Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เปิดแผนรุก-เกมยื้อ 2 พรรคสู้นิรโทษ พท.เดินหน้าครึ่งซอย ล้างภาพช่วยทักษิณ ปชป.ปลุกม็อบริมถนนค้าน รบ.

จากมติชนออนไลน์



แน่ชัดว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และพวก เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

แน่ชัดว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวจะพิจารณาในวันที่ 7 สิงหาคม

เพียงแค่นี้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็สร้างความสั่นไหวทั้งกระดานการเมือง ทะลุไปถึงกระดานหุ้น

เพราะนักลงทุนรายเล็ก ไปถึงรายใหญ่ หวาดวิตกว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอาจกลายเป็นชนวนเหตุทำให้การเมืองไทยถูกลากออกจากห้องประชุมสภาลงสู่ท้องถนนอีกครั้ง กระทั่งฉุดดัชนีเศรษฐกิจให้ตกวูบไป

ปัจจัยความกลัวเกิดจากหลากหลายม็อบประกาศว่าจะโค่นล้มระบอบทักษิณ ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์

ไม่ว่ากลุ่มหน้ากากขาว-กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ-กลุ่มไทยสปริง และอีกหลายกลุ่ม

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับวรชัย ก็เป็นหนึ่งในชนวนที่ชักชวนแขกการเมืองให้ออกมาร่วมไล่รัฐบาล

ขณะเดียวกัน "พรรคประชาธิปัตย์"

ก็ประกาศว่าจะคัดค้านเต็มสูบ

ไม่ว่าคัดค้านตามรัฐธรรมนูญ โดยใช้กระบวนการของสภา หรือประท้วงตามท้องถนน

นับจากบรรทัดนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" สังเคราะห์แนวรุก-แนวรบ-แนวถอย ของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ต่อกรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม



เพื่อไทย เดินหน้า "ครึ่งซอย" ล้างภาพช่วย "ทักษิณ"

จากประชาชาติธุรกิจออนไลน์
 
 
 
เมื่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แทนที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความปรองดอง ปลดเงื่อนไขความขัดแย้งด้วยการปล่อยนักโทษการเมืองที่ยังถูกคุมขังอยู่ในคุก ตามที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คาดหมายไว้ แต่กลับเพิ่มอุณหภูมิการเมืองให้ร้อนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
ฟากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านตั้งป้อมรุมถล่ม โดยระบุว่าเป็นกฎหมายที่ลบล้างความผิดคดีอาญา ยกโทษแบบเหมาเข่ง

หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านขั้นรับหลักการวาระที่ 1 สู่การแปรญัตติ พรรคเพื่อไทยอาจลวงพราง นำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติที่ค้างสภาอยู่ 4 ฉบับ มาสอดไส้ เพื่อล้างผิดความผิดให้แก่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี

แต่ "จาตุรนต์ ฉายแสง" รมว.ศึกษาธิการ และ 1 ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย สะท้อนเจตนาการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่มีสอดไส้ปรองดอง

"สถานการณ์เป็นอย่างไร คนเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร สามารถไปดูได้จากการจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ฉบับของ พล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคมาตุภูมิ) ก็เห็นแล้วว่านำไปสู่อะไร"

"แต่พอมาปัจจุบัน คนก็เกรงว่าถ้าเอามาผสมกัน หรือมาพิจารณาพร้อมกันก็อาจมีผลกระทบกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปด้วย ดังนั้น ในขั้นต้นก็คือ ผู้ที่อยากเห็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้รับการพิจารณา ก็อยากให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปก่อน ส่วนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯไม่เอามารวมกัน"

ที่ไม่นำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯมารวมกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่แค่สถานการณ์ที่ไม่เหมาะ แต่ "จาตุรนต์" บอกว่า แม้แต่เนื้อหากฎหมายปรองดองก็ไม่เหมาะสมในเวลานี้

