Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

จากตุลา-ตุลา ถึงพฤษภา-พฤษภา (2516-2556) รัฐไทยกับการใช้ความรุนแรง

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ




หมายเหตุ - บทความของ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย
14 ตุลาคม 2516 ผ่านไปครบ 40 ปี "ไวเหมือนโกหก" และไม่ว่าเราจะเรียกเหตุการณ์นั้นว่าอะไรก็ตาม ก็เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ของการที่ "ผู้กุมอำนาจรัฐ" กระทำกับประชาชนของตน และก็เกิดขึ้นกลางกรุงเทพมหานคร ที่มาจนถึง ณ วันนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก รวม 4 ครั้งด้วยกัน (นี่ยังไม่นับรวมถึง เหตุการณ์ทำนองเดียวกันที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด หรือในดินแดนชายขอบ)

เหตุการณ์เหล่านี้เรียกได้ว่าเป็น "อาชญากรรมรัฐ" (state crime) ที่ผู้กุมอำนาจรัฐได้กระทำต่อประชาชนของตน เป็น "ความรุนแรง" (violence) ถึงขั้นใช้อาวุธสงคราม ดังนี้คือ

(1) วันมหาปิติ 14 ตุลา 2516

(Student Uprising 14 October 1973)
(2) วันมหาวิปโยค 6 ตุลา 2519 (Black October 1976)

(3) วันพฤษภาเลือด 2535 (Bloody May 1992 ในที่นี้ขอไม่ใช้คำว่า "พฤษภาทมิฬ" เพราะชาวทมิฬ Tamil ชนชาติเก่าแก่ที่อยู่อินเดียใต้ ผู้เป็นต้นกำเนิดของตัวอักษร และการสร้างปราสาทอิฐหิน ไม่เกี่ยวไม่ข้องกับการนองเลือดในเมืองไทยแต่อย่างใด)

(4) วันพฤษภาอำมหิต 2553 (Cruel May 2010)


(1) วันมหาปิติ 14 ตุลา 2516

(Student Uprising 14 October 1973)
- นักเรียน/นักศึกษา/ประชาชน ลุกฮือขึ้นประท้วงระบอบ "คณาธิปไตยถนอม-ประภาส"

- ผู้คนจำนวนเป็นแสน เข้าร่วมประท้วงกลางถนนราชดำเนิน เรียกร้อง "ประชาธิปไตย" และ "รัฐธรรมนูญ"

- คณาธิปไตยทหารกระทำ "อาชญากรรมรัฐ" (state crime) ปราบปรามหนักด้วยอาวุธสงคราม

- ประชาชนขัดขืน สถาบันฯเข้าระงับความรุนแรง คณาธิปไตยล้มครืน

- มีผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 800

- ผู้มีส่วนร่วม คือ เยาวชนคนหนุ่มสาว ชนชั้นกลางในเมือง กทม. และต่างจังหวัดกับสื่อมวลชน)


(2) วันมหาวิปโยค 6 ตุลา 2519 (Black October 1976)
- 3 ปีต่อมา จอมพลถนอม กิตติขจร บวชเณรจากสิงคโปร์ กลับเข้ามาประจำวัดบวรนิเวศ บางลำพู กทม. ซึ่งมีสมเด็จพระญาณสังวร เป็นเจ้าอาวาส

- นักศึกษาและประชาชนชุมนุมประท้วงที่ธรรมศาสตร์ (เรียกร้องให้รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเสนีย์ ปราโมช ขับไล่ถนอมออกจากประเทศ)

- กลุ่มการเมืองจัดตั้งฝ่ายขวา นวพล กระทิงแดง และวิทยุเครือข่ายทหาร (อ้างและอิงชาติ-ศาสน์-กษัตริย์) โจมตีและกล่าวหาว่านักศึกษา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" และเป็น "คอมมิวนิสต์"

- ผู้กุมอำนาจรัฐ-กลุ่มการเมืองจัดตั้ง-ตำรวจตระเวนชายแดน กระทำ "อาชญากรรมรัฐ" ปราบปรามหนักด้วยอาวุธสงคราม

- ทหารกระทำ "รัฐประหาร" แล้วเสนอตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี

- มีผู้เสียชีวิต 40 (?) ราย, บาดเจ็บ 3,000 (?) คนหนุ่มสาวหนีเข้าป่าไปร่วมกับ พคท.

