Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การบินไทย บินไกล-เหนือมืออาชีพ


โดย จำลอง ดอกปิก
(ที่มา คอลัมน์ระหว่างวรรค หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2555)
การบินไทยเป็นองค์กรสุดยอดแห่งความลึกลับ ซับซ้อน มีเงื่อนงำ พิสดารพันลึกแห่งหนึ่ง สายการบินแห่งชาติในสายตา ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นั้น เป็นองค์กรใหญ่ที่ไม่มีระเบียบวินัย มีความแตกแยกสูง มีการเล่นพรรคเล่นพวก มีการช่วยเหลือคนไม่ดี มีการวิ่งเต้น มีการแทรกแซงหลายระดับ

อย่าได้ถามหาธรรมาภิบาลการบินไทย!


การบินไทยแต่เดิมนั้น เป็นขุมทรัพย์ทัพสีเทา ต่อมาเมื่อมีการปรับโครงสร้างการบริหาร เปลี่ยนรูปแบบเป็นบริษัท จำกัด (มหาชน) นักการเมืองเข้ามามีบทบาทแทน และกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ฝ่ายการเมือง โดยมีฝ่ายบริหารการบินไทยบางส่วนร่วมขบวน ไม่ก็เปิดวงทำมาหากิน แตกแขนงหลายก๊กเหล่า

ไม่มียุคสมัยใดที่ฝ่ายการเมืองไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการบินไทย จะแตกต่างกันก็เพียงระดับความเข้มข้น และการมองการยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกิจการบริหารภายในเป็นลักษณะใดเท่านั้น

ผู้บริหารบางคนเลือกรับฟังคำสั่ง หรือเรียกกันสวยหรูว่านโยบาย จากฝ่ายการเมืองเฉพาะเพียงบางกลุ่มพวก แต่หากเป็นอีกกลุ่มพวกหนึ่งนั้น เมื่อมีการประสาน สั่งการ หรือมอบหมายนโยบายจะปฏิเสธทันที

พร้อมกับเรียกรูปแบบเดียวกันนี้ว่า การแทรกแซง!

ในความเป็นจริงแล้ว การบินไทยมิใช่รัฐอิสระ การอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บ่งบอกสถานะการบินไทยชัดเจนอยู่แล้ว

การสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่แม้ดำเนินการโดยเปิดเผย และดูเหมือนขั้นตอนทุกอย่างโปร่งใส แต่ยอมรับกันหรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว มีการกำหนดตัวบุคคลมาแล้วระดับหนึ่งแทบทั้งสิ้น ทุกยุคทุกสมัย

การสรรหาอาจเป็นเพียงพิธีการ ส่งบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจเข้าไปดำรงตำแหน่งเพื่อลดทอนข้อครหาเท่านั้น การบินไทยยังต้องพึ่งพารัฐ-รัฐบาล ในการค้ำประกันเงินกู้ เงินลงทุนโครงการ หรือแม้แต่การจัดซื้อฝูงบิน

ในเมื่อไม่ใช่องค์กรอิสระอย่างแท้จริง การจะให้ปราศจากการสั่งการหรือมอบหมายนโยบาย หรือจะเรียกว่าการแทรกแซงรูปแบบหนึ่งก็ได้นั้น จึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง และไม่สอดคล้องกับสถานภาพองค์กร

กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ดูจากถ้อยแถลง 2 ฝ่ายที่ชี้แจงต่อสาธารณะ น่าเห็นใจปิยสวัสดิ์ เพราะพิจารณาจากผลงานแล้ว ดูเหมือนการเลิกจ้างอาจไม่เป็นธรรมเท่าใดนัก แต่ก็เข้าใจได้ถึงเหตุผล ความจำเป็นของบอร์ดการบินไทยเช่นกันว่า เหตุใดจึงตัดสินใจเช่นนี้

มุมมองอันแตกต่างกันของสองฝ่าย ด้านหนึ่งสะท้อนภาพความไม่ลงรอย ในแนวทางการบริหารงานระหว่างกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กับคณะกรรมการบริหารการบินไทย

เรื่องตื้นลึกหนาบางถึงขั้น มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวพันหรือไม่นั้น คงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าสองฝ่ายนี้อย่างแน่นอน แต่เรื่องที่จะเป็นประเด็นถกเถียงกันยาวอีกครั้งก็คือ รูปแบบการบริหาร

ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่หรอก

ฝ่ายหนึ่งยืนกระต่ายขาเดียว การบินไทยจะเข้มแข็ง สามารถยืนหยัดแข่งขันกับสายการบินอื่นทั่วโลกได้นั้น การบริหารงานต้องเป็นมืออาชีพ ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

ฝ่ายบริหารต้องสามารถตัดสินใจได้เอง แม้กระทั่งเรื่องสำคัญ อย่างการลงทุนระดับแสนสองแสนล้านบาทเพื่อซื้อเครื่องบินฝูงใหม่ ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอฝ่ายรัฐบาล

การบินไทยจะเจริญก้าวหน้าได้ นักการเมือง-บุคคลภายนอกต้องหยุดสั่งการผ่านการมอบหมายแอบอ้างเป็นนโยบาย

ขณะที่อีกฝ่ายกลับมองว่า การบริหารงานต้องยึดหลักทางสายกลาง ยืดหยุ่นไม่ตายตัวเกินไป ไม่ว่าฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายไหนก็ตาม ต้องสามารถพูดคุย ปรึกษาหารือกันได้ด้วยเหตุด้วยผล เพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร และประเทศชาติ

อย่างแทนที่จะตัดสินใจจัดหาเครื่องบินจากประเทศใดประเทศหนึ่ง หลักแสนสองแสนล้านบาทโดยมองประโยชน์การบินไทย (หรือไม่ก็ของใคร) เพียงลำพัง

เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมองกว้างไกลกว่านั้น ยกระดับเป็นการจัดซื้อจัดหาโดยรัฐ นำเรื่องไปเจรจาต่อรอง แลกเปลี่ยนการค้า การลงทุนระหว่างกัน หรืออาจนำไปเป็นอำนาจต่อรองเรื่องอื่นที่เป็นข้อขัดแย้ง ไม่ลงรอยกับประเทศคู่ค้า

หากร่วมมือกันได้อย่างนี้ ผลสำเร็จในการงานอาจยิ่งใหญ่กว่า มืออาชีพแต่ในนาม ไม่ลองคิดอ่าน บ้างหรือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น