โดย อภิชาต สถิตนิรามัย
หลังจากเหตุการณ์พฤษภาคมอำมหิต 2553 ใหม่ๆ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสองชุด ชุดแรกชื่อว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ โดยมีอดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ส่วนชุดที่สองคือ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ซึ่งมี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน รัฐบาลหวังว่ากรรมการทั้งสองชุดจะผลิตข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ของสังคมไทย ในการแถลงข่าวเปิดตัวคณะกรรมการทั้งสองชุดที่บ้านพิษณุโลก เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2553 นั้น นายอานันท์กล่าวว่า คณะกรรมการทั้งสองชุดมีอำนาจหน้าที่
"ในการกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ และกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูป จัดทำข้อยุติและข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปเสนอต่อสาธารณชนและภาครัฐ...ที่มุ่งไปสู่ [การลด]ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เสริมสร้างสมรรถนะ และพลังปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีความเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข มีศักดิ์ศรี มีความเป็นธรรม อันจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ สันติสุข"
กล่าวในอีกทางหนึ่ง ทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์และกรรมการทั้งสองชุดมีสมมติฐานร่วมกันว่า ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงนั้น มีรากฐานมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า สังคมไทยในปัจจุบันนั้นจะยังคงเชื่อถือในสมมติฐานดังกล่าวนี้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากเรื่องราวและผลงานของกรรมการทั้งสองชุดไม่ได้รับการถกเถียงทางสาธารณะ
ข้อมูลการสำรวจของ อาจารย์วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานวิจัยเรื่องเหลือง-แดงร่วมกับผู้เขียน ชี้ว่าการที่คนเสื้อแดงมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่าเสื้อเหลืองนั้น ไม่ได้หมายความว่าความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุที่จุดปะทุของความขัดแย้งทางการเมือง เรากลับพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง และผู้เป็นกลาง มีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันหมด คือค่อนข้างเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
กล่าวในรายละเอียดเรื่องความยากจนนั้น แม้กลุ่มเสื้อแดงมีแนวโน้มฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำกว่าเสื้อเหลือง แต่กลุ่มเสื้อแดงทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดที่ตอบแบบสอบถามกลับไม่ใช่กลุ่มที่เป็น
กลุ่มจนที่สุดเนื่องจากกลุ่มที่เราไม่สามารถจำแนกได้ว่าเข้าข่ายสีใดทางการเมือง ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่ไม่มีความสนใจทางการเมืองเลยก็ได้ กลับเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มรายได้ต่ำกว่าทุกกลุ่มสีทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ดังนั้น เราจึงไม่อาจสรุปได้ว่าความยากจนเป็นสาเหตุของความเป็นเสื้อแดง
ผู้วิจัยพบอีกว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร (51.5%) เห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้น "ห่างมากแต่ยังพอรับได้" ส่วนผู้เห็นว่า "ห่างมากจนรับไม่ได้" มีเพียง 27.85% เท่านั้น ในหมู่คนกลุ่มนี้กลับปรากฏว่า คนเสื้อเหลืองมีแนวโน้มจะเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้น "ห่างมากจนรับไม่ได้" มากกว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นคนเสื้อแดง
ในทางตรงข้าม ผู้ที่ถูกเราจัดเป็นสีแดงแบบที่หนึ่ง ซึ่งเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้น "ไม่ห่างมาก กำลังพอดี" กลับมีมากกว่าสีอื่นๆ ทั้งหมด
ข้อมูลข้างต้นถูกยืนยันอีกชั้นหนึ่งเมื่อใช้วิธีการทางสถิติเพื่อตรวจสอบว่า มีความแตกต่างของทัศนคติต่อเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มแดงและกลุ่มเหลืองอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่ วรรณวิภางค์พบว่าในเขตต่างจังหวัดนั้น มีเฉพาะกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายสีใดทางการเมือง, กลุ่มเป็น
กลาง, และกลุ่มเหลืองเฉดหนึ่งเท่านั้น ที่มีแนวโน้มจะเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้น "ห่างมากจนรับไม่ได้" มากกว่ากลุ่มเสื้อแดง ส่วนในเขต กทม.ผลปรากฏว่าทุกกลุ่มเฉดสีทางการเมือง (ยกเว้นกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายสีใด) มีแนวโน้มจะเห็นว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้น "ห่างมากจนรับไม่ได้" มากกว่ากลุ่มเสื้อแดงเฉดหนึ่ง ดังนั้น ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจึงไม่ใช่สาเหตุที่ลั่นไกความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสี เนื่องจากความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นปัญหาจนรับไม่ได้จากส่วนใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดง ตรงข้าม ประเด็นนี้กลับถูกให้ความสำคัญมากกว่าจากกลุ่มเหลืองทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ
สมควรกล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาของวรรณวิภางค์ข้างต้น สอดรับกับข้อมูลที่ได้จากการสนทนากลุ่มของทีมวิจัย ซึ่งไม่พบเลยว่ามีผู้ใดเริ่มต้นพัฒนาความเป็นคนเสื้อแดงจากฐานปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจข้อมูลชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ของคนเสื้อแดงประเภท "ชาวบ้าน" หรือที่ทีมวิจัยจัดให้เป็นกลุ่ม "ชนชั้นกลางระดับล่าง" นั้นพัฒนาความเป็นแดงขึ้นมาจากการเป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากนโยบาย "ประชานิยม" หรือนโยบายอื่น รวมทั้งความคล่องตัวทางเศรษฐกิจในยุครัฐบาลทักษิณ
อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ถกเถียงว่า การที่คนเสื้อแดงเริ่มต้นความเป็นแดงจากการได้ประโยชน์โดยตรงจากนโยบายประชานิยมนั้น ก็ย่อมส่อนัยว่า ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำนั้นน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งทางการเมือง ในประเด็นนี้เราเห็นว่า ความยากจน ความเหลื่อมล้ำอย่างมากที่สุดก็เป็นเพียงปัจจัยที่จำเป็นแต่ไม่ใช่ปัจจัยเพียงพอที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้
หากว่าความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นทั้งปัจจัยจำเป็นและเพียงพอแล้ว สิ่งนี้ย่อมอธิบายไม่ได้ว่าทำไมความขัดแย้งทางการเมืองจึงเพิ่งมาปะทุขึ้นหลัง 2549 เป็นต้นมา ทั้งๆ ที่ปมปัญหานี้ดำรงอยู่ในสังคมมานานหลายสิบปีแล้ว
หากผลการวิจัยของพวกเราสามารถสะท้อนความเป็นจริงได้โดยไม่คลาดเคลื่อนมากนักแล้ว ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ความพยายาม การลงแรง รวมทั้งงบประมาณกว่า 600 ล้านบาท ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์อนุมัติให้กรรมการทั้งสองชุด เพื่อเสนอมาตรการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำ โดยหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสีได้นั้น เป็นการลงทุนและลงแรงที่สูญเปล่า เนื่องจากเริ่มต้นการทำงานด้วยข้อสมมติฐานที่ผิดพลาดเสียแต่ต้นว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (และความยากจน) เป็นที่มาของความขัดแย้งเสื้อสี โปรดอย่าเข้าใจผิดว่า ผู้เขียนเห็นว่าระดับความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยในปัจจุบันนั้น ไม่เป็นปัญหาหรือไม่มีผลเสียมากมายอะไร ตรงข้ามผู้เขียนเห็นว่าระดับความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจของเรานั้นเป็นปัญหาใหญ่
ผู้เขียนเพียงแต่อยากชี้ว่า ต่อให้เราสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้แล้ว ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องดีมากๆๆ ก็ตาม ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสีก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น