Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ปลุกทหารพันธุ์ใหม่ "ราชวัลลภ-ทม." สู้ บูรพาพยัคฆ์-ทหารเสือฯ เมื่อ "บิ๊กตู่" ลั่น "ชีวิตนี้ไม่เคยทำอะไรผิด"

รายงานพิเศษ มติชนสุดสัปดาห์ 30 มีนาคม- 5 เมษายน 2555
หลังจากที่ปล่อยให้ บูรพาพยัคฆ์ และทหารเสือราชินี จาก พล.ร.2 รอ. ต่อแถวกันครองกองทัพบก มายาวนานตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 เรื่อยมา จนทำให้บรรดาทหารวงศ์เทวัญ ที่เติบโตจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) ที่เคยครองอำนาจใน ทบ. มายาวนาน ถูกดองและข้ามหัว

จนผลักไสให้วงศ์เทวัญบางส่วนกลายพันธุ์ไปเป็นทหารแตงโม เพราะต้องการล้มรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เพราะหวังว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยได้อำนาจรัฐ ก็จะคืนความชอบธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร ให้พวกเขา หรืออย่างน้อยก็ให้ยุติธรรมมากขึ้น

จึงมีการรวมกลุ่มปลุกกระแส ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (ทม.) และทหารราชวัลลภ ซึ่งถือเป็นทหารที่อยู่ในวงศ์เทวัญ เพราะทั้ง กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) และ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.)

แม้ว่าปัจจุบัน ชื่อ ทม. จะใช้เรียกสำหรับทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ หรือ 904 เท่านั้น จากที่แต่ก่อนเคยใช้เรียกขาน ทหารของ ร.1 รอ. เรื่อยมาจนเรียกแค่ ร.1 พัน 4 รอ. เท่านั้นก็ตาม

แต่ก็เป็นที่ภาคภูมิใจของพวกเขาที่เป็นทหารของพระราชาตัวจริง เพราะโดยหน้าที่จะต้องดูแลถวายอารักขาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ทหารเสือราชินี นั้น ถวายอารักขาเฉพาะสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ในระยะหลัง บทบาทของทหารราชวัลลภ ในทางการเมืองในกองทัพบก ในนามทหารวงศ์เทวัญ ลดน้อยลง เพราะไม่ได้คุมอำนาจ ตั้งแต่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ทบ. เรื่อยมา จนมาในยุค บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. จนมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนมายุค บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ.ทบ. ที่บูรพาพยัคฆ์ครองเมือง

ในกองทัพบก รู้กันดีว่า มีการวางทายาทอำนาจของ 3 ป. ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์ ระยะยาว ตั้งแต่การดัน บิ๊กโด่ง พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 ที่จะขึ้น พลเอก ห้าเสือ ทบ. ในการโยกย้ายกันยายน ปี 2555 นี้ เพื่อจ่อเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเกษียณกันยายน 2557

พล.ท.อุดมเดช แกนนำ ตท.14 ถือเป็น ทหารเสือราชินี ที่ครบเครื่องทั้งลักษณะทหาร รูปร่างหน้าตา เส้นทางเดินในสายคอมแมนด์ และความเป็นผู้นำ

แม้จะในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อ พล.ท.อุดมเดช เนื่องจากเขาก็แสดงความเป็นทหารอาชีพ เป็นกลไกของรัฐบาล ในการทำงาน และเข้ากับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นอย่างดี เพราะเธอก็รู้ว่า พล.ท.อุดมเดช เป็นใคร

มีการวางตัวต่อกันไว้ ด้วยว่า ต่อจาก พล.ท.อุดมเดช ที่เกษียณ 2558 ก็จะต่อด้วย บิ๊กอิ๊ด พล.ต.ภาณุวัชร นาควงษม์ ผบ.พล.ร.9 แกนนำ ตท.17 ที่มีอายุราชการถึงปี 2561 และเป็นบูรพาพยัคฆ์ และต่อด้วย บิ๊กเข้ พล.ต.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ผบ.พล.ร.2 รอ. น้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ แกนนำ ตท.18 ที่มีอายุราชการถึงปี 2562

และต่อด้วย ตู่น้อย พ.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. แกนนำ ตท.20 ยังเติร์กแห่ง ทบ.

แต่ก็เม้าธ์กันว่า ในหมู่บูรพาพยัคฆ์ด้วยกันเองก็ต้องแย่งชิงกันเองด้วยเหมือนกัน เช่น พล.ต.ภาณุวัชร กับ พล.ต.เทพพงศ์ เนื่องจากมีอายุราชการใกล้เคียงกัน

อีกทั้งก่อนหน้านี้ พล.ต.ภาณุวัชร เคยถูกเด้งจาก รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. ไปเป็น ผบ.มทบ.11 เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.เทพพงศ์ น้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. มาแล้ว ทั้งๆ ที่ พล.ต.ภาณุวัชร อาวุโสกว่า แต่กลับไม่ได้ขึ้น ผบ.พล.ร.2 รอ. บ้านเกิด

ส่วนฝ่ายวงศ์เทวัญ จะดันตัวแทนขึ้นชิงความชอบธรรม ทั้ง บิ๊กอ๋อย พล.ท.จิระเดช โมกขะสมิต รอง เสธ.ทบ. แกนนำ ตท.13 ที่มีอายุราชการถึงปี 2557 หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จากคดีเสื้อแดงกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะ พล.ท.จิระเดช ถือเป็นหัวแถวของวงศ์เทวัญ โดยเฉพาะการเป็น ทม. และทหารราชวัลลภ

เช่นเดียวกับ บิ๊กต๊อก พล.ต.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่จะจ่อชิงเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 ที่ก็เคยเป็นทั้ง ผบ.ร.11 รอ. และ ผบ.ร.1 รอ. ที่ต้องชิงกับ บิ๊กอู๊ด พล.ต.วลิต โรจนภักดี รองแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อนร่วมรุ่น ตท.15 ทายาทบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือฯ ที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ วางตัวให้เป็นเต็งหนึ่งแม่ทัพภาคที่ 1 โดยทั้งคู่เป็น ตท.15 ที่มีอายุราชการถึง 2559 เหมือนกัน

ตัวแทนวงศ์เทวัญ และทหารราชวัลลภ ที่ต้องจับตามองคือ บิ๊กโชย พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 เตรียมทหาร 16 อดีต ผบ.ร.31 รอ. ที่มีอายุราชการถึงปี 2560 และ บิ๊กแกะ พล.ต.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผบ.พล.1 รอ. แกนนำ ตท.17 ที่มีอายุราชการถึงปี 2560 ที่ก็มีเลือดผสมของบูรพาพยัคฆ์อีกด้วย ที่ต้องจับตามองว่า บูรพาพยัคฆ์ หรือทหารราชวัลลภ จะเข้าเส้นชัย

เพราะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะดันนายทหารในสายบูรพาพยัคฆ์ เพราะว่ารู้จักสนิทสนมเติบโตด้วยกันมา ขึ้นสู่อำนาจ เพราะเขามองว่า พวกวงศ์เทวัญ และราชวัลลภ นั้น ส่วนใหญ่เป็นสายอำนาจเก่าของ ตท.10 ในสายของ บิ๊กโอ๋ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต เพื่อนซี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่ทว่า พล.อ.พฤณท์ ก็ถือเป็นความหวังของวงศ์เทวัญ และราชวัลลภ ที่จะกลับมาแชร์อำนาจใน ทบ. เพราะในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มี บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็น รมว.กลาโหม ก็น่าจะต่อรองได้บ้าง

โดยเฉพาะหากเมื่อ พล.อ.พฤณท์ ขึ้นเป็น รมว.กลาโหม ในอนาคตอันใกล้ พวกเขาก็จะมีความหวัง เพราะเขารู้กันดีว่า พล.อ.พฤณท์ นอกจากเป็นเพื่อนซี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว ยังจะเป็น "ว่าที่พ่อตา" ของ โอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกด้วย

แต่ทว่า ในการโยกย้ายกลางปีนี้ ไม่ปรากฏว่าฝ่ายการเมืองแทรกแซงหรือต่อรองตำแหน่งใดๆ ได้

จะเห็นได้ว่าโผทหารกลางปีนี้ ก็มีปฏิบัติการโผหลุดอีกครั้ง เนื่องจากมีการส่งให้ ผบ.เหล่าทัพ ลงนามท้ายคำสั่ง จึงทำให้มีการรั่วไหล แม้ว่าจะเป็นการเอาไว้ดูกัน แต่ทว่าก็เป็นการป้องกันการถูกแก้ไขล้วงลูกโผจากฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะ พล.อ.อ.สุกำพล รมว.กลาโหม อีกครั้ง หลังจากที่เคยทำมาแล้ว เมื่อโยกย้ายกันยายน 2554 ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยขึ้นมาแรกๆ โดยมี บิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็น รมว.กลาโหม คนแรก

แต่ทว่า โผที่หลุดนั้นมีการแจกจ่ายกันเฉพาะในกองทัพบก แต่ไม่มีในกองทัพเรือและกองทัพอากาศ อันเป็นการสะท้อนเรื่องระเบียบวินัยของทหารได้ไม่น้อย

แต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่แฮปปี้ในโผนี้ กับข่าวที่ว่า เขาจะดันเพื่อน ตท.12 ขึ้นมาเป็นแผงอำนาจ แล้วดัน ตท.13 ออกไป เช่น การดัน บิ๊กนมชง พล.ท.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รอง เสธ.ทบ. ขึ้นเป็น เสธ.ทบ. แทน บิ๊กบี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล แห่ง ตท.13 ที่ทำงานไม่เข้าขา ในการโยกย้ายปลายปีนี้ จนเขาต้องเอ่ยปากแจงกลางที่ประชุมว่า ไม่เคยคิดเช่นนั้น

แต่ในโยกย้ายกลางปี พล.อ.ประยุทธ์ นั้นร้อนไม่น้อยกับเสียงวิจารณ์ที่ว่า เขาจะดัน บิ๊กติ๊ก พล.ต.ปรีชา จันทร์โอชา รองแม่ทัพภาคที่ 3 น้องชายแท้ๆ ให้ขึ้นพลโท เป็นแม่ทัพน้อยที่ 3 ทั้งๆ ที่ พล.ต.ปรีชา ต้องนั่งที่เดิมต่อไป เพราะต้องให้ พล.ต.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 ตท.14 รุ่นพี่ ขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 3 ก่อน เพราะเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 3 ก่อน

