Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาธิปไตยนิยาม

นิธิ เอียวศรีวงศ์



นิยามประชาธิปไตยที่แพร่หลายที่สุดในประเทศไทย คงจะเป็นของประธานาธิบดีลิงคอล์นที่ว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

แต่ที่จริงแล้ว นี่เป็นนิยามที่หละหลวมจนหาความหมายอะไรไม่ได้เอาเลย กระทั่งแค่เอากระดิ่งไปแขวนปากประตูไว้ใบเดียว หรือสั่งลูกน้องว่า หากกูชักดาบมึงต้องห้ามกูนะเฟ้ย ก็กลายเป็นประชาธิปไตยไปแล้ว

ความคลุมเครือไม่ชัดเจนว่าประชาธิปไตยคืออะไรนี้ ทำให้เผด็จการทั่วโลก โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พากันอ้างระบอบอำนาจนิยมของตนว่าเป็นประชาธิปไตยกันหมด อย่างน้อยก็โดย "จิตวิญญาณ"

ในเมืองไทย แม้แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยังอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยยิ่งเสียกว่าประชาธิปไตยที่ใช้กันอยู่ในสมัยหลัง หรือรัฐประหารโดยกองทัพก็อ้างว่าเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือปกป้องประชาธิปไตย

แล้วจะเหลือระบอบปกครองอะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่อีกเล่าครับ



แนวทางนิยามประชาธิปไตยในฐานะระบอบปกครองนั้นอาจแบ่งออกได้เป็นสามแนวทาง หนึ่งคือที่มาของอำนาจอาญาสิทธิ์ในรัฐนั้นๆ สองคือจุดมุ่งหมายของการปกครอง และสามคือกระบวนการในการจัดตั้งอำนาจรัฐ(บาล)

ทั้งสามแนวทางนี้มีอะไรเกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง แต่ถ้าเราต้องการแยกระบอบปกครองประชาธิปไตยออกจากระบอบปกครองอื่นอย่างชัดเจน ก็ต้องมองหาเงื่อนไขอะไรที่ระบอบปกครองอื่นไม่สามารถมีได้ นั้นคือแนวทางที่สาม ได้แก่กระบวนการในการจัดตั้งอำนาจรัฐ(บาล)

กระบวนการดังกล่าวนั้นประกอบด้วยการกระทำหลายอย่าง (ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า) แต่ในบรรดาการกระทำหลายอย่างนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการเลือกตั้ง (ที่เสรีและเป็นผลโดยตรงต่อการจัดตั้งอำนาจรัฐ) แม้ว่าการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในระบอบปกครองประชาธิปไตย

แต่แนวทางนี้กลับเป็นแนวทางการนิยามที่ปัญญาชนไทยส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ กลับไปเน้นแนวทางที่หนึ่งและสองมากกว่า แนวทางที่หนึ่งและสองนั้นก็ดีอยู่หรอกครับ แต่ถูกเบี้ยวโดยจับเอาระบอบปกครองอื่นๆ เข้ามาอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยได้ง่าย

และปัญญาชนไทยจำนวนไม่น้อยก็มักทำอย่างนั้นอยู่เป็นประจำด้วย

เช่น ระบอบปกครองไทยโบราณก็เป็นประชาธิปไตย เพราะที่มาของพระราชอำนาจนั้นคือประชาชน โดยอ้างอัคคัญสูตรในพระไตรปิฎก และ/หรืออ้างหลักการ "อเนกนิกรสโมสรสมมติ"

แต่ทั้งพระสูตรและหลักการดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงการจำลองภาพอุดมคติ เพื่อสะดวกในการอธิบายเท่านั้น อย่างเดียวกับ "รัฐธรรมชาติ" ของฝรั่ง ซึ่งไม่มีจริงและไม่เคยมีจริงในโลก สร้างขึ้นเพื่ออธิบายเรื่องสิทธิและการสละสิทธิบางส่วนเพื่อผดุงสิทธิเสรีภาพหลักเอาไว้เท่านั้น

