ตอน กฎหมาย
ที่ผ่านมาเรามักได้ยินคำว่า กฎหมายไม่เป็นธรรม หรือ กฎหมายสองมาตรฐานอยู่บ่อยๆ คำว่ากฎหมายนั้นคืออะไรกันแน่ และใครเป็นผู้สร้าง กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆมาบังคับใช้ให้เราปฏิบัติตามโดยใช้คำเรียกว่า กฎหมาย
กฎหมาย หมายถึง ระเบียบ ข้อบังคับของสังคม ซึ่งบุคคล หรือคณะบุคคล กำหนดขึ้นมาเพื่อใช้ในการบริหารกิจการบ้านเมือง หรือบังคับความประพฤติของประชาชนในรัฐหรือในประเทศนั้นๆให้ปฏิบัติตาม เพื่อความสงบสุขของสังคมและความมั่นคงของประเทศ ผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย
ในประเทศที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการ ผู้ปกครองและคณะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการออกกฎหมาย แต่ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเป็นตัวแทนของประชาชน ในการประชุม พิจารณาออกกฎหมาย โดยกฎหมายที่พิจารณาให้บังคับใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายสูงสุดที่ใช้เป็นหลักหรือแนวทางในการบริหารประเทศ กำหนดรูปแบบของรัฐว่าเป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวม จัดระเบียบความสัมพันธ์การใช้อำนาจของสถาบัน องค์กรต่างๆในประเทศ และถือเป็นแม่บทของกฎหมาย ถ้ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญจะถือเป็นโมฆะบังคับใช้ไม่ได้
แล้วรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นผู้สร้าง?
ต้องเล่าย้อนไปถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแผ่นดิน ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2475 จึงได้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้นในประเทศ แต่ตอนนั้นเรียกว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม” และเพื่อให้สมกับที่วันนั้น (24 มิถุนายน 2475) เป็นวันสำคัญยิ่งของประชาชนชาวไทย ในเวลาต่อมารัฐบาลภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงได้ประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ และให้มีการเฉลิมฉลองแบบนานาอารยประเทศทั่วไป
แต่ต่อมาในรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 ได้ประกาศให้ยกเลิกวันชาติเสีย นับแต่นั้นมาได้มีความพยายามในอีกหลายๆรูปแบบที่จะลบเลือนเรื่องวันชาติ 24 มิถุนายน รวมทั้งคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ของคณะราษฏรออกไปจากความทรงจำของประชาชน
รัฐธรรมนูญฉบับแรกหรือ “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม” ได้มีการเลือกตั้งอนุกรรมการโดยมี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานอนุกรรมการยกร่างพิจารณาแก้ไข จนกลายร่างเป็นรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งมีความแตกต่างจากธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ที่คณะราษฎรร่างไว้อยู่หลายประการ ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านปรีดี พนมยงค์ได้ริเริ่มจัดตั้งขบวนการเสรีไทยในการต่อสู้กู้เอกราชของชาติให้คงอยู่ ทำให้ประเทศไทยไม่ตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม ทั้งนี้ก็โดยความร่วมมือสามัคคีของประชาชนทุกหมู่เหล่า ท่านปรีดีฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น จึงได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีมีความตอนหนึ่งว่า... เหตุการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ขึ้นของระบอบประชาธิปไตย นายควงฯจึงนำความนั้นมาปรึกษาหารือกันในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้ดำเนินการกันต่อๆมาจนเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489
ซึ่งเรียกได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับที่วางรากฐานประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ระบุให้สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และห้ามข้าราชการประจำเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง ทำให้อิทธิพลของกองทัพลดลง อีกทั้งได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ จึงปรากฎว่าในยุคสมัยนั้นมีหนังสือพิมพ์และเอกสารที่ตีพิมพ์เผยแพร่เกี่ยวกับลัทธิการเมืองต่างๆออกมาอย่างเสรี ซึ่งเป็นไปตามหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอายุถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เท่านั้น ก็ได้ถูกฉีกทิ้งทำลายลงโดยคณะรัฐประหารที่มีพล.ท. ผิน ชุณหวัณ เป็นหัวหน้า ซึ่งนับว่าเป็นการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญไทยครั้งแรกโดยการโค่นล้มอำนาจของคณะรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยกำลังอาวุธ และต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 ได้มีการประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีฉายาว่า รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม เพราะหลวงกาจสงครามผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อธิบายว่าร่างไว้ก่อนหน้าที่จะทำการรัฐประหาร และเมื่อร่างเสร็จแล้วได้นำไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มสามโคก
นับแต่นั้นมาระบอบประชาธิปไตยไทยมีแต่ถอยหลัง และอำนาจการปกครองก็ตกอยู่กับคณะต่างๆซึ่งเป็นเผด็จการบ้าง เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบบ้าง มีการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับแล้วฉบับเล่า จนหลังจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 พฤติกรรมเสียสัตย์เพื่อชาติ ของพล.อ.สุจินดา คราประยูร ความรุนแรงของการสลายการชุมนุมและการจับกุมประชาชนที่ไม่มีความผิด ทำให้ขบวนการภาคประชาชนลุกฮือขึ้นมาร่วมกันผลักดันจนมีการตั้งคณะปฏิรูปการเมือง มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากจังหวัดต่างๆ รวมทั้งตัวแทนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ จนออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนตุลาคม 2540 ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หลังจากนั้นการเมืองไทยได้พัฒนาในระบบรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อกันว่านับแต่นี้ไปคงไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ถึงแม้จะมีวิกฤติเกิดขึ้นมากมาย แต่ปัญหาทุกอย่างของชาติย่อมแก้ไขได้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ใครจะคาดคิดว่าระบอบประชาธิปไตยไทยต้องถอยหลังเข้าคลองอีกครั้งเพราะการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์อันเป็นแม่บทของกฎหมายก็ถูกฉีกทิ้งลงอย่างง่ายดายเหมือนเช่นการรัฐประหารทุกๆครั้งที่ผ่านมาในอดีต
รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อใช้เป็นหลักหรือแนวทางในการบริหารประเทศ ชนชั้นใดขึ้นมามีอำนาจสามารถร่างรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้ ชนชั้นนั้นย่อมเขียนรัฐธรรมนูญที่พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชนชั้นตน เราจะหวังให้ชนชั้นผู้กดขี่เขียนรัฐธรรมนูญที่ให้ประโยชน์แก่ผู้ถูกกดขี่คงเป็นไปได้ยาก
ดังนั้นหากประชาชน ชนชั้นกรรมาชีพอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการจะได้มาซึ่งกฎหมายเป็นธรรม ที่มีมาตรฐานเดียว ไม่มีหนทางอื่นนอกจากต้องร่วมแรงร่วมใจกันช่วงชิงอำนาจทางการเมืองมาให้ได้เสียก่อน เพราะอำนาจทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญประการแรกอันเป็นหนทางนำไปสู่โอกาสในการร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นร่วมกันสนับสนุนผลักดันให้เกิดร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประชาชนให้เป็นธรรม โดยประชาชน เพื่อประชาชนให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น