Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการจำนำข้าว (อีกที)

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่มา: มติชนออนไลน์




ผมถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่บทความของผมได้รับการวิจารณ์จากนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงสองท่าน คือท่านอาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร และท่านอาจารย์อัมมาร สยามวาลา หลังจากใคร่ครวญแล้ว ผมคิดว่าควรตอบการวิจารณ์ เพราะหนึ่งเป็นการให้เกียรติแก่ความเห็นของท่านทั้งสอง และสอง นโยบายรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงเป็นนโยบายหลักอันหนึ่งของรัฐบาล และน่าจะมีผลกระทบต่อไปในภายหน้าหลายด้าน สมควรที่คนไทยจะสนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการถกเถียงพินิจพิเคราะห์นโยบายนี้

ผมไม่ต้องใช้ความกล้าหาญอะไรในการเสนอเปลี่ยนประเทศไทย เพราะข้อเสนอของผมไม่ได้ตั้งอยู่บนอำนาจ เป็นความเห็นของพลเมืองคนหนึ่ง ที่จริงประเทศไทยถูกเปลี่ยนมาไม่รู้จะกี่ครั้งแล้ว ซ้ำเป็นการเปลี่ยนด้วยอำนาจ ก่อให้เกิดความเสียหายมากมายก็บ่อยครั้ง เรื่องนี้ก็แล้วแต่จะมองว่าความเสียหายพึงวัดด้วยอะไรได้บ้าง เช่น พัฒนาประเทศโดยไม่พัฒนาคน ทำให้เราอาจมาถึงทางตันที่ก้าวต่อไปไม่ได้ (ซึ่งเรียกกันว่ากับดักของเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลาง) หนึ่งหรือสองชั่วอายุคนที่หายไปเปล่าๆ นี้ คิดเป็นค่าสูญเสียโอกาสสักกี่พันกี่แสนล้าน ผมก็คิดไม่เป็น

อย่างไรก็ตาม หากข้อความเกี่ยวกับความกล้าหาญจนเกินจะรับผิดชอบได้ไหวนี้ เจตนาจะประชดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผมก็เข้าใจได้ แต่เห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์นัก แน่นอนว่านโยบายที่มีผลกระทบกว้างไกลเช่นนี้ควรเกิดขึ้นในกระบวนการ "ปรึกษาหารือ" มากกว่าการโฆษณาหาเสียง แต่นโยบายที่มีผลกระทบกว้างไกลเช่นนี้หรือยิ่งกว่านี้ ก็ถูกตัดสินใจโดยไม่ผ่านกระบวนการ "ปรึกษาหารือ" มามากแล้วในเมืองไทย ทั้งจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร

ผมอยากเห็นเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) ท่านอาจารย์ทั้งสองก็ทราบอยู่แล้วว่า การ "ปรึกษาหารือ" ในระบอบประชาธิปไตย ต้องการกระบวนการซึ่งประกอบด้วยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขององค์กรและสถาบันหลายอย่าง ทั้งในทางเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคม องค์กรและสถาบันเหล่านั้นของไทยไม่ทำงาน หรือทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ กระบวนการ "ปรึกษาหารือ" จึงเกิดขึ้นไม่ได้

ที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ผิด ผิดแน่ครับ แต่ผิดอยู่ภายใต้ระบบใหญ่ที่ผิดมากและผิดนานแล้ว จะโจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเรื่องนี้ก็โจมตีเลยครับ แต่ควรโจมตีด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้กระบวนการปรึกษาหารือเป็นไปได้ในระบอบประชาธิปไตยไทย (และด้วยเหตุดังนั้น เป้าที่น่าจะถูกโจมตีมากกว่าจึงควรเป็นตลาดหลักทรัพย์, มหาวิทยาลัย, พรรคการเมือง, สื่อ ฯลฯ หรือองค์กรทางเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคมที่ไม่ทำงาน หรือทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ)

ผมต้องขอประทานโทษที่กล่าวว่า ไม่มีการวิจัยเกี่ยวกับการกระจายเงินจำนำข้าว จึงทำให้ไม่รู้แน่ว่าชาวนาเล็กได้มากน้อยเพียงไร ท่านอาจารย์ทั้งสองได้แสดงตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่าชาวนาเล็ก (จำนำข้าวราคาต่ำกว่า 200,000 บาท) ได้ผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาตลาดกับราคาจำนำเพียง 18% ซึ่งไม่ถึงครึ่งที่ชาวนาปานกลางและชาวนารวยได้รับ ผมตามไปดูรายละเอียดในบทความเต็ม และเท่าที่ผมจะมีความสามารถเข้าใจได้ (แล้วก็ยังอาจผิดอยู่นั่นเอง) ผมก็ออกจะงงๆ ว่าตัวเลขนี้แสดงอะไร

