Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

ก้านธูปกลางความมืดในสังคมไทย

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ข้อมูลจาก ประชาไท



แค่คิดต่างก็ต้องฆ่ากันให้ตาย ต้องประจานกันให้อาย ทั้งๆที่น้องเขาเป็นแค่เด็กผู้หญิง ไม่รู้สึกละอายแก่ใจกันบ้างหรือ รุมทำร้ายเด็กผู้หญิง ขาดศีลขาดธรรม เห็นชีวิตคนเป็นของเล่น นี่แหละหนาประเทศไทย น่าเบื่อที่สุด!!

นี่เป็นความเห็นของคุณinwashura2012 ซึ่งสะท้อนข้อเท็จจริงกรณีก้านธูปในสังคมไทยได้ชัดเจนที่สุด

ก้านธูปเป็นนามแฝงของเด็กหญิงคนหนึ่ง ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการล่าแม่มดในสังคมไทย จนต้องเผชิญปัญหาอย่างหนัก ก้านธูปมีชื่อเดิมว่า ณัฐกานต์ สกุลดาราชาติเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ เธอเป็นนักเรียนหญิงธรรมดาที่ชอบอ่านหนังสือ ในวัยมัธยม เธอเรียนอยู่ที่โรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ต่อมา ในชั้นมัธยมปลาย ก็ได้ย้ายตามบิดามาศึกษาต่อที่โรงเรียนธารปราสาทเพชรวิทยา จังหวัดนครราชสีมา ในระหว่างเรียนอยู่ชั้น ม.๕ เธอได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการประกวดเรียงความส่งเสริมประชาธิปไตย หัวข้อ "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" ซึ่งเป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง

ในเรื่องทัศนะทางการเมืองสมัยมัธยม เธอก็เหมือนคนไทยจำนวนในขณะนั้น ที่ไม่ได้นิยมชมชื่นในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินว้ตร มากนัก และมีแนวโน้มทางความคิดที่สนับสนุนฝ่ายพันธมิตรในการต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทย จนกระทั่งเมื่อหลังจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ บ้านเมืองไทยถอยหลังไปสู่เผด็จการ ภายใต้การควบคุมของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ก้านธูปเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เธอจึงเริ่มสนใจการเมืองมากขึ้น และเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นเรื่องแรก ด้วยอายุเพียง ๑๕ ปี จากนั้น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๒ เธอจึงสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง จากการที่เธอมีความสนใจและใช้คอมพิวเตอร์ได้ เธอจึงเริ่มโพสข้อความแสดงความเห็นในโลกอินเตอร์เนต แน่นอน ความเห็นที่เธอโพสย่อมแตกต่างกับฝ่ายกระแสหลัก ซึ่งเต็มไปด้วยความคับแคบ เพราะบีบบังคับให้คนคิดและเชื่อสิ่งเดียวกันในแบบเดียวกัน ในกรณีที่มีผู้คิดต่าง ก็มักจะต้องถูกเล่นงาน และทำร้ายในลักษณะเดียวกับการล่าแม่มดในยุโรปสมัยกลาง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ ขณะที่ก้านธูปอายุได้เพียง ๑๗ ปี เธอก็ตกเป็นเหยื่อของขบวนการล่าแม่มด เมื่อสื่อในเครือผู้จัดการได้โจมตีก้านธูปอย่างหนักว่า เป็นพวกไม่รักสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ไม่มีหลักฐานเลยว่า ก้านธูปดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ แต่การโจมตีประนามก้านธูปโยงเข้ามากับการที่เธอเคยขึ้นเวทีเสื้อแดงในนามตัวแทนเยาวชน ทั้งที่มีเยาวชนหลายคนขึ้นเวทีฝ่ายพันธมิตรเช่นเดียวกัน ในการโจมตีก้านธูป มีการใช้ข้อมูลเท็จด้วยว่า เธอถูกไล่ออกจากโรงเรียนที่บ้านโป่งเพราะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเมื่ออยู่โรงเรียนใหม่ ก็ถูกตักเตือนเสมอเรื่องไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การใส่ร้ายเช่นนี้ของสื่อในเครือผู้จัดการ ได้รับการขานรับจากเว็บไซด์ และสื่อฝ่ายขวาทั้งหมด