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ไม่เคยมีการสร้างกระบวนการขึ้นมารองรับหลักอัคคัญสูตรหรือ "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" เลย

ผมคงต้องอธิบายหลักทั้งสองอย่างคร่าวๆ ไว้ด้วย



อัคคัญสูตรอ้างว่ากิเลสของมนุษย์คือโลภ โกรธ หลง ทำให้มนุษย์สั่งสมทรัพยากรธรรมชาติไว้เป็นของตนเองแต่ผู้เดียว จึงเกิดความไร้ระเบียบขึ้นในสังคมขนานใหญ่ จนในที่สุดจึงต้อง "เลือก" คนดี (พระโพธิสัตว์) ขึ้นมาเป็นพระราชา (ผู้ยังให้เกิดความยินดีแก่หมู่ชน) เพื่อรักษาฟื้นฟูระเบียบของโลกกลับคืนมาใหม่

แน่นอน เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง (จากหลักฐานโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่พอหาได้) แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า ผู้ปกครองไทยไม่เคยพยายามสร้างกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนได้เลือกผู้นำของตนเลย ผู้นำคือเชื้อสายของผู้นำ หรือถ้าเป็นคนอื่น ก็คือคนที่มีอำนาจดิบสูงสุด ยิ่งมาในสมัยหลังเมื่อสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นแล้ว ผู้ปกครองก็ยิ่งเน้นสิทธิโดยกำเนิดของ "สุขุมาลชาติ" หรือผู้มีกำเนิดสูง แม้แต่พวกขาใหญ่ทั้งหลายที่เคยมีส่วนเลือกรัชทายาทก็ไม่มีส่วนไปหมด

อย่าว่าแต่เลือกพระราชาเลยครับ เลือกนายอำเภอ, ศึกษาอำเภอ, สาธารณสุขอำเภอ, ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาโดยตรง ประชาชนยังเลือกไม่ได้เลย บัดนี้ทำท่าว่าจะเลือกกำนันก็ไม่ได้เสียแล้ว



ส่วนหลัก "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" ฟังดูเหมือนให้ประชาชนหลากหลายกลุ่ม (อเนกนิกร) "สมมติ" ใครก็ได้ขึ้นเป็นพระราชา ก็เป็นเพียงชื่อหรูๆ ที่ไม่เคยมีการปฏิบัติสักครั้ง

การประชุมเพื่อหารัชทายาทเกิดขึ้นจริง ในรัชกาลที่ไม่อาจหนุนให้โอรสองค์ใดองค์หนึ่งสั่งสมกำลังไว้ให้สูงสุดได้ เมื่อสิ้นรัชกาลจึงต้องประชุมตกลงกันในหมู่ "ขาใหญ่" ทั้งหลาย นับตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง, ขุนนางชั้นสูง และพระภิกษุชั้นสูง แต่ไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเป็นตัวแทนของประชาชนสักคนเดียว "นิกร" ที่ได้มาประชุมกัน จึงไม่ได้ "อเนก" ตรงไหน เป็นเพียง "ขาใหญ่" จำนวนน้อยเท่านั้น

ซ้ำในการประชุมก็รู้ๆ กันอยู่ว่าใครพวกมากกำลังมาก คนอื่นก็ได้แต่เออออห่อหมกกับคนนั้น นี่คือเหตุผลที่ขุนนางสกุลบุนนากสามารถตั้งพระเจ้าแผ่นดินได้สามรัชกาลต่อกัน คือ ร.3, ร.4 และ ร.5

คนที่อยู่ในข่ายให้เลือกก็ไม่ใช่ใครที่ไหนก็ได้ จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น แม้มีจำนวนมาก แต่พันธะหลักของเขาเหล่านั้นคือพระราชวงศ์ (ซึ่งทำให้เขาอยู่ในข่ายถูกเลือก) ไม่ใช่ประชาชน



