Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

ประวิช รัตนเพียร เปี๊ยนไป๋..ประกาศตั้ง 10 อรเหี้ย


ข่าวเจาะลึก
จาก REDPOWER ฉบับ 25 เดือน เมษายน 55


ประวิช รัตนเพียร ด๊อกเตอร์หนุ่มมาดนิ่มที่มีอดีตงดงาม แต่อนาคตยืนยันได้ว่าน่าจะอยู่ได้ไม่งามและตายก็จะไม่มีใครประกาศนามให้ จากอดีตเป็นเพื่อนสนิท เรียนเซนต์คาเบรียลห้องเดียวกับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ (หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาดั้งเดิมตัวจริงศิษย์น้าชาติ) เคยเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวงและล่าสุดก่อนที่จะเปี๊ยนไป๋ พ.ต.ท.ทักษิณแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนทางการค้าแต่อยู่ๆคนในแวดวงการเมืองก็มาเห็นชื่อเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาในฐานะหัวหอกออกมาต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เส้นทางของกระทาชายนายนี้เป็นอย่างไรให้ลองตามมาดู

นายประวิช รัตนเพียร เป็นลูกชายคนโตของนักการเมืองคนสำคัญคือ นายประชุม รัตนเพียร เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2526 และเป็นอดีตสมาชิกพรรคประชากรไทยลูกพรรคนายสมัคร สุนทรเวช และเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯนายประวิช ก็มีฐานะทางการเมืองใหญ่โตในฐานะผู้แทนการค้าของไทยเพราะเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์มาก่อนและเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณถูกยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 แต่เมื่อกลับมาใหม่ในนามพรรคพลังประชาชนมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ดร.ประวิช ก็ยังดูดีอยู่คู่คี่กับนายสมัครนายเก่า โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่พอเกิดการรัฐประหารเงียบด้วยคณะตุลาการภิวัฒน์ยึดอำนาจจากนายกฯสมัครและนายกฯสมชายแล้ว อำมาตย์ก็ทำการสถาปนาให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ณ กองทหารราบที่ 11  โดยนายเนวิน ชิดชอบ เจ้าของวลีแสบที่ทักษิณลืมไม่ลงว่า นายครับมันจบแล้วครับ ดร.ประวิชก็หอบผ้าหอบผ่อนหนีตามชายปากห้อยไปอยู่กับฝ่ายอำมาตย์ด้วย โดยอาศัยสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับป๋าและอนุทิน(เสี่ยหนู)อดีตลูกพรรคชาติพัฒนาและเป็นคนหัวอกเดียวกันที่ไม่กินเส้นกับเสี่ยสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ในระยะหลังตัวเขาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบอร์ดการบินไทย ในฐานะที่นายเนวินคุมกระทรวงคมนาคม แต่เมื่อการเมืองผันเปลี่ยน ผลการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยชนะอย่างท่วมท้น นางสาวยิ่งลักษณ์ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ดร.ประวิชจึงศึกษาวลีแสบของเนวินทำความเข้าใจใหม่ในฐานะด๊อกเตอร์แล้วกล่าวว่า นายครับผมยังไม่ยอมจบครับ จึงต่อสายตรงเข้าบ้านสี่เสาและด้วยสายสัมพันธ์เก่าประกอบกับเป็นคนเรียบร้อยตรงสเป๊กป๋าจึงได้รับรางวัลอย่างงดงาม โดยได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาและแถมรางวัลพิเศษให้น้องสาวสุดที่รักชื่อ ดร.วิชุดา รัตนเพียร เป็นสว.แต่งตั้งด้วยอีกคนหนึ่งและด้วยเหตุนี้เมื่อสถานการณ์การเมืองเคลื่อนตัวเข้าสู่สมรภูมิสงครามแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นมหาภารตะยุทธ ดร.ประวิชจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้จึงจำต้องสวมเสื้อเกราะทองเหลืองออกทำการยุทธ เพื่อทดแทนบุญคุณด้วยการประกาศตัวเปิดเผยออกมาแถลงข่าวตั้ง 10 อรหันต์ ที่เป็นนักวิชาการออกมาควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อ่านรายชื่อแล้วชาวเสื้อแดงจะเกิดอาการต่อมจี๊ดแตกและเปลี่ยนนามให้ทันทีว่าเป็น 10 อรเหี้ย เพราะล้วนแล้วแต่เป็นผู้สนับสนุนทั้งแบกทั้งหามการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ให้สำเร็จลุล่วงด้วยข้อกฎหมายและหลอกลวงประชาชนรวมตลอดทั้งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ 2550 ให้เสวยอำนาจกันอย่างอิ่มหมีพีมันสะดวกโยธินจนบ้านเมืองป่นปี้มาร่วม 6 ปี ยังไม่มีทีท่าจะฟื้นง่ายๆ

ดร.ประวิชได้บัญชาการรบเป็นฉากๆที่อภิมหาเสนาบดีใหญ่เห็นแล้วต้องลูบหัวขาวด้วยความพึงพอใจ เริ่มจากให้ สว.น้องสาวลงคะแนนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับ สว.แต่งตั้งกลุ่ม 40 อย่างแข็งขันและหลังจากต้องพ่ายแพ้ศึกลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาแล้ว ดร.ประวิชก็เตรียมม้าศึก 10 อรเหี้ยเข้าพันตูต่อสู้เพื่อโค่นล้มการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการนี้ให้ได้ แล้วตามด้วยตรวจสอบการแต่งตั้งรัฐมนตรีนางสาวนลินี ทวีสิน กับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โดยเอาผิดไม่ได้จึงตัดสินเลียนแบบคำพิพากษาประหลาดๆแบบตุลาการภิวัฒน์ว่า ไม่ผิดแต่ไม่เหมาะสม นายกฯต้องชี้แจง

เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้แล้วจะไม่ให้กล่าวว่าดร.ประวิช รัตนเพียร เปี๊ยนไป๊ได้อย่างไร

ดูเถอะจากด๊อกเตอร์มาดนิ่มกลายเป็นมาดทิ่มได้อย่างไร แค่ป๋าให้กินยาอำนาจ   2 ช้อนเล็กๆเท่านั้นก็ลืมหลักการประชาธิปไตยที่ อำนาจเป็นของราษฎรทั้งหลายไปได้ในทันที

วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

ดอม ด่านตระกูล : สิทธิเสรีของใคร?

การเมืองฉบับชาวบ้าน   
โดย  ดอม   ด่านตระกูล
จาก REDPOWER ฉบับ 25 เดือน เมษายน 55


สิทธิและเสรีภาพเกิดขึ้นมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์    คำปฏิญาณสิทธิและพลเมืองของคณะปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789  กล่าวว่า เสรีภาพเป็นสิทธิติดตัวของมนุษย์มาแต่กำเนิด  และสิทธิเสรีภาพนี้จะคงเป็นของมนุษย์ทุกคนตราบกระทั่งตาย  และไม่อาจถูกลบล้างได้

คำว่า เสรีภาพ นั้นหมายถึง  เป็นอิสระในการกระทำ  เช่น มนุษย์ย่อมมีเสรีภาพในร่างกายตนเอง  เสรีภาพในการนับถือศาสนา  เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการเขียน เสรีภาพในการอาชีพ เสรีภาพในการศึกษา  เสรีภาพในความรักความศรัทธา  เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น   หรืออำนาจอันชอบธรรมของผู้อื่นที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย 

ในประเทศไทยแต่ไหนแต่ไรมาผู้ปกครองไม่ได้ใส่ใจในกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด  ผู้นำไทยสามารถสั่งการใดๆตามใจชอบได้เสมอ  ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปิดโรงพิมพ์  สั่งให้พิมพ์เนื้อหา ข้อความตามใบสั่งหรือกวาดจับเข่นฆ่าผู้ที่มีความเชื่อ ความคิดเห็นในทางการเมืองที่แตกต่างกับรัฐก็สามารถกระทำได้โดยง่ายดาย 

นอกจากนี้ยังมีการกดขี่ทางเพศด้วยทัศนะที่ว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าเพราะค่านิยมที่สั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ในสังคมเล็กๆคือ ครอบครัวซึ่งนับเป็นแหล่งบ่มเพาะทัศนคติในเรื่องเพศเป็นอันดับแรก  การกดขี่สะท้อนชัดออกมาในเรื่องของการอบรมสั่งสอนที่ผู้หญิงจะมีกรอบในการใช้ชีวิตมากกว่าผู้ชายหลายอย่าง   แต่ครอบครัวก็เป็นเพียงจุดเล็กๆ   ถ้าครอบครัวนั้นอยู่ในโครงสร้างใหญ่ของสังคมที่มีการกดขี่ทางชนชั้นมักจะหลีกหนีไม่พ้นเรื่องการกดขี่ทางเพศ  เพราะทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน  ต่อเมื่อปลดแอกเรื่องการกดขี่ทางชนชั้นออกไปได้  การกดขี่ทางเพศย่อมลดน้อยลง 