ท่านอาจารย์ทั้งสองสมมุติว่าชาวนาจำนำข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมดให้รัฐบาล แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อข้าวสารกิน เงินที่ได้จากจำนำข้าวคือต้นทุนของการซื้อข้าวสารกิน คนที่จำนำได้เงินไปต่ำกว่า 200,000 ย่อมหมดเงินไปกับการกินนับเป็นสัดส่วนมาก จึงเหลือเงินอยู่น้อย ส่วนคนที่ได้เงินจากจำนำข้าวไปมากๆ (กว่า 200,000 บาท) ย่อมเสียเงินกินข้าวเป็นสัดส่วนน้อย และเหลือเงินมากกว่า

แต่ผมก็ตอบไม่ได้ว่า แล้วทำไมชาวนารวยซึ่งได้เงินจำนำข้าวมามากกว่าชาวนาปานกลาง จึงได้ผลประโยชน์จากความต่างของราคาน้อยกว่าชาวนาปานกลาง จะเป็นเพราะชาวนารวยมีปากท้องต้องเลี้ยงมากกว่า (เช่นบริวารและลูกจ้างในกิจกรรมนอกการปลูกข้าว) หรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม ทำให้เห็นว่า ตัวเลขนี้ใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ใช้ไม่ได้เลยนะครับ แต่ใช้เพื่ออธิบายความสลับซับซ้อนของการผลิตข้าวระหว่างชาวนาต่างระดับฐานะไม่ได้ ถ้าไม่ไปดูถึงต้นทุนการผลิตของชาวนาต่างระดับ แบบแผนการบริโภคข้าวและอื่นๆ ด้วย

ที่ใช้ไม่ได้แน่ก็คือ นี่เป็นตัวเลขที่มาจากการสมมุติ ผมไม่ทราบว่าชาวนาเล็กแบ่งข้าวไว้กินเองหรือไม่ แต่เท่าที่ผมได้พบในเขตชานเมืองเชียงใหม่ เขาแบ่งข้าวไว้กินเองด้วย มีแม้กระทั่งลูกจ้างนอกภาคเกษตรรวมตัวกันมาเช่านาเขาปลูกข้าว แล้วแบ่งผลผลิตกัน (คือเป็นชาวนาวันหยุดเหมือนในญี่ปุ่น) 18% ที่ชาวนาเล็กได้ไป (ครับไม่ใช่ตัวเลข ?กำไร? แท้ๆ แต่สมมุติว่าใช่) จึงต้องถือว่าเป็นกอบเป็นกำพอสมควร

แม้แต่ต้องซื้อข้าวสารกินตลอดปี แล้วยังได้ผลประโยชน์จากความต่างของราคาเพียง 18% ก็ถือว่าดีไม่ใช่หรือครับ แต่ผมไม่ทราบว่า 18% นี้เพียงพอหรือไม่กับต้นทุนการผลิต เช่น ค่าเช่านา, ค่าจ้างรถไถ, ค่าปุ๋ย และยาฆ่าแมลง แม้ว่าอาจยังขาดทุนอยู่ ก็ขาดทุนน้อยลงไม่ใช่หรือครับ

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้แปลกใจอะไรที่ชาวนาเล็กได้ผลประโยชน์จากโครงการนี้เป็นสัดส่วนน้อยที่สุด แต่การที่ชาวนาปานกลางได้ผลประโยชน์เป็นสัดส่วนที่สูง ก็ไม่ใช่ความเสียหายอะไรนะครับ พวกเขาก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่รัฐควรให้การสนับสนุน ยิ่งถ้าคิดว่ารัฐให้การสนับสนุนคนกลุ่มอื่น ผ่านบีโอไอ ไปจนถึงการวางนโยบายที่เอื้อต่อประโยชน์ต่อนักลงทุนด้านธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมหึมากว่านี้อีกมาก แค่ไปค้ำประกันเงินกู้ของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ก็ไม่รู้จะเข้าไปเท่าไรแล้ว (ก็รู้กันอยู่แล้วว่าไผเป็นไผ) หากโครงการพังพาบลง ทั้งหมดนี้ก็เงินภาษีประชาชนเหมือนกัน ฉะนั้น การช่วยให้ชาวนาปานกลางและรวยผลิตข้าวได้กำไรมากขึ้น ก็ไม่ใช่ความผิดในตัวมันเอง