"สถานการณ์เหมาะหรือไม่เหมาะ ถ้าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่มีเนื้อหากว้างกว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประชาชนก็ต้องดูความเหมาะสมของสถานการณ์ แต่ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯมีเนื้อหาที่ควรจะนำมาใช้หรือไม่ ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะความเหมาะสมกับสถานการณ์ แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายต่าง ๆ มีความเห็นตรงกัน หรือสอดคล้องกันหรือไม่ กรณีการนิรโทษกรรมแกนนำและผู้สั่งการ ยังมีผู้ไม่เห็นด้วยอยู่มาก โดยเฉพาะไม่เห็นด้วยทีแกนนำและผู้สั่งการทั้งหลายไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม เท่ากับทำให้ผู้ที่สูญเสียไม่ได้รับความยุติธรรม"

ทางออกที่พรรคเพื่อไทยต้องดิ้นให้พ้นจากข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน "จาตุรนต์" บอกว่า มีทางเดียวเท่านั้นคืออธิบายให้ชัดเจน

"อธิบายให้ดี ก็น่าจะสามารถหยิบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาได้ แล้วถ้าได้พิจารณาก็น่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากสภา สามารถนำมาบังคับใช้ได้ แต่ถ้าปล่อยให้สถานการณ์คลุมเครือแล้วถูกกล่าวหาไปต่าง ๆ นานา โดยไม่สามารถชี้แจงได้ ก็อาจทำให้มีแรงต่อต้านมากขึ้น"

แต่วันนี้...เมื่อพรรคเพื่อไทยยังติดหล่มกับดัก "วาทกรรม" ของพรรคประชาธิปัตย์ เช่น ข้อกล่าวหาว่าเตรียมสับขาหลอกผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าพิจารณาในสภาทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภา 1 สิงหาคมนี้ "อุดมเดช รัตนเสถียร" ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลยืนยันว่า ไม่มีฝ่ายค้าน จินตนาการไปเองทั้งนั้น เป็นการสร้างกระแสให้คนตกใจ

ด้าน "สมคิด เชื้อคง" ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย 1 ในแกนนำผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภา โต้แย้งคำค้านของพรรคประชาธิปัตย์ว่า พรรคเพื่อไทยจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามปฏิทินเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ทั้ง "อุดมเดช" และ "สมคิด" พูดในทำนองเดียวกันว่า พรรคเพื่อไทยไม่สามารถสับขาหลอกเอาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ หรือกฎหมายฉบับอื่นมาผสมกันเพื่อช่วยแกนนำ รวมไปถึงช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิดในขั้นแปรญัตติของกรรมาธิการวิสามัญได้ เพราะ "ขัดหลักการ" ที่เสนอกฎหมายในขั้นตอนวาระ 1

"สมคิด" กล่าวว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยจะรวมกฎหมายอื่น ก็ต้องรวมตั้งแต่ขั้นรับหลักการเท่านั้น ถ้าวันรับหลักมีการสอดไส้กฎหมายอื่น พรรคฝ่ายค้านก็อภิปรายทักท้วงได้อยู่แล้ว

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยเชื่อว่า ในการยกมือโหวต พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวาระที่ 1 จะได้เกือบ 300 เสียง ทั้งนี้ เมื่อบวกกับเสียงของพรรคเล็ก อาทิ พรรครักประเทศไทย 2 เสียง กลุ่มมัชฌิมาธิปไตย 7 เสียง และยังเคยขอความร่วมมือจาก "พล.อ.สนธิ" ซึ่งน่าจะได้อีก 1 เสียง

อย่างไรก็ตาม หลังจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านชั้นรับหลักการแล้ว จะเข้าสู่การแปรญัตติในคณะกรรมาธิการวิสามัญพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งแกนนำเสื้อแดงบางส่วนอาจสละโควตาตนเอง โดยเชิญคนนอกเข้ามาร่วม โดยเฉพาะเสื้อแดง-เสื้อเหลือง เป็นกรรมาธิการ เพื่อลดกระแส-แรงต้านทั้งใน นอกสภา ฉายภาพให้เห็นว่าเป็นกฎหมายเพื่อช่วยเหลือคนทุกกลุ่ม มิได้ช่วย "พ.ต.ท.ทักษิณ"