ซึ่งมีตัวอย่างชัดเจนที่สุดในประเทศจีน  หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงปลดแอกทางชนชั้นในจีน  ผู้หญิงก็ถูกปลดแอกด้วยเช่นกัน  ไม่ต้องถูกบังคับให้มัดเท้าจนเล็กแกร็นผิดปกติอย่างที่ถูกทำให้เชื่อว่าสวยงาม ผู้หญิงมีสิทธิได้รับการศึกษา  ได้รับสิทธิในการทำงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ  ไม่ต้องอยู่อย่างขมขื่นใต้อำนาจกดดันแบบศักดินาอีกต่อไป  แต่อย่างไรก็ดีมีเรื่องการกดขี่ที่เป็นทัศนคติฝังรากลึกทางวัฒนธรรมที่ยังต้องต่อสู้กันต่อไป

ในประเทศไทยการกดขี่ ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพโดยผู้ปกครองมีมาตลอด  แต่ทุกยุคสมัยเรามีผู้กล้า นักเคลื่อนไหวทั้งที่เป็นนักคิด นักเขียน เป็นสื่อสารมวลชน นักศึกษา หรือแม้กระทั่งชาวนา ชาวไร่  กรรมกร ที่ออกมาต่อต้านเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในเรื่องต่างๆอยู่สม่ำเสมอ  ไม่ว่าจะเป็นขบวนการต่อต้านสงคราม  เรียกร้องค่าแรง  วันหยุด  สิทธิสตรีการลาคลอด  ขบวนการนักศึกษา ฯลฯ    นักเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิและผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับด้านสื่อสารมวลชนล้วนป่าวร้องต้องการ “สิทธิและเสรีภาพ”  สื่อมวลชนต้องการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเขียนและการพูดมากเป็นพิเศษ และสังคมยินดีให้สื่อมวลชนมีสิทธิพิเศษ เรียกว่า ฐานันดรที่ 4

อิทธิพลของกระแสการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพมีอยู่เนืองๆ   แต่จะปะทุใหญ่ขึ้นมาบ้างเป็นครั้งคราวไป  เช่นยุค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีการต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพ  ครั้งนั้นขบวนการนักศึกษาได้รับชัยชนะเพราะได้รับความร่วมมือจากกลุ่มกรรมกร ประชาชนทั่วไปและนักเรียนอาชีวะ  ขบวนการนักศึกษาได้รับการชื่นชมอย่างมาก  แต่ต่อมาได้มีการจัดตั้งกลุ่มกองกำลังขึ้นมาบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือและคุกคามต่อต้านการทำงานของนักศึกษา

เช่น กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ฯลฯ  กลุ่มคนเหล่านี้ถูกทำให้เชื่อว่านักศึกษาเป็นพวกฝ่ายซ้าย  เป็นคอมมิวนิสต์จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์   6 ตุลาคม 2519 เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้งฝ่ายประชาชนที่เข้าร่วมขบวนการนักศึกษาจึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้  มีการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ผลักดันให้ผู้เข้าร่วมขบวนการส่วนใหญ่ต้องเข้าป่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์  ทำให้ขบวนการต่อสู้ทางฝ่ายประชาชนในเมืองอ่อนแรงไป 

จากนั้นการเมืองในประเทศเป็นไปแบบที่เรียกกันว่า  ประชาธิปไตยครึ่งใบ  มาโดยตลอด  มีการเปลี่ยนผลัดอำนาจกันขึ้นมาสูบเลือดสูบเนื้อ โกงกินภาษีของประชาชน  การรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยแต่ละครั้งมักอ้างเหตุผลซ้ำๆกันว่า เพื่อขจัดการทุจริต และปกป้องสถาบันกษัตริย์

ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยในแต่ละยุคที่เกิดการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชน  และมีการปราบปรามโดยภาครัฐจะเห็นได้ชัดเจนว่า  เหตุการณ์เข่นฆ่าคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์นั้นไม่ได้แตกต่างอะไรจากเหตุการณ์สังหารชีวิตนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  ที่มีการปลุกระดมโจมตีให้คนไทยเกลียดกันเอง  ภาพที่น่าสลดใจที่สุดในยุคเดือนตุลาคม 2519  คือ ภาพคนไทยสามารถดูการเข่นฆ่าสังหารคนไทยอย่างโหดเหี้ยม แขวนคอ  เผาทั้งเป็น  ด้วยความเฉยเมย  และบางคนถึงกับยิ้มอย่างสะใจ พึงพอใจ 

มายุคปัจจุบันที่เป็นยุคอินเตอร์เนต   หลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ราชประสงค์ มีกลุ่มคนเข้าไปโพสต์แสดงความสะใจ พอใจ สมน้ำหน้า สมควรแล้วที่ถูกฆ่า ซึ่งความรู้สึกโกรธเกลียดชิงชัง และกลัวคอมมิวนิสต์กับความรู้สึกเกลียดชังคนเสื้อแดงไม่ได้แตกต่างกันเลย  นับเป็นเรื่องที่น่าตระหนกตกใจอย่างยิ่ง  เพราะนี่เราอยู่ในโลกยุคใหม่กันแล้ว  แต่ยังมีคนหลงยุคอยู่อีกไม่น้อย  คนเหล่านี้ถูกลวงหลอกให้เชื่อว่าตนเองเป็นผู้รักชาติ  กู้ชาติ  เหมือนสมัยปี 2519 ที่มีการโฆษณาว่า  การฆ่าคอมมิวนิสต์ก็เหมือนกับการฆ่าปลาถวายพระ  ผู้ฆ่าได้บุญเพราะทำให้ชาติพ้นภัย  ซึ่งความหลงผิดเช่นนี้น่าสงสารเป็นอย่างยิ่ง

เพราะในสังคมอารยะไม่ว่าคนผู้นั้นจะศรัทธาลัทธิ    ความเชื่อแบบใดก็เป็นสิทธิส่วนตัวของคนผู้นั้น   ไม่มีใครมีสิทธิจะเข่นฆ่าใครเพียงเพราะความเชื่อต่างกัน  

คำว่า สิทธิมนุษยชน ในประเทศไทย และองค์กรสิทธิมนุษยชน  หรือสภาสตรีแห่งชาติเป็นแค่ถ้อยคำสวยๆ ลวงโลกว่า ประเทศเราก็เป็นอารยะกับเขาเหมือนกัน   แท้จริงแล้วองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ทำงานอะไรเพื่อสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนจริงๆ   ไม่เคยต่อสู้เรียกร้องเพื่อปกป้องประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิอย่างเข้มแข็งและจริงจังอย่างที่สมควรกระทำ    หากบทบาทและหน้าที่กลับไปเน้นอยู่ที่เรื่องวัฒนธรรมอิงอยู่กับชนชั้นนำ  ไม่กล้าแตะประเด็นการเมือง  

ตั้งแต่เริ่มต้นการรัฐประหารครั้งล่าสุด 2549  ไม่มีการออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540  แต่กลับยอมรับให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อเขียนใหม่โดยไม่ละอายต่อบทบาทและหน้าที่ที่ต้องปกป้องสิทธิของปวงชนที่ถูกละเมิดโดยคณะรัฐประหารเลยสักนิด    ไม่ใยดีต่อการสังหารหมู่คนเสื้อแดง    ทำไม่รู้ไม่เห็นกับการสั่งจับกุมบล็อกเกอร์   สั่งปิดอินเตอร์เน็ต  การสั่งกรองรบกวนเนื้อหาข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ต   ไม่สนใจการจับประชาชนไปกักขังด้วยกฎหมายมาตรา 112  โดยไม่อนุญาตให้มีการประกันตัวทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิด   ไม่ออกมาปกป้องเมื่อเกิดการคุกคามจนถึงขั้นทำร้ายผู้มีความคิดเห็นต่าง

อีกทั้งสื่อมวลชนที่เคยต่อสู้เรียกร้องว่า รัฐคุกคามสื่อ  ต้องการได้รับสิทธิพิเศษและภาคภูมิใจกับฐานันดรที่ 4  กลับไม่เคยกดดันเรียกร้องให้องค์กรสิทธิออกมาทำหน้าที่ของตัว   ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือหลังรัฐประหารสื่อฟรีทีวีทั้งหมดนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียวมาโดยตลอด   ละทิ้งหน้าที่จรรยาบรรณไร้ความรับผิดชอบอย่างที่สุด

สิทธิและเสรีภาพเป็นคุณค่าพื้นฐานของความเป็นมนุษย์  พูดได้เต็มปากว่าปัจจุบันคนไทยทั้งประเทศถูกบังคับให้ใช้ชีวิตอยู่อย่างกึ่งมนุษย์   เพราะเห็นได้ชัดๆจากกฎหมายมาตรา 112 ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสูงสุดเพราะห้ามประกันตัวทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิด   ดำเนินการพิจารณาลับปราศจากการตรวจสอบจากสาธารณะยังกับอยู่ในยุคบ้านป่าเมืองเถื่อน    และที่สำคัญใครก็ตามที่พบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายมีสิทธิฟ้องร้องกล่าวโทษได้ทุกคน  ทำให้กฎหมายมาตรานี้มีปัญหามากเพราะเปิดช่องว่างให้เกิดการกลั่นแกล้งกันได้ง่าย
น่าแปลกใจที่มีผู้อาวุโสทรงความรู้ อีกทั้งผู้ที่เรียกตัวเองว่าปัญญาชน  และนักวิชาการออกมาต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ทั้งที่เมื่อครั้งที่คณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งนั้นเป็นการละเมิดสิทธิของพลเมืองชัดๆกลับยิ้มรับ
แต่คราวนี้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีหลักยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด  และเพื่อประโยชน์สุขสูงสุดของประชาชน   เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดอนาคตและรูปแบบสังคมของตัวเอง  และท้ายที่สุดย่อมต้องมีการทำประชามติตามหลักการของประชาธิปไตย  ทำไมจึงต่อต้าน?
อยากให้รัฐธรรมนูญมีรูปแบบอย่างไรทุกคนมีสิทธิที่จะนำเสนอ  ร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ด้วยสันติวิธี แล้วให้เสียงส่วนใหญ่ตัดสินอย่างที่ผู้มีอารยะเขาทำกันจะดีกว่าไหม?   
เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศให้เป็นธรรม  เป็นของประชาชน และเพื่อประชาชนแล้ว   คำว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกันตามหลักการของประชาธิปไตยจะไม่มีวันไม่เกิดขึ้นในประเทศนี้อย่างแน่นอน 
………………………………………………………………………………………………………

