Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

เปิดแถลงการณ์ ฝั่งหนุน VS ต้าน กรณีเงินเยียวยาตาม มติ ครม.

จากประชาไท


วนอ่านแถลงการณ์ ระบุเหตุผลและข้อเรีกยร้องของสองกลุ่ม นักกิจกรรมเสื้อแดง VS กลุ่มหมอตุลย์ ซึ่งไปทำกิจกรรมหน้าทำเนียบรัฐบาลวันนี้ เพื่อต่อต้าน-สนับสนุน มติครม.เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง
000
เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย
กลุ่มประกายไฟ
17 มกราคม 2555
เรื่อง เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งและขยายกรอบการเยียวยา เร่งสืบหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์แต่ละกรณีการสลายการชุมนุม ลดงบประมาณกองทัพและนำเอาข้อเสนอเรื่องแก้ ม.112 ของ คอป.และนิติราษฎร์มาพิจารณา
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการจ่ายเงินชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ถึงเมษา-พฤษภาปี 2553 โดยการชดเชยเยียวยาให้ครอบคลุมถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ทุกเหตุการณ์ นับแต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เหตุรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เหตุการณ์กลุ่มพันธมิตรฯชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดง ทั้งปี 2552 มาจนถึงเหตุความรุนแรงเมษา-พฤษภาปี 2553 รวมวงเงิน 2 พันล้านบาท โดยไม่รวมถึงความเสียหายจากเหตุการณ์อื่นๆ อาทิ กรณีตากใบหรือกรือเซะ นั้น
ทางเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มประกายไฟเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง เนื่องจากจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการให้คุณค่าของชีวิตมนุษย์ในสังคมนี้ และเป็นบทเรียนแก่ผู้กุมอำนาจและสังคมที่จะไม่ปล่อยให้มีการเข่นฆ่าประชาชนเกิดขึ้นอีกต่อไป จริงอยู่ที่เงินเพืยงไม่กี่แสนหรือล้านจะไม่สามารถชดเชยคุณค่าความเป็นมนุษย์ได้ทั้งหมด แต่มติ ครม.นี้ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตและผู้บาด เจ็บจะต้องได้รับการเยียวยาเป็นการเบื้องต้นจากความสูญเสียที่ไม่ควรที่จะ เกิดขึ้นนี้ โดยมาตรฐานเหล่านี้ถือได้ว่าจะเป็นคุณูปการของประชาชนในสังคมไทยในอนาคตอีกด้วย
ในขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.54 ที่ผ่านมาคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)ได้เสนอแนะรัฐบาล ว่าควรผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่นเดียวกับคณะนิติราษฎร์ที่เสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายมาตรานี้ ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรเพิกเฉยควรนำมาพิจารณา พร้อมทั้งเปิดให้สังคมได้มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงประชาพิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
ดังนั้น ทางเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มประกายไฟ จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้

