Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ดอกผล‘ตุลาการพิทักษ์รัฐประหาร’!


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 370 วันที่ 28 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2555 หน้า 5-8 คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย ประชาธรรม


เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมามีการเสวนาในหัวข้อ จากตุลาการภิวัฒน์สู่ตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (รัฐประหาร)โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ และนายปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน Book Re:public เป็นผู้ดำเนินรายการและกล่าวนำการเสวนาว่า เป็นหัวข้อที่มีคนสนใจอย่างยิ่งกับบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทำนบแห่งความอดทนของประชาชนที่มีต่อสถาบันตุลาการพังทลายลง ไม่ว่าจะเป็นการรับคำร้องของตัวแทน ส.ว. และ ส.ส. กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 การมีคำสั่งระงับยับยั้งการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตลอดจนการมีคำวินิจฉัยให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หรือหากจะแก้ทั้งฉบับก็ให้ลงประชามติ

ทั้งหมดนำมาสู่คำถามว่าด้วยขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ความจำเป็นในการมีอยู่และอำนาจอธิปไตยยังเป็นของปวงชนชาวไทยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความคับข้องใจของยุคสมัยที่ต้องการคำตอบและทางออกอย่างเร่งด่วน

เหตุที่เรียกว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายเพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญแสดงบทบาทที่อาจเรียกได้ว่าไม่ใช่บทบาทในการผดุงความยุติธรรมหรือพิทักษ์ประชาธิปไตย หากแต่เป็นบทบาททางการเมืองที่อาจทำให้เกิดความกังขาอย่างถ้วนทั่ว ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีอายุไม่นานนัก แต่เป็นศาลรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ต้องเผชิญแรงต่อต้านภายในตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2540 โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่ 4 ของสถาบันหลักในสังคมไทยหรือไม่

เตรียมการล้มล้างบรรทัดฐานศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อน

นายพนัสกล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่มีมูลเหตุทางการเมืองและเตรียมการมาแล้วตั้งแต่ต้น เห็นได้จากการรับคำร้องไว้พิจารณาทั้งที่ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 68 ว่าการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 จะเข้าข่ายการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยปรกติศาลยุติธรรมของไทยจะยึดถือบรรทัดฐานที่ศาลได้พิพากษาหรือวินิจฉัยคดีไว้ กรณีนี้มีบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อนไว้ชัดเจน ตอนนั้นมีคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีที่มีการเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่านายกฯพระราชทาน ซึ่งมีหัวหน้าพรรคท่านหนึ่งออกมาเสนอเรื่องนี้ ก็มีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นว่าข้อเสนอนี้เป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญก็ยกคำร้องนี้ เพราะวินิจฉัยว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2540 และมาตรานี้เป็นต้นกำเนิดนำมาสู่มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ต่างตรงที่รัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้การร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น เพียงแค่ทราบเรื่องก็ร้องได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งผมได้ร่วมร่างในฐานะ ส.ส.ร. จะใช้คำว่า รู้เห็นหมายความว่าต้องมีพยานหลักฐานว่าจะมีการล้มล้างจึงจะเข้าข่าย

การจะร้องเรียนใครตามมาตรา 68 จัดเป็นคำกล่าวหาขั้นอุกฉกรรจ์ เพราะการล้มล้างระบอบการปกครองก็คือกบฏ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 โทษสูงสุดคือการประหารชีวิต ฉะนั้นโดยหลักกระบวนการพิจารณาคดีที่ชอบธรรม (Due process of law) ก่อนจะมีการฟ้องร้องต่อศาลซึ่งจะไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องร้องนั้นต้องมีการสอบสวนตามกระบวนการ ซึ่งกฎหมายก็เขียนไว้เพื่อให้มีการสอบสวนอย่างรอบคอบ เพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองผู้ที่ถูกกล่าวหา

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันกลับตีความกฎหมายนี้โดยอาศัยการตีความจากตัวหนังสือว่าเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะไปยื่นต่ออัยการสูงสุด หรือจะร้องต่อศาลโดยตรงก็ได้ ซึ่งผมเห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากลอย่างยิ่ง เพราะมีเหตุจูงใจทางการเมืองที่เรารู้อยู่ว่าฝ่ายที่ต้องการไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว.สรรหา และผู้ที่เคยเป็น ส.ว.สรรหา ซึ่งก็คือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2550 และถ้าไปศึกษาให้ดีจะพบว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ล้วนเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งและเข้าสู่ตำแหน่งอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร 2549 ทั้งสิ้น



คำวินิจฉัยเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ปกป้องฐานอำนาจรัฐประหาร

นายพนัสกล่าวว่า แน่นอนว่าหากมีการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขององค์กรอิสระ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วย ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆที่แต่งตั้งโดย คมช. ก็จะหลุดออกไปทั้งหมด ซึ่งบุคคลที่มาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงมีส่วนได้เสีย และสำคัญที่สุดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เกิดมาจากการทำรัฐประหาร 2549 ถ้าหากวิเคราะห์ให้ชัดเจนจะเห็นว่าเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจรัฐประหาร ได้นำมาสถาปนาในรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะเจตนาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ต้องการให้มีโครงสร้างลักษณะนี้ เพื่อทำให้การปกครองโดยระบอบรัฐสภาและการบริหารคณะรัฐมนตรีมีความอ่อนแอ เพราะจะโดนขนาบด้วยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆเหล่านี้ รวมทั้งศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งทุกคนออกมาสนับสนุนการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ทั้งสิ้น

สิ่งที่เขาหวังผลคือหากล้มรัฐบาลนี้ได้อาจมีโอกาสมีรัฐบาลที่มาจากกลุ่มอำนาจฝ่ายเดียวกัน กล่าวคือ ให้ศาลรัฐธรรมนูญทำรัฐประหาร ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจว่าที่ไม่เป็นไปแบบนั้นเพราะมีเสียงคัดค้านต่อต้านอย่างรุนแรง ทำให้บรรดาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกิดความลังเล โดยเฉพาะคนที่เป็นตัวจักรสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญคือ คุณจรัญ ภักดีธนากุล ได้ถอนตัวจากการพิจารณา ต่อมาก็มีตุลาการอีก 3 ท่านขอถอนตัว นับเป็นเรื่องประหลาด เพราะปรกติถ้าผู้พิพากษาจะถอนตัวจะไม่มีการลงมติไม่ให้ถอนตัว เพราะเป็นเอกสิทธิและมารยาทของตุลาการแต่ละท่าน

ในเมื่อตัวเองรู้สึกว่ามีส่วนได้เสีย หรือไปแสดงอะไรไว้ที่ทำให้เห็นชัดเจนว่าการพิจารณาของตัวเองจะทำให้เกิดความไม่เที่ยงธรรมชอบได้อย่างแท้จริง โดยหลักและมารยาทของตุลาการก็ต้องขอถอนตัวตั้งแต่แรก ไม่ต้องรอให้ใครมาคัดค้าน อย่างของคุณจรัญต้องถือว่าเป็นการฉีกหน้ากลางศาล แต่คนอื่นทำทีว่าขอถอนตัว แล้วมาลงมติกันว่าไม่ให้มีการถอน อันนี้เหมือนการเล่นละครตบตาชาวบ้านเท่านั้นเอง ดังนั้น พฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออกมา รวมถึงบทบาทและคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2555 ที่มีการสถาปนาตัวเองเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยอ้างคำในมาตรา 68 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนคนไทย ถ้าใครจะมาล้มล้างรัฐธรรมนูญ ถ้าท่านไม่เห็นด้วยก็หมายความว่าท่านมีอำนาจในการตรวจสอบ เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยที่ออกมาจึงพิลึกพิลั่นมาก




ตุลาการพิทักษ์การรัฐประหาร

นายพนัสตั้งข้อสังเกตคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยไว้ 4 ประเด็น ในข้อวินิจฉัยที่ 1 ศาลได้เห็นชอบ 7 ต่อ 1 บอกว่ามีอำนาจที่จะรับพิจารณาคำร้องโดยอ้างฐานะความเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยอิงกับสิทธิของประชาชน จึงมีสิทธิเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งถ้าคนที่ไม่เข้าใจเรื่องกฎหมายลึกซึ้ง หรือมีใจโน้มเอียงอยู่แล้ว จะคิดว่าเป็นเหตุเป็นผลที่ดูดีมาก แต่แท้ที่จริงแล้วคือผลประโยชน์ของทุกคน ทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ยื่นคำร้องทั้งหมด จึงเป็นชื่อของวงคุยในวันนี้ว่าตุลาการภิวัตน์สู่ ตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญแต่อันที่จริงต้องวงเล็บไว้ว่าท่าน พิทักษ์การรัฐประหารมากกว่า เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 แท้ที่จริงแล้วคือการรับรองความถูกต้องและชอบด้วยรัฐธรรมนูญของผลพวงและบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้อง มีส่วนร่วม หรือรับผลประโยชน์ หรือจากการทำรัฐประหาร 2549 นั่นเอง การที่ท่านบอกว่าเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ขณะที่รัฐธรรมนูญนี้เป็นตัวแทนของอำนาจที่เกิดจากการรัฐประหาร 2549 ดังนั้น ตอนนี้สมควรจะเปลี่ยนชื่อเป็นตุลาการพิทักษ์การรัฐประหารได้