ผลจากความคับแคบทางความคิดในสังคมไทยเริ่มส่งผลร้ายต่อก้านธูป เมื่อเธอสอบเข้ามหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๕๓ เธอสอบผ่านข้อเขียนที่จะเข้าศึกษาต่อในโครงการเอเชียศึกษา ของคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่คณะอักษรศาสตร์ไม่รับเข้าศึกษา โดย รศ.ดร.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ คณบดีอักษรศาสตร์ในขณะนั้น อธิบายว่า ก้านธูปสามารถทำข้อสอบได้ สอบสัมภาษณ์ผ่าน หลังจากที่สังคมไทยทราบว่าเยาวชนผู้มีทัศนคติต่อต้านสถาบันฯ รายนี้สอบเข้ามาได้ ก็มีผู้ส่งข้อมูล และประวัติ เพื่อคัดค้านการรับเธอเข้าศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก และเมื่อพิจารณาเอกสารหลักฐาน ก็พบว่า ก้านธูปขาดคุณสมบัติในข้อที่ว่า นักศึกษาต้องมีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของประเทศ อันถือเป็นกฎหลักของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังพบว่า เป็นผู้ที่บุคลิกภาพมีปัญหา หากเข้ามาเรียน อาจเข้ากับเพื่อนไม่ได้ จึงจำเป็นต้องตัดสิทธิ์ ไม่ให้เข้าเรียนในปี พ.ศ.๒๕๕๓ เช่นกัน

เธอยังได้สิทธิ์สัมภาษณ์ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่พวกล่าแม่มดในมหาวิทยาลัยเกษตรเปิดเฟสบุ๊คชื่อ มั่นใจชุมชนชาวเกษตรฯไม่ยินดีต้อนรับคนหมิ่นพ่อชื่อณัฐกานต์มาร่วมเรียนด้วยและมีการเคลื่อนไหวต่อต้านก้านธูปอย่างหนัก โดยประกาศกันว่าจะมีการนัดชุมนุมประท้วงในวันที่ก้านธูปสอบสัมภาษณ์ มีการปล่อยข่าวเท็จอีกว่า ถ้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่รับก้านธูป คนเสื้อแดงจะบุกมาเผามหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการตื่นกลัวกันทั่วไป ในที่สุด ก้านธูปต้องตัดสินใจสละสิทธิ์ ไม่สอบสัมภาษณ์ และมีข่าวว่า เธอจะไปศึกษาต่างประเทศแทน ซึ่งก็ถูกตามใส่ร้ายป้ายสีอีกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนจ่ายเงินให้ก้านธูปไปเรียนต่างประเทศ
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า กรณีเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความคับแคบในวงการศึกษาไทย ที่ตัดโอกาสในอนาคตของเด็กผู้หญิง ๑ คน เพียงเพราะหวาดกลัวในเรื่องความคิดที่แตกต่างเท่านั้น
ปรากฏว่า ขบวนการล่าแม่มด ยังไม่ได้ละเว้นก้านธูป เพราะมีผู้ไปแจ้งความดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา ๑๑๒ ที่ สน.บางเขน จากกรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว ตั้งแต่เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ ทางการตำรวจจึงได้ทำการสอบสวน และได้ออกหมายเรียกให้ก้านธูปไปให้การกับทางการตำรวจแล้ว
ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ผ่านมานี้เอง เครือข่ายผู้จัดการ ได้นำเอาเรื่องของก้านธูปมาเปิดเผย เพื่อตอบสนองจิตวิญญานล่าแม่มดอีกครั้ง ในบทความชื่อ "ธรรมศาสตร์ในวันที่อ้าแขนรับก้านธูป" โดยเปิดเผยข้อมูลว่า ก้านธูปได้เปลี่ยนชื่อ และได้เข้าศึกษาที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเปิดเผยชื่อใหม่กับเลขประจำตัวนักศึกษาของเธอ จากนั้นได้อธิบายย้อนหลังไปถึงความเป็นมาของก้านธูปอย่างอคติ เช่น ใช้คำว่า ย้อนรอยแดงปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม เมื่อกล่าวถึงภูมิหลังของเธอ เป็นต้น และยังกล่าวร้ายว่า ก้านธูปยังมีพฤติกรรมที่ไม่เคารพพระมหากษัตริย์อย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้น ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษา ๖ กลุ่มนำโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้ออกแถลงการณ์ประณามเครือผู้จัดการกรณีเสนอข่าวละเมิดสิทธิ "ก้านธูป" โดยเสนอข่าวอันเป็นเท็จ อันนำไปสู่การสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน แต่การเสนอข่าวของกลุ่มผู้จัดการ ยังได้รับการโจมตีต่อไปจากโอเคเนชั่น ซึ่งยังสร้างข่าวเท็จในลักษณะที่ว่า ญาติผู้พี่ของก้านธูปที่เรียนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับงานเป็นหญิงบริการ โจมตีว่า บิดามารดาของก้านธูปเป็นคนเสื้อแดง ที่ล้างสมองให้ก้านธูปไม่รักสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่บิดามารดาของเธอไม่เคยเป็นคนเสื้อแดงเลย นอกจากนี้ ยังโจมตีก้านธูปว่า เป็นต้นไม้พิษ แล้วตั้งคำถามต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความชอบธรรมที่รับก้านธูปเข้าศึกษา

