วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555
ศึกนอกสภาบทเรียนจาก“สมชาย-สมัคร”
จากปกหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ปีที่ 14 ฉบับที่ 3434 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 30 พฤศจิกายน 2012
สภาปิดสมัยประชุมไปเรียบร้อยหลังทำศึกหนักส่งท้ายปีด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีอีก 3 คน ไม่ให้อยู่บริหารชาติบ้านเมืองต่อไปด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ
แม้รัฐบาลจะชนะการลงคะแนนมาได้ และมีพรรคร่วมฝ่ายค้านปันใจหันมายกมือสนับสนุน
แต่ไม่อาจชะล่าใจได้ว่าสถานะของรัฐบาลแน่นปึ้กแข็งโป๊กจนไม่มีใครหรืออะไรมาสั่นคลอนได้
แม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะจบลงไปแล้ว แต่ยังจะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมา
ที่สำคัญเป็นอาฟเตอร์ช็อกที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลเสียด้วย นั่นคือการพิจารณาข้อกล่าวหาของบรรดาองค์กรอิสระที่พรรคประชาธิปัตย์ไปยื่นเรื่องถอดถอนเอาไว้ก่อนหน้านี้
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเดินสายหาข้อมูลใหม่ๆเพิ่มเติมเพื่อยื่นซ้ำให้ข้อกล่าวหาดูมีน้ำหนักในการพิจารณามากขึ้น และยังยื่นเรื่องร้องเรียนใหม่ให้กับองค์กรอิสระอื่นๆที่ยังไม่ได้ยื่นเรื่องเอาไว้ด้วย
ผ่านมติซักฟอกในสภา แต่ยังต้องฝ่าดงองค์กรอิสระที่ดูเหมือนจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลที่มีให้ลุ้นกันอีกหลายยก
ประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังเร่งขยายผลอย่างสุดแรงคือ เรื่องรับจำนำข้าว
ปมปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้มี 2 เรื่องคือ การให้บริษัทเอกชนที่ถูกกล่าวหาว่าใกล้ชิดกับคนในรัฐบาลเป็นนายหน้าขายข้าวแบบจีทูจี
กรณีถูกมองว่าขัดหลักการ เพราะถ้าเป็นการขายข้าวแบบจีทูจีต้องเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐโดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านบริษัทเอกชน
ประหนึ่งว่าเป็นการเอื้อประโยชน์พวกพ้อง เพราะทำให้บริษัทดังกล่าวได้ค่านายหน้าขายข้าว
อีกประเด็นคือ ข้ออ้างขายข้าวแบบจีทูจีของรัฐบาลเป็นเรื่องลวงโลก เพราะเอ็มโอยูที่ทำกับประเทศต่างๆไม่ใช่สัญญาว่าจะมีการซื้อขายจริง
ประเด็นนี้พรรคประชาธิปัตย์กำลังไล่เบี้ยขอคำยืนยันจากประเทศต่างๆว่ามีการซื้อข้าวจากไทยตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างหรือไม่ โดยพุ่งเป้าไปที่ประเทศจีนเป็นหลัก
สองกรณีนี้เมื่อเรื่องถึงมือองค์กรอิสระ รัฐบาลเหนื่อยแน่นอน
อีกประเด็นที่ทำท่าว่ารัฐบาลจะเหนื่อยเป็นอาฟเตอร์ช็อกมาจากการชุมนุมของม็อบ “เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์
แม้ม็อบจะมาเร็วไปเร็ว ไม่ได้หวือหวารุนแรงอย่างที่ฉายหนังตัวอย่างเอาไว้ แต่อาฟเตอร์ช็อกจากการปะทะกันเล็กๆของตำรวจกับผู้ชุมนุมอาจเป็นเรื่องใหญ่ล้มรัฐบาลได้
กรณีนี้ถูกส่งถึงมือองค์กรอิสระให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลหลายองค์กรด้วยกัน
ประเด็นที่ถูกยื่นให้ตรวจสอบคือ ความชอบธรรมในการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การใช้แก๊สน้ำตาก่อนเวลาอันควรที่ถูกมองว่าเป็นการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม
คนที่สนับสนุนรัฐบาลอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่น่ามีผลอะไร เพราะมีแต่คนเจ็บ ไม่มีคนตาย และยังมียอดเข้ารักษาตัวน้อยกว่าการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง
แต่หากมองย้อนไปถึงผลที่เกิดจากการสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2551 ที่หน้ารัฐสภา
ก็เป็นอะไรให้เสียวสันหลังกันได้
กรณีนี้มีการส่งไม้และขานรับกันเป็นทอดๆ ที่ขยับก่อนใครเลยคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จ้องจะเรียก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.อดุลย์ เเสงสิงเเก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าชี้แจง
ยังไม่รวมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเเละสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยที่เคลื่อนไหวอย่างคึกคักให้สอบข้อเท็จจริงและชี้แจงกรณีตำรวจทำร้ายและกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นผลมาจากมีช่างภาพสื่อ 3 ราย ถูกลูกหลงระหว่างการปะทะกันของตำรวจกับผู้ชุมนุม
เทคแอ็คชั่นกันพรึบพรับยิ่งกว่าการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่มีสื่อทั้งไทยทั้งเทศบาดเจ็บล้มตายไปหลายราย
ก้าวต่อไปของรัฐบาลคือ ต้องลุ้นฝ่าดงองค์กรอิสระทั้ง ป.ป.ช. คณะกรรมการสิทธิฯ ศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ
แน่นอนว่าต้องลุ้นเหนื่อย เพราะไม่ง่ายเหมือนควบคุมม็อบนอกสภาและการลงมติในสภา
ยิ่งมองย้อนไปถึงรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ก็ยิ่งเหนื่อยสำหรับรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น