ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 389 วันที่ 8-14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 หน้า 18-19 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
“ความจงเกลียดจงชังนับเป็น ปัจจัยที่ใกล้มือและใช้ได้พลิกแพลงเป็นที่สุดในบรรดาปัจจัย ที่ช่วยให้มวลชนปฏิวัติรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เพราะเกิดง่ายและมีอิทธิพลปั่นหัวมนุษย์ได้ลึกซึ้งมาก เริ่มตั้งแต่ทำให้คนเราลืมตัว หมดความคิด จนไม่ห่วงพะวงถึงอนาคตหรือความสุขสบายในชีวิตอีกต่อไป ความเกลียดชังยังทำให้ความหวงตนไว้ตัวของ มนุษย์ลดน้อยลงไป จิตใจจะเกิดอาการใฝ่หาพรรคพวกมาช่วยกันเกลียดช่วยกันชังอย่าง เร่าร้อน”
อีริค ฮอฟเฟอร์ (ERIC HOFFER) นักเขียนอเมริกันชื่อดัง กล่าวไว้ในหนังสือ THE TRUE BE LIEVER ในบทเกี่ยวกับจิตวิทยาการเมืองว่าด้วยธรรมชาติและธาตุแท้ของมวลชนปฏิวัติ ซึ่งนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้แปลและเรียบเรียงไว้ แม้จะเป็นการพูดถึงมวลชนปฏิวัติ แต่ทุกวันนี้ “ทฤษฎีความเกลียดชัง” ก็ยังเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการปลุกระดมมวลชนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งนายแก้วสรรเองก็น่าจะรู้ ดีในฐานะหนึ่งในระดับหัวหมู่ “คนเกลียดทักษิณ”
ฮอฟเฟอร์ระบุว่า มวลชนปฏิวัติทุกขบวนการต้องมีความจงเกลียดจงชังเป็นวิญญาณอยู่เสมอ แม้ว่าบางขบวนการจะไม่ได้มีความเชื่อ แต่มนุษย์ทุกคนล้วนมีส่วนของความชั่วร้ายอยู่ในตัวขบวน การปฏิวัติทุกขบวนการจึงต้องมี “ปิศาจ” หรือ “ซาตาน” ให้สาวกทั้งหลายได้เห็นและร่วมกันเกลียดชังเข้าไว้ ดังเช่นนาซีต้องมียิว หรือคอมมิวนิสต์ต้องมีนายทุนไว้เป็นตัวการแห่งความชั่วร้ายทั้งมวลในโลก ขบวนการใดทำให้เห็น “ปิศาจ” เป็นตัวเป็นตนและชั่วช้าได้ชัดเจนเท่าใด สาวกของขบวนการก็ยิ่งเกิดความเกลียดได้เข้ากระดูกดำจนสามารถรวมตัวกันได้เข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น
“ผู้นำมวลชนที่เชี่ยวชาญจึงต้องสามารถสร้างปิศาจที่มีฤทธิ์ล้นฟ้าไว้เน้นเป้าหมายในการปลุกระดม จนไม่ว่าสมาชิกจะเกลียดอะไร หรือเกลียดใคร เขาก็สามารถเหมามาลงที่ปิศาจนี้ได้เสมอ จนเกิดเป็นกระแสแห่งความเกลียดชังร่วมกันขึ้นมาได้”
ฮอฟเฟอร์จึงสรุปว่า มนุษย์มีธรรมชาติที่น่าเศร้า นอกจากไม่ค่อยมีความสามัคคีแล้วยังมักจะล้ำเส้นความเป็นมนุษย์ไปโดยไม่รู้ตัว เหมือนคณะลูกขุนที่ถูกตั้งขึ้นมาตัดสินคดีความก็อาจเป็นความกลมเกลียวปรองดองที่น่ากลัว เพราะอาจเกิดวิญญาณ “ซาดิสม์หมู่” ขึ้นมาได้ง่ายๆ “ความเป็นธรรม” จึงไม่มีในมนุษย์ที่จิตใจบ้าคลั่ง
วิกฤตเกินจริง-วาทกรรมเกลียดชัง
นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเพื่อความเป็นธรรมและเสมอภาคในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย” ว่าวิกฤตการเมืองไทยเป็นการสร้างวาทกรรมที่เกินจริง สร้างวาทกรรมให้มีความเกลียดชังกันอย่างเข้มข้นรุนแรง ขณะที่รากเหง้าของปัญหาคือความเหลื่อมล้ำก็มีมากขึ้น รวมทั้งปัญหาสื่อเสี้ยม ซึ่งอาจมองในเชิงโครงสร้างได้ 3 สาเหตุคือ