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

เปิดหัวหน้าคณะปฏิวัติตัวจริงบาปกรรมของใคร? ที่ใช้สนธิ

จาก REDPOWER ฉบับ 25 เดือน เมษายน 55
โดย กองบรรณาธิการ

พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาหัวหน้าคณะปฏิวัติ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ตั้งคำถามพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์เมื่อ 21 มีนาคม 2555 จนพลเอกสนธิจนแต้มและตอบคำถามด้วยการไม่ตอบแต่หลังจากนั้นพลตรีสนั่นยังกล่าวตอกย้ำอีกเมื่อ 23 มีนาคม  2555 โดย กล่าวปราศรัยในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 ครั้งที่ 1 ของพรรคฯ ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า

"ผมงง ว่าท่าน พล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน) นักปฏิวัติ ห้ำหั่นกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แต่วันนี้กลับมาปรองดอง โดยประเด็นสำคัญคือ เห็นด้วยกับการวิจัยที่จะยกเลิก คตส. ผมก็งง จึงตั้งคำถามไปยัง พล.อ.สนธิ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าใครอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ เพื่อให้สังคมคลายความสงสัย ผมไม่ได้คิดร้ายกับท่านสนธิเลยส่วนคำถามผมก็ตอบง่ายๆ ว่า ใช่ หรือไม่ใช่ เพราะผมเชื่อว่าหากคนที่อยู่ในสถานการณ์ พูดความจริงแล้ว จะทำให้ความปรองดองเดินหน้า แต่คำถามนี้ท่านสนธิไม่ตอบ ไม่เป็นไร แต่ผมมองว่าถ้าปล่อยไปอย่างนี้ไม่เกิดความปรองดองจะเกิดวิกฤตที่รุนแรงกว่าเดิมแน่นอน...คณะรัฐประหารเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและมีภาพพลเอกเปรมนั้น ตนจึงถามว่าพลเอกเปรมพา คมช.เข้าเฝ้าฯหรือไม่หรือตามไปภายหลัง ตนจึงถามพลเอกสนธิตรงนี้ มันเป็นเรื่องสำคัญเพราะประชาชนอยากรู้ แต่เป็นสิ่งที่พลเอกสนธิไม่ตอบ"
ข่าวคำถาม ตอบ ระหว่างพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ กับ พลเอกสนธิ          บุญยรัตกลิน ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก
          ทำไมโลกจึงสนใจการรัฐประหารของไทยเมื่อ 19 กันยายน 2549 ทั้งๆที่ประเทศไทยผ่านการทำรัฐประหารมามากกว่า 20 ครั้งแล้วในรอบ 80 ปี ?
          เพราะการรัฐประหาร 19 กันยา มีลักษณะพิเศษที่จะบอกการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมการเมืองไทยครั้งใหญ่ด้วยปรากฏการณ์ดังนี้
1.เป็นการรัฐประหารครั้งแรกที่มีความพัวพันกับผู้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของตัวพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี เริ่มจากการเดินสายปราศรัยกับนักเรียนนายร้อยทั้ง 3 เหล่าทัพ และด้วยวลีที่บ่งบอกความหมายการเปิดไฟเขียวให้กระทำการรัฐประหารได้ด้วยคำว่า ม้าไม่ใช่ของจ๊อกกี๊ จ๊อกกี๊ไม่ใช่เจ้าของม้า รวมทั้งการปรากฏภาพพลเอกเปรมร่วมกับผู้นำเหล่าทัพในฐานะแกนนำคณะรัฐประหารที่เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในกลางดึกของคืนวันทำการรัฐประหารและเมื่อกระทำการรัฐประหารแล้วบรรดานายทหารทั้ง 3 เหล่าทัพและข้าราชการสายลูกป๋าเกือบทั้งหมดก็เข้าไปอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองต่างๆตั้งแต่คนเทกระโถนจนถึงลูกป๋าที่ใกล้ชิดคือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี , ลูกป๋าอย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ขึ้นเป็นประธานสภานิติบัญญัติ และนายประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ


2.เป็นการรัฐประหารครั้งแรกที่ดึงกลไกและบุคลากรของระบบตุลาการมาใช้งานทั้งระบบโดยเข้าไปอยู่ในกลไกอำนาจตั้งแต่เป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญเข้าไปเป็นคณะกรรมการในองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ และทำการตัดสินลงโทษ        พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และบรรดานักการเมืองและประชาชนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายเสื้อแดงที่แตกต่างกับการเคลื่อนไหวและการกระทำการที่ผิดกฎหมายของฝ่ายเสื้อเหลืองอย่างแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่การขอประกันตัวจนถึงการตัดสินลงโทษทั้งยุบพรรคและตัดสิทธินักการเมือง จนมีที่มาแห่งคำว่า ตุลาการภิวัฒน์ และสองมาตรฐาน เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย



3.เป็นการรัฐประหารครั้งแรกที่ใช้กลไกของระบบพรรคการเมือง   สื่อมวลชน และ ระบบราชการทั้งระบบเข้ามาขับเคลื่อนเพื่อทำลายทักษิณและประชาชนที่ผู้ทำการยึดอำนาจประณามใส่ร้ายว่าเป็นผู้ไม่จงรักภักดีและเป็นศัตรูต่อราชบัลลังก์

4.เป็นการรัฐประหารครั้งแรกที่ลงทุนสูงที่สุดเพื่อรักษาอำนาจและเป้าหมายของผู้กระทำการรัฐประหารที่กระทำอย่างยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ด้วยการยึดสนามบิน ยึดทำเนียบรัฐบาล และการเข่นฆ่าประชาชนอย่างโหดร้าย ในกรณีสังหารหมู่ประชาชนจากผ่านฟ้าถึงราชประสงค์และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจบสิ้นลงเมื่อไร
ดังนั้นข่าวคำถาม ตอบ ของเสธ.หนั่นและบิ๊กบัง ด้วยถ้อยคำที่มีความหมายอย่างมีเงื่อนงำถึงตัวบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังการสั่งการให้พลเอกสนธิ ทำการรัฐประหารทำให้พลเอกเปรม ดิ้นไม่หลุดจากตรรกะทางการเมืองของการทำอาชญากรรมทางการเมืองจนส่งผลให้บ้านเมืองเสียหายอย่างยิ่ง และเกิดความแตกแยกกันอย่างยิ่งอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย
ว่ากันตามความเป็นจริงแล้วมีผู้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมายในรอบ 5 ปีกว่าที่ผ่านมานี้  โดยสร้างระบบเหตุผลจากการต่อเชื่อมปรากฏการณ์ทางการเมืองจากหลายรูปธรรมจนเชื่อได้อย่างมีเหตุผลแล้วว่า พลเอกสนธิ มิใช่หัวหน้าคณะปฏิวัติตัวจริง และรู้อย่างปราศจากข้อสงสัยด้วยระบบเหตุผลแล้วว่า ใครคือหัวหน้าคณะรัฐประหารตัวจริงเพียงแต่คำสารภาพจากพยานบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์เท่านั้นที่ยังไม่ยอมออกมาพูดก็พอดีพลเอกสนธิได้ตอบคำถามชนิดตอบสดและขาดการตระเตรียม ด้วยการยิงตรงคำถามของเสธ.หนั่น ที่กระทำการตระเตรียมคำถามมาจากบ้านด้วยเป้าหมายทางการเมืองที่แอบแฝงทุกอย่างที่สงสัยและติดตามวิเคราะห์กันมาตลอด 5 ปีเศษผู้ฟังอย่างเราจึงถึงบางอ้อ
Red Power ก็เป็นหนึ่งในผู้สนใจและติดตามแสวงหารูปธรรมเพื่อหาคำตอบมาโดยตลอดและวันนี้ก็เป็นความภาคภูมิใจของหนังสือพิมพ์ฉบับเล็กๆที่รู้ความจริงจากการวิเคราะห์ก่อนที่ พลเอกสนธิ จะสารภาพ ปรากฏหลักฐานจากบทวิเคราะห์ของกองบรรณาธิการฉบับครบรอบ 5 ปี การรัฐประหาร ด้วยพาดหัวหน้าปกว่า 5 ปี การรัฐประหาร ปัญหามิใช่อยู่ที่ทักษิณ แต่อยู่ที่...........?(แฟนคลับคอการเมืองไปหาซื้อย้อนหลังได้จากท้องตลาดมืด ฉบับลงวันที่ 20 ประจำเดือน ตุลาคม 2554)