แนวทางการหาแหล่งที่มาของอำนาจอาญาสิทธิ์เช่นนี้ยังเปิดช่องให้เบี้ยวได้อีกหลายทาง เช่น ในอัคคัญสูตรก็เหลือเชื้อให้เบี้ยวเอาไว้ คือพระมหาสมมติราชที่ถูกเลือกนั้น เป็นคนดีมีศีลธรรม (ก็เป็นพระโพธิสัตว์) จึงได้รับเลือกให้เป็นราชา

หลักการข้อนี้เป็นที่มาอย่างหนึ่งของทฤษฎีธรรมราชา พูดอีกอย่างหนึ่งคือแหล่งที่มาของอำนาจอาญาสิทธิ์ในรัฐคือธรรมะ ประชาธิปไตยกลับต้องมานิยามกันว่าอะไรคือธรรมะ (อันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับโลกุตตรธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน) ที่น่าอัศจรรย์คือ คนที่อ้างตัวว่าเป็นธรรมราชานั่นแหละเป็นคนนิยามเอง หรือให้ลิ่วล้อช่วยนิยามตามแนวของตัว แล้วก็ปิดปากคนอื่นด้วยมะพร้าวห้าวบ้าง กฎหมายปิดปากอย่างอื่นบ้าง

ธรรมราชาจึงกลายเป็นประชาธิปไตยในทัศนะของปัญญาชนไทยไปอย่างมหัศจรรย์พันลึก เพราะเป็น "การปกครองของประชาชน"

แนวทางนิยามประชาธิปไตยอย่างที่สองซึ่งปัญญาชนไทยนิยมก็คือ เป้าหมายของรัฐ(บาล) ในการปกครอง ถ้าทำดีจนประชาชนชอบ ก็ถือว่านั่นคือประชาธิปไตยแล้ว เช่น พัฒนาเศรษฐกิจ, ปราบศัตรูของชาติ, ปราบยาเสพติด จนกระทั่งตัวเลขจีดีพีกลายเป็นดัชนีวัดความเป็นประชาธิปไตยไปก็ได้

อันที่จริง สมรรถภาพและประสิทธิภาพในการปกครองย่อมมีความสำคัญแก่รัฐบาลของทุกระบอบ รัฐบาลที่ไร้สมรรถภาพและประสิทธิภาพย่อมอยู่ไม่ได้ รวมทั้งรัฐบาลของระบอบประชาธิปไตยด้วย แต่ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่รัฐบาลถูกล้มได้ โดยระบอบไม่ถูกล้มตามไปด้วย



ผมขอออกนอกเรื่องตรงนี้หน่อยนะครับ รัฐบาลอำนาจนิยมทุกแห่งนั้น เมื่อถูกล้มเพราะไร้สมรรถภาพและประสิทธิภาพ มีความเป็นไปได้สูงมากที่ตัวระบอบเผด็จการมักถูกล้มไปด้วย (จากระบอบ ถนอม-ประภาส กลายเป็นประชาธิปไตยจากระบอบ ธานินทร์ กรัยวิเชียร กลายเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ จาก รสช. กลายเป็นประชาธิปไตย 2540) มีเผด็จการบางประเทศที่พยายามแก้ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของระบอบปกครอง เช่น บราซิลและเม็กซิโก สมัยที่ยังอยู่ภายใต้เผด็จการมาอย่างยาวนาน นั่นคือมีกฎข้อบังคับว่าผู้เผด็จการจะสืบทอดตำแหน่งไม่ได้ พ้นวาระแล้ว ต้องให้ทหารคนอื่นหรือเผด็จการพลเรือนคนอื่นขึ้นมาเป็นแทน ตัวระบอบเผด็จการยังอยู่ แต่ตัวผู้นำเปลี่ยนไปได้มาอย่างสืบเนื่องยาวนาน

การมีรัฐบาลที่มีสมรรถภาพและประสิทธิภาพนั้นดีแน่ แต่ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตย ร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ รัฐบาลในทุกระบอบล้วนอ้างว่าตัวมีสมรรถภาพและประสิทธิภาพทั้งนั้น แต่ในระบอบประชาธิปไตย คนอื่นค้านได้ว่าไม่จริง ส่วนในระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ ค้านไม่ได้ โทษอาจถึงตายทีเดียว

