Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เปิดเบื้องลึกวงประชุม กกต. มติ4:1ให้แกน นปช. พ้น ส.ส. "จตุพร"ซัดผลโหวตไม่ปกติ

ที่มา: มติชนรายวัน หน้า 2 วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2554
หมายเหตุ - "มติชน" ได้รวบรวมความเห็นผู้เกี่ยวข้อง หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงมติ 4 ต่อ 1 ส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 91 เพื่อพิจารณาวินิจฉัยความเป็นสมาชิกภาพของ ส.ส.ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(4) เนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม เพราะถูกคุมขังโดยหมายศาล ส่งผลให้ขาดการเป็นสมาชิกภาพของพรรคตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 19 และมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
----------------
การประชุม กกต.เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน เพื่อพิจารณาว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.ของนายจตุพร ต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 106(4) ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เริ่มต้นจากการรายงานของคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 106 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.เป็นการเฉพาะไว้แล้ว สามารถนำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 20 มาตรา 19 และมาตรา 8 มาบังคับใช้ได้
โดย นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.มีความเห็น และลงมติยืนตามมติที่ประชุม กกต.ครั้งที่ 99/2554 วันที่ 15 กันยายน 2554 ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 91 ตั้งแต่แรกที่เห็นว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติ เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ประกอบมาตรา 8 ส่วนนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง มีความเห็นและลงมติยืนเช่นเดียวกับนายอภิชาต

ขณะที่ นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย เห็นควรให้ส่งเรื่องไปตามช่องทางมาตรา 91 เช่นกัน แต่มีความเห็นเพิ่มเติมว่าเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน ต่อไปอาจยังมีปัญหาโต้เถียงกันว่าการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของนายจตุพรสิ้นสุดลง ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 20(3) อันจะส่งผลให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(4 ) หรือไม่ และเมื่อใด
นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม เห็นควรให้ส่งเรื่องไปตามช่องทางมาตรา 91 เช่นกัน แต่มีความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้มีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่าจะนำ พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 20 มาขยายความเกี่ยวกับการสิ้นสุดลง ซึ่งสมาชิกภาพของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ไว้ในมาตรา 101 และมาตรา 102 โดยยกเว้นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100(3) ซึ่งอาจมีความไม่สอดคล้องกัน จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยหลายชุด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลรัฐธรรมนูญ จึงควรวินิจฉัยเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน

นางสดศรี สัดยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรค การเมือง ซึ่งเป็น กกต.เสียงข้างน้องเพียงหนึ่งเดียว มีความเห็นว่าสมาชิกภาพของนายจตุพรยังไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 เพราะเมื่อพิจารณาตามมาตรา 106(5) ประกอบมาตรา 102(3) และมาตรา 100(3) แล้วเห็นว่าบุคคลที่ถูกคุมขังโดยหมายของศาล นอกจากมีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.แล้ว ก็ยังไม่ขาดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ภายหลังการประกาศผลให้ผู้นั้นเป็น ส.ส.แล้ว และในมาตรา 106 ได้บัญญัติถึงเหตุแห่งการสิ้นสุดของสมาชิกภาพของ ส.ส. ไว้เพียง 11 ข้อ การใช้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองจึงไม่อาจกระทำได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ได้ระบุ เฉพาะให้นำคุณสมบัติตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาบังคับใช้เท่านั้น

ในกรณีนี้ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ พท. ส่งเอกสารยืนยันว่านายจตุพรไม่ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิก พท. จึงมีผลทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพรไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติการสิ้นสุดสมาชิกภาพตามมาตรา 106 ไว้อย่างชัดเจนแล้ว การนำบทบัญญัติการสิ้นสุดสมาชิกพรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ. พรรคการเมือง มาขยายความ หรือตีความประกอบการใช้มาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ระบุไว้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ของประเทศบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้เป็นอันใช้บังคับไม่ได้


จตุพร พรหมพันธุ์:

เรื่องที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในระหว่าง การถูกควบคุมตัว ถูกคุมขังเพราะถูกถอนประกันได้แสดงเจตนาไปยังศาลว่าต้องการจะขอประกันตัวไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยได้อ้างคำสัมภาษณ์ของนางสดศรี สัตยธรรม หนึ่งใน กกต.ว่าถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะทำให้ขาดคุณสมบัติของการเป็น ส.ส. ซึ่งได้แนบใบคำร้องเพื่อขออนุญาตไปใช้สิทธิแล้วจะกลับมาถูกคุมขังต่อ ซึ่งศาลให้เหตุผลในเวลานั้นว่า กรณีของนางสดศรีเป็นเพียงแค่การให้ความเห็นเท่านั้น

ก่อนหน้านี้มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาหลายชุด ทุกชุดก็ยกคำร้องว่าผมไม่ขาดคุณสมบัติ แต่ กกต.ชุดใหญ่ที่นำโดยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาทั้งที่มีเรื่องของ ส.ส.คนอื่นที่ถูกร้องเรียนเรื่องทุจริตมากมาย

ฉะนั้น เมื่อ กกต.มีมติเช่นนี้โดยอะไรก็ตาม เชื่อว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติว่าการที่พุ่งเป้ามาใส่ผมนั้นมีเป้าหมายมากกว่านี้หรือไม่ เพราะขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งต่อไปยังสภา ผู้แทนราษฎร นักวิเคราะห์บางส่วนบอกว่าจะ ให้ประธานสภาดึงเรื่องเอาไว้ แต่ผมบอกไปยังประธานสภาคือคุณสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ว่าไม่ต้องดึงเพื่อจะช่วย ให้เรื่องส่งไปถึงศาล รธน.เลย เมื่อศาล รธน.จะดูแล้วตัดสินหรือวินิจฉัยเลยก็ไม่มีปัญหาอะไร

