'จารุพรรณ' ส่งจดหมายแจงสหประชาชาติ ชี้รายงาน คอป.ให้ความจริงครึ่งเดียว
จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.เพื่อไทย ส่งจดหมายถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุการจัดทำรายงาน คอป. เขียนโดยฝ่ายตรงข้ามกับคนเสื้อแดงซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นเหตุให้ OHCHR ได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว
16 ส.ค. 56 - น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ Press release แปลไทย:จดหมายส่งถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN OHCHR) ผ่านหน้าเฟซบุ๊กของตนเอง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
Press release
แปลไทย:จดหมายส่งถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UN OHCHR)
ที่มา: เฟซบุคจารุพรรณ กุลดิลก
ดิฉัน สส. จารุพรรณ กุลดิลก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ทำจดหมายถึงข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติชี้แจงในสองเรื่อง ได้แก่ (1)รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) และ (2) สถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงอยู่โดยขัดกับหลักการปารีส (Paris Principles)
ในประเด็นแรก จากการศึกษาการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พบว่าการจัดทำรายงานมีพื้นฐานมาจากข้อมูลที่เขียนโดยฝ่ายตรงข้ามกับคนเสื้อแดงซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นเหตุให้ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว และตัวคณะกรรมการของคอป. ก็มาจากการเสนอชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้น ตัวกรรมการในอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้แสดงความลำเอียงตั้งแต่ต้น อนุกรรมการสองท่านเคยทำงานเป็นการ์ดให้กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง ที่เรียกร้องให้มีการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ได้แก่ นายเมธา มาสขาว และนายชัยวัฒน์ ตรีวิทยา โดยอนุกรรมการชุดนี้มีนายสมชาย หอมลออ เป็นประธาน เป็นเรื่องที่ทำให้คนทั้งประเทศตกใจ เมื่อทราบว่านายสมชายแต่งตั้งสมาชิกกลุ่มพธม.เข้ามาทำงานและเป็นผู้จัดทำรายงาน และบุคคลทั้งสองยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำหลักของพธม.
ถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคอป. ขัดต่อหลักกระบวนการอันควรตามกฎหมายและหลักนิติธรรม เป็นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ ผู้เขียนรายงานของ คอป.จงใจละทิ้งประเด็นสำคัญที่เป็นเนื้อหาสาระและยังเขียนรายงานอย่างขาดความเป็นกลาง ดิฉันขอย้ำว่าคนไทยต้องการความปรองดอง แต่ที่ผ่านมากระบวนการดังกล่าวได้ถูกขัดขวางโดยหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร
เกี่ยวกับสถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งขัดกับหลักการปารีส ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้เลือกผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และไทยเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศแรก ที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights - UDHR) เมื่อวันที่10 ธันวาคม 2491 รวมทั้งยังให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (International Bills of Human Rights) ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights - ICESCR)
แต่ที่ผ่านมาสถาบันตุลาการในประเทศไทยไม่ให้ความใส่ใจ ที่จะพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายระหว่างประเทศไม่มีการนำมาตรฐานระหว่างประเทศเหล่านี้มาใช้ในการตัดสินอรรถคดีต่างๆ ในขณะที่ระบบกฎหมายและระเบียบวิธีพิจารณาความของระบบกฎหมายไทยยังไม่ได้สะท้อนมาตรฐานการไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรมซึ่งได้รับการรับรองจากกติกา ICCPR
หลักการปารีสมีการรับรองตามมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติตามมติที่ 48/134 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 โดยในหลักการดังกล่าวกำหนดไว้ว่า เนื่องจากสถาบันสิทธิมนุษยชนเป็นสถาบันระดับชาติ จึงต้องเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระและมีความเป็นพหุนิยม แต่ในทางตรงกันข้าม บรรดาสมาชิกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ล้วนแต่ได้รับการคัดเลือกจากบุคคลเพียงไม่กี่คน เป็นเหตุให้ขาดความเป็นพหุนิยม บรรดากรรมการกสม. ล้วนแต่มีอุดมการณ์ที่ล้าสมัย หลักเกณฑ์การคัดเลือกกรรมการกสม. ไม่สอดคล้องกับมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติตามมติที่ 48/134 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 และไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่ากสม.เป็นสถาบันระดับชาติที่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลโดยย่อ โดยดิฉันจะจัดส่งเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้กับทางข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทางจดหมายด่วนอีกครั้งหนึ่ง
ดิฉันหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดของประชาคมนานาชาติที่มีต่อรายงานของ คอป. และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหวังว่าจะช่วยให้สามารถเอาชนะอุปสรรคและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไทย ที่มีต่อบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ปัญหาหลายประการในปัจจุบันเกิดขึ้นจากการขาดธรรมาภิบาล ขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ หลายหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่โดยพลการ ไม่คำนึงถึงกระบวนการอันควรตามกฎหมายเป็นเหตุให้ประเทศไทยมีสภาพใกล้เคียงกับ“สงครามกลางเมือง” จึงมีความจำเป็นที่ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะต้องแสดงออกถึงความไม่ลำเอียงและมีการปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มงวด และงดเว้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงซึ่งมีแต่จะทำให้สถานการณ์การเมืองเลวร้ายลง
ดิฉันยังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของท่านไม่เปลี่ยนแปลง
ด้วยความนับถือ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย
Posted: 16 Aug 2013 05:40 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประขาไท)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น