Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทักษิณเรียกร้องการปรองดอง : อำมาตย์ฟังแต่ไม่ได้ยิน จับตาเส้นทางอันตรายจากเลือก สสร.ถึงลงประชามติ



บทชี้นำ จากนิตยสาร RED POWER เล่มที่ 26 ประจำเดือน พฤษภาคม 2555



          รากเหง้าที่ลึกที่สุดของสถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ไม่ใช่การต่อต้านการกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างเท่ห์ๆและไม่ใช่ญัตติการปรองดองแต่เป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

          การออกกฎหมายปรองดองเพื่อเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับไทยได้เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย แต่เรื่องจับใจและจริงจังยอมไม่ได้ของมหาอำมาตย์ในฐานะประธานเครือข่ายระบอบอำมาตยาธิปไตยคือ การเลือกตั้ง สสร.โดยตรงเพื่อไปร่างรัฐธรรมนูญ และการลงประชามติรัฐธรรมนูญจริงๆ เพราะอำนาจของระบอบอำมาตย์อยู่ตรงข้ามกับอำนาจของระบอบประชาชน

          กลยุทธ์การครองอำนาจรัฐถาวรของระบอบอำมาตย์คือ ต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกระดาษชำระพร้อมจะฉีกขาดยัดลงโถชักโครกได้ทุกเมื่อ แต่กลยุทธ์การครองอำนาจรัฐถาวรของระบอบประชาชน คือ ต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็นแผ่นทองคำที่ศักดิ์สิทธิ์จะฉีกขาดไม่ได้

          เพราะการก่ออำนาจรัฐของระบอบอำมาตย์ใช้บุญญาบารมีแห่งทวยเทพเชิดชูคุณธรรมและจริยธรรมเป็นเครื่องมือ แต่การก่ออำนาจรัฐของระบอบประชาชนใช้บุญญาบารมีแห่งมหาชนเชิดชูการแบ่งประโยชน์ที่มาจากภาษีอากรอย่างเป็นธรรมแก่มหาชนเป็นเครื่องมือ

          อำนาจรัฐของระบอบอำมาตย์จึงต้องอ้างเทพนิยาย

        อำนาจรัฐของระบอบประชาชนจึงต้องอ้างรัฐธรรมนูญ

        เพราะรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์แห่งเจตนารมณ์ของมหาชน

          ด้วยเหตุนี้ 80 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยแต่ถูกฉวยโอกาสคั่นกลางด้วยระบอบอำมาตย์,ผู้ครองอำนาจตัวจริงที่แอบข้างหลังระบอบประชาธิปไตยจึงพยายามทุกวิถีทางไม่ให้เกิดรัฐธรรมนูญที่มาจากเจตนารมณ์ของประชาชนจริงๆ  โดยอำพรางด้วยการรัฐประหารและร่างรัฐธรรมนูญกระดาษชำระขึ้นมาปกครองประเทศยาวนานโดยไม่มีการเลือก สสร.หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรงและไม่เคยมีการลงประชามติใดๆเลย

          การเกิด สสร.40 ก็เกิดจากคนที่ต้องการเป็น สสร.มาเลือกกันเองในแต่ละจังหวัด

          การเกิด สสร.50 ก็เกิดจาก คมช.จัดฉากละครแล้วชี้เอา

        การลงประชามติรัฐธรรมนูญ 50 ก็เป็นประชามติภายใต้ปากกระบอกปืน

          สสร. ที่จะคลอดใหม่นี้จะคลอดจากประชาชนโดยตรงทั้งเลือกตั้งและมีประชามติจริงๆเป็นครั้งแรก ดังนั้นหากเกิดรัฐธรรมนูญครบถ้วนตามหลักประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมิได้บัญญัติไว้ในกระดาษอีกต่อไป แต่หากบัญญัติลงในแผ่นสุพรรณบัฏ ใครขืนฉีกรัฐธรรมนูญก็จะบาดมือทันที

          หากหลุดรอดคลอดเป็นทารกได้ประชาธิปไตยไทยจะไปฉิวยากที่จะหวนกลับ

          ด้วยเหตุนี้เองการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ทั้งๆที่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยแต่ไม่เป็นไปตามครรลองหัวใจของหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจตัวจริงซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตัวจริงด้วยจึงต้องเกิดคลื่นลม

          กระแสลมหลักๆก่อตัวที่ไหนก็จะรู้ถึงแหล่งอำนาจรัฐตัวจริงอยู่ที่นั่น

          ผู้ยืนหยัดคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาคือประชาธิปัตย์และกลุ่ม สว.40

        ผู้ยืนหยัดคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในโครงสร้างการเมืองคือ องค์กรอิสระที่ชื่อว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน

          ผู้ยืนหยัดคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญนอกสภา คือ กลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองและเสื้อหลากสี

        ประชาธิปัตย์ประกาศเปิดเผยที่จะล้มร่างรัฐธรรมนูญนอกสภานับแต่การประชุมที่หาดใหญ่เมื่อ 27 28 กุมภาพันธ์ 2555 จนถึงที่หอประชุมใหญ่ราชภัฎสุราษฏร์ธานี

        เมื่อเปิดหน้าเล่นต้านรัฐธรรมนูญกันชัดเจนอย่างนี้ เรื่องการต่อต้านการปรองดองและต่อต้านการกลับบ้านของทักษิณก็เป็นเรื่องเล็กแต่จะถูกทำให้ใหญ่ขึ้น

          ป้อมปราการอำมาตย์ คืออำนาจตุลาการยังตรึงกำลังรบครบถ้วน ดูได้จากกรณีปลดชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ หลานสาวทักษิณออกจาก ส.ส. และตามมาด้วยปลดจตุพร ออกจาก ส.ส. อีกและจะปลดจตุพรออกจากรัฐมนตรีหักหน้าทักษิณหากจะตั้งจตุพรเป็นรัฐมนตรี

          คำเรียกร้องปรองดองของ พ.ต.ท.ทักษิณ กลางราชประสงค์ในงานครบรอบ 2 ปี ของการสังหารโหดประชาชน,อำมาตย์ฟังแต่ไม่ได้ยิน

          งานล้มร่างรัฐธรรมนูญในระบบด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญจะเริ่มขึ้นเร็วๆนี้เป็นการพิสูจน์ว่าอำมาตย์ฟังการเรียกร้องปรองดองแต่ไม่ได้ยิน

          จับตาเส้นทางอันตรายก่อนถึงเลือกตั้ง สสร.และก่อนถึงลงประชามติรัฐธรรมนูญ

วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิเคราะห์คดี‘จตุพร’‘ภาพหลอน’ทางรัฐธรรมนูญ?


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 361 วันที่ 26 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555 หน้า 4 - 6 คอลัมน์ เวทีความคิด โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ ได้สรุปความเห็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้สิ้นสุดลง เป็นคำถาม 3 ข้อ

1.ศาลได้ปรับใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่าหรือไม่ ?

2.ศาลได้ตีความกฎหมายอย่างไม่ระวัง จนเป็นการจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อีกทั้งเปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจ คุมขังเป็นอาวุธทางการเมืองหรือไม่?

3.คำวินิจฉัยนี้ทำให้เราควรหันมาปฏิรูปองค์กรตุลาการอย่างไร?

ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายจตุพรได้สิ้นสุดลง แต่สิ่งที่อาจยังไม่สิ้นสุดก็คือ ภาพเหตุผลทางกฎหมายอันน่าสะเทือนใจที่คงจะค้างคาในมโนภาพของนักนิติศาสตร์และประชาชนอีกหลายคน

หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย สำนักงานศาลได้เผยแพร่เอกสารผลการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เอกสารข่าวที่ 15/2555” (http://bit.ly/KHbkKn) มีคำอธิบายผลการพิจารณาตอนหนึ่ง ดังนี้

“...ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในวันเลือกตั้งซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) ถือเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง และเมื่อผู้ถูกร้องมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวจึงมีผลให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) ผลของการสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของผู้ถูกร้อง ทำให้ผู้ถูกร้องขาดคุณสมบัติความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (3) ซึ่งต้องสังกัดพรรคการเมือง และเป็นผลให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4)...”

คำอธิบายดังกล่าวมีเนื้อหาสอดคล้องกับคำวินิจฉัยที่ศาลได้อ่านและสื่อมวลชนได้รายงานไปแล้ว (เช่น http://bit.ly/J2aWCd และ http://bit.ly/JVLh0E) ซึ่งผู้ทำความเห็นจะได้อ้างถึงในความเห็นฉบับนี้

สรุปเหตุผลของคำวินิจฉัย

คดีนี้ศาลได้ตีความ รัฐธรรมนูญประกอบกับกฎหมายอีกฉบับคือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550” (เรียกย่อในความเห็นนี้ว่า พ.ร.ป.”) โดยศาลได้ปรับใช้กฎหมายเกี่ยวโยงกันหลายมาตรา สรุปได้ดังนี้

รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ...ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 101...”

รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (3) “บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร...เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง...

ข้อสังเกต เมื่อศาลพบว่ารัฐธรรมนูญมิได้กำหนดเรื่องการสิ้นสุดของความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไว้ ศาลจึงนำ พ.ร.ป. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยขยายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้มีความครบถ้วนยิ่งขึ้นมาพิจารณาประกอบว่าความเป็นสมาชิกพรรคของนายจตุพรได้สิ้นสุดลงหรือไม่ดังต่อไปนี้

พ.ร.ป. มาตรา 20 (3) “สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ...ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 19...”

พ.ร.ป. มาตรา 19 วรรคหนึ่งผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง...

พ.ร.ป. มาตรา 8วรรคหนึ่งผู้มีสัญชาติไทย...และไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ..”

ข้อสังเกต เมื่อศาลพบว่ามาตรา 8 เป็นมาตราที่เขียนข้อความให้ล้อตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ว่าลักษณะต้องห้ามนั้นเป็นอย่างไร ศาลจึงย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 100 เพื่อพิจารณาว่าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไว้อย่างไร

รัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง...ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย...

ศาลอธิบายเพิ่มเติมว่า กฎหมายมีจุดประสงค์เพื่อให้บุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของกฎหมายและระเบียบวินัยของพรรคการเมือง การถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาของศาลโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำผิดที่มีความรุนแรงและมีเหตุให้ศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยเฉพาะการใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญกว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง

ดังนั้น เมื่อศาลพบว่านายจตุพรต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายศาลจึงสรุปว่าการถูกคุมขังทำให้ ความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยสิ้นสุดลง ซึ่งส่งผลให้ความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายจตุพรสิ้นสุดลงเช่นกัน

ความเห็นทางกฎหมาย

แม้ผู้ทำความเห็นจะมิได้ชื่นชอบนายจตุพรไปกว่านักการเมืองทั่วไป แต่ด้วยความเคารพต่อหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้ทำความเห็นจำต้องตั้งคำถามว่าการตีความกฎหมายในคดีดังกล่าวได้ทำให้เกิดปัญหาสำคัญอย่างน้อย 3 ประการดังนี้หรือไม่?

คำถามที่ 1 : คำวินิจฉัยคุกคาม ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญหรือไม่?

หลักนิติศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่นักกฎหมายทุกคนทราบดีคือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญย่อมใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งหลักการนี้บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ หลักสำคัญอีก 2 ประการคือ หลักการตีความกฎหมายให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และหลักว่าบทบัญญัติที่เฉพาะเจาะจงย่อมเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติทั่วไป

อย่างไรก็ดี ผู้ทำความเห็นไม่อาจแน่ใจได้ว่าศาลกำลังสร้างบรรทัดฐานการตีความกฎหมายที่ผิดเพี้ยน อีกทั้งละเมิดรัฐธรรมนูญและหลักนิติศาสตร์ขั้นพื้นฐานดังกล่าวเสียเองหรือไม่?

