Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

65 ปี รัฐประหาร 2490 อำมาตย์ครองเมือง

จาก Red Power ฉบับที่ 30 เดือน พฤศจิกายน 2555



หลังปฏิวัติ 2475 กษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรบริหารประเทศปีเศษก็เกิดกบฏบวรเดชซึ่งเป็นการโต้กลับของฝ่ายเจ้าและขุนนางระบอบเก่านำกำลังทหารจากหัวเมืองหมายยึดอำนาจคืน แต่ลงเอยด้วยการถูกปราบปราม หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พันโทหลวงพิบูลสงคราม ผู้บัญชาการการปราบปรามก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญและขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับ ร.7 เสื่อมทรามลง สองฝ่ายหวาดระแวงกันมากขึ้นและต่อมาเกิดความขัดแย้งในการต่อรองขอเพิ่มพระราชอำนาจมากเกินกว่าคณะราษฎรจะยอมได้ ทำให้ ร.7 สละราชสมบัติ เมื่อรัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์ รัชสมัยของพระองค์นับว่าความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับคณะราษฎรมีความราบรื่นและทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

สงครามโลกครั้งที่ 2  จอมพล ป.พิบูลสงคราม นำประเทศเข้าสู่สงครามด้วยการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นจนเกิดขบวนการเสรีไทยขึ้นต่อต้าน เสรีไทยเป็นการร่วมมือกันของหลายฝ่ายรวมทั้งฝ่ายเจ้าที่เคยเป็นศัตรูกับคณะราษฎร ปลายสงครามจอมพล ป.พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยฝีมือของคณะราษฎรสายพลเรือนที่นำโดยปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หลังจากนั้นเจ้าและขุนนางที่เป็นนักโทษการเมืองตั้งแต่ปี 2476 เป็นต้นมาก็ได้รับการปลดปล่อยและนิรโทษกรรมโดยการผลักดันของนายปรีดี โดยหวังว่าบรรดาเจ้าและขุนนางที่เคยเป็นศัตรูกันมาตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 จะละทิ้งความบาดหมางและหันมาร่วมมือกันพัฒนาประเทศ ปัญหาเฉพาะหน้าช่วงหลังสงครามคือการรักษาเอกราชไม่ให้ไทยเป็นผู้แพ้สงคราม นายปรีดีจึงสนับสนุน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นเจ้าคนหนึ่งในขบวนการเสรีไทยให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยหวังจะให้มีบทบาทในการแก้ปัญหาเอกราช รวมทั้งเป็นการสมานรอยร้าวกับฝ่ายเจ้า แต่ต่อมาทั้งสองก็ขัดแย้งกันในการดำเนินนโยบายดังกล่าว ไม่นาน ม.ร.ว.เสนีย์ก็ยุบสภาและกลายเป็นศัตรูคนสำคัญของนายปรีดีในเวลาต่อมา

การเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีลักษณะเปิดกว้าง เริ่มมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพวกได้ก่อตั้งพรรคก้าวหน้า โดยเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์กษัตริย์นิยมหรือนิยมเจ้า(Royalism) มีเป้าหมายชัดเจนในการทวงคืนสถานะเดิมที่สูญเสียไปหลังจากปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ช่วงนี้เองที่กลุ่มกษัตริย์นิยมอันได้แก่เจ้าและขุนนางในระบอบเก่าค่อยๆฟื้นตัวอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามได้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นในคณะราษฎรสายพลเรือนโดยเฉพาะระหว่างนายควง อภัยวงศ์ กับนายปรีดี พนมยงค์ โดยนายควงไม่เห็นด้วยตั้งแต่นายปรีดีสนับสนุน ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นนายก ต่อมาหลังการเลือกตั้งนายปรีดีสนับสนุนนายดิเรก ชัยนาม ให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสมเนื่องจากมีงานสำคัญที่ต้องเจรจากับต่างประเทศหลังสงคราม แต่นายควงก็ชนะโหวตในสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นนายกรัฐมนตรีและตั้งคณะรัฐมนตรีที่ประกอบด้วยฝ่ายอนุรักษ์นิยมเกือบทั้งหมด แต่อยู่ได้เพียงเดือนเศษก็ต้องลาออกเพราะแพ้การลงมติ หลังจากนั้นนายปรีดีได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ความพ่ายแพ้ของนายควงนำไปสู่การรวบรวมผู้ที่เป็นศัตรูกับนายปรีดีโดยเฉพาะพวกนิยมเจ้า ขุนนางเก่า และสมาชิกคณะราษฎรบางส่วน ตั้งพรรคประชาธิปัตย์เพื่อสู้กับฝ่ายนายปรีดี โดยมีบุคคลสำคัญ เช่น นายควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช รวมทั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ยุบพรรคก้าวหน้ามารวมกับประชาธิปัตย์ ฯลฯ การต่อสู้ของสองฝ่ายเป็นไปอย่างเข้มข้นนับแต่นั้น

