สรุปผลการพิจารณากรณีลูกเรือจีน๑๓ศพที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร
จากการพิจารณาศึกษาข้อเท็จจริงและความคืบหน้ากรณีคดีฆาตกรรมลูกเรือสัญชาติจีน ณ จังหวัดเชียงราย รวมทั้งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย – สาธารณรัฐประชาชนจีนของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ได้ข้อสรุปจากการพิจารณา ดังนี้
๑. ประเด็นมูลเหตุในการฆาตกรรม
๑.๑ ภูมิหลังความเป็นมา
เนื่องด้วยพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนระหว่าง ๓ ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาสลับซับซ้อนอยู่เดิมแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ป่าเขาสองฝั่งลำน้ำโขงซึ่งทางรัฐบาลของพม่าและลาวมีความยากลำบากในการควบคุม และเส้นทางการเดินเรือจากสิบสองปันนา ประเทศจีน มายัง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มีระยะทางประมาณ ๓๔๔ กิโลเมตร โดยจะต้องเดินทางผ่านพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยได้แก่ กลุ่มว้าและไทยใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตและการค้ายาเสพติด ประชาชนมีฐานะยากจน มีชนกลุ่มน้อยที่เป็นกลุ่มกองกำลังอิสระหลายกลุ่ม หลายชนชาติ ซึ่งกลุ่มที่มีอิทธิพลและมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้ายาเสพติดและเรียกค่าคุ้มครองในพื้นที่ตามลำน้ำโขงมาเป็นเวลานานแล้ว กลุ่มอิทธิพลที่มีบทบาทเด่นซึ่งถูกทางการขนานนามกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มนายหน่อคำซึ่งถูกกล่าวถึงมากว่าเป็น “โจรสลัดแม่น้ำโขง” ที่มีกองกำลังเข้าปฏิบัติการในลำน้ำโขงเป็นระยะทางประมาณ ๒๗๐ กิโลเมตร แต่ในความเป็นจริงพบว่า กลุ่มกองกำลังดังกล่าวมิได้มีเพียงกลุ่มนายหน่อคำกลุ่มเดียว ยังมีอีกหลายกลุ่ม จึงเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการควบคุมในด้านความปลอดภัย
เมื่อมีการเปิดเส้นทางเดินเรือในลำน้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ๒๕๕๐ ที่มีการเปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ณ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีการลงทุนด้านธุรกิจบันเทิงและเสี่ยงโชคขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “คิงส์โรมัน”ในฝั่ง สปป.ลาว(ซึ่งเดิมมีแต่ในเขตประเทศพม่า)อยู่ในฝั่งตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งกลุ่มทุนธุรกิจบันเทิงนี้เป็นกลุ่มธุรกิจที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มทุนดอกงิ้วคำที่ดำเนินการโดยบริษัท จินมูเหมิน จำกัด โดยมี นายจ้าวเหว่ยเป็นประธานบริษัท ได้สัมปทานเช่าจากรัฐบาลลาวบนเนื้อที่ประมาณหนึ่งหมื่นไร่ เป็นเวลา ๙๙ ปี จัดทำโครงการ Kings Romans of Laos and Tourism Development Zone มีกิจการบ่อนคาสิโน ท่าเรือสินค้าและเรือท่องเที่ยวในแม่น้ำโขง นับแต่นั้นมา พื้นที่ดังกล่าวก็มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเรื่อยมา ก่อให้เกิดความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจนที่เป็นชนกลุ่มน้อยใน ๒ ฝั่งลำน้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ่อนคาสิโนของนายจ้าวเหว่ย ลูกค้ากลุ่มหลักประมาณร้อยละ ๘๐ เป็นชาวจีน ซึ่งเดินทางจากเมือง คุนหมิงโดยทางเรือ ดังนั้น เมื่อเริ่มมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไหลเวียน ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา จึงเกิดเหตุการณ์ความ ไม่สงบต่างๆ อาทิ การปล้นเรือสินค้า การค้ายาเสพติด การเรียกค่าไถ่ และอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ตลอดลำน้ำโขงบ่อยครั้งซึ่งในระหว่างเดือนมกราคม ๒๕๕๐ - กันยายน ๒๕๕๔ มีการก่ออาชญากรรมครั้งสำคัญๆ มากถึง ๑๑ ครั้งสภาวการณ์ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำนับแต่ปี ๒๕๕๐ ภาพรวมด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะอยู่ที่ฝั่ง อ.แม่สาย จ.เชียงรายและฝั่งประเทศลาว ส่วนฝั่งประเทศพม่านั้นไม่ค่อยมีส่วนได้รับผลประโยชน์มากนัก
๑.๒ การเกิดเหตุ
