Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ทำไม?...พันธมิตรฯ ถอยทางยุทธศาสตร์ ให้ ปชป.รับบทผู้ร้าย ในเกมรุกของเพื่อไทย

โดยมุกดา สุวรรณชาติ
หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 30 ส.ค.-5 ก.ย.2556)




 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศถอยทางยุทธศาสตร์

ครั้งนี้ไม่ใช่การถอยทางยุทธวิธี ไม่ใช่การหลอกล่อ แต่ทำไมต้องมาทำตอนนี้?

ทัพพันธมิตรฯ ต่างกับ 5-6 ปีที่แล้ว เพราะวันนี้ขาดทั้ง กำลังคน เสบียง อาวุธ แนวร่วมชั้นสูง การถอยทางยุทธศาสตร์จึงเป็นการตัดสินใจที่เหมาะกับสถานการณ์ของแกนนำ

ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นยุทธวิธีหลอกล่อ เพราะแกนนำพันมิตรฯ ได้รับรู้จากบทเรียนความพยายามในการชุมนุมต่อสู้ทางการเมือง ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาทั้งของพันธมิตรฯ เองและของทุกกลุ่มว่าจุดติดยากมาก

มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนกลางๆ แม้รัฐบาลจะบริหารไม่เก่งมากแต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังยอมรับ ผู้คนอยากให้บ้านเมืองสงบ

ในสถานการณ์แบบนี้ เมื่อมีแรงกดดันบางอย่างเกิดขึ้นก็เป็นจังหวะที่จะถอยทางยุทธศาสตร์ ซึ่งแม้ไม่ได้รับบทพระเอก แต่การถอยครั้งนี้ ทำในจังหวะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อาละวาดเต็มที่ จึงเป็นการยกบทผู้ร้ายให้ ปชป. รับไปเต็มๆ แต่พันธมิตรฯ ชิ่งออกจากมุม มาหาทางเลือกที่ดีกว่า

แกนนำพันธมิตรฯ ได้ออกแถลงการณ์ที่อ้างว่าเป็นฉบับสุดท้าย เมื่อ 23 สิงหาคม 2556 สรุปโดยย่อว่า

1. ที่พันธมิตรฯ ยังไม่นำมวลชนเคลื่อนไหวในขณะนี้ เนื่องจากแกนนำพันธมิตรฯ ได้ถูกกลั่นแกล้งโดยการยัดเยียดข้อหาร้ายแรงอันเป็นเท็จ และเพิ่มผู้ต้องหาจำนวนถึง 96 คน ในสมัยรัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์ ทำให้เคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้ เพราะศาลอาญาก็ได้มีคำสั่งให้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไขว่า

"ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ฯลฯ ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล"

หากแกนนำพันธมิตรฯ นำประชาชนเคลื่อนไหวอีกเพียงครั้งเดียว อาจถูกถอนการประกันตัว ต้องติดคุก การเสียสละของแกนนำก็ไม่ได้มีไว้เป็นบันไดให้ฝ่ายค้าน เหยียบขึ้นสู่อำนาจ และต่อให้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลสำเร็จ ก็ยุบสภา หากมีการเลือกตั้งใหม่พรรคเพื่อไทยและระบอบทักษิณก็จะได้รับชัยชนะกลับมาเป็นรัฐบาล หรือแม้หากมีการสลับขั้วทางการเมือง หรือการรัฐประหาร โดยปราศจากเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศไทย หลังจากนั้น ปัญหาวิกฤติของชาติก็ยังอยู่

2. พันธมิตรฯ ได้เสนอให้ ส.ส. ของ ปชป.เสียสละลาออกมา สร้างกระแสเคลื่อนไหวเพื่อหยุดระบบการเมืองที่ล้มเหลว หากเป็นเช่นนั้นแกนนำพันธมิตรฯ ก็พร้อมเสียสละ และจะร่วมมือกับ ปชป. เพราะเวลานี้พันธมิตรฯ ไม่มีพลังพอที่จะนำการชุมนุมเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยได้ แต่ ปชป.มีฐานเสียงถึง 12 ล้าน มี นักปราศรัย นักกฎหมาย มีเงิน สถานีโทรทัศน์ ฯลฯ อีกทั้งผู้บริหาร ปชป. ไม่โดนคำสั่งศาล จำกัดบทบาทเหมือนกับแกนนำพันธมิตรฯ จึงทำงานง่ายกว่า