จึงประเมินว่า กลุ่มต่าง ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านไม่มีพลัง เป็นเพียงการปั่นกระแส ให้คนมาร่วมชุมนุมเท่านั้น

นาทีนี้ "พลพรรคสีแดง" ไม่มีทางถอย มีแต่รุกนิรโทษกรรมแค่ "กลางซอย" เพื่อต่อยอดสู่การล้างผิด "สุดซอย" ในวาระหน้า


ปชป.ปลุกม็อบริมถนน ชู "อียิปต์โมเดล" ค้านรัฐบาล
จากประชาชาติธุรกิจออนไลน์
 
เพราะรู้ว่าสถานะตกเป็นรองฝ่ายตรงข้าม พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะเสียงข้างน้อยจึงต้องดึงแนวรบร่วมต่อสู้ริมถนนแบบคู่ขนานกับบทฝ่ายค้านในรัฐสภา
เปลี่ยนบรรยากาศบน "เวทีผ่าความจริง" จากที่เคยใช้เป็นพื้นที่ชี้แจง-อธิบายท่าทีของรัฐบาลในทุกจังหวะก้าว สู่เวทีไฮด์ปาร์กเพื่อปลุกขวัญกำลังใจผู้รักความเป็นธรรมให้ร่วมต่อสู้

"เวทีผ่าความจริง" จากที่เคยจัดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จึงเพิ่มปริมาณความถี่ เพื่อคัดค้านอย่างต่อเนื่องในศึกที่คาดว่าจะยืดเยื้อในสภาตามแนวคิดของ "สาธิต วงศ์หนองเตย" ส.ส.ตรัง

วินาทีหลังจากนี้การเมืองริมถนนของฝ่าย ปชป. จะเข้มข้นดุเดือดแปรผันตรงกับการเคลื่อนไหวของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจากฝ่ายรัฐบาล 31 ก.ค. ก่อนสภาเปิดสมัยประชุมหนึ่งวัน จะเอาฤกษ์เอาชัย ณ พื้นที่สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี และต่อเนื่องในวันที่ 4-6 ส.ค. จัดเวทีกระจายตามหัวเมืองหลัก โหมโรงก่อนที่สภาจะเริ่มพิจารณาระเบียบวาระที่ 1 เรื่องนิรโทษกรรมในวันที่ 7 ส.ค.

"ต่อจากนี้ขอนัดหมายให้พี่น้องผู้รักความเป็นธรรม รักความจริง พี่น้องที่อยู่ต่างจังหวัดจัดกระเป๋าเข้าเมืองมาได้แล้ว" เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของ "สาธิต" บนเวทีผ่าความจริงเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

2 ยุทธศาสตร์ที่ถูกเลือกใช้ในการต่อต้านครั้งนี้ถูกคัดกรอง-คัดลอกตาม "อียิปต์โมเดล" ที่เพิ่งผ่านพ้นความสำเร็จในการปฏิวัติอำนาจเผด็จการ หลังจากมวลชนเคลื่อนไหวผ่าน "อาหรับสปริง" สู่การเมืองเมื่อ 2 ปีก่อน

หนึ่ง ปลุกระดมประชาชน โพสต์รูปผ่านโลกออนไลน์ เขียนป้ายประท้วง ระบุข้อความ "เราไม่เอากฎหมายล้างผิดคนโกง"

สอง นัดรวมพลกันริมถนน ยืนประท้วงแบบอารยะขัดขืน เพื่อแสดงพลังของประชาชนในการต่อต้านกระบวนการทั้งปวง

"สถานการณ์ไทยวันนี้มันคล้ายกัน พ.ต.ท.ทักษิณและพวก ใช้เครือข่ายอำนาจรัฐ นักวิชาการ สื่อ และนักการเมืองที่เป็นขี้ข้า ข่มขู่เราทุกวัน ถ้าวันที่ 4-7 ส.ค.ไม่มีคนออกมาร่วมต่อต้าน จำไว้เลยนั่นคือจุดหายนะของคนไทยทั้งประเทศ"