ฉบับนี้ยังมีบทความจากผู้ใช้นามปากกาว่านายทหารเอกกรุงธน ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์และนักเขียนประจำ Red Power ที่ตีพิมพ์ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์              Thai E-news เรื่อง เสียงครวญสดศรี ชี้บอกว่า ตุลาการวิบัติ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ก่อนที่พลเอกสนธิ จะสารภาพ และเพื่อความสะดวก กองบรรณาธิการจึงคัดมาตีพิมพ์ใน Red Power ฉบับนี้ด้วย

การออกมาให้สัมภาษณ์แก้ตัวของบรรดาลูกป๋าและอดีตลูกป๋าเช่น               พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ และอีกมากมายนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการตอกย้ำความจริงด้วยถ้อยคำปฏิเสธที่ไร้น้ำหนักแห่งเหตุผลทั้งสิ้น ซึ่งแทนที่จะเป็นผลประโยชน์ต่อพลเอกเปรมกลับส่งผลในทางตรงกันข้าม

วันนี้สำหรับพลเอกเปรมในวัยเกินกว่า 90 ปี และกำลังย่างเข้าหลัก 100 นี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเข้าสู่หลักธรรมคำสอนของท่านพุทธทาสเพื่อเข้าสู่นิพพานโดยง่ายด้วยคำว่า ตายก่อนตาย เสียเถิด

กรณีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นเวรกรรมของผู้ใช้พลเอกสนธิเองโดยไม่รู้ว่านายทหารผู้นี้มีความสับสนในระบบคิดเกี่ยวกับความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์อย่างยิ่ง

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

กรณีศึกษาปทุมธานี : โชคดีที่แพ้ก่อน

ส.ส.ดร.สุนัย จุลพงศธร
จาก Facebook Sunai Chulpongsatorn

 


การแพ้การเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.และนายกฯอบจ.ที่สังกัดพรรคเพื่อไทยในจังหวัดปทุมธานีเป็นเหตุการณ์สำคัญที่จะยกระดับการเรียนรู้ถึงพัฒนาการทางการเมืองไทยของ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และยกระดับการเรียนรู้ของขบวนการคนเสื้อแดงว่าการเมืองไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว และการเมืองไทยได้เข้าสู่กระบวนการแห่งเนื้อหาของประชาธิปไตยแล้วที่จะต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้งและจะต้องนับถือประชาชนเป็นพระเจ้าที่เดินดินแทนพระเจ้าที่อยู่บนฟ้า ผมจึงขอนำเหตุการณ์นี้เป็นกรณีศึกษา (Case Study) และขอบอกกับเพื่อนๆว่า เป็นเรื่องโชคดีที่แพ้ก่อนและสิ่งนี้คือความล้ำเลิศของระบอบประชาธิปไตยโดยมีข้อสังเกตดังนี้

1.ต้องยอมรับการตัดสินใจของพี่น้องปทุมธานี

ก่อนอื่นต้องยอมรับการตัดสินใจของพี่น้องชาวปทุมธานีก่อนว่าเขาพึงพอใจเช่นนั้นอย่าใช้ทัศนะของพรรคประชาธิปัตย์หรือทัศนะพวกอำมาตย์ที่ไม่เคารพประชาชน จะเห็นได้ว่าหากทุกครั้งที่พวกเขาแพ้เลือกตั้งพวกเขาจะบอกว่าพรรคฝ่ายตรงข้ามที่ชนะเกิดจากการซื้อเสียงแล้วนำไปสู่การให้ร้ายระบอบประชาธิปไตยทุกครั้งว่าเป็นธุรกิจการเมือง และจบลงที่รัฐประหารยึดอำนาจแล้วเริ่มต้นใหม่

การยอมรับนี้มิใช่เป็นการเสแสร้งแต่เป็นการยอมรับด้วยความจริงใจและน้อมรับผลการตัดสินใจมาศึกษาเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการของพรรคและของขบวนการคนเสื้อแดง     

 2.ใช้ท่าทีศึกษาที่ถนอมรักกันในหมู่มิตรสหาย

เมื่อเกิดความพ่ายแพ้ก็เป็นธรรมชาติของปุถุชนที่จะเสียใจ ดังนั้น จึงเกิดภาวการณ์ทางความคิดสุดโต่ง 2 ด้านคือ พวกหนึ่งจะเกิดความเสียใจอย่างรุนแรงเลยเถิดไปถึงเกิดความหดหู่ใจแล้วตัดสินใจละทิ้งขบวนการจนเลิกที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป รวมถึงไปปลุกปั่นคนใกล้ชิดให้หดหู่ใจและละทิ้งแนวทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย ส่วนอีกพวกหนึ่งจะเกิดความโกรธแค้นพวกเดียวกันแล้วด่าทออย่างไม่ถนอมน้ำใจโดยขาดการศึกษาข้อมูลว่าอะไรเป็นอะไรอย่างมีเหตุผล

แต่อย่างไรก็ตามต้องถือว่า มวลชนด่าว่าเพราะมวลชนรัก


เมื่อรักมากห่วงมากจึงด่ามาก ส.ส.เพื่อไทยก็ต้องน้อมรับฟังก็คิดเสียว่าในเมื่อประชาธิปัตย์ด่าว่าในสภายังอดทนนั่งฟังได้ เมื่อมวลชนด่าว่าด้วยความรักก็ต้องทนฟังได้

ปกติผมไม่ชอบที่จะรับรองใครแต่ในที่นี้ผมขอยืนยันว่าคุณสุเมธ ฤทธาคนี  เป็นส.ส.ที่ดีและมีความคิดกล้าต่อสู้คนหนึ่งในพรรคเพื่อไทยที่ได้เคยแสดงบทบาทร่วมกับคนเสื้อแดงต่อต้านการบุกยึดสถานีถ่ายทอดดาวเทียมของอำนาจเผด็จการทหารในรัฐบาลอภิสิทธิ์ สุเทพ เพียงแต่เป็นการก้าวพลาดครั้งสำคัญต่อการประเมินมวลชนและไม่ยอมรับฟังการทัดทานของผู้นำพรรคฯที่ห้ามไม่ให้ลาออกและผลจากการตัดสินใจผิดพลาดของคุณสุเมธนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งและจะเป็นผลร้ายต่อตัวคุณสุเมธอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นบทลงโทษจากการประเมินมวลชนผิดพลาด

ประชาชนเปรียบดุจดังท้องทะเลหากชาวประมงผู้ใดประเมินทะเลผิดก็อาจจะสูญเสียชีวิตในพายุใหญ่ท่ามกลางความเงียบสงบของท้องทะเล

3.นักการเมืองต้องเห็นหัว(ใจ)มวลชน


คำว่าเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางกินความลึกซึ่งมาก ถ้าจะพูดอย่างภาษาชาวบ้านคือ ต้องเห็นหัว (ใจ) มวลชน

เมื่อชนะเลือกตั้งยกเขตจังหวัดปทุมธานีในการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาอย่าได้คิดว่า มวลชนเป็นของเราความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ผิดเพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของมวลชน มีแต่ความถูกต้องเป็นเจ้าของมวลชน มีแต่นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อมวลชนเท่านั้นที่จะเป็นเจ้าของมวลชน

มวลชนเป็นผู้มีเหตุผล และเหตุผลของมวลชนมีภาวะผันแปรตลอดเวลา

มวลชนจึงไม่ต่างจากพระเจ้าตัวจริงที่เดินดินและใครที่อ้างว่าเป็นเจ้าของมวลชนและทำอะไรตามใจตัวเองโดยปล่อยให้มวลชนอดอยากและหลอกลวงมวลชนไปวันๆ วันหนึ่งเขาจะรู้ความจริงดังคำกล่าวข้างต้นว่ามวลชนคือพระเจ้าและไม่มีใครเป็นเจ้าของพระเจ้าได้นอกจากตัวพระเจ้าเอง

คำถามที่คุณสุเมธผู้ที่ลาออกจาก ส.ส.ไปสมัครนายกฯอบจ.แก้ไม่ตกคือ พวกผมเลือกคุณมาแล้วคุณลาออกทำไม ?

