Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

‘ไฟใต้’เหลือวิสัยจะแก้ไข?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 360 วันที่ 19-25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 หน้า 8 คอลัมน์ โลกสีกากี โดย พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช

ศึกษาประวัติศาสตร์และเรื่องราวในอดีตที่เจ้าพระยายมราชได้เสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหามณฑลปัตตานีเมื่อ พ.ศ. 2465 จะเห็นได้ว่ารัฐไทย (ซึ่งในยุคนั้นเรียกว่ารัฐสยามหรือประเทศสยาม) มีผู้ปกครองผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกี่ชุด ทั้งรัฐบาลเผด็จการเต็มรูปแบบ กึ่งเผด็จการ หรือรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ ก็ไม่ได้นำแนวคิด ข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นมาพิจารณาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม หรือแม้แต่จะทดลองทำ

นอกจากนั้นยังกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆตามอำเภอใจ ดังจะเห็นได้จากนโยบายรัฐนิยม ชาตินิยม ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อาทิ เปลี่ยนชื่อเรียกจากประเทศสยามเป็นประเทศไทย บังคับให้ใช้ภาษาไทย ห้ามนุ่งโสร่ง สตรีไม่ให้ใช้ผ้าคลุมศีรษะ ฯลฯ ซึ่งได้สร้างปัญหาและความไม่พอใจในหมู่ชาวไทยเชื้อสายมลายู มุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างมาก

จนกระทั่งชาวมลายูมีผู้นำทางศาสนาและความคิดชื่อ หะยีสุหลง (ตวนกูรู หะยีมูฮำหมัด สุหลง บิน หะยี อับดุลกาเดร์ บินมูฮัมหมัด อัล-ฟะฎอนี) บิดาของนายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส., ส.ว. และรัฐมนตรีหลายสมัย ได้ยื่นข้อเรียกร้องเสนอไปยังรัฐบาลไทย 7 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นคือ

1.ขอให้ปกครอง 4 จังหวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงมีอำนาจในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัด

2.การศึกษาในชั้นประถมฯ (ขณะนั้นชั้นประถมฯมีเรียนแค่ชั้น ป.4) ให้มีการศึกษาภาษามลายูควบคู่ไปกับภาษาไทย

3.ภาษีที่เก็บได้ให้ใช้ภายใน 4 จังหวัดเท่านั้น

4.ในจำนวนข้าราชการทั้งหมด ขอให้มีข้าราชการชาวมลายูร้อยละ 85 (คิดตามสัดส่วนประชากรในพื้นที่ มีผู้นับถือศาสนาอิสลาม 85% พุทธ 15%)

5.ขอให้ใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยเป็นภาษาราชการ

6.ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาอิสลาม โดยความเห็นชอบของผู้มีอำนาจสูงสุด

7.ให้ศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกอฎีหรือดาโต๊ะยุติธรรมตามสมควร และมีเสรีภาพในการพิจารณาคดี

จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของเจ้าพระยายมราชและหะยีสุหลงสอดคล้องกันโดยนัยสำคัญในประเด็นภาษาและศาสนา

ถ้ารัฐบาลไทยต่อๆมาฉุกคิด หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาศึกษาอย่างจริงจังและลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ดุซงญอ-นราธิวาสเมื่อ พ.ศ. 2491 และการปล้นปืน พ.ศ. 2547 ตลอดจนการสูญเสียชีวิตที่กรือเซะและตากใบปีเดียวกันก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลไทยที่ปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยจึงมีลักษณาการให้ผู้คนที่อยู่ในบังคับ Do What I Want (ทำตามคำสั่ง) เท่านั้น ไม่เคยเลยที่จะถามประชาชนว่าต้องการอะไร (Ask Them What They Want)

ทั้งๆที่พิจารณาจากข้อเสนอเรื่องภาษาและศาสนาเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ทันที ไม่น่าจะมีปัญหาอุปสรรคใดๆ แนวทางและเครื่องมือที่จะทำให้รัฐ (ผู้ปกครอง) เข้าถึง เข้าใจประชาชน ก็มีภาษาและศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญ

“นโยบายการเมืองนำการทหาร” ที่ใช้อยู่ทุกวันโดยคิดว่าเป็นสูตรสำเร็จจึงล้มเหลว

ทำไมไม่ลองเปลี่ยนมาใช้นโยบาย “ศาสนาและภาษานำการปกครอง” ซึ่งตรงกับหลักพิชัยสงครามของ “ซุนวู” ว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

เรื่องของเขา ไม่รู้สักนิด ไม่เข้าใจสักหน่อย

เรื่องของเรา ยังเอาตัวไม่รอด สามัคคีธรรมไม่มี ทุกวันนี้ยังแบ่งสีแบ่งเหล่า

แล้วจะมีปัญญาทำให้เกิดสันติสุขได้อย่างไร?!

ความรู้สึกถูกกดขี่ ดูถูกดูแคลน ยกตนข่มท่าน ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะแค่คนในชาติที่ต่างภาษา ต่างศาสนา แม้แต่คนในชาติที่พูดภาษา นับถือศาสนาเดียวกัน ก็ยังปฏิบัติเหมือนพลเมืองชั้นสอง เพียงแค่ฐานะ อาชีพ และการศึกษาด้อยกว่าก็เหยียดหยามทั้งวาจา กิริยาที่แสดงออก ดังปรากฏในสื่อสาธารณะและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (โซเชียลเน็ตเวิร์ค)

ฉะนั้นไม่ว่าพรรคใด พวกใด มาเป็นรัฐบาล แล้วยังปล่อยปละละเลยให้สถานการณ์ในบ้านเมืองเป็นดังนี้โดยไม่คิดอ่านแก้ไขอย่างจริงจังและจริงใจ โอกาสที่จะทำให้คนในชาติ (ไม่ว่าจะเรียกรัฐไทยหรือรัฐสยาม) รวมพลังขับเคลื่อนให้บ้านเมืองพัฒนาเจริญก้าวหน้าเทียมบ่าเทียมไหล่ประเทศอื่นคงไม่มีวันเกิดขึ้น

สำหรับหน้าที่และความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ว่าด้วยเรื่อง “ศาสนาและภาษานำการปกครอง” ได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ดังที่เคยนำเสนอในบทความก่อนหน้านี้มาแล้วว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ชุดปัจจุบัน) ได้มีมติให้รับสมัครคนพื้นที่เป็นข้าราชการตำรวจใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (เทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย) ที่มีเขตติดต่อกับ 3 จังหวัด โดยรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมฯปลายหรือเทียบเท่าจำนวนทั้งสิ้น 1,000 คน แทนการรับผู้มีคุณวุฒิปริญญาตรี (เพราะมีตัวเลือกมากกว่าหลายเท่า) แต่จำกัดการรับบุคลากรที่มีความรู้ภาษามลายูและนับถือศาสนาอิสลามไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ 300 คน ส่วนที่เหลืออีก 700 คน เปิดรับทั่วไปไม่จำกัดภาษาและศาสนา คงจำกัดเฉพาะภูมิลำเนาใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอสงขลาเท่านั้น

เป้าหมายในการรับสมัครบุคลากรพื้นที่ นอกจากจะพิจารณาถึงหลักการ “ศาสนาและภาษานำการปกครอง” แล้วก็คือ การทดแทนกำลังพลที่ปฏิบัติงานอยู่ใน 3 จังหวัด ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นคนจากภาคอื่น จะได้มีโอกาสกลับไปสู่อ้อมอกถิ่นกำเนิด ไม่ต้องรู้สึกแปลกแยกต่อไปอีก คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า กำลังพลที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด จะเป็นคนพื้นที่จริงๆถึงร้อยละ 50 แล้วก็จะรู้ว่าแนวทางนี้เป็นการให้ยารักษาที่ถูกกับอาการของโรคหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น