- ตัวแสดง-ผู้มีส่วนร่วม คือ เยาวชนคนหนุ่มสาว ชนชั้นกลางในเมืองที่กลายเป็นปฏิปักษ์ รวมทั้งสื่อมวลชน "กระแสหลัก" ของทั้งรัฐและเอกชน วิทยุ/ทีวี

(3) วันพฤษภาเลือด 2535 (Bloody May 1992 ในที่นี้ขอไม่ใช้คำว่า "พฤษภาทมิฬ" เพราะชาวทมิฬ ชนชาติเก่าแก่ที่อยู่อินเดียใต้ ไม่เกี่ยวไม่ข้องกับการนองเลือดในเมืองไทย)
- 16 ปีต่อมา ประชาชน คนชั้นกลาง ชาวกรุง จำนวนหลายหมื่น ชุมนุมประท้วงเป็นระยะๆ ณ บริเวณถนนราชดำเนินเรียกร้องให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออก

- รัฐบาลประกอบ "อาชญากรรมรัฐ" (state crime) ปราบปรามหนักด้วยอาวุธสงคราม

- ประชาชนขัดขืน สถาบันฯเข้าระงับความรุนแรง คณาธิปไตย/รัฐบาลล้มครืน

- มีผู้เสียชีวิต 44 (?) ราย, บาดเจ็บ 600 (?)

- ตัวแสดง-ผู้มีส่วนร่วม คือ ชนชั้นกลางในเมือง กับชาวกรุง รวมทั้งสื่อมวลชนเอกชน หนังสือพิมพ์ แต่ไม่ค่อยมีเยาวชนคนหนุ่มสาวเข้าร่วมมากนัก หากจะเทียบกับเหตุการณ์ "ตุลา-ตุลา"

(4) วันพฤษภาอำมหิต 2553 (Cruel May 2012)

- 18 ปีต่อมา ประชาชนระดับล่าง คนเสื้อแดง ชาวบ้านจากภาคอีสาน/ภาคเหนือ กับคนชั้นกลาง ชาวกรุง จำนวนหลายหมื่น ชุมนุมประท้วงต่อเนื่องบนถนนราชดำเนิน และสี่แยกราชประสงค์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่

- รัฐบาลใช้กำลังทหารประกอบ "อาชญากรรมรัฐ" (state crime) ปราบปรามหนักด้วยอาวุธสงคราม พร้อมข้อกล่าวหา "ก่อการร้าย" และการอ้างและอิงสถาบันฯ

- มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 (?) ราย, บาดเจ็บกว่า 2,000 (?)

- ตัวแสดง-ผู้มีส่วนร่วม มีทั้งชาวบ้าน จนชนบทอีสาน/เหนือ ร่วมกับชาวกรุง คนชั้นกลาง พร้อมด้วยสื่อมวลชนภาครัฐและภาคเอกชน ที่บางส่วนแตกแยก ขัดแย้ง ผู้หญิงวัยกลางคน เข้าร่วมจำนวนมาก แต่ก็ไม่ค่อยมีเยาวชนคนหนุ่มสาวมากนัก

น่าสังเกตว่า เหตุการณ์ทั้ง 4 นี้ ถ้าเราจะจับคู่เปรียบเทียบ ก็คงมีทั้งความเหมือน และความต่าง คู่แรก คือ "วันมหาปิติ 14 ตุลา 2516" กับ "วันพฤษภาเลือด 2535 (Bloody May 1992)" และคู่หลัง คือ "วันมหาวิปโยค 6 ตุลา 2519" กับ "วันพฤษภาอำมหิต 2553"

คู่ทางประวัติศาสตร์ทั้งสองนี้ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ การต่อสู้บนเส้นทาง จากระบอบเก่า "คณาธิปไตย" ไปสู่ระบอบใหม่ "ประชาธิปไตย" (Ancient regime versus new regime) ซึ่งยาวนาน และสลับซับซ้อนยิ่ง ถือได้ว่าเป็น "บทเรียน" สำคัญของสังคมไทยของเรา ที่ในปัจจุบัน มีความแตกแยก และขัดแย้งสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังจะเห็นได้จากวิกฤตการณ์เมืองที่มีมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ทศวรรษแล้ว