แต่เมื่อ ปชป. ปฏิเสธไม่ลาออกออกมาร่วมสู้กับประชาชน ก็แสดงว่าหวังเพียงโค่นล้มรัฐบาลโดยยืมมือมวลชนกลุ่มอื่น ปชป. จึงเป็นปัญหาส่วนหนึ่งของประเทศและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศไทยด้วย จึงต้องรับผิดชอบในผลที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อบ้านเมืองต่อไปด้วยเช่นกัน

3. แกนนำพันธมิตรฯ ทั้งรุ่น 1 และ รุ่น 2 จึงมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ยุติบทบาทจากฐานะแกนนำ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ตัดสินใจเคลื่อนไหวอย่างอิสระเสรี และเปิดโอกาสให้เกิดขบวนการใหม่ในสังคมไทย โดยไม่ต้องรอแกนนำพันธมิตรฯ อีก และจากนี้ควรมีกลุ่มอื่นหรือคนอื่นมาทำ และมานำการต่อสู้บ้าง เช่น ทหาร ภายใต้จอมทัพไทยและศาลที่กระทำการภายใต้พระปรมาภิไธย ตลอดจนผู้ที่มีบทบาทในบ้านเมือง รวมถึงประชาชนทั่วไป

4. แม้แกนนำจะได้ยุติบทบาทไปแล้ว แต่ทุกคนก็ยังคงเป็นพันธมิตรฯ อยู่เหมือนเดิม จนกว่าสถานการณ์จะถึงพร้อมที่ประชาชนอยากเปลี่ยนแปลงเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย แกนนำ ก็พร้อมจะกลับมารวมตัวกันใหม่หากประชาชนยังคงต้องการ

จากแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ สามารถชี้สาเหตุและเป้าหมายทั้งที่เปิดเผยและแฝงเร้น ที่อาจเกิดจากแรงกดดันพิเศษ และการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ที่ทำให้แกนนำพันธมิตรฯ ต้องตัดสินใจทางยุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพของกลุ่มตนเองที่ยังคาอยู่ในระหว่างการต่อสู้ของเพื่อไทยกับ ปชป.

การถอยทางยุทธศาสตร์ของพันธมิตรฯ
พอประเมินเป้าหมายได้ดังนี้


1.ทีมวิเคราะห์มองว่าพันธมิตรฯ อ่านเกมหลังจากที่ ปชป. พาคนเดินมาส่งที่หน้าสภาว่ามวลชนทั่วไปไม่อยากเล่นเกมบนท้องถนน ถ้า ปชป. จะระดมมวลชนของตนมาจริง เพื่อสู้นอกสภา ก็อาจจะได้ถึง 1 หมื่นคน แต่ก็จะทำอะไรไม่ได้มาก คงคล้ายเวทีผ่าความจริง บนท้องถนน ส่วนเกมในสภา การป่วนและถ่วงเวลาของ ปชป. ก็ทำลายทั้งชื่อเสียงของตัวบุคคลและพรรคตัวเองไปเรื่อยๆ ดูแล้วไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้

ดังนั้น พันธมิตรฯ ไม่ต้องเกรงใจ ปชป. อีก เพราะบทเรียนที่ผ่านมา มีแต่ถูกขโมยชัยชนะ ครั้งนี้เมื่อ ปชป. มาขอแรงอีก จึงได้จังหวะสวนกลับ ด้วยการถอนตัว ไม่เข้าร่วมศึกครั้งใหม่ ซึ่ง ปชป. กำลังรบติดพันอยู่

เป็นการสั่งสอนและแก้เผ็ดเอาคืน

ในขณะเดียวกัน ก็เสนอสิ่งที่ ปชป. ทำไม่ได้คือให้ลาออกจาก ส.ส. เลิกการต่อสู้ทางรัฐสภา ซึ่งเป็นเวทีที่ ปชป. ถนัดที่สุด ถ้า ปชป. ทำตามนี้ ถอยลงมาสู้ในท้องถนนเมื่อใดก็จะกลับมาเป็นลูกไล่ของพันธมิตรฯ เมื่อนั้น

สำหรับ ปชป. ปฏิกิริยาตอบสนองในเรื่องนี้คือรีบประกาศ ดึงมวลชนของพันธมิตรฯ มาอยู่กับตน โดยอ้างว่ามีอุดมการณ์ต้านทักษิณเหมือนกัน

แต่ ปชป. ลืมคิดไปว่าแนวทางของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้ต่อสู้ในสภา ไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง

ดังนั้น มวลชนของพันธมิตรฯ จึงเป็นแม่สี สีเหลืองที่เข้มข้นกว่าสีฟ้าของ ปชป. เมื่อนำไปผสมกันแล้วยังไงก็ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นสีฟ้าได้

2. พันธมิตรฯ ต้องการประกาศให้ทุกกลุ่ม ทุกคนรู้ว่า ในเมื่อกลุ่มต่างๆ ไม่เห็นคุณค่าของพันธมิตรฯ ซึ่งดูได้จากการชุมนุมในครั้งหลังๆ ที่มีคนมาร่วมน้อยมาก การสนับสนุนในทางการเงินก็น้อย สิ่งที่ได้รับอาจจะเป็นคดีที่เพิ่มขึ้น

บทเรียนของ สนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นแกนนำในการถูกลอบสังหารจากคนกันเองหลังเสร็จศึก ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ไม่จำเป็นต้องแบกโลกไว้กลุ่มเดียว ควรยกภาระต่อต้านทักษิณให้คนอื่นไปทำบ้างตามที่แถลงการณ์ไว้ เช่น ทหาร ศาล คนดี คนดังอื่นๆ ที่ชอบแอบอยู่เบื้องหลังคอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์และอำนาจ (ดูซิว่าจะมีปัญญาทำได้ไหม)

และการตัดสินใจครั้งนี้ทำให้มวลชนของพันธมิตรฯ และกลุ่มอื่นๆ สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ไม่ต้องมารอคอยการตัดสินใจและกำลังกลุ่มพันธมิตรฯ ส่วนแกนนำก็ไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ยังไม่สลายตัว พร้อมกลับมาเคลื่อนไหวได้ จึงยังคงรักษาสายสัมพันธ์กับมวลชนเสื้อเหลือง ผ่านจอทีวีอยู่

(ควรอ่านแถลงการณ์โดยละเอียด จะรู้ความหมายและเป้าหมายว่า แกนนำพันธมิตรฯ ส่งข้อความถึงใคร? ว่าอะไร?)

3. การถอยทางยุทธศาสตร์ทำให้แกนนำพันธมิตรฯ มีทางเลือก ถ้าหากสถานการณ์ออกมาแบบที่ทุกอย่างเข้าสู่ความสงบ การนิรโทษกรรมมวลชนผ่านไปได้ ต่อไปก็น่าจะมีการนิรโทษแกนนำ ซึ่งแกนนำพันธมิตรฯ ไม่ได้ไปฆ่าใคร มีตัวอย่างของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งวันนี้มาแสดงตัวเป็นนักประชาธิปไตย ทั้งที่เคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แสดงว่าประเทศนี้ พอถอดเสื้อก็เปลี่ยนอุดมการณ์ได้

แต่ถ้าสถานการณ์การเมืองดุเดือดขึ้นและต้องการเข้าร่วมต่อสู้ ก็จะทำ แต่...แกนนำพันธมิตรฯ จะร่วมในเงื่อนไขที่ไม่ยกอำนาจและผลประโยชน์ให้คนอื่นอีกแล้ว ไม่ว่าจะอ้างใคร ใหญ่แค่ไหน ก็ไม่ทำให้ฟรี

เกมเพื่อไทย
โยนของหนักให้ ปชป. รับไป...ถ่วง...อย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์บังคับให้เพื่อไทยต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองอย่างเร่งด่วนในฐานะที่เป็นผู้บริหารประเทศ ไม่มีเวลามานั่งเล่นลิ้นต่อปากต่อคำ จึงต้องเข้าตีทุกเป้าหมาย โดยใช้แนวรบสภา เริ่มด้วยกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภา แม้ไม่ทันจบเรื่องนี้ แต่เพื่อไทยก็ดันกฎหมายงบประมาณ 2557 เข้าไปตามคิว แม้ถูกดึงถ่วงเวลา ด้วยการอภิปรายออกไป จนต้องมีพักครึ่ง แต่เพื่อไทยไม่พักด้วย เพื่อไทยดันกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญเข้ามาเร็วเกินกว่าที่ทุกคนคาดไว้ โดยเฉพาะเป็นมาตราหัวใจของอำนาจเผด็จการ คือเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา

แนวรบนอกสภาซึ่งตามที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคุยไว้ไม่ได้ผล โดยเฉพาะเมื่อมือโปรแบบพันธมิตรฯ ถอยออกไปนั่งดู วันนี้จึงเหลือแต่ม็อบหมุนเวียน เช่น ดาวแดง หน้ากากขาว ล่าสุดคือม็อบช่างกล ถ้าคุมไม่ดีเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นจะมีคนติดคุก

แนวรบหลักในวันนี้จึงกลับไปอยู่ในสภา ปชป. ใช้วิธีป่วนสภาให้วุ่นวายเพื่อถ่วงเวลาซึ่งก็ได้ผล สภาเสียเวลาไปมากโดยแทบไม่ได้อภิปรายเนื้อหากฎหมายต่างๆ มีแต่การเดินเกม แก้เกมกัน

ปชป. มีการเตรียมผู้อภิปรายไว้นับร้อยคนมีการประท้วงทุก สามนาที ห้านาที ประท้วงแม้คนในพรรคเดียวกัน มีโห่ มีฮา มีส่งเสียงโหยหวน

สองสัปดาห์ เพื่อไทยโยนของหนักเข้ามาสามดอกซ้อน สภาก็ป่วนเป็นธรรมดา แต่การอาละวาดอย่างไม่มีเทคนิคทางการเมืองยิ่งทำก็ยิ่งเสียภาพพจน์ที่สะสมมาหลายสิบปี

เพื่อไทยแก้เกมแบบง่ายๆ คือเมื่อ ปชป. อยากถ่วง อยากดึง ก็สู้ในสภาเท่าที่ทำได้ แล้วก็ปล่อยให้ ปชป. อุ้มกฎหมายนิรโทษกรรมไว้ เพราะอีกไม่นานกฎหมายนิรโทษกรรมก็จะผ่านออกมาได้ และชาวบ้านก็จะรู้ว่าไม่มีเกี่ยวอะไรกับทักษิณ การโกหกที่ผ่านมาจะไม่ได้ผล

ต่อมาก็โยนกฎหมายงบประมาณ 2557 ลงมาตามวาระโดยไม่กลัว ปชป. จะถ่วงจะดึง และก็ผ่านในที่สุด

จากนั้นก็โยนกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญลงมาให้ ปชป. อาละวาด และถ่วงเวลา ประชาชนที่รู้เห็นการอาละวาดในสภา ยิ่งรู้ถึงเบื้องหลังรัฐธรรมนูญ 2550 ยิ่งได้ข้อสรุปว่าที่การเมืองเป็นแบบนี้ยิ่งต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้าน ก็จะถูกส่งเข้าสภาอีกครั้งให้ ปชป. โชว์ฝีปากคัดค้าน แม้ถูกป่วน ถูกถ่วงเวลาอย่างใดก็ต้องผ่านในที่สุด เพราะนี่เป็นงบประมาณการพัฒนาของประเทศ ที่คนทุกกลุ่มฝากความหวังไว้ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

แม้เป้าหมายในทางยุทธวิธีถือว่า ปชป. บรรลุการถ่วงเวลาได้ระดับหนึ่ง แต่ในทางยุทธศาสตร์เพื่อไทยได้มากกับได้น้อย ส่วน ปชป. และกลุ่มอำนาจเก่า เสียมากกับเสียน้อย

ถ้า ปชป. จะดึงจะถ่วงทุกเรื่องของชาติลงใต้น้ำ ตนเองก็ต้องลงไปใต้น้ำด้วย งานนี้อาจจมน้ำตายได้

วันนี้คนไทยได้เห็นการถอยของพันธมิตรฯ เห็นการตั้งสภาปฏิรูป เห็นการนิ่งสงบของทหาร ประชาชนรู้สึกได้ถึงแนวโน้มที่ดีขึ้น

แต่ถ้าอยากรู้ สถานการณ์ข้างหน้า ให้จับตาองค์กรอิสระ จับตาคดีการเมืองในศาลทุกคดี จะรู้ทิศทางของอำนาจตุลาการ

ถ้าการปะทะกันในสภาของ ปชป. กับเพื่อไทย ถูกจำกัดอยู่ในห้องประชุม แสดงว่าอำนาจนิติบัญญัติ ทำงานไปได้ เหลือแต่ฝ่ายบริหารว่าจะฝ่าพายุเศรษฐกิจที่กำลังพัดเข้าไทยได้ดีแค่ไหน
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และ ครม. เศรษฐกิจควรฝากเรื่องการเมืองไว้กับสภา หันมาตั้งรับพายุนี้ให้ดี

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น