ถึงขั้นที่เขาต้องพูดในที่ประชุมมอร์นิ่งบริ๊ฟของ ทบ. เพื่อชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง พร้อมโยนให้เป็นความผิดของสื่อที่ต้องการโจมตีตนเอง

และพร่ำย้ำเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้ง เพราะเขาไม่ต้องการให้เป็นตราบาปในชีวิตของตนเองและตระกูล จันทร์โอชา ซึ่งก็ถือว่าเป็นตระกูลทหาร

พล.อ.ประยุทธ์ ขอร้องสื่ออย่าเขียนเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ว่า ตนเองพยายามจะผลักดันให้น้องชายเป็นแม่ทัพน้อยที่ 3

"คุณไม่รู้หรอกว่าผมคิดอะไร การแต่งตั้งโยกย้ายไม่มีใครกดดันผม แต่ผมมีคุณธรรม เพราะรู้ว่ายังไม่ถึงเวลาของน้องชายผม ผมไม่เคยทำอะไรที่ผิดตลอดชีวิตของผม เพราะฉะนั้น อย่าสร้างความผิดพลาดให้กับกองทัพบกของผม เพราะมันจะอันตรายมาก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ยิ่งเมื่อมีการปลุกกระแสเรื่อง คมช.2 หรือการปฏิวัติรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยิ่งรำคาญใจ จนตำหนิสื่ออย่างรุนแรงว่า "สมองกลวง" ที่เสนอข่าวคำพูดของฝ่ายตรงข้าม จนทำให้กระแสปฏิวัติกลับมาอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์กับรัฐบาลและโดยเฉพาะกับนายกรัฐมนตรีหญิง กำลังไปได้ด้วยดี

ยิ่งเมื่อ "ลับลวงพราง ภาค 5" เปิดคำทำนาย โหร วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ อดีตโหร คมช. แห่งล้านนา ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในชาติปางก่อนที่เกิดเป็นทหารเอกพระองค์ดำหรือพระนเรศวรมหาราช ที่จะได้นำกู้ชาติ

แม้โหรวารินทร์ จะไม่ได้ระบุว่า จะได้กู้ชาติได้รูปแบบใด จะเป็นการปฏิวัติ หรือการกู้ชาติอย่างสงบ แต่ในยามนี้ ก็แนะนำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเป็น "ผบ.ทบ.คู่บุญ" ของนายกรัฐมนตรีหญิงไปก่อน ประมาณว่า จนกว่าฐานบุญของนายกรัฐมนตรีหญิงคนนี้จะหมด

เพราะโดยส่วนตัวนั้น พล.อ.ประยุทธ์ มีความเคารพนับถือสมเด็จพระนเรศวรฯ อย่างมาก เพราะเขาเองก็มีคนเคยกระซิบว่า เขาเป็นนายทหารที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ส่งมาเกิด เพื่อมากู้ชาติ

"เมื่อใกล้ถึงเวลาแล้ว ผมจะบอก" โหรวารินทร์ เปรย

ท่ามกลางความเชื่อที่ว่า การกู้ชาติ อาจจะหมายถึงการปฏิวัติ เฉกเช่นที่โหรวารินทร์ ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาด้านไสยศาสตร์ของ บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ตอนเป็น ผบ.ทบ. ก่อนการปฏิวัติบอกว่า เขาเป็นทหารเอกพระเจ้าตากสิน ที่จะได้กู้ชาติ และเห็นภาพ พล.อ.สนธิ นำปฏิวัติ

แต่ทว่าในยุคนี้ โหรวารินทร์ ยังไม่เห็นภาพนั้นของ พล.อ.ประยุทธ์

แต่สำหรับ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่วันนี้ย้ายมาอยู่ฝั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ จากที่เมื่อ 19 กันยายน นั้นเขาเป็นตัวแทนของ พล.อ.สนธิ ไปประชุมร่วมกับองคมนตรีและประธานศาล และนักวิชาการรวม 7 คน ที่บ้านคนดัง "ป." ย่านสุขุมวิท ยังเชื่อว่า อาจจะมี คมช.2 เกิดขึ้นอีก

"ก็เพราะพวกนี้ยังอยู่กันครบ ยังไม่มีใครตายเลย ลองดูซิ แค่ตอนนี้พวกนี้หลบๆ อยู่ แล้วมีการหารือกันอยู่ตลอด แล้วก็ไม่มีใครกล้าบอกว่า เมืองไทยจะไม่มีปฏิวัติอีกแล้ว เพราะการจะปฏิวัติหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลสร้างเงื่อนไข หรืออยู่ที่กองทัพ หรือทหารคนถือปืน แต่อยู่ที่ "คนที่อยู่เบื้องหลังทหารที่ถือปืน" ว่าจะสั่งให้ทำหรือเปล่า" พล.อ.พัลลภ กล่าว

เพราะสำหรับ พล.อ.พัลลภ แล้ว แม้ว่าเขาจะย้ายมาข้าง หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามจีบตามตื๊อ จนเล่าเบื้องหลังรัฐประหารให้เกือบหมดแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่เขาบอกว่า "ยังไม่ถึงเวลา"
แต่บางเรื่องก็กำลังคิดอยู่ว่า "จะเปิดเผย" หรือว่า "จะให้ตายไปกับตัว"
แต่ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ อยู่ในสายตาของฝ่ายอำมาตย์ ทั้งหมด...


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333175591&grpid=01&catid=&subcatid=

วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555

ทำไมไม่ให้สัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 352 วันที่ 24 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 หน้า 10 คอลัมน์ เพื่อชาติประชาชน โดย Pegasus


สถานการณ์ปัจจุบันฝ่ายอนุรักษ์เข้าตาจน พรรคการเมืองจึงนำองค์กรและม็อบเพื่อเตรียมล้มรัฐบาลเต็มรูปแบบ โดยจะยกระดับถึงขนาดอาจปิดล้อมและสังหารเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยก็พร้อมจะแตกหักกับฝ่ายเผด็จการอย่างเต็มที่ และพูดกันหนาหูว่า

กูไม่กลัวมึง

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นอันตรายและอาจก่อให้เกิดความรุนแรงได้ทุกขณะ จึงควรดับไฟเสียตั้งแต่ต้นลม โดยรัฐบาลต้องให้สัตยาบันต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อปิดทางการใช้ความรุนแรงทั้งปวง แต่ปัญหาที่มีการโต้แย้งกันคือ หากมีการให้สัตยาบันจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ในข้อ 8 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้

เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะประเทศใดที่มีระบอบการปกครองเช่นเดียวกับไทย เช่น อังกฤษ เบลเยียม ภูฏาน บาห์เรน กัมพูชา แคนาดา เดนมาร์ก ญี่ปุ่น จอร์แดน คูเวต ลิกเตนสไตน์ เลโซโท ลักเซมเบิร์ก มาเลเซีย โมร็อกโก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน สวาซิแลนด์ และสวีเดน ก็มีข้อบัญญัติในลักษณะคล้ายคลึงกับมาตรา 8 ของไทย แต่ก็ให้สัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศไปแล้ว เช่น อังกฤษ เบลเยียม ญี่ปุ่น สเปน สวีเดน ลิกเตนสไตน์ เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

อย่างข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญของบางประเทศ เช่น

เบลเยียม บัญญัติไว้ใน Article 91 [King’s Majority, Oath] The King’s person is inviolable; his ministers are responsible ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์จะถูกละเมิดมิได้ และเหล่ารัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองแทน

เดนมาร์กบัญญัติคล้ายกัน Section 13 [Responsibility of Ministers] The King shall not be answerable for his actions; his person shall be sacrosanct. The Ministers shall be responsible for the conduct of the government; their responsibility shall be determined by Statute.
หมายถึงพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ จะล่วงละเมิดมิได้ และรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองเช่นกัน โดยความรับผิดชอบของพระมหากษัตริย์จะถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ญี่ปุ่น Article 4 [Rule of Law for Emperor] (1) The Emperor shall perform only such acts in matters of state as are provided for in this Constitution and he shall not have powers related to government.
กรณีของญี่ปุ่นกำหนดไว้ว่า องค์พระจักรพรรดิจะทรงพระราชกรณียกิจเฉพาะที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และต้องไม่ทรงงานเกี่ยวข้องกับกิจการบริหารแผ่นดิน สิ่งที่น่าคิดคือสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง แม้จะไม่มีการจำกัดไม่ให้ข้องเกี่ยวกับงานทางการบริหาร เช่น ญี่ปุ่น หรือสวีเดน
ส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยก็ระบุชัดเจนว่าต้องเป็นกลางทางการเมือง อยู่เหนือจากการเมือง หมายถึงจะไม่ทรงเกี่ยวข้องกับการบริหารงานบ้านเมือง ไม่ว่าจะข้าราชการการเมือง หรือข้าราชการประจำ ดังนั้น จึงไม่มีโอกาสที่จะทรงกระทำผิดในการทำร้ายประชาชนใดๆเลย เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสที่จะมีการกล่าวโทษจนขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศก็ย่อมไม่มี

เมื่อพิจารณาประเด็นนี้และข้อมูลการให้สัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศของประเทศที่มีการปกครองเช่นเดียวกับไทย จึงไม่มีเหตุผลที่ไทยจะให้สัตยาบัน นอกจากนั้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสี่ กำหนดไว้ว่า เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น ฯลฯ

หมายความว่าเมื่อประเทศไทยได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมไปแล้ว แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน รัฐบาลเพียงแต่แสดงเจตนาให้มีผลผูกพันคือการแถลงอย่างเป็นทางการเท่านั้น ก็เท่ากับให้สัตยาบันแล้ว ประเด็นจึงอยู่เพียงว่าได้หารือกันจบสิ้นกระบวนความหรือยังเรื่องมาตรา 8 ตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่จำเป็นต้องแก้ไขอะไรเลย ซึ่งในต่างประเทศก็ไม่มีการแก้ไขให้พระมหากษัตริย์ต้องโทษถ้าเข้าร่วมธรรมนูญกรุงโรม แล้วทำไมไทยจึงยังงุนงงกับเรื่องง่ายๆแบบนี้อีก หรือจ้องจะให้เกิดการใช้ความรุนแรงกันจริงๆทุกอย่างจึงจะถือว่าจบ