1. เร่งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ถึงเมษา-พฤษภาปี 2553 ตามมติ คณะรัฐมนตรี เมื่อ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา
2. ขยายวงเงินในการเยียวยาในกรณีต่างๆ
3. ปล่อยนักโทษทางการเมืองในทุกกรณี หรืออย่างน้อยให้สิทธิในการประกันตัวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี พร้อมทั้งเยียวยากลุ่มคนเหล่านั้น รวมทั้งคู่กรณีที่เป็นคดีความกับรัฐทุกกรณีต้องได้รับสิทธิการประกันตัวเพื่อสู้คดีโดยกรมการคุ้มครองสิทธิเเละเสรีภาพ
4. ขยายกรอบการเยียวยาให้ครอบคลุมกรณีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงโดยรัฐอื่นๆด้วย เช่น กรณีความเสียหายที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เสียหายจากกระบวนการตาม พรก. ฉุกเฉิน ในจังหวัดชายแดนใต้ กรณีความรุนแรงทางการเมืองในอดีตอย่าง พ.ค.35, 6 ตุลา 19 และ 14 ตุลา 16 รวมถึงกรณีที่คนงานหรือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองในสังคมนี้
5. ต้องประกาศต่อสังคมถึงกำหนดระยะเวลาและกรอบการทำงานเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์แต่ละกรณี และแถลงความคืบหน้าเป็นระยะ มากกว่าจะรอให้ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบตามกดดันเรียกร้องอย่างเช่นทุกวันนี้ [1]
6. รวมถึงเร่งสืบหาข้อเท็จจริงกรณีอื่นๆที่คลุมเครือว่าเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองอย่างกรณี เมื่อ เมษายน 52 ที่นายนัฐพงษ์ หรือแก๊บ ปองดี และนายชัยพร หรือโจ กันทัง[2] ที่ถูกพบเป็นศพลอยน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 14 เมษายน 52 โดยที่ทั้ง 2 ศพ ที่ปากมีผ้าขนหนูสีขาวมัดทับด้วยผ้าสีเหลืองปิดไว้แน่น มือทั้งสองข้างถูกมัดไพล่หลังด้วยเชือกไนล่อนสีน้ำเงิน นอกจากนี้ ตามลำตัว แขน และใบหน้ามีรอยปูดบวมเขียวช้ำ ซึ่งคาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการชุมนุม หรือกรณี วันที่ 9 ธ.ค.51 ที่พบศพนิรนาม[3] ที่สนามบินดอนเมือง ที่ก่อนหน้านั้นมีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมอยู่ และกรณีอื่นๆ เป็นต้น
7. ให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอแนะในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เสนอโดย คอป. และคณะนิติราษฎร์
8. จัดให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างขวางขวางเพื่อนำไปสู่กระบวนการในการทำประชามติในการปรับปรุงแก้ไข ยกเลิกหรือดำรงสภาพเดิมต่อไป โดยให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพให้อภิปรายหรือตั้งกรรมาการศึกษาเเละทำประชาพิจารณ์ตามสำดับ
9. พิจารณาปรับลดงบประมาณกองทัพเพื่อนำเงินส่วนที่ลดมาใช้ในการเยียวยาในทุกกรณีความสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยไม่จำกัดว่าฝ่ายการเมืองสีอะไร พร้อมทั้งตั้งงบประมาณทหารอย่างมีส่วนร่วมจากประชาชนเเละผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ลดงบประมาณเพื่อสะสมกำลังอาวุธและเพิ่มงบประมาณเพื่อการพัฒนาบุคลากรให้เคารพหลักสิทธิมนุษยชนและการรักษาสันติภาพ

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย(คกป.)
Activists for Democracy Network(ADN.)
กลุ่มประกายไฟ(Iskra Group)


------
อ้างอิง
[1] ตามที่นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อน้องเฌอ สมาพันธ์ ศรีเทพ ผู้ถูกยิงตาย 15 พ.ค.53 ได้กล่าวไว้ ดู มติชนออนไลน์, 13 มกราคม พ.ศ. 2555, มุมมอง "วรกร จาติกวณิช-พ่อน้องเฌอ" กรณีเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงทางการเมือง(ออนไลน์) www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1326464978
[2] มติชนออนไลน์ วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552, ตร.ไม่ปักใจ2ศพลอยอืดกลางแม่น้ำเจ้าพระยาถูกฆ่าจากเหตุชุมนุมกับเสื้อแดง ชี้ผู้ตายเปรยขณะเมาเหล้า(ออนไลน์)http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1239783951
[3] ไทยรัฐ วัน พุธ ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2551 อ้างถึงต่อใน พบศพนิรนามหมกในคลังสินค้าสนามบินดอนเมือง(ออนไลน์)http://news.sanook.com/crime/crime_328601.php