สอดคล้องกับแนวคิดของหัวหน้าพรรค-ผู้นำฝ่ายค้านอย่าง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"ที่เล็งเห็นแต่แรกว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ค้างอยู่ในสภา ไม่ว่าจะฉบับไหน ต่างก็มีจุดหมายปลายทางเพื่อช่วย "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" กลับบ้านเช่นเดียวกัน

"ผมยังยืนยันว่า จะทำอะไรหลังจากนี้ต้องไม่เสียหลักการของบ้านเมือง ต้องอดทน สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือการยั่วยุให้เกิดความสูญเสีย เราต้องตั้งสติให้ดี แต่จุดยืนพวกผมยังชัดเจนว่า จะไม่สร้างความวุ่นวาย ไม่ได้มาไล่รัฐบาลหรือนายกฯ แต่เราจัดต่อต้านการกระทำที่ไม่ชอบธรรม"

"ผมเคารพความคิดของกลุ่มอิสระทุกกลุ่ม แต่เราต้องเคารพความเป็นเอกภาพงานถึงจะสำเร็จ พวกผมจะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ขอให้เริ่มต้นขบวนการอย่างเป็นเอกภาพ และเดินไปข้างหน้าอย่างมีพลัง"

"เราไม่ต้องการสร้างความรุนแรง นี่ไม่ใช่เรื่องอารมณ์ แต่นี่เป็นเรื่องการแสดงออกถึงพลังพี่น้องประชาชนที่รักชาติ ว่าเราพร้อมที่จะปกป้องผลประโยชน์ ในเมื่อสถานการณ์บีบให้เราทำเช่นนั้น"

เช่นเดียวกันกับ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ส.ส.สุราษฎร์ธานี ที่ประกาศลั่นว่า ทันทีที่เสียงนกหวีดของประชาชนดังขึ้น เขาจะออกมายืนอยู่แถวหน้า เพื่อร่วมต่อสู้กับประชาชน

"ตอนนี้ไม่มีที่ตรงกลางให้ยืน มีแต่จะเลือกว่าจะยืนอยู่ข้างนี้ หรือจะไปยืนอยู่อีกข้างเท่านั้น ไม่มีที่ไหนในโลกที่อาชญากรฆ่าคน คนวางเพลิง ลักทรัพย์คนอื่น แล้วไม่ต้องรับผิด แต่มันกำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยกฎหมายล้างผิดที่รัฐบาลกำลังจะเข็นให้ผ่านสภาให้ได้"

"สุเทพ" บอกว่า จากประสบการณ์การเมือง 35 ปี ยังเคารพหลักประชาธิปไตย และไม่มีความคิดล้มล้างรัฐบาล แต่ครั้งนี้คือการต่อสู้เพื่อปกป้องไม่ให้อำนาจของประชาชนถูกใช้ในทางที่ผิด

"เราต้องลุกขึ้นมาแสดงพลังเพื่อให้รัฐบาลได้คิด แต่ถ้ายังดื้อยังจะออกกฎหมายล้างผิดพวกตัวเอง ยืนยันว่าจะสู้ จะต่อต้าน แต่เราจะใช้สมองใช้หัวใจ ไม่ใช่พวกอันธพาล ไม่ใช่อาชญากรอย่างพวกมัน แต่เราจะลุกขึ้นมาแสดงพลังของเรา"

"นี่คือสิ่งที่กราบเรียนให้ชัดเจน บอกกับพี่น้องว่า ประเทศไทยไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของตระกูลชินวัตร การที่ลุกขึ้นต่อสู้ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เราจะต่อสู้เพื่อประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา"

ทั้งคำพูดของ "อภิสิทธิ์" ทั้งคำพูดของ "สุเทพ" และคำพูดของ "สาธิต"ล้วนเป็นการปลุก "พลพรรคสีฟ้า" ขึ้นมาต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

ทั้งหมดเป็นแผนรบเพื่อรุกต้านรัฐบาล ที่พรรคประชาธิปัตย์ เชื่อมั่นว่าจะสามารถฉุดร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้สะดุด

บทสรุปจะเป็นเช่นไรโปรดติดตามตอนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น