ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 391 วันที่ 22-28 ธันวาคม 2555 หน้า 4 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา และมีผู้ที่ต่อต้านไม่ยอมรับจำนวนมาก โดยเฉพาะข้อโจมตีว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าเมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายพลังประชาธิปไตยพยายามจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็กลายเป็นเรื่องยากทุกครั้ง
ความไม่เป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ถูกโจมตีมีหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องการขยายอำนาจตุลาการมากเกินไปจนครอบงำองค์กรอิสระทั้งหมด การให้สิทธิตุลาการในการยุบพรรคการเมือง และลงโทษกรรมการพรรคการเมืองที่ไม่ได้ทำความผิด การกำหนดให้มีวุฒิสมาชิกลากตั้งครึ่งสภาและมีอำนาจเท่าเทียมวุฒิสมาชิกเลือกตั้ง การมีบทเฉพาะกาลต่ออายุตุลาการ และการมีมาตรา 309 รับรองความชอบธรรมของคณะรัฐประหารตลอดกาล แต่กลุ่มพลังที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญกลับเห็นว่ามาตราเหล่านี้เป็นความถูกต้อง จึงคัดค้านการแก้ไขเสมอ
แม้กระทั่งครั้งล่าสุดที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และรัฐสภาได้พิจารณาผ่านวาระที่ 2 มาแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 เหลือเพียงการผ่านวาระที่ 3 แต่ในที่สุดการลงมติก็ต้องค้างเติ่ง เพราะวันที่ 1 มิถุนายน ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจสั่งระงับการลงมติวาระที่ 3 โดยอ้างว่าได้รับคำร้องว่าการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาอาจเป็น “การกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” ตามมาตรา 68
แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการพิจารณาของรัฐสภาไม่เป็นไปตามข้อหานั้น แต่ศาลก็แนะนำให้มีการลงประชามติเสียก่อน พรรคร่วมรัฐบาลจึงถอยและยังไม่ได้มีการผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ซึ่งนักวิชาการด้านกฎหมายหลายคนชี้แจงว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินเลยและแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ พรรคร่วมรัฐบาลควรเดินหน้าลงมติวาระที่ 3 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ชะลอเวลา โดยตั้งคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่มีนายโภคิน พลกุล เป็นประธาน ในที่สุดเดือนธันวาคมก็เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะแก้ปัญหาด้วยการยืดเวลาต่อไป โดยเสนอให้มีการทำประชามติตามมาตรา 165 ที่ระบุว่า “กรณีใดที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้”
เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยอ้างการเสนอทำประชามติคือ เพื่อให้เป็นการดำเนินตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญนำเสนอ และเพื่อไม่ให้ปัญหานี้นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทยอีกต่อไป
จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะผลักดันให้มีการลงประชามติในประเด็นใด และลักษณะใด ซึ่งจะต้องมีการจัดทำรายละเอียดก่อนทำประชามติ
แต่ไม่ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอให้ลงประชามติในลักษณะใด กลุ่มฝ่ายต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญก็ยังคัดค้านด้วยข้อหาเดิมๆคือ กล่าวหาว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมดเป็นไปเพื่อฟอกผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำจดหมายเปิดผนึกระบุว่าการเร่งแก้ไขธรรมนูญของรัฐบาลเป็นการทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันล้มประชามติ
ส่วนนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่ต้องไม่แก้ในส่วนของสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือไม่แก้ในส่วนที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิด มิฉะนั้นฝ่ายพันธมิตรฯจะทำการเคลื่อนไหว
คือกล่าวหาล่วงหน้าต่อคณะร่างรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ได้ตั้งขึ้นมาเลยว่าต้องมีธงว่าจะต้องแก้มาตรา 309 เพื่อยกเลิกผลพวงที่เกิดจากการดำเนินการของ คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ซึ่งจะส่งผลให้คดีความที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณหมดสิ้นไป
แค่เรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวก็มีการรณรงค์ล้มประชามติแล้ว ไม่ต้องพูดถึงประเด็นปัญหาของรัฐธรรมนูญในข้ออื่นเลย ซึ่งน่าแปลกใจว่ากลุ่มที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณกลับไม่สนับสนุนข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่จะให้มีการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร โดยนำ พ.ต.ท.ทักษิณมาพิจารณาในกฎหมายปรกติ
ข้อคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญของกลุ่มพันธมิตรฯฝ่ายขวาและพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกยิ่งนัก ยิ่งกว่านั้นถ้าพิจารณาในด้านอำนาจตุลาการต้องถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ผลประโยชน์และอำนาจล้นฟ้ากับฝ่ายตุลาการ การต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนโดยตรง เพราะค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนว่าถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อำนาจตุลาการจะไม่ได้อำนาจพิเศษเช่นนี้อีก
ดังนั้น ฝ่ายประชาชนคงต้องยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นจริง และต้องเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ เพื่อมุ่งไปสู่การยกเลิกอำนาจทางการเมืองของตุลาการ เลิกวุฒิสมาชิกลากตั้ง และควรไปถึงขั้นการแก้หมวดพระมหากษัตริย์เพื่อยกเลิกองคมนตรี
นี่เป็นเพียงขั้นต่ำที่จะนำสังคมไทยไปสู่การสถาปนาประชาธิปไตยอันแท้จริง
ส่วนเรื่องการปรองดองสมานฉันท์จะต้องเป็นการปรองดองภายใต้หลักการประชาธิปไตยอันถูกต้อง ไม่ใช่เป็นการปรองดองแบบกราบกรานอำมาตย์และจำนนต่ออภิสิทธิ์ชนเสียงข้างน้อย ต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่มีหลักประกัน และสิทธิของประชาชนต้องได้รับความเคารพ
มิฉะนั้นแล้วการปรองดองก็ปราศจากความหมาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น