Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

รัฐธรรมนูญไทยฉีกไม่กี่นาที แต่แก้ ‘โคตรยุ่ง’ !


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 391 วันที่ 22-28 ธันวาคม พ.ศ. 2555 หน้า 7 คอลัมน์ เวทีความคิด โดย นันทวัฒน์ บรมานันท์




ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทบรรณาธิการใน pub-law.net สำหรับวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม-วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม 2555 เรื่อง วันรัฐธรรมนูญซึ่งครบรอบ 80 ปี แต่รัฐธรรมนูญไทยมีถึง 18 ฉบับ เพราะถูกฉีกจากการทำรัฐประหารฉบับแล้วฉบับเล่า แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ฝ่ายหนึ่งต้องการแก้ไข แต่อีกฝ่ายคัดค้านหัวชนฝา ทั้งที่รู้ว่ารัฐธรรมนูญมีจุดที่ควรแก้ไขอย่างไร เพราะแค่มาตรา 309 มาตราเดียวก็ทำให้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหมดความเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ยังถูกดึงมาเป็นปัญหาทางการเมืองไม่จบสิ้น

********

วันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็น วันรัฐธรรมนูญในปีนี้มีความเป็นพิเศษกว่าวันรัฐธรรมนูญในปีก่อนๆอยู่ 2 ประการ ประการแรก เพราะเป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย (หากไม่นับรวม พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475”) มีอายุครบ 80 ปีบริบูรณ์ ประการที่สอง เพราะเป็นวันที่สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงของความสับสนในเรื่องของการที่จะมีหรือไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งถ้ามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ของไทย

หากจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว วันรัฐธรรมนูญเป็นวันที่ไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าไรนักกับสังคมไทย เท่าที่เห็นนอกเหนือจากเป็น วันหยุดราชการที่ไม่ทราบว่าหยุดไปเพื่ออะไรแล้ว ก็เห็นมีแต่คนบางกลุ่มที่ไปถวายบังคมสักการะรูปปั้นพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่อาคารรัฐสภา แล้วก็มีการจัดกิจกรรมทางวิชาการอย่างประปราย ไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองยังไม่มีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นเลยครับ รวมความแล้ว วันรัฐธรรมนูญเป็นเพียงวันหยุดราชการวันหนึ่งที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับวิถีชีวิตของชนชาวไทยเลย

รัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างไรคงเป็นสิ่งที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว เรามีรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ ผ่านพัฒนาการของการมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศมาแล้วถึง 80 ปี หากจะพิจารณาถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาตั้งแต่ฉบับแรกถึงฉบับปัจจุบันจะพบว่ามีหลายๆอย่างที่ดีเกิดขึ้นมากมาย ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ในหมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม มีบทบัญญัติอยู่เพียง 4 มาตรา ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้าที่สุดของไทย ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 4 หน้าที่ของชนชาวไทย มีบทบัญญัติจำนวนถึง 45 มาตราด้วยกัน จากรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้แก้ปัญหาใดๆของประเทศกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญที่ประกอบไปด้วยกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจำนวนหนึ่ง ดังนั้น ในช่วงเวลา 80 ปีที่ผ่านมาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีพัฒนาการในทางที่ เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก

สิ่งที่ บั่นทอนความเป็น รัฐธรรมนูญคงไม่ใช่ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ แต่เป็น รูปแบบหรือ วิธีการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยมากกว่า ในจำนวนรัฐธรรมนูญที่เคยมีอยู่ทุกฉบับ มีเพียงไม่กี่ฉบับที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น คณะรัฐประหารจะ ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ทิ้งแล้วคณะรัฐประหารก็ดำเนินการจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยผ่านกลไกที่เกี่ยวข้องกับตนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จนทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งเนื้อหาสาระไม่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิมเท่าไรนัก

ดังนั้น การรัฐประหารทุกครั้งจึงเป็นการกระทำที่นอกจากจะทำลายระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นการทำลายพัฒนาการในด้านวิธีการได้มาและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอีกด้วย




การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เช่นเดียวกับการรัฐประหารครั้งอื่นๆ ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ทิ้งแล้วสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ปัญหาที่เกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นปัญหาเดิมๆที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหาร ยัดเยียดให้กับคนไทยก็คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นประชาธิปไตยทั้งในด้านรูปแบบและยังมีเนื้อหาอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน จากจำนวนผู้ร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 35 คนนั้น มีคนที่คณะรัฐประหารส่งมาอย่างเป็นทางการถึง 10 คน ทำให้รูปแบบขององค์กรที่เข้ามาจัดทำรัฐธรรมนูญไม่มีความสง่างามและไม่เป็นประชาธิปไตย

ส่วนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 309 ที่รองรับการดำเนินการต่างๆของคณะรัฐประหาร ซึ่งแม้จะมีเพียงมาตราเดียวแต่ทำให้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหมดความเป็นประชาธิปไตยเลยครับ นอกจากนี้แล้วยังมีบทบัญญัติอีกจำนวนหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่ กระทบต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้เองที่มีการเรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อ ขจัดคราบไคลของรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารครับ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สังคมไทยแบ่งออกเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน ข้อเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยฝ่ายหนึ่งได้ถูกนำไปใช้เป็นประเด็นต่อสู้ทางการเมืองเพื่อการเอาชนะทางการเมือง โดยอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมิได้พิจารณาอย่างละเอียดถึงความจำเป็นในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในขณะที่ฝ่ายเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเองคิดแต่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่มี เหตุที่ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญว่ามีข้อบกพร่องมากน้อยเพียงใดจนทำให้ถึงกับ จำเป็นต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยเหตุนี้เองฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจึงมีข้อกังขาว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คงเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า ประโยชน์ส่วนรวม

การแก้รัฐธรรมนูญหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีที่มาจากการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อนว่าเป็นอย่างไร เมื่อทราบถึงระดับ ความร้ายแรงของปัญหาแล้วจึงค่อยมาพิจารณากันต่อไปว่าควรแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราโดยกลไกปรกติคือรัฐสภา หรือควรยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.

ที่ผ่านมา ผมเคยเสนอความเห็นไปหลายครั้งแล้วว่า ก่อนที่จะคิดแก้รัฐธรรมนูญควรต้องศึกษาดูก่อนว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาและข้อบกพร่องอย่างไร ข้อเสนอของผมไม่ได้เป็นข้อเสนอใหม่ใดๆทั้งสิ้น ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2489) ได้บันทึกไว้ถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไว้ว่า “...รัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ จึ่งเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2488 ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองและเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สภาผู้แทนราษฎรจึ่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบรัฐธรรมนูญตามคำเสนอข้างต้นนี้ กรรมาธิการคณะนี้ได้ทำการตลอดสมัยของรัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ คณะนายทวี บุณยเกต และคณะหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

ต่อมารัฐบาลคณะหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อรวบรวมความเห็นและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อกรรมการคณะนี้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแก้ไขอีกชั้นหนึ่งแล้วนำเสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประชุมปรึกษาหารือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมได้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณา เมื่อกรรมการได้ตรวจพิจารณาแก้ไขแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 จึ่งได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาลงมติรับหลักการแล้วจึ่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง

บัดนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จเรียบร้อยแล้วเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเป็นการสำเร็จบริบูรณ์ จึ่งได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เมื่อทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนทั่วกระบวนความแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่าประชากรของพระองค์ประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฐาภิปาลโนบายสามารถจรรโลงประเทศชาติของตนในอันที่จะก้าวหน้าไปสู่สากลอารยธรรมแห่งโลกได้โดยสวัสดี...



รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาของประเทศ เริ่มต้นจากในปี พ.ศ. 2537 ประธานรัฐสภาในขณะนั้นคือ นายมารุต บุนนาค ได้มีคำสั่งสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.)ขึ้นโดยมี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานกรรมการเพื่อศึกษาหาแนวทางในการปฏิรูปการเมืองตามเสียงเรียกร้องของประชาชน คพป. ได้กำหนดหัวข้อในการศึกษาวิจัยไว้ 15 หัวข้อ โดยได้มอบให้นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนจากสถาบันการศึกษาต่างๆทำการศึกษา จนกระทั่งกลางปี พ.ศ. 2538 คพป. จึงได้เสนอผลสรุปการทำงานของตนต่อรัฐสภา จากนั้นเป็นต้นมาการปฏิรูปการเมืองได้กลายมาเป็นหัวข้อที่มีการพูดกันมากและเป็นแรงผลักดันให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 โดยในปี พ.ศ. 2539 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2534 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่



รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับที่กล่าวไปแล้วเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการศึกษาปัญหาของประเทศ และศึกษาถึงมาตรการต่างๆที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญต่างประเทศก่อนที่จะทำการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครับ

การคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างเอาเป็นเอาตายในปัจจุบันคงไม่เกิดขึ้นหากผู้คิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทำการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อน ผมเคยเสนอเรื่องนี้ไว้หลายครั้งแล้วว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรมีฐานที่มาจากการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก่อนแล้วจึงค่อยคิดว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาหรือโดย ส.ส.ร.