นายพนัสกล่าวถึงที่มาของคำว่าตุลาการภิวัฒน์ในเมืองไทย โดยระบุจุดเริ่มต้นจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อนมีคำสั่งให้การเลือกตั้งเมื่อปี 2548 เป็นโมฆะ ด้วยเหตุผลที่ กกต. ชุดนายวาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน ได้เปลี่ยนรูปแบบของคูหาใหม่ อย่างไรก็ดี แนะนำให้กลับไปดูจุดเริ่มต้นของการอภิวัฒน์ในวันที่ 28 เมษายน 2548 ซึ่งในหลวงทรงมีพระราชดำรัสกับตุลาการศาลปกครองและผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยผลจากพระราชดำรัสคราวนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าศาลรัฐธรรมนูญรับมาว่าเป็นหน้าที่ของศาลที่ต้องจัดการปัญหาของบ้านเมือง

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับและตัดสินว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ ปรากฏว่ายังไม่ชัดเจน ศาลปกครองจึงตามพิพากษาซ้ำว่าเป็นความผิดของ กกต. ชุดดังกล่าว โดยขณะนี้ กกต. กำลังประสบวิบากกรรมจากผลของตุลาการภิวัตน์ คือรอคำตัดสินจากศาลฎีกา ซึ่งทั้ง 2 ศาลที่ผ่านมาก็ตัดสินจำคุก สำหรับการบัญญัติศัพท์นี้ยังไม่มีการระบุอย่างเป็นทางการว่านายธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้คิดคำนี้ขึ้นมา ขณะที่คนที่ออกมาให้ความคิดเห็นสนับสนุนและย้ำว่าตุลาการภิวัฒน์ซึ่งเกิดจากอัจฉริยภาพแท้จริงทางกฎหมายของในหลวงคือ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งสามารถอ่านบทความดังกล่าวได้ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

คำวินิจฉัยทิ้งหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตย

นายพรสันต์กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเหมือนจะเป็นคำวินิจฉัยที่ลดอุณหภูมิทางการเมืองพอสมควร เนื่องจากศาลมีคำวินิจฉัยไปแล้วว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแน่นอน ทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคไม่ถูกยุบตามมาตรา 68 แต่ถ้าพิจารณาคำวินิฉัยให้ดีจะเห็นได้ว่ามีปัญหาในเชิงหลักการ ซึ่งกระทบกับระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศโดยองค์รวม ส่วนตัวมีความกังวลค่อนข้างมาก เพราะคำวินิจฉัยครั้งนี้จะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองในอนาคต

เพราะท่ามกลางทิศทางของสังคมที่มีการเรียกร้องให้เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นเมื่อมีการพูดถึงความเป็นประชาธิปไตย หลักการที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยคือหลักนิติรัฐ เนื่องจากทั้งคู่มีวัตถุประสงค์เดียวกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เป็นเสาหลักที่ค้ำยันซึ่งกันและกัน ถ้าหลักการใดถูกทำลายไป อีกหลักการหนึ่งจะอยู่ไม่ได้ ถ้าเราพูดถึงประชาธิปไตย เราต้องให้ความสำคัญกับนิติรัฐด้วย

นิติรัฐคือแนวคิดที่ยึดกฎหมายเป็นใหญ่ ปกครองโดยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายในที่นี้หมายถึงรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นการกระทำใดๆก็แล้วแต่ต้องยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยที่ตัวรัฐธรรมนูญมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าหมายถึงอำนาจของรัฐบาล เพราะให้ความรู้สึกโน้มเอียงไปทางฝ่ายบริหาร ความคิดแบบนี้ก็ถูกต้องในส่วนหนึ่ง แต่ในเชิงหลักการของนิติรัฐ หลักเกณฑ์ที่ถูกบรรจุในตัวรัฐธรรมนูญไม่ได้ควบคุมอำนาจของฝ่ายบริหารเพียงอย่างเดียว หากแต่เข้าไปควบคุมอำนาจทั้งหมด หมายความว่าอำนาจรัฐหมายถึง 1.อำนาจในการตราตัวบทกฎหมาย 2.อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน 3.อำนาจในการพิจารณาคดีความต่างๆ

ฉะนั้นหลักนิติรัฐที่ผ่านตัวรัฐธรรมนูญจะเข้าไปควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ คนทั่วไปจะคิดว่าตัวรัฐธรรมนูญเข้าไปควบคุมกำกับการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรีที่ใช้โดยนักการเมือง แต่ในสายตาของกฎหมายจะมองว่าใครก็แล้วแต่ที่ถืออำนาจรัฐ รัฐธรรมนูญต้องควบคุมทั้งหมด เพราะอำนาจรัฐอาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ประเด็นคือว่าวิธีการควบคุมหลักนิติรัฐโดยผ่านรัฐธรรมนูญทำอย่างไร คำตอบคือผ่านหลักการหนึ่งที่เรียกว่าหลักความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือหลักความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่บนหลักการที่เรียกว่า ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจหมายความว่าการกระทำใดๆต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรองรับหรือให้อำนาจ ซึ่งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยไม่มีมาตราใดที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปสำรวจ ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีการเขียนไว้ย่อมหมายความว่าโดยหลักแล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ แต่เมื่อศาลใช้อำนาจของตัวเองเข้าไปตรวจสอบจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหลักนิติรัฐ

ระบบศาลคู่ห้ามก้าวล่วงขอบเขตอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

นายพรสันต์กล่าวว่า หากไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้หรือไม่ที่ศาลจะมีอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งอาจจะมีได้ โดยต้องขึ้นกับระบบของศาลในแต่ละประเทศว่าใช้แบบไหน ซึ่งระบบศาลทั่วโลกมี 2 ระบบคือ ระบบศาลเดี่ยว ซึ่งมีศาลยุติธรรมศาลเดียว มีอำนาจในการวินิจฉัยคดีทุกประเภท เช่น สหรัฐอเมริกา และระบบศาลคู่ ประกอบด้วย ศาลยุติธรรม และศาลเฉพาะหรือศาลชำนาญการพิเศษ ในระบบศาลเดี่ยวมีความเป็นไปได้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ศาลเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีศาลเฉพาะ แต่ในประเทศไทยใช้ระบบศาลคู่ จึงต้องเป็นคดีเฉพาะจริงๆ โดยที่รัฐธรรมนูญมีการกำหนดไว้ว่าคดีประเภทไหนจะพิจารณาในศาลเฉพาะได้ ดังนั้น เมื่อมองในเชิงหลักการเบื้องต้น หลักนิติรัฐหรือระบบโครงสร้างของศาลจึงยังไม่เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญของไทยจะมีช่องทางเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ได้

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากให้คิดทบทวนคือ ทฤษฎีข้อพิพาททางการเมือง เป็นหลักการและเป็นทฤษฎีหนึ่งที่เข้าไปควบคุมอำนาจขององค์กรตุลาการไม่ให้ล้ำเส้นเขตแดนของฝ่ายการเมือง กล่าวคือ ในระบบกฎหมายจะมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าอะไรคือเขตแดนทางการเมืองหรือกิจกรรมทางการเมือง ถ้ามีเรื่องเกิดขึ้นก็ให้ใช้กลไกทางการเมืองเข้าไปตรวจสอบกันเอง กับอีกเขตแดนทางกฎหมายที่จะใช้องค์กรตุลาการหรือตัวระบบกฎหมายเข้าไปตรวจสอบ



มีสิทธิระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนรูปแบบรัฐและการปกครอง

นายพรสันต์ย้ำว่า เราต้องพิจารณาถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นประเด็นข้อพิพาททางการเมืองหรือไม่ สำหรับผมถือว่าเป็นเรื่องทางการเมือง เพราะข้อพิพาททางการเมืองหมายถึงกิจกรรมที่นักการเมืองใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ โดยหลักการฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่หรือกิจกรรมทางการเมืองคือ การตราประมวลกฎหมาย การแก้ไขตัวบทกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ศาลจึงไม่สามารถเข้ามาสำรวจตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายบางท่านมักโต้แย้งกลับมาว่าการที่ศาลเข้ามาตรวจสอบคือเรื่องปรกติ เพราะมีการตราตัวบทกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก่อนประกาศใช้จะมีการตรวจสอบความชอบของรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่เรื่องปรกติ เพราะเราอนุญาตให้ศาลเข้ามาตรวจสอบก็ต่อเมื่อกำลังจะประกาศใช้ จุดที่แตกต่างจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือรัฐสภากำลังดำเนินการพิจารณาในวาระที่ 2 กำลังจะไปสู่วาระที่ 3 แต่ปรากฏว่ามีคนไปร้องเรียนแล้วศาลสั่งระงับยับยั้งเอาไว้ ซึ่งจะเห็นว่ากิจกรรมของฝ่ายการเมืองยังไม่เสร็จกระบวนการ

นักวิชาการด้านกฎหมายรายเดิมสรุปประเด็นว่า การที่ศาลรับคดีไว้โดยอาศัยมาตรา 68 คำถามมีอยู่ว่าถูกต้องตามหลักการหรือไม่ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องพิจารณามาตรา 291 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะที่รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าใช้สามัญสำนึกง่ายๆ การตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ต้องนำมาตราที่พูดถึงการแก้ไขมาพิจารณาเท่านั้น แต่มาตรา 68 ไม่ได้พูดถึง ยิ่งไปกว่านั้นในมาตรา 291 เขียนว่าสามารถเสนอญัตติเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยมีข้อห้าม 2 ข้อ ได้แก่ 1.ห้ามแก้ไขเรื่องรูปแบบของรัฐ คือห้ามเสนอเปลี่ยนแปลงเป็นสหพันธรัฐ และ 2.ห้ามเสนอเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง

ดังนั้น หากศาลจะเข้ามาตรวจสอบก็มีเงื่อนไขเพียง 2 ประการนี้เท่านั้น โดยมาตรา 68 และมาตรา 291 เขียนเพื่อใช้ในกรณีที่แตกต่างกัน แต่การยกมาตราที่ไม่ได้เขียนไว้เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีเจตนารมณ์คนละอย่างมาจับกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยผิดเพี้ยนไป ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้อำนาจของสถาบันการเมือง

ตีความผิดกระทบระบบกฎหมายในระยะยาว

นายพรสันต์กล่าวว่า สมมุติว่ามาตรา 68 เอามาใช้เพื่อตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ก็ยังผิดขั้นตอนอยู่ดี ซึ่งนายพนัสได้นำเสนอไปแล้วว่าต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดก่อน เจตนารมณ์ของมาตรา 68 คือการป้องกันระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเอาแบบอย่างจากประเทศเยอรมนีมาใช้ การจะใช้มาตรานี้ต้องใช้กับกรณีที่มีความร้ายแรงมาก หรือเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก เพราะเมื่อตัดสินว่าผิดจะอยู่ในฐานะกบฏตามมาตรา 133 ดังนั้น จึงกำหนดให้มีองค์กรเข้ามาตรวจสอบและคัดกรองก่อน

ที่สำคัญถ้าปล่อยให้คนมายื่นคำร้องต่อศาลโดยตรง ศาลก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงชั้นเดียว ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาใดๆต่อได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ประชาชนมายื่นคำร้องต่อศาลได้โดยตรงเพียงกรณีเดียวเท่านั้นคือ มาตรา 212 ซึ่งถ้าอ่านรายละเอียดจะพบว่าการที่ประชาชนจะมาใช้สิทธิได้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถไปใช้สิทธิเรียกร้องกับองค์กรอื่นๆได้แล้ว นี่คือการลดภาระของศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเราจะเห็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายชัดเจน คือไม่ให้ประชาชนมายื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

เมื่อดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลขยายความว่ามาตรา 68 เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องได้ 2 ทางคือ 1.อัยการสูงสุด 2.ยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลให้เหตุผลในการวินิจฉัยที่ดูประหนึ่งว่าเป็นไปตามหลักการและเป็นการตีความเพื่อขยายสิทธิของประชาชน เพราะถ้าปล่อยให้ยื่นที่อัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียวเท่ากับการตัดสิทธิ ดังนั้น ต้องเป็นการตีความเพื่อขยายสิทธิ โดยหลักการก็ใช่ แต่เป็นการตีความที่ผิดบริบท การตีความของศาลแบบนี้ส่งผลให้ระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญรวนอย่างน้อย 2 ประการคือ 1.กรณีอัยการกับศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นตรงกันว่าเป็นการล้มล้างหรือไม่ก็ตาม จะเห็นว่า 2 องค์กรนี้ทำงานทับซ้อนของการใช้อำนาจหน้าที่เดียวกัน 2.กรณีที่ 2 องค์กรมีความเห็นแตกต่างกัน ศาลเห็นว่าผิดจริง เป็นการล้มล้างการปกครอง ขณะที่อัยการสูงสุดเห็นว่าไม่มีความผิด ดังนั้น การตีความของศาลรัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งดร.พรสันต์กล่าวทิ้งท้าย



ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่รักษาดุลอำนาจของชนชั้นนำ

นายนิธิกล่าวว่า นักกฎหมายก็เหมือนนักประวัติศาสตร์ หมอที่มีความสัมพันธ์กับคนในวงการของเขา และมีคนที่เขาต้องไว้หน้าตัวเอง การที่ศาลรัฐธรรมนูญกระทำโดยอ้างมาตรา 68 มาระงับไม่ให้รัฐสภาพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 คนเหล่านี้ก็รู้ว่าไม่ได้เรื่อง และมีหน้าตาที่ต้องรักษาไว้ต่อคนในวงการเดียวกับเขาพอสมควร ถามว่าทำไมถึงทำ คำตอบมีอยู่ว่าเราอย่าไปคิดถึงศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีจินตนาการถึงการสร้างองค์กรที่เป็นอิสระให้คานอำนาจกันและกัน แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 และสภาวการณ์การเมืองปัจจุบันคือการต่อสู้ของกลุ่มชนชั้นตามจารีตประเพณี ซึ่งรวมคนหลายกลุ่มหลายพวกที่จะรักษาการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย โดยให้มีดุลอำนาจเหนือฝ่ายประชาชนที่อาศัยกลไกการเลือกตั้งมาเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดหรือมีอำนาจเหนือแต่เพียงผู้เดียว คือฝ่ายชนชั้นนำตามจารีตในกลุ่มต่างๆต้องเจรจาต่อรองกันในทุกเรื่อง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำหน้าที่รักษาเครือข่ายหรือกลไกอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำตามจารีตประเพณีเอาไว้

เมื่อกลับมาดูเรื่องชนชั้นนำทางจารีตประเพณี โดยเฉพาะต่อประเด็นเรื่อง Network monarchy หรือสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่าย ที่ Duncan McCargo ได้นำเสนอไว้ในบทความ ซึ่งผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับผู้เขียนว่าไม่ได้เป็นไปอย่างที่หลายคนเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่ายในประเทศไทยนั้นมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางและสั่งให้ผู้คนทำสิ่งต่างๆ กลับพบว่าในเครือข่ายนี้เองต่างประกอบด้วยนายทุน ข้าราชการ นักวิชาการ เป็นต้น ซึ่งต้องมีการแข่งขันกัน หรือขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา หรือจะเห็นว่าคนที่เข้าไปอยู่ในเครือข่ายนั้นไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของพระมหากษัตริย์หรือประโยชน์ของกลุ่มอื่นๆเป็นสำคัญ หากแต่เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองเพื่อที่จะบรรลุผลได้เร็วที่สุดหรือง่ายที่สุด อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจว่าทำไมเครือข่ายนี้แม้ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดเวลา แต่ยังสามารถดำรงอยู่และผลักดันสิ่งต่างๆได้ ดังนั้น ต้องมองความสัมพันธ์ของคนในเครือข่ายนี้ที่มีความยุ่งเหยิงภายใน เพราะถ้ามองว่าทุกคนพร้อมที่จะกราบและทำตามจะเข้าใจสิ่งนี้ไม่ได้

ขณะที่ฝ่ายชนชั้นนำตามประเพณีก็พบทิศทางที่น่าตกใจ กล่าวคือ ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านมาสู่การตัดสินใจของคนหน้าแปลกๆ อย่างพวกเสื้อแดงทั้งหลาย หรือคนบ้านนอกที่ไม่เคยอยู่ในวงการเมืองหรือมีส่วนในการตัดสินใจมาก่อน คนธรรมดาอย่างพวกเราต่างหากที่เป็นผู้จัดรัฐบาล กรณีอย่างคุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่กล้าตั้งคุณเนวินเป็นรัฐมนตรี ถามว่าใครเป็นคนสั่งคุณบรรหาร คำตอบพวกคือพวกข้าราชการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือคนกลุ่มเดิมที่เป็นคนกำกับรัฐบาล บัดนี้มีคนแปลกหน้าจำนวนมหาศาลที่เข้ามาแล้วอ้างสิทธิของตัวในการลงคะแนนเลือกตั้ง ถามว่าคนชนชั้นนำกลุ่มเดิมจะยอมตามด้วยหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะเขาต้องการทำให้อำนาจการต่อรองทางการเมืองมีพลัง โดยอาศัยรัฐธรรมนูญปี 2550 ฉะนั้นการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ใช่การกระทำอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าหรือทำด้วยความโง่เขลา

นายนิธิกล่าวเสริมว่า เคยสงสัยหรือแปลกใจกันไหมว่าตอนที่รัฐบาลเอาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภา กลุ่มที่คัดค้านคือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มที่ถืออำนาจอยู่ในโครงสร้างการเมืองการปกครองที่ไม่เคยออกมาเคลื่อนไหว แต่ชนชั้นนำทางจารีตประเพณีไม่ได้ขยับอะไรเลย ซึ่งต่างกับกรณีการแก้รัฐธรรมนูญ แสดงว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งกว่าการไม่มีทักษิณ หมายความว่าเขาสามารถจัดการและควบคุมทักษิณได้ตราบเท่าที่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ในมือ

อย่างที่ทราบกันว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนขึ้นโดยตั้งใจให้กลุ่มชนชั้นนำตามจารีตเข้ามาแทรกแซงโดยตลอด ต้องมีวุฒิสภาครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง ต้องให้อำนาจแก่ตุลาการ ศาลฎีกาจำนวนหนึ่งในการเป็นผู้ตั้งองค์กรอิสระ ต้องมีองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้งจำนวนหนึ่งมากพอสมควร ดังนั้น ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็จะถูกแวดล้อมด้วยมือและตีนของกลุ่มชนชั้นนำตามจารีตคอยขนาบข้าง ดังนั้น อย่างน้อยในช่วงนี้คงยังแตะรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ ยกเว้นว่าจะต่อรองกันเป็นเรื่องๆ และตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 หากฝ่ายชนชั้นนำไม่เห็นด้วยก็จะไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะเดียวกันนี้อีก