ผู้ทำความเห็นเห็นว่าคดีนายจตุพรเป็นเรื่องว่าด้วย ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.ซึ่งบทบัญญัติที่ศาลต้องนำมาปรับใช้โดยตรงก็คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 แต่ศาลกลับนำ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองในเรื่องที่ว่าด้วยความสิ้นสุดของความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมา ตีความคร่อมทับให้มีค่าบังคับเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 106 อย่างแปลกประหลาด

ผู้ทำความเห็นเห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) กำหนดว่า ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.นั้นให้นำไปโยงกับเรื่อง ลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครเป็น ส.ส.ตามมาตรา 102 ซึ่งมาตรา 102 (3) ก็ได้โยงต่อไปยังมาตรา 100 โดยเป็นเรื่องลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดไว้โดยเจาะจงว่าให้นำ ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งเฉพาะกรณีมาตรา 100 (1) (2) และ (4) มาใช้กับ ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.เท่านั้น

กล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบกับมาตรา 102 (3) ได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่า แม้นายจตุพรจะถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลก็ตาม แต่การถูกคุมขังดังกล่าว (ที่มิได้ต้องโทษจำคุก) ก็มิได้เป็นลักษณะต้องห้ามที่นำไปสู่ ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.ของนายจตุพรแต่อย่างใด

ความน่ากังขาก็คือคดีนี้ศาลได้มุ่งตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) และนำเรื่องลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งไปปะปนกับเรื่องความสิ้นสุดของความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองโดยที่ไม่ได้นำบทบัญญัติและเจตนารมณ์ตามมาตรา 106 (5) ที่กำหนดข้อยกเว้นเรื่องความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.มาพิจารณาให้ถี่ถ้วนหรือไม่?

เรื่องนี้ศาลอธิบายว่า แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (3) ไม่กำหนดให้ การถูกคุมขังเป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้สมัครรับเลือกตั้ง แต่การสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กับการไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนและหลังต่างเวลากัน แม้ว่าบุคคลที่ถูกคุมขังโดยหมายของศาลมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง อันไม่เป็นลักษณะต้องห้าม แต่การพิจารณาการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. เป็นคนละกรณีกัน (นอกจากนี้ยังอาจมีบางฝ่ายอ้างต่ออีกว่าคำร้องที่ส่งมาจากประธานสภาผู้แทนราษฎรในคดีนี้ได้ขอให้ศาลตีความความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) และ 106 (4) เท่านั้น มิได้กล่าวถึงมาตรา 106 (5) หรือ 102 (3) แต่อย่างใด)

คำอธิบายเช่นนี้มิอาจรับฟังได้ เพราะนอกจากเป็นการนำเรื่องลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งมาปะปนกับ ความสิ้นสุดลงของความเป็น ส.ส.แล้ว ยังเป็นการผิดหลักการตีความกฎหมาย โดยการตีความรัฐธรรมนูญนั้นจะตีความเพ่งเล็งเฉพาะบางมาตราไม่ได้ แต่จะต้องตีความเชื่อมโยงรวมกันทั้งระบบ โดยเฉพาะในคดีนายจตุพรนั้นศาลไม่อาจตีความมาตรา 106 (4) โดยปราศจากมาตรา 106 (5) ได้เลย เพราะต่างเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.ที่เกี่ยวโยงกับประเด็น การถูกคุมขังตามมาตรา 100 (3) ด้วยกันทั้งสิ้น

อีกทั้งยังเป็นตรรกะที่ผิดมาตรฐานมโนสำนึก เพราะหากศาลยอมรับว่ามาตรา 102 (3) ไม่ได้กำหนดให้ การถูกคุมขังเป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้สมัครเป็น ส.ส. กล่าวคือผู้ถูกคุมขังย่อมสมัครเป็น ส.ส. ได้ แล้วเหตุไฉนศาลจึงมองว่ากฎหมายกลับสร้างมาตรฐานที่ขัดแย้งกันว่า ผู้ถูกคุมขังย่อมสิ้นสภาพความเป็น ส.ส.?

ยิ่งไปกว่านั้นการยกกฎหมายลำดับรองขึ้นอ้างในคดีนี้ก็เป็นการยกอ้างกฎหมายที่มีปัญหา เพราะบทบัญญัติใน พ.ร.ป. ที่ศาลอ้างมาปรับใช้ในคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 8 ก็ดี มาตรา 19 ก็ดี หรือมาตรา 20 ก็ดี กลับไม่มีส่วนใดที่บัญญัติเจาะจงให้การถูกคุมขังเป็นเหตุของ ความสิ้นสุดของความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอันนำไปสู่ความสิ้นสุดลงของความเป็น ส.ส.

พ.ร.ป. มาตรา 8 เพียงแต่บัญญัติว่า ความสิ้นสุดของความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมีเหตุมาจากการมี เหตุต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญซึ่งหากกลับไปพิจารณาเรื่องที่เป็นประเด็นแห่งคดีคือเรื่อง ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.จะพบว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ได้ยกเว้นอย่างเจาะจงมิให้นำเรื่องการถูกคุมขังมาเป็นเหตุของ ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.ได้ จึงเป็นการยืนยันว่า พ.ร.ป. มาตรา 8 เป็นกฎหมายที่มิได้บัญญัติเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.และมิอาจถูกตีความให้ขัดแย้งกับบทบัญญัติที่ยกเว้นเหตุไว้โดยเฉพาะเจาะจงในรัฐธรรมนูญได้

ดังนั้น การที่ศาลอธิบายว่าการนำกฎหมายมาตีความประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องสัญชาติ ก็ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.สัญชาติ เพราะรายละเอียดต่างๆไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องนำกฎหมายอื่นมาประกอบการวินิจฉัยเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริงนั้น ก็เป็นคำอธิบายที่ถูกต้อง เพียงแต่ไม่สามารถนำมาใช้ในคดีนี้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ได้กำหนดยกเว้นมิให้นำ การถูกคุมขังมาเป็นเหตุของความสิ้นสุดลงของความเป็น ส.ส.โดยเฉพาะเจาะจงไว้แล้ว

ที่สำคัญที่สุดหากศาลตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) โดยไม่คำนึงถึงมาตรา 106 (5) แต่กลับนำกฎหมายลำดับรองคือ พ.ร.ป. มาตีความ คร่อมทับเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแล้วไซร้ ก็เท่ากับว่าศาลได้ตีความให้กฎหมายลำดับรองในชั้น พ.ร.ป. ไปขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ซึ่งเป็นการตีความกฎหมายและใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 อย่างปฏิเสธไม่ได้

อนึ่ง หากผู้ใดอาศัยหลักนิติตรรกศาสตร์เบื้องต้นก็อาจสรุปความเชื่อมโยงของกฎหมายทั้งหมดได้ว่า ในเมื่อ :

-รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (3) กำหนดว่าผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

-รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) ประกอบ 101 (3) กำหนดว่าผู้ที่เป็น ส.ส. ต่อไปต้องยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่อไป

-รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบ 102 (3) กำหนดว่าผู้ที่เป็น ส.ส. แล้วแม้จะถูกคุมขัง (แต่มิได้ต้องโทษจำคุก) ก็ยังเป็น ส.ส. ต่อไปได้

จึงพึงสรุปว่า

-บุคคลที่ถูกคุมขัง (แต่มิได้ต้องโทษจำคุก) ย่อมยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและเป็น ส.ส. ได้ และการตีความ พ.ร.ป. มาตรา 8 จึงนำไปเชื่อมโยงได้กับรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (1) (2) และ (4) เท่าที่ไม่ขัดต่อมาตรา 106 (5) เท่านั้น

ดังนั้น การตีความกฎหมายในคดีนายจตุพรจึงน่ากังขาเป็นอย่างยิ่งว่าศาลได้ตีความกฎหมายโดยขัดต่อหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักการตีความกฎหมายให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และขัดต่อหลักว่าบทบัญญัติที่เฉพาะเจาะจงย่อมเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติทั่วไปหรือไม่?

คำถามที่ 2 : คำวินิจฉัยคุกคาม สิทธิเสรีภาพหรือไม่?

ความน่ากังวลอีกประการจากการตีความในคดีนี้ก็คือ ศาลกำลังตีความรัฐธรรมนูญไปในทางที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างกว้างขวางหรือไม่?

รัฐธรรมนูญ มาตรา 65 เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองให้บุคคลมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองซึ่งย่อมหมายความรวมถึงการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและการลงสมัครเป็น ส.ส. ดังนั้น การจะตีความกฎหมายใดย่อมต้องตีความอย่างระมัดระวัง กล่าวคือ การตีความกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพย่อมต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จะตีความกฎหมายให้จำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวางมิได้เป็นอันขาด

หากลองพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) ที่กำหนดให้ การถูกคุมขังเป็นเหตุห้ามมิให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะพบว่าจำเป็นและสมเหตุสมผล เพราะมิเช่นนั้นในวันเลือกตั้งก็จะเป็นวันที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่อาจคุมขังผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิด แม้แต่ผู้ที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งซึ่งหน้าได้ อีกทั้งกฎหมายก็บัญญัติยกเว้นมิให้การถูกคุมขังในวันเลือกตั้งไปตัดสิทธิบุคคลในการเป็น ส.ส. ตามมาตรา 106 (5) อีกด้วย

อย่างไรก็ดี การที่ศาลตีความโดยนำ เหตุห้ามมิให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกตั้งไปปะปนกับ ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.นอกจากอาจจะขัดแย้งต่อหลักการตีความกฎหมายตามที่อธิบายมาแล้ว ยังเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจรัฐในระดับที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญมาจำกัดตัดสิทธิประชาชนทั่วไปได้โดยง่ายอีกด้วย

กล่าวคือ ศาลได้ตีความว่าผู้ใดที่ ถูกคุมขังย่อมสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและย่อมสิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. เช่นกัน แต่ประเด็นที่ต้องขบคิดต่อไปคือการนำเหตุ การถูกคุมขังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) มาใช้จำกัดเสรีภาพทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 นั้นศาลหมายความถึงเฉพาะการคุมขังในวันเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่

หากลองพิจารณา เหตุห้ามมิให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกตั้งอื่นตามมาตรา 100 เช่น มาตรา 100 (1) การเป็นภิกษุ สามเณร หรือมาตรา 100 (4) เรื่องการเป็นบุคคลวิกลจริตแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่า พ.ร.ป. มาตรา 8 มุ่งหมายให้นำลักษณะต้องห้ามดังกล่าวมาใช้โดยไม่จำเป็นว่าจะมีลักษณะต้องห้ามในวันเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่ เช่น หากสมาชิกพรรคการเมืองใดกลายเป็นบุคคลวิกลจริต แม้จะเป็นช่วงที่ไม่ใช่วันเลือกตั้ง ก็ย่อมสิ้นความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยผลของ พ.ร.ป. มาตรา 8

ด้วยเหตุนี้การตีความของศาลที่รวบรัดเอา การถูกคุมขังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 มาเป็นเหตุในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนโดยโยงเข้ากับ พ.ร.ป. มาตรา 8 นั้น ซึ่งอาจกินความเกินไปกว่าวันเลือกตั้ง จึงมีผลพวงที่น่ากังขาอย่างยิ่ง

ยิ่งไปกว่านั้นคำว่า คุมขังมีความหมายทางกฎหมายที่กว้าง เห็นได้จากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (12) ซึ่งนิยามคำว่า คุมขังว่าหมายความว่าคุมตัว ควบคุม ขัง กักขัง หรือจำคุกซึ่งย่อมเกิดผลที่แปลกประหลาดตามมาว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หากเพียงได้ คุมตัว ควบคุม หรือขังประชาชน ซึ่งอาจหมายถึงว่าไม่ว่าในวันใดก็จะสามารถส่งผลเป็นการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนคนธรรมดาทั่วไปที่ประสงค์เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจนเกินเลยไปกว่าความจำเป็นเหมาะสมตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?

นอกจากนี้หากการจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวถูกตีความให้กระทำได้โดยง่ายแต่เพียงนี้ก็อาจเป็นโอกาสให้มีการใช้อำนาจกฎหมายในทางที่มิชอบ ฝ่ายการเมืองอาจอาศัยช่องทางตามกฎหมายฉุกเฉิน หรือแม้แต่กฎหมายของเจ้าหน้าที่ทั่วไปในการเข้า คุมตัว ควบคุม หรือขังบุคคลหรือ ส.ส. นอกสมัยประชุม เพื่อคุกคามศัตรูทางการเมืองและนำบรรทัดฐานของคดีนายจตุพรมาเป็นเงื่อนไขในการปิดกั้นผู้ที่จะมาแข่งขันทางการเมืองก็เป็นได้

ดังนั้น จึงน่ากังขาเป็นอย่างยิ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพกำลังตีความ พ.ร.ป. มาตรา 8 ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 จนกลายเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจรัฐคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนและคู่แข่งทางการเมืองหรือไม่?

