Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สัญญาณประชาธิปัตย์ กำลังจนตรอก

รายงานพิเศษ ข่าวสดออนไลน์


การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2 ในประเด็น ′ที่มา′ ของส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้ง 200 คน

ซึ่งดำเนินมาช่วง 3 วันตั้งแต่วันที่ 20-22 สิงหาคม

ความปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะวันแรกของประชุม

พฤติกรรมการแสดงออกของเหล่าบรรดาส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถ่ายทอดสดผ่านช่อง 11 แพร่ออกสู่สายตาประชาชนทั่วทั้งประเทศ

ไม่ว่าภาพการชี้หน้าด่าทอนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ หรือนายนิคม ไวยรัชพานิช สองท่านประธานในที่ประชุม ด้วยถ้อยคำสุดบรรยาย

ไม่ว่าภาพการมะรุมมะตุ้มใช้มือ ′ค้ำคอ′ ตำรวจรัฐสภา หรือส่งเสียงกรีดร้องโหยหวน โห่ฮาประดุจรัฐสภาเป็นสวนสัตว์

กระนั้นก็ตามพฤติกรรมการแสดง ออกเหล่านี้ถึงจะอยู่ในขั้นเหลือรับประทาน

แต่ก็ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศจุดยืนผ่านเวที ′ผ่าความจริง′ ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า

ต้องการเดินหน้าลุยต้านการผลักดันร่างกฎหมายที่เอื้อต่อ ′ระบอบทักษิณ′ ทุกวิถีทางไม่ว่าในสภาหรือนอกสภา

ผลจาก ′โรดแม็ป′ ดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์

จึงไม่เพียงทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ ผ่านสภาขั้นรับหลักการในวาระแรก เข้าสู่วาระ 2 แบบทุลักทุเล

ยังทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2557 ในวาระ 2 ที่อภิปรายกันไปแล้ว 3 คืน 4 วัน

ต้องยืดเยื้อออกไปจนเฉียดเส้นตาย 105 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาผู้แทนฯ พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 สิงหาคม

แล้วก็อย่างที่เห็นการต่อต้านแบบระห่ำสุดซอยของพรรคประชาธิปัตย์

ยังติดพันมาถึงเวทีประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มาส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้งจำนวน 200 คน

โดยรอบนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้กลุ่ม 40 ส.ว.มาเป็นกำลังเสริม ร่วมด้วยช่วยกันออกแรงยื้อ 3 วันผ่านไปได้แค่ 2 มาตรา จาก 13 มาตรา

จนประธานต้องนัดตะลุมบอนกันอีกยกสัปดาห์หน้า 27-30 ส.ค.

กิริยามารยาทของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในสภา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคมภายนอก

ขนาดที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคเองก็ยังยอมรับว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม และไม่มีใครอยากเห็น

อย่างไรก็ตามถึงสังคมส่วนหนึ่งจะมองพฤติกรรมพรรคประชาธิปัตย์ไปในทางประณามหยามเหยียด เป็นต้นเหตุของสภาอัปยศ

แต่ส่วนหนึ่งก็มองด้วยความเมตตาและเข้าใจ

เข้าใจว่าถึงจุดนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่เหลือทางเลือกอื่นให้เดิน

สถานการณ์ที่จะให้กองทัพเข็นรถถังถือปืนออกมาโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เหมือนอย่างเมื่อปี 2549 หากฟังคำให้สัมภาษณ์อันหนักแน่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.