สิ่งที่ไปตกลงเกี๊ยะเซียะกันหลายๆเรื่องตามที่เป็นข่าวแล้วคิดว่าทุกอย่างจะ win-win นั้นดูท่าทีขณะนี้เห็นจะไม่ใช่แล้ว เพราะการปราบปรามประชาชนเกิดขึ้นในสมัยผู้บัญชาการเหล่าทัพคนเก่า จึงน่าจะหารือกันให้ชัดเจนว่าจะตัดตอนกันอย่างไร การฟ้องร้องดำเนินคดีที่เป็นเรื่องความยุติธรรมอย่างสากลนั้นก็ยากที่ใครจะตีเถียงได้ ความยุติธรรมไม่ใช่หลายมาตรฐานตามใจตัวเอง ทุกอย่างจะได้เข้าที่เข้าทางเสียที ทุกคนต่างจะได้ไม่ต้องอ้างทำตามคำสั่งลับต่างๆที่กวนใจและกวนมโนธรรม ความสงบร่มเย็นก็จะเกิดขึ้นเอง

แต่ถ้ารัฐบาลเกรงกลัวกองทัพก็รับสัตยาบันโดยไม่ให้มีผลย้อนหลัง คดีความต่างๆก็จะถูกตัดตอนไปเอง แต่การให้สัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศจะช่วยไม่ให้คนรักประชาธิปไตยต้องล้มตายกันอีกต่อไปในอนาคต แค่นี้ไม่เห็นจะยากอะไรเลย

ขวางปรองดองจะก้าวข้าม‘ทักษิณ’...หรือฆ่ากันให้หมด?

เรื่องจากปกจากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
ปีที่ 7 ฉบับที่ 352 ประจำวัน จันทร์ ที่ 26 มีนาคม 2012


ถ้ายอมรับกันไม่ได้ ก็ต้องทำกันต่อไป ไม่ใช่มาถามว่าได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ได้ก็ฆ่ากันหมดทั้งประเทศจะเอาไหม

เป็นคำตอบอย่างมีอารมณ์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อผู้สื่อข่าวถามความ เห็นเรื่องข้อเสนอแนวทางปรองดองของฝ่ายต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และย้ำว่าไม่ใช่ เรื่องของทหาร คนมีหน้าที่ก็ทำไป เพราะความปรองดองคือการที่ทุกฝ่ายต้องยอม รับในกติกา กฎหมายบ้านเมือง และต้องยอมรับด้วยความพอใจ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาต่อไปเรื่อยๆ

ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่าลูกผู้ชายอย่าง พ.ต.ท. ทักษิณคิดเองได้ถ้ามาแล้วตาย จะมาทำไม
พระปกเกล้าจุดประเด็นร้อน

เรื่องความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอรายงานผลการศึกษาวิจัยเรื่องการสร้างความ ปรองดองแห่งชาติกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสา มัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน กลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย เพราะแทน ที่จะมองภาพรวมของบ้านเมืองเพื่อยุติความแตก แยก แต่กลับถูกดึงไปรวมศูนย์อยู่ที่คนคนเดียวเหมือน เดิมคือ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเฉพาะพรรคประชาธิ ปัตย์ที่ประกาศจะปลุกระดมคนใต้ออกมาต่อต้านไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาโดยไม่มีความผิด เช่นเดียวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มขาประจำทั้งกลุ่มสลิ่มและ ส.ว.ลากตั้ง

เพราะหนึ่งในข้อเสนอของสถาบันพระปก เกล้าคือ การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย และยังเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคืนความถูกต้องและความชอบธรรมบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

ประชาธิปัตย์ค้านหัวชนฝา
แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาคัดค้านว่ารายงานของสถาบันพระปกเกล้าไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ และไม่ควรนำมาอ้างเพื่อเคลื่อนไหวช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ รายงานฉบับนี้จึงไม่ใช่การปรองดองฉบับ บังแต่เป็นฉบับ บังหน้าจึงเป็นห่วงว่า กมธ.ปรองดองควรแสวงหาจุดร่วมเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง ไม่ใช่มีข้อเสนอที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ เหมือนคนทะเลาะกันอยู่ 2 คน ถ้าใช้วิธีถามแต่ละฝ่ายว่าคิดอย่างไร คนหนึ่งบอกว่าอีกฝ่ายผิด อีกคนก็บอกว่าอีกฝ่ายผิด แล้วก็บอกว่าให้เอาเสียงข้างมากมาตัดสิน นี่ไม่ใช่กระบวนการปรองดอง

เวลานี้มีการเข้าใจผิดว่าสิ่งที่คิดเป็นข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า ความจริงแล้วเป็นแค่การรวบรวมข้อเสนอของคนที่สถาบันพระปกเกล้าไปสัมภาษณ์มา ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ถูก คตส. เล่นงานก็ต้องอยากล้มคดีของ คตส.

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังเขียนบันทึกตอบโต้รายงานของสถาบันพระปกเกล้าว่าเหมือนการทำ ลายหัวใจที่เป็นต้นทางในการร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ โดยอ้างรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงมีต้นเหตุเพราะการแทรกแซงตุลาการจนเกิดการละเมิดหลักนิติธรรมในคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณเมื่อปี 2544 รวมทั้งปัญหาการฆ่าตัดตอนซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 2,500 ศพ จากนโยบายสงครามกับยาเสพติด และอาจเข้าข่ายการเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แม้แต่ พ.ต.ท.ทัก ษิณยังเคยยอมรับข้อผิดพลาดดังกล่าว รวมถึงปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ เช่น กรณีกรือเซะ ตากใบ แต่รัฐบาลมิได้พยายามแก้ไขหรือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งงานวิจัยกลับไม่เอ่ยถึงเลย จึงอาจทำให้เกิดการตั้งโจทย์ผิดจนนำไปสู่การหาคำตอบที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาได้

สนธิยันต้องเคารพผลวิจัย
ข้อโต้แย้งของนายอภิสิทธิ์กลับไม่พูดถึงกรณีพันธมิตรฯที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยอ้างสถาบันจนเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมถึงกระ บวนการตุลาการภิวัฒน์ที่นำไปสู่การยุบพรรคการ เมืองต่างๆจนพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล และนำมาสู่เหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า โดยไม่ได้เน้นที่ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรฯพยายามใช้ปลุกระดมให้กลุ่มที่เกลียดทักษิณออกมาต่อต้าน

รายงานจึงระบุชัดเจนว่ามุ่งตอบคำถามว่า อะไรคือปัจจัยหรือกระบวนการสร้างความปรองดองที่ทำให้คนในสังคมสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ?” โดยเฉพาะการศึกษาประสบการณ์การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองจากประเทศต่างๆที่คัดเลือกมา 30 กรณีศึกษาในหลายทวีปที่มีปัญหาแตกต่างกัน ได้แก่ อินโดนีเซีย (เฉพาะกรณีอาเจะห์) เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ รวันดา โมร็อกโก โคลอมเบีย ชิลี โบลิเวีย สหราชอาณาจักร (เฉพาะกรณีไอร์แลนด์เหนือ) และเยอรมนี รวมทั้งประมวลวิเคราะห์ข้อมูลปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นความขัดแย้งถึง 47 คน อาทิ นายบรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นต้น

นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งนำคณะผู้วิจัยมาแถลงข่าว ยืนยันว่า ไม่อึดอัดกับเสียงวิจารณ์ เพราะทำโดยไร้การแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองหรือเป็นเครื่องมือของใคร ซึ่งข้อเสนอไม่ใช่ยาสูตรสำเร็จของการปรองดอง แต่เป็นข้อเสนอแนะที่มีเหตุผล และคงไม่มีการทบทวน ซึ่งตรงกับความเห็นของ พล.อ.สนธิที่ให้เคารพผลการศึกษารายงานทางวิชาการและต้องรับฟัง ส่วนใครที่เห็นเป็นอย่างอื่น สถาบันพระปกเกล้าจะเห็นเป็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่ ทั้งฝ่ายค้านก็อยู่ในการประชุมกรรมาธิการทุกครั้ง ซึ่งความเห็นต่างมีแน่นอน แต่ต้องนำปัญหาหรือความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นมาร่วมพูดคุยกันถึงจะเดินไปได้
พระปกเกล้าไม่ทบทวน

อย่างไรก็ตาม นายวุฒิสารยอมรับว่า พ.ต.ท. ทักษิณเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งตั้งแต่ปี 2548 ที่บางคนมองว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาที่มีอิทธิพลเหนือฝ่ายนิติบัญญัติและการตรวจสอบคอร์รัปชัน แต่อีกกลุ่มมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่เป็นกลุ่มนอกระบอบประชา ธิปไตย หรืออำมาตย์ หรือเผด็จการทหาร ทำให้มีการใช้สถาบันตุลาการมาทำลายความเป็นธรรมในสังคมอย่าง คตส. ผลการศึกษาวิจัยจึงเห็นว่าสังคมยังมีปัญหาความขัดแย้งสูง ไม่มีบรรยากาศการปรองดอง เพราะแต่ละฝ่ายต้องการชนะ ดังนั้น ข้อเสนอที่นำไปสู่ความสำเร็จในการปรองดองรัฐบาลต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงใจ เพื่อลดความหวาดระแวงต่อความเชื่อมั่นในระบบต่างๆ พร้อมกับการให้อภัยที่เสนอให้มีการนิรโทษกรรม

ข้อเสนอของสถาบันจึงเสนอให้อภัยและออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทางการเมืองที่เกิดจากผู้ชุมนุมทางการเมืองและคดีอาญาจากแรงจูงใจทางการเมือง หรือไม่นิรโทษกรรมในคดีอาญาที่เกิดจากแรงจูงใจทั้งหมด ดังนั้น คอป. ต้องนิยามต่อไปว่าอะไรคือแรงจูงใจทางการเมือง ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมนั้นผู้ทรงคุณวุฒิเห็นตรงกันว่าควรเว้นคดีเกี่ยวกับความผิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งให้ดำเนินการตามปรกติ