คำถามที่ 3 : คำวินิจฉัยคุกคาม หลักการแบ่งแยกอำนาจหรือไม่?

แม้ศาลมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบถ่วงดุลมิให้ประชาชนได้ ส.ส. ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันหากศาลกลายเป็นสถาบันที่มุ่งหมายปราบปรามนักการเมืองที่ศาลอาจมองว่าเป็นผู้ที่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมของศาลเสียแล้ว (ดังเช่นกรณีการตีความคดีคุณสมัคร ชิมไปบ่นไป ดูความเห็นที่ http://bit.ly/J6dRLu) หรือตีความกฎหมายเรื่องเดียวกันแต่กลับผิดมาตรฐานอย่างอธิบายไม่ได้ (ดังเช่นกรณีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ดูความเห็นที่ http://bit.ly/JXy9tf) การเมืองการปกครองของประเทศชาติก็จะเกิดความโกลาหล เพราะอำนาจที่ยึดโยงโดยตรงกับประชาชนกลับถูกอำนาจตุลาการตีความกฎหมายอย่างแปลกประหลาด ก่อให้เกิดผลที่ยากต่อการอธิบาย ไม่ว่าในทางนิติศาสตร์หรือโดยมาตรฐานมโนสำนึกของปุถุชนธรรมดาที่ไม่มีโอกาสคัดเลือกหรือวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้โดยง่าย

จึงน่าคิดเป็นอย่างยิ่งว่าหากประชาชนเกิดความกังวลว่าบัดนี้อำนาจอธิปไตยไม่อาจนำมาใช้ได้อย่างสมดุลแล้ว หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตอันใกล้ ประชาชนจะร่วมกันปฏิรูปอำนาจตุลาการและคืนความสมดุลแก่อำนาจอธิปไตยได้อย่างไร?

บทส่งท้าย

การวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลดังเช่นความเห็นฉบับนี้ที่ประกอบขึ้นในวันเดียวกันกับวันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยนั้นมักจะถูกวิจารณ์ต่ออีกชั้นว่าผู้ที่วิจารณ์เองก็ควรได้อ่านคำวินิจฉัยทั้งหมดเสียก่อน แต่ก็น่าคิดต่อว่าในเมื่อกฎหมายกำหนดให้ตุลาการแต่ละท่านต้องทำคำวินิจฉัยส่วนตนให้เสร็จสิ้นเป็นหนังสือ...ก่อนลงมติอีกทั้งยังกำหนดให้คำวินิจฉัย มีผลในวันอ่าน” (ดูระเบียบศาลเรื่องการทำคำวินิจฉัย http://bit.ly/KH82XB) กฎหมายย่อมมุ่งหมายให้คำวินิจฉัยทั้งของศาลและตุลาการแต่ละท่านต้องทำเสร็จสิ้นพร้อมเผยแพร่ในวันอ่านใช่หรือไม่?

การเปิดเผยคำวินิจฉัยทันทีหลังอ่าน นอกจากจะสมเจตนารมณ์กฎหมายแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ศาลต้องทำคำวินิจฉัยอย่างละเอียดถี่ถ้วน อีกทั้งป้องกันไม่ให้ศาลหรือตุลาการมีโอกาสปรับแก้ถ้อยคำหรือปรับปรุงเหตุผลหลังจากได้ทราบความเห็นของประชาชนที่ฟังคำวินิจฉัย ที่สำคัญการเปิดเผยอย่างครบถ้วนยังทำให้ประชาชนได้นำความเห็นของตุลาการเสียงข้างน้อยมาเป็นน้ำหนักถ่วงดุลความชอบธรรมของคำวินิจฉัยไปพร้อมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เสียงข้างมากอธิบายแต่เหตุผลของฝ่ายตนในคำวินิจฉัยกลาง โดยไม่ใส่ใจที่จะหักล้างเสียงข้างน้อยตามมาตรฐานทางกฎหมายที่พึงมี และใช้เวลานานกว่าจะเปิดเผยความเห็นจนประชาชนเสียงข้างน้อยก็ถูกเสียงข้างมากกลบทับไปหมดเสียแล้ว (ระเบียบศาลเปิดช่องให้ศาลมีเวลาโดยทั่วไปถึง 60 วันนับจากวันลงมติก่อนจะส่งคำวินิจฉัยไปเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ดู http://bit.ly/JCYc93)

ดังนั้น เมื่อศาลทราบดีว่าประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชนและนักวิชาการต่างให้ความสนใจต่อคดีรัฐธรรมนูญอันพึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามครรลองประชาธิปไตยปรกติ แต่ศาลกลับไม่เผยแพร่คำวินิจฉัยทันทีหลังอ่านตามความมุ่งหมายของกฎหมายและหลักกระบวนการยุติธรรมสากล ก็พึงพินิจว่าควรเป็นศาลเองมิใช่หรือที่จะต้องร่วมรับผิดชอบพร้อมกับประชาชน กับการวิพากษ์วิจารณ์ที่พึงจะเกิดขึ้นตามครรลองประชาธิปไตย? และเมื่ออำนาจตุลาการคืออำนาจแห่งเหตุผลที่คุ้มครองประชาชนจากทรราช จึงควรเป็นความรับผิดชอบของนักนิติศาสตร์ โดยเฉพาะผู้รับเงินภาษีประชาชนมิใช่หรือที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบศาลแทนประชาชนอย่างแข็งขันและโดยสุจริตใจ?

หากคำวินิจฉัยของศาลถูกตรวจสอบโดยการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ คำวินิจฉัยนั้นก็จะกลับมาเป็นภาพหลอนต่อสถาบันศาลและรัฐธรรมนูญเสียเอง

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การบินไทย บินไกล-เหนือมืออาชีพ


โดย จำลอง ดอกปิก
(ที่มา คอลัมน์ระหว่างวรรค หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2555)
การบินไทยเป็นองค์กรสุดยอดแห่งความลึกลับ ซับซ้อน มีเงื่อนงำ พิสดารพันลึกแห่งหนึ่ง สายการบินแห่งชาติในสายตา ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นั้น เป็นองค์กรใหญ่ที่ไม่มีระเบียบวินัย มีความแตกแยกสูง มีการเล่นพรรคเล่นพวก มีการช่วยเหลือคนไม่ดี มีการวิ่งเต้น มีการแทรกแซงหลายระดับ

อย่าได้ถามหาธรรมาภิบาลการบินไทย!


การบินไทยแต่เดิมนั้น เป็นขุมทรัพย์ทัพสีเทา ต่อมาเมื่อมีการปรับโครงสร้างการบริหาร เปลี่ยนรูปแบบเป็นบริษัท จำกัด (มหาชน) นักการเมืองเข้ามามีบทบาทแทน และกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ฝ่ายการเมือง โดยมีฝ่ายบริหารการบินไทยบางส่วนร่วมขบวน ไม่ก็เปิดวงทำมาหากิน แตกแขนงหลายก๊กเหล่า

ไม่มียุคสมัยใดที่ฝ่ายการเมืองไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการบินไทย จะแตกต่างกันก็เพียงระดับความเข้มข้น และการมองการยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกิจการบริหารภายในเป็นลักษณะใดเท่านั้น

ผู้บริหารบางคนเลือกรับฟังคำสั่ง หรือเรียกกันสวยหรูว่านโยบาย จากฝ่ายการเมืองเฉพาะเพียงบางกลุ่มพวก แต่หากเป็นอีกกลุ่มพวกหนึ่งนั้น เมื่อมีการประสาน สั่งการ หรือมอบหมายนโยบายจะปฏิเสธทันที

พร้อมกับเรียกรูปแบบเดียวกันนี้ว่า การแทรกแซง!

ในความเป็นจริงแล้ว การบินไทยมิใช่รัฐอิสระ การอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บ่งบอกสถานะการบินไทยชัดเจนอยู่แล้ว

การสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่แม้ดำเนินการโดยเปิดเผย และดูเหมือนขั้นตอนทุกอย่างโปร่งใส แต่ยอมรับกันหรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว มีการกำหนดตัวบุคคลมาแล้วระดับหนึ่งแทบทั้งสิ้น ทุกยุคทุกสมัย

การสรรหาอาจเป็นเพียงพิธีการ ส่งบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจเข้าไปดำรงตำแหน่งเพื่อลดทอนข้อครหาเท่านั้น การบินไทยยังต้องพึ่งพารัฐ-รัฐบาล ในการค้ำประกันเงินกู้ เงินลงทุนโครงการ หรือแม้แต่การจัดซื้อฝูงบิน

ในเมื่อไม่ใช่องค์กรอิสระอย่างแท้จริง การจะให้ปราศจากการสั่งการหรือมอบหมายนโยบาย หรือจะเรียกว่าการแทรกแซงรูปแบบหนึ่งก็ได้นั้น จึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง และไม่สอดคล้องกับสถานภาพองค์กร

กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ดูจากถ้อยแถลง 2 ฝ่ายที่ชี้แจงต่อสาธารณะ น่าเห็นใจปิยสวัสดิ์ เพราะพิจารณาจากผลงานแล้ว ดูเหมือนการเลิกจ้างอาจไม่เป็นธรรมเท่าใดนัก แต่ก็เข้าใจได้ถึงเหตุผล ความจำเป็นของบอร์ดการบินไทยเช่นกันว่า เหตุใดจึงตัดสินใจเช่นนี้

มุมมองอันแตกต่างกันของสองฝ่าย ด้านหนึ่งสะท้อนภาพความไม่ลงรอย ในแนวทางการบริหารงานระหว่างกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กับคณะกรรมการบริหารการบินไทย

เรื่องตื้นลึกหนาบางถึงขั้น มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวพันหรือไม่นั้น คงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าสองฝ่ายนี้อย่างแน่นอน แต่เรื่องที่จะเป็นประเด็นถกเถียงกันยาวอีกครั้งก็คือ รูปแบบการบริหาร

ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่หรอก

ฝ่ายหนึ่งยืนกระต่ายขาเดียว การบินไทยจะเข้มแข็ง สามารถยืนหยัดแข่งขันกับสายการบินอื่นทั่วโลกได้นั้น การบริหารงานต้องเป็นมืออาชีพ ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

ฝ่ายบริหารต้องสามารถตัดสินใจได้เอง แม้กระทั่งเรื่องสำคัญ อย่างการลงทุนระดับแสนสองแสนล้านบาทเพื่อซื้อเครื่องบินฝูงใหม่ ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอฝ่ายรัฐบาล

การบินไทยจะเจริญก้าวหน้าได้ นักการเมือง-บุคคลภายนอกต้องหยุดสั่งการผ่านการมอบหมายแอบอ้างเป็นนโยบาย

ขณะที่อีกฝ่ายกลับมองว่า การบริหารงานต้องยึดหลักทางสายกลาง ยืดหยุ่นไม่ตายตัวเกินไป ไม่ว่าฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายไหนก็ตาม ต้องสามารถพูดคุย ปรึกษาหารือกันได้ด้วยเหตุด้วยผล เพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร และประเทศชาติ

อย่างแทนที่จะตัดสินใจจัดหาเครื่องบินจากประเทศใดประเทศหนึ่ง หลักแสนสองแสนล้านบาทโดยมองประโยชน์การบินไทย (หรือไม่ก็ของใคร) เพียงลำพัง

เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมองกว้างไกลกว่านั้น ยกระดับเป็นการจัดซื้อจัดหาโดยรัฐ นำเรื่องไปเจรจาต่อรอง แลกเปลี่ยนการค้า การลงทุนระหว่างกัน หรืออาจนำไปเป็นอำนาจต่อรองเรื่องอื่นที่เป็นข้อขัดแย้ง ไม่ลงรอยกับประเทศคู่ค้า

หากร่วมมือกันได้อย่างนี้ ผลสำเร็จในการงานอาจยิ่งใหญ่กว่า มืออาชีพแต่ในนาม ไม่ลองคิดอ่าน บ้างหรือ

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

จากปัญหาชายแดนใต้-การกระจายอำนาจ ความเป็นไปได้ของโมเดล'เชียงใหม่มหานคร'-'นครปัตตานี'


งานเสวนา "จากแบ่งแยกดินแดนถึงการกระจายอำนาจ ความเป็นไปได้ ณ ปัจจุบัน" เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 ณ ร้าน Book Re:public


เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 ปัตตานีฟอรั่ม(Patani Forum) ร่วมกับร้านหนังสือ Book Re:public จัดงานเวทีสาธารณะ "Patani Cafe @Chiangmai" เสวนาเรื่อง"จากแบ่งแยกดินแดนถึงการกระจายอำนาจ ความเป็นไปได้ ณ ปัจจุบัน"


นายดอน ปาทาน

นายดอน ปาทาน ผู้สื่อข่าวอาวุโส เดอะเนชั่น กล่าวว่า หากลองมองอาเซียนโดยเอาเส้นแบ่งเขตแดนออก แล้วใช้วัฒนธรรม อัตลักษณ์เป็นอาณาเขต จะเห็นความเป็นอัตลักษณ์ข้ามพรมแดน ฉะนั้นเวลามอง 3 จังหวัดชายแดนใต้จึงไม่ควรมองเฉพาะส่วนที่อยู่ฝั่งไทย

"กบฏ" หรือ "ความรุนแรง"ในภาคใต้ เป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองที่ยังไม่จบ ความรุนแรงเป็นบทสะท้อนของ "การทูตที่ล้มเหลว"

คนทั่วไปมักจะมองไปไม่ถึงเนื้อหาของปัญหาชายแดนใต้ โดยมักจะมองว่า คนสอนศาสนาอิสลามผิด เป็นโจร หลงศาสนาตัวเอง สำหรับตนคิดว่าปัญหาชายแดนใต้อยู่ที่ปัญหาอัตลักษณ์ของความเป็นไทยกับอัตลักษณ์ของมาลายูมันชนกัน ไม่สามารถไปด้วยกันได้ "เรื่องเล่า"ทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ไปด้วยกัน ถ้าหาจุดต่อรองไม่ได้ความรุนแรงนี้ก็ไม่หยุด เพราะผู้ก่อความรุนแรงก็ใช้จิตวิญญาณของอัตลักษณ์และเรื่องเล่าที่ต่างกันในการสร้างรุ่นใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ได้ใช้ศาสนาสร้าง

มีหลายเรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ข้อหนึ่ง คือ หลายคนมักจะมองว่าเป็นเรื่องศาสนามุสลิมตีกับศาสนาพุทธ ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเรื่องของชาติพันธุ์และชาตินิยม

อีกเรื่องหนึ่งคือคิดที่ว่าความรุนแรงเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งถ้าย้อนดูแล้วจะเห็นว่า กลุ่มกบฏที่จับอาวุธขึ้นมาอย่างปูโร บีอาร์เอ็น บีอาร์พีพี เริ่มมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 60 ซึ่งตนอยากให้นักวิชาการย้อนดูเหมือนกันว่าตอนกลายเป็นรัฐไทยใหม่ทำไมอยู่กันได้ถึง 60 ปี เขามีกระบวนการเจรจาต่อรองกันอย่างไร

เรื่องต่อมา คือ มักจะคิดว่าเด็กวัยรุ่นติดยา หลงศาสนา รวมถึงมักมองว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการเดียวกัน มีผู้นำและองค์กรชัดเจน ซึ่งตนเห็นว่ามีช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ มีกลุ่มรุ่นเก่าที่วางอาวุธในช่วง "ใต้ร่มเย็น" แล้วไม่ได้จับอีกเลยก็มี มีบางกลุ่มที่ไปอยู่ต่างประเทศแล้วพยายามติดต่อกับนักรบในพื้นที่และรัฐบาลเพื่อทำกระบวนการสันติภาพก็มี

อีกเรื่อง คือ คนทั่วไปมักคิดว่า คนจาก 3 จังหวัด 4 อำเภอชายแดนใต้อยากจะแยกประเทศไปอยู่กับมาเลเซีย ซึ่งไม่ใช่เลย คนสามจังหวัดยอมที่จะอยู่กับรัฐไทยแต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขของเขา ไม่ใช่บนเงื่อนไขของกรุงเทพฯ คือ มีอัตลักษณ์ มีเรื่องเล่ามีฮีโร่ที่เป็นของเขา

อีกประเด็นที่มักเข้าใจผิดกัน คือ พวกกลุ่มนักรบผลิตโดยปอเนาะห์ โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งก็ไม่จริง เท่าที่ตนได้ตระเวนไปตามหมู่บ้าน ร้านน้ำชาคึกคักกว่าปอเนาะห์อีก ซึ่งแน่นอนว่ามีเด็กจากปอเนาะห์เข้าร่วม แต่ก็จะเป็นกลุ่มเล็กๆหลายกลุ่ม มาหลายที่

ในทางสาธารณะรัฐบาลมักจะอ้างว่าไม่คุยหรือเจรจาต่อรองกับกลุ่มพวกนี้ แต่ความจริงแล้วตั้งแต่ปี 1980 มีการบินไปคุยกันที่ต่างประเทศตลอด แล้วเรื่องก็เงียบหายไปเกือบสิบปี พอปี 2004 ก็ปะทุขึ้นมาอีก ปี 2005 มีการคุยที่ลังกาวีโดยนายกฯต่างประเทศมาเลเซียจัดให้ คุณอานันท์(ปัญญารชุน)ไปรับข้อเสนอแต่ก็ไม่เกิดอะไรเพราะ รัฐบาลสมัยทักษิณมั่ววุ่นอยู่กับการเมืองในประเทศ มีการเจรจาต่อรองตลอดแต่ไม่สำเร็จเพราะพยายามจะต่อรองครั้งเดียวให้จบ ซึ่งตนคิดว่าการต่อรองไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลอย่าง ทักษิณ หัวหน้าผู้ก่อความรุนแรง แต่ขึ้นอยู่กับสังคม เวลาต่อรอง ต้องต่อรองกับสังคม ต้องทำให้เขารู้สึกเหมือนกับเป็นเจ้าของประเทศ ตอนนี้เขารู้สึกเหมือนเป็นเมืองขึ้น มีทหาร 30,000 กว่าคน มีเจ้าหน้าที่ที่ติดอาวุธอีก 30,000 กว่าคน อยู่ในเมือง

หลายคนมักเสนอ "เขตปกครองพิเศษ" เพื่อเป็นทางออกของปัญหา3จังหวัดชายแดนใต้ แต่ถ้าเราดูการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทุกพรรค ยกเว้นประชาธิปัตย์ชูนโยบาย "นครปัตตานี" แต่ก็ไม่มีใครได้เก้าอี้ เพราะหลังจากกรณีตากใบ พิสูจน์แล้วว่าระบบสภานั้นล้มเหลว ฉะนั้นการจะแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ที่ออกไปจากกรอบนี้ จะหวังพึ่งเพียงแค่ ศอบต. ไม่ได้ เพราะทำตามแต่ระบบราชการ

"เขตปกครองพิเศษอาจจะดีก็ได้ แต่ผมยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร ผมเคยสัมภาษณ์กบฏบีอาร์เอ็นที่ต่างประเทศ เขาตอบว่า ไม่รู้ว่าเขตปกครองพิเศษหมายความว่าอะไร ปัญหาของเรามันเป็นเรื่องศักดิ์ศรี และ Space(พื้นที่-ประชาธรรม) มีถนนของเราไหม มีชื่อผู้นำของพวกเราไหม ชื่อหมู่บ้านบางหมู่บ้านก็เปลี่ยนชื่อเป็นไทย...คือเขาไม่มีส่วนร่วม ไม่มีความเป็นเจ้าของ"
นายชำนาญ จันทร์เรือง
ายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เชียงใหม่มีประวัติศาสตร์ไม่ต่างจากที่ปัตตานี แนวคิดการจัดการตนเองมีมานานแล้วหลายสิบปี แต่สิ่งที่เป็นตัวเร่งให้เกิดร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครฯคือสถานการณ์การเมืองเหลือง-แดงในช่วงที่อภิสิทธิ์เป็นนายก เนื่องจากเมื่อนายกฯจะลงพื้นที่ก็มีม๊อบมาต้านตลอด คนที่เดือดร้อนก็คือคนเชียงใหม่ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงที่ไม่ประกอบธุรกิจไม่ได้ จึงนำมาสู่การคุยกันของคนเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง (แต่กลุ่มที่ฮาร์ดคอก็ปฏิเสธที่จะคุย) ซึ่งประเด็นตรงกัน คือ การรวมศูนย์อำนาจปัญหาที่ทำให้เราแก้ไขปัญหาของเราไม่ได้ ก็เลยมีการจัดเวทีพูดคุย จนนำมาสู่การร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร
หลักการส่วนใหญ่ของพ.ร.บ.ฉบับนี้รับมาจากญี่ปุ่น และกรุงเทพมหานคร แต่มันแตกต่างจากที่อื่นโดยมีหลักสำคัญอยู่ 4 ข้อ คือ หนึ่ง ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค เหลือแต่ราชการส่วนกลางและท้องถิ่นเต็มพื้นที่ ไม่ใช่ไข่แดงแบบพัทยา แบ่งเป็นสองระดับ ข้างบนกับข้างล่าง ข้างบนเรียกว่า "เชียงใหม่มหานคร" ข้างล่างเรียกเทศบาล(อบต.เปลี่ยนเป็นเทศบาลหมด)โดยแบ่งหน้าที่กันทำชัดเจน ไม่ได้หมายความว่าให้เชียงใหม่มหานครเป็นผู้บังคับบัญชาของเทศบาล ระดับเชียงใหม่มหานคร หัวหน้าฝ่ายบริหารเรียกว่า "ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร" ในส่วนของฝ่ายบริหารจะทำทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุข แต่จะไม่ยุ่งอยู่ 4 เรื่อง คือ การทหาร การต่างประเทศ ระบบเงินตรา การศาล
สอง มีสภาพลเมือง เพื่ออุดช่องว่างจุดอ่อนระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เช่นการซื้อเสียง ขายเสียง การฮั้วกัน โดยมีตัวแทนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบติดตามเพื่อถ่วงดุลอำนาจการบริหาร แต่ไม่มีหน้าที่ในการตัดสินเพราะมีองค์กรปปช.และศาลอยู่แล้ว
สาม รายได้ภาษีอากรทั้งหลายจากที่เคยจัดสรรมาเป็นงบประมาณเชียงใหม่ ประมาณร้อยละ 25 เปลี่ยนใหม่เป็นรายได้ทั้งหมดร้อยละ 70 ให้ท้องถิ่น อีกร้อยละ 30 เก็บเข้าส่วนกลาง โดยให้ท้องถิ่นเป็นคนเก็บ
อีกอันหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ใช่ประเด็นหลักแต่ทุกคนใฝ่ฝันอยากให้เกิดขึ้น คือ ตำรวจขึ้นอยู่กับท้องถิ่น จะมีองค์กรดีเอสไอก็ไม่มีปัญหา แต่จุดประสงค์หลัก คือ แก้ไขปัญหาตำรวจคนเดียว ดูแล ตำรวจทั้งประเทศ 2-3 แสนคน
หลังจากยุบส่วนภูมิภาคแล้ว ข้าราชการส่วนภูมิภาคสามารถเลือกได้ว่า จะกลับไปอยู่ส่วนกลางโดยสังกัดกระทรวง ทบวงกรม หรืออยู่กับท้องถิ่นโดยขึ้นกับผู้ว่าฯ
ส่วนกำนัน ผู้ใหญ่ก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ปรับบทบาทเป็นฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นหัวหน้าฝ่ายตำรวจ
"ผมตอบแทนไม่ได้ว่า (แนวคิดเรื่องการจัดการตนเอง) เหมาะหรือไม่เหมาะกับพื้นที่สามจังหวัด แต่โดยธรรมชาติของคนไม่ว่าชาติไหน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิในการจัดการชีวิตตนเองในระดับหนึ่งต้องมี หลักร่วมกันต้องมี แต่ผมคิดว่าถ้ารวมกัน 3 จังหวัด ฝ่ายทหารคงระแวง โอกาสต้านคงเยอะ แต่ถ้าใช้จังหวัดเป็นฐานแบบของเชียงใหม่ โอกาสจะเกิด จะง่ายกว่า"

‘ไฟใต้’เหลือวิสัยจะแก้ไข?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 360 วันที่ 19-25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 หน้า 8 คอลัมน์ โลกสีกากี โดย พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช

ศึกษาประวัติศาสตร์และเรื่องราวในอดีตที่เจ้าพระยายมราชได้เสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหามณฑลปัตตานีเมื่อ พ.ศ. 2465 จะเห็นได้ว่ารัฐไทย (ซึ่งในยุคนั้นเรียกว่ารัฐสยามหรือประเทศสยาม) มีผู้ปกครองผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกี่ชุด ทั้งรัฐบาลเผด็จการเต็มรูปแบบ กึ่งเผด็จการ หรือรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ ก็ไม่ได้นำแนวคิด ข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นมาพิจารณาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม หรือแม้แต่จะทดลองทำ

นอกจากนั้นยังกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆตามอำเภอใจ ดังจะเห็นได้จากนโยบายรัฐนิยม ชาตินิยม ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อาทิ เปลี่ยนชื่อเรียกจากประเทศสยามเป็นประเทศไทย บังคับให้ใช้ภาษาไทย ห้ามนุ่งโสร่ง สตรีไม่ให้ใช้ผ้าคลุมศีรษะ ฯลฯ ซึ่งได้สร้างปัญหาและความไม่พอใจในหมู่ชาวไทยเชื้อสายมลายู มุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างมาก

จนกระทั่งชาวมลายูมีผู้นำทางศาสนาและความคิดชื่อ หะยีสุหลง (ตวนกูรู หะยีมูฮำหมัด สุหลง บิน หะยี อับดุลกาเดร์ บินมูฮัมหมัด อัล-ฟะฎอนี) บิดาของนายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส., ส.ว. และรัฐมนตรีหลายสมัย ได้ยื่นข้อเรียกร้องเสนอไปยังรัฐบาลไทย 7 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นคือ

1.ขอให้ปกครอง 4 จังหวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงมีอำนาจในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัด

2.การศึกษาในชั้นประถมฯ (ขณะนั้นชั้นประถมฯมีเรียนแค่ชั้น ป.4) ให้มีการศึกษาภาษามลายูควบคู่ไปกับภาษาไทย

3.ภาษีที่เก็บได้ให้ใช้ภายใน 4 จังหวัดเท่านั้น

4.ในจำนวนข้าราชการทั้งหมด ขอให้มีข้าราชการชาวมลายูร้อยละ 85 (คิดตามสัดส่วนประชากรในพื้นที่ มีผู้นับถือศาสนาอิสลาม 85% พุทธ 15%)

5.ขอให้ใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยเป็นภาษาราชการ

6.ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาอิสลาม โดยความเห็นชอบของผู้มีอำนาจสูงสุด

7.ให้ศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกอฎีหรือดาโต๊ะยุติธรรมตามสมควร และมีเสรีภาพในการพิจารณาคดี

จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของเจ้าพระยายมราชและหะยีสุหลงสอดคล้องกันโดยนัยสำคัญในประเด็นภาษาและศาสนา

ถ้ารัฐบาลไทยต่อๆมาฉุกคิด หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาศึกษาอย่างจริงจังและลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ดุซงญอ-นราธิวาสเมื่อ พ.ศ. 2491 และการปล้นปืน พ.ศ. 2547 ตลอดจนการสูญเสียชีวิตที่กรือเซะและตากใบปีเดียวกันก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลไทยที่ปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยจึงมีลักษณาการให้ผู้คนที่อยู่ในบังคับ Do What I Want (ทำตามคำสั่ง) เท่านั้น ไม่เคยเลยที่จะถามประชาชนว่าต้องการอะไร (Ask Them What They Want)

ทั้งๆที่พิจารณาจากข้อเสนอเรื่องภาษาและศาสนาเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ทันที ไม่น่าจะมีปัญหาอุปสรรคใดๆ แนวทางและเครื่องมือที่จะทำให้รัฐ (ผู้ปกครอง) เข้าถึง เข้าใจประชาชน ก็มีภาษาและศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญ

“นโยบายการเมืองนำการทหาร” ที่ใช้อยู่ทุกวันโดยคิดว่าเป็นสูตรสำเร็จจึงล้มเหลว

ทำไมไม่ลองเปลี่ยนมาใช้นโยบาย “ศาสนาและภาษานำการปกครอง” ซึ่งตรงกับหลักพิชัยสงครามของ “ซุนวู” ว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

เรื่องของเขา ไม่รู้สักนิด ไม่เข้าใจสักหน่อย

เรื่องของเรา ยังเอาตัวไม่รอด สามัคคีธรรมไม่มี ทุกวันนี้ยังแบ่งสีแบ่งเหล่า

แล้วจะมีปัญญาทำให้เกิดสันติสุขได้อย่างไร?!

ความรู้สึกถูกกดขี่ ดูถูกดูแคลน ยกตนข่มท่าน ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะแค่คนในชาติที่ต่างภาษา ต่างศาสนา แม้แต่คนในชาติที่พูดภาษา นับถือศาสนาเดียวกัน ก็ยังปฏิบัติเหมือนพลเมืองชั้นสอง เพียงแค่ฐานะ อาชีพ และการศึกษาด้อยกว่าก็เหยียดหยามทั้งวาจา กิริยาที่แสดงออก ดังปรากฏในสื่อสาธารณะและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (โซเชียลเน็ตเวิร์ค)

ฉะนั้นไม่ว่าพรรคใด พวกใด มาเป็นรัฐบาล แล้วยังปล่อยปละละเลยให้สถานการณ์ในบ้านเมืองเป็นดังนี้โดยไม่คิดอ่านแก้ไขอย่างจริงจังและจริงใจ โอกาสที่จะทำให้คนในชาติ (ไม่ว่าจะเรียกรัฐไทยหรือรัฐสยาม) รวมพลังขับเคลื่อนให้บ้านเมืองพัฒนาเจริญก้าวหน้าเทียมบ่าเทียมไหล่ประเทศอื่นคงไม่มีวันเกิดขึ้น

สำหรับหน้าที่และความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ว่าด้วยเรื่อง “ศาสนาและภาษานำการปกครอง” ได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ดังที่เคยนำเสนอในบทความก่อนหน้านี้มาแล้วว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ชุดปัจจุบัน) ได้มีมติให้รับสมัครคนพื้นที่เป็นข้าราชการตำรวจใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (เทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย) ที่มีเขตติดต่อกับ 3 จังหวัด โดยรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมฯปลายหรือเทียบเท่าจำนวนทั้งสิ้น 1,000 คน แทนการรับผู้มีคุณวุฒิปริญญาตรี (เพราะมีตัวเลือกมากกว่าหลายเท่า) แต่จำกัดการรับบุคลากรที่มีความรู้ภาษามลายูและนับถือศาสนาอิสลามไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ 300 คน ส่วนที่เหลืออีก 700 คน เปิดรับทั่วไปไม่จำกัดภาษาและศาสนา คงจำกัดเฉพาะภูมิลำเนาใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอสงขลาเท่านั้น

เป้าหมายในการรับสมัครบุคลากรพื้นที่ นอกจากจะพิจารณาถึงหลักการ “ศาสนาและภาษานำการปกครอง” แล้วก็คือ การทดแทนกำลังพลที่ปฏิบัติงานอยู่ใน 3 จังหวัด ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นคนจากภาคอื่น จะได้มีโอกาสกลับไปสู่อ้อมอกถิ่นกำเนิด ไม่ต้องรู้สึกแปลกแยกต่อไปอีก คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า กำลังพลที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด จะเป็นคนพื้นที่จริงๆถึงร้อยละ 50 แล้วก็จะรู้ว่าแนวทางนี้เป็นการให้ยารักษาที่ถูกกับอาการของโรคหรือไม่

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หลักการปรองดองต้องอยู่ในมือประชาชน


บทชี้นำ
จาก REDPOWER ฉบับ 25 เดือน เมษายน 55


เสธ.หนั่น บอกว่า การปรองดองจะสำเร็จจะต้องเอาความจริงมาพูดกัน,พลเอกสนธิ บอกว่า การปรองดองจะสำเร็จต้องลืมบางสิ่งบางอย่าง,ล้วนแต่โกหกทั้งสิ้น
การปรองดองจะสำเร็จได้จะต้องมีกฎหมายปรองดองออกจากรัฐสภาและคนที่จะทำสำเร็จได้คือผู้ที่มีอำนาจรัฐตัวจริงเท่านั้น
วันนี้อย่าได้บีบบังคับหรือคาดหวังกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าจะเป็นผู้สร้างความปรองดองได้จริง เพราะผู้มีอำนาจตัวจริงมิใช่เธอ
ผู้มีอำนาจตัวจริงคือผู้สั่งการให้พลเอกสนธิทำรัฐประหาร และวันนี้อำนาจรัฐยังอยู่ในมือของผู้นั้นโดยสมบูรณ์ ความสมบูรณ์แห่งอำนาจรัฐทำให้พลเอกสนธิไม่กล้าเอ่ยนาม แม้ตายก็ยังพูดไม่ได้
ผู้มีอำนาจตัวจริงวันนี้นั่งมองแต่ไม่ขยับทำเสมือนหนึ่งให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจด้วยตัวเองว่าเป็นดังเช่นที่ตนเองคิด แต่แท้จริงที่ตนเองคิดนั้นไม่ใช่ เพราะผู้มีอำนาจตัวจริงกำลังเฝ้ารอดูสถานการณ์ด้วยความสงบเงียบแต่เร้าร้อนยิ่ง
ประชาชนฝ่ายทักษิณคาดหวังว่ามีอำนาจที่จะทำให้เกิดการปรองดองได้เป็นความฝันที่เพ้อเจ้อ แต่ต้องฝัน
ประชาชนฝ่ายประชาธิปัตย์คาดหวังว่าต้องขัดขวางการปรองดองทุกวิถีทางเพื่อให้ความเกลียดชังในตัวทักษิณของผู้มีอำนาจรัฐตัวจริงเกิดความคุกรุ่นในอารมณ์ไม่ดับมอด เป็นฝันที่เพ้อเจ้อ แต่ต้องฝัน
เพราะไม่มีอะไรดีไปกว่าความฝันในเวลาที่ไม่มีทางเลือกเช่นวันนี้
ประชาชนเราจะอยู่กับความฝันที่เพ้อเจ้อเช่นนั้นไม่ได้ เพราะสุดท้ายไม่ว่าฝ่ายไหนจะฝันแห้งหรือฝันเปียก แต่ประชาชนจะเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น ประชาชนจึงต้องเร่งช่วงชิงหลักการปรองดองในกระแสการปรองดองให้มาอยู่ในอำนาจของประชาชนโดยเร็วที่สุด ด้วยการช่วงชิงการนำหลักการแห่งการปรองดองตามแนวคิดหลักที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่สุดให้มาอยู่ในมือประชาชนในนามขบวนการประชาชน


หลักการปรองดองที่ขบวนการประชาชนจะต้องชูธงให้สูงเด่นคือ
1.ต้องคืนความเป็นธรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยไม่ยกเว้นโทษให้แก่ผู้ที่สั่งฆ่าประชาชน
2.ชดเชยเงินเยียวยาให้แก่ผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐตามมติของรัฐมนตรี
3.ยุติความร้อนแรงต่อวิกฤติความขัดแย้งภายในประเทศ ด้วยการนำผู้สั่งฆ่าประชาชนออกไปให้พ้นจากระบบตุลาการภิวัฒน์ไทยโดยนำไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นกรณีพิเศษตามธรรมนูญศาลแห่งกรุงโรม มาตรา 12(3)
4.ให้รัฐสภามีมติลงสัตยาบรรณเข้าเป็นภาคีแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์ นับแต่ไทยได้ลงนามเป็นสมาชิกมานานกว่า 10 ปีแล้ว เพื่อยุติการรัฐประหารในอนาคตอันเป็นที่มาแห่งการสังหารหมู่ประชาชนตลอดระยะเวลา 60 ปี กว่าปีที่ผ่านมา
5.ปลดปล่อยนักโทษและผู้ต้องหาทางการเมืองทั้งหมดโดยไม่เลือกสีเสื้อและไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องหามาตรา 112 นับแต่การรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เป็นต้นมา
การจัดตั้งขบวนการประชาชนเพื่อขับเคลื่อนหลักใหญ่แห่งธงชัย 5 ผืนนี้เท่านั้นจึงจะนำสังคมไทยสู่การปรองดองอย่างยุติธรรมและอย่างเป็นจริงและอย่างถาวรโดยไม่ถูกตลบหลังและจะนำความสงบร่มเย็นสู่แผ่นดินไทยจากเหนือจรดใต้
ต้องเร่งจัดตั้งแนวร่วมการปรองดองเพื่อความเป็นธรรมโดยเร่งด่วน
ต้องเร่งขยายหลักคิดแห่งธงชัย 5 ผืนใหญ่นี้โดยเร่งด่วน
ขบวนการประชาชนต้องหลอมหลักคิด 5 หลักนี้รวมเป็นหนึ่ง เพื่อสร้างเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้แก่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยไม่ต้องไถ่ถามเธอ เพราะเธอได้ถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนแห่งระบอบการเมืองอำมาตย์ที่ยากจะเอื่อนเอ่ยความคิดของเธอผ่านลูกกรงเหล็กของระบอบอำมาตย์ได้

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ความในใจของภรรยา คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข หลังศาลไม่ให้ประกันตัวเป็นครั้งที่ 10

19 พฤษภาคม 2555
จาก ไทยอีนิวส์

การขอประกันตัวชั่วคราวครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 55 ก็ผ่านไปตามสายลมอีกครั้งหนึ่ง นับเป็บครั้งที่รู้สึกแย่และเห็นความอยุติธรรมอีกครั้งหนึ่ง ใครว่าความอยุติธรรมไม่มีจริง?


