Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

สัญญาณเตือนรัฐบาล จาก "วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ระวัง! กับดักองค์กรอิสระ

ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 13-19 ก.ย.2556






ตลอดเวลา 2 ปีเศษของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ต้องเผชิญแรงเสียดทานจาก 3 ประสาน คือ พรรคฝ่ายค้าน กับ ส.ว.จำนวนหนึ่ง มวลชนนอกสภา และองค์กรอิสระ

จนไม่สามารถเดินหน้าได้สะดวกราบรื่น ไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรม จำนำข้าว โครงการ 2 ล้านล้าน

ตลอดจนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ทั้งที่ประเทศไทยเพิ่งประสบมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554

ท่ามกลางสมรภูมิต่อสู้ทางการเมือง การหักล้างกันด้วยประเด็นข้อกฎหมายยังเป็นอาวุธแหลมคม และสร้างอันตรายให้ฝ่ายรัฐบาลทุกฝีก้าว

ดังคำปาฐกถาของ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่"ฟันธง"ว่าตอนนี้รัฐบาลทำขัดรัฐธรรมนูญแล้ว หลายเรื่อง คือ

การไม่แถลงผลงานรัฐบาลปีละ 1 ครั้ง ต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 75

โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 (5) ซึ่งบัญญัติให้นโยบายที่รัฐกำหนดต้องให้มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม

"โครงการรับจำนำข้าวถือว่ารัฐผูกขาดตัดตอนเสียเอง ขัดหลักการรับจำนำ การจำนำคือเอาทรัพย์ไปประกันหนี้กับเจ้าหนี้ เมื่อถึงเวลาหนึ่งต้องไถ่ถอนหรือมีการต่อรอง แต่นี่กลับตั้งโต๊ะรับซื้อทั้งหมด ถือเป็นการโกหกตั้งแต่ต้น"

นายวสันต์ ยังแสดงอาการหงุดหงิดต่อโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ล่าช้าจนเลยกำหนดการกู้เงินตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา

พร้อมกันนั้น ยังท้วงติงร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ว่าขัดต่อหลักความเสมอภาคทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เนื่องจากการนิรโทษกรรมจะยกเว้นใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ต้องนิรโทษกรรมทั้งยวง

ภายหลังการ"โยนระเบิด"ใส่รัฐบาล

ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบต่อรัฐบาลที่กำลังรับศึกหลายด้านทั้งในและนอกสภา

ว่ากำลังถูกกระชับพื้นที่จากองค์กรอิสระตามแผน 3 ประสานหรือไม่



การฟันธงของนายวสันต์ ไม่ต่างจากการ"ชี้โพรง"ให้ฝ่ายค้านและเครือข่ายต้านรัฐบาล

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากคำพูดของอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะถูกหยิบยกไปขยายผลโจมตีรัฐบาล

นายชัยวัฒน์ บรมานันท์ นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความเห็นว่า

บทบาทของนายวสันต์ เมื่อครั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ชัดเจนว่ามีลักษณะมองรัฐบาลในแง่ลบ เมื่อลาออกจากตำแหน่งแต่ยังแสดงความคิดเห็นในลักษณะเดิม ทำให้สังคมเชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล

การออกมาพูดในลักษณะโยนระเบิดใส่รัฐบาล กระทำได้ แต่ควรแน่ใจแล้วว่ารัฐบาลมีความผิดตามข้อกล่าวหา ด้วยการนำหลักฐานเอกสารมายืนยัน

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่านายวสันต์เคยเป็นถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นบุคคคลน่าเชื่อถือ นายวสันต์พูดเมื่อไหร่ ทุกคนต้องเงี่ยหูฟังเมื่อนั้น

ซึ่งกรณีนี้ นอกจากจะ"เข้าทาง"ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ยังถือเป็นการชี้นำ สร้างแรงกดดันให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังวินิจฉัยตีความเรื่องต่างๆ ของรัฐบาล

ในทางกลับกัน ถึงจะอ้างว่าเป็นการแสดงความเห็นในฐานะประชาชนคนธรรมดา

แต่นายวสันต์ต้องถูกฝ่ายหนุนรัฐบาลตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อครั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางจริงหรือไม่