ไม่ว่าจะเป็นคุณทักษิณหรือเชื้อสายของทักษิณ หรือใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่รัฐบาลในค่ายทหารหรือกองทัพ รัฐบาลมีฐานความชอบธรรมคือคะแนนเสียงของประชาชนที่เป็นอิสระจากชนชั้นนำตามตารีต ซึ่งพร้อมจะแข็งข้อได้เสมอ ฉะนั้นไม่ใช่ว่าเขา (ชนชั้นนำ) จะกลัวหรือเพ่งเล็งคุณทักษิณอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ หรือถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้เขาก็กลัว แต่เผอิญว่ายังไม่เป็นเลยไม่กลัว ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีไว้เพื่อกำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง



รัฐประหารโดยศาล

นายนิธิกล่าวว่า หากมองคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในแง่ดีคืออย่างน้อยที่สุดเขาไม่ได้ใช้วิธีการรัฐประหารด้วยวิธีที่เคยทำมาแล้ว ซึ่งการทำรัฐประหารในเมืองไทยต้องใช้กำลังอย่างน้อย 3 ส่วนคือ ม็อบ กองทัพ และพระบรมราชานุญาต 1.พบว่าปัญหาในเวลานี้คือสร้างม็อบที่มีพลังแบบเมื่อก่อนไม่ได้ เช่น เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ถูกผลักออกไปจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กำลังพันธมิตรฯก็ลดน้อยลง จึงปลุกเรื่องเขมร เรื่องพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่สำเร็จสักเรื่อง เมื่อไม่มีมวลชนมากพอสนับสนุน ดังนั้น จึงทำรัฐประหารด้วยกำลังทหารไม่ได้

2.กองทัพ ต้องเข้าใจว่ากองทัพเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำทางจารีต ขณะเดียวกันก็ต้องการความเป็นอิสระเหมือนศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประสบความสำเร็จในการออก พ.ร.บ.กลาโหมในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั่นหมายความตอนนี้ไม่มีใครสามารถเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงได้อีกนอกจากกองทัพด้วยกันเอง และตอนนี้กองทัพพอใจกับอำนาจอิสระของตนเองอย่างมาก นอกจากนี้ยังต้องการงบประมาณเพิ่มขึ้นตามคำขอทุกปี ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ได้ปฏิบัติอะไรต่อกองทัพที่มีความแตกต่างจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ เมื่อกองทัพร้องขออะไรมาก็ให้หมดทุกอย่าง ดังนั้น ตราบเท่าที่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 กองทัพไว้วางใจได้ว่าจะได้สิ่งที่ต้องการจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีความคุ้มที่จะเอารถถังออกมายึดอำนาจ

อย่ามองว่ากองทัพเป็นเครื่องมือของคนใดคนหนึ่ง เพราะเขาก็เป็นเครื่องมือของตัวเอง และย่อมทำอะไรเพื่อประโยชน์ของตัวเองก่อนคนที่จะใช้เครื่องมือ ตั้งแต่คุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลราบรื่นและดีขึ้นตลอดเวลา

3.การรัฐประหารตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคมเป็นต้นมาต้องได้รับพระบรมราชานุญาต ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความหลังจากการยึดอำนาจแล้วต้องได้ approval (พระบรมราชานุญาต) เช่น การเปิดโอกาสให้เข้าเฝ้าฯ ดังนั้น ทั้ง 3 ส่วนถ้าไม่ได้รับการร่วมมือตั้งแต่ต้น การทำรัฐประหารด้วยกำลังของกองทัพจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งยังไม่ใช่จังหวะของช่วงนี้ จึงจำเป็นต้องระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยวิธีอื่น ซึ่งไม่รู้ว่าใครสั่งการใคร แต่ทิศทางต้องไปแบบนี้

รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างสมดุลทางการเมืองที่กล่าวไปแล้วที่ปลอดภัย และเขาคิดว่ายุติธรรมพอสมควร เมื่อคุณมีอำนาจมากขึ้นก็เข้ามาเลือกตั้ง แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องอยู่ในการกำกับบ้าง ไม่ได้ปล่อยให้อิสระ ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนมากกว่าความผิดถูกทางกฎหมายและความหน้าด้านของคนไม่กี่คน

อย่างไรก็ดี เชื่อว่ามีประชาชนจำนวนมากกว่าคนเสื้อแดงและไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่กระนั้นคนกลุ่มนี้ยังไม่สามารถเป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือ เช่น พรรคการเมือง และการเคลื่อนไหวของประชาชนที่อาจารย์พนัสอธิบายว่าตัวศาลเองก็เปลี่ยนใจหลังจากเห็นการเคลื่อนไหวของประชาชนจำนวนมาก แต่การเคลื่อนไหวอย่างเดียวแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้



คนเสื้อแดงขาดอำนาจต่อรองกับพรรคเพื่อไทย

สำหรับความเป็นไปได้ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตนั้น นายนิธิกล่าวว่า คิดว่าเป็นความยากที่ต้องอาศัยขั้นตอนอย่างมาก มีเอ็นจีโอกลุ่มหนึ่งเคยคิดว่าต้องตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองไม่สามารถเกิดขึ้นด้วยอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว คำถามต่อไปคือคนเสื้อแดงจะจัดองค์กรของตัวเองในลักษณะที่จะเข้าไปต่อรองกับพรรคการเมืองได้หรือไม่ คิดว่าไม่ได้เช่นกัน จากงานวิจัยของนายปิ่นแก้วพบว่าแกนนำของกลุ่มเสื้อแดงที่ฝางมีบางคนเชื่อมโยงถึงแกนนำระดับส่วนกลาง ฉะนั้นจึงมีองค์กรย่อยๆของเสื้อแดงที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันเอง ซึ่งหมายความว่าเป็นการให้อำนาจกับคนที่อยู่แกนกลาง

ไม่ได้หมายความคนเหล่านั้นเป็นคนไม่ดี ผมไม่รู้ แต่แกนกลางเหล่านี้มีผลประโยชน์ส่วนตัวที่ต้องรักษา และไม่สามารถตอบสนองทุกอย่างของเสื้อแดงได้ ขณะเดียวกันเสื้อแดงแต่ละกลุ่มก็เล็กเกินที่จะบังคับแกนนำตรงกลางได้ เมื่อเป็นเช่นนี้กลไกการควบคุมพรรค หรือการจัดองค์กรในลักษณะแบบนี้ทำให้เสื้อแดงไม่มีอำนาจต่อรองในการดำเนินนโยบายของพรรคหรือแม้กระทั่งกลุ่มอย่างเพียงพอ ได้แต่สวมเสื้อแดงออกไปตามที่แกนนำระดับประเทศเรียกร้องเท่านั้น

นายนิธิกล่าวว่า ลองนึกเปรียบเทียบการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง กับสมัชชาคนจน เป็นคนละเรื่อง ซึ่งสมัชชาคนจนเป็นองค์กรระดับแนวราบ จะมี พ่อครัวซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มย่อยเหล่านี้มาประชุมกันทุกวัน เพื่อตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไป ถามว่าการเข้าไปจัดการเปลี่ยนองค์กรเหล่านี้เพื่อต่อรองเชิงนโยบายในระดับที่ใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นระดับของเสื้อแดง หรือพรรคการเมืองที่เสื้อแดงสนับสนุนก็ตาม คิดว่าในอนาคตอันใกล้ยังทำไม่ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่พอจะทำได้คือเสื้อแดงทั้งประเทศเรียกร้องสิ่งเดียวกันคือต้องการ primary vote

primary vote ดึงอำนาจคืนมาจากพรรคการเมือง

คุณทักษิณเคยสัญญาในช่วงปลายการดำรงตำแหน่งว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับพรรคไทยรักไทยทั้งหมด ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องดี ถ้าพรรคเพื่อไทยจะได้รับการหนุนจากเสื้อแดงต่อไปต้องยอมให้ประชาชนเป็นผู้เลือกผู้สมัครในแต่ละเขตเอง เพราะฉะนั้นถ้ามีเป้าหมายเดียวกันในการเล่นการเมือง อย่าคิดเรื่องการตั้งพรรคการเมืองหรือจัดองค์กรที่จะคุมพรรคการเมืองได้ ต้องขอขั้นแรกให้พรรคเพื่อไทยยอมจัดเลือกตั้งล่วงหน้าในหมู่สมาชิกพรรคที่จะส่งใครในแต่ละเขตเข้าสมัคร ส.ส. ก่อน เพียงแค่นี้จะพบว่าอำนาจในการควบคุม ส.ส. จะกลับมาอยู่ในมือของเราอย่างชัดเจน

นายนิธิกล่าวทิ้งท้ายว่า ทรรศนะส่วนตัวมองว่าการอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาเป็นเรื่องปาหี่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล น่าประหลาดใจเมื่อช่วงแรกที่รองประธานรัฐสภามาทำหน้าที่ประธานก็มี ส.ส.ประชาธิปัตย์เสนอญัตติว่าเราพูดกันได้แต่ห้ามมีการโหวต แล้วสมาชิกพรรคเพื่อไทยทั้งหมดก็นั่งเฉยๆ ไม่มีใครลุกขึ้นค้าน จากนั้นก็เล่นปาหี่ต่อต้านคัดค้านอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็โหวตแพ้ ซึ่งก็รู้ตัวตั้งแต่ต้นว่าหายไป 13 เสียง ดังนั้น ทั้งหมดคือการเตรียมการเพื่อเล่นละครให้คนดูเท่านั้นเอง แต่ควรจะสบายใจได้ อย่างน้อยเมื่อทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องเล่นละคร แสดงว่าประชาชนยังมีกำลังพอสมควรที่จะควบคุมได้ในภายหลัง

วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

“สุกำพล” ชี้ "อภิสิทธิ์"เลี่ยงเกณฑ์ทหาร "เท็จ-จริง"อยู่ที่ไหน?