 

รัฐประหาร 2490 : อำมาตยาธิปไตยรุ่นแรก

                      หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 มีการเลือกตั้งใหม่ นายปรีดีได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ไม่ทันจะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีก็เกิดเหตุสวรรคตของรัชกาลที่ 8 นายปรีดีจึงลาออกแต่ได้รับเลือกเป็นนายกอีกครั้งแต่ก็ต้องลาออกอีกครั้งในอีกสองเดือนต่อมา หลังจากนั้นรัฐสภาก็เลือกพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีและอยู่ในตำแหน่งประมาณ 9 เดือน ก็ต้องลาออก แต่ได้รับเลือกกลับมาอีกครั้งและอยู่ในตำแหน่งห้าเดือนเศษจนเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 โดยที่กรณีสวรรคตถูกหยิบยกนำมาป้ายสีทางการเมืองนายปรีดีว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการปลงพระชนม์ ร.8 ทำให้ฝ่ายนายปรีดีเสียหายอย่างหนัก ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ รวมทั้งนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ 7 วัน 7 คืน และกรณีสวรรคตก็กลายเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร รัฐประหารครั้งนี้สำเร็จลงได้ด้วยความร่วมมือกันของแกนหลักอย่างกองทัพบกและฝ่ายนิยมเจ้าที่ฟื้นคืนชีพและกลับมาทวงคืนอำนาจ

                      รัฐประหาร 2490 : การกลับมาทวงอำนาจคืนของกองทัพบก

                      สองปีเศษหลังสงคราม การเมืองไทยไร้เสถียรภาพอย่างมาก มีรัฐบาลบริหารประเทศถึง 8 ชุด รัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์เป็นชุดสุดท้ายก่อนเกิดรัฐประหารซึ่งต้องประสบวิกฤติจนแทบจะล่มสลาย เพราะความแตกแยกภายในฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล การต่อต้านจากประชาธิปัตย์ เศรษฐกิจตกต่ำ ความไม่สงบของบ้านเมือง โดยเฉพาะกรณีสวรรคต ร.8 ทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลเสียหายเกินเยียวยาและกลายเป็นจุดแตกหักที่ทำให้การเมืองผันแปรออกนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญและมีส่วนสำคัญให้ทหารตัดสินใจทำรัฐประหาร ซึ่งแนวคิดการทำรัฐประหารแพร่หลายในกองทัพตั้งแต่หลังการสวรรคตเป็นต้นมา