นักการเมืองทั้งหลายต้องรู้ว่าธรรมชาติแห่งมวลชนในระบอบประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งซ่อม ทุกครั้งโดยปกติรัฐบาลเสียงข้างมากจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะทัศนะคติของมวลชนคนเมือง(Voter) ที่มิได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลพึ่งพิงส.ส.และลัทธิบูชาตัวบุคคล จะมีความเห็นเป็นปกติว่า ก็รัฐบาลมีเสียงข้างมากแล้วทำไมพวกเขาจะต้องไปเพิ่มเสียงให้อีก ดังนั้น แนวโน้มของการเลือกตั้งซ่อมประชาชนมักจะเลือก ส.ส.ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเพื่อถ่วงดุล ยิ่งเป็นการลาออกด้วยจงใจเพื่อไปสมัครนายกฯอบจ.ที่คนทั่วไปเข้าใจว่ามีผลประโยชน์การถือเงินบริหารมากกว่าจึงเป็นเรื่องที่ถูกเหตุผลในทางร้ายถมทับอย่างแก้ไม่ตก

ลักษณะตัดสินใจเอาผลประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นตัวตั้งและหลงตัวเองว่า ประชาชนนิยมฉัน!” เป็นภาวะทั่วไปของส.ส.ไทยไม่ว่าพรรคไหนเพราะกรอบความคิดของส.ส.ไทยมักจะมองมวลชนเป็นเพียงพรรคพวกของหัวคะแนนที่ตนสามารถควบคุมได้

เพื่อนส.ส.เพื่อไทยอีกหลายคนขอให้เปลี่ยนทัศนะเสียเถิดอย่ามองข้ามเหตุผลของพระเจ้าผู้เดินดินเลย

เพื่อนเสื้อแดงทั้งหลายขอให้ทราบเถิดครับว่าผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยเขาห้ามแล้วและผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยที่ผมรู้มาเขาเหนื่อยกับส.ส.ผู้ดื้อรั้นอย่างไร้เหตุผลทางการเมือง แต่เขาพูดไม่ออกและขณะนี้ท่านจะเห็นความดื้อรั้นและภาวะสายตาสั้นของนักการเมืองผู้หลงตัวเองในการเลือกตั้งนายกฯอบจ.อีกหลายจังหวัดที่กำลังเกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ การพ่ายแพ้ที่ปทุมธานีจึงเป็นเรื่องโชคดีที่แพ้ก่อนเพราะมีเหตุผลมากขึ้นที่ผู้ใหญ่ในพรรคจะต้องเร่งยกเครื่อง ระบบ Primary Vote หรือการประเมินส.ส.ที่จะลงเลือกตั้งครั้งต่อไปได้เร็วขึ้น และเป็นจริงมากขึ้น และนี้คือการพัฒนาประชาธิปไตยที่มีตัวชี้วัดคือ มวลชนของจริงจะต้องเกิดขึ้นอย่างน้อยที่สุดเหตุการณ์ที่ปทุมจะเป็นประโยชน์ต่อทุกพรรคการเมืองและนักการเมืองทุกคนที่จะต้องรู้จัก เห็นหัวประชาชนกันบ้าง

4.ขอให้เข้าใจความเป็นจริงเรื่องน้ำท่วมน้ำขังรอบกรุงเทพฯที่ยาวนาน

การโจมตีส.ส.ปทุมธานีของพรรคเพื่อไทยที่ปล่อยให้น้ำท่วมขังรอบกรุงเทพฯยาวนานและนำความเจ็บปวดโกรธแค้นมาสู่มวลชนนั้นเป็นข้อวิจารณ์กันอย่างมากของพี่น้องเสื้อแดงที่ต้องแยกแยะ กล่าวคือ ส่วนหนึ่ง เกิดจากความไม่รู้โดยสุจริตใจของพี่น้องเสื้อแดง อีกส่วนหนึ่ง เป็นคำวิจารณ์ให้ร้ายของศัตรูที่ฉวยโอกาสแอบแฝงเป็นคนเสื้อแดงทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดจากอะไร

ในที่นี้ผมไม่ได้แก้ตัวแต่ต้นเหตุเป็นเรื่องที่ แม้ตายก็บอกไม่ได้แต่ทุกคนต้องรับเคราะห์

ผมขอตั้งข้อสังเกตหน่อยเถิดว่า ทำไมน้ำท่วมเอ่อล้น 2 ฝั่งเจ้าพระยาตั้งแต่นครสวรรค์ ถึง ปทุมธานี แต่ทำไมไม่เอ่อล้นท่วม 2 ฝั่งเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร?

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระแม่คงคาไม่อาจจะผ่านเข้ากรุงเทพฯได้ท่านจึงต้องทะลักเข้าสู่ที่ดอนแม้แต่ ดอนเมืองซึ่งไม่เคยมีน้ำท่วมก็ยังไม่เว้น

ความผิดปกติทางธรรมชาตินี้ถ้าไปถามหม่อมบางท่านก็น่าจะรู้ความจริง

บทสรุป
ได้เวลายกระดับความคิดครั้งใหญ่ของส.ส.และคนเสื้อแดงแล้ว

จงใช้วิกฤติเป็นโอกาส ใช้กรณีพ่ายแพ้ที่ปทุมธานีเป็นกรณีศึกษาภายใต้คำขวัญว่า โชคดีที่แพ้ก่อนเพื่อจะสืบต่อชัยชนะต่อไปและสะสมชัยชนะให้เติบใหญ่ขึ้น

(1) ความเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทย
ฝ่ายบริหารพรรคฯต้องเร่งแก่ไขทัศนะดื้อรั้นที่ผิดพลาดของส.ส.พรรคฯที่เอาผลประโยชน์เฉพาะตนกล่าวแอบอ้างว่าเป็นประโยชน์ของพรรคฯและส.ส.พรรคฯที่ชอบแต่แสวงหาผลประโยชน์เฉพาะหน้าโดยกล่าวแอบอ้างว่าเป็นผลประโยชน์ระยะยาวด้วยใช้มติลงโทษส.ส.ผู้ไม่ฟังการตัดสินใจของกรรมการบริหาร

(2) ความเร่งด่วนของขบวนคนเสื้อแดง
ต้องเร่งยกระดับการเรียนรู้ของประชาชนคนเสื้อแดงที่มีความจริงใจต่อการต่อสู้ แต่ขาดประสบการณ์ทางการเมืองโดยขอให้ นปช. ที่มีภารกิจทางประวัติศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ขณะนี้ปรับขบวนการการแสดงออกบนเวทีที่ต้องเน้นเนื้อหาความคิดและการเรียนรู้ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีมากขึ้น และขอให้แกนนำ นปช.บางคนอย่าได้ผูกขาดว่าเสื้อแดงคือหัวคะแนนผู้อยู่ในโอวาทของตัวเองที่จะแสดงอะไรก็ได้บนเวที รวมถึงแสดงความคับแคบที่กีดกันแนวร่วมที่ไม่ใกล้ชิดตัวเองและการไร้วินัยที่กินเหล้าเมาก่อนขึ้นปราศรัยต่อหน้ามวลชน อันเป็นการไม่เคารพมวลชนอย่างยิ่ง เพราะการชุมนุมมวลชนแต่ละครั้งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรอยต่อระหว่างระบอบอำมาตย์กับประชาธิปไตยที่กำลังต่อสู้ขับเคี่ยวกันอยู่ในขณะนี้
ในรายละเอียดยังมีอีกมาก ขอให้ถนอมรักกันอภัยกันและช่วยกันคิดแก้ไข ยังไม่สายเกินไปหรอกครับ

หลักการปรองดองต้องอยู่ในมือประชาชน

บทชี้นำ
จาก REDPOWER ฉบับ 24 เดือน มีนาคม 55



      เสธ.หนั่น บอกว่า การปรองดองจะสำเร็จจะต้องเอาความจริงมาพูดกัน

,พลเอกสนธิ บอกว่า การปรองดองจะสำเร็จต้องลืมบางสิ่งบางอย่าง,ล้วนแต่โกหกทั้งสิ้น
      การปรองดองจะสำเร็จได้จะต้องมีกฎหมายปรองดองออกจากรัฐสภาและคนที่จะทำสำเร็จได้คือผู้ที่มีอำนาจรัฐตัวจริงเท่านั้น
      วันนี้อย่าได้บีบบังคับหรือคาดหวังกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าจะเป็นผู้สร้างความปรองดองได้จริง เพราะผู้มีอำนาจตัวจริงมิใช่เธอ
      ผู้มีอำนาจตัวจริงคือผู้สั่งการให้พลเอกสนธิทำรัฐประหาร และวันนี้อำนาจรัฐยังอยู่ในมือของผู้นั้นโดยสมบูรณ์ ความสมบูรณ์แห่งอำนาจรัฐทำให้พลเอกสนธิไม่กล้าเอ่ยนาม แม้ตายก็ยังพูดไม่ได้
      ผู้มีอำนาจตัวจริงวันนี้นั่งมองแต่ไม่ขยับทำเสมือนหนึ่งให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจด้วยตัวเองว่าเป็นดังเช่นที่ตนเองคิด แต่แท้จริงที่ตนเองคิดนั้นไม่ใช่ เพราะผู้มีอำนาจตัวจริงกำลังเฝ้ารอดูสถานการณ์ด้วยความสงบเงียบแต่เร้าร้อนยิ่ง
       ประชาชนฝ่ายทักษิณคาดหวังว่ามีอำนาจที่จะทำให้เกิดการปรองดองได้เป็นความฝันที่เพ้อเจ้อ แต่ต้องฝัน
       ประชาชนฝ่ายประชาธิปัตย์คาดหวังว่าต้องขัดขวางการปรองดองทุกวิถีทางเพื่อให้ความเกลียดชังในตัวทักษิณของผู้มีอำนาจรัฐตัวจริงเกิดความคุกรุ่นในอารมณ์ไม่ดับมอด เป็นฝันที่เพ้อเจ้อ แต่ต้องฝัน
เพราะไม่มีอะไรดีไปกว่าความฝันในเวลาที่ไม่มีทางเลือกเช่นวันนี้
       ประชาชนเราจะอยู่กับความฝันที่เพ้อเจ้อเช่นนั้นไม่ได้ เพราะสุดท้ายไม่ว่าฝ่ายไหนจะฝันแห้งหรือฝันเปียก แต่ประชาชนจะเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น ประชาชนจึงต้องเร่งช่วงชิงหลักการปรองดองในกระแสการปรองดองให้มาอยู่ในอำนาจของประชาชนโดยเร็วที่สุด ด้วยการช่วงชิงการนำหลักการแห่งการ
ปรองดองตามแนวคิดหลักที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่สุดให้มาอยู่ในมือประชาชนในนามขบวนการประชาชน