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้คงทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะเราผ่านช่วงเวลาที่ต้องทำการศึกษาเพื่อให้ทราบถึงปัญหาของประเทศที่เกิดจากการใช้บังคับรัฐธรรมนูญไปแล้ว ที่ต้องทำในปัจจุบันจึงมีเพียงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 จนทำให้รัฐสภา ไม่กล้าลงมติในวาระ 3 รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... รัฐสภาคงมีทางเลือกอยู่ไม่มากนัก ลงมติในวาระ 3 รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับและเริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว หรือไม่ก็ลงมติในวาระ 3 ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป จากนั้นค่อยไปเริ่มกระบวนการกันใหม่ ด้วยการเดินตามข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ต่อไป

แต่ไม่ว่าจะเลือกทางใด สภาพบ้านเมืองแบบนี้ ความแตกแยกแบบนี้ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 น่าจะเกิดขึ้นได้ยากครับ!!!

ล่าสุดคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณา สรุปความได้ว่า คณะรัฐมนตรี ควรจะเป็นผู้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามมาตรา 165 (1) แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อสอบถามประชาชนว่า สมควรที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

ไม่อยากเชื่อว่าคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเลือกที่จะเดินตาม ข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญดังที่กล่าวไว้ในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ผมตอบคำถามไม่ได้ว่าทำไม ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับต้องไปทำตามข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญ แทนที่จะสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนกลับไปเดินตามสิ่งที่ไม่ถูกต้อง น่าเสียดายแทนทุกสิ่งทุกอย่างครับ!!!

สรุปแล้วเรื่องของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไรคงตอบได้ยาก ประชามติครั้งแรกต้องใช้เงิน 2,000 กว่าล้านบาท เพื่อสอบถามประชาชนว่า สมควรที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่หากประชาชนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด และมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิมาออกเสียงเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. ส.ส.ร. จะต้องไปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อ ส.ส.ร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วคงต้องให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติอีกครั้งหนึ่งว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสียเงินอีกกว่า 2,000 ล้านบาท

ระหว่างที่มีการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คงมีปัญหาเรื่องวุ่นวายตามมาเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

ความสงบสุขคงหายไปจากประเทศไทยอีกระยะหนึ่งเป็นแน่!!!

ตอนฉีกรัฐธรรมนูญใช้เวลาไม่กี่นาที ทำไมตอนจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถึงได้ยุ่งยากอย่างนี้ครับ!!!

 

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชามติคือทางออก !?


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 391 วันที่ 22-28 ธันวาคม 2555 หน้า 4 คอลัมน์  ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ



แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา และมีผู้ที่ต่อต้านไม่ยอมรับจำนวนมาก โดยเฉพาะข้อโจมตีว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าเมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายพลังประชาธิปไตยพยายามจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็กลายเป็นเรื่องยากทุกครั้ง

ความไม่เป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ถูกโจมตีมีหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องการขยายอำนาจตุลาการมากเกินไปจนครอบงำองค์กรอิสระทั้งหมด การให้สิทธิตุลาการในการยุบพรรคการเมือง และลงโทษกรรมการพรรคการเมืองที่ไม่ได้ทำความผิด การกำหนดให้มีวุฒิสมาชิกลากตั้งครึ่งสภาและมีอำนาจเท่าเทียมวุฒิสมาชิกเลือกตั้ง การมีบทเฉพาะกาลต่ออายุตุลาการ และการมีมาตรา 309 รับรองความชอบธรรมของคณะรัฐประหารตลอดกาล แต่กลุ่มพลังที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญกลับเห็นว่ามาตราเหล่านี้เป็นความถูกต้อง จึงคัดค้านการแก้ไขเสมอ

แม้กระทั่งครั้งล่าสุดที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และรัฐสภาได้พิจารณาผ่านวาระที่ 2 มาแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 เหลือเพียงการผ่านวาระที่ 3 แต่ในที่สุดการลงมติก็ต้องค้างเติ่ง เพราะวันที่ 1 มิถุนายน ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจสั่งระงับการลงมติวาระที่ 3 โดยอ้างว่าได้รับคำร้องว่าการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาอาจเป็น การกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68

แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการพิจารณาของรัฐสภาไม่เป็นไปตามข้อหานั้น แต่ศาลก็แนะนำให้มีการลงประชามติเสียก่อน พรรคร่วมรัฐบาลจึงถอยและยังไม่ได้มีการผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ซึ่งนักวิชาการด้านกฎหมายหลายคนชี้แจงว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินเลยและแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ พรรคร่วมรัฐบาลควรเดินหน้าลงมติวาระที่ 3 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ชะลอเวลา โดยตั้งคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่มีนายโภคิน พลกุล เป็นประธาน ในที่สุดเดือนธันวาคมก็เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะแก้ปัญหาด้วยการยืดเวลาต่อไป โดยเสนอให้มีการทำประชามติตามมาตรา 165 ที่ระบุว่า กรณีใดที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้

เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยอ้างการเสนอทำประชามติคือ เพื่อให้เป็นการดำเนินตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญนำเสนอ และเพื่อไม่ให้ปัญหานี้นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทยอีกต่อไป

จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะผลักดันให้มีการลงประชามติในประเด็นใด และลักษณะใด ซึ่งจะต้องมีการจัดทำรายละเอียดก่อนทำประชามติ

แต่ไม่ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอให้ลงประชามติในลักษณะใด กลุ่มฝ่ายต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญก็ยังคัดค้านด้วยข้อหาเดิมๆคือ กล่าวหาว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมดเป็นไปเพื่อฟอกผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำจดหมายเปิดผนึกระบุว่าการเร่งแก้ไขธรรมนูญของรัฐบาลเป็นการทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันล้มประชามติ

ส่วนนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่ต้องไม่แก้ในส่วนของสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือไม่แก้ในส่วนที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิด มิฉะนั้นฝ่ายพันธมิตรฯจะทำการเคลื่อนไหว

คือกล่าวหาล่วงหน้าต่อคณะร่างรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ได้ตั้งขึ้นมาเลยว่าต้องมีธงว่าจะต้องแก้มาตรา 309 เพื่อยกเลิกผลพวงที่เกิดจากการดำเนินการของ คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ซึ่งจะส่งผลให้คดีความที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณหมดสิ้นไป

แค่เรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวก็มีการรณรงค์ล้มประชามติแล้ว ไม่ต้องพูดถึงประเด็นปัญหาของรัฐธรรมนูญในข้ออื่นเลย ซึ่งน่าแปลกใจว่ากลุ่มที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณกลับไม่สนับสนุนข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่จะให้มีการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร โดยนำ พ.ต.ท.ทักษิณมาพิจารณาในกฎหมายปรกติ

ข้อคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญของกลุ่มพันธมิตรฯฝ่ายขวาและพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกยิ่งนัก ยิ่งกว่านั้นถ้าพิจารณาในด้านอำนาจตุลาการต้องถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ผลประโยชน์และอำนาจล้นฟ้ากับฝ่ายตุลาการ การต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนโดยตรง เพราะค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนว่าถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อำนาจตุลาการจะไม่ได้อำนาจพิเศษเช่นนี้อีก

ดังนั้น ฝ่ายประชาชนคงต้องยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นจริง และต้องเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ เพื่อมุ่งไปสู่การยกเลิกอำนาจทางการเมืองของตุลาการ เลิกวุฒิสมาชิกลากตั้ง และควรไปถึงขั้นการแก้หมวดพระมหากษัตริย์เพื่อยกเลิกองคมนตรี

นี่เป็นเพียงขั้นต่ำที่จะนำสังคมไทยไปสู่การสถาปนาประชาธิปไตยอันแท้จริง

ส่วนเรื่องการปรองดองสมานฉันท์จะต้องเป็นการปรองดองภายใต้หลักการประชาธิปไตยอันถูกต้อง ไม่ใช่เป็นการปรองดองแบบกราบกรานอำมาตย์และจำนนต่ออภิสิทธิ์ชนเสียงข้างน้อย ต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่มีหลักประกัน และสิทธิของประชาชนต้องได้รับความเคารพ

มิฉะนั้นแล้วการปรองดองก็ปราศจากความหมาย

 

วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ขบวนล้มรัฐบาล : การเมือง“ประตูหลัง”บ้านสี่เสา ตุลาการลูกป๋าเริ่มทำงาน อีกแล้ว!