000000

แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน
เรื่อง คัดค้านการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2555 ให้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ.2548-2553 โดยผู้เสียชีวิตได้รับเงินถึงกว่าเจ็ดล้านบาท ผู้บาดเจ็บและพิการได้รับเงินลดหลั่นกันไป รวมเป็นเงินถึงกว่าสองพันล้านบาท เครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผนดิน ขอประณามมติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ว่าเป็นมติอัปยศ เพราะเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาจ่ายเป็นปูนบำเหน็จให้กลุ่ม นปช. เสื้อแดงที่มาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา เพียงเพื่อให้พรรคเพื่อไทยกลับมามีอำนาจ โดยมีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้สนับสนุนและปลุกระดมการชุมนุมในช่วงวันที่ 12 มีนาคม ถึง วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2553 การชุมนุมของกลุ่ม นปช.เสื้อแดงก่อความเดือดร้อนให้กับประเทศชาติและประชาชนทั่วไปอย่างแสนสาหัส ธุรกิจรายใหญ่ รายย่อย บริเวณแยกราชประสงค์พินาศย่อยยับ มีการเผาสถานที่ราชการและเอกสารหลายแห่ง ทั้งๆ ที่มีการประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน กลุ่ม นปช.เสื้อแดงก็ยังชุมนุมด้วยความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยมิเกรงกลัวต่อกฎหมาย เพราะแกนนำประกาศว่าหากมีผู้บาดเจ็บล้มตายจะจ่ายเงินชดเชยให้อย่างงาม และทักษิณถึงกับประกาศว่า หากเสียงปืนแตกเมื่อใดจะนำหน้าคนเหล่านี้ในการชุมนุมต่อสู้ ซึ่งในขณะนี้คดีก่อการร้ายยังอยู่ในการดำเนินคดีชั้นอัยการ ภายหลังการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และแทนที่จะบริหารราชการแผ่นดินเพื่อคนทั้ง ชาติ แต่กลับทำหน้าที่เพื่อทักษิณ ชินวัตรและพวกพ้อง แกนนำในการชุมนุมและถูกดำเนินคดีอยู่ได้เป็น ส.ส. ได้มีตำแหน่งข้าราชการการเมือง และที่เลวร้ายที่สุดคือการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้นำเงินภาษีไปจ่ายให้กลับ กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่มาชุมนุมสนับสนุนจนบาดเจ็บล้มตาย ทำให้ประชาชนท่วไปโดยเฉพาะที่เสียภาษี รู้สึกว่าเป็นการใช้เงินภาษีเพียงเพื่อประโยชน์พวกพ้องรัฐบาล จนมีความมโกรธเคือง ไม่เห็นด้วย จนกระทั่งคิดที่จะไม่เสียภาษีให้รัฐเอาไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย
เครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดินขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรียุติการนำเงินภาษีอากรไปจ่ายปูนบำเหน็จให้กับผู้สนับสนุนของตนเองโดยทันที เพราะคณะรัฐมนตีไม่มีอำนาจในการพิจารณายอดเงิน ต้องเป็นหน้าที่ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม (ซึ่งตาม พรบ.แล้ว รัฐจ่ายเงินเยียวยาสำหรับผู้เสียชีวิตจากคดีอาญา ได้ไม่เกินรายละหนึ่งแสนบาทเท่านั้น) ที่สำคัญ คณะรัฐมนตรีจะต้องรอบกระบวนการพิจารณาคดีก่อการร้ายโดยศาลก่อนว่าใครผิดใครถูก การชุมนุมของ นปช.เสื้อแดงถูกกฎหมายหรือไม่ หากผู้ที่บาดเจ็บล้มตายเป็นผู้สนับสนุนการทำผิดกฎหมาย ย่อมไม่เป็นการสมควรที่จะได้รับเงินชดเชยที่เป็นภาษีอากรของคนทั้งชาติแม้แต่บาทเดียว มีทหาร ตำรวจ ประชาชนอีกจำนวนมากที่บาดเจ็บล้มตาย โดยเฉพาะใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ได้รับการเหลียวแล และจ่ายเงินชดเชยมากมายมหาศาลเท่ากับ นปช.เสื้อแดงที่ได้รับเลย แม้แต่พลทหารที่เสียชีวิตยังได้รับเงินชดเชยเพียงห้าแสนบาท หากญาติผู้เสียชีวิตเห็นว่ารัฐบาลละเมิดทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน ก็ควรไปร้องให้ศาลตัดสินว่ารัฐละเมิดผู้ตายอย่างไร แล้วให้รัฐให้ชดเชยค่าเสียหายตามที่ศาลกำหนด และไม่ต้องจ่ายเงินให้กับผู้ที่กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด
ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ โทร xxx-xxxxxxx

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น