1.ผลพวงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ยังไม่ลงตัว ส่งผลให้เกิดวิกฤตการเมืองเป็นระยะๆ และสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
2.วงจรอุบาทว์ที่เมื่อมีการเลือกตั้งจะตามมาด้วยการซื้อเสียง ถอนทุน ทุจริต ขับไล่ประท้วง จลาจล การสร้างสถานการณ์ว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรม ใช้ความรุนแรงกับประชาชน จึงต้องส่งทหารมาควบคุมความเรียบร้อย อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือกรณีพฤษภาทมิฬ 2535
3.ความพอดีของระบอบประชาธิปไตยที่ประ เทศประชาธิปไตยทั่วโลกมีปัญหาเดียวกันคือ การเรียกร้องความเสมอภาค
“สาดกาแฟ” วลีแอร์โฮสเตส
จึงไม่แปลกที่จะเกิดกรณีแอร์โฮสเตสสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคที่ใช้ชื่อว่า “Honey Lochana chai” โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊คระบายถึงความรู้สึกเกลียดชังอย่างรุนแรงเมื่อทราบว่าต้องให้บริการผู้โดยสารที่เดินทางจากกรุงเทพฯไปฮ่องกงซึ่งมีรายชื่อของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และมีความคิดที่อยากจะ “สาดกาแฟ” ใส่ เพราะรู้สึกโกรธแค้นใจหลังการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าที่นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ต้องยุติลงเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
“ฉันนั่งสงบใจคิดขณะเครื่องลง ความรู้สึกของ เสธ.อ้ายตอนที่พูดคำว่า “เสธ.อ้ายได้ตายไปแล้ว” เมื่อเย็นวานนี้คงเจ็บปวดมากกว่าฉันตอนนี้นัก ฉันกลั้นน้ำตาที่อยากไหลออกมาไว้แค่นั้น กลืนมันกลับเข้าไปในอก บอกตัวเองว่าเราจะต้องต่อสู้กับคนเลวในบ้านเมืองอย่างมีสติ ด้วยปัญญา และความถูกต้องชอบธรรม อย่างน้อยวันนี้ฉันเอาชนะความโกรธ ความเกลียดอย่างแรงที่มีอยู่ ไม่ให้มันมามีอำนาจสร้างปัญหาเพิ่มทุกข์ให้ฉันได้ แพทองธารวันนี้ไม่โดนฉันเอากาแฟสาดหน้า แต่มันไม่รู้ว่าฉันจะต่อสู้ ทำให้พวกมันไม่ได้อยู่เป็นเสนียด [^_^]บนแผ่นดินไทยอีกต่อไป”
ข้อความตอนหนึ่งในเฟซบุ๊ค ซึ่งวาทกรรม “สาดกาแฟ” ได้ถูกเผยแพร่ในสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว จนเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและกลุ่มรุมประณาม จนสายการบินต้นสังกัดต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนถึงที่มาที่ไป ก่อนจะออกแถลงการณ์ว่าเธอได้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน แล้ว ซึ่ง “Honey” ได้โพสต์ข้อความแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกหลังจากทำงานมานานถึง 24 ปี โดยยอมรับว่าทำผิดกฎระเบียบจริง และส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของสายการบินอย่างมาก
สยามเมืองเคียดแค้นอมทุกข์
ส่วน น.ส.แพทองธารได้นำรูปและข้อความดังกล่าวอัพโหลดผ่านอินสตาแกรม พร้อมเขียนว่า “แค่เดินทางไปหาพ่อเพราะคิดถึง และเดินทางไปทำงานเพราะมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าเคยทำอะไรให้โกรธก็ขอโทษด้วยละกันนะคะ ไม่คิดเลยว่าจะมีความคิดแบบนี้ เพราะเดินทางบ่อย เจอแต่แอร์ฯน่ารักๆทั้งนั้น now i feel uncomfortable that the person who was supposed to be a hostess actually wanted to pour coffee on my face...tea or coffee???”