จากข่าวเจาะลึกนึกไม่ถึง RED POWER ฉบับที่ 31 เดือนธันวาคม 2555

 

ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีการจัดงานวันเกิดของตุลาการผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่ออักษรย่อ ว.วิรัช อยู่ถนนราชพฤกษ์ ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ จังหวัดนนทบุรี ตุลาการคนนี้คือ “ลูกป๋า” คนสำคัญระดับ “ประตูหลัง” และเคยมีบทบาทหลักในฐานะผู้ประสานงานกับแวดวงตุลาการ(โดยมีบทบาทร่วมกับตุลาการชื่อย่อ พ. ลูกป๋าอีกคนซึ่งสังกัด “ชมรมคนรักประตูหลัง” เช่นเดียวกัน และทั้งตุลาการ ว. และ พ. ต่างก็อยู่ก๊วนเดียวกับตุลาการคนดังชื่อย่อ จ.)ในการร่วมด้วยช่วยกันล้มรัฐบาลไทยรักไทยและตลอดมาถึงการยุบพรรคตัดสิทธิ์ ยึดทรัพย์ ล้มรัฐบาลสมัคร-สมชาย จนถึงยัดเยียดคดีความต่างๆนานาให้กับแกนนำและผู้ชุมนุมเสื้อแดงจนร่ำรวยคดีกันเป็นแถว ภายในบ้านมูลค่าหลายสิบล้านซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมีการจัดเลี้ยงอาหารเมนูพิเศษอย่างหรูหราสั่งตรงจากโรงแรมหรูระดับหกดาวมาเสริฟแขกวีไอพีโดยเฉพาะ นับว่าตุลาการเจ้าของบ้านคนนี้ใจปั้มพอตัวที่ควักเงินจัดงานจำนวนมิใช่น้อยๆ ปกติเคยเห็นแต่นักการเมืองหรือนักธุรกิจผู้ร่ำรวยมีอันจะกินเหลือเฟือเท่านั้นที่ชอบจัดงานอวดเบ่งบารมี เพิ่งเคยเห็นตุลาการเป็นครั้งแรกที่จัดงานทำนองนี้ สงสัยจริงๆว่าร่ำรวยมาจากไหน บรรดาแขกวีไอพีผู้มีเกียรติที่ได้รับเทียบเชิญมาร่วมงานครั้งนี้ประกอบด้วย นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล(ยกเว้นพรรคเพื่อไทย) นายทหารระดับสูง ตุลาการระดับสูง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักธุรกิจชั้นนำ รวมทั้งนักเคลื่อนไหวมวลชน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเคยมีบทบาทล้มรัฐบาลมาแล้วทั้งสิ้น

จุดน่าสนใจอีกจุดหนึ่งของงานวันนั้นอยู่ตรงที่แขกวีไอพีที่เป็นนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองใหญ่แต่พรรคเล็กสังกัดพรรคยี้ห้อยร้อยยี่สิบอย่างสมศักดิ์หูบี้ที่กำลังหมายมั่นปั้นมือจะกลับเข้าพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ทำให้อดนึกถึงวันคืนเก่าๆ ในช่วงที่ไทยรักไทยใกล้แตกดับ ในวันนั้นบรรดานักการเมืองขาใหญ่ทั้งหลายต่างสละเรือเอาชีวิตรอด แต่พอตั้งลำได้นักการเมืองที่เคยทรยศไทยรักไทยจำนวนมากก็พยายามหวนกลับเข้ามาขอร่วมหอลงโรงอีกครั้ง บางคนเริ่มออกฤทธิ์เดชในรัฐบาลบ้างแล้ว เรื่องนี้ต้องระวังให้จงหนัก พรรคเพื่อไทยเจ็บแล้วต้องหัดจำบ้าง

งานวันเกิดของผู้ยิ่งใหญ่ในแวดวงตุลาการคนนี้ ชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่า ในแง่ของจริยธรรมวิชาชีพ การจัดงานเลี้ยงโดยเชิญแขกวีไอพีทั้งหลายมาร่วมงานอาจจะเป็นการเปิดทางให้การเมืองและผลประโยชน์เข้าแทรกแซงการทำหน้าที่ของตุลาการหรือไม่ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า ภายใต้สถานการณ์การเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลจากทุกทิศทุกทาง หากกลุ่มการเมืองเหล่านั้นล้มรัฐบาลไม่สำเร็จ เราอาจจะได้เห็นดาบสุดท้ายของตุลาการอีกก็เป็นได้ ตุลาการอาจจะใช้อำนาจหน้าที่พิพากษาคดีที่ทำให้รัฐบาลพังครืนอย่างไม่เป็นท่าเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว คำพิพากษาของตุลาการยังคงทรงพลังในการบดขยี้รัฐบาลอยู่เสมอ เพราะเป็นคำตัดสินที่ถือเป็นที่สุด คงไม่มีใครรับประกันได้ว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย

 

อาสา สารสิน ราชเลขาธิการ “ทำไมลาออก! ?

เดือนกันยายนที่ผ่านมาสำนักราชเลขาธิการ ได้เผยแพร่ข่าวนายอาสา สารสิน เกษียณอายุราชการด้วยการกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งราชเลขาธิการ หลังจากรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาเป็นเวลาถึง 12 ปี ปัจจุบันนายอาสา สารสิน มี อายุ 76 ปี    

          ความน่าสนใจอยู่ตรงที่สำนักราชเลขาธิการ เรียกการลาออกว่า “เกษียณอายุราชการ” ซึ่งดูจะมีความแตกต่างจากการเกษียณในตำแหน่งข้าราชการทั่วๆไป เรื่องนี้เราลองไปดูความเห็นของนักกฎหมายอย่าง วิษณุ เครืองาม(เดลินิวส์, 28 กันยายน 2555) ว่ามีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร

“การเกษียณก่อนครบเกษียณอาจมีได้เรียก ว่า เออร์ลี่ รีไทร์เมนต์ แปลเป็นไทยว่าเกษียณก่อนกำหนด เช่น ถ้ามีอายุราชการเหลือไม่น้อยกว่า 2 ปี อาจขอลาออกก่อน ทางการจะจ่ายบำนาญให้พร้อมเงินตอบแทนจำนวนหนึ่ง ทางตำรวจทหารมีเลื่อนยศให้อีกชั้น บางคนเป็นพลโทอยู่จนเกษียณเห็นจะไม่ได้พลเอก พอขอลาออกก่อนเขาก็เลื่อนเป็นพลเอกให้ ทางพลเรือนไม่มียศจะเลื่อนจึงเสียประโยชน์อยู่บ้าง

บางครั้งอาจ เกษียณหลังอายุ 60 ปีได้ อาจารย์มหาวิทยาลัยอาจต่ออายุคราวเดียวไปจนถึง 65 ปี แต่ให้ทำงานสอน ไม่ให้บริหาร จะไปเป็นคณบดีตอนนั้นไม่ได้ ส่วนการสมัครรับการสรรหาเป็นผู้บริหารเป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะถือว่าเป็น ตำแหน่งจ้างไม่ใช่เป็นข้าราชการ ขณะเดียวกันผู้พิพากษา อัยการก็อยู่ไปจนอายุ 70 ปี ตำแหน่งพวกนี้ถือว่ายิ่งอยู่นานยิ่งมีประสบการณ์มาก ภาษาพระเรียกว่า รัตตัญญู แปลว่าผู้รู้ราตรี แปลอีกทีคือมีประสบการณ์ผ่านมาหลายราตรี ยังใช้งานได้

ข้าราชการพลเรือนในพระองค์เป็นอีกประเภทที่อยู่ไป ตามพระราชอัธยาศัยเพราะต้องอาศัยความไว้วางพระราชหฤทัย คือครบ 60 ปีแล้วจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่ออายุหรือไม่ก็ได้ และต่อไปนานเท่าใดก็ได้ ผู้ใหญ่อย่างคุณอาสา สารสิน ราชเลขาธิการ คุณแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง จึงยังทำราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้”

 
ขงเบ้งเดี่ยวพิณลวงสุมาอี้ “เปรมเดี่ยวเปียโนลวงใคร” ? ศึกใหญ่ขั้นแตกหักยังมาไม่ถึง

          วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มูลนิธิรัฐบุรุษจัดมินิคอนเสิร์ต"Music for your Happiness" โดยมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โชว์เดี่ยวเปียโน เกือบสองพันปีก่อนขงเบ้งลวงสุมาอี้ด้วยการเล่นพิณที่ประตูเมือง สุมาอี้หลงกลคิดว่าขงเบ้งซุ่มกำลังทหารไว้ในเมือง หากบุ่มบ่ามบุกเข้าไปอาจเสียที ทั้งที่ขงเบ้งมีกำลังพลเหลือเพียงไม่กี่พันคน ขณะที่สุมาอี้มีไพร่พลกว่า 15 หมื่นประชิดประตูเมือง ทั้งขงเบ้งและสุมาอี้เป็นสุดยอดจอมทัพของแต่ละฝ่ายที่เก่งกาจยากจะหาใครเทียบได้ในยุคนั้น ต่างเชี่ยวชาญพิชัยสงครามอย่างหาตัวจับยาก การศึกสงครามกับกลลวงเป็นของคู่กันมาแต่ครั้งโบราณ ถ้าเป็นภาษาปัจจุบันของนายพลแห่งกองทัพไทยก็คือ ลับ-ลวง-พราง ยากที่ใครจะล่วงรู้ถึงความในส่วนลึกของมหาอำมาตย์เปรม ส่วนพลเอกเปรมเองก็มิได้เผยให้เห็นสิ่งใดที่มากไปกว่า “มือที่มองไม่เห็น” บนแป้นเปียโนเท่านั้น

          ปี 2552 ก่อนสงกรานต์ มีข่าวว่าพลเอกเปรมล้มป่วยเข้าโรงพยาบาล ผ่านมาไม่กี่วัน คนเสื้อแดงโดนล้อมปราบอย่างนองเลือด ยังจำพิษสงของคนป่วยกันได้หรือไม่? ปี 2553 ก่อนการชุมนุมของคนเสื้อแดงจนกระทั่งคนเสื้อแดงถูกล้อมปราบ ช่วงเวลาหลายเดือนนั้นแทบไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวของพลเอกเปรม แม้แต่ในการเจรจาระหว่างแกนนำเสื้อแดงกับฝ่ายรัฐบาลขณะนั้น บทบาทพลเอกเปรมเงียบเชียบยิ่งกว่าปีก่อนหน้า แต่คนเสื้อแดงยิ่งบาดเจ็บล้มตายเป็นเบือ เกิดอะไรขึ้น?

          พลันได้ยินข่าวพลเอกเปรมจะเดี่ยวเปียโน ท่ามกลางสถานการณ์ “แช่แข็งประเทศไทย” ทำให้รู้สึกขนลุกเกรียวหนาวไปถึงกระดูก ใครๆก็รู้ว่า เสธ.อ้าย เป็นเพื่อนร่วมรุ่นพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ทายาททางการเมืองพลเอกเปรม ทั้งเสธ.อ้าย และพลเอกสุรยุทธ์ ต่างก็มีตำแหน่งใหญ่โตร่วมกันในสนามม้านางเลิ้ง พลเอกสุรยุทธ์เป็นนายกสภาสนามม้า ขณะที่เสธ.อ้าย เป็นหนึ่งในกรรมการอำนวยการ(โดยมีพลเอกวัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ เพื่อนสนิทร่วมเป็นกรรมการด้วย) อีกทั้งเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการแข่งม้า และที่ เสธ.อ้าย มีชีวิตถึงวันนี้ไม่ต้องตายตามพลเอกฉลาด หิรัญศิริ เพราะพลเอกเปรมช่วยไว้ ใครๆก็รู้ว่าเสธ.อ้าย เป็นคนของใคร ใครๆก็รู้ว่ามวลชนที่สนามม้านางเลิ้งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ล้มรัฐบาลทักษิน-สมัคร-สมชาย แม้แต่แหล่งเงินทุนก็มาจากแหล่งเดียวกัน ที่สำคัญคนที่ “ไฟเขียว” ให้ล้มรัฐบาลก็คนเดียวกัน

          เสธ.อ้าย ทำให้ขบวนการล้มรัฐบาลกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากซบเซาไปร่วมสี่ปี อันที่จริงความคิดริเริ่มล้มรัฐบาลในตอนต้นอาจไม่ได้มาจาก “วงในสุด” ของระบอบอำมาตย์เสียทีเดียวนัก ด้วยเหตุเงื่อนไขต่างๆยังไม่สุกงอม แต่การที่พวกขวาจัดทั้งหลายดันเสธ.อ้าย มาแสดงบทผู้นำขับไล่รัฐบาลครั้งแรกที่สนามม้านางเลิ้งได้ผลเกินคาด จนทำให้ “วงในสุด” ของระบอบอำมาตย์หันมาสนับสนุนเต็มที่และ “ไฟเขียว” ผ่านตลอดในการช่วยระดมสรรพกำลังและเงินทุน 

คุณูปการใหญ่หลวงของเสธ.อ้าย จึงอยู่ที่การทำให้ขบวนการมวลชนฝ่ายอำมาตย์ฟื้นตัว และบรรดาแกนนำเสื้อเหลืองทั้งหลายที่เคยแตกคอกันสามารถกลับมาร่วมมือกันได้อีกครั้ง การกลับมาร่วมหอลงโรงของคนเหล่านี้คือกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การล้มรัฐบาลในอนาคต การชุมนุมใหญ่ขององค์การพิทักษ์สยามแม้จะล้มรัฐบาลไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่างานนี้ทำเอารัฐบาลเหนื่อยทีเดียว ถือเป็นการรุกคืบครั้งใหญ่เพื่อรอวันเผด็จศึก วันนี้ เสธ.อ้าย จะนำทัพมวลชนต่อไปหรือไม่ไม่สำคัญอีกต่อไป  เพราะฝ่ายอำมาตย์ฟื้นตัวแล้วและมีคนพร้อมรับไม้ต่อจากเสธ.อ้าย แล้ว ภารกิจของเสธ.อ้าย ถือว่าลุล่วงแล้ว เป็นภารกิจขั้นเตรียมการเพื่อเปิดศึกขั้นแตกหักอย่างแท้จริงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ จับตาดูให้ดี การชุมนุมใหญ่ที่สนามม้านางเลิ้งก็ดี การชุมนุมใหญ่ 24 พฤศจิกา ที่ผ่านมาก็ดี เป็นแค่การ “โหมโรง” หรือ “ซ้อมใหญ่” เท่านั้น ของจริงยังมาไม่ถึง

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชามติ? พจนานุกรมฉบับตุลาการอภินิหาร


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 391 วันที่ 22-28 ธันวาคม 2555 หน้า 18 คอลัมน์  เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน

 


สิ่งสำคัญที่ผมต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศนี้ไปข้างหน้าอย่างสันติวิธี คือการช่วยกันหยุดความล้มเหลวทาง การเมือง ซึ่งลำพังผมและพรรค ประชาธิปัตย์ไม่สามารถที่จะดำ เนินการให้ประสบความสำเร็จได้

การยุติความล้มเหลวทางการเมืองโดยประชาชนเป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะช่วยให้ประเทศของเราก้าวข้ามอุปสรรค ที่ขวางทางบ้านเมืองมานานหลายปีไม่ให้เดินไปข้างหน้า นั่นคือความต้องการอยู่เหนือกฎหมายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยการร่วมกันล้มประชามติที่นายกฯ ผู้เป็นน้องสาว กำลังจะทำเพื่อรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หวังลบมาตรา 309 เพื่อล้มคดีทั้งหลายของพี่ชายนักโทษ

หากพี่น้องทำสำเร็จก็จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทย เปรียบเสมือนการปฏิวัติโดยประชาชนตามระบบที่ไม่เสี่ยงต่อการเสียเลือดเนื้อ เพื่อยืนยันว่าประชาชนและกฎหมายยิ่งใหญ่กว่าอำนาจเงินและอำนาจรัฐ
ผมและพรรคประชาธิปัตย์จะยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องประชาชนเพื่อนำบ้านเมืองไปข้างหน้า หลังจากที่เราติดหล่มผลประโยชน์ของคนคนเดียวจนบ้านเมืองเสียหายมานานหลายปี


มาร่วมกันคว่ำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนัก โทษ ก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ นำพาประเทศเดินไปข้างหน้า ผมและพรรคประชาธิปัตย์พร้อมร่วมสุขทุกข์กับพี่น้อง เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างราบรื่น ไร้ความรุนแรง เพื่ออนาคตที่มั่นคงของประเทศของเราสืบไป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนจดหมายเปิดผนึก จากใจถึงคนไทยทั้งประเทศปลุกกระแสให้กลุ่ม เกลียดทักษิณร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์คว่ำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลมีมติให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีความชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมขึ้นหรือไม่ โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่มีการแก้ไขเรื่องรูปของรัฐ รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์

แถลงการณ์พรรคร่วมรัฐบาลยืนยันว่า ไม่ว่าผลแห่งประชามติจะออกมาในทางใด ทุกฝ่ายต้องยอม รับว่ารัฐสภาทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญ ญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นประชา ธิปไตย และไม่สอดคล้องต่อหลักนิติธรรมได้ตลอดไป

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หยุดชะงักตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องจากกลุ่มบุคคลที่ยื่นคำร้องว่าการกระทำของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ แม้ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวหา แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็แสดงจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลซ้ำซากเดิมๆคือ ทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งที่พรรคร่วมรัฐบาลก็ยืนยันว่าต้องการแก้และสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชา ธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง

การทำประชามติที่จะกำหนดไว้ในปี 2556 จึงมีความหมายอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่การแก้หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน ไม่ใช่จากการทำรัฐประหารอย่างที่ผ่านมาตลอด 80 ปี

รัฐธรรมนูญร่างทรงเผด็จการ

เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ไม่ต่างกับร่างทรงเผด็จการ ซึ่งแค่มาตรา 309 มาตราเดียวก็ถือว่าหมดความเป็นประชาธิปไตย แต่พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มที่คัดค้านกลับเห็นว่าหากยกเลิกมาตรา 309 ก็เท่ากับล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แทนที่จะพูดถึงบทบัญญัติที่พิลึกพิสดารที่ว่า

บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ของหัวหน้าและคณะ... (คปค. หรือ คมช.) ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับ สนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

เป็นการบัญญัติบทนิรโทษกรรมครั้งแรกที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของคณะรัฐประหาร

การอ้างว่าถ้ายกเลิกมาตรา 309 รัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิด จึงต้องคัดค้านแบบหัวชนฝานั้น จึงสะท้อนว่ากลุ่มที่คัดค้านเห็นแก่ตัวอย่างยิ่งที่เอาคนคนเดียวมาแลกกับความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมือง ไม่ต่างอะไรกับ ยอมเผาบ้านเผาเมืองเพื่อฆ่าหนูเพียงตัวเดียว

ที่สำคัญการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่แค่มาตรา 309 แต่ต้องมีเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประเภทสรรหา ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน แต่ถูกยัดเยียดจากร่างทรงเผด็จการ เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่า ส.ว.ลากตั้งกลายเป็นพลังสำคัญในการต่อสู้กับนักการเมืองที่มาจากประชาชน รวมทั้งช่วยปกป้องผลประโยชน์ต่างๆของกลุ่มเผด็จการและฝักใฝ่เผด็จการอีกด้วย

หรือมาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง ซึ่งร่างทรงเผด็จการประกาศชัดเจนว่าต้องการลดอำนาจนักการเมืองและพรรคการเมือง ถือเป็นปัญหาต่อการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง โดยใช้องค์กรอิสระเป็นกลไกในการเอาผิดและตัดสิทธิทางการเมือง

ยังไม่นับองค์กรอิสระต่างๆในปัจจุบันที่มีที่มาจากการรัฐประหารและมีวาระอยู่ยาวนาน เพื่อรักษาอำนาจที่เกิดจากการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

รัฐธรรมนูญฉบับมดลูก คมช. หรือหน้าแหลมฟันดำ จึงเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆที่ปกป้องคนที่ละเมิดกฎหมาย โดยการออกกฎหมายนิรโทษฯตัวเองในการทำผิดและละเมิดกฎหมาย คนที่ปกป้องจึงไม่ต่างกับการร่วมกันกระทำผิดและเป็นฝ่ายตรงข้ามระบอบประชาธิปไตยที่ฝักใฝ่เผด็จการ ซึ่งเป็นพวก อีแอบและ แอ๊บขาวทั้งนักการเมือง นักกฎหมาย นักวิชาการ และกลุ่มการเมืองภาคประชาชน แต่พยายามยัดเยียดให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นพวก เผด็จการทุนสามานย์ที่ต้องกระชับอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

วาทกรรมโกหกตอแหล

ใบตองแห้งคอลัมนิสต์ชื่อดัง เขียนบทความลงในเว็บไซต์ ประชาไทเล่าเหตุการณ์ที่เคยสัมภาษณ์พิเศษนายอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2550 อยู่ในช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งฉบับร่างมาตรา 299 ตรงกับมาตรา 309 ในปัจจุบันนั้น นายอภิสิทธิ์แสดงความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีว่า

ก็นิรโทษฯไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ผมไม่เห็นความจำเป็น เพราะว่าตามประเพณีของเรา อะไรที่นิรโทษฯไปแล้วก็จบ เมื่อก่อนนี้มีพระราชกำหนดนิรโทษฯ พ.ร.ก. เข้าสภา สภาคว่ำ เขาก็บอกว่าไม่มีผลอะไร เพราะนิรโทษฯไปแล้ว เรามีประกาศคณะปฏิวัติ ประกาศคณะปฏิรูปตั้งกี่สมัย นี่ยังใช้อยู่เลย เรื่องสัมปทาน เรื่องอะไรต่ออะไร ทำไมจะต้องมาตระหนกตกใจว่า คมช. คปค. เดี๋ยวมีปัญหา ผมไม่เข้าใจ ไม่จำเป็นต้องมี มีแล้วเป็นปัญหาการเมืองเปล่าๆ ถ้าไปบอกว่า คปค. ทำไม่ชอบ อย่างนั้นรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ไม่ชอบ รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ชอบ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ชอบ เราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ในบ้านเราก็ตีความมาตลอดว่าพอใครปฏิวัติก็เป็นองค์อธิปัตย์ ยอมรับกันไป ก็จบไปแล้ว ไปเขียนไว้ให้ตำตาตำใจคนทำไมให้ทะเลาะกันอีก

ใบตองแห้งระบุเหตุผลที่นำบทสัมภาษณ์นี้ขึ้นมาทบทวนไม่ใช่แค่การ ตอกหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ยืนกรานไม่แก้ ไม่แตะ แต่ลึกลงไปคือบทเรียนน่าเศร้าของนักการเมืองที่ เล่นการเมืองแล้วไม่สามารถยืนหยัดในความคิดเห็นของตัวเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมไม่เข้าใจเลยว่าอภิสิทธิ์เอาคดีความที่ตัวเองต้องข้อหามาปลุกล้มประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ไง คนละเรื่องกันเลย

การใช้วาทกรรมกลับไปกลับมา หรือใช้วาทกรรม คนดีเพื่อตำหนิหรือทำลายฝ่ายตรงข้าม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกของนักการเมือง โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์เคยยกเรื่อง จริยธรรมและ ความรับผิดชอบทางการเมืองมาอภิปรายในสภาเพื่อให้นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พิจารณาตัวเองในการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีคนเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บนับร้อย

แต่เหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตที่มีคนตายถึง 99 ศพ และบาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน นายอภิ สิทธิ์กลับยืนยันว่าไม่ผิด ไม่ขอโทษ และไม่แสดงความ รับผิดชอบทางการเมืองใดๆ ทั้งยังพยายามกล่าวหาว่าเป็นความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณและ ชายชุดดำ

กกต. เตือนติดคุก-ยุบพรรค

ขณะที่นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรม การการเลือกตั้ง เห็นด้วยกับการทำประชามติก่อนจะลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพื่อลดความขัดแย้ง แต่ควรกำหนดประเด็นในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน

ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองและออกเสียงประชามติ เตือนนายอภิสิทธิ์ที่จะรณรงค์ให้ประชาชนล้มการจัดทำประ ชามติว่า อาจสุ่มเสี่ยงผิดต่อมาตรา 43 (3) ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2552 ที่ระบุว่า ห้ามผู้ใดหลอกลวง บังคับขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สำคัญผิดในวัน เวลาที่ออกเสียง หรือวิธีการลงคะแนนออกเสียง ซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น การกระทำใดที่ส่อเป็นความผิดอาจถูกร้องต่อ กกต. และศาลอาญาได้ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดทางอาญา

ถ้าประชาชนไม่ออกไปลงเสียงประชามติก็ไม่ถือว่าขาดสิทธิเหมือนการเลือกตั้งทั่วไป แต่หากมีบุคคลใดไปบังคับขู่เข็ญไม่ให้ออกไปใช้สิทธิตามระ บอบประชาธิปไตยถือว่ามีโทษทางกฎหมาย จึงอยากให้ฝ่ายที่ค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรรณรงค์ให้ประชา ชนออกไปลงเสียงประชามติและกากบาทในช่องไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติน่าจะดีกว่า และไม่เสี่ยงขัดกับหลักกฎหมาย หรืออาจมีผลถึงการยุบพรรค

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ตอบโต้นางนางสดศรี โดยเตือนว่าอย่ามาขู่ ถ้า กกต. ขู่ก็เท่ากับว่าทำผิดกฎหมาย กกต. มีหน้าที่ดูแลการทำประชามติไม่ให้มีการใช้อำนาจอิทธิพลไปข่มขู่ คุกคามให้ไปในทางใดทางหนึ่ง แต่การใช้เหตุผลเพื่อหักล้างกันคือกระบวน การประชาธิปไตยที่จะรองรับประชามติ จึงอยากให้ กกต. ตั้งหลักให้ดีและต้องเป็นกลาง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันมาตลอดว่าปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ยอมรับการรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยคดีของบางคน ซึ่งบังเอิญพรรคเพื่อไทยหลุดออกมาว่าจะทำอะไร เจตนารมณ์ในการทำประชามติคือทุกฝ่ายต้องมีเวทีในการแสดงเหตุผลได้

ทำไมปกป้องเผด็จการ?

นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ที่กล่าวหาว่าแก้ไขรัฐธรรม นูญทั้งฉบับหวังลบมาตรา 309 เพื่อล้มคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า ถือว่าบิดเบือนรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ตามขั้นตอนยังไม่มี ส.ส.ร. อีกทั้งการจัดทำประชามติต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และตั้งคำถามกับนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ว่าทำไมจึงพยายามปกป้องรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ทั้งที่เป็นผลพวงของการรัฐประหาร

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ เห็นว่าการรณรงค์คว่ำประชามติของนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ไม่เป็นความผิด ถือเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 69 บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี เพราะกฎหมายกำหนดลักษณะการกระทำที่เจาะจงคือ ต้องมีพฤติการณ์ใช้ประโยชน์จูงใจ หรือหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม ถ้าจะพอเป็นไปได้ก็อาจเป็นกรณีที่มีการหลอกลวง แต่ถ้ารณรงค์โดยอธิบายเหตุผลก็ถือว่าเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ที่น่าสนใจคือข้อเสนอของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลัก นิติธรรมแห่งชาติ (คอ.ธน.) เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรม นูญทั้งฉบับ ไม่ควรทำเป็นรายมาตรา เพราะจะทำให้กระทบกับอีกหลายมาตรา และไม่ควรใช้รูปแบบการตั้ง ส.ส.ร. เพราะขัดกับหลักนิติธรรมว่าด้วยความเสมอภาคและไม่เป็นธรรม เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีประชากรไม่เท่ากัน แต่มี ส.ส.ร. ได้จังหวัดละ 1 คน ทั้งอาจมีปัญหาเรื่องความเป็นตัวแทนของพรรคการ เมือง ซึ่งจะทำให้สถานการณ์บานปลาย แถมยังต้องใช้งบประมาณถึง 7,000 ล้านบาท และใช้เวลานาน 20 เดือน แต่ถ้าตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะใช้งบ ประมาณน้อยกว่า และใช้เวลาเพียง 15 เดือนเท่านั้น

เตะหมูเข้าปากหมา

ขบวนการล้มการลงประชามติหรือต่อต้านการแก้ไขของรัฐบาลจึงไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ได้มีเฉพาะ พรรคประชาธิปัตย์ แต่ยังมีกลุ่มเกลียดทักษิณที่จ้องล้มรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มเสื้อหลากสี และอีแอบ

การลงประชามติจึงอาจเป็นการ เตะหมูเข้าปากหมาหรือเหมือน เข็นครกขึ้นภูเขาอย่างที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี บอกว่าทำไมต้องทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ซึ่งแนวทางของตนเองจะเสนอแก้ไขเพียง 7 ประเด็น

การลงประชามติจึงกลายเป็น กับดักพรรคเพื่อไทยไปโดยปริยาย ทั้งยังต้องรณรงค์ให้ผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งคือ 24 ล้านคน จากตัวเลขล่าสุดของผู้มีสิทธิทั้งหมดประมาณ 48 ล้านคนเศษ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังอาจเข้าทางฝ่ายแค้นและฝ้ายค้านที่จะนำมาเป็นเงื่อนไขล้มรัฐบาลอีกด้วย

อย่างที่สื่อเหลืองกล่าวหาพรรคเพื่อไทยล่วงหน้า ไปแล้วว่าใช้ประชามติเพื่อเอาประชาชนเป็นหลังพิงเท่านั้น ถ้ามีปัญหาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้จะได้อ้างกับคนเสื้อแดงว่าได้ทำตามสัญญาแล้ว รัฐบาลและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

แต่ถ้าเสียงประชามติเกินกึ่งหนึ่ง ฝ่ายแค้นและฝ่ายค้านก็ไม่ยอมให้มีการแก้ไขตามที่พรรคร่วมรัฐบาล ต้องการ โดยเฉพาะมาตรา 309 ที่รับรองความชอบธรรมคณะรัฐประหารตลอดกาล อำนาจองค์กรอิสระที่ครอบงำฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ ส.ว.สรร หาที่ลากตั้งเข้ามาแล้วยังมีอำนาจเท่ากับ ส.ว.เลือกตั้ง

เมื่อมาพิจารณาถึงเงื่อนไขที่ว่าต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่ากึ่งหนึ่ง จากผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 48 ล้านคน หมายความว่าหากมีผู้มาลงคะแนนไม่ถึง24 ล้านคน การแก้รัฐธรรมนูญจะมีอันล้มพับไปทันที แต่ถ้าหากมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกิน 24 ล้านคน แล้วผลออกมาว่าคนส่วนมากที่มาใช้สิทธิเห็นด้วยให้มีการแก้รัฐธรรมนูญได้ ก็มิใช่ว่าเรื่องจะจบ เพราะเหล่าบรรดาผู้ต่อต้านและเหล่าผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เคยชนะประชามติด้วยวาทะที่ว่า รับๆไปก่อน ค่อยแก้ทีหลังก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกว่า คำว่า กึ่งหนึ่งหมายถึงจำนวนเท่าใดกันแน่?

จะ vote “YES”, vote “NO” หรือ “NO vote” ก็ล้วนแต่เป็นการเดินสู่ กับดักแห่ง ตุลาการภิวัฒน์

การทำประชามติของพรรคร่วมรัฐบาลจึงเป็นเส้นทางสุดโหดและเต็มไปด้วย กับดักที่อาจทำให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลล้มอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะขบวนการ ตุลาการอภินิหารที่มีอำนาจล้นฟ้าและพลิกแพลงได้อย่างแยบยล!

หรืออาจเห็นศาลรัฐธรรม นูญต้องตัดสินด้วยการเปิด พจ นานุกรมมาตีความอีกครั้ง!?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 391 วันที่ 22-28 ธันวาคม 2555 หน้า 18 คอลัมน์  เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน

 

วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เมียนมาร์กับอาเซียน

โดย ธีระ นุชเปี่ยม ศูนย์เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
หน้า 7,มติชนรายวันฉบับวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม2555


เมียนมาร์เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนใน ค.ศ.1997 พร้อมกับ สปป.ลาว และเมื่อกัมพูชาได้เป็นสมาชิก อีก 2 ปีต่อมา อาเซียนก็บรรลุปณิธานของการเป็น "อาเซียน 10" หรือการเป็นกลุ่มภูมิภาคที่รวมทุกชาติในภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน (ปัจจุบันมีเพียงติมอร์เลสเตที่เพิ่งเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการใน ค.ศ.2012 ที่ยังไม่ได้ร่วมเป็นสมาชิก) แต่การนำเมียนมาร์เข้ามาเป็นสมาชิกก็ได้สร้างปัญหาให้แก่อาเซียนอย่างมาก โดยเฉพาะจากการที่ชาติตะวันตกไม่ยอมรับและโดดเดี่ยวเมียนมาร์ทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ ค.ศ.1988 เพราะรัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมาร์ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองและเข่นฆ่าประชาชนที่ลุกฮือขึ้นเกือบทั่วประเทศในปีนั้น
อย่างไรก็ดี ความอดทนของอาเซียนในการยืนหยัดอยู่กับเมียนมาร์ก็ถือว่าบรรลุผลในที่สุด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในประเทศนี้

เมียนมาร์ที่เคยฉุดรั้งอาเซียนดูจะกลายเป็นแม่เหล็กดึงความสนใจของโลกภายนอกมาที่อาเซียนในขณะนี้ด้วยซ้ำ

จริงๆ แล้วเมียนมาร์เป็นชาติหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สมควรได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างมาก ช่วง 10 ปีแรกภายหลังได้รับเอกราชใน ค.ศ.1948 เมียนมาร์เกือบไม่มีโอกาสได้พัฒนาประเทศ เพราะปัญหาความปั่นป่วนรุนแรงภายในจากทั้งความขัดแย้งกับชนชาติกลุ่มน้อยและการกบฏต่อต้านโดยกลุ่มและขบวนการต่างๆ หลากหลาย หลังจากนั้นไม่นาน คือใน ค.ศ.1962 เมียนมาร์ก็ต้องตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารที่ต้องการนำเมียนมาร์ไปสู่ "ระบบสังคมนิยมตามแนวทางของพม่า" (Burmese Way to Socialism) การพัฒนาไปในแนวทางนี้อย่างโดดเดี่ยวจากโลกภายนอกอย่างมาก ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ใน ค.ศ.1987 สหประชาชาติขึ้นบัญชีเมียนมาร์เป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (least developed country) ประเทศหนึ่ง