ที่มา : มติชนรายวัน 28 กรกฎาคม 2555


หมายเหตุ : พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวชี้แจงกรณีการเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ ร.ร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) และขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการ (สด.3) ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ใช้เอกสารที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ 2 ฉบับ ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม


ผมพร้อมด้วยคณะกรรมการสอบสวนขอชี้แจงหลังจากที่มีข่าวเรื่องการใช้เอกสารทางทหารของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. ซึ่งเอกสารที่ผมมีอยู่มีต้นขั้วที่ทำให้รู้ถึงความเป็นมาว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง มูลเหตุที่มาชี้แจงในวันนี้มาจากการที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือมาถึงผม เนื่องจากนายกมล บันไดเพชร สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ดำเนินการร้องเรียนผมไว้กับทางผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือมาถึงผม จึงได้ส่งเอกสารข้อเท็จจริงทั้งหมดไปให้ โดยให้ผมดำเนินการตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ใช้เอกสารที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ (เอกสารเท็จ) ในการบรรจุและแต่งตั้งยศ

ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะได้ดำเนินการตามขอบเขตของกระทรวงกลาโหม จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ประกอบด้วยเอกสารทางราชการ พยานบุคคลผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และผู้ที่ได้ดำเนินการด้วย ซึ่งได้ดำเนินการสอบสวนไว้หมดแล้ว


ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 นายอภิสิทธิ์ได้ลงบัญชีขอขึ้นทหารกองเกินตามแบบ สด.1 และรับแบบ สด.9 ตามหมายเรียกการเกณฑ์ทหาร สด.35 ดังนั้น เมื่ออายุครบเกณฑ์ 21 ปี จะต้องมารับใบเกณฑ์ทหารในปีต่อไปนั้น ก็คือวันที่ 7 เมษายน 2530 โดยใบ สด.9 เป็นเอกสารจริง เนื่องจากมีใบ สด. 1 ยืนยันว่าถูกต้องทุกอย่าง ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2530 ทางโรงเรียนนายร้อย จปร.เสนอเรื่องขอบรรจุนายอภิสิทธิ์เข้ารับราชการในโรงเรียนนายร้อย จปร. เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ได้สมัครเข้ารับราชการทหารในช่วงนั้นแล้ว

แต่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2530 กรมสารบรรณทหารบกได้ตรวจสอบหลักฐานเอกสารการบรรจุนายอภิสิทธิ์ ปรากฏว่าหลักฐานไม่ครบ จึงได้ทำเรื่องกลับไปโรงเรียนนายร้อย จปร. เพื่อขอเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องหลักฐานการเกณฑ์ทหาร (สด.43) ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2530 นายอภิสิทธิ์ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ได้มาเกณฑ์ทหารหรือเรียกว่าหนีการเกณฑ์ทหาร ทางสัสดีได้ลงในหลักฐาน สด.16 ถือว่าเป็นคนขาดการตรวจเลือกฯในแขวงคลองตัน ลำดับที่ 229 เลขที่ สด.43 ที่ 675 หลังจากนั้นวันที่ 9 เมษายน 2530 นายอภิสิทธิ์ได้เขียนใบสมัครเข้ารับราชการที่โรงเรียนนายร้อย จปร. แสดงว่าในช่วงนี้มีการสร้างหลักฐานเรียบร้อยแล้ว

ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 มีหนังสือจากสัสดี กทม.รับรองว่า นายอภิสิทธิ์มีชื่อเข้าบัญชีทหารกองเกินเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2525 และได้รับการผ่อนผันตามมาตรา 29 (3) เพื่อใช้เป็นเอกสารรับรองการบรรจุ ซึ่งเอกสารดังกล่าวชัดเจนว่าเป็นเอกสารที่ไม่อยู่ในระบบทางราชการ ส่วนจะเกี่ยวข้องกับการรับสมัครเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร.หรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ถ้ามีการใช้หนังสือดังกล่าวขึ้นมา ผมบอกได้เลยว่าเป็นเอกสารที่ไม่อยู่ในระบบทางราชการ เนื่องจากพบข้อพิรุธหลายอย่าง

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2530 มีคำสั่งกลาโหมที่ 720/30 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2530 บรรจุนายอภิสิทธิ์เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนตำแหน่งอาจารย์โรงเรียนส่วนการศึกษาโรงเรียนนายร้อย จปร.



ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2531 มีการแจ้งว่าใบ สด.9 หาย และขอรับใบแทนฉบับที่ชำรุดเสียหาย โดยได้มีการบันทึกใหม่ว่าเข้าบัญชีทหารกองเกินลงวันที่ 8 เมษายน 2531 ซึ่งไม่ตรงกับครั้งแรกที่นายอภิสิทธิ์มาลงบัญชีทหารกองเกินเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 ดังนั้น หลักฐานชิ้นนี้ชัดเจน เพราะมีต้นขั้วทั้งสองใบว่าลงวันที่ไม่ตรงกัน เหตุผลที่ต้องทำใบ สด.9 ใหม่ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนเอกสารกองประจำการ (สด.3) เพราะหากมีการติดยศร้อยตรีแล้วนายอภิสิทธิ์ต้องขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการเพื่อนับเวลาราชการ ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้บังคับเป็นกฎหมาย

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าถ้าใช้เอกสาร สด.9 ใบเดิมจะเห็นชัดว่าขาดการเกณฑ์ทหาร ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2531 นายอภิสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นว่าที่ร้อยตรีและขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการที่ จ.นครนายก





"ในช่วงนี้นายอภิสิทธิ์ได้นำใบ สด.9 ซึ่งเป็นใบทดแทน ตรงนี้พิสูจน์ได้ว่าเป็นการใช้เอกสารที่ไม่อยู่ในระบบทางราชการ เรามีหลักฐานชัดเจนและระหว่างที่นายอภิสิทธิ์เข้ารับราชการและขอลาออกเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2532 นั้น ถือว่านายอภิสิทธิ์เป็นทหารเพียง 1 ปี และในช่วงรับราชการได้ลาไปต่างประเทศ 3 ครั้ง ลากิจ 2 ครั้ง ลาไปราชการ 1 ครั้ง โดยอ้างว่าไปสอนหนังสือ ทั้งหมด 221 วัน มีวันทำงานรวมเพียง 35 วัน ตามระเบียบการลาของทางราชการสามารถลาได้เพียง 70 วัน ใน 1 ปีปฏิทิน"

- หลังจากที่แถลงข่าวในวันนี้จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปกรณีการหลีกเลี่ยงการเป็นทหารของนายอภิสิทธิ์

จะทำตามขอบเขตที่กระทรวงกลาโหมกำหนดไว้ว่า มีอะไรบ้าง

- ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะส่งให้กฤษฎีกาตีความหรือไม่

ประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมาย ทางกรมพระธรรมนูญจะดูแลในส่วนนี้ หากมีข้อสงสัยจะไปปรึกษากับทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากปรึกษาเรียบร้อยแล้วก็จะรายงานให้ผมทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

- ข้อเท็จจริงออกมาอย่างนี้ผลที่จะตามมากับนายอภิสิทธิ์เป็นอย่างไร

ผมคงไม่ตอบในเรื่องอื่น คงตอบได้เพียงในขอบเขตความรับผิดชอบของกระทรวงกลาโหมเท่านั้น ส่วนที่นอกเหนือจากนั้น เหนือการควบคุมของผม

- ในส่วนของอำนาจรัฐมนตรี เมื่อพบว่าเอกสารของอภิสิทธิ์สมัครเข้ารับราชการทางทหารไม่ถูกต้อง สามารถใช้อำนาจในการถอดยศและยึดเงินเดือนคืนได้หรือไม่

ในส่วนนี้ทางกระทรวงกลาโหมกำลังดูอยู่ อาจจะไปปรึกษากฤษฎีกา เป็นเรื่องของกรมพระธรรมนูญที่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ

- เรื่องดังกล่าวนี้ในเรื่องเอกสารนั้นยังไม่หมดอายุความใช่หรือไม่

ทางกรมพระธรรมนูญต้องดำเนินการชี้แจง ผมไม่ทราบเพราะไม่ได้จบกฎหมาย หลังจากนี้กรมพระธรรมนูญจะดำเนินการชี้แจงอีกครั้ง

- สามารถพิสูจน์ได้หรือไม่ว่าใครเป็นผู้ทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับนายอภิสิทธิ์

เรื่องนี้มันลึกและนานมาก ซึ่งระบบการเกณฑ์ทหารตั้งแต่ปี 2497 ยังไม่มีคอมพิวเตอร์จึงได้ใช้เอกสารเป็นใบสำคัญ สด.ต่างๆ มากมายจึงทำให้ยุ่งยาก แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งใบสำคัญต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นหลักฐานการยืนยันตามขั้นตอนของการดำเนินการได้

- กรณีที่นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นำใบ สด.20 ของนายอภิสิทธิ์มาชี้แจงนั้นเป็นเอกสารจริงหรือไม่

