Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แนวต้านนิรโทษยี่ห้อ "ประชาธิปัตย์" 4 ขั้น 2 ดาบอันตราย สูตร "ค้านสุดซอย" !!

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



ไม่เกินความคาดหมายสำหรับคอการเมืองนัก เมื่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ผ่านพิจารณาวาระที่ 1 เป็นที่เรียบร้อย

ฝ่ายสนับสนุน-คนเสื้อแดง ยังมั่นใจว่ากำหนดการของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมยังคงเป็นไปตามเดิม คือ ประกาศเป็นข่าวดีให้กับประชาชนช่วงปีใหม่ต้นปี 2557

ด้านฝ่ายค้าน-แนวต้านจากมวลชนและพรรคการเมือง ย่อมทำทุกวิถีทาง หยุดไม่ให้ร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาได้อย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ตัดสินใจใช้ยุทธวิธียื้อ แย่ง เบรกทุกช่องทาง และเลือกใช้กระบวนการทั้งใน-นอกสภาไปพร้อมกัน

นอกสภา ปรากฏภาพ ส.ส.ทั้งพรรคเคลื่อนขบวนมวลชนให้มวลชนเดินทางมาส่งเข้าสู่สภาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม

แม้จะไม่เกิดการเผชิญหน้าระหว่าง "มวลชน-เจ้าหน้าที่" ตามที่บางฝ่ายวิเคราะห์ แต่ก็เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อแสดงศักยภาพของกองกำลังผู้ไม่เอากฎหมายล้างผิด ตามที่เหล่าแกนนำพรรคประเมินไว้ก่อนหน้านี้

ขณะที่ในสภา ไฮไลต์มิได้อยู่ที่เนื้อหา-สาระในการอภิปราย แต่กลับปรากฏยุทธการ "ค้านสุดซอย" ตามสไตล์ ปชป. ที่ใช้รูปแบบการค้าน 4 ขั้นตอน ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามปกติ

หนึ่ง ทันทีที่สภาเปิดการประชุม 13.00 น. พลพรรค ปชป.ก็ลุกขึ้นประท้วงทันที โดยเรียกร้อง "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานสภา แจงเหตุผลว่า ทำไมถึงไม่มีการถ่ายทอดสดการประชุมในวาระดังกล่าว

หลังจากผลัดกันประท้วงกว่า 2 ชั่วโมง ปชป.ก็ส่งสัญญาณเดินหน้าขั้นตอนที่สอง โดย "ประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ" ส.ส.ยะลา อาศัยข้อบังคับการประชุมที่ 46 เสนอญัตติให้สภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินแทน

ทำให้ ส.ส.ทั้ง 2 ขั้วลุกขึ้นประท้วงกันอย่างหนัก กระทั่งประธานต้องตัดสินใจสั่งพักการประชุม ก่อน "สมศักดิ์" วินิจฉัยญัตติดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ เพราะสภาได้เริ่มต้นพิจารณาหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปเรียบร้อยแล้ว

และยังไม่ทันได้หายใจหายคอ มวลชนพรรคสีฟ้าก็ง้างดาบเดินหน้าขั้นตอนที่ 3 ทันที โดยดึงเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าข่าย พ.ร.บ.การเงิน ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบและการรับรองจากนายกรัฐมนตรี

เป็นลีลา-หนังซ้ำ ครั้งที่สภาขนร่างกฎหมายปรองดองเข้ามาพิจารณาเมื่อปีก่อน โดยฝั่ง ส.ส.เพื่อไทยต่างก็ลุกขึ้นโต้ตอบเช่นเคยว่า กรรมาธิการได้ตีความแล้วว่า วาระนี้ไม่เข้าข่ายกฎหมายการเงิน

จากนั้นไฮไลต์เด็ดในขั้นตอนที่สี่ ก็ปรากฏทันทีที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ลุกขึ้นขอใช้สิทธิ์ตามข้อบังคับการประชุมข้อ 47 (5) เพื่อเสนอขอเลื่อนญัตติ โดยแลกกับเงื่อนไขพิเศษที่จะยอมเดินทางไปเจรจาหาทางออกกับ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีในทันที

"ผมขอให้ท่านนายกฯลุกขึ้นยืนขอร้องสมาชิกพรรคเพื่อไทยให้เลื่อนกฎหมายนี้ออกไปก่อน จะได้มาคุยกันเรื่องอนาคตประเทศ หากนายกฯสนับสนุน พรุ่งนี้ผมจะไปร่วมพูดคุยหาทางออกประเทศทันที"

สุดท้ายสภาต้องตัดสินด้วยการลงมติ ที่แน่นอนว่า ส.ส.เสียงข้างมากยังคงมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ไม่เลื่อนถกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเดินหน้าพิจารณาหน้าต่อทันที

กระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงคิว "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ประธานวิปฝ่ายค้าน ลุกขึ้นอภิปรายตามวาระเป็นคนแรก ซึ่งเริ่มต้นกระบวนการเมื่อเวลา 20.00 น.

ถือเป็นการลากเกม "ค้านสุดซอย" กินเวลายาวนานกว่า 7 ชั่วโมงเต็ม เพื่อขวางลำไม่ให้ร่างกฎหมายเข้าสู่ลำดับการพิจารณาตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ "เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์" ต่างผลัดกันรุกรับกินเวลายาวนาน 16 ชั่วโมง ก็เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ สภามีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 300 เสียง ไม่รับหลักการ 124 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุมรวม 440 คน

และการแพ้โหวตในสภายุคนี้ เป็นสิ่งที่ ปชป.รู้ดีว่าจะไม่มีทาง และเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาชนะจำนวนมือของ ส.ส.เพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านยังยืนยันที่จะเดินหน้าใช้ยุทธวิธี "ค้านสุดซอย"ต่อไปตามแผนการรุกที่วางไว้ ไม่ว่าสภาจะหยิบร่างกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาในวาระใดหลังจากนี้ก็ตาม

เพราะรู้ดีว่า 2 ดาบสุดท้ายที่ยังไม่ได้หยิบออกมาใช้สำคัญที่สุด ซึ่งต้องรอเวลาให้สภามีพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านทั้ง 3 วาระเสียก่อน

ดาบที่หนึ่ง ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ปชป.ก็เตรียมข้อมูลพร้อมที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ดาบที่สอง ณ เวลานี้กำหนดการยังเป็นไปตามเดิม ตามที่ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ส.ส.สุราษฎร์ธานี ประกาศลั่นกลางเวทีไว้ก่อนหน้านี้ว่า "หาก ปชป.รั้งกฎหมายไม่ได้ทั้ง 3 วาระ ก็พร้อมที่จะออกยืนแถวหน้ากับประชาชนทันที"

เป็น 2 ดาบอันตรายที่ ปชป.เชื่อว่า จะมีพลานุภาพรุนแรงสูสีกระบวนการในสภาที่มีเงื่อนไขแพ้-ชนะอยู่ที่จำนวนมือ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ

ฉะนั้น ยุทธการ "ค้านสุดซอย" ในห้วงเวลาของสภา อาจกลายเป็นการโหมไฟเข้ากองฟืนอีกครั้ง

เพื่อสร้างเงื่อนไข-เหตุผลในการ กระตุ้นมวลชนให้ออกมารวมตัวตามเสียงนกหวีดของ "สุเทพ" อีกครั้งหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น