จะว่าธุรกิจอุตสาหกรรมมีการจ้างงาน การทำนาของชาวนาปานกลางและรวยก็มีการจ้างงานไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งจ้างทางตรงและทางอ้อม เพียงแต่อาจมีบทบาทน้อยกว่าในด้านความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่ความจำเริญทางเศรษฐกิจไม่น่าจะเป็นมาตรฐานเดียวสำหรับวัดความคุ้มค่าของโครงการไม่ใช่หรือครับ

แน่นอนครับ ระหว่างการรับจำนำข้าวราคาสูงทุกเม็ด กับการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตข้าวทั้งระบบ ทำอย่างหลังดีกว่าแน่ เพราะยากที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวนาเล็กด้วยการเข้าไปแทรกแซงเฉพาะที่ราคาข้าวในบั้นปลายของทั้งกระบวนการ ผมเชื่อว่า การรับจำนำข้าว ไม่ว่าจะทำอย่างไร ผลประโยชน์ก็จะตกถึงชาวนาเล็กไม่มากเสมอ ยกเว้นแต่การรับจำนำข้าวด้วยวิธีการที่เป็นไปไม่ได้ในการเมืองไทย ดังนั้น ท่ามกลางเงื่อนไขทางการเมืองที่จำกัดอยู่นี้ ผมจึงเห็นว่า การยอมขาดทุนด้วยการรับจำนำสูงกว่าราคาตลาด ทำให้ผลประโยชน์ตกถึงชาวนาเล็กมากที่สุด

แต่ผมไม่รับรองหรอกครับว่า รายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นนิดหน่อยนี้ ชาวนาเล็กจะนำไปใช้ในทางพัฒนาตนเองมากน้อยเพียงไร ที่จริงแล้วหากมีเนื้อที่ในบทความเดิม ผมอยากพูดถึงการสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้การพัฒนาตนเองของชาวนาเล็กเป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ทำให้การศึกษา (ทั้งในความหมายถึงระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน) เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้แก่ทุกคน โดยแทบไม่ต้องลงทุนเป็นตัวเงิน ก็เป็นไปได้มากขึ้นที่รายได้ซึ่งเพิ่มขึ้นนิดหน่อยนี้จะถูกใช้ไปในการเตรียมความพร้อมของตนเองหรือบุตรหลาน ในการที่จะเข้าสู่ภาคการผลิตอื่นอย่างมีอำนาจต่อรอง

พูดถึงงานนอกภาคเกษตรแล้ว ผมไม่ได้ "อยาก" ให้คนออกจากภาคเกษตรไปสู่งานอื่น แต่อย่างไรเสียพัฒนาการทางเศรษฐกิจก็บังคับให้ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเขาจะออกไปอย่างมีอำนาจต่อรองมากน้อยแค่ไหน เป็นคนงานไร้ทักษะก็จะถูกกดค่าแรงตลอดไป เพราะถึงประชากรในประเทศคงที่ ก็อาจรับแรงงานต่างด้าวในราคาถูกมาใช้ได้ ดังนั้น การที่คนหันกลับมาทำนา แทนที่จะไปหางานนอกภาคเกษตร หากทำนาแล้วได้รายได้ไม่แพ้งานนอกภาคเกษตรก็ดีแล้ว ผมไม่เห็นว่าจะควรเดือดร้อนเรื่องนี้ทำไม ยิ่งกว่านี้หากคนจบ ม.3 หันกลับมาทำนาเพิ่มขึ้น ค่าแรงของคนจบ ม.3 ในตลาดงานจ้างก็น่าจะสูงขึ้น (ไม่ว่าจะมี 300 บาทหรือไม่) ซึ่งยิ่งเร่งเร้าให้ชาวนาส่งลูกเรียนหนังสือให้ถึง ม.3 มากขึ้น ก็ดีไม่ใช่หรือครับ

