Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

นักวิชาการธรรมศาสตร์ บรรยายสาธารณะ ท้าท้ายกรณีอธิการบดีสั่งหยุดการสอน


จาก ประชาไท




วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ประจักษ์ ก้องกีรติ ปิยบุตร แสงกนกกุล ฯลฯ จัดอภิปรายห้องเรียนประชาธิปไตย ที่มธ.รังสิต ชี้ การสั่งปิดมหาลัยของอธิการไม่เป็นประชาธิปไตย ระบุ นายกฯ คนกลางไม่สามารถเป็นไปได้ตาม รธน.

3 ธ.ค. 2556 ที่โถงอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ คณะอาจารย์มธ. บางส่วน ประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ยุกติ มุกดาวิจิตร ประจักษ์ ก้องกีรติ ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้จัดอภิปราย "ห้องเรียนประชาธิปไตย" แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการสั่งปิดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยระหว่างวันที่ 2, 3 และ 4 ในทุกวิทยาเขต โดยชี้ว่า เป็นการออกคำสั่งโดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาคมธรรมศาสตร์ทั้งหมด และอาจแสดงให้เห็นว่ามธ. ได้เลือกข้างทางการเมือง จากการหยุดการเรียนการสอนสอดคล้องกับการนัดหยุดงานของแกนนำกปปส. สุเทพ เทือกสุบรรณ

ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะนิติศาสตร์ มธ. ตั้งคำถามกับการให้สัมภาษณ์ของอธิการบดีมธ. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ในฐานะประธานทปอ.ซึ่งพูดในเชิงว่าสามารถตั้งรัฐบาลกลางและนายกฯ ที่มาจากคนดี ว่าเป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนระบอบการปกครองนอกวิถีทางประชาธิปไตย และกล่าวว่า การที่อธิการบดีสั่งหยุดการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกวิทยาเขต โดยไม่มีการสอบถามความคิดเห็นจากประชาคมก่อน สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการขาดประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจทำให้ดูเหมือนว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปสนับสนุนการประกาศนัดหยุดงานของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณ


ในขณะที่ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ตามที่อธิการบดีมธ.ให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯ คนกลาง ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งนั้น แต่จริงๆ ตามรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะรธน.ได้กำหนดไว้ว่า หากมีการยุบสภา หรือนายกฯ ลาออก ยังจำเป็นต้องมีนายกฯ และรมต. รักษาการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่มีช่องทางไหนที่เปิดโอกาสให้มีการแต่งตั้งนายกฯ คนกลาง หรือสภาประชาชนได้

ด้านวรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติราษฎร์ อธิบายว่า การอ้างรัฐธรรมนูญมาตราสาม ของกลุ่มผู้ชุมนุมกปปส. เรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนเพื่อจัดตั้งสภาประชาชนนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะมาตราสามของรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้" เป็นเรื่องของการรแบ่งแยกอำนาจ ว่าประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยผ่านองค์กรต่างๆ ของรัฐ ซึ่งการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงของประชาชนที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การไปออกเสียงเลือกตั้งส.ส. และส.ว. ในฐานะผู้แทนใช้อำนาจ และการออกเสียงประชามติเท่านั้น ไม่มีส่วนไหนที่พูดถึงการตั้งสภาประชาชน

 วรเจตน์กล่าวว่า หนทางที่เป็นไปได้ในการตั้งสภาประชาชน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ  เพื่อตั้งองค์กรให้มาปฏิรูประเทศ จะเห็นว่าการเสนอของอธิการบดีธรรมศาสตร์ เป็นการเสนอที่ไม่ได้อยู่บนหลักวิชาการ และเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยอำนาจนอกระบบ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น