ไม่ทราบว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ แต่ว่าไม่มีการรับรองสำเนา ทั้งนี้ใบ สด.20 เป็นเอกสารทางราชการ นายอภิสิทธิ์จะถือเพียงอย่างเดียวคือใบ สด.41

- สรุปว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นโมฆะหรือไม่

-อะไรที่จบไปแล้วก็จบไป อะไรที่ยังไม่จบก็ไม่จบ


วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

มาตรา112การล่าแม่มดครั้งใหม่

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 370 วันที่ 28 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2555 หน้า 4 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ


ในสมัยกลางของยุโรป เมื่อคริสต์ศาสนายังคงเป็นความคิดอันครอบงำชนชั้นปกครองและพระชั้นสูงในสมัยนั้น รักษาอำนาจโดยการอ้างอิงตนเองว่าเป็นผู้ศรัทธาต่อพระเจ้าอันแท้จริง และกล่าวหาคนที่คิดต่างว่าเป็นพวกแม่มด ต้องถูกลงโทษโดยการเผาทั้งเป็น ผลจากกรณีนี้ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกสอบสวนและถูกลงโทษ เมื่อเวลาผ่านไปมาตรการล่าแม่มดเช่นนี้ถือเป็นมาตรการป่าเถื่อน จึงถูกยกเลิก เสรีภาพในด้านความคิดความเชื่อจึงเป็นที่ยอมรับ และชาวยุโรปก็เลิกบังคับให้คนคิดและศรัทธาในแบบเดียวกัน



แต่ในกรณีของประเทศไทย การล่าแม่มดยังคงดำเนินการอยู่ กรณีล่าสุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่ศาลเองไปละเมิดอำนาจนิติบัญญัติด้วยการใช้คำสั่งให้รัฐสภายุติการพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่จะต้องมีการลงมติในวาระที่ 3 ในวันนั้นกลุ่มประชาชนฝ่ายขวาหลายกลุ่มที่ให้การสนับสนุนศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกตนเองว่ากองทัพปลดแอกประชาชนได้ไปชุมนุมกันบริเวณด้านหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยอ้างเหตุผลว่าจะปกป้องศาล ซึ่งในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็เสนอข้อวินิจฉัยอันไร้สาระออกมาชุดหนึ่ง แต่ปัญหาของเหตุการณ์ไม่ได้อยู่ที่คำวินิจฉัย หากแต่อยู่ที่เหตุการณ์หน้าศาล ดังที่เอเอสทีวีรายงานว่า

ในระหว่างที่กลุ่มกองทัพปลดแอกประชาชนจะให้สื่อมวลชนบันทึกภาพในพิธีอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาร่วมในการบันทึกภาพ ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อมีหญิงสูงอายุคนหนึ่ง ทราบชื่อภายหลังคือ นางฐิตินันท์ แก้วจันทรานนท์ อายุ 63 ปี ได้เดินฝ่าฝูงชนเข้ามาตรงไปยังผู้ที่อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ ก่อนจะกระทำการอันมิบังควรกับพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งผู้ถือได้ชูอยู่เหนือศีรษะ สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เห็นเหตุการณ์เป็นอย่างมาก

เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นที่มาของการล่าแม่มดครั้งใหม่ เพราะกลุ่มพลังฝ่ายขวาทั้งหลายถือโอกาสนำมาเป็นเรื่องสร้างกระแสติดตามและสำแดงพลังคุกคาม โดยส่วนหนึ่งนำเรื่องนี้มาโจมตีกล่าวหาฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ และโจมตีไปถึง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวหาว่าไม่สนใจติดตามตัวนางฐิตินันท์มาดำเนินคดี แม้จะมีรายงานข่าวว่านางฐิตินันท์เป็นบุคคลไม่ปรกติ มีอาการทางประสาท ทั้งเป็นผู้สูงอายุแล้ว แต่กลุ่มฝ่ายขวาก็ยังไม่ละเว้น ยังคงกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเล่นงานนางฐิตินันท์ให้เป็นเหยื่อกรณี 112 อย่างปราศจากความเมตตา และยังโจมตีไปถึงสื่อกระแสหลัก เช่น ไทยรัฐ มติชน และโทรทัศน์ช่องต่างๆ รวมถึงรายการของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่ามิได้อนาทรร้อนใจต่อพฤติกรรมมิบังควรของหญิงชรารายนี้


เหตุผลในการติดตามไล่ล่านางฐิตินันท์ครั้งนี้ กลุ่มฝ่ายขวาก็กระทำเช่นเดิมคือโจมตีนางฐิตินันท์ว่าเป็นคนชั่ว หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการนำรูปมาขึ้นปกแล้วเปรียบเทียบว่าเป็น เห็บหมาพวกฝ่ายขวาพยายามอ้างตนเองว่าเป็นผู้มีความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้งยิ่งกว่าใคร และได้แสดงความเห็นในทางที่ไม่เชื่อว่านางฐิตินันท์เป็นผู้มีอาการป่วย แต่กล่าวหาว่าทางการตำรวจใช้ข้ออ้างนี้ในทางที่จะไม่ดำเนินคดี เช่น ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายขวาได้นำหุ่นแทนตัว พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ใส่โลงศพจำลองมายังบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนทำการฌาปนกิจด้วยการฉีดสารเคมีแทนการเผาหุ่น เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่ต้องการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ในการติดตามไล่ล่าแม่มดครั้งนี้ได้นำประวัติของนางฐิตินันท์มาเปิดเผยว่าเป็นชาวอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น และเปิดร้านอาหารที่เมืองไครส์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ อ้างกันว่ามีเฟซบุ๊คในโลกไซเบอร์ และมีการกดไลค์เพจของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นเพื่อนกับนายอดิศร เพียงเกษ และนายขวัญชัย ไพรพนา มีรายการดนตรีโปรดปรานคือ นายวิสา คัญทัพ และยังคลิกไลค์เพจ รวมพลังสนับสนุนการทำงานของ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุงทั้งที่ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นพฤติกรรมอันผิดกฎหมายแต่อย่างใด

กรณีที่คุกคามอย่างมากคือเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม กลุ่มฝ่ายขวาจำนวนหนึ่งได้ไปรวมกลุ่มกันถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อมีข่าวว่านางฐิตินันท์จะเดินทางกลับนิวซีแลนด์ ผู้ชุมนุมฝ่ายขวาอ้างว่าต้องการไปยุติการเดินทาง เพราะทราบมาว่านางฐิตินันท์จะเดินทางด้วยเครื่องบินของการบินไทยในเวลา 18.40 น. และบางกระแสข่าวระบุว่ากัปตันของการบินไทยที่ทำหน้าที่ในไฟลท์บินดังกล่าวประกาศว่าเขาและลูกเรือจะไม่ทำการบินหากนางฐิตินันท์มีรายชื่อเป็นผู้โดยสาร เพราะถือว่าเป็นบุคคลวิกลจริต เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมสถานการณ์อยู่จึงบอกต่อประชาชนที่มาประท้วงว่านางฐิตินันท์ไม่ได้มาเช็กอิน แต่อยู่โรงพยาบาล เมื่อแน่ใจว่านางฐิตินันท์ไม่ได้เดินทางกลับนิวซีแลนด์ ประชาชนที่ไปรวมตัวดักรอนางฐิตินันท์จึงสลายตัวในเวลาต่อมา


ปรากฏว่า พ.ต.อ.พงษ์ สังข์มุรินทร์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ยืนยันว่า ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อนางฐิตินันท์แล้ว พร้อมควบคุมตัวส่งโรงพยาบาลศรีธัญญา เนื่องจากมีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าว ต่อมาได้นำตัวส่งสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์และอายัดตัวไว้เพื่อตรวจสอบสภาพจิต จึงไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ประกอบกับพาสปอร์ตของนางฐิตินันท์ยังอยู่กับพนักงานสอบสวน ส่วนตั๋วเครื่องบินเดินทางไปประเทศนิวซีแลนด์เป็นการซื้อตั๋วแบบไป-กลับราคาประหยัด หากไม่ได้เดินทางจะเป็นการยกเลิกไปโดยปริยาย และมีการสอบปากคำพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ไปแล้ว 3 ปาก รวมถึงสอบปากคำสามีและบุตรชายของนางฐิตินันท์ ซึ่งระบุว่าช่วงหลังนางฐิตินันท์ไม่ค่อยรับประทานยา พร้อมนำตัวอย่างยามอบให้พนักงานสอบสวนด้วย

กรณีนี้จึงอธิบายได้ว่านางฐิตินันท์ได้ตกเป็นเหยื่ออีกกรณีหนึ่งของมาตรา 112 ที่เริ่มต้นจากฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่อ้างเอาสีเหลืองของสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มตน เพื่ออ้างอิงผูกขาดความภักดีและใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับบุคคลที่มีความคิดต่าง

ต่อมาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการขานรับการดำเนินการของฝ่ายเสื้อเหลือง โดยกวาดจับประชาชนจำนวนมากในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 พร้อมกันนั้นสื่อมวลชนของฝ่ายเสื้อเหลืองและพรรคประชาธิปัตย์ยังใช้วิธีปลุกระดมประชาชนให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังผู้ที่มีความคิดต่าง โดยดึงเอาสถาบันเบื้องสูงมาเป็นข้ออ้างตลอดเวลา ในระยะที่ผ่านมาจึงมีผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อตามข้อกล่าวหาในมาตรานี้ ตัวอย่างเช่นกรณีของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และคนอื่นๆอีกหลายคน ทั้งมีผู้บริสุทธิ์ที่ถูกขังจนถึงแก่กรรมในคุกมาแล้ว เช่นกรณีนายอำพล ตั้งนพกุล