มีคนพูดถึงความขาดแคลนแรงงานในสังคมไทยอยู่บ่อยๆ ผมสงสัยว่านี่เป็นการพูดจากตัวเลขมากกว่าพูดจากความเป็นจริง ก็ถ้าแรงงานขาดแคลนจริง จะโวยวายเรื่องค่าแรง 300 บาทกันให้จ้าละหวั่นทำไม ผมคิดว่าเราไม่ควรพูดถึงการทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนด้วยแรงงานต่างชาติเฉยๆ โดยไม่พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบอย่างโหดร้ายที่แรงงานต่างชาติได้รับอยู่

ทำไมแรงงานไทยจึงไม่ยอมเป็นลูกจ้างในเรือประมง ไม่ใช่เพราะมันอันตรายหรือสกปรกเท่านั้น แต่เป็นงานที่จ่ายค่าจ้างต่ำอย่างน่าอัศจรรย์ (สำหรับเศรษฐกิจไทย) ด้วย งานของลูกเรือประมงนั้นต้องเรียกว่า 24 ชั่วโมง ไม่ได้หมายความว่าทำงานหัวไม่วางหางไม่เว้น แต่ต้องพร้อมจะถูกเรียกไปทำงานหนักได้ทั้ง 24 ชั่วโมง หากคิดตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำเดิมคือ 160 บาทต่อ 8 ชั่วโมง วันหนึ่งลูกเรือควรได้ค่าจ้าง 480 บาท แต่ต้องนั่งๆ นอนๆ รอทำงานไปด้วย คิดเพิ่มเพียงสองเท่าก็จะเป็น 320 บาทต่อวัน (ยังไม่รวมผลประโยชน์อื่นๆ ที่นายจ้างต้องจ่ายตามกฎหมายแรงงาน) ก็ลองจ่ายในราคานี้ดูสิครับ ว่าจะมีแรงงานไทยลงเรือประมงหรือไม่

การที่แรงงานไทยไม่ลงเรือประมง ก็เป็นอำนาจต่อรองอย่างหนึ่ง แต่เป็นอำนาจต่อรองที่ไม่ได้เกิดจากคุณภาพของตัวแรงงานเท่ากับเงื่อนไขของอุปทานแรงงานภายในประเทศ ผมจึงเสนอว่า ไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ในภาคการเกษตรก็ตาม ทำอย่างไรจึงจะให้คนไทยได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือ เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีอำนาจต่อรองพอสมควร

หากทำได้ก็จะเป็นการเปลี่ยนประเทศไทยอย่างแท้จริง

การรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงอย่างเดียวคงช่วยได้น้อยมาก หากให้วิจารณ์โครงการนี้ของรัฐบาล ผมคงวิจารณ์ว่าทำน้อยเกินไป ไม่ใช่ให้เงินน้อยเกินไป แต่เงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำอย่างอื่นอีกหลายอย่างเพื่อให้เงินที่ชาวนาได้เพิ่มขึ้นนี้มีพลังในการพัฒนาตัวของชาวนาเองด้วย ผมอยากเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกรัฐบาล เลิกเชื่อทักษิณเสียทีว่าเงินแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง (แต่ก็ไม่ใช่ว่าปัญหาทุกอย่างแก้ได้โดยไม่ต้องใช้เงิน) เพราะเป็นการแก้ปัญหาระดับปรากฏการณ์ โดยไม่เข้าไปแตะตัวโครงสร้างซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา

แน่นอนว่าโครงการรับจำนำข้าวด้วยราคาที่สูงกว่าตลาดของรัฐบาลนี้ มีช่องโหว่, ความหละหลวม, รูรั่ว ฯลฯ มากมาย ซึ่งน่าจะอุดเสีย เช่นโรงสีได้กำไรสูงเกินไปอย่างที่ท่านอาจารย์ทั้งสองกล่าวไว้ ก็ลดค่าจ้างสีข้าวลง และ/หรือเพิ่มปริมาณข้าวสารที่เป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย แต่โดยหลักการนั้นผมเห็นว่าถูกต้องและเป็นไปได้ที่สุดในการช่วยให้ชาวนาได้ปรับตัว เป็นไปได้ทางการเมือง และเป็นไปได้ในเชิงงบประมาณด้วย