นายวุฒิสารกล่าวและสรุปข้อเสนอผลวิจัยที่มีทั้งระยะสั้นและระยะยาวว่า รัฐบาลต้องดำเนินการ ค้นหาความจริงควบคู่ไปกับการนิรโทษกรรม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติรัฐ และเพื่อให้ประชาชนร่วมกันสร้างบรรยากาศ ความปรองดองให้สำเร็จโดยเร็ว ซึ่งจากการศึกษาแนว ทางปรองดองจากต่างประเทศรวบรวมได้ 7 ข้อคือ

1.รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าต้องการสร้างความปรองดอง ซึ่งจะทำให้เห็นถึงเจตนารมณ์
2.ต้องสร้างให้สังคมตระหนักว่าเวลานี้เราต้องการสร้างความปรองดอง
3.รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อบุคคลที่สูญเสียในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการเยียวยาต้องเป็นไปด้วยความเป็นธรรมทั้งสังคมและความรู้สึก ไม่ใช่เรื่องของตัวเงินอย่างเดียว
4.ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทางสังคมที่อยู่ภายนอกจำเป็นต้องยุติความเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่มีหลักนิติรัฐ เช่น การชุมนุมขับเคลื่อนด้วยวิธีการกดดันโดยใช้เสียงข้างมากที่ผิดกฎหมาย
5.ควรหยุดการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อสังคม เช่น เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่เปราะบาง
6.สื่อควรทำหน้าที่และบทบาทอย่างเป็นกลาง ไม่ควรเป็นตัวเร่งให้สังคมเกิดความขัดแย้ง เพราะขณะนี้มีสื่อจัดตั้งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ทำให้สังคมมองว่าสื่อเลือกข้างไปแล้ว
7.สังคมต้องเลิกเอาผิดรัฐประหารที่ผ่านมา เพราะ จะเป็นการรื้อฟื้นทำให้เกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

กระแส ทักษิณกลับบ้าน
ที่สำคัญกระแสการเมืองขณะนี้ได้กลับมารวมศูนย์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณอีกครั้ง ไม่ใช่เป็นเพราะนายธีรยุทธ บุญมี เสื้อกั๊กขาประจำ หายป่วยกลับมาวิพากษ์การเมืองอีกครั้งหลังจากที่ไม่เคยออกมาวิพากษ์การเมือง ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยวิจารณ์ว่าหลังปี 2500 มีนักการเมืองไทยที่มีบารมีเพียง 3 คนคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และวิกฤตการเมืองที่ยังแตก แยกอย่างรุนแรงเพราะความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สินและอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณเองไม่ได้เชื่อมั่นในการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้า แต่เป็นผู้นำการตลาดที่ทำให้รากหญ้าเป็นลูกค้าประจำได้เท่านั้น แม้แต่นโยบายประชานิยมก็จะเป็น ปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงในอนาคต รวมทั้ง พ.ต.ท. ทักษิณจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้ง จึงร้องขอในฐานะเพื่อนเก่าขาประจำให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมารับโทษและสู้คดี

แต่ที่น่าสนใจคือนายขวัญชัย ไพรพนา ประ ธานชมรมคนรักภาคอีสาน 20 จังหวัด พร้อมคณะกรรมการบริหาร ได้ออกมาแถลงข่าว คนเสื้อแดง 20 จังหวัดนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศไทยโดยกล่าวว่า เคยบอกว่าจะนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศไทยทางฝั่งลาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี

นี้ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางมาที่ลาว และมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ตอบโต้ว่าขวัญชัยไม่รู้กฎหมาย พูดจาเลอะเทอะจึงต้องเชิญแกนนำเสื้อแดง 20 จังหวัดในภาคอีสานในนามของ ชมรมคนรักภาคอีสานมาประชุมทำความเข้าใจและไปพูดคุยกับสมาชิกคนเสื้อแดงในแต่ละจังหวัดของภาคอีสาน เพื่อนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศไทยให้เร็วที่สุด เพราะพวกเราคนเสื้อแดงในภาคอีสานไม่สามารถรอต่อไปได้อีกแล้ว โดย พ.ต.ท. ทักษิณจะเดินทางผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวมาอย่างวีรบุรุษ เพื่อให้ความขัดแย้งในบ้านเมืองจบ และประชาชนไม่ต้องเผชิญหน้ากันอีก

ขอบอกให้ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณถ้าอยากกลับ มาบ้านที่ประเทศไทยก็ขอให้กลับมาเลย ไม่ต้องไปอยู่ ต่างประเทศอีกต่อไป ขอบอกว่าประชาชนคนเสื้อแดงภาคอีสาน 20 จังหวัด ซึ่งมีมากกว่า 10 ล้านคน จะรอรับ พ.ต.ท.ทักษิณกลับเข้ามาในประเทศไทย แล้ว ไปยื่นหนังสือทูลเกล้าฯเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษคดีการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติรัฐประหาร

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณคงพิจารณาหาข้อสรุปได้ด้วยตัวเองว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร และพร้อมเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อไร ส่วนท่าทีของนายขวัญชัยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการแสดงออกอย่างคนที่รักและห่วงใย พ.ต.ท.ทักษิณที่ย้ำมาโดยตลอด แต่ พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่กลับในช่วงเดือนเมษายนอย่างที่นายขวัญชัยพูด

ทักษิณศูนย์กลางจักรวาล
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าศูนย์กลางการเมืองของไทยตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันก็ยังวนเวียนอยู่ที่คนคนเดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะอยู่ในฐานะอะไรก็ยังมีบทบาทต่อการเมืองไทย และเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งตลอดมา
แม้แต่รัฐบาลปัจจุบันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณก็ถูกมองว่าเป็นนายกรัฐมนตรีเงาที่เป็นผู้มีอำนาจตัวจริงคอยคุมเกมการเมืองทั้งในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยทั้งหมด ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยต้องพยายามเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณที่ต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องการกุมอำนาจและเกมการเมืองช่วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปในตัว เพื่อไม่ให้เกิด ความผิดพลาดเหมือนครั้งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และปัญหา งูเห่าอย่างกรณีนายเนวิน ชิดชอบ

และที่สำคัญต้องยอมรับว่าวันนี้ยังไม่มีคู่แข่งทางการเมืองที่มีบารมีและความสามารถเทียบเท่า พ.ต.ท.ทักษิณ ฝ่ายตรงข้ามจึงกลัวการกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ และไม่เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะวางมือทางการเมืองจริง เพราะวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังทำงานเบื้องหลังช่วยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะด้านต่างประเทศที่เดินทางเยือนผู้นำการ เมืองและนักธุรกิจประเทศต่างๆก่อนหรือหลังการเยือนอย่างเป็นทางการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ว่า ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ

อย่างที่นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประ จำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณมาจากอำนาจในระบบและทำในสิ่งที่นายกฯคนอื่นไม่เคยทำจำนวนมาก เสียงข้างมากในสภาเป็นรัฐบาลพรรคเดียว กล้าทุบโต๊ะข้าราชการประจำต้องทำตาม ซึ่งในอดีตไม่เคยมีมาก่อน จึงไม่แปลกที่มีคนกล่าวถึงมาก แม้หลังรัฐประหารก็พุ่งเป้าไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ทุกวันนี้อะไร ก็เป็น พ.ต.ท.ทักษิณไปหมด เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯก็อดไม่ได้ที่ทุกคนต้องกล่าวถึง เพียงแต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้รักษาสถานภาพตรงนั้นไว้ ถ้าตัดเรื่องรอบตัว เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน หรือผลประ โยชน์ทับซ้อนได้จะเกิดประโยชน์แก่ประเทศมาก
พ.ต.ท.ทักษิณจึงเป็นศูนย์กลางการเมืองและศูนย์กลางของความขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่แค่ฝ่ายตรงข้ามนำมาเป็นเงื่อนไขในการปลุกระดม ตัว พ.ต.ท.ทักษิณเองก็เป็นจุดอ่อนที่สร้างศัตรูทั้งทางตรงและทางอ้อม การที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับประเทศจึงไม่ง่าย แม้วันนี้จะมีการเกี๊ยะเซียะกับผู้มีอำนาจหลักหลายกลุ่มแล้วก็ตาม

จึงไม่แปลกที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จะบอกว่าข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าในการสร้างความปรองดองไม่มีวันสำเร็จ ไม่ว่าจะตั้งกรรมาธิการให้มีการวิจัย หรือหาเหตุผลต่างๆ ก็ไม่มีใครจะเคารพ ต่อให้ประชุมกันอีก 50 กรรมาธิการ สรุปสุดท้ายก็ไม่มีใครฟังใคร เพราะต้องมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แม้แต่ครั้ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เดินสายพบคนนั้นคนนี้เพื่อชวนให้ปรองดองก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น ประชาธิป ไตยต้องใช้กฎหมายเป็นหลักเท่านั้น

ที่สำคัญการปฏิวัติรัฐประหารยังเป็น วงจรอุบาทว์ที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก และการ รัฐประหารก็ไม่จำเป็นต้องลากรถถังออกมาเหมือนในอดีต เพราะใช้แค่กระบวนการตุลาการภิวัฒน์จากมือที่มองเห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง หรือยืมมือวิเศษขององค์กรอิสระที่มีที่มาด้วยวิธีพิ เศษ สารพิษที่ตก ค้างมาจากการรัฐ ประหารหลงยุค 19 กันยายน 2549 ก็สามารถล้มรัฐ บาลได้แล้ว!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 352 วันที่ 24 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 หน้า 18 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

"ธงชัย" ไขปริศนา "6 ตุลา" มาจากไหน กับ ข้อเสนอ "วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ชนิดใหม่" ในอาเซียน

ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์


ชมคลิปประกอบตอนท้าย

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา และสถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เดินทางมาปาฐกถาหัวข้อ "ประวัติศาสตร์อันตราย" ในอุษาคเนย์ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในงานประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "อาเซียน: ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง" มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ในสมัยที่เราเป็นเด็ก จะรู้สึกว่า "ประวัติศาสตร์" เป็นวิชาที่น่าเบื่อ เรียนเพื่อทำข้อสอบให้ผ่านไป แต่ครั้นพอโตขึ้นมา เวลามีปัญหาขัดแย้งกันในเรื่องประวัติศาสตร์ จะเป็นจะตายกันให้ได้ ทุกคนสามารถจะเข้าร่วมโกรธแค้นและเจ็บปวดได้ ใช่ไหมครับ