ปัญหาคือการเคลื่อนไหวปลุกเร้าประชาชนในลักษณะนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดพุทธิปัญญาแต่อย่างใด และยิ่งไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลับยิ่งทำให้เกิดความงมงายคับแคบ คิดและศรัทธาแบบเดียวตายตัว เห็นคนที่คิดต่างเป็นศัตรูที่ต้องกวาดล้างทำลาย ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2519 กลุ่มฝ่ายขวาในสมัยนั้นก็ดำเนินการลักษณะเดียวกันในการปลุกปั่นให้เกิดความเข้าใจผิดและความเกลียดชังต่อขบวนการนักศึกษา โดยกล่าวหาว่าเป็นพวกที่ไม่จงรักภักดี ซึ่งผลจากการเคลื่อนไหวปลุกระดมนำมาสู่การฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากในกรณี 6 ตุลาคม ซึ่งเป็นรอยมลทินครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน

คำถามก็คือ ถ้าคิดอย่างมีสติแล้วสังคมไทยจะได้คุณประโยชน์อย่างใดหรือถ้าจะต้องจับเอาผู้สูงอายุเช่นนางฐิตินันท์มาเป็นจำเลย หรือต้องถูกจำคุกต่อแถวอีกคนหนึ่งในจำนวนนักโทษการเมืองผู้บริสุทธิ์ที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้

วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พระพยอมเตือนนักกฎหมายต้องระวังเหยียบย่ำกฎหมายเอง

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 369 วันที่ 21-27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 หน้า 26 คอลัมน์ พระพยอมวันนี้ โดย พระพยอม กัลยาโณ



การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อหลายวันก่อน แม้จะวินิจฉัยให้ยกคำร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่นึกไม่ถึงว่าผลพวงจากการตัดสินครั้งนี้จะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย

อาตมาอยู่ต่างจังหวัดก็ยังได้ยิน มีทั้งเสียงจากชาวบ้าน เสียงจากข้าราชการที่มาบ่นให้ฟัง แสดงความไม่เห็นด้วย เหมือนออกอาการไม่เชื่อฟัง กลัวว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมยังทำให้สังคมรู้สึกเคลือบแคลงเช่นนี้ สักวันหนึ่งคนจะไม่มีความเชื่อถือและเกิดเป็นอารยะขัดขืน อาตมาเกิดมา 60 ปี ยังไม่เคยเห็นคนไทยมีปฏิกิริยาต่อกระบวนการศาลยุติธรรมจนต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะขนาดนี้ ซึ่งแต่ก่อนหากไม่ถูกใจ ไม่ชอบ ก็ยังนิ่งๆ ไม่เถียง ไม่วิจารณ์

สิ่งเหล่านี้ทำให้นึกถึงอนาคตของกระบวนการยุติธรรมว่าหากทำให้ประชาชนเคลือบแคลงแบบนี้มากขึ้นจะไม่มีอะไรเป็นข้อยุติของคดีความ เพราะวันนี้มีทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย รวมทั้งตำรวจออกมาแสดงความเห็นว่าการตีความของศาลรัฐธรรมนูธแฉลบไปแฉลบมา เพราะฟังครั้งแรกก็คิดว่าน่าจะพอใจที่อย่างน้อยปัญหาอะไรต่างๆจะได้ไม่ลุกลาม ยังมีความสงบอยู่ แถมยังได้รับคำขอบคุณจากพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ แต่พอทุกคนตั้งสติได้ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องที่ศาลแสดงความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับทำได้ แต่ควรทำประชามติก่อน

ประเด็นที่พูดกันมากที่สุดคือ ตกลงแล้วศาลรัฐธรรมนูญใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าประชาชนอีกหรือ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นเชื่อว่าคงจะต้องมีการดื้อดึง การไม่ยอมรับจะเกิดมากขึ้น

แต่ก่อนคนเรายังพอจะมีเลือดของพันท้ายนรสิงห์อยู่บ้าง คือผิดก็ยอมรับผิด แต่ถึงจะไม่ผิด หากทำแล้วบ้านเมืองสงบก็จะทำ แต่ยุคนี้อะไรหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เลือดพันท้ายฯก็เลยเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าสถาบันใดก็ตามหากทำอะไรโดยที่ไม่เห็นใจประชาชนแล้ว อารมณ์ประชาชนอาจปั่นป่วน

อาตมาเคยได้รับประสบการณ์เรื่องแบบนี้เช่นกัน แม้จะผ่านมาหลายปีแต่ยังจำได้ กับการตัดสินที่ไม่ชัดเจน กรณีที่ดินวัดสวนแก้ว (โฉนดถุงกล้วยแขก) ที่ตอนแรกวินิฉัยสั่งให้กรมที่ดินออกโฉนดตามคำร้องขอของผู้ร้องที่ได้ครอบครองปรปักษ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว จนสามารถทำการซื้อขายกันได้ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการ มีการโอนและเสียค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีเรียบร้อย สุดท้ายกลับมีคำวินิฉัยออกมาใหม่ว่าให้วัดคืนที่ดินแปลงที่ซื้อมากลับไปให้เจ้าของเดิม โดยอ้างว่าผู้ร้องครอบครองปรกปักษ์ได้ที่ดินมาโดยไม่ถูกต้อง หรือใช้เทคนิคภาษากฎหมายพูดให้งงว่าผู้โอนย่อมมีสิทธิเหนือผู้รับโอน

ถามว่าผลเสียหายเป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาทเศษ ใครเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะไม่มีใครผิด ทั้งผู้สั่งให้ออกโฉนด ผู้ออกโฉนด ผู้นำโฉนดมาขาย ไม่มีใครผิด คนผิดอยู่ที่ผู้ซื้อคือมูลนิธิวัดสวนแก้ว

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นอาตมาก็เคยคิดเหมือนกันว่าต่อไปกระบวนการยุติธรรมบ้านเราคงระส่ำระสายแน่ๆ ตราบใดที่ยังพยายามใช้เทคนิคด้านกฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อาตมาจะพูดต่อก็คงลำบาก เดี๋ยวจะถูกข้อกล่าวหาหมิ่นศาล เพราะศาลมีอำนาจมากว่าความคิดเห็นของประชาชน

อยากบอกผ่านไปว่าใครที่อยู่ในวงการนักกฎหมายควรระวัง เพราะท่านอาจเป็นผู้ที่เหยียบกฎหมายกันเองโดยไม่รู้ตัว หากไม่ระวังก็บอกได้คำเดียวว่าแล้วแต่เวรแต่กรรมของประเทศ

เจริญพร

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วีรพัฒน์ ผ่านทางตัน วาระ 3 ใช้กม.อย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้ความแยบยลทางการเมืองด้วย

สัมภาษณ์พิเศษ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ข่าวสด 24 ก.ค. 2555

...ยึดหลักกฎหมายอยู่เหนือการเมือง

แต่จะต้องให้กฎหมาย นำไปสู่สภาวะทางการเมืองที่น่าปรารถนา...


คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับ ศุกร์ 13′ ยังสร้างความมึนงงให้กับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

โดยเฉพาะปัญหาการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะเดินหน้าก็เสี่ยง จะถอยหลังก็ไม่ได้ ขณะที่ภายในพรรคเองก็มีทั้งเสียงเชียร์ให้โหวตต่อ และเปลี่ยนมาแก้รายมาตราแทน

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ นิติศาสตร์บัณฑิต จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 ศึกษาต่อที่ ม.ฮาร์วาร์ด ได้รับรางวัลฟูลไบรต์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม

อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เสนอทางออกจาก กับดักไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

แนวทางที่รัฐบาลรอฟังกฤษฎีกาก่อน

แม้กฎหมายจะกำหนดชัดเจนว่าคำวินิจฉัยมีผลตั้งแต่วันที่อ่าน แต่ควรรอเอกสารให้ชัดเจนก่อน การยึดเพียงโฆษกศาลรัฐธรรมนูญแถลงหรืออ่านจากเอกสารข่าวคงไม่ได้

แต่ศาลเองก็ควรจัดทำและเผยแพร่คำวินิจฉัยทันที คำวินิจฉัยต้องทำเสร็จแล้วจึงนำมาอ่าน ไม่ใช่อ่านฉบับย่อแล้วค่อยไปแก้ไขปรับปรุงและลงมติ

ที่ตลกมากคือคำวินิจฉัยส่วนตน กฎหมายเขียนชัดว่าต้องทำให้เสร็จเป็นลายลักษณ์อักษรและแถลงต่อที่ประชุมตอนเช้าก่อนอ่านคำวินิจฉัย จึงเป็นไม่ได้ว่าขอเวลาอีก 60 วันไปทำคำวินิจฉัยส่วนตน

รัฐบาลจึงไม่ผิดเพราะต้องรอคำวินิจฉัยศาลที่มาช้า

ประเด็นที่ศาลเปิดช่องให้ร้องหากมีการกระทำขัดม.68 อีก

วุ่นวายมากเพราะศาลตีความมาตรา 68 ไว้กว้างมาก แม้ครั้งนี้บอกว่าไม่ได้ล้มล้างการปกครองฯ แต่อนาคตจะมาร้องในประเด็นนี้อยู่ดี เรื่องนี้จะเป็นปัญหาทางการเมือง