สัญญาณแห่งความไม่มั่นคงของงบประมาณดังที่ท่านอาจารย์ทั้งสองชี้ไว้นี้ หากเป็นจริง เราก็ไม่มีทางรู้ว่าเกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำหรือจากอะไรอื่น เช่นงบประมาณทหารสูงเกินไป แต่รัฐบาลไม่กล้าแตะ ก็เป็นภาระ (ซึ่งจะเรียกว่าความเสียหายก็ได้) ทางงบประมาณจนไม่อาจหาเงินไปเพิ่มให้แก่โครงการ 30 บาท งบประมาณไทยถูกใช้ไปในทางที่ไม่ควรใช้มากเสียกว่าเอาไปประกันราคาข้าวมากมายนัก

เรื่องสุดท้ายที่อยากพูดถึงไม่เกี่ยวกับการรับจำนำข้าว แต่ท่านอาจารย์ทั้งสองได้พูดทิ้งไว้ว่า อำนาจของชาวนามาจากการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ผมคาดว่าท่านอาจารย์ทั้งสองไม่ตั้งใจจะบ่อนทำลายความชอบธรรมของอำนาจนี้ว่ามาจากการซื้อเสียง อย่างที่คนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปจำนวนมากพยายามทำอยู่ แต่ไม่ดีหรอกหรือครับที่อำนาจมาจากหีบบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่จากรถถังที่เอาเงินของประชาชนไปซื้อมา (อย่างน่าเคลือบแคลงเสียด้วย)

ดูเหมือนมีทฤษฎีประหลาดที่ว่า การเมืองมวลชน (mass politics) นำมาซึ่งประชานิยม เพราะนักการเมืองย่อมหาเสียงด้วยนโยบายที่ประชาชนได้รับผลตอบแทนสูงหรือชอบ แล้วมันผิดตรงไหนหรือครับ นี่คือหัวใจของการปกครองตนเองอันเป็นหลักของประชาธิปไตยไม่ใช่หรือครับ เราเลือกคนที่เราพอใจไปจัดสรรทรัพยากรและโอกาสแทนเรา มันจะมีปัญหาได้ก็ต่อเมื่อเราคิดว่ามีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่พอใจในสิ่งอันควรพอใจ (ดอกบัว) และมีคนบางกลุ่มพอใจกับสิ่งอันไม่ควรพอใจ (กงจักร) ด้วยเหตุดังนั้น อำนาจจากหีบบัตรเลือกตั้งจึงไว้ใจไม่ได้

ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า โอกาสที่จะเกิดประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบนั้นเกิดขึ้นได้ ไม่เฉพาะแต่ในละตินอเมริกาหรือเมืองไทย แต่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกสังคมประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตยมีความเสี่ยง (แต่เสี่ยงน้อยกว่าระบอบเผด็จการหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์) เราลดความเสี่ยงนี้ลงได้หลายวิธี การกระทำของท่านอาจารย์ทั้งสอง (และผม) ก็เป็นส่วนหนึ่งของการลดความเสี่ยง ยังมีองค์กรและสถาบันอีกมากซึ่งหากทำงานให้ดีแล้วก็จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ด้วย รวมทั้งการออกแบบระบบที่ทำให้ประชานิยมส่งผลร้ายได้ไม่เต็มที่ด้วย (เช่นกระจายอำนาจ)

ประชานิยมไม่ใช่ความชั่วในตัวของมันเอง เพราะมีทั้งประชานิยมที่รับผิดชอบและไม่รับผิดชอบ ผมคิดว่าหากจะโจมตี ก็ไม่ควรโจมตีประชานิยม แต่ควรโจมตีองค์กร สถาบัน และระบบ ในสังคมนั้นๆ ที่ไม่ลดความเสี่ยงของการเมืองมวลชนหรือประชาธิปไตยลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคาดหวังใหม่ๆ ต่อองค์กร สถาบัน และระบบจากสังคม ผมหวังว่าท่านอาจารย์ทั้งสองคงเห็นด้วยกับผมในแง่นี้

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ4 ธันวาคม 2555 เวลา 09:57

    เห็นด้วยกับอาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ อย่างยิ่ง การที่นักวิชาการบ้านเราบางกลุ่ม "ดีแต่พูด" เน้นเฉพาะบางประเด็น บางรัฐบาลและบางองค์กร โดยไม่วิเคาระห์ให้เห็นถึงภาพรวมทั้งระบบใหญ่ของประเทศ อาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาของประเทศ
    เราในฐานะประชาชนคนหนึ่ง จึงไม่มั่นใจว่า กลุ่มนักวิชาการ ที่ออกมาโจมตีนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดนี้ มีเจตนาดีหรือไม่อย่างไร

    ตอบลบ