ในแง่ของวิชาประวัติศาสตร์ สิ่งที่เรียกว่า "อดีต" คือ สิ่งที่เราจักต้องเรียนรู้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับ "ปัจจุบัน" และเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อเผชิญหน้ากับ "อนาคต" ประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่เราต้อง "จดจำ" โดยที่เราเกือบไม่รู้ตัวว่าประวัติศาสตร์ ก็เป็นสิ่งที่เรา "ลืม" หรือ "ถูกทำให้ลืม"

ดังนั้นใน 4 เหตุการณ์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น บางเหตุการณ์ก็ได้รับการ "จดจำ" ได้รับการ "ตอกย้ำ" เช่น "วันมหาปิติ 14 ตุลา 2516" กับ "วันพฤษภาเลือด 2535" แต่บางเหตุการณ์ ก็ถูกทำให้ "ลืม" ทั้งโดย (รัฐ) ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ (เราเอง) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "วันมหาวิปโยค 6 ตุลา 2519" กับ "วันพฤษภาอำมหิต 2553" ทั้งๆ ที่เหตุการณ์หลังสุด เพิ่งเกิดเมื่อไม่นานนี้เอง

ถ้าหากประวัติศาสตร์ คือ สิ่งที่ถูกทำให้ "ลืม" ก็ดูเหมือนว่า ประวัติศาสตร์นั้น ไม่เพียงแต่จะเป็น "เหรียญด้านเดียว" (one side of the coin) เท่านั้น แต่ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่อาจจะไม่ยังประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวมเท่าไรนัก ประจักษ์พยานที่เห็นได้เด่นชัด คือ ข้อถกเถียงว่าด้วยการ "นิรโทษกรรม" ที่เท่าที่เป็นมาเป็นเวลาเกือบศตวรรษ ก็คือ ระหว่าง พ.ศ.2475 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน พ.ศ.2556 เป็นเวลา 81 ปี ไทยเรามีการรีบออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ฉบับ ทั้งนี้ โดยปราศจากการชำระสะสางคดีความ หรือ ความกระจ่างชัดเจนทางประวัติศาสตร์

กฎหมายดังกล่าวแบ่งออกเป็น พ.ร.ก. 4 ฉบับ, พ.ร.บ 17 ฉบับ และรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ สาระสำคัญของ กม.นิรโทษกรรมทั้ง 22 ฉบับคือ การนิรโทษกรรมให้กับการกระทำผิดต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น

- ความผิดฐานเปลี่ยนแปลงการปกครอง 1 ฉบับ

- ความผิดฐานก่อกบฏ 6 ฉบับ

- ความผิดจากการก่อรัฐประหาร 10 ฉบับ
- ความผิดจากการต่อต้านสงครามของญี่ปุ่น 1 ฉบับ
- ความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง 3 ฉบับ

- ความผิดจากการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 1 ฉบับ

ถ้านับกันตามเวลาแล้ว ในระยะเวลา 81 ปี เฉลี่ยแล้ว 3 ปีครึ่ง เรามีกฎหมายนิรโทษกรรม 1 ฉบับ โดยเหตุที่มากเช่นนั้น ก็เพราะเป็นการรวมเอาการรัฐประหาร 10 ฉบับ และความผิดฐานกบฏ 6 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งของชนชั้นนำเข้ามาไว้ ซึ่งคิดเป็น 72.7 เปอร์เซ็น ขณะที่การนิรโทษกรรมความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง 3 ฉบับ ในเหตุการณ์สำคัญคือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียนนิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519

เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535

และนี่ก็กลายเป็นตลกร้ายในการเมืองไทย คือ กฎหมายที่มุ่งจะนิรโทษกรรมความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง 3 ฉบับกลายเป็นว่าเป็นการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่ประกอบ "อาชญากรรม" ไปพร้อมกันด้วย กฎหมายนิรโทษกรรมกลายเป็น "ใบอนุญาตฆ่าประชาชน" ผู้ซึ่งใช้สิทธิในทางการเมืองอย่างสุจริตไปโดยปริยาย

นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า "แม้จะถูกเรียกว่าอำมาตย์เหมือนกัน แต่อำมาตย์นั้น ประกอบด้วยคนหลายกลุ่มมาก และด้วยเหตุดังนั้น จึงมีความขัดแย้งกันเองเสมอ และแม้ว่าบางครั้ง พวกเขาแก้ปัญหาความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แต่พื้นฐานที่แท้จริงของการแก้ปัญหาคือ ′รอมชอม′ หากในที่สุด ต้องจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กัน ฝ่ายแพ้ ก็ควรนอนหงายแต่โดยดี ฝ่ายชนะ จะไม่กระทืบฝ่ายแพ้ หากจะพาไปส่งขึ้นเครื่องบินไปสวิตเซอร์แลนด์ หรือไต้หวัน หากทำได้ก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อไม่ให้ฝ่ายใด ไม่ว่าแพ้หรือชนะ ต้องลำบากในคุก

"ไพร่ข้างนอกไม่เกี่ยว และหากเข้ามาเกี่ยว อำมาตย์กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ก็ไม่มีวิธีจัดการอย่างไร นอกจากใช้ความรุนแรงอย่างป่าเถื่อนเท่านั้น อย่างที่ได้ใช้มาแล้วใน 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภามหาโหด 35, และพฤษภาอำมหิต 53 ในทรรศนะของอำมาตย์ ชีวิตและสวัสดิภาพของไพร่ ไม่มีความหมายอย่างไร ไพร่ตายพัน เหมือนแมลงวันตายตัว (นึง)" จาก "เทปลับ และการเมืองของอำมาตย์" นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชน 16 กรกฎาคม 2556

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตามมาด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเกือบ 7 ปี ที่มีการล้มตายของประชาชนกลางเมืองหลวง และหัวเมืองต่างๆ ในเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2535 จนกลายมาเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยากที่จะสมานได้ในเร็ววัน แต่ผลพวงจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังปรากฏนักโทษการเมือง ที่ถูกจองจำมาเป็นเวลานานนับปี อยู่หลายร้อยคน

นี่เป็นเหตุผลที่จะบอกเราว่า นักโทษการเมือง ควรจะต้องหมดไปจากประเทศไทย ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องใช้วิถีทาง "ประชาธิปไตย" ที่มีกฎ มีเกณฑ์ เป็นอารยะ ใช้ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน ที่เราเรียนรู้จากอดีต ไม่ใช่ "ลืม" หรือ "ถูกทำให้ลืม" ทำให้ทุกอย่าง "เจ๊า" หรือ "หยวนๆ" กันไป แบบ "ไทยๆ" ดังที่ผ่านมา

ทั้ง 4 เหตุการณ์ทั้งคู่แรกของ "14 ตุลา 2516 กับ พฤษภา 2535" กับคู่หลัง "6 ตุลา 2519 กับ พฤษภา 2553" น่าจะได้รับการรับรู้ ศึกษาไตร่ตรองในลักษณะของการเปรียบเทียบ (comparative study) ในขณะเดียวกันการนิรโทษกรรมในปี 2556 (ต่อผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมทั้งก่อนและหลัง พฤษภา 2553) ต้องไม่ใช้การนิรโทษกรรมเช่นในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, เหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 ที่เป็นการนิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง" ที่ผู้ก่อความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง "อาชญากรรมรัฐ" ได้รับนิรโทษกรรมไปด้วย


ประวัติศาสตร์บอกเราชัดเจนแล้วว่า ตราบใดที่ผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ ก็จะมีความรุนแรงตามมา และ "อาชญากรรมรัฐ" ก็จะดำเนินไป เช่นที่ได้ดำเนินมาเป็นเวลานานเกือบหนึ่งศตวรรษ อย่าให้ประวัติศาสตร์บอกเราว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ต่อไปอีกเลย


(ที่มา:มติชนรายวัน 21 ก.ย.2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น