Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดีเอสไอแจ้งข้อหา"อภิสิทธิ์-สุเทพ"คดีการตายของ"พัน คำกอง" ระบุชัดร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนา

มติชนออนไลน์ วันที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2555



เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนกรณีการตายของผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 จำนวน 99 ศพ ได้แถลงผลการประชุมของคณะพนักงานสอบสวน อันประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ดีเอสไอ ตำรวจ และอัยการ ว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันให้ดำเนินการแจ้งข้อหากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสูงสุด ศอฉ. และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผอ.ศอฉ.ว่า ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 83, 84 และ 288

นายธาริตกล่าวว่า โดยศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ในคดีการไต่สวนเหตุการณ์ตายของนายพัน คำกอง ว่า การตายของนายพันเกิดจากการถูกกระสุนปืนของทหารที่เข้าร่วมปฏิบัติการตามคำสั่งของ ศอฉ. และศาลยุติธรรมได้ส่งสำนวนการพิจารณาไต่สวนทั้งหมด พร้อมคำสั่งมายังตำรวจนครบาลและถึงดีเอสไอในที่สุด ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องยึดถือเอาข้อเท็จจริงอันเป็นยุติโดยการไต่สวนของศาลดังกล่าว

นายธาริตกล่าวต่อไปว่า พยานหลักฐานอันสำคัญที่ทำให้คณะพนักงานสอบสวนทั้ง 3 ฝ่ายต้องมีมติให้แจ้งข้อหาแก่บุคคลทั้งสองมาจากพยานที่ได้มีการไต่สวนและคำสั่งของศาลดังกล่าว รวมทั้งพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนเพิ่มเติม เช่น การสั่งใช้กำลังทหารที่มีอาวุธปืนเข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่ง ศอฉ.เรียกว่าการกระชับพื้นที่และการขอคืนพื้นที่ การสั่งใช้อาวุธปืน การสั่งใช้พลซุ่มยิง และการออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรจากนายสุเทพในฐานะ ผอ.ศอฉ. และได้อ้างไว้ว่าเกิดจากการสั่งการของนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับพยานบุคคลที่ร่วมอยู่ใน ศอฉ.ว่า นายอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้รับรู้ร่วมสั่งการและพักอาศัยอยู่ในศูนย์ปฏิบัติการของ ศอฉ.ตลอดเวลา

นายธาริตกล่าวต่อว่า ประการสำคัญคือการสั่งการของบุคคลทั้งสองกระทำอย่างต่อเนื่องหลายครา แม้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชนแล้ว ก็หาได้ระงับยับยั้งหรือใช้แนวทางอื่นใดแต่อย่างใดไม่ รวมถึงพยานแวดล้อมกรณีอื่นๆ อีก จึงเป็นการบ่งชี้ได้ว่าเป็นเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่า การร่วมกันสั่งการเช่นนั้น ย่อมทำให้เกิดการตายของประชาชนจำนวนมากและต่อเนื่องกันหลายๆ วัน

"คดีดังกล่าวถือว่าเป็นคดีที่สำคัญของสังคม เพราะการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายจึงบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษตามมาตรา 150 ต้องการมีการไต่สวนโดยศาลยุติธรรม และในที่สุดศาลก็มีคำสั่ง พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการต่อตามผลของการไต่สวนและคำสั่งของศาล" นายธาริตกล่าว

นายธาริตกล่าวต่อว่า ส่วนทหารที่ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่นั้น ศาลก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ใด และโดยผลการสอบสวนก็ไม่อาจระบุตัวตนได้ด้วย แต่ก็ได้รับผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 ว่าเมื่อเป็นการปฏิบัติตามสั่งการซึ่งเชื่อว่าต้องปฏิบัติก็ย่อมได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องได้รับโทษ ดังนั้น ในชั้นนี้จึงไม่แจ้งข้อหาแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

นายธาริตกล่าวอีกว่า ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนก็ได้ลงนามในหนังสือแจ้งให้บุคคลทั้งสองมารับทราบข้อกล่าวหาและทำการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาแล้ว โดยได้มีการนัดหมายให้มาพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในวันที่ 12 ธันวาคม เวลา 14.00 น. เมื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ก็จะใช้ดุลพินิจปล่อยตัวไปโดยไม่ขอศาลฝากขัง เนื่องจากทั้งสองเป็นอดีตข้าราชการการเมืองชั้นผู้ใหญ่ จึงมีการออกหนังสือเชิญแทนหมายเรียกและเชื่อว่าบุคคลทั้งสองจะมาตามนัดหมาย โดยไม่ถ่วงเวลาจนเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 21 ธันวาคม