แม้ว่าหลัง ค.ศ.1988 มีความพยายามที่จะเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนจากภายนอก แต่นโยบายรัฐบาลก็ยังขาดความคงเส้นคงวา ประกอบกับการถูกโดดเดี่ยวจากโลกตะวันตกและการสู้รบกับชนชาติกลุ่มน้อยที่ยังดำเนินอยู่จนถึงประมาณกลางทศวรรษ 1990 (ล่าสุด ตัวแทนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNU ที่ต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลตลอดมาก็ได้พบปะกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เพื่อตกลงเจรจาสันติภาพระหว่างกันเมื่อต้นปีนี้) ความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจในเมียนมาร์จึงมีน้อยมาก

ความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเกิดขึ้นในช่วงระยะไม่ถึง 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยที่ทั้งความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ภายนอกและการคลี่คลายของบรรยากาศทางการเมืองภายในเมียนมาร์ ส่งผลให้เมียนมาร์ไม่เพียงแต่กลับมาสู่ความสนใจ แต่กล่าวได้ว่าอย่างน้อยขณะนี้ได้กลับมาสู่ประชาคมระหว่างชาติหลังจากอยู่โดดเดี่ยวมาประมาณครึ่งศตวรรษเต็มๆ

แม้ว่าการสูญเสียเลือดเนื้อทั้งจากเหตุการณ์ที่เมือง Depayin ใน ค.ศ.2003 (ฝูงชนที่รัฐบาลสนับสนุนเข่นฆ่ากลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายค้านหรือ NLD ประมาณ 70 คน) และใน ค.ศ.2007 (การปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนที่ลุกฮือทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพัน) ทำให้ภาพลักษณ์ของเมียนมาร์ตกต่ำยิ่งขึ้นไปอีก แต่โศกนาฏกรรมจากพายุไซโคลนนาร์กีสที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสนคน ก็มีส่วนอยู่ไม่น้อยในการสร้างความเชื่อมั่นและสันถวไมตรีระหว่างเมียนมาร์กับประชาคมระหว่างชาติให้ดีขึ้น การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 3 ฝ่าย คือ อาเซียน สหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ของเมียนมาร์ ได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นครั้งสำคัญ

ที่สำคัญที่สุดคือ การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2010 ที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนในปีต่อมา และการถอยกลับไปอยู่หลังฉากของกองทัพ ได้นำไปสู่การคลี่คลายบรรยากาศทางการเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนตั้งแต่ ค.ศ.1962 ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยนางออง ซาน ซูจี และนักโทษการเมืองอีกเป็นจำนวนมาก การให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชนมากขึ้น การยอมให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือแม้กระทั่งการล้มเลิกโครงการสร้างเขื่อนที่ได้รับการช่วยเหลือจากจีน ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกต่อต้านอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงสำคัญในช่วงนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลสหรัฐต้องการกลับเข้ามามีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อยับยั้งการขยายอิทธิพลของจีน ซึ่งมีส่วนช่วยเหลือเมียนมาร์อย่างมากระหว่างที่ถูกโดดเดี่ยว เมียนมาร์จึงเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการแข่งขันของมหาอำนาจ โดยที่การเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลสหรัฐต่อเมียน มาร์ไม่เพียงแต่จะทำให้เมียนมาร์กลายเป็นจุดเด่นในช่วงนี้เท่านั้น หากแต่ดูจะมีส่วนสำคัญในการเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้เร็วขึ้นอีกด้วย

ความเคลื่อนไหวสำคัญที่บ่งบอกถึงสถาน การณ์ที่เปลี่ยนไป คือ การที่อาเซียนตกลงเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่จะให้เมียนมาร์เป็นประธานอาเซียนใน ค.ศ.2014 เมียนมาร์เคยต้องสละสิทธิการมีตำแหน่งนี้มาแล้วใน ค.ศ.2005 ในระหว่างการประชุมสุดยอดที่เวียงจันทน์ เพราะกระแสต่อต้านรัฐบาลทหารของประเทศนี้ แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านหรือการแสดงความไม่มั่นใจจากบางกลุ่มบางฝ่ายทั้งภายในและภายนอกอาเซียน แต่ความเคลื่อนไหวในช่วงนี้ได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก จนแม้กระทั่งอาเซียนเองก็ดูจะกลายเป็นฝ่ายตามสถานการณ์ด้วยซ้ำ

ความเคลื่อนไหวเด่นที่สุดของช่วง ค.ศ.2012 คือการเยือนเมียนมาร์ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในเดือนพฤศจิกายน และได้พบปะทั้งกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และนาง

ออง ซาน ซูจี ผู้นำสหรัฐยอมรับว่าการปฏิรูปทั้งด้านประชาธิปไตยและในทางเศรษฐกิจที่

เริ่มโดยรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาร์สามารถจะนำไปสู่"โอกาสด้านการพัฒนาที่เหลือเชื่อ" จึงกระตุ้นให้มุ่งเดินหน้าไปในเส้นทางนี้ต่อไป อย่าให้ "แสงรำไรแห่งความก้าวหน้าที่เราได้เห็นแล้วนี้ดับไป" ในระหว่างการเยือน โอบามายอมเรียกชื่อประเทศว่า "เมียนมาร์" ซึ่งแม้จะถือเป็นเพียงมารยาททางการทูตวาระนี้เท่านั้น

แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นสำคัญยิ่งที่อาเซียนต้องติดตามความก้าวหน้าต่อไปอย่างใกล้ชิด

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ส่องประชาธิปไตยไทย - อเมริกา : ฟ้ากับดิน

โดย ส.ส.ดร.สุนัย  จุลพงศธร จาก RED POWER ฉบับที่ 31 เดือนธันวาคม 2555



1. ชีวิตที่ผันแปร

                   ผมจำความได้ว่าชีวิตที่เกี่ยวกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของผมเริ่มต้นจากการเป็นนิสิตปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปสังเกตุการเลือกตั้งที่จังหวัดสุโขทัยเมื่อปี 2513 แต่ 40 กว่าปีผ่านไปชีวิตที่ไม่ได้คาดฝันวันนี้ได้มีโอกาสไปสังเกตุการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่สหรัฐอเมริกาในฐานะตัวแทนของรัฐสภาไทยดูชั่งอัศจรรย์ใจจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปเห็นการเลือกตั้งของอเมริกาในขณะที่สมองของผมเต็มไปด้วยข้อมูลประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่นักวิชาการไทยแต่มีใจเป็นเผด็จการได้เป่าเสกเวทย์มนต์ครอบงำสังคมไทยมายาวนาน ทำจนคนไทยเข้าใจประชาธิปไตยว่าเป็นระบอบการปกครองของเทวดาบนฟ้าไม่ใช่ระบอบการปกครองของสามัญชนที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน ดังนั้น คนไทยจึงเข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่เน้นแต่คุณธรรมและจริยธรรมแต่ไม่เน้นนโยบายที่จะเอาภาษีของประชาชนกลับไปสู่คนส่วนใหญ่และเน้นให้ระบบการเลือกตั้งเกิดความศักดิ์สิทธิ์เหมือนศาสนาขยับนิดก็ผิด ขยับหน่อยก็โมฆะและใช้โอกาสแห่งความงุนงงในคุณธรรมอันจอมปลอมนี้ทำการโจมตีนักการเมืองตัวแทนของประชาชนว่าเป็นผู้ขาดคุณธรรมและจริยธรรมแล้วก็ใช้กำลังทหารยึดอำนาจเป็นระยะๆในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และตลอดเวลาของการยึดอำนาจตัดตอนประชาธิปไตยนั้นก็สร้างระบบองค์กรอำนาจของขุนนางที่หลอกลวงว่าเป็นองค์กรอิสระแต่แท้จริงคือองค์กรของระบอบขุนนางขึ้นมาครอบงำระบอบประชาธิปไตยแล้วสุดท้ายเมื่อประชาชนรู้ทันก็ทำการจับกุมและเข่นฆ่าประชาชนที่ออกมาต่อต้านและหลังจากนั้นก็ใช้กลไกศาสนาเรียกร้องให้อภัยต่อกันด้วยเหตุผลที่คุ้นหูว่า เราเป็นคนไทยด้วยกันมีศาสนาเดียวกันและมีพระมหากษัตริย์องค์เดียวกัน แล้วอีกไม่นานก็ฆ่ากันใหม่วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ไม่จบสิ้น มาถึงวันนี้ผมจึงเกิดภาวะตาสว่างว่าทั้งหมดที่คนไทยได้ถูกกรอกหูมาทั้งชีวิตนั้นเป็นเรื่องโกหกทั้งสิ้น เพราะแท้จริงแล้วระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบปกครองของสามัญชนคนเดินดินที่มีทั้งผิดและถูกแต่มีสาระสำคัญคือใช้เสียงข้างมากตัดสินเป็นระยะๆและแก้ไขกันไปเรื่อยๆเรียกว่า พัฒนาการ แต่ไม่ใช่ระบอบของสวรรค์ที่ทุกอย่างต้องถูกต้องตามหลักคุณธรรมทางศาสนาในไตรภูมิพระร่วงและหากผิดเมื่อไรก็เป็นบาปตราติดชีวิตไปถึงชาติหน้า ดังนั้นเมื่อมองประชาธิปไตยไทยกับอเมริกาจึงเปรียบได้ว่าประชาธิปไตยไทยเหมือนระบอบบนฟ้าที่ไม่เป็นจริงกับประชาธิปไตยอเมริกาที่เป็นระบอบแห่งความเป็นจริงที่คนเดินดินต้องช่วยกัน