                      แรงผลักดันการรัฐประหารเกิดจากความไม่พอใจของทหาร หลังจอมพล ป. สิ้นสุดอำนาจ อิทธิพลของจอมพล ป.ทั้งทางวัฒนธรรมและทางทหารถูกขจัดออกไป นโยบายชาตินิยมถูกยกเลิก กองทัพบกถูกลดบทบาท จอมพล ป.ถูกปลดจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด การปลดและโยกย้ายนายทหารคนสำคัญ การยุบเลิกหน่วยงานและปลดประจำการทหารเป็นจำนวนมาก การลดงบประมาณ ความรู้สึกว่ากองทัพถูกเหยียดหยามขณะที่เสรีไทยที่ได้รับการยกย่องเป็นผู้ปลดปล่อยประเทศไทย ความหวาดระแวงที่รัฐบาลมีเสรีไทยซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธให้การสนับสนุน ผู้นำกองทัพถูกดำเนินคดีอาชญากรสงคราม ล้วนสร้างความไม่พอใจแก่ทหารอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญใหม่ 2489 ห้ามทหารดำรงตำแหน่งทางการเมืองยิ่งทำให้อำนาจหลุดมือไปอยู่กับพลเรือน เป็นครั้งแรกที่กองทัพสูญเสียบทบาทนำนับแต่รัฐประหาร 20 มิ.ย. 2476 เป็นต้นมา การสิ้นยุคจอมพล ป.จึงเหมือนกับการสิ้นสุดยุคแห่งชัยชนะและเกียรติภูมิของกองทัพ จึงไม่เป็นการยากที่ทหารจะร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมทำรัฐประหาร

                      การฟื้นตัวของฝ่ายนิยมเจ้าและบทบาทในการสนับสนุนรัฐประหาร

                      รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 สำเร็จลงได้สาเหตุสำคัญมาจากการสนับสนุนของฝ่ายนิยมเจ้า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงไม่นานฝ่ายนิยมเจ้าฟื้นตัวอย่างช้าๆ หลังจากที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้ผลักดันให้มีการปลดปล่อยและนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองตั้งแต่ปี 2476, 2478 และ 2481 หนึ่งในนั้นคือนายรังสิตประยูรศักดิ์ รังสิต ณ อยุธยา ได้กลับมาเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พร้อมกับได้คืนพระราชอิสริยยศและเครื่องอิสริยาภรณ์ตามเดิม เมื่อฝ่ายนิยมเจ้า ขุนนางเก่า ตลอดจนผู้ที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎรถูกปลดปล่อย ประกอบกับบรรยากาศการเมืองเปิดกว้าง รัฐธรรมนูญ 2489 ไม่กีดกันเจ้าอีกต่อไป เจ้านายเชื้อพระวงศ์และฝ่ายตรงข้ามคณะราษฎรต่างเดินทางกลับประเทศ พวกเขากลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งในฐานะปัญญาชนและนักการเมือง

ฝ่ายนิยมเจ้าส่วนใหญ่ไม่ต้องการรื้อฟื้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยตระหนักดีว่าเป็นไปไม่ได้และไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่ต้องการเพิ่มพระราชอำนาจของกษัตริย์ให้มากขึ้นและรื้อฟื้นเกียรติยศของราชวงศ์กลับคืน(สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, 2550) แต่มีเจ้าบางส่วนต้องการทวงคืนทรัพย์สินของ ร.7 ต้องการรื้อฟื้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยการขอให้อังกฤษและอเมริกาสนับสนุน รวมทั้งต้องการเปลี่ยนการสืบราชสันตติวงศ์จากสายราชสกุลมหิดลมาเป็นสายราชสกุลจักรพงษ์ด้วยการกดดันให้ ร.8 สละราชสมบัติ ความแตกต่างทางความคิดนี้นำไปสู่ความแตกแยกในหมู่เจ้า เมื่อ ร.8 สวรรคตทำให้การช่วงชิงอำนาจเข้มข้นขึ้น  มีการขับเคี่ยวกันในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กรมขุนชัยนาทนเรนทรซึ่งเป็นตัวแทนของสายราชสกุลมหิดลเป็นฝ่ายมีชัยเหนือฝ่ายพระนางเจ้ารำไพพรรณี โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คู่กับพระยามานวราชเสวีซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาล(ณัฐพล ใจจริง, 2552)

เจ้าคนสำคัญที่มีบทบาททางการเมืองหลังสงคราม ได้แก่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรีและประธานองคมนตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร หลังพ้นโทษและได้รับฐานะฐานันดรศักดิ์คืนแล้ว ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และมีบทบาทสำคัญในการลงพระปรมาภิไธยรัฐธรรมนูญเผด็จการ พ.ศ. 2490 ซึ่งทำให้การรัฐประหารมีความชอบธรรมและได้ชัยชนะในที่สุด