การเตรียมคำร้องประกอบและหลักทรัพย์ในการยื่นประกันครั้งนี้แน่นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้หยิบยืมสถานการณ์การเสียชีวิตของอากง เหตุผลในการประกอบคำร้องมีดังนี
1. มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำร้องเดิม คือการสืบพยานสิ้นสุดลง
2.จำเลยได้ถูกขังมานานพอสมควรแล้ว
3.จะไม่มีการตัดสินในระยะอันใกล้ ควรให้การประกันตัวเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
4.อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเดินทางมายื่นเงินสดและเซันประกันดัวยตัวเอง หลักทรัพย์เป็นที่เชื่อถือได้

หลังจากนี้คงไม่มีการยื่นประกันอีกต่อไป การต่อสู้จะยกระดับออกไปนอกระบบศาลแล้ว



* * * * * * * * *  

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปฏิรูป‘ศาล-กองทัพ’ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 359 วันที่ 12-18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 หน้า 4-6 คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย ประชาไท

“จอม เพชรประดับ” สัมภาษณ์ “จักรภพ เพ็ญแข” ในเว็บไซต์ประชาไท ถึงมุมมองการเมืองไทยในช่วงที่มีความขัดแย้งและการเข้าสู่บรรยากาศปรองดอง มุมมองต่อกฎหมายอาญา มาตรา 112 และบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับการเมืองและขบวนการประชาธิปไตยไทย การปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูประบบยุติธรรม พร้อมทั้งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคณะนิติราษฎร์กับคนเสื้อแดงและขบวนการประชาธิปไตย ดังนี้

หลังจากอัยการสั่งไม่ฟ้อง อยากกลับประเทศไทยไหม มีโอกาสไหม

คิดถึงบ้านอยู่เสมอ เพียงแต่ที่อยู่ก็เพราะการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยยังไม่ถึงจุดที่เราปรารถนา คำว่าเรา ผมอาจพูดทึกทักไปหน่อย ผมหมายถึงตัวผมกับผู้ที่มีความเห็นใกล้เคียงกัน เรื่องสั่งไม่ฟ้องผมคิดว่าในเรื่องของความกล้าหาญที่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของสำนักงานอัยการสูงสุดแสดงออกมา ผมต้องขอแสดงความชื่นชมและแสดงความขอบคุณ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยืนยันว่าเป็นการบอกว่าข้อกล่าวหาแบบนี้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีมูลหรือมีเหตุให้ต้องเป็นคดีความ

ผมเอาเรื่องนี้มานึกถึงคน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเพื่อนร่วมทุกข์ที่โดนคดีใกล้เคียงกัน อย่างคุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข คุณดา ตอร์ปิโด “อากง” หรืออำพล ตั้งนพกุล หรืออีกมากมายหลายท่าน เพระว่าถ้าหากท่านเหล่านั้นยังไม่ได้รับอิสรภาพ หรือยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ผมเองก็คงไม่สามารถดีใจในการพ้นเปลาะนี้ของตัวเองได้ แล้วคนกลุ่มที่ 2 ที่ผมนึกถึงคือคนไทยทั่วประเทศที่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ คือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วก็มาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่สามารถทำให้ทุกคนมาอยู่ในสภาพเดียวกันกับผม

ท่านหนึ่งที่ผมเอ่ยนามอยู่ทุกเวลา เนื่องจากเป็นกระบวนวิถีที่เจ็บแปลบ คือทุกคนสามารถเป็นผู้เสียหายได้หมด สามารถเดินเข้าไปแจ้งความกับเจ้าพนักงานสอบสวน แล้วเจ้าพนักงานสอบสวนก็รับเรื่องแล้วดำเนินคดี แต่คดีจะไปได้เร็วหรือช้าก็ตามใจท่านหรือตามคำสั่ง จนสุดท้ายต้องไปลุ้นกันว่าแม้กระทั่งไม่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลจะมีสิทธิได้รับประกันหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับประกันก็ต้องติดคุก อย่างคุณสุรชัย คุณสมยศ คุณดา คุณอำพลหรืออากงที่เราเรียกกัน ทุกคนโดนชะตากรรมนี้หมด คือก่อนเข้าสู่การพิจารณาคดีต้องเข้าคุก ตรงนี้ผมถือว่าเป็นการดำเนินคดีที่น่าจะมีปัญหา

นี่แหละที่ผมนึกถึง เพราะฉะนั้นเรื่องการพ้นเปลาะตรงนี้ไม่ค่อยดีใจเท่าไร แต่ขอบคุณทุกท่านที่แสดงความยินดีเข้ามา เพราะท่านรักและเป็นห่วง ผมชื่นใจที่มีคนเป็นห่วง แต่ต้องกราบเรียนด้วยความเคารพว่าไม่ใช่ดัดจริตหรือพยายามจะพูดให้เป็นอื่น แต่เรื่องนี้ยังไม่สามารถปลงใจได้ว่าปัญหาสิ้นสุดยุติลงสำหรับโครงสร้างของสังคม อาจจะดีขึ้นขั้นหนึ่งสำหรับตัวผมก็ได้

กระบวนการการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ดำเนินการอยู่ ณ เวลานี้เป้าหมายคืออะไร แค่ไหน และอย่างไร

วันนี้เราพยายามพูดถึงเรื่องการปรองดอง หลังจากมีความขัดแย้งทางการเมือง มีการแบ่งสีแบ่งข้าง มีการพูดถึงเรื่องที่เราไม่เคยคิดว่าจะพูดกันด้วยเสียงดังๆ เราก็สะเทือนขวัญกันทั้งประเทศว่าจะพาให้ไปสู่จุดไหน เราก็นัดกันว่าจะมาขีดเส้นแล้วก็ปรองดองกัน แต่บังเอิญว่าการล้ำเส้นของช่วงที่ผ่านมาหนักไป ถึงขั้นเอาอำนาจรัฐผ่านทางอาวุธสงครามโดยฝีมือของกองทัพมาฆ่าประชาชนกลางถนน โดยที่ประชาชนไม่ได้มีวี่แววหรือมีหลักฐานว่าเป็นผู้ที่เข้าข่ายเรื่องการก่อการร้ายหรือผู้ก่อความไม่สงบในทางที่ใช้อาวุธแต่อย่างใด

อย่าลืมว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ผ่านฟ้าฯ ราชประสงค์ ไม่ได้เกิดขึ้นนอกฟ้าป่าหิมพานต์ที่ไหน แล้วก็มีสื่อมวลชนต่างประเทศ มีชาวต่างประเทศและชาวไทยจำนวนมากจับตามองอยู่ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป้าหมายในขณะนี้คือ เราต้องรวบรวมความกล้าหาญทางจริยธรรมแล้วตั้งประเด็นปัญหาของบ้านเมืองให้ได้ว่าการปรองดองครั้งนี้จะนำไปสู่เรื่องอะไร พูดง่ายๆคนไทยต้องมาสนทนาธรรมกันต่อจากการปรองดองอีกนะ ปรองดองพูดกันตรงๆก็คือภาวะที่ไม่มีทางเลือก ต่างฝ่ายต่างสู้กันจนเรียกว่าเปลืองเลือดเปลืองเนื้อ เปลืองจิตเปลืองใจกันมามาก แล้ววันหนึ่งก็มาจับมือกันแล้วก็มีเส้นขนานที่ 38 มายืนกันอยู่คนละข้างแล้วหาทางให้กฎหมายตอบสนองความเป็นธรรม

แต่คำถามคือสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นเป้าหมายประชาธิปไตยตามที่คุณจอมถาม ผมคงตอบว่าต้องเป็นการปรองดองบวก คือเป็นปรองดองพลัสกับการพูดคุยกันในเรื่องสำคัญอื่นๆในอนาคต จะบอกว่าการปรองดองเป็นทางออกของสังคมไทยคงไม่ได้ แต่ถามว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะนี้ไหมก็ลองดู อาจจะได้ผลก็ได้ เพราะช่วยให้เราไม่ต้องเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรง แต่ถ้าปรองดองกันแล้ว ตัดสินใจว่าจะเลิกคิดกันทั้งหมด ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลอง ผมคิดว่าก็รอให้วงจรอุบาทว์เวียนกลับมาอีกครั้งหนึ่งแล้วกัน

ถ้าพูดถึงเรื่องการปรองดองโดยไม่ได้พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถปรองดองได้ไหม

เราปรองดองได้เสมอแหละ แต่ถามว่าเบ็ดเสร็จสมบูรณ์หรือไม่ ผมขออนุญาตตอบอย่างนี้ว่าเราไม่สามารถพูดถึงอนาคตของประเทศไทยโดยไม่พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องเลิกเลี่ยงเรื่องนี้เสียที ถ้าหากว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคในการพูดตรงนี้ ต้องไปแก้ตรงนั้นก่อน นี่คือเหตุที่กลุ่มนิติราษฎร์ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรกุล มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และอีกหลายกลุ่มเรียกร้องว่าให้แก้ตรงนี้ เขาไม่ได้เรียกร้องให้แก้เพื่อทำร้ายหรือทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เรียกร้องเพื่อให้พูดถึงเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่ว่าใครตั้งต้นพูดคดีก็มารออยู่แล้ว คุกมารอแล้ว อย่างนี้วันไหนจะได้พูดอย่างสร้างสรรค์ แล้วถ้าหากไม่ให้พูดอย่างสร้างสรรค์เมื่อไรจะแก้ปัญหาได้

เหตุที่ผมพูดอย่างนี้ทั้งๆที่หลายคนบอกว่าคุณจะพูดอย่างนั้นได้อย่างไรในเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง อยู่เหนือจริงไหมล่ะ ถ้าหากเกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นมาก็เกี่ยวข้องกับสถาบันทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาบันเข้ามาแก้ปัญหา หรืออัญเชิญสถาบันเข้ามาแก้ปัญหา ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 พฤษภาทมิฬ 2535 จนกระทั่งมาถึงล่าสุด แม้แต่ที่มีการรัฐประหาร แล้วหัวหน้าคณะรัฐประหารเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ลงพระปรมาภิไธยตั้งคณะบริหารราชการแผ่นดินต่อจากการรัฐประหาร นี่คือการเมือง เพราะฉะนั้นเราอย่าเอาคำว่าสถาบันอยู่เหนือการเมืองมาเป็นเหตุให้ไม่ได้แก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดของบ้านเมือง แล้วเรื่องนี้แหละที่ผมคิดว่าการตัดสินใจของสถาบัน ผมพูดว่าสถาบัน ไม่ใช่พระองค์หรือบุคคล เป็นการตัดสินใจที่อาจหมายถึงอนาคตของประเทศ คือทุกอย่างในโลกนี้มีครรลองของมัน ไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้โดยไม่มีปัจจัยแปรปรวนเข้ามามีผล