หลักการปรองดองที่ขบวนการประชาชนจะต้องชูธงให้สูงเด่นคือ

1.ต้องคืนความเป็นธรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยไม่ยกเว้นโทษให้แก่ผู้ที่สั่งฆ่าประชาชน
2.ชดเชยเงินเยียวยาให้แก่ผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐตามมติของรัฐมนตรี
3.ยุติความร้อนแรงต่อวิกฤติความขัดแย้งภายในประเทศ ด้วยการนำผู้สั่งฆ่าประชาชนออกไปให้พ้นจากระบบตุลาการภิวัฒน์ไทยโดยนำไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นกรณีพิเศษตามธรรมนูญศาลแห่งกรุงโรม มาตรา 12(3)
4.ให้รัฐสภามีมติลงสัตยาบรรณเข้าเป็นภาคีแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์ นับแต่ไทยได้ลงนามเป็นสมาชิกมานานกว่า 10 ปีแล้ว เพื่อยุติการรัฐประหารในอนาคตอันเป็นที่มาแห่งการสังหารหมู่ประชาชนตลอดระยะเวลา 60 ปี กว่าปีที่ผ่านมา
5.ปลดปล่อยนักโทษและผู้ต้องหาทางการเมืองทั้งหมดโดยไม่เลือกสีเสื้อและไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องหามาตรา 112 นับแต่การรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เป็นต้นมา

       การจัดตั้งขบวนการประชาชนเพื่อขับเคลื่อนหลักใหญ่แห่งธงชัย 5 ผืนนี้เท่านั้นจึงจะนำสังคมไทยสู่การปรองดองอย่างยุติธรรมและอย่างเป็นจริงและอย่างถาวรโดยไม่ถูกตลบหลังและจะนำความสงบร่มเย็นสู่แผ่นดินไทยจากเหนือจรดใต้
        ต้องเร่งจัดตั้งแนวร่วมการปรองดองเพื่อความเป็นธรรมโดยเร่งด่วน
        ต้องเร่งขยายหลักคิดแห่งธงชัย 5 ผืนใหญ่นี้โดยเร่งด่วน
        ขบวนการประชาชนต้องหลอมหลักคิด 5 หลักนี้รวมเป็นหนึ่ง เพื่อสร้างเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้แก่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยไม่ต้องไถ่ถามเธอ เพราะเธอได้ถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนแห่งระบอบการเมืองอำมาตย์ที่ยากจะเอื่อนเอ่ยความคิดของเธอผ่านลูกกรงเหล็กของระบอบอำมาตย์ได้

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

ลัทธิ“โอมชินริมาร์ค”สร้างสถานการณ์เพื่อบอกว่าข้าคือ “ผู้ศักดิ์สิทธิ์”


ทีมข่าว Sunai Fanclub รายงาน

โดย ก.ไก่

จากที่ได้ฟังท่าน ส.ส.สุนัย  จุลพงศธร ออกรายการ ที่นี่ MV5 เมื่อคืนวันที่ 18 เมษายน 2555 พอดี ท่านได้กว่าถึงลัทธิ “โอมชินริเกียว” กับการกระทำของนายอภิสิทธิ์ ก็อดคิดไม่ได้ถึงการกระทำและความคิดของนายอภิสิทธิ์ ที่กำลังทำตัวเป็นเจ้าลัทธิความเชื่อเรื่อง “คลื่นสึนามิทางการเมือง” จากเรื่องปรองดอง และ การแก้รัฐธรรมนูญ

จากที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวในรายการฟ้าวันใหม่ เมื่อวันที่ 13 เมษายน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์บลูสกาย แชนแนล ถึงคลื่นสึนามิ 2 อย่างในทางการเมือง ว่า

หนึ่ง คลื่นปรองดอง

"ถ้าควัก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกมา ให้สอดรับกับสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณประกาศว่าจะกลับบ้านภายในสิ้นปีนี้ ก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นแน่นอน " นายอภิสิทธิ์กล่าว

สอง คลื่นรัฐธรรมนูญ

เพราะอย่างไรก็ตาม รัฐบาลคงผ่านไปตามร่างที่คณะกรรมาธิการเสนอ วันที่ 8 พ.ค.คงจะผ่านวาระที่ 3 ได้ จากนั้นจะนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 99 คน จากนั้นก็มีการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วทำประชามติ แต่สิ่งที่ติดใจก็คือ ตนแปรญัตติไปว่านอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วไม่ควรจะไปแตะศาลและองค์กรอิสระด้วย แต่เขาไม่ยอม ก็แปลว่าจะเข้าไปทำให้ศาลมาผูกติดกับรัฐบาลมากขึ้น และจะมีการรื้อองค์กรอิสระ

ตลอดเวลาอภิสิทธิ์พยามตีปี๊บประกาศการแก้รัฐธรรมนูญไม่ดี พยายามสร้างสถานการณ์เพื่อยื้อเวลาเอาไว้ ซื้อเวลาออกไปเรื่อยๆปั้นคำว่าอาจจะเกิดความขัดแย้ง “ทหารจะออกมาปฏิวัติ” พยายามประดิษฐ์วาทะกรรมต่างๆนานา เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายคือ “หยุดการร้างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนโดยสมบูรณ์” โดยร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มสลิ่มเสื้อหลากสี(พธม.), กลุ่ม ส.ว.40, กลุ่มสื่อโล้นซ่า ฯลฯ สร้างสถานการณ์ให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้และเพื่อสร้างว่าตูคือ “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” พยากรณ์แม่นแต่ที่พูดมาทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ตัวและพวกสร้างขึ้นโดยทั้งสิ้น
เหมือนลัทธิดังที่อยู่ญี่ปุ่นชื่อ “โอมชินริเกียว” โดยมี นายโชโกะ อาซาฮาระ เป็นเจ้าลัทธิพยามยามทำให้สาวกเชื่อเรื่องโลกาวินาศ เมื่อต้นทศวรรษ 1990 ได้ออกคำพยากรณ์ว่าจะเกิดภัยพิบัติในญี่ปุ่นและสงครามโลกครั้งที่ 3 จะมีคนตายเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีผลไดๆเกิดขึ้นตามคำพยากรณ์ จึงสร้างสถานการชนิดที่เรียกว่า “ช๊อคโลก” เพื่อเป็นไปตามที่ตนได้ออกคำพยากรณ์ไว้

เมื่อ 20 มีนาคม 1995 (คดีซารินรถไฟใต้ดิน)เวลา 8 โมงเช้า ในรถไฟใต้ดินจำนวน 5 สาย (มารุโนะอุจิ 2 สาย ฮิบิยะ 2 สาย จิโยดะ 1 สาย) ถูกหว่านด้วยซารินจำนวนมากเกิดเป็นแก๊สพิษทำให้คน 12 คนเสียชีวิต และบาดเจ็บ 5,510 คน เป็นคดีฆาตกรรมอย่างไม่เลือกตัวครั้งใหญ่ที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสร้างความตื่นตระหนกไปจนทั่วโลก

ดังนั้นการกระทำของนายอภิสิทธิ์ก็คงไม่ต่างอะไรจากเจ้าลัทธิ “โอมชินริเกียว” ที่พยามยามทำให้สาวกเชื่อเรื่องโลกาวินาศ แล้วสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้นจริงแล้วบอกสาวกว่า “ข้าศักดิ์สิทธิ์”

เจ้าลัทธิทางการเมืองเก่าแก่แบบไทยๆ ทางทีมข่าวขอตั้งชื่อลัทธิให้เลยอย่างจริงใจว่า

ลัทธิ“โอมชินริมาร์ค”

ลาวในสถานการณ์สงกรานต์มิตรรักทักษิณ


สส.ดร.สุนัย จุลพงศธร

ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ

          ลาวเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมทางภาษาที่เหมือนคล้ายกับไทยจนแยกไม่ออกจนคนไทยรู้สึกว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น แต่นับจากการที่รัฐบาลลาวได้เปิดประเทศต้อนรับ ฯพณฯพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และมวลชนคนเสื้อแดงร่วมทำบุญสงกรานต์เมื่อ 1114 เมษายน ที่ผ่านมานี้ ถือได้ว่าเป็นนโยบายพิเศษที่บ่งบอกถึงแนวคิดใหม่ที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศลาว ไทย ที่มีลักษณะบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นของลาวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยว่าจะมีทิศทางในเส้นทางประชาธิปไตยที่ลาวจะให้ความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โดยไม่ต้องวิตกกังวลอย่างเช่นอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นความเป็นไปใน สปป.ลาว จึงเป็นเรื่องที่คนไทยต้องให้ความสำคัญที่จะต้องเรียนรู้ในฐานะประเทศที่มีชายแดนติดกันอย่างเสมอภาค

