Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ถึงเวลา “ปฏิรูป” การจัดหาอาวุธของกองทัพแล้วหรือยัง? (ตอนที่ 1)

Hesse004
จาก Thai Publica



เมื่อไม่กี่สัปดาที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่เรื่องจะปลดระวาง “เรือเหาะตรวจการณ์” ที่กองทัพบกเพิ่งซื้อมาเมื่อปี 2552 หลังจากที่เรือเหาะเจ้าปัญหาลำนี้ไม่สามารถ “บิน” ปฏิบัติหน้าที่ได้ “คุ้มค่า” กับงบประมาณ 350 ล้านบาท ที่กองทัพต้องเสียไป

อย่างไรก็ตาม วันรุ่งขึ้นโฆษกกองทัพบกต้องออกมา “แก้ข่าว” และชี้แจงว่ากองทัพไม่มีแผนจำหน่ายเรือเหาะและยังคงใช้งานเรือลำนี้ต่อไป แม้ว่าปลายปีที่แล้วเรือจะได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุขณะกำลังลงจอดบนรันเวย์ ทำให้กองทัพบกต้องเสียงบประมาณซ่อมอีก 50 ล้านบาท!

….เวรกรรมจริงๆ…

กรณีเรือเหาะตรวจการณ์รุ่น Aeros 50D S/N 21 หรือ Sky Dragon ที่ใช้ในปฏิบัติการชายแดนใต้ ไม่ใช่กรณีแรกที่กองทัพบกต้องตอบคำถามเรื่อง “ความคุ้มค่า” ของงบประมาณจำนวนมากที่ใช้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับกิจการความมั่นคงของชาติ

เพราะก่อนหน้านี้ กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT 200 ที่เมื่อความจริงปรากฏกลับกลายเป็นเรื่อง “หลอกแดกแหกตา” กันระดับโลก เพราะไม่ใช่มีแค่กองทัพไทยเพียงแห่งเดียวที่ซื้อเจ้าเครื่องนี้จากบริษัทของนาย James McCormick แม้แต่กองกำลังของยูเอ็นก็ยังเสียท่าให้กับราชานักตุ๋นชาวอังกฤษรายนี้เหมือนกัน

หากอธิบายพฤติกรรมดังกล่าวในแง่วิชาการแล้ว ประเด็นความโปร่งใสและความคุ้มค่าในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ (Arm Procurement) ของกองทัพเป็นประเด็นที่น่าสนใจของนักวิชาการด้าน “คอร์รัปชันศึกษาและทุจริตวิทยา” และแม้ว่าการศึกษาเรื่องนี้จะเสี่ยงและอันตรายก็ตามที แต่ในแง่ความท้าทายแล้วการทำวิจัยเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเหล่านี้นับเป็นความท้าทายทางวิชาการอย่างยิ่ง เพราะนักวิจัยต้องค้นลึกลงไปใน “แดนสนธยา” ของทั้งกองทัพและธุรกิจค้าอาวุธซึ่งว่ากันว่ามีผลประโยชน์เบื้องหลังมากมายมหาศาล

ปัจจุบันการจัดการ “กองทัพสมัยใหม่” นั้น การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยและเพียงพอต่อความต้องการนับเป็นกิจกรรมสำคัญที่สุดของ “ยุทธศาสตร์การสะสมอาวุธ” ซึ่งพัฒนาแนวคิดมาตั้งแต่สมัย “สงครามเย็น” เนื่องจากกองทัพของแต่ละประเทศไม่ต้องการสูญเสียไพร่พลทางทหารเป็นจำนวนมากดังเช่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
 
ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาศักยภาพอาวุธจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะนอกจากจะสร้างประสิทธิภาพทางการรบแล้ว ยังประหยัดเวลาและต้นทุนของการทำสงครามอีกทางหนึ่งด้วย
หากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่อง Lord of War (2005) ของ Andrew Niccol (นำแสดงโดย Nicolas Cage) คงได้เห็นเบื้องหลังของสงครามในแต่ละสมรภูมิ ที่ตัวละครหลักประกอบด้วยพ่อค้าอาวุธและผู้นำเหล่าทัพ

Lord of War หนังที่สะท้อนธุรกิจการค้าอาวุธกับสงครามที่มาพร้อมกับความโลภ ของทั้งพ่อค้าอาวุธและขุนทหารผู้กระหายสงคราม ที่มาภาพ : http://iizitem.files.wordpress.com

