า พัฒนาไปทันกับวิกฤตความเปลี่ยนแปลงที่รุมล้อมเข้ามา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น