อย่างที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์โดนอยู่เวลานี้ มากเสียยิ่งกว่ารัฐบาลเผด็จการทุกชุดของไทยเคยโดนมาแล้ว

เพราะปัญญาชนไทยมองผลของการปกครองมากกว่ากระบวนการ มหาราชของไทยทุกพระองค์จึงกลายเป็นนักประชาธิปไตยไปหมด โดยเฉพาะ ร.5 ผู้ทรงสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น

ตลกดีนะครับ อดีตปัญญาชนท่านหนึ่งถึงกับประกาศว่า ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราเป็นประชาธิปไตยเสียยิ่งกว่าหลังการปฏิวัติสยาม ถือว่าเป็นการปกครอง "เพื่อประชาชน" ไงครับ



แนวทางที่สาม ซึ่งนิยามประชาธิปไตยได้ชัดเจนที่สุดคือกระบวนการที่จะได้มาซึ่งอำนาจรัฐ นักวิชาการให้ความสำคัญแก่การเลือกตั้ง (เช่น Samuel Huntington ใน The Third Wave เพราะต้องการเงื่อนไขตายตัวบางอย่างในการวิเคราะห์การแพร่หลายของประชาธิปไตยในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20) แต่ผมอยากแปลงให้กว้างขึ้นว่า กระบวนการที่กระจายอำนาจต่อรองออกไปยังคนทุกกลุ่มในสังคม

แน่นอนครับว่า การเลือกตั้ง (ที่เสรี, ให้สิทธิแก่ทุกคนเท่ากัน, เป็นผลให้ได้อำนาจรัฐระดับหนึ่ง) ย่อมเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการต่อรองของคนทุกกลุ่ม

และแน่นอนครับว่า เลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอที่จะทำให้เกิดการต่อรองได้อย่างเท่าเทียมกันจริง ต้องมีอย่างอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น สื่อที่เสรีและมีกึ๋นมากกว่าที่เรามีอยู่เวลานี้ เสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเคลื่อนไหวทางการเมือง, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่มาจากการวิจัยซึ่งมีโอกาสเผยแพร่อย่างเท่าเทียมกัน พื้นที่สาธารณะซึ่งทุกคนเข้าถึงได้อย่างเสรีและสะดวก ฯลฯ สรุปคือเครื่องมือทางสังคม

ผมไม่ปฏิเสธว่า เครื่องมือทางสังคมที่เรามีอยู่เวลานี้ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะยกเลิกการเลือกตั้ง เพราะในระบอบที่ไม่มีการเลือกตั้ง ก็ไม่เคยเห็นมีใครผลักดันเครื่องมือต่อรองเหล่านั้นสักรายเดียว ซ้ำร้ายยังอาจขัดขวางเสียอีก

หรือแม้ในระบอบที่มีการเลือกตั้ง ก็ใช่ว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งส่งเสริมให้เครื่องมือเหล่านี้เข้มแข็งขึ้น เครื่องมือเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องสร้างเอาเองครับ และในบรรยากาศแบบไหนกันแน่ที่สังคมจะมีศักยภาพสร้างเครื่องมือเหล่านี้เองได้ดีกว่า ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ หรือเผด็จการทหาร

ผมคิดว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยเวลานี้ มาจากการนิยามที่ไม่ชัดเจนของประชาธิปไตยนี่แหละครับ ใครใกล้ชิดปัญญาชนมากกว่า ก็นิยามแบบปัญญาชนคือแนวทางที่มาของอำนาจและอาญาสิทธิ์ และแนวทางเป้าหมายของการปกครอง ใครอยู่ห่างๆ ปัญญาชนไทยได้ ก็จะนิยามประชาธิปไตยที่กระบวนการที่จะได้มาซึ่งอำนาจหรือกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อรองที่เท่าเทียมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น