Lord of War หนังที่สะท้อนธุรกิจการค้าอาวุธกับสงครามที่มาพร้อมกับความโลภของทั้งพ่อค้าอาวุธและขุนทหารผู้กระหายสงคราม
ที่มาภาพ: http://iizitem.files.wordpress.com

สำหรับ “พ่อค้าอาวุธ” แล้ว ที่ใดมีความขัดแย้ง ที่นั่นย่อมมี “สงคราม” …และที่ใดที่มีสงครามที่นั่นหมายถึงการเปิด “ตลาดการซื้อขายอาวุธ”
เช่นเดียวกับ “กองทัพ” … สงครามและความขัดแย้ง ได้สร้างภาพความเข้มแข็งให้กับกองทัพให้มีความโดดเด่นขึ้นมา

ขณะเดียวกัน สงครามได้กลายเป็น “เวทีแสวงหาประโยชน์” จากการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์โดยอาศัยเหตุผลเรื่อง “ความมั่นคง” มาเป็นเกราะกำบังความโลภและความกระหายสงครามของขุนทหาร

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพนับว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย อย่างที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมการผลิตและค้าอาวุธ รวมไปถึงกระบวนการจัดหาอาวุธแต่ละครั้ง มักปกปิดข้อมูลโดยอ้างเรื่องความมั่นคงทางการทหาร โดยจัดให้เป็น “ความลับ” ทางราชการอย่างหนึ่ง

หากมองในแง่ยุทธศาสตร์ทางการทหารแล้ว คงไม่มีกองทัพใดที่ต้องการเปิดเผยข้อมูลการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ตัวเองใช้ เพราะเปรียบเสมือน “แบไต๋” ให้กองทัพประเทศอื่นทราบศักยภาพในการทำสงคราม

อย่างไรก็ตาม กองทัพของแต่ละประเทศสามารถประเมินศักยภาพทางการทหารได้จากงบประมาณทางการทหารที่ใช้ (Military Expenditure) ซึ่งโดยทั่วไปคิดเทียบกับ GDP ของประเทศ

เพียงเท่านี้ก็รู้แล้วว่า กองทัพประเทศนั้นมีความสามารถในการรบมากน้อยแค่ไหน ขณะที่รายการจัดซื้ออาวุธตั้งแต่ปืนสั้นธรรมดาไปยันเครื่องบินรบก็สามารถ “เดา” ได้จากงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในกิจการความมั่นคงเช่นกัน

ทุกวันนี้การก่อสงครามล้วนแต่มี “ต้นทุน” ด้วยกันทั้งสิ้น แม้ว่าผลประโยชน์ที่ได้จะตกกับธุรกิจบางกลุ่ม เช่น กลุ่มพ่อค้าอาวุธ หรือ ธุรกิจค้าน้ำมัน (เช่น ในสงครามอิรัก) แต่ผู้ก่อสงครามเองก็จำเป็นต้องนึกถึงต้นทุนอย่างอื่นประกอบด้วย อาทิ ความผันผวนของเศรษฐกิจในยุคทุนนิยม โลกาภิวัตน์ ดังนั้น คงเป็นเรื่องยากที่เราจะได้เห็นการก่อสงครามใหญ่ๆ ขึ้นมาอีก ดังเช่น มหาสงครามโลก สงครามเวียดนาม หรือแม้แต่สงครามอ่าวเปอร์เซีย

ด้วยเหตุนี้ยุทธศาสตร์การสะสมอาวุธจึงมีเอาไว้แค่ “ขู่” มากกว่าที่จะคิดทำสงครามทำลายล้างกันจริง
แต่ก็น่าสนใจว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวทำให้เหล่าขุนทหารใช้เป็นข้ออ้างและช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวผ่าน “ส่วนเกินทางเศรษฐกิจ” ในรูปแบบต่างๆ เช่น รับเงินค่า Commission เพื่อแลกกับลายเซ็นในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการจัดหาอาวุธ

ในตอนหน้า เราจะมาทำความรู้จักกับ Stockholm International Peace Research Institute หรือ SIPRI ซึ่งเป็น NGO ระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและคอยติดตามความเคลื่อนไหวของงบประมาณรายจ่ายทางการทหารของกองทัพสมัยใหม่ รวมไปถึงแนวคิดเรื่องความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในกระบวนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น