เพราะผมรู้คำตอบอยู่แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร คำถามต่อไปคือเขาคิดอะไรต่อว่าจะเดินเรื่องยุบพรรคเพื่อไทยต่อไหม หรือจะกดดันให้พวกผมออกมาเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง เพราะเรื่องนี้เป็นปมประเด็นทางการเมือง เมื่อวาน (29 พฤศจิกายน) หลังจากที่ กกต.มีมติก็บอกตัวเองว่าไม่โกรธ ซึ่งวันนี้หน้าที่ของ กกต.จบแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องของประธานสภา

โคทม อารียา: (อดีต กกต.)

ผมมีความเห็นต่างจาก กกต. ซึ่งเป็นเรื่องของวิจารณญาณของแต่ละบุคคลที่เห็นต่างกันได้ แต่รู้สึกว่าแปลก เพราะเขาถูกคุมขังอยู่ ก็ต้องพิจารณากันตามเจตนารมณ์ว่าเขาอยากออกไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่าประชาชนมีหน้าที่ ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง หากไม่ไปทำหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรจะถูกตัดสิทธิ ส่วนกฎหมายนี้จะให้สิทธิแก่ผู้ถูกคุมขังอย่างไรนั้น ก็ไม่มีการเขียนลงไปในรายละเอียดว่าหากไม่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง จะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ซึ่งนายจตุพรสามารถชี้แจงถึงเหตุผลต่างๆ แก่ทาง กกต.ได้ แต่ผมไม่รู้ว่านายจตุพรเคยไปให้เหตุผลหรือไม่ เพราะ กกต.จะทำหน้าที่ที่ในการวินิจฉัยว่าเหตุผลนั้นสมควรหรือไม่อย่างไร

เชื่อว่าหากนำ พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 20 มาพิจารณากรณีนายจตุพร จะไม่เป็นการขัดกันกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 หากกฎหมายขัดกันต้องมีผู้แย้ง หรือนำมาเป็นประเด็นแล้ว คนที่ร่างกฎหมายต้องพิจารณาดูแล้วว่ากฎหมายขัดแย้งกันหรือไม่ ซึ่งความเห็นทางกฎหมายนั้น สามารถเห็นต่างกันได้

จากนี้นายจตุพรต้องไปสู้กันต่อ เพราะทาง กกต.จะต้องทำเรื่องส่งให้ประธานสภา เป็นผู้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยต่อไป


นายสมชาติ เจศรีชัย: (รองเลขาธิการ กกต.รักษาการเลขาธิการ)
กกต.คาดว่าจะใช้เวลาเขียนสำนวนนายจตุพร 5-10 วัน จากนั้นจะส่งเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัยตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ประธานสภาอาจใช้เวลาในการตรวจเอกสารว่าถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งตามปกติจะใช้เวลาราว 10-30 วัน ขั้นตอนนี้ประธานสภาจะตัดสินใจไม่ส่งเรื่องให้ศาล รธน.ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 เขียนล็อกเอาไว้ว่าต้องส่ง เมื่อไปถึงศาล รธน.จะพิจารณาว่าจะรับคดีนี้ไว้พิจารณาได้หรือไม่ ซึ่งคดีนี้เป็นการขอให้วินิจฉัย ไม่ใช่ขอให้ตีความ ตามปกติแล้วศาล รธน.จะต้องรับไว้พิจารณา เว้นแต่วิธีการส่งเรื่องให้ศาล รธน.ไม่ถูกต้อง


ทั้งนี้ ภายหลังศาล รธน.รับไว้พิจารณาแล้ว จะขอให้คู่ความ ได้แก่ กกต.และนายจตุพรทำหนังสือชี้แจง หรืออาจใช้วิธีเรียกมาให้ปากคำ กระทั่งได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนถึงจะนัดวันวินิจฉัย โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนจะทำความเห็นส่วนตัว ก่อนลงมติว่าจะให้นายจตุพรพ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.หรือไม่ หากพ้นจะแจ้งมายังประธานสภาเพื่อแจ้งมายัง กกต.ให้เลื่อนผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของ พท.ลำดับถัดไปขึ้นมาแทน


ขั้นตอนจาก กกต.และสภาก่อนไปถึงศาล คาดว่าจะใช้เวลาราว 30-45 วัน ส่วนขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาล รธน.ในคดีลักษณะเดียวกันที่ผ่านมาจะใช้เวลาราว 3 เดือน โดยสรุปขั้นตอนต่างๆ กว่าจะรู้ว่านายจตุพรต้องพ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.หรือไม่ อาจใช้เวลาราว 5-6 เดือน แต่ระหว่างนี้นายจตุพรยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ได้ต่อไป เนื่องจากเป็นการขอให้ศาล รธน. วินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ไม่ใช่การขอให้เลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) หรือขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. (ใบแดง) ที่เมื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ส.ส.ผู้นั้นจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 239 วรรคสอง


สำหรับความเห็นของนางสดศรี สัตยธรรม กกต.เสียงข้างน้อย ที่เห็นว่านายจตุพรไม่ขาดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. จะถูกระบุว่าไว้ในสำนวนที่ กกต.จะส่งให้ศาล รธน.พิจารณาด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น