โดย ธีระ นุชเปี่ยม ศูนย์เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
หน้า 7,มติชนรายวันฉบับวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม2555
เมียนมาร์เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนใน ค.ศ.1997 พร้อมกับ สปป.ลาว และเมื่อกัมพูชาได้เป็นสมาชิก อีก 2 ปีต่อมา อาเซียนก็บรรลุปณิธานของการเป็น "อาเซียน 10" หรือการเป็นกลุ่มภูมิภาคที่รวมทุกชาติในภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน (ปัจจุบันมีเพียงติมอร์เลสเตที่เพิ่งเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการใน ค.ศ.2012 ที่ยังไม่ได้ร่วมเป็นสมาชิก) แต่การนำเมียนมาร์เข้ามาเป็นสมาชิกก็ได้สร้างปัญหาให้แก่อาเซียนอย่างมาก โดยเฉพาะจากการที่ชาติตะวันตกไม่ยอมรับและโดดเดี่ยวเมียนมาร์ทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ ค.ศ.1988 เพราะรัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมาร์ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองและเข่นฆ่าประชาชนที่ลุกฮือขึ้นเกือบทั่วประเทศในปีนั้น
อย่างไรก็ดี ความอดทนของอาเซียนในการยืนหยัดอยู่กับเมียนมาร์ก็ถือว่าบรรลุผลในที่สุด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในประเทศนี้
เมียนมาร์ที่เคยฉุดรั้งอาเซียนดูจะกลายเป็นแม่เหล็กดึงความสนใจของโลกภายนอกมาที่อาเซียนในขณะนี้ด้วยซ้ำ
จริงๆ แล้วเมียนมาร์เป็นชาติหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สมควรได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างมาก ช่วง 10 ปีแรกภายหลังได้รับเอกราชใน ค.ศ.1948 เมียนมาร์เกือบไม่มีโอกาสได้พัฒนาประเทศ เพราะปัญหาความปั่นป่วนรุนแรงภายในจากทั้งความขัดแย้งกับชนชาติกลุ่มน้อยและการกบฏต่อต้านโดยกลุ่มและขบวนการต่างๆ หลากหลาย หลังจากนั้นไม่นาน คือใน ค.ศ.1962 เมียนมาร์ก็ต้องตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารที่ต้องการนำเมียนมาร์ไปสู่ "ระบบสังคมนิยมตามแนวทางของพม่า" (Burmese Way to Socialism) การพัฒนาไปในแนวทางนี้อย่างโดดเดี่ยวจากโลกภายนอกอย่างมาก ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ใน ค.ศ.1987 สหประชาชาติขึ้นบัญชีเมียนมาร์เป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (least developed country) ประเทศหนึ่ง
แม้ว่าหลัง ค.ศ.1988 มีความพยายามที่จะเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนจากภายนอก แต่นโยบายรัฐบาลก็ยังขาดความคงเส้นคงวา ประกอบกับการถูกโดดเดี่ยวจากโลกตะวันตกและการสู้รบกับชนชาติกลุ่มน้อยที่ยังดำเนินอยู่จนถึงประมาณกลางทศวรรษ 1990 (ล่าสุด ตัวแทนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNU ที่ต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลตลอดมาก็ได้พบปะกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เพื่อตกลงเจรจาสันติภาพระหว่างกันเมื่อต้นปีนี้) ความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจในเมียนมาร์จึงมีน้อยมาก
ความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเกิดขึ้นในช่วงระยะไม่ถึง 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยที่ทั้งความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ภายนอกและการคลี่คลายของบรรยากาศทางการเมืองภายในเมียนมาร์ ส่งผลให้เมียนมาร์ไม่เพียงแต่กลับมาสู่ความสนใจ แต่กล่าวได้ว่าอย่างน้อยขณะนี้ได้กลับมาสู่ประชาคมระหว่างชาติหลังจากอยู่โดดเดี่ยวมาประมาณครึ่งศตวรรษเต็มๆ
