วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556
ท่าที นานาชาติ ปฏิวัติ"ประชาชน" ท่าที กองทัพ
ที่มา:มติชนรายวัน 17 ธ.ค.2556
ทําไม กปปส.จึงหงุดหงิดต่อ "ทหาร" ต่อกองทัพ ทำไม คปท.อันเป็นแนวร่วมของ กปปส. จึงหงุดหงิดต่อทหาร จึงหงุดหงิดต่อ "สหรัฐ"
คำตอบ 1 เพราะทหารไม่เอาด้วย
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะตัวแทนทหารยืนยันในที่ประชุมเสวนา "ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน" ว่า
1 กองทัพต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย
1 กองทัพโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดยืนยันที่จะปฏิบัติอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ นี่คือจุดยืนของกองทัพ
1 กองทัพสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
คำตอบ 1 เพราะสหรัฐอเมริกาเป็น 1 ใน 40 ประเทศที่แสดงท่าทีอย่างเด่นชัดสนับสนุนการดำรงอยู่ของรัฐบาล
และอยากเห็นประเทศไทยก้าวเข้าสู่กระบวน การเลือกตั้ง
ปัจจัยของกองทัพ ปัจจัยของนานาชาติ จึงเป็นปัจจัยอันเป็นคุณต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และไม่เป็นคุณต่อการขับเคลื่อนของ กปปส. และ คปท.
ความหงุดหงิดจึงได้ปรากฏ
ต้องยอมรับว่าในยุคไร้พรมแดนอย่างที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใกล้ชิดสนิทสนมกันอย่างยิ่ง
เป็นความใกล้ชิดทางการค้า เป็นความใกล้ชิดทางการเมือง
แนวคิดในการแช่แข็งประเทศไทยอันเคยแสดงผ่านองค์การพิทักษ์สยามโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 จึงไม่ได้รับการสนับสนุน
ต่อการเคลื่อนไหวของ กปปส.ก็เช่นเดียวกัน
แม้จะใช้คำว่า "ปฏิวัติประชาชน" แม้จะแสดงทิศทางในการก้าวไปสู่ "สภาประชาชน" และรัฐบาลของประชาชน
แต่ประเทศแรกที่แสดงปฏิกิริยาคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน
จีนเป็นประเทศแรกที่มอบหมายให้เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
อันเท่ากับให้กำลังใจ แสดงความเห็นอกเห็นใจ
จากนั้น จึงเป็นประเทศสหราชอาณาจักร จากนั้น จึงเป็นสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป เป็นการให้การสนับสนุนการเดินหน้าแก้ปัญหาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เท่ากับ "โลก" กำลัง "ล้อม" ประเทศไทย
ไม่เพียงแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เท่านั้นที่ปฏิกิริยาจากนานาชาติแสดงความไม่เห็นด้วย
ชื่อของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ถูกปลดที่ฟอร์ธลีเวนเวิร์ธ
ชื่อของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ถูกปลดที่ฟอร์ธลีเวนเวิร์ธ อันเป็นโรงเรียนเสนาธิการทหารทรงเกียรติแห่งสหรัฐ
รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ก็ถูกปฏิเสธ
การลดงบประมาณช่วยเหลือในบางโครงการทางทหารกับสหรัฐ การออกแถลงการณ์คัดค้านจากสหภาพยุโรป
แต่ที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ ปัญหาอันตกค้างและต่อเนื่องตลอด 7 ปี
สิ่งเหล่านี้ทหารไม่ว่ายุคของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ไม่ว่ายุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมสรุปมาเป็นบทเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 คือความเสียหาย
เป็นความเสียหาย เป็นความอัปยศที่การเมืองทำให้ทหารต้องแปดเปื้อน
การขับเคลื่อนของ กปปส.ในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2556 คือ ความต่อเนื่องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549
ยังเป็น "ฝันร้าย" ของ "สังคมไทย
แม้จะมีปฏิกิริยาจากนานาอารยประเทศ แม้จะมีท่าทีอันแจ่มชัดตรงไปตรงมาของกองทัพไทย
กระนั้น ปัญหาและความขัดแย้งอันปะทุตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนก็ยังคงอยู่และมีลักษณะยืดเยื้อ สถานการณ์เลือกตั้งแม้จะเป็นทิศทางแห่งประชาธิปไตยแต่ก็อยู่บนความไม่แน่นอน
เพราะ "กปปส." ยังดำรง "การต่อสู้" อยู่
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น