เราจะเสียดินแดนเมื่อไหร่ กี่ครั้ง เกิดอะไรขึ้นในกรณีความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหาร ทุกคนเป็นผู้รู้ดีไปหมดเลย ตอนเรียนหนังสือ เราแทบจะ.. ถ้าใครชอบประวัติศาสตร์ คนนั้น เป็นคนประหลาด ภูมิใจมากที่ได้สอบให้พ้นๆ ไป แต่พอเรียนจบออกมาแล้ว มีความขัดแย้งในบ้านเมือง มีปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องความรู้ทางประวัติศาสตร์ เราอ้างด้วยความภาคภูมิใจว่า มันต้องเป็นอย่างนั้น และมันต้องเป็นอย่างนี้ หรือเวลาเกิดความขัดแย้งในประเทศของเราเอง คนที่เสนอความคิดเห็น หรือตีความประวัติศาสตร์ แตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคยเราสามารถจะเป็นเดือดเป็นแค้น อินกับมันมาก ราวกับ เราเป็นผู้รู้ดี ทางประวัติศาสตร์คนหนึ่ง

พูดง่ายๆ ว่า ประวัติศาสตร์ เป็น "ความรู้" ที่ไม่ต้องรู้เรื่อง ก็สามารถอวดรู้ได้ เป็นความรู้ที่ไม่ต้องรู้ดีอะไร ก็อวดรู้ได้ เป็นความรู้ที่ democratized (เป็นประชาธิปไตย) มาก ใครๆ ก็อวดรู้ได้ อันนี้เป็นข้อดี ใครๆ ก็สามารถบอกว่าตัวเองรู้ประวัติศาสตร์ ไม่จำกัด ไม่ต้องมี ดีกรี ไม่ต้องอะไรทั้งสิ้น เป็นความรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึง แล้วสามารถจะอินเป็นเดือดเป็นแค้น หรือมีความภาคภูมิใจได้ โดยที่ไม่ต้องรู้อะไรเลย

เพราะเอาเข้าจริง ประวัติศาสตร์ แบบที่เราพูดถึงกัน ไม่ใช่เรื่องของความรู้ เป็นเรื่องของความเชื่อ อุดมการณ์ ที่ไม่เกี่ยวกับความรู้ เป็นเรื่องของความสามารถที่จะเข้าใจสปิริต ความสามารถที่จะเข้าใจ ลักษณะวิญญาณแบบนั้น กว้างๆ เพื่อนำมาเข้าใจอัตลักษณ์ของเราเอง
 
โดยปกติ ความรู้นี้ ไม่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเมื่อไหร่ มีคนเอามันไปจากเรา เราก็จะบอกว่าทนไม่ได้ เมื่อไหร่ที่มีคนแย้งขึ้นมา ท้าทายขึ้นมา เราจะรู้สึกว่าถูกท้าทาย ถูกลบหลู่ รู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้น นี่คือประวัติศาสตร์ ชนิดที่เป็น "ความเชื่อ" ถูกท้าทาย ถูกสั่นคลอนไม่ได้ เพราะมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่ง ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของความเป็นตัวเรา

บ่อยครั้ง เราเรียกสิ่งนี้ว่า เป็นความรู้ประวัติศาสตร์ เหมือนๆ กับที่เราเรียกว่า แขนงวิชาที่เราเรียนรู้เพื่อรู้จักคิดรู้จักวิเคราะห์ ว่าก็เป็นความรู้ประวัติศาสตร์เหมือนกัน แต่เอาเข้าจริง 2 อย่างนี้เป็นประวัติศาสตร์ คนละชนิด ผมคงไม่สามารถบอกว่า เป็นความรู้แตกต่างกันขนาดไหน ต่างกันในทางคุณภาพ หรือต่างกันในทางดีกรี ต่างกัน 2 ขั้วในสเปกตรัมเดียวกัน หรือต่างคนละเรื่องคนละราว คนละโลกคนละภาษากันเลย

เราเรียกความรู้ทั้ง 2 อย่างว่าประวัติศาสตร์เหมือนกัน อย่างหนึ่งคือความเชื่อ ที่ประกอบเป็นตัวเราอัตลักษณ์ของเรา อีกอย่างคือ ความสามารถในการคิดและวิเคราะห์ และบ่อยครั้งที่ผมแยก 2 อย่างนี้ไม่ออกว่าต่างกันแค่ไหน ก็เพราะบ่อยครั้ง 2 อย่างนี้ มันปะปนกัน


อย่างที่ 1) เป็นความเชื่อที่เป็นอัตลักษณ์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ แล้วเราก็เน้นว่า เป็นส่วนที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เป็นตัวของตัวเอง เน้นข้อนี้มาก เห็นด้านที่เป็นคุณมาก แต่เราลืมด้านที่เป็นอันตรายของประวัติศาสตร์ชนิดนี้ ก็คือว่า ถ้าหากเมื่อไหร่ เราถูกกระทบ ถูกท้าทาย เราจะรู้สึกเดือดร้อน เป็นเดือดเป็นแค้น เพราะเราขาดมันไม่ได้เหมือนกัน

อย่างที่ 2) เป็นเครื่องมือทางปัญญา เป็นเครื่องมือในการคิดและวิเคราะห์ และผมอยากจะเรียนว่า ยิ่งยึดเอาประวัติศาสตร์ชนิดที่เป็นเครื่องมือทางปัญญา ในการคิดวิเคราะห์ มากขึ้นเท่าไหร่ จะเกิดปรากฎการณ์คือเป็นคนที่เชื่ออะไร ยากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆแตกต่างกัน อย่างแรก"ประวัติศาสตร์" ในฐานะที่เป็นความเชื่อ และอัตลักษณ์ของเรา เป็นอุดมการณ์ทางสังคม ทางการเมือง และอีกอย่าง เป็นประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราไม่เชื่ออะไรง่ายๆ และเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรา sceptic (เป็นคนช่างสงสัย)

ทั้ง 2 อย่างนี้ ไม่เหมือนกันเลย แต่ความต่างในระนาบไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องลองคิดกันดู ประวัติศาสตร์ที่เป็นความเชื่อที่เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของเรา ถ้าเราเปรียบเทียบของแต่ละคน มันคือเรื่องราวที่บอกเล่าชีวิตของสังคม บอกเล่าชีวิตของชนชาติเรา ไม่ใช่ด้วยรายละเอียดเหตุการณ์หนึ่งๆ แต่ด้วยโครงเรื่อง เช่น เรารู้ว่า ยังไงๆ เราก็ไม่รู้ประวัติศาสตร์ไทยเท่าไหร่ แต่เรารู้แน่ๆ ว่าสังคมไทยเนี่ย เวลาเกิดปัญหา สุดท้ายจะมีวีรบุรุษ วีรสตรี ขึ้นมากอบกู้ แล้วทำให้เราสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น

 แต่จะจริงหรือเปล่า ก็ไม่รู้ จะจริงในเหตุการณ์ไหนบ้างก็ไม่รู้ หรือจะเคยจริงหรือเปล่า ก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าโครงเรื่องประวัติศาสตร์เป็นแบบนั้น ประวัติศาสตร์ชนิดนี้ ไม่ได้อยู่ด้วยรายละเอียดของเหตุการณ์หนึ่งๆ แต่อยู่ด้วยโครงเรื่อง อยู่ด้วยสาระที่เล่าซ้ำๆ กัน


เพราะฉะนั้น จึงมีชาวบ้านบางระจัน ทั้งที่บางระจัน อยู่จังหวัดไหน เกิดปีไหน เราอาจจะจำไม่ได้ เกิดตอนเสียกรุงครั้งที่ 1 ครั้งที่2 อาจจะจำไม่ได้ เรารู้ว่า ชาวบ้านบางระจัน ก็แล้วกัน เพราะเรารู้ว่ามันมีโครง ประวัติชาวบ้านบางระจัน สอดคล้องกับโครงเรื่องหลักๆ อันนั้น เป็นพอ เราไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียด เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา รายละเอียดเป็นไงไม่รู้ละ เราเรียก 16 ตุลา ก็ได้ เพราะสุดท้าย 2 อย่าง สามารถจะแมทช์กันได้


ในโครงเรื่องแบบนี้ รายละเอียดของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จำนวนมาก พูดขึ้นมา นักประวัติศาสตร์ ก็จะหงุดหงิด เอ๊ะ! ทำไม จำปะปนกันไปหมด ก็เพราะ เอาเข้าจริง ประวัติศาสตร์ชนิดนี้ ข้อสำคัญ ไม่ได้อยู่ตรงรายละเอียด รายละเอียดเป็นเพียงการตอกย้ำโครงเรื่องที่เหมือนๆ กัน ให้เรามีความมั่นใจว่า รายละเอียดเหล่านั้น หรือประวัติศาสตร์ในอดีตเหล่านั้น เป็นไปอย่างที่เรารู้ เป็นไปอย่างที่เราเชื่อว่ามันเป็น ตอกย้ำความเชื่อที่เป็นมาตรฐานจำนวนหนึ่ง


ในแง่นี้ ประวัติศาสตร์ชนิดนี้ จึงไม่จำเป็นต้องเรียนรู้รายละเอียด ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างวิพากษ์วิจารณ์ ขอให้เราสามารถจับสาระที่เป็นจิตวิญญาณ สปิริต ของสังคมแห่งชาตินั้นได้ ไม่ต้องรู้รายละเอียด ไม่ต้องรู้ใจความสำคัญก็ได้ ขอให้เรามั่นใจว่า เรื่องเหล่านั้น ตอกย้ำ โครงเรื่องซ้ำๆ ซากๆ ที่เป็นสปิริต หรือวิญญาณสังคมนั้นๆ ก็พอส่วนประวัติศาสตร์ ที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์นั้น จะทำให้เรา ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จะทำให้เราไม่เชื่ออะไรเลย


ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า เพื่อนร่วมวิชาชีพสอนประวัติศาสตร์ในเมืองไทย จะมีนักประวัติศาสตร์ชนิดที่สังกัดประวัติศาสตร์ชนิดแรก จำนวนไม่น้อย อาจจะเกินครึ่ง ของภาควิชาประวัติศาสตร์ที่หนึ่งๆ ส่วนเพื่อนร่วมวิชาชีพ ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน จะมีแนวคิดซ้าย ขวา หน้า หลัง จะคอนเซอร์เวทีฟ หรือลิเบอรัล ก็เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ เป็น sceptic (ช่างสงสัยไม่เชื่ออะไรง่ายๆ)เกือบทั้งนั้นเลย ผมได้ตั้งข้อสังเกตเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ทำให้ตั้งคำถาม หรือว่า เขาทั้ง 2 ฝ่าย สมาทาน หรือ ศึกษาประวัติศาสตร์ คนละชนิดกัน ไม่ใช่แต่เพียงประวัติศาสตร์ไทย อเมริกา หรือยุโรป แต่หมายความว่า ศึกษา หรือสนใจประวัติศาสตร์ ในแง่ที่เป็นความรู้ คนละอย่าง คนละชนิดกัน

มีนักเขียนคนหนึ่งชาวฝรั่งเศส เขียนบทความ ที่เป็นบทความคลาสสิคของเขา เมื่อปี 1982 ชื่อ "What is the Nation?" เขาเขียนไว้ว่า มีของ 2 สิ่ง ซึ่งประกอบกันเข้าเป็นหลักการ หรือเป็นสปิริตของชาติหนึ่งๆ อันหนึ่งคือ การเป็นเจ้าของมรดกอันร่ำรวย หรือมีความทรงจำ อันร่ำรวยเกี่ยวกับสังคมนั้น และอันที่ 2 คือ ความเห็นร่วมกัน ในระยะปัจจุบัน ข้อแรก สิ่งที่ประกอบเป็นชาติที่สำคัญ คือ มีมรดกร่วมกันอันร่ำรวย มีความทรงจำอันร่ำรวยเกี่ยวกับชาติหนึ่งๆ แต่ท้ายบทความบอกว่า การลืม เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก สำหรับการก่อร่างสร้างชาติขึ้นมา การหลงลืม เป็นความจำเป็น ก็เพราะว่ายิ่งการศึกษาประวัติศาสตร์ เดินหน้าไป คืบหน้าไปมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นอันตราย ต่อหลักวิญญาณหรือสปิริต ของชนชาตินั้น


ประวัติศาสตร์ เป็นส่วนประกอบของชนชาติหนึ่ง และในขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์เป็นอันตราย ผมเห็นว่า เป็นเพราะบทความกำลังพูดถึงประวัติศาสตร์ คนละชนิด กำลังพูดถึงอย่างแรกคือ ประวัติศาสตร์ ความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ ขณะเดียวกัน พูดถึงอันที่ 2 ประวัติศาสตร์ ที่เป็นการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์


ประวัติศาสตร์ชนิดที่เป็นความเชื่อหรืออัตลักษณ์ เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าชีวิตของสังคมหนึ่งเหมือนบอกเล่าชีวิตแต่ละคน โดยปกติ เรื่องราวทำนองนี้ เป็นชีวประวัติ ของสังคมหรือของชาติหนึ่ง มีสาระสำคัญ 2-3 อย่าง ในบรรดาความรู้ประวัติศาสตร์สารพัดเรื่อง


1. บอกเล่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของตัวเอง ถือเอาตัวเองเป็นใหญ่ ถือเอาตัวเองเป็นฝ่ายถูกเสมอ


2. บอกเล่าเรื่องราว การถูกรังแก ความเจ็บปวด แล้วก็เอาตัวรอดมาได้



3. ปกปิดเรื่องราวเลวๆ อัปยศ ที่ตัวเองเคยทำไว้กับคนอื่นเอาไว้


ประวัติศาสตร์แบบนี้มีอยู่3 อย่างเท่านั้น ตัวอย่างเช่น แทบทุกประเทศในอาเซียน ไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียว แต่ขอยกตัวอย่างไทย


1. บอกเล่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของตัวเอง ขยายอำนาจเมื่อไหร่ เป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่เมื่อไหร่ ซึ่งเอาเข้าจริง การขยายอำนาจเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่นั้น หมายถึงการทำให้คนอื่นเจ็บปวด การไปตีเอาปัตตานี มาเป็นของสยาม คือความยิ่งใหญ่ที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก แต่เราลืมไปว่า นี่คือความเจ็บปวดของคนปัตตานี


2. ประวัติศาสตร์ของคนถูกรังแก อันนี้เคยมีคนให้นิยามคำนี้ว่า เรื่องราวของการถูกกระทำย่ำยี อับอาย จากผู้อื่น ประวัติศาสตร์ในประเทศหนึ่งๆ ก็จำเป็นต้องมีเรื่องราวทำนองนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ประวัติศาสตร์การเสียดินแดน ไม่ว่าประวัติศาสตร์การเสียดินแดน จะจริงหรือไม่จริงสักเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นมายาคดิ 100% เลย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของความรู้ที่ประกอบเป็นอัตลักษณ์ของเรา คือต้องให้เรารู้ ว่าเราถูกรังแก เจ็บปวด เสียดินแดนมาแล้วกี่ครั้ง

ส่วนประวัติศาสตร์ ที่ต้องปกปิด เรื่องอัปยศของตัวเอง ก็รู้อยู่ ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง 6 ตุลา หรืออะไรก็แล้วแต่ เราไม่สามารถจะพูดได้ ถ้าพูดขึ้นมา ก็ขายขี้หน้าทุกฝ่าย และขายขี้หน้ากันอย่างมโหฬาร รื้อกันขนานใหญ่ว่าอะไรคือศีลธรรม อะไรคือหลักจริยธรรมของสังคมเราเอง


ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มอาเซียน เรามีประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ชนิด ยกตัวอย่าง ประวัติศาสตร์เสียดินแดน เขมรเขาก็บอกว่าเขาเสียดินแดน ลาวก็บอกเขาเสียดินแดน ทุกคนบอกว่าตัวเองเสียดินแดนเสียจนผมก็ไม่รู้ว่า หลักฟิสิกส์ ที่บอกว่า อะไรที่เสียไป มันต้องไปอยู่อีกที่ แต่ดินแดนเสียไปไม่มีประเทศไหนได้สักที่ ทุกคนบอกตัวเองเสียหมด ประเทศในกลุ่มอาเซียนก็เน้นการถูกรังแกมาก


เช่น การบอกว่าตัวเองตกอยู่ภายใต้อาณานิคม ขณะเดียวกันประเทศในกลุ่มอาเซียน ก็มีประวัติศาสตร์ที่เน้นความยิ่งใหญ่ของตัวเองอยู่ด้วยกัน เหมือนๆ กัน ทั้งๆ ที่ความยิ่งใหญ่ตัวเอง ได้มาด้วยความเจ็บปวดคนอื่น หรือเอาเข้าจริง ยิ่งใหญ่จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ตัวอย่างที่ชัดๆ ก็คือว่า คุณไปดูอนุสาวรีย์ประเทศต่างๆ จะเน้นเฉพาะอาณาจักรตัวเอง ยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เช่น พม่า มีอนุสาวรีย์กษัตริย์ 3 ยุค แต่ไม่ทำอนุสาวรีย์ของกษัตริย์ยุคตกต่ำ ลาวก็มี 3 ยุค และอีกยุคไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ แต่บันทึกความเจ็บปวดของประเทศตัวเอง เขมรก็มี แล้วเวลาเขาเล่าเรื่องเสียดินแดน เขาเล่าจากยุคอังกอร์ กระทั่งต่อมาถูกไทยตีแตก ทำให้เขมรเสียมวลชนแล้วหนีลงไปเรื่อยๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียน มีประวัติศาสตร์ เน้นความยื่งใหญ่ของตัวเอง และเน้นความเจ็บปวดไม่ต่างกัน


แล้วค่อนข้างแน่ ถ้าเราเอาประวัติศาสตร์เหล่านั้นมาเรียงกัน เราก็จะเจอประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านั้นปะทะกัน ขัดแย้งกัน และทางที่ดีคือ ต่างคนต่างอยู่ ขณะที่อาเซียน เราเน้นว่า เราต้องมีอะไรหลายอย่างร่วมกัน แต่ผมคิดว่ามีบางส่วนที่สำคัญพอๆ กับอธิปไตยเหนือดินแดน คืออธิปไตยของประวัติศาสตร์

 ฉะนั้น ก็คือว่า ต่างคนต่างอยู่ เพราะถ้าขืนเอาประวัติศาสตร์มาแชร์กัน เอามาพยายามให้ลงรอยกัน มีหวังได้ทะเลาะกัน นี่เป็นอีกอย่างหนึ่ง ที่อยู่ในอันดับต้นๆ รองจากอธิปไตยเหนือดินแดน ที่เราจะยอมสูญเสียไม่ได้ แม้แต่ตารางนิ้วเดียว


ไทยกับพม่าเคยทะเลาะกัน3-4 ปีก่อน ก็เพราะเรื่องนี้ ไทยเขมรทะเลาะเรื่องเขาพระวิหารและอีกหลายเรื่อง เขมรกับเวียดนามก็ทะเลาะกัน เรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องประวัติศาสตร์ไม่มีใครถอยให้กับใครแม้แต่ก้าวเดียว ในประเทศต่างๆ ก็มีประวัติศาสตร์ ที่ตัวเองต้องปกปิดความอัปยศของตัวเองเอาไว้ หรือปกปิดเรื่องราวที่น่าเกลียด เพราะถ้าหาก รื้อฟื้นขึ้นมา จะกลายเป็นบาดแผลที่เจ็บปวดและยังเน่าเฟะ เป็นสะเก็ดที่ยังสดอยู่ เช่น ในอินโดนีเซีย 1965 มาเลเซีย 1969ในเวียดนาม เช่น การปราบปรามชนกลุ่มน้อยทางด้านศาสนา ชนกลุ่มน้อยในด้านชาติพันธุ์ต่างๆ ส่วนไทย ก็มีเรื่องเดือนตุลาทั้งหลาย กำลังจะเพิ่มพฤษภาอีก 2 รายการ