"ดีเอสไอไม่ได้ทำคดีตามกระแสหรือใบสั่งของฝ่ายการเมือง เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก คดีทุกคดีต้องไปจบที่ศาล พนักงานสอบสวนไม่ได้กลั่นแกล้งหรือช่วยเหลือใคร เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผู้กระทำผิดทั้ง 2 ฝ่าย ขณะนี้กลุ่มฮาร์ดคอร์ นปช.ถูกดำเนินคดีฟ้องศาลไปแล้วถึง 62 คดี มีผู้ถูกฟ้องคดี 295 คน ส่วนคนสั่งการเพิ่งจะถูกดำเนิน ดีเอสไอดำเนินคดีทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน และเป็นธรรมชาติของผู้ที่ถูกดำเนินคดี ทุกฝ่ายจะไม่ชอบดีเอสไอ ซึ่งดีเอสไอก็พร้อมรับ" นายธาริตกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำงานของ ศอฉ.มีรูปแบบของคณะกรรมการ เหตุใดจึงแจ้งข้อหาแค่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ นายธาริตกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีอยู่ในรายละเอียดการสอบสวน ไม่ขอเปิดเผย แต่บอกได้เพียงสั้นๆ ว่าเมื่อศาลสั่งว่าการเสียชีวิตมาจากการสั่งการของ ศอฉ. จึงต้องดูว่าใครมีอำนาจใน ศอฉ. ซึ่งมี 2 คนคือนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ทั้งนี้ ใน ศอฉ.มีคณะกรรมการอยู่ 2 ชุด คือชุดทั่วไปกับชุดยุทธการ  ซึ่งตนอยู่ในกรรมการชุดทั่วไป แต่ชุดยุทธการตนไม่เคยเข้าร่วมประชุมแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งชุดทั่วไปไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสั่งการ ขณะที่ชุดยุทธการเองที่มีแม่ทัพนายกองคอยให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำก็เป็นเพียงแค่การให้คำแนะนำ แต่สำคัญคือคนที่เป็นผู้ตัดสินใจสั่งการ

"ผมเข้าร่วมประชุมทั่วไปเพื่อรายงานสถานการณ์หรือเหตุการณ์ในรอบวัน แต่การใช้กำลังหรืออาวุธ เป็นการประชุมฝ่ายยุทธการที่ตนไม่เคยได้เข้าร่วมประชุมแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งนี้ การให้ความเห็นหรือเป็นที่ปรึกษาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายยุทธการก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความผิด เพราะการตัดสินใจคือผู้มีอำนาจสูงสุด ดังนั้น เจ้าหน้าที่ทหารจึงมีมาตรา 70 คุ้มครอง" นายธาริตกล่าว

เมื่อถามว่าในขณะนั้นสถานการณ์ไม่ปกติหากไม่สั่งการในขณะนั้นอาจถูกมองว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายธาริตกล่าวว่า  ประเด็นอยู่ที่การสั่งการว่าอยู่นอกเหนือหน้าที่หรือไม่ ซึ่งการที่พนักงานสอบสวนเห็นควรแจ้งข้อหา เพราะเห็นว่าการใช้อำนาจตรงนี้เข้าข่ายก่อการเล็งเห็นผลตามมาตรา 59 เพราะการสั่งให้ทหารที่มีอาวุธเข้าปะทะกับประชาชนในที่ชุมนุมต่อเนื่องครั้งแล้วครั้งเล่า หลายวันหลายครั้งและมีการสูญเสีย มีการอนุมัติใช้พลซุ่มยิง ย่อมเป็นเจตนาที่เล็งเห็นผลได้ว่าอาจทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต เป็นการทำเกินจากอำนาจหน้าที่ในฐานะ ศอฉ.

เมื่อถามว่าในขณะที่เป็นกรรมการ ศอฉ. เคยมีการออกคำสั่งหรือเคยมีความเห็นรึเปล่าว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่เล็งเห็นผล นายธาริตกล่าวว่า ไม่มี เพราะชุดที่ตนร่วมเป็นชุดทั่วไป ไม่เกี่ยวกับการสั่งใช้กำลังที่เป็นชุดยุทธการ คนที่เข้าร่วมชุดทั่วไปก็เป็นโดยตำแหน่ง ทำหน้าที่แค่การติดตามสถานการณ์และแนวโน้มเหตุการณ์

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เจ้าหน้าที่ยุทธการจะถูกแจ้งข้อหาด้วยหรือไม่ นายธาริตกล่าวว่า ชุดยุทธการเป็นเพียงการให้ความเห็น แต่การสั่งการอยู่ที่ 2 คนนี้ ตามหลักการดำเนินคดีไม่ใช่ใครให้ความเห็นต้องผิด แต่อยู่ที่คนมีอำนาจตัดสินใจสูงสุด

เมื่อถามว่า ดีเอสไอจะแจ้งข้อหาเอาผิดเฉพาะนักการเมือง แต่ฝ่ายกองทัพจะไม่ถือว่ามีความผิดใช่หรือไม่ นายธาริตกล่าวว่า คนในกองทัพได้รับการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

เมื่อถามอีกว่า ก่อนหน้านี้นายธาริตเคยระบุว่า เห็นด้วยกับการควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงในช่วงนั้น นายธาริตกล่าวว่า ความเห็นที่ตนให้เป็นเพียงการให้ความเห็นในการดำเนินการที่ไม่เกี่ยวกับการใช้อาวุธหรือทำให้คนตาย

"ผมจำได้ว่าผมเคยให้ความเห็นหรือสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง และผมก็จำได้ว่าผมไม่เคยพูดว่าผมสนับสนุนการใช้อาวุธสลายการชุมนุมหรือยิงประชาชนเป็นสิ่งที่ชอบ" นายธาริตกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น