Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ผู้บริสุทธิ์ที่ต้องเป็น “นักโทษหมิ่นเบื้องสูง”

จาก RED POWER ฉบับที่ 22 ปักษ์แรก ธันวาคม 2554

โดย : พีระศักดิ์  ชัยธรรม
รัฐธรรมนูญทุกฉบับของประเทศไทยที่ผ่านมากำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นสิ่งสูงสุด ผู้ใดจะละเมิดมิได้ พระมหากษัตริย์จึงเป็นที่เคารพสักการะของคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา คอล์มนิสต์ชื่อดังของมติชนสุดสัปดาห์ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า “ในภาวะวิกฤติการเมืองไทยในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างน่าหวั่นวิตก ข้อกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดูจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อย่างกว้างขวางจนทำให้สถิติคดีดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์”

ในปี 2552 – 2553  พรรคประชาธิปัตย์ได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศได้กล่าวหากลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นประชาชนฐานคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยว่าเป็นขบวนการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ถึงกับใช้กำลังทหารปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงจนมีผู้เสียชีวิต 91 ศพ พร้อมกับใช้อำนาจสั่งปิดเวปไซค์กว่า 10,000 แห่ง วิทยุชุมชน 13 แห่ง นิตยสาร 3 ฉบับ รวมถึงการดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเข้มงวด มีการจับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อาทิเช่น นางสาวดาริณี  เชิงชาญศิลปะกุล ศาลตัดสินจำคุก 18 ปี นายธัญวุฒิ  ทวีวโรดมกุล  ถูกศาลสั่งจำคุก 13 ปี  นายวราวุธ  ฐานังกูร ถูกศาลสั่งจำคุก 3 ปี ทั้งสามคนเป็นแกนนำต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยมีการปราศรัย และการชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหาร และการแสดงความคิดเห็นในเวปบอร์ดอินเตอร์เน็ตต่างๆ ต่อมามีการดำเนินคดีอีกหลายคนด้วยกัน ส่วนหนึ่งหลบหนีการจับกุมด้วยการขอลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ

เมื่อมีการกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัวโดยสิ้นเชิง อันเป็นการขัดต่อหลักปฏิญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งนี้ศาลอ้างว่าเป็นคดีสะเทือนขวัญประชาชน คดีมีโทษสูง กลัวการหลบหนี และเป็นคดีกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าการไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวเป็นเพียงการใช้ดุลพินิจของศาลไทย ทำให้มีการเลือกปฏิบัติในกรณีต่าง ๆ แตกต่างกันไป ดังนั้นในหลายกรณีมีการวิ่งเต้นจ่ายเงินใต้โต๊ะในการได้มาซึ่งการประกันตัว จึงปรากฏว่าแม้ในคดีโทษสูง สะเทือนขวัญประชาชน เช่น การฆาตกรรม กลับได้รับสิทธิ์ประกันตัว หรือในคดีกระทบความมั่นคงของรัฐในบางกรณี ได้รับสิทธิการประกันตัวอย่างง่ายดาย อย่างเช่น กลุ่มคนเสื้อเหลืองซึ่งยึดทำเนียบรัฐบาล สนามบิน สถานีโทรทัศน์ เมื่อปี 2551 สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศชาติ กลับได้รับสิทธิการประกันตัว และคดีเป็นไปอย่างล่าช้า ส่วนการชุมนุมของคนเสื้อแดงกลับถูกดำเนินคดีรวดเร็วและไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว

กรณีการจับกุมนายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขาถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสรแก้ว ขณะที่กำลังพาคณะท่องเที่ยวชาวไทยไปกัมพูชาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ศาลไม่ให้ประกันตัว เขาพยายามยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่า 1.6 ล้านบาท เพื่อการประกันตัวออกมาต่อสู้คดีเป็นจำนวน 4 ครั้งด้วยกัน แต่ศาลไม่ให้สิทธิการประกันตัวโดยสิ้นเชิง

นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำคนเสื้อแดงอีกคนหนึ่งซึ่งถูกคุมขังในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 กล่าวว่าการไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวเป็นการ “มัดมือชก” ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสต่อสู้คดีตามปกติ เป็นการพิพากษาล่วงหน้า ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดไปแล้ว ดังนั้นตัวเขาจึงตัดสินใจที่จะไม่ขอต่อสู้คดี ซึ่งหมายถึงสภาพการถูกบังคับให้ต้องรับสารภาพนั่นเอง

“ผู้ถูกกล่าวหา” ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ต่างไปกับการตกเป็น “เชลยศึก” ที่ไม่สามารถยืนยันสิทธิ์อันชอบธรรมของตนเองได้เลย ย่อมถูกบีบบังคับทุกประการ เช่น ถูกคุมขังเป็นเวลายาวนานให้ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ

สำหรับการกล่าวหาและการจับกุมนายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข เกิดขึ้นหลังจากเขาได้จัดการแถลงข่าวที่จะรณรงค์ให้มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการให้ประชาชนเข้าชื่อกัน 20,000 ชื่อตามรัฐธรรมนูญเพื่อยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2554 เขาถูกจับกุมวันที่ 30 เมษายน 2554 ถูกคุมขังมาเป็นเวลา 8 เดือนแล้ว
ในกระบวนการไต่สวนนัดสืบพยานโจทก์ปรากฏว่านายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข ต้องถูกย้ายเรือนจำจากกรุงเทพฯไปจังหวัดสระแก้ว  จังหวัดเพชรบูรณ์  จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดสงขลา ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2554 – เดือนกุมภาพันธ์ 2555 การเดินทางจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่งเขาถูกล่ามโซ่ที่ข้อเท้าทั้งสองข้าง นั่งอยู่ในรถห้องขังขนาดเล็กเป็นเวลาหลายชั่วโมงด้วยกัน อีกทั้งเขาต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับนักโทษในแต่ละเรือนจำอีกด้วย

ทนายคารม  พลทะกลาง ทนายความได้ให้ข้อมูลว่าได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้พยานฝ่ายโจทก์มานำสืบที่กรุงเทพฯ แทนที่จะให้จำเลยคือนายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข ซึ่งอยู่ในสภาพเป็นนักโทษต้องเคลื่อนย้ายที่คุมขังด้วยความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก เพราะเหตุที่ว่าครอบครัว ญาติมิตร ไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมเยียนเขาได้ และทนายความไม่สามารถติดต่อเตรียมคดีกับตัวเขาได้

ทั้ง ๆ ที่ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กลับถูกคุมขังเหมือนนักโทษซึ่งถูกพิพากษามีความผิดแล้ว การเคลื่อนย้ายนักโทษไปไตร่สวนต่างจังหวัดซึ่งห่างไกลกรุงเทพฯ เป็นการทรมานผู้ถูกกล่าวหารูปแบบหนึ่ง เมื่อประกอบกับการยอมรับสารภาพจะได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลือกที่จะรับสารภาพมากกว่าที่จะต่อสู้คดีพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏ

แนวโน้มที่ศาลจะตัดสินให้ได้รับโทษสูงสำหรับผู้ตกเป็นจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเห็นได้จากกรณีที่ศาลตัดสินลงโทษนายอำพล ตั้งนพกุล ชายชราวัย 61 ปีเจ้าของเครื่องโทรศัพท์มือถือซึ่งส่งข้อความไปที่โทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการนายอภิสิทธิ์  เวชชาชะ นายกรัฐมนตรี ข้อความทำให้เสื่อมพระเกียรติ อาฆาตมาดร้าย (นายอำพล อ้างว่าส่งข้อความในมือถือไม่เป็น) ศาลสั่งจำคุก 5 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำนวนโทษจำคุก 20 ปี

กลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นนักวิชาการนิติศาสตร์ได้แสดงความคดเห็นให้มีการทบทวนแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เพราะมีบทลงโทษที่รุนแรงเกินควร และกฎหมายดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือริดรอนสิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย

เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีนายคณิต    นคร  เป็นประธานได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า ผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพควรได้รับสิทธิการประกันตัว

นายอานันท์  ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีได้แสดงความคิดเห็นว่ามาตรา 112 มีบทลงโทษรุนแรงเกินไป และการเปิดโอกาสให้ทุกคนในประเทศฟ้องร้องกันด้วยจ้อหาดังกล่าวได้นั้นเป็นผลเสียมากกว่าผลดี นายอานันท์ อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “ผมไม่ชอบคุณอยู่นิดเดียว ผมแต่งเรื่องฟ้องคุณได้ จริงไม่จริงไปว่ากันทีหลัง” ตรงนี้เป็นจุดโหว่ที่ต้องมีการปิดประตู

ความคิดเห็นของบุคคลต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีผลใด ๆ ต่อศาลที่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจที่จะให้ หรือไม่ให้สิทธิการประกันตัว ภายใต้วัฒนธรรม และกระแสแห่งกษัตริย์นิยม ที่มีการโฆษณาชวนเชื่อกันอย่างเต็มที่ ย่อมส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมให้มีความโน้มเอียงภายใต้ความคิดที่ว่า “เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัว” ดังนั้นสำหรับผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงต้องถูกลงโทษให้สูญเสียอิสรภาพเป็นเวลาที่ยาวนาน

การดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในกรณีของนายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข จึงถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาตรา 112 เป็นกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชนและได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข กันอย่างกว้างขวางในระดับสากล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น