กรณีเหตุการณ์สังหารลูกเรือจีน ๑๓ ศพเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ จากการรับฟังข้อมูลจากภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อตรวจสอบและประมวลข้อเท็จจริง ประกอบกับพยานเอกสารลับ(ภาพถ่าย)ที่เจ้าหน้าที่มิได้นำเสนอแต่กรรมาธิการได้จากบุคคลภายนอก เป็นที่น่าเชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่ไทยได้รับรู้และอยู่ในเหตุการณ์ขณะมีเสียงปืนจากฝั่งไทยและพยานแวดล้อมทั้งหมดทำให้น่าเชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่ของไทยจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของลูกเรือจำนวนหนึ่ง ส่วนจะเกิดจากแรงจูงใจในเรื่องใด ยังไม่สามารถสรุปได้ในขณะนี้ และจะเกี่ยวพันกับยาเสพติดบนเรือหรือไม่ ยังเป็นที่สงสัยอยู่ โดยคณะกรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นสำคัญที่นำมาสู่ข้อสรุปต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้
(๑) จากข้อเท็จจริง กองกำลังผาเมืองโดยพันเอก (พิเศษ) ฉลองชัย ชัยยะคำ (รองผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง) ได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๔ กองกำลังผาเมืองได้รับข้อมูลการข่าวว่าจะมีการก่อเหตุในพื้นที่รอยต่อชายแดน จึงได้มีการสั่งหน่วยชุดปฏิบัติการทหารลาดตระเวนระยะไกล (ชป.มว.ลว.ไกล) เข้าไปลาดตระเวนเฝ้าระวังในพื้นที่ โดยมีห้วงปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ ๕-๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ และเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ตรงกับห้วงเวลาดังกล่าวข้างต้นพอดี
(๒) ในช่วงเช้าประมาณ ๑๑.๐๐ น.ของวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ได้มีเรือสัญชาติจีน ๒ ลำ ขนาดบรรทุกประมาณ ๒๐๐ ตันลอยลำเข้ามาในน่านน้ำไทยและมีเรือเล็กไม่ทราบสัญชาติ ๔ ลำ ตามประกบมาด้วย จากการสอบถามเจ้าหน้าที่และพยานแวดล้อมพบว่า เรือสินค้าจีนทั้งสองลำนั้นได้เคลื่อนตัวเข้ามาในเขตน่านน้ำไทยในลักษณะที่มีกัปตันควบคุมเรืออยู่ทั้ง ๒ ลำ เรือจึงวิ่งอย่างมีทิศทาง ซึ่งในระหว่างนั้นคนบนเรือจีนได้มีการส่งสัญญาณวิทยุไปยังเรือจีนที่อยู่ห่างออกไปเพื่อขอความช่วยเหลือ เมื่อเรือทั้งสองลำเคลื่อนผ่านเข้าสู่น่านน้ำไทยได้ระยะประมาณ ๕ กิโลเมตรจากชายแดน ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารดักอยู่ที่ริมฝั่งและมีเสียงปืนดังขึ้น ซึ่งจากการตรวจสอบ ก็พบว่า ตัวเรือถูกยิงและมีภาพถ่ายปลอกกระสุนตกอยู่บนเรือ และจากหลักฐานภาพถ่ายมีภาพทหารไทยกำลังเล็งปากกระบอกปืนตรงไปยังเรือสินค้า ทั้งสองลำตามภาพถ่ายลับที่แนบมาด้วยนี้ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าเรือ ๒ ลำที่เข้ามาในน่านน้ำไทย กลับตรวจสอบพบศพกัปตันเรือเพียง ๑ คนเท่านั้นที่ถูกสังหารเสียชีวิตอยู่บนเรือ
(๓) ลักษณะยาเสพติดที่พบบนเรือบรรทุกสินค้าทั้งสองลำ เจ้าหน้าที่รายงานว่า ยาเสพติดบรรจุอยู่ในกล่องวางอยู่บริเวณห้องคนขับโดยไม่มีการซุกซ่อน ส่วนยาเสพติดที่พบบนเรืออีกลำหนึ่งซึ่งบรรทุกน้ำมันนั้น วางเปิดเผยบริเวณท้องเรือ เมื่อขึ้นไปบนเรือก็สามารถมองเห็นได้ทันที ซึ่งเป็นการค้นพบสิ่งผิดกฎหมายที่ผิดธรรมชาติ กล่าวคือ มิได้มีการซุกซ่อนแต่อย่างใด
(๔) ภาพถ่ายซึ่งเป็นข้อมูลในทางลับที่ประธานคณะกรรมาธิการฯได้เปิดเผยในที่ประชุม ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารจากกองกำลังผาเมือง หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง (นรข.) ยืนยันว่า เป็นภาพในเหตุการณ์จริงโดยผู้ที่อยู่ในภาพถ่ายได้นั่งร่วมประชุมชี้แจงกับคณะกรรมาธิการและร่วมยืนยันความถูกต้องของภาพถ่ายด้วยว่า ในภาพปรากฏนายทหาร ๑ ในทหาร ๙ นาย ที่ไปแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในภาพด้วย โดยเป็นภาพถ่ายบนเรือหลังจากปฏิบัติการและยึดของกลางได้และถ่ายภาพเป็นหลักฐานไว้บนเรือที่เกิดเหตุ
๒. ประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้น