ก็ปิดประตูตายไปได้เลย

ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างภูมิใจไทยที่เคยกอดคอจัดตั้งรัฐบาลแบบพิสดารเจรจาในค่ายทหาร ระยะหลังก็เริ่มส่งสัญญาณตีตัวออกห่าง

ไม่เฉพาะกลุ่มมัชฌิมาของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็ยังตอบรับเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองหาทางออกให้ประเทศ ตามคำเชิญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

หนทางต่อสู้ในสภาของพรรคประชาธิปัตย์เริ่มตีบตันเข้าไปทุกที

เป็นกระจกสะท้อนความจริงอย่างที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคกล่าวปราศรัยบนเวทีผ่าความจริงนั่นก็คือ

สู้ในสภา ยังไงก็แพ้

กล่าวคือเมื่อใดที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา

ไม่ว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ร.บ.งบ ประมาณฯ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กระทั่งพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้าน ถ้าหากปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาว่ากันล้วนๆ

พรรคประชาธิปัตย์อย่างมากก็ยื้อไว้ได้แค่ชั่วครู่ชั่วยาม

ต่อให้ตีรวนประท้วงทุกนาที ชี้หน้าด่าทอประธานสภารุนแรงเพียงใด ไม่ว่าจะส่งเสียงโห่ฮา กรีดร้องโหยหวนดังขนาดไหน

สุดท้ายก็ยังต้องแพ้เสียงรัฐบาลในสภาอยู่ดี

ตรงนี้เองคือความอับจนของพรรคประชาธิปัตย์

สำหรับพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา จึงเป็นอะไรที่ทั้งน่าสงสารและน่าเวทนาอย่างยิ่ง

ความอับจนหนทางต่อสู้ในสภานี้เอง

เป็นปัจจัยและแรงผลักดันให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องหันมาเล่นการเมืองแบบ ′ไม่มีอะไรจะเสีย′ อย่างที่เห็นในการประชุมสภาช่วงที่ผ่านมา

พรรคประชาธิปัตย์สกัดขัดขวางกฎหมายนิรโทษกรรม อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่ม ทุกสี

ละทิ้งหลักการประชาธิปไตย ลุกขึ้นกล่าวอภิปรายปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2550 ที่เขียนขึ้นมาภายใต้อำนาจรัฐประหาร 2549

ตลอดจนการหันมาปลุกม็อบข้างถนนใต้สะพานทางด่วน ด้วยข้ออ้างวาทกรรมเดิมๆ ว่าเป็นการรวมพลังเพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณ และเผด็จการเสียงข้างมากในสภา

แต่ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอาละวาดด้วยกระบวนท่าพิเศษพิสดารอย่างไร เผด็จ การเสียงข้างน้อยก็ยังทำอะไรรัฐบาลไม่ได้อยู่ดี

ทั้งยังต้องขาดทุนติดลบด้านภาพลักษณ์อีกต่างหาก

ภาวะจนตรอกดังกล่าวนี้เอง ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ที่พรรคประชาธิปัตย์ดอดส่งคนไปขอ ′แตะมือ′ ด้วย ฉวยโอกาสขึ้นขี่หลังทันที

แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเคยมีบทเรียนอันขมขื่นกับพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำขาดหากต้องการให้กลุ่มพันธมิตรฯ ร่วมเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลชุดนี้

พรรคประชาธิปัตย์ต้องลาออกจากส.ส.ทันที เพื่อมาถือธงนำมวลชนปฏิรูปประเทศใหม่หมด

โดยไม่ต้องรอเวลาให้ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมผ่านสภา วาระ 3 แล้วค่อยออกมาเดินขบวน ตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศวางแผนไว้

ในเบื้องต้นทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ยังแสดงท่าที ′แทงกั๊ก′ ข้อต่อรองดังกล่าว เพราะยังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์การเมืองตอนนี้สุกงอมพอหรือยัง

อย่างไรก็ตามข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรฯ ถูกยกมาวางเทียบกับข้อเสนอของนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่เสนอพิมพ์เขียวในการปฏิรูปพรรค

พร้อมกับโยนคำถามไปยังนายอภิสิทธิ์ ว่าพร้อมจะนำพรรคประชาธิปัตย์เดินไปในทางไหน

แต่หากนึกย้อนถึงภาพเก่าๆ สมัยนายอภิสิทธิ์ นอบน้อมเดินเข้าหานายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่บ้านพระอาทิตย์ หรือแม้แต่ภาพกอดกันกลมกับนาย เนวิน ชิดชอบ

อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์จึงน่าหวาดเสียวยิ่งนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น