ก่อนรัฐประหารมีการใช้กรณี ร.8 สวรรคตทำลายฝ่ายนายปรีดีและรัฐบาลอย่างหนัก มีโทรศัพท์ลึกลับปล่อยข่าวตามสถานทูตในกรุงเทพและหน่วยทหารว่า ร.8 ถูกลอบปลงประชนม์ ทูตอังกฤษรายงานว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่งเสด็จมาพบและแจ้งว่า ร.8 ถูกลอบปลงพระชนม์โดยพวกนิยมสาธารณรัฐ และขอร้องให้อังกฤษช่วยคุ้มครองพระราชวงศ์ สถานทูตอังกฤษและสหรัฐอเมริกาถูกใช้เป็นที่ปล่อยข่าวโจมตีนายปรีดี หลังการสวรรคตสองวันพระองค์เจ้าธานีนิวัตเสด็จไปแจ้งแก่ทูตอังกฤษว่า ร.8 ถูกลอบปลงประชนม์แต่รัฐบาลปรีดีกลับแถลงว่าเป็นอุบัติเหตุ และเกรงว่าพระมหากษัตริย์องค์ใหม่จะไม่ได้ขึ้นครองราชย์เพราะมีนักการเมืองต้องการสถาปนาสาธารณรัฐ นอกจากนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ส่งภรรยาและหลานมายังสถานทูตและหล่าวหานายปรีดีว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคต(ณัฐพล ใจจริง, 2552)

กรณีสวรรคตถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายนายปรีดีจนเกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง เกิดข่าวลือรัฐประหาร กรณีสวรรคตกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดความร่วมมือระหว่างฝ่ายนิยมเจ้ากับฝ่ายจอมพล ป. สถานทูตสหรัฐรายงานว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ได้เข้าพบจอมพล ป. ชักชวนให้ร่วมมือกับประชาธิปัตย์กำจัดนายปรีดีและพวกออกจากการเมือง รวมทั้งรายงานว่านายควงร่วมมือกับจอมพล ป. โดยจอมพล ป.อาจให้ประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล นอกจากนั้นยังมีการรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องว่านักการเมืองฝ่ายนิยมเจ้าเข้าพบจอมพล ป.อย่างลับๆ(ณัฐพล ใจจริง, 2552)

การปลดปล่อยและนิรโทษกรรมฝ่ายนิยมเจ้าหลังสงครามทำให้ความขัดแย้งกับคณะราษฎรกลับมาปะทุอีกครั้ง เพราะฝ่ายนิยมเจ้ายังมีความเจ็บแค้นเกินกว่าจะอภัยได้  ขณะที่กลุ่มจอมพล ป.ที่ส่วนใหญ่เป็นทหารต้องการทวงอำนาจคืน การร่วมมือกับฝ่ายนิยมเจ้าทำรัฐประหารเพื่อกำจัดนายปรีดีและพวกจึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้  

 

รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม พ.ศ. 2490 และ 2492 : พิมพ์เขียวอำมาตยาธิปไตย

                      รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ไม่อาจสำเร็จได้หากปราศจากการสนับสนุนของฝ่ายนิยมเจ้าโดยเฉพาะพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยเป็นผู้สำเร็จราชการเพียงคนเดียวจากสองคนที่ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ(ฉะบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 ส่วนพระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการอีกคนไม่ยอมลงนามและหลบหนีออกจากบ้านไป(สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, 2550) การลงนามดังกล่าวขัดแย้งกับประกาศของประธานรัฐสภาแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ระบุว่า “โดยมีข้อตกลงว่า ในการลงนามในเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ลงนาม” (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 63 ตอน 45ก, 25 มิถุนายน 2489)   