(๑) ด้านการเมือง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นคดีที่มีความสำคัญเนื่องจากอาจจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยตรง ซึ่งในส่วนนี้ทางคณะกรรมาธิการการได้ดำเนินการในเบื้องต้น กล่าวคือ ได้เรียนเชิญนายกว่าน มู่ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยมาร่วมรับประทานอาหาร เพื่อแสดงความขอบคุณกรณีที่ทางประเทศจีนบริจาคช่วยเหลือเหตุการณ์อุทกภัย พร้อมทั้งแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ฆาตกรรมลูกเรือจีนที่เกิดขึ้น และคณะกรรมาธิการการต่างประเทศนำกรณีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน
(๒) ด้านเศรษฐกิจ
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการค้าขายใน จ.เชียงราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ อ.เชียงแสนต้องสูญเสียรายได้มูลค่าประมาณ ๒๐๐ ล้านบาทต่อวัน และเนื่องจากมีการหยุดเดินเรือสินค้าจีนทั้งหมดทำให้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่ปกติจะใช้เรือสินค้าจีนเป็นหลักซึ่งบรรจุได้ถึงประมาณ ๒๐๐ ตันต่อเที่ยว เมื่อมีการหยุดเดินเรือสินค้าจีนทั้งหมด ผู้ประกอบการจึงต้องใช้เรือของประเทศลาวในการลำเลียงสินค้า ซึ่งเป็นเรือขนาดเล็กบรรจุได้เพียง ๒๐-๓๐ ตันต่อเที่ยว ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางส่วนก็ต้องหันไปใช้เส้นทางลำเลียงทางบกคือเส้นทาง R3A ซึ่งขนส่งได้ในปริมาณน้อยและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง (๕๐,๐๐๐ บาท ต่อเที่ยว/เที่ยวละ ๒๐ ตัน) นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงาน ในจังหวัด เนื่องจากโดยปกติการลำเลียงสินค้าลงจากเรือจีนจะใช้แรงงานคนเป็นหลัก เมื่อเรือสินค้าจีนไม่เข้ามาเทียบท่า ทำให้แรงงานในส่วนนี้กลายเป็นผู้ว่างงานขาดรายได้ และยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่มั่นใจในความปลอดภัยจึงงดการเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่
(๓) ด้านวัฒนธรรม
อาจส่งผลให้เกิดการไม่ไว้วางใจกันในหมู่ประชาชนของแต่ละประเทศ (จีน, พม่า, สปป.ลาวและไทย) ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในทางวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นที่มีมาช้านาน
๓. ประเด็นแนวทางการแก้ไข
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาในส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ซึ่งกรรมาธิการฯมีความเห็นว่า หากรอการแก้ไขในเชิงนโยบายจากการประชุม ๔ ชาติลุ่มน้ำโขง(จีน – ไทย - สปป.ลาว - พม่า) อาจต้องใช้เวลานาน จึงเสนอแนวทางแก้ไข ๒ ขั้นตอน ดังนี้
(๑) การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
กรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เกิดจากการขัดแย้งทางผลประโยชน์ ประกอบกับเป็นพื้นที่ชายแดนที่ยากต่อการควบคุมเนื่องจากมีชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีการเปิดบ่อนคาสิโนที่มีเงินไหลเวียนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก จึงมีผู้หวังผลประโยชน์จากเงินดังกล่าว การแก้ปัญหาเบื้องต้นควรจะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจากองค์กรเอกชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้เป็นแกนหลักในการเชื่อมต่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆทั้งในประเทศลาวและพม่า เพื่อประสานผลประโยชน์ระหว่างกันให้เป็นที่พอใจกันทุกฝ่าย เพราะแม้ในอนาคตจะมีมาตรการความปลอดภัยที่ดีขึ้น แต่หากยังมีกลุ่มที่ไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึงอยู่ เหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้
(๒) การแก้ไขปัญหาระยะยาว
- การจัดตั้งกองกำลังร่วมกัน ๔ ฝ่ายเพื่อลาดตระเวนในพื้นที่ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการหารือร่วมกัน โดยทางรัฐบาลได้มอบหมายให้ พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนในการประชุม เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมและสมประโยชน์ทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม การลงนามในข้อตกลงฝ่ายไทยยังคงมีความกังวลอยู่ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกรงว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ หรือไม่ ควรให้ฝ่ายรัฐสภาให้ความช่วยเหลือในประเด็นนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น