ภายหลัง น.ส.แพทองธารโพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรม มีคนที่ติดตามเข้ามาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก รวมถึง น.ส.พินทองทา ชินวัตร พี่สาว ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน น.ส.แพทองธารและ น.ส.พินทองทาได้เดินทางไปฮ่องกง โดยโพสต์รูปภาพผ่านทางอินสตาแกรมขณะเลือกซื้อยาทาเล็บสีต่างๆ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ด้วย เพื่อเตรียมมาให้บริการลูกค้าที่ร้าน “The sisters Nails & More” ชั้น 2 สยามพารากอน ซึ่งเป็นร้านทำเล็บที่ทั้งคู่เพิ่งเปิดกิจการร่วมกันเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ส่วนนายพานทองแท้ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมว่า โชคดีที่เหตุการณ์นี้มิได้เกิดขึ้นจริง และกล่าว ว่าการปลูกฝังค่านิยมที่ผิดนี้สืบเนื่องมาจากการที่คนไทยเคยชินกับการบริโภคสื่อที่เป็นกลาง และเคยชินกับพรรคการเมืองที่ใช้กลไกของสภาเป็นที่แก้ปัญหามาโดยตลอด เมื่อมาเจอกับสื่อเทียมที่เลือกข้างและพรรคการเมืองที่เล่นเกมนอกสภา โดยเดินสายปลุกระดมคนให้เกลียดชัง พ.ต.ท.ทักษิณ จึงทำให้ปัญหาแย่ลง จน “สยามเมืองยิ้ม” กลายเป็น “สยามเมืองเคียดแค้นอมทุกข์” แต่ก็ให้อภัยแอร์ฯ เพราะยังระงับสติอารมณ์ได้ ไม่ปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล
“เมื่อค่านิยมผิดๆนี้ถูกยืนยันโดยผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองซึ่งควรจะวางตัวเป็นกลาง ปล่อยให้รุ่นลูกรุ่นหลานเขาได้มีโอกาสบริหารและพัฒนาบ้านเมืองอย่างเต็มที่ กลับออกมาเทคไซด์เชียร์พรรคการเมืองในดวงใจเข้าอีก พี่น้องคนไทยกลุ่มนี้จึงเข้าใจผิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหาจริงๆ
ปัญหาดังกล่าวนี้ยุ่งเหยิงยาวนานหนักเข้าไปอีก เมื่อคนกลุ่มที่ว่านี้มักจะคิดว่าตัวเองฉลาดล้ำ, ตาสว่าง, รู้ทันคนมากกว่าคนอื่น ใครที่คิดเหมือนตนเป็นคนฉลาด คิดต่างจากตนเป็นคนโง่ ทั้งๆที่ตนเองเสพสื่อเลือกข้าง ฟังความข้างเดียว ใครอยู่ฝั่งตรงข้ามพ่อผมเป็นคนดีหมด ใครชอบ ใครสนับสนุนคุณพ่อผมเป็นคนเลวหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งครอบครัวและลูกหลาน และคนที่ต้องเจอกับคนประเภทนี้เยอะที่สุดคือน้องอิ๊งครับ
ตั้งแต่ช่วงหลังจากการปฏิวัติ ครอบครัวผมไปอยู่ต่างประเทศกับคุณพ่อ เหลือแต่น้องอิ๊งซึ่งยังเรียนอยู่จุฬาฯ ต้องไปๆมาๆ ในขณะที่คณะปฏิวัติกุมอำนาจเด็จขาด ข่าวของสื่อหลักวันๆก็มีแต่แก้วหน้าม้า, คุณป้ามหาภัย, หน้ากร้อคอสั้น คอยออกสื่อกล่าวหาคุณพ่อผมทั้งวันทั้งคืน คนที่เสพสื่อแบบนี้เข้าไปก็เหมือนคนที่กินผลไม้พิษเข้าไป เจอน้องอิ๊งเข้าอาการจึงกำเริบ คล้ายๆกับแอร์ฯคนนี้แหละ น้องอิ๊งเจอมาเยอะสุด แต่ไม่ต้องห่วงครับ ถึงแม้จะเป็นน้องสุดท้อง แต่อิ๊งกลับมีความอดทนและระงับสติอารมณ์ได้ดีกว่าผู้ใหญ่หลายๆคนเสียอีก”
ใครรับผิดชอบ hate speech
นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิท ยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นผ่าน blogs/yukti-mukdawijitra กรณีแอร์ฯในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech ว่าจะต้องไตร่ตรองถึงการนำข้อมูล “ส่วนตัว” ออกมาเปิดเผย สื่อมวลชนที่นำข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย มาขยายผลก็ต้องใคร่ครวญขอบเขตของการคัดกรอง ข่าว “ส่วนตัว” เพื่อการนำเสนอสู่ “สาธารณะ”
“ในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาเรามี hate speech เต็มไปหมด มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่รุน แรงมากและที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงได้อย่างแท้จริง (คำพูดประเภท “ล้มเจ้า” “คุณเอาเจ้าหรือไม่”) และกระทบต่อคนบางกลุ่มอย่างรุนแรงมากกว่าคนบางกลุ่ม (เช่นการที่ “ผังล้มเจ้า” มีส่วนในการใส่ร้ายทางการเมือง และนำไปสู่ความเกลียดชัง กระทั่ง ถูกเชื่อมโยงกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ถูกล้อม ปราบอย่างทารุณ นี่น่าจะถือว่าผังล้มเจ้าเป็น hate speech ที่มีส่วนให้เกิดการสังหารโหดกลางกรุง)”
ดังนั้น ประเด็นที่กว้างกว่า hate speech คือหากเราหาคนรับผิดชอบต่อการสร้างความจงเกลียด จงชังอย่างต่อเนื่องขึ้นมาในสังคมนี้ไม่ได้ ปัจเจกชนคงต้องพิจารณาเองให้ดีว่าความแตกต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะในนามของความจงเกลียด หรือจงรักใคร ก็ไม่ควรต้องผลักดันกันจนสุดกู่ จนอาจนำไปสู่การมุ่งร้ายแก่กัน หรือกระตุ้นให้เกิดการสังหารโหดกลางกรุงอย่างที่ผ่านๆมาอีก
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังใช้วาทกรรม “คนดี” ว่าไม่สนับ สนุนการใช้ความรุนแรง แต่กรณีนี้แอร์ฯยับยั้งชั่งใจได้ ปัญหาจึงไม่เกิด ส่วนการโพสต์ข้อความ “สาดกาแฟ” เป็นเพียงการระบายความรู้สึก ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการข่มขู่ คุกคาม หรือประกาศว่าจะทำร้ายคนนั้นคนนี้ล่วงหน้า
รากเหง้าความเกลียดชัง
วิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมาจึงไม่ใช่แค่เต็มไปด้วยวาทกรรมความเกลียดชังเท่านั้น แต่ยังมีคำว่า “สองมาตรฐาน” ที่มาพร้อมกับคำว่า “ตุลาการภิ วัฒน์” และ “ตุลาการพิบัติ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความ ชัดเจนของการปลุกระดมมวลชนให้เกิดความโกรธ เกลียด และอคติอย่างรุนแรง เปรียบเทียบให้ศัตรูเป็นเยี่ยงสัตว์หรือปิศาจ ไม่ว่าจะเป็นควาย แมลง สาบ สัตว์นรก อสุรกาย แม้แต่คำว่าอำมาตย์ ไพร่ ทาส ขี้ข้า ล้วนสะท้อนถึงการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่ในระบอบประชาธิปไตยถือว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวาทกรรมความเกลียดชังที่ถูกสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง กลุ่มผู้มีอำนาจหรือพลังนอกสภา จะไม่ได้ผลหากไม่มีสื่อเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนและโฆษณาชวนเชื่อ เชียร์ให้รักใครก็ต้องรักแบบสุดลิ่มทิ่มประตู เกลียดใครก็ต้องเกลียดแบบสุดขั้ว “คนดี” เป็นยิ่งกว่าเทวดา ทำอะไรก็ไม่ผิด
ในทางตรงข้ามกลับใช้วาทกรรมด่า เหน็บแนม และเสียดสีฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตนว่าเป็น “คนเลว” เป็นคนไม่จงรักภักดี เป็นพวกขายชาติขายแผ่นดิน ซึ่งไม่ต่างกับสมัยฮิตเลอร์ที่ปลูกฝังให้คนเยอรมันเกลียดชังคนยิว กองทัพญี่ปุ่นปลูกฝังให้มองคนจีนเหมือนสุนัขไร้ค่า ขณะที่สังคมไทยมีวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ในเหตุการณ์วิปโยค 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และล่าสุดใช้วาทกรรม “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” ทำให้มีการสังหารโหดกลางบ้านกลางเมืองเกือบร้อย และบาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน ตามด้วยวาทกรรม “เผา บ้านเผาเมือง” จึงสมควรถูกยิงตาย มีคนมากมายเชื่อโดยลืมฉุกคิดไปว่าเหตุการณ์ไฟไหม้ต่างๆเกิดขึ้นหลังการฆาตกรรมหมู่เสร็จไปแล้วทั้งสิ้น
แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิป ไตยของประชาชนอย่างแท้จริงก็ยังถูกบิดเบือนว่าเป็น “กบฏ” ล้มล้างการปกครอง ในขณะที่คนทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญกลายเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” มีอำนาจที่ชอบธรรม ทั้งที่กฎหมายระบุชัดเจนว่าเป็น “กบฏ” มีโทษถึงประหารชีวิต
อย่างที่ ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการ Media Monitor ได้ทำการศึกษาลักษณะของวาทกรรมความเกลียดชังที่ปรากฏในสื่อ 2 ประเภทที่ถูกใช้เป็นกระบอกเสียงโจมตีทางการเมืองคือ โทรทัศน์ช่องดาวเทียม และเว็บไซต์ต่างๆที่ผู้ใช้งานนิยมพูดคุย สนทนาเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง โดยสำรวจช่วงที่มีการโหวตเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 พบว่าสื่อที่ถูกใช้เป็นกระบอกเสียงโจมตีทางการเมืองคือ โทรทัศน์ช่องดาวเทียม และเว็บไซต์ต่างๆมีการใช้วาทกรรมแห่งความเกลียดชังอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเว็บไซต์มีความรุนแรงที่แสดงออกเกินไปกว่าการเสียดสี คือเป็นการข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้าม
ขณะที่กระบวนการยุติธรรมก็ถูกประณามว่า “สองมาตรฐาน” และ “เลือกปฏิบัติ” เพราะบางคดีที่ เพิ่งเกิดขึ้นรวบรัดเร่งให้คนติดคุก แต่คดีประเภทเดียว กันและเกิดขึ้นก่อนกลับถูกแช่แข็งเหมือนต้องการดองไว้ 7 ชั่วโคตร แทนที่จะเป็นเสาหลักของความยุติ ธรรมที่เป็นธรรมและเสมอภาคอย่างแท้จริง กลับเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดความเหลื่อมล้ำเสียเอง
โดยเฉพาะสื่อที่วันนี้ไม่ใช่ “หมาเฝ้าบ้าน” แต่เป็น “แมลงวัน” ที่เป็นพาหะนำเชื้อโรค แม้แต่ “องค์ กรวิชาชีพสื่อ” ยังเลือกข้างตะแบงเป็น “แอ๊บขาว” เรียกร้อง “จริยธรรม” แต่กลับตาบอดหูหนวกมองไม่เห็น “สื่อเสี้ยม” ที่สร้างวาทกรรมความเกลียดชังและปลุกระดมให้คนไทยเข่นฆ่ากันเอง เพียงเพราะคนบางคน บางกลุ่มไม่ยอมรับคำว่า “แพ้-ชนะ” ตามกติกาของกฎหมายและระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น ตราบใดที่สังคมไทยยังเต็มไปด้วยวาทกรรมความเกลียดชังที่ถูกสร้างขึ้น ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นคำว่า “กลียุค” ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่แค่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ 6 ตุลา หรือเมษา-พฤษภาอำมหิต แต่จะเป็นสงครามล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ระหว่าง “คนดีสุดขั้ว” กับ “คนชั่วสุดขีด”!
เพราะบัดนี้คนไทยที่ไม่ทันฉุกคิด เชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้วว่าสังคมไทยมีเพียง “คนที่เรารักสุดหัวใจ” กับ “คนที่เราเกลียดสุดชีวิต” เท่านั้น
พระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ ได้กล่าวไว้ว่า “หากจะรักใครอย่ารักจนหัวปักหัวปำ ให้เหลือเผื่อใจไว้เกลียดกันบ้าง และหากจะเกลียดใครก็อย่าเกลียดจนลืมเผื่อว่าวันหลังอาจจะมีโอกาสกลับมารักกันก็เป็นได้”
“คนดีสุดขั้ว” กับ “คนชั่วสุดขีด” จึงเป็นวาทกรรมที่สร้าง “ความจงรัก” และ “ความจงเกลียด” จนสังคมไทยไร้ทาง ออกอยู่ขณะนี้
“Coffee or Tea??”
“จะรับแก๊สน้ำตา หรือกระสุนจริงดีคะ??”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น