ประวัติศาสตร์พันธุ์นี้อันตราย ก็เพราะอยู่บนความเชื่อ มีความแข็งแกร่งพอจะทนทาน ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ แต่จะถูกท้าทายจากการวิพากษ์แบบประวัติศาสตร์วิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา ขณะที่เรามักคิดว่า ประวัติศาสตร์แบบวิพากษ์วิจารณ์อันนั้นต่างหาก ที่เป็นอันตราย

 แต่ลองคิดกลับกัน เพราะประวัติศาสตร์แบบแรกต่างหากที่เป็นอันตรายเหมือนกันและอาจจะเป็นอันตรายยิ่งกว่า คือ จะดำรงอยู่ได้ ต่อเมื่อต้องให้คนในชาตินั้นๆ มีความเชื่อทำนองหนึ่งไปเรื่อยๆ เมื่อถูกสั่นคลอนด้วยเหตุผล หลักฐานต่างๆ เช่น จารึกหลักหนึ่งจริงหรือไม่ หรืออีกหลายๆ เรื่อง ประวัติศาสตร์แบบแรกจะเกิดภาวะไม่แน่นอน จะเกิดความสั่นคลอนในอัตลักษณ์ของตัวเองทันที เพราะฉะนั้น ประวัติศาสตร์ ก็เหมือนความเชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหลาย อีกหลายเรื่องในแต่ละสังคมคือว่า ดูเหมือนจะไม่เป็นอันตรายและถูกท้าทายจากความรู้อื่นๆ ที่มาท้าทาย หรือใช้เหตุผล

 แต่เอาเข้าจริง ความเชื่อเหล่านั้น ที่ดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง นั่นเป็นอันตรายชนิดหนึ่งเหมือนกัน เพราะไม่มีความรู้ ไม่มีความเชื่ออันไหน ยืนยงได้อย่างถาวรอย่างที่อาจารย์สุรินทร์ (พิศสุวรรณ) ได้พูดไว้ตั้งแต่ต้น หรือที่อาจารย์เจตนา(นาควัชระ) บอกว่า เราน่าจะมีวุฒิภาวะพอ ในการเผชิญกับความจริงได้ ถ้าหากประวัติศาสตร์ที่เราเชื่ออยู่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้องชัดเจน แต่ขอให้มันตอกย้ำตามโครงเรื่องที่เราเชื่อกันอยู่ไปเรื่อยๆ ถูกท้าทายขึ้นมา


เอาเข้าจริงประวัติศาสตร์ที่เป็นอัตลักษณ์ต่างหากที่เป็นอันตราย เพราะจะหนีไม่พ้นการถูกท้าทายอยู่ตลอดเวลา และจะถูกเรียกร้องให้ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะมันปรับตัวยาก จึงเกิดอันตรายขึ้นมา ประวัติศาสตร์ ทั้ง 2 อย่างนี้ ทดแทนกันไม่ได้ หมายความว่า ประวัติศาสตร์ทั้ง 2 อย่างนี้ดำรงอยู่ร่วมกันทุกสังคม แม้แต่สังคมตะวันตก แต่ประวัติศาสตร์แต่ละอย่างจะอยู่ร่วมกันอย่างไร นี่คือปัญหา จะมีเขตอิทธิพล จะมีผลต่อการคิดของเรา มากหรือน้อยแค่ไหน เมื่อไหร่ที่ประวัติศาสตร์แบบไหนถูกนำมาใช้ นี่ต่างหากที่ทำให้สังคมต่างๆ แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในวงการศึกษา การศึกษาประวัติศาสตร์ เต็มไปด้วยการตอกย้ำความเชื่ออัตลักษณ์ ก็จะเน้นประวัติศาสตร์ ที่ไม่ให้ตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ แต่เน้นประวัติศาสตร์ที่ให้ท่องจำ



แต่ถ้าหากเราต้องการเน้นประวัติศาสตร์ที่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ผลจะออกมาอีกอย่างหนึ่ง นี่พูดอย่างง่ายๆ ทั้ง 2 อย่างจะผลิตประชากรของสังคมออกมา ให้มีความรู้ประวัติศาสตร์ มีความสามารถในการคิด หรือเชื่อมั่นในอัตลักษณ์ของตัวเอง มีความเชื่ออัตลักษณ์ตัวเองแตกต่างกัน ทีนี้มาถึงข้อที่ว่า ประเทศในอาเซียน เรามีประวัติศาสตร์แบบที่เป็นความเชื่ออัตลักษณ์ค่อนข้างมาก ข่าวดีคือ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ข่าวร้ายคือ ประวัติศาสตร์ แบบแรกนี่ต่างหากที่เป็นอันตราย



ผมถึงได้กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ เป็นปริมณฑลหนึ่ง ที่เราจะไม่ยอมเสียให้ใครง่ายๆ ต่างคนต่างจะดีเฟนด์ของตัวเองไว้ แล้ววันนี้ ดร.สุรินทร์ ได้พูดแต่ต้นว่า อาเซียน เราต้องเน้นการเรียนรู้ เน้นการอยู่ร่วมกัน อาจารย์เจตนา ชี้ให้เห็นด้านที่เราสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ผมไม่ได้ต้องการมาปฏิเสธสิ่งเหล่านั้น แต่ตั้งใจจะบอกให้เห็นข้อจำกัด ยกตัวอย่างเช่น ข้อจำกัดเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเราปิดประตู ตั้งด่านทันที ยากมากที่เราจะยอมให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ใช่ประเทศเราประเทศเดียว ประเทศในอาเซียนก็เหมือนกันหมด



ดังนั้น เราจำเป็นต้องเก็บประวัติศาสตร์ไว้เป็นอย่างหลังๆ ในบรรดาอาชีพ ที่อนุญาตให้ข้ามไปข้ามมาในอาเซียนได้ หรือจะยกประวัติศาสตร์เป็นอย่างแรกที่ให้ข้ามไปข้ามมาได้ อันนี้แล้วแต่เราจะคิด แต่ตั้งใจจะชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่แต่ภาษาดอกไม้ ภาษาสวยหรูเท่านั้น ที่เราจะเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้



ขณะเดียวกัน กรุณาตระหนักถึงขีดจำกัด กรุณาตระหนักว่าอะไรคือลิมิต ที่พูดอย่างนี้ เพราะต้องการชี้ว่าเราต้องข้ามพ้นขีดจำกัดเหล่านี้ให้ได้ ไม่งั้น ประชาคมอาเซียน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่เท่ากับว่า ทำให้ทุกประเทศ มีประวัติศาสตร์เหมือนกัน หรือลืมประวัติศาสตร์ตัวเอง



ผมคิดว่าการรวมตัวของอาเซียนจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อต้องจัดการกับปัญหาประวัติศาสตร์เหล่านี้ เราอาจกล่าวว่า ยุโรป ก็มีปัญหาเยอะแยะ เขายังรวมอยู่ได้ เพราะอะไร ประเด็นคือว่า เขาได้ก้าวข้ามวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ ที่ถือเอาประวัติศาสตร์เป็นอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างแน่นหนาอย่างยึดมั่น ไปสู่การที่ประวัติศาสตร์เป็นเพียงเครื่องมือ ความรู้ความเข้าใจปัจจุบัน อย่างวิพากษ์วิจารณ์



ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรีอังกฤษไปทำเนียบขาว ขณะก่อนจะเริ่มแถลง ในการพบประธานาธิบดีโอบามา นายกรัฐมนตรีอังกฤษบอกว่า แทบไม่น่าเชื่อ เมื่อ 200 ปีก่อน กษัตริย์พระองค์นั้น พระองค์นี้ของอังกฤษ ให้ปราบปรามทำลายคนอเมริกัน ให้ปราบปรามพวกกบฏ คือ เขาล้อเล่นกับประวัติศาสตร์ เขาล้อเล่นกับสิ่งที่อังกฤษได้ทำเมื่อ 200 ปีก่อน ตั้งแต่ตอนที่อเมริกาต้องการจะแยกตัวมาเป็นเอกราช เขาล้อเล่นกับอันนั้นได้



หมายความว่ายังไง ผมคิดว่า ทุกวันนี้ นอกจาก ปัญหาประวัติศาสตร์มี 2 ชนิด มีการเรียนรู้คนละอย่าง สิ่งที่สำคัญอันหนึ่งคือ ผมอยากเรียกว่าเป็น culture of history หมายถึงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ หมายความว่า เราจะมีชีวิตอยู่กับอดีต จะใช้อดีต รู้อดีต มีท่าทีต่ออดีตอย่างไร เราจะเป็นเดือดเป็นแค้นอย่างไร หรือเราจะมีระยะห่าง เรามี critical distant (ระยะห่างในการวิพากษ์วิจารณ์)เรามีความห่างที่จะวิพากษ์วิจารณ์จากอดีต เราจะถืออดีตเป็นเพียงประเทศอื่นประเทศหนึ่งได้แค่ไหน


ประวัติศาสตร์จะเป็นส่วนใดในชีวิตเราปัจจุบัน หมายความว่า การที่ชาติต่างๆ ในประชาคมอาเซียน ถือเอาประวัติศาสตร์ เป็นปริมณฑลที่ละเมิดไม่ได้ เราก็เห็นอยู่ อย่างที่อาจารย์สุรินทร์ได้กล่าวไว้กรณีไทยกัมพูชาขัดแย้ง ถ้าหากเราไม่ย้อนไปยุคก่อนอาณานิคม อีกทีเราก็ต้องถือว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ไม่ได้แปลว่าจะไม่สนใจ แต่เราจะมีท่าทีอย่างไรกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ที่เป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นมรดกตกทอดมายังปัจจุบันด้วย ไม่ได้บอกว่า เราต้องปฏิเสธว่าประวัติศาสตร์นั้น เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน

แต่การบอกว่าเป็นมรดกเป็นตัวเราในปัจจุบัน เรายังสามารถมีท่าทีต่อมรดกเหล่านั้นได้ ไม่ได้บอกว่า เมื่อพ่อหรือแม่ของเราเป็นอย่างนี้ เราต้องประกอบอาชีพเดียวกัน แต่เราสามารถบอกได้ว่าท่านมีมรดกของท่านให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน บุคลิก การศึกษา จิปาถะ เรามีมรดกของพ่อแม่ในตัวเรา ในขณะเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเดินตามรอย ทำตามพิมพ์เดียวกันทุกอย่างเหมือนพ่อแม่เราทำนองนี้ครับ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า culture of history คือสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนอย่างมาก และสิ่งที่จะเสนอต่อไปนี้ คงเป็นสิ่งที่เป็นอุดมคติ เป็นความปรารถนาที่มีชีวิต คือ ค่อยๆ ปรับไป ก็คือ

 1. เรายอมรับได้ไหมว่าความรู้ประวัติศาสตร์ไม่จบสิ้น คำถามใหม่ๆ มีอยู่ตลอดเวลา ประวัติศาสตร์จึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ท้าทายได้ เปลี่ยนได้ ไม่มีการห้ามละเมิด ไม่มีปริมณฑลที่ห้ามละเมิด ในโลกที่มีวุฒิภาวะทางวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบตายตัวสิ้นสุด ไม่ว่าจะในระดับรายละเอียด หรือในระดับโครงเรื่อง หรือในระดับของสปิริต ของชาตินั้น ๆ สามารถจะถูกท้าทายได้ตลอดเวลา เราจะยอมรับประวัติศาสตร์แบบนั้นได้หรือไม่ ถ้าหากเรายอมรับไม่ได้ ประวัติศาสตร์นั้นก็ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่อันตรายอยู่ แต่ถ้าเรายอมรับได้ ก็จะถอดชนวนที่สำคัญไปอันหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องอดีตที่ผ่านไปแล้ว มีไว้เรียนรู้ศึกษา ว่ามีอิทธิพลในปัจจุบันอย่างไร แต่ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นถือมั่น ไม่จำเป็นต้องไปปกป้องรักษาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แม้กระทั่งว่าเป็นสิ่งที่ผิดๆ ของเราเอง ไม่จำเป็นต้องถือว่าตัวเองถูกเสมอ พูดง่ายๆ คือ มีระยะห่างที่เป็นตัวของเราเองในปัจจุบัน
  

2. จะพูดให้ชัดอีกคือ ต้องใช้ชื่อหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งโด่งดังในต่างประเทศ คือ"เราจะกอบกู้ประวัติศาสตร์จากชาติได้หรือยัง" หมายความว่า ให้ประวัติศาสตร์คือเรื่องอดีต ไม่ได้ผูกพันกับชาติ ชาติไม่ได้เป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น อดีตไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็เถียงกันไปเถอะ สุดท้ายแล้ว เราไม่มีผลประโยชน์ในความหมายต้องเป็นตายร้ายดี เพราะเป็นอดีต ที่เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ วัฒนธรรมข้อ 2 ที่ผมคิดว่าควรส่งเสริมคือ ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นประวัติศาสตร์ มีระยะห่างที่เป็นอิสระจากชาติเสีย หมายถึงว่า มีผล มีอิทธิพลต่อความเป็นชาติ แต่เราเรียนรู้มันในฐานะความรู้ชุดหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าต้องเดินตามอย่างที่เคยเป็นมา แต่ใช้วิจารณญาณของเราได้
 

3. ประวัติศาสตร์เป็นความรู้ที่เป็นเครื่องมือ ทำให้เราคิดเป็น เราปรับตัวได้ เรารู้และเข้าใจว่าปัจจุบันเป็นผลของอดีต อย่างไรก็ตามเราเป็นอิสระ ซึ่งอิสระไม่ได้มีความหมายว่าเราไม่มีมรดกในอดีตเลย แต่หมายถึงอิสระในระยะห่าง เราไม่จำเป็นต้องยึดถือ ประวัติศาสตร์มีไว้คิด ไม่ได้มีไว้ให้ใช้ติดความภูมิใจ ถ้าคิดแล้วภูมิใจก็อีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น ต้องส่งเสริมให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องอดีต ทำให้คนรู้จักคิด ใช้ในการคิดอย่างเป็นตัวของตัวเอง


4. ต้องอนุญาตให้ประวัติศาสตร์ทุกอย่างแบกันบนโต๊ะให้หมด รวมทั้งประวัติศาสตร์ที่ท้าทาย ประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้ง เพราะโลกนี้ การที่คนมาจากคนละจุด คนละผลประโยชน์ มุมมองมาจากคนละทิศละทาง เหตุการณ์ในอดีตหนึ่งๆ มีคนได้คนเสีย มีคนชนะ มีคนแพ้ มีคนดีใจ ก็มีคนเจ็บปวด เราต้องอนุญาตให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้น แบมาให้หมด ยกตัวอย่างเช่น เราจะไปกักเก็บประวัติศาสตร์ 6 ตุลา เรื่องพฤษภา หรือ ประวัติศาสตร์ปัตตานีไว้ทำอะไร ต้องอนุญาตให้แบออกมา เพราะยิ่งเก็บเอาไว้ ยิ่งทำให้มีความลึกลับซับซ้อน แล้วทำให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นมีพลังเกินเหตุ ต้องแบออกมาเป็นที่ถกเถียง โดยแต่ละคนมีระยะห่าง เราไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ทะเลาะกันไปเถียงกันไป เราจะไม่มีวันเห็นลงรอยร่วมกัน 100% เพราะมนุษย์เป็นอย่างนั้น เราจะรับฟังประวัติศาสตร์ ซึ่งมาจากหลายทิศหลายทาง หลายผลประโยชน์ ฟังไว้ จะให้เราเป็นเดือดเป็นแค้น ก็ไม่ เรามีไว้คิด ผมเชื่อว่าในอนาคต สังคมเราทุกที่กำลังเดินสู่สังคมที่ต้องการสังคมที่รู้จักคิด มีวุฒิภาวะ และเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ
 

ในภาวะแบบนี้ อัตลักษณ์ จะไม่ใช่เชิงเดี่ยวอีกต่อไป แต่จะหลากหลายปนเป จนนับไม่ถ้วน อัตลักษณ์สารพัดเหล่านั้นจะไม่ต้องการ single narrative (เรื่องเล่าเชิงเดี่ยว)อีกต่อไปแล้ว อัตลักษณ์เหล่านั้น จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีเรื่องเล่าหลายเรื่องหลายราวด้วยกัน สังคมที่มีวุฒิภาวะ ต้องยอมให้มีอดีตหลายเรื่องหลายราวเหล่านั้นดำรงอยู่ด้วยกัน ใครจะภูมิใจและเสียใจ ใครจะดีใจและเจ็บปวดกับประวัติศาสตร์ต่างๆ กัน เราก็ฟังไว้ โดยให้เขายึดถืออย่างนั้นได้
 

ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ที่ให้พูดแต่ภาษาดอกไม้ ลดการสงครามระหว่างประเทศให้หมด แล้วอาเซียนจะอยู่ด้วยกันอย่างมีไมตรีจิตร ไม่ใช่ แต่ต้องเป็นประวัติศาสตร์ที่แบให้หมด รบกันมากี่ครั้ง แบกันออกมา ใครทำอัปยศไว้ปีไหน กับพ่อแม่ใคร แบกันออกมา ถ้ายังมีอายุความก็จัดการตามกฎหมาย ถ้าพ้นอายุความไปแล้ว ก็เป็นประวัติศาสตร์ไป


แม้กระทั่งลูกของผม ก็ไม่จำเป็นต้องคิดเรื่อง 6 ตุลา แบบเดียวกับผม ไม่จำเป็น แล้วยิ่งคนที่ไม่ได้ผูกพันทางสายเลือด ยิ่งไม่จำเป็นเลย เราต้องการวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์แบบนั้น เราจะอยู่ร่วมกันได้ ในแง่ความเป็นประชาคม ต้องการประชากรที่สามารถ มีขันติธรรม ในความหมายเฉพาะ คือ ยินดีที่จะอยู่ร่วมกับคนที่มีประวัติศาสตร์ต่างๆ นานา ต้องเคารพเขา


แล้วไม่ใช่ละเลยด้านอัปลักษณ์ แต่ต้องเคารพเขา อย่างที่มีด้านอัปลักษณ์ของเราและของเขาด้วย นั่นหมายถึงประวัติศาสตร์ที่ยอมรับความจริง เรามีธรรมะในหัวใจได้ เราจึงต้องการสังคมที่มีเงื่อนไขในการเปิดให้มีเสรีภาพ แบกันออกมาได้ ยิ่งแบออกมา มีหลากหลายเวอร์ชั่น หลากหลายเรื่องเล่า ก็จะยิ่งลดความน่าอันตรายลงไป


ผมคิดว่ายิ่งทำให้ประวัติศาสตร์เปิดขึ้นมาโดยไม่มีใครเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ สปิริตของ nation (ชาติ)จะยิ่งลดความอันตรายลงไป แม้อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ผมคิดว่าในอาเซียน มีวุฒิภาวะพอที่จะให้ฟังกัน แน่นอน เราไม่สามารถลบความขัดแย้ง โกรธแค้น ชั่วข้ามคืน เพราะประวัติศาสตร์ ฝังมานาน
แต่ถ้าหาก เราจะถือว่าเราเป็น living (กลุ่มคนที่มีชีวิตอยู่)ผมคิดว่า ต้องเริ่มต้น ไม่ใช่ปล่อยให้อาเซียนเป็นเพียงประชาคมทางธุรกิจอย่างเดียว การที่จะมีมิติของมนุษย์ที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน จะต้องฟังกันในเชิงประวัติศาสตร์ด้วย ขอย้ำว่า ไม่ใช่พูดกันภาษาดอกไม้ ลดอัตลักษณ์ที่เจ็บปวดลงไป แต่ตรงข้าม หมายถึงปล่อยให้ประวัติศาสตร์เลวร้ายอัปยศโผล่ออกมา โดยเราไม่เอาตัวเองเข้าไปโกรธแค้น หรือดีอกดีใจกับประวัติศาสตร์เหล่านั้น เรายินดีฟังอย่างมีวิจารณญาณ นี่ต่างหาก คือความหวังว่าจะหล่อหลอมประชากรที่มีคุณภาพของประชาคมอาเซียน ซึ่งอาเซียนจะมีอุดมคติยังไงก็แล้วแต่ แต่นี่คือ เงื่อนไขอย่างหนึ่งคือ วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ชนิดใหม่