แม้ว่าการสูญเสียเลือดเนื้อทั้งจากเหตุการณ์ที่เมือง Depayin ใน ค.ศ.2003 (ฝูงชนที่รัฐบาลสนับสนุนเข่นฆ่ากลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายค้านหรือ NLD ประมาณ 70 คน) และใน ค.ศ.2007 (การปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนที่ลุกฮือทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพัน) ทำให้ภาพลักษณ์ของเมียนมาร์ตกต่ำยิ่งขึ้นไปอีก แต่โศกนาฏกรรมจากพายุไซโคลนนาร์กีสที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสนคน ก็มีส่วนอยู่ไม่น้อยในการสร้างความเชื่อมั่นและสันถวไมตรีระหว่างเมียนมาร์กับประชาคมระหว่างชาติให้ดีขึ้น การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 3 ฝ่าย คือ อาเซียน สหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ของเมียนมาร์ ได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นครั้งสำคัญ
ที่สำคัญที่สุดคือ การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2010 ที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนในปีต่อมา และการถอยกลับไปอยู่หลังฉากของกองทัพ ได้นำไปสู่การคลี่คลายบรรยากาศทางการเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนตั้งแต่ ค.ศ.1962 ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยนางออง ซาน ซูจี และนักโทษการเมืองอีกเป็นจำนวนมาก การให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชนมากขึ้น การยอมให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือแม้กระทั่งการล้มเลิกโครงการสร้างเขื่อนที่ได้รับการช่วยเหลือจากจีน ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกต่อต้านอย่างมาก
การเปลี่ยนแปลงสำคัญในช่วงนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลสหรัฐต้องการกลับเข้ามามีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อยับยั้งการขยายอิทธิพลของจีน ซึ่งมีส่วนช่วยเหลือเมียนมาร์อย่างมากระหว่างที่ถูกโดดเดี่ยว เมียนมาร์จึงเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการแข่งขันของมหาอำนาจ โดยที่การเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลสหรัฐต่อเมียน มาร์ไม่เพียงแต่จะทำให้เมียนมาร์กลายเป็นจุดเด่นในช่วงนี้เท่านั้น หากแต่ดูจะมีส่วนสำคัญในการเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้เร็วขึ้นอีกด้วย
ความเคลื่อนไหวสำคัญที่บ่งบอกถึงสถาน การณ์ที่เปลี่ยนไป คือ การที่อาเซียนตกลงเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่จะให้เมียนมาร์เป็นประธานอาเซียนใน ค.ศ.2014 เมียนมาร์เคยต้องสละสิทธิการมีตำแหน่งนี้มาแล้วใน ค.ศ.2005 ในระหว่างการประชุมสุดยอดที่เวียงจันทน์ เพราะกระแสต่อต้านรัฐบาลทหารของประเทศนี้ แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านหรือการแสดงความไม่มั่นใจจากบางกลุ่มบางฝ่ายทั้งภายในและภายนอกอาเซียน แต่ความเคลื่อนไหวในช่วงนี้ได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก จนแม้กระทั่งอาเซียนเองก็ดูจะกลายเป็นฝ่ายตามสถานการณ์ด้วยซ้ำ
ความเคลื่อนไหวเด่นที่สุดของช่วง ค.ศ.2012 คือการเยือนเมียนมาร์ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในเดือนพฤศจิกายน และได้พบปะทั้งกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และนาง
ออง ซาน ซูจี ผู้นำสหรัฐยอมรับว่าการปฏิรูปทั้งด้านประชาธิปไตยและในทางเศรษฐกิจที่
เริ่มโดยรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาร์สามารถจะนำไปสู่"โอกาสด้านการพัฒนาที่เหลือเชื่อ" จึงกระตุ้นให้มุ่งเดินหน้าไปในเส้นทางนี้ต่อไป อย่าให้ "แสงรำไรแห่งความก้าวหน้าที่เราได้เห็นแล้วนี้ดับไป" ในระหว่างการเยือน โอบามายอมเรียกชื่อประเทศว่า "เมียนมาร์" ซึ่งแม้จะถือเป็นเพียงมารยาททางการทูตวาระนี้เท่านั้น
แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นสำคัญยิ่งที่อาเซียนต้องติดตามความก้าวหน้าต่อไปอย่างใกล้ชิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น