                      รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ได้ทำลายระบอบรัฐธรรมนูญ เป็นจุดเริ่มต้นของเผด็จการอำนาจนิยมที่กองทัพมีอำนาจอีกครั้งและเป็นการปลดปล่อยพลังอำนาจฝ่ายนิยมเจ้าให้กลับมารื้อฟื้นสถานะและพระราชอำนาจของกษัตริย์ ดังที่จอมพล ป. ให้สัมภาษณ์ว่า “รัฐประหารครั้งนี้คณะทหารอยากเปลี่ยนรัฐบาล จะเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ให้มากขึ้น ท่านจะได้โอกาสช่วยดูแลบ้านเมือง”

                      รัฐธรรมนูญ(ฉะบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490  : รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยมฉบับแรก

                      การยึดอำนาจเป็นหน้าที่ของฝ่ายทหารแต่การร่างรัฐธรรมนูญตกอยู่ในกำมือของฝ่ายนิยมเจ้าหรือกษัตริย์นิยม รัฐธรรมนูญ 2490 ถูกร่างขึ้นก่อนรัฐประหารโดยผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของฝ่ายนิยมเจ้า ประกอบด้วย พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ พระยารักตประจิตธรรมจำรัส และพี่น้องม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รูปแบบทางการเมืองตามที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถวายคืนพระราชอำนาจให้กับสถาบันกษัตริย์ด้วยการบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

                      สาระสำคัญบางประการของรัฐธรรมนูญ 2490 ที่รื้อฟื้นสถานะและเพิ่มพระราชอำนาจให้กษัตริย์ เช่น พระราชอำนาจในทางนิติบัญญัติที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ พระราชอำนาจในการเลือกและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา พระราชอำนาจในทางบริหารที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ พระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตลอดจนการประกาศพระบรมราชโองการให้รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งและการมีพระบรมราชวินิจฉัยนโยบายของคณะรัฐมนตรี  มีการรื้อฟื้นอภิรัฐมนตรีซึ่งเคยมีในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาอีกครั้ง(ต่อมาคือองคมนตรี) อภิรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยกษัตริย์มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาราชการแผ่นดิน  และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเหมือนที่เคยเป็นมา

                      รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 : ต้นแบบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

                      หลังรัฐประหารคณะรัฐประหารให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายควงผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญถาวรด้วยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกของรัฐสภา 40 คน ผลปรากฏว่าเป็นคนของประชาธิปัตย์ 22 คน เป็นฝ่ายขุนนางเก่าและเชื้อพระวงศ์ 12 คน และอื่นๆ 6 คน นับเป็นความสำเร็จของประชาธิปัตย์และฝ่ายนิยมเจ้าที่สามารถจัดตั้งและครองเสียงข้างมากในสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหลักประกันว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะสะท้อนอุดมการณ์กษัตริย์นิยม

                      อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมและคณะรัฐประหารที่นำโดยจอมพล ป.ก็มีมากขึ้น แม้ตอนเริ่มต้นความสัมพันธ์เป็นไปอย่างราบรื่น แต่เพราะมีเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างกัน ฝ่ายแรกต้องการสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ที่เพิ่มพระราชอำนาจให้แก่สถาบันกษัตริย์และกลุ่มของตนให้อยู่ในอำนาจได้ยาวนาน ฝ่ายหลังต้องการกลับสู่อำนาจทางการเมืองแต่ก็ไม่ต้องการให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมกลับมามีอำนาจอีก สองฝ่ายต่างหวาดระแวงกันนำมาซึ่งการต่อสู้และแตกหักในที่สุด ฝ่ายกษัตริย์นิยมหาทางกำจัดจอมพล ป.และคณะรัฐประหารด้วยวิธีการต่างๆ ในที่สุดนายควงจึงถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ลงจากอำนาจและจอมพล ป.ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แม้นายควงจะหมดอำนาจแต่ได้ทิ้งมรดกชิ้นสำคัญไว้คือสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ยังคงทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยมต่อไปโดยอิสระ