 

2.เลือกประธานาธิบดีทุก 4 ปี ได้วันดีตรงกัน

                   แค่รู้ว่าวันเลือกตั้งประธานาธิบดีของเขาเลือกทุกวันอังคารแรกของเดือนพฤศจิกายนของปีคู่ทุกๆ 4 ปี ซึ่งเลือกมาจะพอ 200 ปีแล้ว ผมก็ได้รู้ทันทีว่าประชาธิปไตยของบ้านเรามีปัญหาแน่ๆ เพราะวันเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาไทยไม่เคยตรงวันเลยตลอด 80 ปี นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา กรณีนี้ยังไม่นับถึงตลอดระยะเวลา 80 ปีที่มีการฆ่าตัดตอนประชาธิปไตยหรือเรียกให้ทันสมัยแบบองค์การพิทักษ์สยามของ เสธ.อ้าย ว่า การแช่แข็งประชาธิปไตย เป็นระยะๆ โดยไม่มีการเลือกตั้งรวมตลอดถึงระหว่างมีประชาธิปไตยก็ยังบิดเบี้ยวทำเอาใจหายใจคว่ำโดยอำนาจนอกระบบเล่นละครตบตาประชาชนพยายามช่วงชิงอำนาจที่ประชาชนมอบให้กลับคืนไปในทุกวิถีทางก็มีให้เห็นตลอดเวลาในประวิติศาสตร์การเมืองไทย เช่น การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับโปรดเกล้าให้เป็นนายกฯก็เกิดเหตุการณ์ใจหายใจคว่ำเริ่มตั้งแต่วันแรกของการรับพระบรมราชโองการ ก่อนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศทั้งๆที่ได้รับเลือกตั้งมีเสียงข้างมากในสภาที่มาจากประชาชนแล้วแต่ทุกคนกลับต้องลุ้นว่า เธอ จะได้เป็นนายกฯหรือไม่ เพราะในวันรับพระบรมราชโองการตามกำหนดเป็นวันที่ 5 สิงหาคม 2555 แต่ต้องเลื่อนกำหนดไปเป็นวันที่ 8 สิงหาคม 2555 โดยไม่มีใครที่จะหาความจริงได้ว่าเป็นเพราะอะไร ? ได้แต่เพียงกล่าววิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนาๆรวมถึงประวัติศาสตร์การรอเป็นนายกฯเก้อของ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ในปี 2535 ทั้งๆที่เป็นหัวหน้าพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภา ด้วยเหตุที่รถยนต์ของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ในฐานะประธานรัฐสภาในขณะนั้นที่นำพระบรมราชโองการผ่านหน้าบ้านพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ไปจอดที่หน้าบ้านนายอานันท์ ปันยารชุน เมื่อข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นเช่นนี้ก็ยิ่งเห็นชัดว่าระบอบของเรามีปัญหาจริงๆ และเป็นปัญหาสำคัญที่นำประเทศชาติสู่วิกฤติอันเป็นผลมาจากโครงสร้างของระบอบจนเกิดภาวะบิดเบี้ยวต่อความเข้าใจของประชาชนและนำไปสู่ความไม่สงบของบ้านเมืองต่อเนื่องมายาวนาน

                   เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าที่สหรัฐอเมริกานั้นเขามีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกๆ 4 ปี ตรงวัน ตรงปี กันมานานกว่า 100 ปี แล้วนับตั้งแต่เขามีเลือกตั้งกัน กล่าวคือจะเป็นวันอังคารแรก (หลังจากมีวันจันทร์แรก) ของเดือนพฤศจิกายน (ถ้าวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันอังคารก็จะเป็นอังคารที่สองของเดือนพฤศจิกายน แทน) ของปีคู่ ทุกๆ 4 ปีนับล่วงหน้าไปได้เลย และแม้การปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยของเขาจะมีสะดุดหยุดลงบ้างเป็นธรรมดา เช่น มีการสังหารประธานาธิบดีก็ตาม เขาก็มีระบบทดแทนทันทีโดยไม่ขาดตอน คือจะมีรองประธานาธิบดีคนที่ 1 ขึ้นทำหน้าที่แทนทันที ดังเช่นกรณีการสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี เมื่อ 22 พฤศจิกายน 1963 (พ.ศ. 2506) ที่เมืองดัลลัส รัฐเทคซัส และขณะนำศพของประธานาธิบดีเคนเนดีขึ้นเครื่องบินกลับไปทำพิธี ตอนบ่ายของวันตายนั้นรองประธานาธิบดีลินดอน บี.จอห์นสัน  ก็ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทนทันทีโดยเข้ารับหน้าที่และสาบานตนต่อศาลสูงบนเครื่องบินที่บรรทุกศพของประธานาธิบดีเคนเนดีนั้นเอง และอยู่จนครบวาระที่เหลืออยู่ของประธานาธิบดีที่เสียชีวิตแล้วก็เลือกตั้งกันใหม่ตามวันเวลาที่กำหนดไว้
 
 

                   เมื่อฟังผู้รู้มาบรรยายให้ฟังในประเทศไทยในห้องกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรที่เมืองไทยก่อนจะเดินทางไปสังเกตการณ์ที่สหรัฐอเมริกา ผมก็สรุปได้ว่าที่ระบอบประชาธิปไตยของเขามีความมั่นคงและแน่นอนตรงวันเวลาเช่นนี้เป็นเพราะเขาไม่มีอำนาจนอกระบบที่เข้ามาแทรกแซงตัดตอนอำนาจของประชาชนเลย พูดกันให้ตรงไปตรงมาก็คือ ทหารอเมริกันไม่อาจจะขับรถถังออกมายึดอำนาจโดยมีนักวิชาการที่เลวร้ายคอยอธิบายเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้แก่การทำลายประชาธิปไตยว่า การขับรถถังออกมานั้นเพื่อสร้างความสงบและเป็นการรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือมีการอธิบายด้วยภาษาโกหกที่คุ้นหูว่า เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ไร้คุณธรรมบริหารประเทศด้วยการหาประโยชน์ส่วนตัว เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในอเมริกาประชาชนเขาเอาทหารตาย รถถังจะกลายเป็นเศษเหล็กภายในพริบตา

                   ผมก็เป็นคนขี้สงสัยเมื่อรู้ว่าอเมริกาไม่มีทหารเสียสติและนักวิชาการขายตัว แต่ก็ยังสงสัยจึงสอบถามผู้รู้ว่า ทำไม ? เขาถึงเลือกตรงวันอังคารและตรงเดือนตลอดเวลานานเป็นร้อยๆปี เช่นนี้ด้วยเล่า ?

                   ก็ได้คำตอบว่าเป็นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนานเพราะเมื่ออเมริกาเริ่มต้นตั้งเป็นประเทศเมื่อ 200 กว่าปีก่อนเขาก็เป็นประเทศเกษตรกรรม เวลาเลือกตั้งที่สะดวกก็ต้องทำกันในหลังฤดูเก็บเกี่ยวแล้วก็ตกอยู่เดือนพฤศจิกายนที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวและเมื่อก่อนการคมนาคมก็ไม่สะดวกจะเดินทางไปเลือกตั้งก็ต้องขี่ม้ากันไปเป็นวัน ก็พอดีที่จะเป็นวันอังคารเพราะ   วันอาทิตย์ทุกคนก็จะเข้าโบสถ์กันเป็นปกติพอ วันจันทร์ ก็เป็นวันเดินทางทั้งวันกว่าจะถึงเมืองที่ลงคะแนนเลือกตั้งก็ค่ำมืดต้องนอนพัก พอรุ่งเช้าวันอังคารก็ลงคะแนนแล้วขี่ม้ากลับบ้าน ดังนั้นเมื่อทำติดต่อกันมานานมันก็ลงตัวทุกๆ   4 ปี ไม่มีขาดตอนก็เลยยาวกันมาอย่างนี้

                   ผู้รู้เขาเล่าให้ฟังอย่างนี้ก็ดูมีเหตุผลดีนะครับ

...............