บางทีเรายืนอยู่นิ่งๆ แต่ถ้ามีน้ำไหลมาตรงพื้นดินที่เรายืนอยู่มันก็เปลี่ยน เราก็ยืนไม่อยู่เหมือนกัน ฉันใดก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นผมกำลังพูดว่าสถาบันต้องเป็นผู้เป่านกหวีดเองว่าจะนัดคุยกันอย่างไร ปัญหาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แล้วต่อไปเป็นอย่างไร นี่คือเรื่องที่ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์มาก ทุกประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ญี่ปุ่น กัมพูชา สวีเดน นอร์เวย์ และอีกหลายประเทศ ล้วนผ่านวิกฤตเรื่องของสถาบันกับประชาชนมาแล้วทั้งนั้น พูดง่ายๆว่าเขาผ่านบทพิสูจน์ว่าถ้าสถาบันกับประชาชนเกิดความเข้าใจไม่ตรงกันจะปรับตัวกันได้อย่างไร ดูตัวอย่างประเทศเหล่านี้สิ เพราะเขาผ่านการเผชิญหน้ามาแล้ว และคนส่วนใหญ่ยังบอกว่าต้องการอยู่ ที่อังกฤษประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ได้เต็มที่ เรียกว่าไม่มีบันยะบันยังกันเลย จนถึงขั้นหนึ่งต้องลงประชามติ ปรากฏว่าสถาบันชนะ คนรักมีมากกว่าคนไม่รัก สถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษก็อยู่มาได้อย่างมีเสถียรภาพ

ทั้งหมดอยู่ในสร้อยพระนามของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์นั่นแหละคือ อเนกนิกรสโมสรสมมุติ อเนกคือมากมาย นิกรคือประชาชน สโมสรคือมารวมกัน สมมุติคือให้เป็น อเนกนิกรสโมสรสมมุติ คือประชาชนมารวมกันแล้วยกให้ท่านเป็น เพราะฉะนั้นถ้าหากมีปัญหาว่าคนไม่พอใจก็เรียกประชุมใหม่ สโมสรกันใหม่ อเนกนิกรได้มาแล้วจะสมมุติอะไรก็ว่ากันใหม่ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าหลักไทยโบราณของเราก็สามารถใช้ได้ ผมเองส่วนตัวสนใจเรื่องของสถาบันมาก คือสนใจเพราะชอบ ชอบว่าเป็นสถาบันอันยิ่งใหญ่ มีความอลังการ มีความละเมียดละไมทุกอย่าง สิ่งที่ดีที่สุดของชาติหลายอย่างอยู่ในสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น เรื่องช่าง 10 หมู่ เรื่องการก่อสร้างพระราชวัง แม้กระทั่งพระราชพิธีถวายพระเพลิงยังสวยเลย เพราะฉะนั้นมีของดีที่เราจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือระหว่างคนไทยด้วยกันโดยผ่านสถาบันพระมหากษัตริย์

แต่วันนี้มีคำถามเดียวว่าบทบาททางการเมืองจะทำอย่างไรถ้าหากเอาการเมืองออกไปจากสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่แหละคือวิธีที่พวกเราต้องเดินไป เพียงแต่ว่าด้วยความที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นของสูงในวัฒนธรรมไทย แล้วก็มีกฎหมายห้ามไม่ให้พูดถึง ก็ทำให้เริ่มต้นนับหนึ่งไม่ได้ พูดง่ายๆว่าทุกคนรู้โจทย์แต่นับหนึ่งไม่ได้ อันนี้ก็แก้ไขปัญหาไม่ได้

ถ้าจะสามารถนับหนึ่งได้ต้องเป็นสถาบันเองใช่ไหม

ผมคิดว่าหลายเรื่องเป็นจิตวิทยา หลายเรื่องเป็นความรู้สึก อย่างเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ 2 ฝ่ายเข้าเฝ้าฯ ทั้งฝ่าย รสช. ซึ่งตัวแทนคือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และฝ่ายผู้ประท้วงตอนนั้นคือ พล.อ.จำลอง ศรีเมือง แล้วก็เรียกประธานองคมนตรีคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รู้สึกว่าจะเป็นแค่องคมนตรี เพราะอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ยังอยู่ แต่ก็เป็นบทบาทนำแล้วเข้ามาช่วยแก้ปัญหา คนที่ไม่รู้อะไรเลยมองภาพวันนั้นวันเดียวก็จะสรุปว่าประเทศไทยมีลักษณะการเมืองการปกครองพิเศษที่สถาบันพระมหากษัตริย์โดยองค์พระมหากษัตริย์สามารถแก้ไขปัญหาที่คนอื่นแก้ไม่ได้ ปัญหาที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง คนต้องฆ่ากันตายเป็นพันๆ หมื่นๆ แสนๆ แต่มาแก้ไขด้วยวิธีนี้

คำถามก็คือภาพประทับใจในวันนั้นเมื่อปี 2535 มีความหมายอย่างไรใน พ.ศ. นี้ จู่ๆจะบอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวแล้วหรือ แล้วปี 2535 คืออะไร เพราะฉะนั้นเราต้องสม่ำเสมอต่อเนื่องในการคิด ในเมื่อเรารู้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าในทางปฏิบัติแล้วต้องแก้ปัญหาทางการเมืองหรือมีบทบาททางการเมือง ในตอนนี้ก็คือปัญหาการเมืองล้วนๆ เพราะฉะนั้นผมไม่เห็นเลยว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร ส่วนกระบวนการในการเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมเห็นด้วยกับกลุ่มนิติราษฎร์ที่ว่าอย่างน้อยที่สุดต้องมีการปรับเปลี่ยนและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

พูดอย่างนี้ไม่ใช่เพราะผมโดนคดีหมิ่นฯแล้วจะหาทางให้ตัวเองพ้นทุกข์ ไม่ใช่ เพราะไม่มีผลย้อนหลัง แต่เป็นเรื่องของอนาคตที่จะลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้ อย่าลืมว่าสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป รุ่นคุณจอม รุ่นผม เราเรียกพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็นบิดาแห่งชาติ เป็นพ่อแห่งชาติ วันที่ 5 ธันวาคมซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาก็เป็นวันพ่อ คนรุ่นลูกของคุณจอมหรือผม โดยอายุแล้วถ้าจะนับก็ถือว่าเป็นหลานหรือเป็นเหลนแล้ว มีความห่างโดยธรรมชาติเกิดขึ้นในอายุ ยิ่งจำเป็นต้องสร้างความเกี่ยวข้องระหว่างสถาบันกับประชาชนมากขึ้น

ถ้าพูดในเชิงศัพท์การตลาดก็ต้องรีแบรนดิ้ง จะต้องทำให้สิ่งที่เขาได้รับรู้ได้รับทราบนี้เกี่ยวพันกับการเมือง ปัญหาของสถาบันหรือปัญหาเรื่องสถาบันจะไม่ใช่เรื่องความดีหรือความไม่ดี ปัญหาที่ควรห่วงคือในอนาคตจะยังมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของแต่ละคนอยู่หรือเปล่า ชีวิตแต่ละวันเขายังเกี่ยวข้องกับสถาบันอยู่ ถ้าหากเขารู้สึกว่าไม่เกี่ยวข้องวันหนึ่งก็จะหมางเมินห่างกันไปเองโดยไม่ต้องมีใครมาทำอะไรเลย จะมีกฎหมายป้องกันกี่ฉบับก็ป้องกันไม่ได้ถ้าสายใยนั้นไม่มีการเชื่อมโยง

ฟังคุณจักรภพพูดไว้เหมือนว่าการปฏิรูปศาล การปฏิรูปกองทัพก็เท่ากับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

จริงๆผมไม่ได้พูดขึ้นมาก่อน ผมพูดในกลุ่มเล็กๆเป็นการภายใน แล้วก็มีท่านหนึ่งถามขึ้นมาว่าทำไมทางฝั่งประชาธิปไตยไม่ชงเกี่ยวกับการปฏิรูปศาล แล้วปฏิรูปกองทัพ เพื่อไม่ให้มีวงจรอุบาทว์ในการทำร้ายหรือฆ่าฟันประชาชน ผมก็ตอบว่า สถาบันศาลกับสถาบันกองทัพได้พูดชัดเจนแล้วว่าเป็นสถาบันที่เกี่ยวพันกับอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิด พูดง่ายๆคือเกี่ยวพันกับพระราชอำนาจ อย่างกองทัพเองก็ออกมาพูดบ่อยครั้งโดยเฉพาะในยุคนี้ว่าเทิดทูนสถาบัน ใครจะละเมิดหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆไม่ได้ กองทัพจะเอาชีวิตเข้าแลก ศาลเองก็พูดตลอดเวลาว่าเป็นการพิพากษาในพระปรมาภิไธย แล้วศาลเวลาออกมานั่งบัลลังก์ ไม่ว่าจะเป็นองค์คณะหรือเป็นอย่างไรก็ตามจะอยู่ภายใต้พระบรมฉายาลักษณ์ทุกครั้ง เป็นเหมือนองค์ประกอบของกระบวนการพิจารณาคดี เพราะฉะนั้นโดยสัญลักษณ์และโดยเนื้อหา การจะเปลี่ยนแปลงใดๆเกี่ยวกับสถาบันศาลหรือสถาบันกองทัพโดยไม่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์คงไม่ได้

ผมถามตัวเองว่าลัทธิที่ว่ามีผู้รู้ดีกว่าประชาชนเวลาปรับสู่ประชาธิปไตยทำอย่างไร อย่างในสหรัฐอเมริกาไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วก็ไม่มีผู้ดีเก่า เพราะต่างคนต่างเป็นผู้อพยพกันมาทั้งนั้น 200 กว่าปีที่แล้วเขาตกลงกันว่าระบบที่ดีที่สุดก็ต้องมาคานอำนาจ ก็คือสถาบันบริหารมีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้า สถาบันนิติบัญญัติมีสมาชิกวุฒิสภา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วสถาบันศาลก็คือศาลสูงสุด มีผู้พิพากษาศาลสูงสุด 9 คน แล้วเลือกกันเองได้ประธาน 1 คน เป็นระบบที่ตั้งขึ้นมาเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้วตอนสร้างประเทศ สุดท้ายก็ยังได้ผลอยู่ มีวิกฤต มีเรื่องระหองระแหง มีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ มีการนินทากันมาตลอด แต่สุดท้ายระบบนี้ก็ยังมีอยู่ คือเขาคานกัน เช่น ประธานาธิบดีเป็นคนเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุด แต่สภาเป็นคนเลือก ศาลสูงสุดมีหน้าที่ในการตีความรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจเอาชนะสภาหรือประธานาธิบดีก็ได้ ในขณะเดียวกันการทำความผิดแต่ละครั้งก็จะมีปัญหาที่ทั้ง 3 สถาบันต้องมาเกี่ยวข้อง เช่น สมัยประธานาธิบดีนิกสันเรื่องวอเตอร์เกท สมัยประธานาธิบดีคลินตันเรื่องเซ็กซ์โมนิกา ก็ต้องเอาทั้ง 3 สถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผมกำลังพูดว่าการปฏิรูปศาล หลักการของการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นและคานอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆน่าจะเป็นวิธีที่ดี และขณะเดียวกันก็จะทำให้สถาบันกษัตริย์พ้นข้อครหาว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ พูดง่ายๆว่าถ้าศาลเป็นของประชาชนหรืออยู่ในระบบการถ่วงดุลและคานอำนาจ เวลามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในความรู้สึกของคนก็จะไม่มองไปในที่สูงมาก คนก็จะมองแต่ตัวผู้พิพากษา แล้วก็ตัดสินใจกันไป

ความจริงผู้พิพากษาในไทยน่าจะมีระบบที่ดี เช่น มีระบบศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ มีระบบศาลชั้นต้น เหมือนคณะกรรมการใหญ่ซึ่งมีผู้พิพากษาอาวุโสอยู่ในนั้น แล้วก็ทำหน้าที่เป็นผู้กลั่นกรอง ขนาดประธานศาลฎีกาซึ่งถือว่าสูงสุดของสถาบันยุติธรรมก็ยังมีคณะกรรมการตุลาการเป็นประมุข แล้วก็ต้องตัดสินภายใต้ระบบกลุ่ม ระบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันทำไมสถาบันศาลจำเป็นต้องอ้างถึงพระราชอำนาจในการพิพากษาคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีไหนก็ตาม ผมคิดว่าถ้าหากสถาบันศาลหันมาผูกพันกับประชาชนมากขึ้น และลดความเกี่ยวข้องระหว่างสถาบันกับงานของตนเอง ผมคิดว่าสถาบันตุลาการจะเป็นทางออกให้กับเรื่องต่างๆมากขึ้น แต่แน่นอนยังมีปัญหาอื่นๆอีกเยอะในการปฏิรูปศาล เช่น ระบบการไต่สวนที่ยาวนานเจ็ดชั่วโคตรอะไรอย่างนี้ เป็นความกันตอนนี้ ได้ผลอีกทีลูกโตแล้ว เรียนมหาวิทยาลัยไปแล้วอะไรอย่างนี้ ทำให้ไม่เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้รับผลทางกฎหมายทันท่วงที อย่างนี้ต้องแก้ไข ในสหรัฐอเมริกาเวลามีคดีเข้าศาลจะไต่สวนต่อเนื่องๆจนจบเลย เพราะฉะนั้นทุกคนสามารถติดตามได้ว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าหากมีความไม่ชอบมาพากลก็เห็นชัด แต่บ้านเราช้าจนลืมกันไปเลย จำไม่ได้แล้วว่าคดีนี้เป็นอย่างไร เรียกไปไต่สวนยังงง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูป

แล้วเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยึดโยงของประชาชนที่ผมพูดตอนแรกต้องหาวิธี อย่างในสหรัฐอเมริกาซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเป็นโมเดลที่ดีที่สุด เป็นแค่แนวคิดหนึ่ง คือเขาให้ผู้ที่มีคุณสมบัติในทางกฎหมาย เช่น เรียนมาทางนี้ มีตำแหน่งอย่างนี้ สามารถเลือกตั้งได้ แต่ไม่ใช่ว่าใครก็ไปลงเลือกตั้งได้ พูดง่ายๆว่าลงสมัครรับเลือกตั้งนี่แหละ แต่เอาเฉพาะคนที่มีคุณสมบัติ และไม่มีการหาเสียง เป็นเรื่องการเลือก การตัดสินใจ เหตุที่เขาให้ประชาชนเลือกคือจะลากประชาชนมาเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีด้วยว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ แต่ระบบบางอย่างที่สหรัฐอเมริกาผมก็ไม่แน่ใจว่ามาอยู่ในเมืองไทยแล้วจะอลเวงไหม เช่น ระบบลูกขุน สมมุติว่าผมถูกกล่าวหาคดีฉ้อโกงแล้วขึ้นศาล ก็จะมีคนจำนวน 12 คน ซึ่งผมไม่รู้จัก มาฟังผมให้การในศาลว่าน่าเชื่อหรือไม่ แล้วก็มีอำนาจที่จะบอกว่าจักรภพผิดหรือไม่ผิด ส่วนผู้พิพากษาซึ่งนั่งเป็นประธานในการตัดสิน เมื่อบอกว่าผิดแล้วต้องลงโทษอะไรตามกฎหมาย ก็ทำให้เกิดการแบ่งอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจคือผู้พิพากษากับคณะลูกขุนคือตัวแทนประชาชน แต่แน่นอนว่ามีข้อเสียเยอะ บ้านเราสงสัยลูกขุนจะถูกซื้อตัวกันหมด มีคนมาจ่ายตังค์ก็ว่ากันไป แต่ผมยกตัวอย่างว่าเราต้องพูดคุยกันในเรื่องนี้ว่าวิธีการแบบไทยจะเอาอย่างไรที่จะทำให้ระบบศาลเป็นไปได้

ส่วนกองทัพผมคิดว่าต้องเริ่มตระหนักว่าธงชาติมี 3 สีคือ แดง ขาว น้ำเงิน สีแดงที่แปลว่าชาติ และสีน้ำเงินที่แปลว่าพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่สีเดียวกันนะ คนละสี คนละแถบ คิดกันมาแล้วว่าคนละแถบ เพราะฉะนั้นกองทัพนอกจากปกป้องสถาบันแล้วยังต้องปกป้องชาติ โดยแยกชาติจากพระมหากษัตริย์ คือวันนี้มีการพูดถึงเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่าง 2 สี ก็ทำให้เกิดผลอันหนึ่งคือเราไม่สามารถแยกระหว่างสถาบันกับตัวบุคคลได้ เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ซับซ้อน เข้าใจยาก ประเทศที่มีประชาธิปไตยมานานจะแยกออกชัดเจน

มองอย่างไรกับการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงและกลุ่มนิติราษฎร์

ความจริงชัดเจนมาก ขบวนการเสื้อแดงไม่ว่าจะในนาม นปช. หรือกลุ่มใดก็ตามเป็นมวลชน มวลชนแปลว่าประชาชนที่มีพลัง มวลชนต่างกับประชาชนตรงนี้ คือมีพลังบวกเข้าไป ส่วนนิติราษฎร์เป็นเสมือนที่ปรึกษามวลชน คำว่าที่ปรึกษาหมายความว่ามีการเสนออะไรใหม่ๆให้มวลชนพิจารณา รับไม่รับเขาไม่มีสิทธิบังคับ มวลชนอาจบอกว่าไร้สาระ ไม่ฟังก็ได้ หรือมวลชนอาจบอกว่าดี น่าคิด แล้วเอามาทำอะไรต่อก็ได้ ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างเสื้อแดงกับนิติราษฎร์สร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นผมจึงไม่อยากเห็นหรือไม่อยากได้ยินใครพูดว่านิติราษฎร์เงียบหน่อยช่วงนี้ นิติราษฎร์อย่าพูดเยอะ เขาจะอย่างนั้นอย่างนี้ จริงๆเราควรขอบคุณความหลากหลายในกระบวนการประชาธิปไตยด้วยซ้ำว่าในเมื่อจะปรองดองก็มีคนคอยเตือนว่าระวังหน่อยนะ ไม่ดีใจหรือ ผมว่าเราน่าจะดีใจนะที่มีคนคอยเตือน

เพราะฉะนั้นประเด็นก็คือนิติราษฎร์เป็นที่ปรึกษา แล้วผมไม่ได้เชียร์เฉพาะนิติราษฎร์ ใครก็ตามที่มีสติปัญญาควรรวมกลุ่มกันมา ไม่เฉพาะเรื่องการเมือง เป็นต้นว่าเรื่องของธุรกิจเราก็สามารถทำให้เป็นตัวอย่างได้ เช่น นักธุรกิจที่มีประสบการณ์มารวมตัวกัน ไม่ต้องเป็นหอการค้า ไม่ต้องเป็นสภาอุตสาหกรรม ทำเป็นกลุ่มอิสระเหมือนนิติราษฎร์ แต่ในทางการค้าธุรกิจแล้วเตือนรัฐบาลก็ได้ บอกว่าภาษีอย่างนี้ไม่มีใครลงทุนนะ แรงงานอย่างนี้ตายนะ ก็ควรมีนิติราษฎร์ในทางธุรกิจ ในทางอื่นขึ้นมาเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้สังคมเรามีวุฒิภาวะและลดการไปขึ้นกับตัวบุคคล แต่ขึ้นกับพวกเรา ขึ้นกับองค์คณะของประชาชน

คิดว่าถึงที่สุดแล้วบทบาทของเสื้อแดงกับนิติราษฎร์จะเดินไปบนเรือลำเดียวกันได้ไหม

พูดยาก แต่ผมตอบได้เพียงแค่ว่าขณะนี้คนเสื้อแดงก็เรือลำหนึ่ง นิติราษฎร์ก็เรือลำหนึ่ง แต่เป็นเรือในขบวนเดียวกัน ลำใหญ่ลำเล็กก็มาด้วยกัน ต่างฝ่ายต่างก็เห็นกัน แล้วก็มีไมตรีกัน โบกมือยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน มีบางระยะเหมือนกันที่บอกว่าเรือนิติราษฎร์ขับห่างๆหน่อยเดี๋ยวเปื้อนฉันก็มี แต่ว่าสุดท้ายก็อยู่ด้วยกันได้ แต่ที่คุณจอมถามว่าจะเป็นเรือลำเดียวกันไหม ผมตอบไม่ได้ ผมพูดได้แต่เพียงว่าสุดท้ายถ้าเป้าหมายเดียวกันก็เหมือนนั่งเรือไปเจอกันที่ปากแม่น้ำซึ่งแคบ จะต้องผ่านคอขวดเข้าไปที่ไหนสักที่หนึ่ง แต่อาจไม่มีทางเลือก ต้องเหลือลำเดียว ซึ่งคนที่อยู่ในเรือลำเล็ก หรือลำเล็กขึ้นลำใหญ่ผมก็ไม่ทราบ ไม่ได้มีความวิเศษวิโสจะไปวิเคราะห์ได้ รู้แต่เพียงว่าความคิดแบบนิติราษฎร์ถ้าหากนำเสนอในเมืองไทยเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ถ้าไม่โดนโห่ก็โดนยิง แต่มาวันนี้กลายเป็นกระแสธรรมดา คนก็นั่งฟัง แล้วที่ผมปลื้มใจมากก็คืออาจารย์หลายท่านก็พูดไปในทางวิชาการ มีทฤษฎีเยอะแยะ พี่น้องที่ดูเหมือนกับเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยอะไรก็นั่งฟังนั่งจดอย่างสนใจ ไม่เข้าใจก็กลับไปค้น แรงผลักดันตรงนี้มาจากไหน แรงผลักดันที่พยายามจะเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร ผมตอบได้คำเดียวว่ามาจากความรู้สึกที่ว่าแนวทางนี้อาจเป็นทางออกของชีวิตเขาก็ได้

มีคนกังวลว่าบรรยากาศของประเทศไทยนับจากนี้ ปรองดองก็ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยมีความหวังเท่าไร เราจะมีหายนะเกิดขึ้นอีกไหมในอนาคตอันใกล้

มีสำนวนหนึ่งบอกว่าดวงดาวทุกอย่างเรียงตัวมาสู่หายนะ ผมไม่อยากบอกว่าเมืองไทยเข้าสู่ชะตากรรมนั้น ขอตอบแบบให้สมกับตัวเอง ให้เล็กลงหน่อยก็คือ อันที่ 1 ผมคิดว่าปรองดองเป็นวิธีคิดหนึ่งในการพยายามแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งเราต้องให้เกียรติกับคนที่พยายามจะทำให้สำเร็จ ถ้าทำสำเร็จเราก็ได้ประโยชน์ เรื่องนี้ไม่มีได้หน้าหรือเสียหน้า มีแต่บ้านเมืองจะจบหรือไม่จบในเชิงความรุนแรง แต่ขณะเดียวกันเราต้องเคารพสิทธิของคนที่ไม่เชื่อเรื่องปรองดอง แล้วให้เขาอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ แต่ตรงนี้ต้องมีความเป็นธรรมทางการเมืองนะ ใครที่เดินในเรื่องปรองดองแล้วได้ผลจริง ประชาชนรับ เขาจะได้ตำแหน่งทางการเมือง ต้องให้เขานะ คนที่อยู่ข้างนอกต้องรอนะ เพราะไม่ได้ไปร่วมช่วยกับเขา แต่ประชาชนทั่วไปไม่ได้มองตรงนั้นหรอก มองแค่ว่าปัญหาบ้านเมืองจะจบไหม คนจะค้าจะขายเขาอยากรู้เพียงแค่ว่าจะไปคุยกับใคร เขาก็เหนื่อยที่ต้องคอยตอบเพื่อนฝูงชาวต่างประเทศว่าเมื่อไรเมืองไทยจะจบ บอกแต่ว่าไม่รู้เหมือนกัน

ก็เหมือนกับนักการค้า ผมเคยถามนักธุรกิจท่านหนึ่งตอนอยู่ใน ครม. ท่านนายกฯสมัครซึ่งเป็นเพื่อนกันว่ารัฐบาลจะช่วยอะไรให้กับนักธุรกิจบ้าง เขาก็ตอบแบบไม่เกรงใจเลยว่าช่วยอย่ายุ่ง ให้เขาทำมาหากินของเขา ลดภาษีให้เขามากๆ ส่งเสริมการทำธุรกิจการค้า นอกนั้นให้กลไกตลาดตัดสิน ผมค่อนข้างเห็นด้วย แน่นอนนักธุรกิจมีโลภ โมโห โทสะ มีเห็นแก่ตัว แต่เราเป็นใคร มีสิทธิอะไรที่จะตั้งเงื่อนไขว่าคนนี้ต้องโกงแน่ บางทีต้องปล่อยให้เขาทำก่อนแล้วจากนั้นสังคมต้องหาวิธีแก้ ถามว่าเป็นเรื่องดีไหมที่ปล่อยให้เสียหายก่อนแล้วมาแก้ วัวหายแล้วล้อมคอก ผมก็ต้องตอบทุกทีว่าประชาธิปไตยไม่มีทางเลือก