ศาลตีความนอกกฎหมายไปแล้ว เป็นการตีความแบบที่พ้นปริมณฑลของกฎหมายตั้งแต่วันที่ศาลวินิจฉัยรับคำร้องนี้ไว้ ปัญหานี้แก้โดยกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้ความแยบยลทางการเมืองด้วย

คำวินิจฉัยครั้งนี้สังคมมองว่ากำกวม

ความกำกวมย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือที่จะลดน้อยลง จากองค์กรตุลาการที่มีอำนาจชี้ขาดทางกฎหมาย ทุกคนต้องฟัง มาเป็นองค์กรกึ่งที่ปรึกษา

คือพอบอกไปแล้วคนจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ กลายเป็นที่ปรึกษาของรัฐสภาไป ทั้งที่ให้ประธานรัฐสภามานั่งชี้แจงต่อศาลแล้ว หากอนาคตศาลมีคำวินิจฉัยออกมาก็จะมีการตีความอีกว่าเป็นคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำ

พรรคเพื่อไทยแตกเป็น 2 แนวทาง คือโหวตต่อวาระ 3 และแก้รายมาตรา

การเดินหน้าโหวตต่อวาระ 3 ไม่ผิดกฎหมายเพราะมาตรา 291 บอกว่าให้ทำ 3 วาระ และศาลรัฐธรรมนูญก็บอกแค่ควรทำประชามติ

แต่เป็นการทำถูกกฎหมายที่ไม่ค่อยฉลาด ใช้กฎหมายแบบแข็งทื่อ สร้างความวุ่นวายตามมา คือจะมีคนบอกว่าขัดอำนาจศาลหรือไม่ จะมีคนตีความว่าคำวินิจฉัยมีผลผูกพันต่อรัฐสภา ครม. ก็วุ่นวายอีก

ส่วนการแก้รายมาตราก็มีปัญหา ครั้งนี้เป็นการแก้ทั้งฉบับ แก้โครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ให้ประเทศออกจากอำนาจคมช. ซึ่งต้องแก้หลายจุด เกิดปัญหาหลายจุด

คนแก้คือรัฐสภาจะเน้นแก้แต่ประโยชน์ตัวเอง เช่น ปรับเขตเลือกตั้ง อำนาจส.ส. และส.ว. ฯลฯ แต่เรื่องที่เป็นของประชาชน สิทธิชุมชน เสรีภาพของสื่อ หรือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะไม่ถูกแก้

อีกทั้งต้องใช้เวลามาก รัฐสภามีเรื่องอื่นต้องทำมากมาย ทำไมไม่ให้คนที่ประชาชนเลือกมาทำหน้าที่นี้

ทางออกของปัญหานี้

ผมมองว่าเราจะทำอย่างไรที่จะยึดหลักกฎหมายอยู่เหนือการเมือง แต่จะต้องให้กฎหมายนำไปสู่สภาวะทางการเมืองที่น่าปรารถนา

เรื่องประชามติถามประชาชนก่อน ฟังดูดี แต่กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ อาจทำผิดกฎหมายได้ ดังนั้น ประเด็นประชามติที่ศาลแนะนำว่าควรทำ ต้องใช้อำนาจของสภาที่มีอยู่แล้ว คือการให้ส.ส. ส.ว. ลงพื้นที่

ส่วนส.ว.สรรหาไปฟังความเห็นจากสาขาวิชาชีพที่ตัวเองได้รับการสรรหา เพื่อถามว่าเห็นชอบให้เดินหน้าต่อในวาระ 3 เปิดให้มีส.ส.ร.ได้หรือไม่

ได้ความอย่างไรก็มาอภิปรายกัน ถ้าสภาฟังแล้วว่าประชาชนไม่เห็นด้วยจริงๆ อาจเปลี่ยนใจไม่เดินหน้าต่อ คือเดินหน้าต่อในวาระ 3 แต่ทำให้มตินั้นตกไป

แต่ถ้าประชาชนบอกว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยากจะพ้นๆ คมช.ไปเสียทีก็ลงมติในวาระ 3 ไปเลย จะได้ประโยชน์ทุกฝ่าย คือ 1.รัฐสภาทำตามกฎหมายว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำ 3 วาระ

2.ความกดดันทางการเมืองลดลง ฟังศาลแต่ทำในรูปแบบที่ไม่ขัดกฎหมาย และ 3.ประชาชนได้ประโยชน์จากการลงพื้นที่ของส.ส. ส.ว. ได้บอกว่าอยากให้แก้เรื่องไหน

แต่อาจเกิดข้อโต้แย้งว่าส.ส.เป็นพวกเสียงข้างมากในสภา เสียงส่วนใหญ่ก็ต้องให้แก้อยู่ดี ก็ต้องบอกว่าระบบตัวแทนในสภาต้องไว้วางใจและให้เกียรติเพราะมาจากประชาชน

หากทำอะไรที่ประชาชนไม่ต้องการจะถูกลงโทษจากประชาชน คือไม่เลือกเข้ามาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

มีวิธีการอื่นอีกหรือไม่

ถ้าตรงนั้นยังไม่ชัดเจนก็ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น เช่น รัฐสภาประกาศว่าหลังลงมติวาระ 3 แล้ว วันที่ประชาชนไปเลือกตั้งส.ส.ร. หากไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ให้กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน

ถ้าคะแนนไม่ประสงค์ลงคะแนนมาเป็นเป็นอันดับหนึ่ง รัฐสภาก็จะให้คำมั่นว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอีกรอบเพื่อยกเลิกการมีส.ส.ร.

แต่หากการลงคะแนนไม่เป็นอันดับหนึ่ง ต้องให้เกียรติประชาชนคนอื่นที่ต้องการแก้ด้วย แม้ว่าการไม่ลงคะแนนจะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่จะมีผลทางการเมืองหากรัฐสภาประกาศให้คำมั่นออกมา

หรือหากการไม่ลงคะแนนยังไม่ชัดเจนอีก ก็ให้คนที่ไม่ต้องการแก้มาลงสมัครส.ส.ร. ประกาศจุดยืนเลยว่าต้องการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถ้าคนเหล่านี้ได้รับเลือกไปแล้วมีเสียงเสียงข้างมาก ก็สามารถประกาศลาออกจากส.ส.ร.ร่วมกัน และหากส.ส.ร.มีจำนวนไม่ครบกึ่งหนึ่ง จะส่งผลให้ส.ส.ร.ชุดนั้นสิ้นไปตามมาตรา 291 ที่ได้รับการแก้ไข

ฉะนั้นยังมีขั้นตอนที่ประชาชนออกความเห็นได้โดยไม่ต้องลงประชามติ ซึ่งมีปัญหาไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะอำนาจการทำประชามติเป็นของครม. จะให้ครม.ไปทำแทนสภาได้อย่างไร

หรือการตรากฎหมายใหม่แต่ก็จะมีปัญหาอีกว่า การตรากฎหมายที่เล็กกว่ามาแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร มันทำไม่ได้ในหลักทฤษฎี และยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจเข้ามาด้วย

คือจะต้องใช้เงินทำประชามติครั้งละ 2,500 ล้านบาท ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ เอาเงินไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ อีกทั้งคุณภาพของประชามติถามว่า การทำประชามติวันนี้ให้ประชาชนเลือกอะไร วันนี้ไม่มีตัวเลือกให้ประชาชน

จากเหตุผลทั้งหมดจึงไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐสภาจะต้องทำประชามติ

พรรคเพื่อไทยต้องพิจารณาดีๆ อย่าให้เหมือนตอนชะลอการลงมติวาระ 3 สรุปแล้ววาระ 3 ต้องเดินต่อ แต่ต้องเดินแบบมีหลักการ

รัฐบาลเสียงข้างมากแต่ขยับอะไรไม่ได้

เป็นปกติของการแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้ต้องการกลับไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2540 กับผู้ที่ต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่สร้างมากับมือ

คำถามคือพรรคเพื่อไทยจะเล่นเกมนี้อย่างไร ถ้าทำแบบทลายด่าน เลือดกระเด็นเลือดสาด จะไม่ต่างจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ เกิดความวุ่นวาย แต่หากยอมอย่างเดียว คนเสื้อแดงก็ไม่ยอม

วิธีที่จะประนีประนอมคือ เมื่อมีกับดักต้องเดินอย่างระมัดระวัง อะไรที่ยอมได้ก็ยอม

การผลักดันพ.ร.บ.ปรองดองและนิรโทษกรรม

พ.ร.บ.ปรองดองมีปัญหามากในเรื่องข้อกฎหมาย คือการคืนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพัน

หากไปตรากฎหมายที่ล้มล้างคำตัดสินของศาล จะทำผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและผิดรัฐธรรมนูญด้วย ถ้าพ.ร.บ. ปรองดองออกมา มีการร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะตีตกไป

ส่วนการนิรโทษกรรมเป็นอำนาจของรัฐสภาอยู่แล้ว แต่มีข้อห่วงใยว่าหากนิรโทษกรรมโทษร้ายแรงทั้งหมดจะขัดกฎหมายยุติธรรม และมีการถกเถียงกัน

ข้อเสนอของผมคือให้ออกเป็นกลางๆ เริ่มจากเปิดเผยความจริงใครฆ่าใคร หากคนทำสำนึกผิด ให้กราบขอโทษญาติผู้เสียชีวิต ผู้เสียหาย

กฎหมายที่ออกมาเพื่อการปรองดองก็อาจจะให้เป็นโทษรอลงอาญาเอาไว้ ไม่ใช่การนิรโทษกรรม