คำถามประเภทนี้ เมื่อดังขึ้นมาก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรโดยรวมอย่างไม่อาจเลี่ยง

ในแง่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ยังถูกโต้แย้งจาก นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายพนัส มองว่าการไม่แถลงผลงาน 1 ปี หรือแถลงล่าช้า ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง การไม่แถลงผลงานไม่ใช่การบริหารงานล้มเหลวที่จะนำไปสู่การล้มรัฐบาลได้

ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐหรือองค์กรอิสระบางแห่งไม่ได้รายงานผลการปฏิบัติงานตามเวลาที่กำหนดไว้ บางองค์กร 3-4 ปี ไม่ได้แถลง แต่ก็ไม่เป็นปัญหา

สำหรับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม นายพนัสยืนยันว่าสามารถยกเว้นตัวบุคคลได้

หากใช้ตรรกะเหมือนที่นายวสันต์ตีความ กฎหมายอาญาของไทยทั้งฉบับที่กำหนดบทลงโทษแตกต่างกันหลายระดับ ก็จะใช้ไม่ได้ เพราะขัดหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 30"



มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายวสันต์ออกมาแสดงความเห็นเชิงลบต่อรัฐบาล

จะด้วยบังเอิญหรือจงใจ เหมือนเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้พรรคประชาธิปัตย์ในความพยายามโค่นล้มรัฐบาล ว่าโอกาสไม่ถึงกับสิ้นหวังเสียทีเดียว

หลังไม่ประสบความสำเร็จนักในการทดลอง"เป่านกหวีด" เดินนำม็อบใต้ทางด่วนอุรุพงษ์มายังรัฐสภา เพื่อคัดค้านการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม

หรือความพยายามขัดขวางที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ให้ผ่านวาระ 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไปได้ง่ายๆ

แต่แล้วภาพการก่อกวนตีรวนตั้งแต่ต้นจนจบตลอดช่วงเวลากว่า 10 วัน ทำให้ภาพลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์ติดลบชนิดกู่ไม่กลับ ทั้งยังสร้างความเบื่อหน่ายให้ประชาชนแสนสาหัส

ขณะที่แกนนำพันธมิตรฯ ก็ประกาศแยกเดินทางใครทางมัน ไม่ขอกอดเกี่ยวร่วมหัวจมท้ายกับพรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป

ม็อบสวนยางภาคใต้ก็ถูกสังคมจับตาว่ามีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องตรงไหน อย่างไร ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่กล้าลงไปคลุกเต็มตัวมากนัก

นอกจากเตรียมยื่นตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายนิรโทษกรรมต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่นายวสันต์ชี้ช่องให้บนเวทีปาฐกถา

รวมถึงการยื่นวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2557 ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีรัฐบาลหั่นงบฯ องค์กรอิสระออกถึงร้อยละ 40 ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.รวม 114 คน ดำเนินการไปแล้ว

ความหวังยังฝากไว้ตรงการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว ในมือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.

เหมือนกรณีศาลปกครองเคยมีคำสั่ง"ติดเบรก"โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

เหมือนกรณี กกต. มีมติให้ดำเนินคดีอาญา นายศิริโชค โสภา กรณีโพสต์ภาพเผาบ้านเผาเมืองช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่กลับไม่สั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่

เหล่านี้ สะท้อนถึงการพลิกเหลี่ยมมุมข้อกฎหมายคลี่คลายวงล้อมให้ฝ่ายค้าน ขณะเดียวกันก็ใช้เหลี่ยมมุมข้อกฎหมายตีโอบกระชับพื้นที่ ไล่ต้อนรัฐบาลเข้าสู่กับระเบิด

แต่หากมองในมุมกลับ

กรณี นายวสันต์ เปรียบเสมือนเป็นสัญญาณเตือนภัยให้รัฐบาลรีบคิดค้นเกมรับมือ

หาทางออกจาก"กับดัก"เหล่านี้เสียแต่เนิ่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น