จากนั้น ในวันที่ ๕ มกราคม เสรี วงษ์มณฑา นักพูดชื่อดังและอาจารย์คณะวารสารศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า การล่าแม่มดนำมาใช้กับก้านธูปไม่ได้ เพราะไม่ใช่แม่มด แต่คือ อาชญากร เพราะมีหลักฐานของการทำผิด ซึ่งกรณีนี้มีหลักฐานชัดเจนอยู่แล้ว จะเป็นกรณีเดียวกับแม่มดไม่ได้

ต่อกรณีดังกล่าว ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะและจุดยืนไว้ว่า "ไม่เห็นมีกฎข้อบังคับใดของมหาวิทยาลัยบอกว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์ต้องเคารพชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้าหากมีกฎข้อนี้จริง หมายความว่า ธรรมศาสตร์ต้องตรวจสอบว่านักศึกษาคนนี้รักชาติ รักศาสนาหรือเปล่า นับถือศาสนาไหม คำถามเหล่านี้จะเกิดทันที" และว่า "สิ่งสุดท้ายคือ เราไม่ควรไล่ล่าแม่มดเพราะเราไม่รู้ว่าเขาเป็นแม่มดจริงหรือเปล่า แล้วแม้เธอจะเป็นแม่มดจริง แต่แม่มดก็สามารถอยู่ในสังคมไหนก็ได้"

ในที่นี้คงจะต้องขอกล่าวสนับสนุนทัศนะของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่คิดอย่างให้โอกาสแก่นักศึกษา ไม่ตกอยู่ใต้กระแสขวาจัด ไล่ล่าบุคคลคิดต่าง ส่วนทัศนะเสรี วงษ์มณฑา นั้นคงไม่อาจจะยอมรับได้

กล่าวโดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่า กรณีของก้านธูปนั้น สะท้อนภาวะยุคมืดแห่งพุทธปัญญาในสังคมไทย แสงสว่างแห่งเหตุผล และหลักประชาธิปไตย ก็จะขับไล่ความมืดเช่นนี้ในโอกาสต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น