                      สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2492 ที่รื้อฟื้นสถานะและเพิ่มพระราชอำนาจ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2492 เป็นฉบับที่โครงสร้างหมวด 1 และ 2 กลายเป็นต้นแบบให้รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมาจนถึงปัจจุบัน(รายละเอียดปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่โดยรวมมีความใกล้เคียงกัน)เป็นฉบับแรกที่ระบุ ในมาตรา 2 ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” และค่อยๆวิวัฒนาการมาเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในปัจจุบัน มาตรา 6 “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้” มาตรา 11 “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง” มาตรา 12 “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์” นอกจากนั้น มาตรา 13-17 พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งประธานและองคมนตรีรวม 9 คน การเลือก แต่งตั้ง หรือให้พ้นตำแหน่งเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา มาตรา 23 ห้ามการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 มาตรา 77 พระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย มาตรา 82 พระราชอำนาจในการเลือกและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา เป็นต้น

 

 

จุดจบอำมาตยาธิปไตยรุ่นแรก กำเนิดอำมาตยาธิปไตยรุ่นสอง

                      จอมพล ป.ขึ้นมาบริหารประเทศโดยมิได้มีอำนาจเต็มที่เพราะข้อจำกัดจากคณะรัฐประหารที่กุมอำนาจทางทหารกับระบบรัฐสภาและรัฐธรรมนูญที่ไม่เอื้อต่อการบริหารประเทศ จึงต้องประสานประโยชน์ทุกฝ่ายเพื่อให้ราบรื่น สามปีแรก(2491-2494)รัฐบาลจอมพล ป.ถูกต่อต้านครั้งใหญ่ 3 ครั้ง แต่ก็ปราบปรามสำเร็จทุกครั้ง โดยเฉพาะกบฏวังหลวงและแมนฮัตตันที่ทำให้ทหารเรือต้องหมดศักยภาพทางการเมืองไปตลอดกาล เมื่อรัฐบาลมั่นคงมากขึ้นจึงหันไปจัดการกับฝ่ายกษัตริย์นิยมและพรรคประชาธิปัตย์ที่ขัดขวางการบริหารของรัฐบาลมาตลอด ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มักแทรกแซงการเมืองด้วยการเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีบ่อยครั้งจนจอมพล ป.ต้องเรียกร้องขอเข้าร่วมประชุมคณะองคมนตรีบ้าง และโดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งที่ทำตัวเป็นฝ่ายค้านด้วยการไม่ยอมผ่านร่างกฎหมายจำนวนมาก ฉบับที่ผ่านก็จะแก้ไขสาระสำคัญ มีการตั้งกระทู้ถามตรวจสอบรัฐบาลจำนวนมาก ฯลฯ กรณีสุดท้ายที่ทำให้จอมพล ป.หมดความอดทนคือการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติกรณีรัฐบาลใช้กำลังปราบปรามกบฎแมนฮัตตัน ทำให้ต้องทำรัฐประหารทางวิทยุในปลายปี 2494 การรัฐประหารครั้งนี้เพื่อจัดการกับกลุ่มกษัตริย์นิยมมิให้ขยายอำนาจ มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม 2492 นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 กลับมาใช้ใหม่ เป็นอันปิดฉากอำมาตยาธิปไตยรุ่นแรก