สปป.ลาว เปิดตัวให้เกียรติทักษิณอย่างมีนัยสำคัญ

          แต่เดิมรัฐบาลลาวมีท่าทีวางเฉยต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทยในขณะที่ประชาชนลาวส่วนใหญ่แสดงออกชัดเจนต่อการเชียร์ขบวนการเสื้อแดง อย่างเข้าใจในเนื้อหาของความขัดแย้งระหว่างเสื้อแดงและเสื้อเหลือง เพราะความขัดแย้งทางการเมืองของไทยมีเนื้อแท้บางด้านคล้ายกับความขัดแย้งในลาว ในอดีตก่อนที่ประชาชนลาวจะก้าวจากราชอาณาจักรลาวเข้าสู่การเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยรัฐบาลลาวได้ให้เกียรติ์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คล้ายกับที่ทางกัมพูชาดำเนินการไปก่อนแล้วเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา คือการเป็นแขกรับเชิญของสภาอุตสาหกรรมของลาวบรรยายพิเศษให้นักธุรกิจลาว ในวันแรกของการเดินทางไปถึงเวียงจันทร์คือวันที่ 11 เมษายน 2555 เวลา 13.30 น. ณ โรงแรมดอนจันทร์ ซึ่งเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งห้าดาวกลางลำน้ำโขง และการบายศรีรับขวัญ พ.ต.ท.ทักษิณก็จัด ณ หอสภาธรรม วัดธาตุหลวง นครหลวงเวียงจันทร์ อันเป็นวัดหลักที่ใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว ที่เปิดต้อนรับเฉพาะข้ารัฐการระดับสูงเท่านั้น โดยมีจำนวนพระสงค์มากถึง 229 รูป ในจำนวนนี้เป็นระดับเกจิอาจารย์ของลาว 100 รูป



ภาพรวมพัฒนาการทางเศรษฐกิจของลาวในปีที่ผ่านมา

          ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของลาวในปี 2554 ที่ผ่านมาได้บ่งบอกถึงความเป็นเอกภาพในทิศทางการพัฒนาที่พยายามจะก้าวสู่ความเป็นประเทศทันสมัยอย่างไม่สับสนและไม่มีข้อสงสัย เมื่อเปรียบเทียบกับไทยซึ่งยังขัดแย้งกันอยู่ระหว่างปรัชญาชีวิตความทันสมัยทางการผลิตกับการพอเพียง จึงสอดคล้องกับแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการจะผลักดันให้ประเทศไทยพัฒนาอย่างรวดเร็วจากประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่เส้นทางการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเด่นชัด ด้วยนโยบายที่ทันสมัยและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนรากหญ้า

          ในช่วงปี 2554 สปป.ลาว ได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 7 ที่จะบรรลุสู่การเป็นประเทศที่ทันสมัย ประชาชนกินดีอยู่ดี ได้แก่ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals-MDGs) ภายในปี 2558 และหลุดพ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Development Country - LDC) ภายในปี 2563 โดยลาวได้ทำการปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการตั้งกระทรวงใหม่ 4 กระทรวง ปรับปรุงและออกกฎหมายใหม่ที่เอื้อต่อการลงทุนโดยทำการเปิดตลาดหลักทรัพย์และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น เน้นการพัฒนาการศึกษา เพื่อจะได้เปลี่ยนทัศนะคติของประชาชนจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก มาเป็นเศรษฐกิจที่เน้นองค์ความรู้และการตลาด,นอกจากนั้น รัฐบาลลาวยังให้ความสำคัญต่อความมั่นคงและการอนุรักษ์วัฒนธรรมซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของลาว ดังคำกล่าวว่า ความมั่นคงมาก่อนความมั่งคั่ง วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ และติดพันสิ่งแวดล้อม


การพัฒนาการทางการเมืองที่สำคัญใน สปป.ลาว

                   ในรอบปีที่ผ่านมา สปป.ลาว ได้มีพัฒนาการทางด้านการเมืองที่มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างชัดเจน รวมถึงการปรับปรุงกระทรวงต่างๆ ดังนี้

                   (1) การเมืองใน สปป.ลาวมีเสถียรภาพและมีความมั่นคงโดยมีการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่นติดต่อกันหลายสมัยในแต่ละรอบวาระ 5 ปี ของการประชุมสมัชชาพรรคประชาชนปฏิวัติลาวและล่าสุดเป็นการเปลี่ยนผ่านในสมัยที่ 9 รวมทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติชุดที่ 7 ตามที่คาดหมายไว้โดยมีสายผู้บริหารเดิมส่วนใหญ่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงต่ออีกหนึ่งสมัย ส่งผลให้นโยบายโดยรวมเป็นนโยบายที่ต่อเนื่องและยังคงเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่สำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ในปี 2558 และหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ในปี 2563 ซึ่งแนวโน้ม สปป.ลาวจะบรรลุชัยชนะตามนโยบายที่วางไว้นี้

                   (2) การปรับเปลี่ยนตำแหน่งระดับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจหลายตำแหน่งโดยเฉพาะกระทรวงแผนการและการลงทุน กระทรวงการเงินและธนาคารแห่ง สปป.ลาว สะท้อนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อบรรลุ MDGs ของลาวมีความคืบหน้าเป็นลำดับ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมาก โดยเฉพาะด้านการบริการสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาสุขภาพที่ดีและเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงดังจะเห็นได้จากช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลลาวได้ขอรับเงินช่วยเหลือจากธนาคารโลก 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากองค์การสาธารณสุข 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายกิจกรรมและปรับปรุงการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชนบทของลาว โดยเฉพาะแก่เด็กและสตรี นอกจากนี้ ได้มีการปรับโครงสร้างระบบราชการโดยตั้งกระทรวงใหม่ 4 กระทรวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร ได้แก่ 1) กระทรวงภายใน ซึ่งเดิมลาวเคยมีกระทรวงภายในรับผิดชอบด้านความมั่นคงภายในและกิจการตำรวจ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงป้องกันความสงบ (Ministry of Public Security) สำหรับกระทรวงภายในที่ตั้งขึ้นใหม่ในปี 2554 มีภารกิจคล้ายกับสำนักงาน ก.พ. แต่มีภารกิจที่กว้างขึ้น คล้ายกระทรวงมหาดไทย คือ การบริหารงานบุคคลของรัฐและดูแลทะเบียนราษฎร์ 2) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4) กระทรวงไปรษณีย์ โทรคมนาคม และการสื่อสาร

                   (3) กองทัพลาวยังคงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญต่อการเมืองภายในของ สปป.ลาว ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยว่าการ หัวหน้าและรองหัวหน้ากรมใหญ่เสนาธิการ ต่างได้รับเลือกเป็นคณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคฯ ที่มีฐานะเป็นองค์กรอำนาจสูงสุดของรัฐ (เพราะระบอบปกครองของลาวมีพรรคการเมืองคุมอำนาจเพียงพรรคเดียว คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว) อีกหนึ่งสมัย

                   (4) ที่ประชุมสมัชชาพรรคฯครั้งล่าสุด ให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องดำเนินไปควบคู่กับการรักษาสมดุลของสังคมโดยได้กำหนดแนวนโยบาย 4 บุกทะลุอันประกอบด้วย ด้านอุดมการณ์, ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, ด้านกฎระเบียบการบริหารงานพัฒนาธุรกิจ และด้านการแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชน นอกจากนี้ พรรคฯยังตระหนักถึงความจำเป็นต้องพัฒนาระบบการบริหารราชการและขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยได้แต่งตั้งประธานองค์การตรวจสอบรัฐบาลและหัวหน้าองค์การต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงคนใหม่ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการและป้องกันการทุจริตด้วย


พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมใน สปป.ลาว

                   ในรอบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของลาวยังเติบโตอย่างน่าพอใจ รวมตลอดถึงกระแสการลงทุนต่างประเทศก็ยังอยู่ในอัตราเร่งที่ดี ซึ่งไทยควรให้ความสนใจ ดังนี้

(1) เศรษฐกิจลาวในปี 2554 เติบโตอย่างรวดเร็วโดยอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product - GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 7 (ปี 2554 2558) แต่ต่ำกว่าอัตราการเติบโตในปี 2553 (ร้อยละ 8.6) สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ยังมีภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากพายุไหหม่าและนกเต็น (ซึ่งมีผลกระทบต่อไทยด้วย) ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจลาว ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 40,000 คน และพื้นที่เกษตรถูกทำลายไปกว่า 580,000 ไร่ (ประมาณร้อยละ 12 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด) คาดว่ารัฐบาลลาวจะต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูอีกไม่ต่ำกว่า 170,000 ล้านกีบ (ประมาณ 680 ล้านบาท)

                   (2) ผู้ลงทุนใน สปป.ลาว เป็นกระแสคลื่นที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่น่าเชื่อว่าไทยจะมีอันดับต่ำกว่าที่เคยเป็น ซึ่งน่าจะมีผลจากความขัดแย้งภายในของไทยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาทำให้ต้องเสียแชมป์ให้แก่เวียดนาม โดยจีนเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 (546 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เหมือนเดิมและยังจะต้องจับตาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงของจีนที่กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ลาว โดยเวียดนามอยู่ในอันดับ 2 (272 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)  แต่ไทยตกเป็นอันดับ 3 (154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามข้อมูลนี้ยังไม่ได้รวมการดำเนินการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ 2 โครงการ ได้แก่ เขื่อนพลังไฟฟ้าไซยะบุลี และโครงการรถไฟความเร็วสูงจากจีน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดคลื่นการพัฒนาขนาดใหญ่สะเทือนถึงไทย และปริมาณตัวเลขการลงทุนจะสูงเพิ่มขึ้น