                      หลังจากนั้นการเมืองไทยก็เข้าสู่เผด็จการเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตามรัฐบาลจอมพล ป.กลับล่มสลายลงเพราะการช่วงชิงอำนาจกันเองในหมู่ผู้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างกลุ่มราชครูของจอมพลผิน ชุณหวัณ และพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ กับ กลุ่มสี่เสาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะที่จอมพล ป.ที่ต้องพึ่งพิงกำลังทั้งสองฝ่ายต้องวางตัวอยู่ตรงกลางและคานอำนาจของสองฝ่ายไว้ ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวจอมพล ป.จึงหาทางออกด้วยการแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชน นำมาสู่การผ่อนคลายการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีการจัดการเลือกตั้ง ระบบการเมืองที่เปิดกว้างขึ้น เกิดการเคลื่อนไหวมวลชน บทบาทหนังสือพิมพ์เป็นไปอย่างคึกคัก การเลือกตั้งต้นปี 2500 พรรคเสรีมนังคศิลาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากท่ามกลางข้อกล่าวหาโกงการเลือกตั้ง เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านครั้งใหญ่ของนักศึกษา จอมพล ป.สูญเสียความชอบธรรมขณะที่จอมพลสฤษดิ์ฉวยโอกาสสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ภาพลักษณ์ของจอมพลสฤษดิ์กลายเป็นวีรบุรุษ จอมพล ป.จัดตั้งรัฐบาลด้วยความยากลำบากเพราะเกิดความขัดแย้งขั้นแตกหักระหว่างจอมพลสฤษดิ์และพล.ต.อ.เผ่า จอมพลสฤษดิ์ตีตัวออกห่างไปเข้ากับฝ่ายกษัตริย์นิยมมากขึ้น กลุ่มพลังต่างๆสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ จอมพล ป.จึงหาทางคืนดีกับปรีดี พนมยงค์ เพื่อต่อสู้กับฝ่ายกษัตริย์นิยมและจอมพลสฤษดิ์โดยจะนำนายปรีดีกลับประเทศและรื้อฟื้นคดีสวรรคต ร.8 จากงานศึกษาของณัฐพล ใจจริง พบว่า ฝ่ายกษัตริย์นิยมและจอมพลสฤษดิ์ตอบโต้ด้วยการจัดประชุมลับเมื่อ 16 เมษายน 2500 เตรียมการทำรัฐประหาร สถานทูตอังกฤษรายงานว่ามีบุคคลระดับสูงที่ใกล้ชิดกับกษัตริย์อย่างยิ่งเข้าร่วมประชุมด้วย เช่น พระองค์เจ้าธานีนิวัต ประธานองคมนตรี รวมทั้งสองพี่น้อง ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยตกลงกันว่าจะทำรัฐประหารแต่ยังไม่กำหนดวันเวลาที่จะลงมือ พระองค์เจ้าธานีนิวัตเสนอว่าเมื่อรัฐประหารแล้วก็ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าจะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี วันรุ่งขึ้นจอมพลสฤษดิ์ส่งคนไปสถานทูตสหรัฐเพื่อหยั่งท่าทีว่าจะให้ความสนับสนุนหรือไม่ เหตุเพราะว่า “บุคคลสำคัญ” คนหนึ่งในไทยเห็นว่าการให้การสนับสนุนของสหรัฐในการรับรองรัฐบาลใหม่เป็นเรื่องสำคัญมาก(ณัฐพล ใจจริง, 2552) นอกจากนั้นจอมพล ป.ต้องเผชิญปัญหาหนักหน่วงยิ่งขึ้นในช่วงเวลาใกล้กึ่งพุทธกาลเมื่อความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์เป็นไปโดยไม่ราบรื่น

ความขัดแย้งที่เป็นจุดแตกหักและนำไปสู่การรัฐประหาร คือ ระหว่างจอมพล ป.กับจอมพลสฤษดิ์ ทำให้จอมพล ป.หาทางลดอำนาจและอิทธิพลของจอมพลสฤษดิ์ แต่ถูกตอบโต้และยื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออกทั้งคณะ มีการปลุกระดมมวลชนเดินขบวนไปบ้านสี่เสาเรียกร้องให้จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหาร จอมพล ป.เข้าเฝ้าในหลวงและขอให้ทรงมีพระบรมราชโองการปลดจอมพลสฤษดิ์แต่ไม่สำเร็จ เย็นวันที่ 16 กันยายน 2500 รัฐบาลจอมพล ป.จึงถูกจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหาร คณะรัฐประหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ได้ชัยชนะเด็ดขาดเมื่อมีพระบรมราชโองการโดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองฯโปรดเกล้าแต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอน 76ก ฉบับพิเศษ 16 กันยายน 2500) และเป็นการเปิดฉากอำมาตยาธิปไตยครั้งใหม่ภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น