                   (3) ในด้านนโยบายเชิงรุก สปป.ลาว ยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 7 เพื่อที่จะบรรลุ MDGs ในปี 2558 และหลุดพ้นจากการเป็น LDC ภายในปี 2563 ซึ่งคาดว่ารัฐบาลลาวจะต้องใช้งบประมาณกว่า 420 พันล้านบาท จึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ เพื่อที่จะตัดสินใจมุ่งหน้าเข้าลาวโดยเร็ว อาทิ การเปิดตลาดหลักทรัพย์เมื่อต้นปี 2554 การแก้ไขกฎหมายด้านเศรษฐกิจหลายฉบับ (อาทิ กฎหมายภาษี กฎหมายศุลกากร และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา) ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย


ทิศทางด้านการต่างประเทศของ สปป.ลาว

                   สปป.ลาว กำลังอยู่ในความสนใจของประชาคมระหว่างประเทศในด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลลาวก็ประสงค์ที่จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นและขยายความร่วมมือทุกรูปแบบ เพื่อสนองผลประโยชน์ของ สปป.ลาว และยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศ เช่น การเป็นเจ้าภาพการประชุม Asia-Europe Meeting (ASEM) ครั้งที่ 9 ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่จะถึงนี้ ส่วนเรื่องความมั่นคงและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเป็นประเด็นที่ สปป.ลาว ยังคงให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นในการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมและทันสมัยโดยเร่งด่วน

                   ด้านความร่วมมือกับกลุ่มประเทศสังคมนิยม สปป.ลาว ก็ยังได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษโดยกระชับความใกล้ชิดในระดับพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นพรรคพี่น้องระหว่าง ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศเวียดนามได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นประจำ อาทิ การเยือนเวียดนามเป็นประเทศแรกภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานประเทศ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ สปป.ลาว รวมทั้งการเยือน สปป.ลาว ของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม นอกจากนั้น ยังมีแผนดำเนินโครงการความร่วมมือต่างๆร่วมกัน อาทิ การร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์ลาว เวียดนาม ใหม่เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน

มิตรภาพไทย ลาว ม่วนซื่น

                   การกล่าวว่า ลาว ไทย คือสายญาติเดียวกันเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ดังนั้น ในรอบปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ไทย ลาว ม่วนซื่นแท้โดยสามารถแยกพิจารณาเป็นด้านๆได้ดังนี้

          ด้านการเมืองและความมั่นคง

                   ความสัมพันธ์ฯ ไทย-ลาวอยู่ในระดับดีมากอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอยู่เป็นระยะ ทั้งในระดับราชวงศ์และผู้นำระดับสูงโดยเฉพาะเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯไปทรงเป็นองค์ประธานร่วมในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม คำม่วน) และได้เสด็จฯต่อไปเยือนแขวงคำม่วน สปป.ลาว ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของฝ่ายลาว รวมทั้งปี 2554 ยังเป็นช่วงปีแห่งการฉลองครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์การทูตไทย ลาว โดยมีการจัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึก งานบุญพระธาตุศรีสองรัก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์แห่งความผูกพันไทย ลาว ซึ่งตั้งอยู่ ณ ที่จังหวัดเลยมายาวนาน และโครงการรถไฟเยาวชนไทย ลาว เป็นต้น รวมตลอดถึงการเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 ซึ่งรัฐบาลลาวได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

          ด้านเศรษฐกิจและสังคม

                   ในด้านเศรษฐกิจ ไทยยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของลาวในขณะที่ลาวเป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่าการค้าไทย ลาว ปี 2554 อยู่ที่ 118,671.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.64 จากปี 2553 และมีความคืบหน้าของการดำเนินความร่วมมือด้านตลาดหลักทรัพย์และการซื้อขายไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไนต์ ที่แขวงไซยะบุลี เป็นต้น

                   หากจะพิจารณาถึงภัยธรรมชาติน้ำท่วมใหญ่ปีที่ผ่านมาก็จะเห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างลาว-ไทย แม้แต่ภัยน้ำท่วมยังเดือดร้อนร่วมกันและพร้อมกัน แต่ก็ได้แสดงให้เห็นท่าทีที่เป็นมิตรที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกันในยามยาก ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนสารแสดงความเสียใจ หรือการมอบความช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบภัยโดยรัฐบาลไทยได้มอบเงินบริจาคให้ฝ่ายลาว 2 ครั้ง รวม 5.5 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลลาวได้มอบเงินบริจาคให้ไทยจำนวน 1.5 ล้านบาท และภาคเอกชนลาวก็ได้มอบสิ่งของบริจาคเพิ่มเติม อาทิ น้ำดื่มให้อย่างต่อเนื่อง และนอกจากนี้ ไทยยังคงนโยบายเสริมสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งกับ สปป.ลาว โดยในปี 2554 ได้มอบเงินในโครงการเพื่อนมิตรจำนวน 2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการสร้างโรงเรียนมัธยมในเมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายกรัฐมนตรีทองสิงฯและมีการทอดกฐินพระราชทานที่แขวงอัตตะปือ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของประธานประเทศลาว นอกจากนั้น ได้ดำเนินโครงการเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเยาวชนไทย ลาว อาทิ โครงการรถไฟเยาวชน เป็นต้น

                   แต่อย่างไรก็ตามในความม่วนซื่นก็มีปัญหาที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรลาวเกิดความไม่พอใจต่อนโยบายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่ผ่านมา คือไทยได้มีนโยบายจำกัดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากลาวในระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2554 ทำให้ราคาข้าวโพดในลาวตกต่ำเกษตรกรลาวต้องเดือดร้อน ซึ่งภายใต้การนำของรัฐบาลใหม่นางสาวยิ่งลักษณ์ ขณะนี้ก็ได้คลี่คลายปัญหาแล้ว




แนวโน้มความสัมพันธ์ไทย ลาว ปี 2555 ยิ่งกระชับแน่น

                   จากเหตุการณ์ที่ลาวเปิดประเทศต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และแฟนคลับได้ร่วมกันทำบุญและบายศรีรับขวัญในวันสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้ความสัมพันธ์ไทย ลาว ในขณะนี้ยิ่งกระชับแน่นแม้ในอดีตจะยังมีประเด็นอ่อนไหวที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น (1) การแก้ไขปัญหาและเจรจาด้านเขตแดนที่คงค้างที่จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย ลาว ครั้งที่ 9 (2) การจัดตั้งกระบวนการนำเข้าแรงงานลาวให้เป็นระบบ รวมถึงการสอดส่องดูแลปัญหาแรงงานผิดกฎหมายที่เชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์และการลักลอบขน/ค้ายาเสพติด (3) การอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดน เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในอนุภูมิภาคได้อย่างเต็มที่ และ (4) ปัญหาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้นแต่ภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์และการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจกันก็น่าจะทำให้ประเด็นดังกล่าวไม่น่าวิตกกังวลอะไร

                   นอกจากนี้ รัฐบาลลาวยังได้แสดงทัศนะที่ดีต่อรัฐบาลชุดใหม่ของไทย รวมทั้งได้แสดงความพร้อมที่จะผลักดันความร่วมมือด้านต่างๆให้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การซื้อ ขายพลังงานไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนรวมทั้งอาจจะรื้อฟื้นกลไกความสัมพันธ์ที่เคยดำเนินมา เช่น การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย ลาว และไทยยังมีท่าทีแจ่มชัดต่อการสนับสนุนการขยายตัวของตลาดทุนในลาว การสนับสนุนในการเป็นเจ้าภาพการประชุม ASEM และการส่งเสริมปีการท่องเที่ยวลาว นอกจากนั้น การก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 4 (เชียงของ ห้วยทราย) ซึ่งกำหนดจะแล้วเสร็จในช่วงกลาง ปลายปี 2556 ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขยายการเชื่อมโยงลาวกับประเทศในอนุภูมิภาคและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของลาวอย่างมาก


บทสรุป
                    เมื่อประมวลภาพของทิศทางการพัฒนาของลาวและความสัมพันธ์ไทย ลาว ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในช่วงรอยต่อของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็จะเห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่องจากพื้นฐานทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยและลาวไม่อาจจะแยกจากกันได้ และยิ่งในยุคของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ที่มีนโยบายแจ่มชัดในการหนุนเนื่องทางเศรษฐกิจในทิศทางเดียวกันและความเป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยได้แสดงออกต่อกัมพูชาในการยุติปัญหาความขัดแย้งในข้อพิพาททางชายแดน และการร่วมทำบุญงานสงกรานต์ 3 ชาติ ลาว กัมพูชา ไทย โดยมีแกนกลางของบุรุษผู้ทรงพลังทางการเมือง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ผ่านมาด้วยแล้วก็ย่อมทำให้ สปป.ลาว สบายอกสบายใจยิ่งขึ้นและย่อมส่งสัญญาณถึงมิตรประเทศอาเซียนและนานาอารยประเทศมีความเชื่อมั่นต่อความแนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ ลาว กัมพูชา ไทย มากยิ่งขึ้นอีกด้วย