Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สื่อเทศจับตาไทย เสี่ยง 'สงครามชนชั้น'

ข้อมูลโดย Voice TV


นักวิเคราะห์ไทย-เทศ มองสถานการณ์เบื้องหน้า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งทางชนชั้น เหตุเพราะกลุ่มอำนาจเก่ายื้อยุดระบอบประชาธิปไตย หวั่นเกิดสงครามกลางเมือง


ในวันอังคาร สำนักข่าวหลายแห่งได้เสนอบทวิเคราะห์การเมืองไทย โดยชี้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยในขณะนี้ เป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวละครออกหน้า มีชนชั้นกลางเขตเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพ เป็นฐานสนับสนุน กับชนชั้นใหม่ที่เติบโตขึ้นจากการพัฒนาชนบท และได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางการเมืองจากนโยบายของพรรคที่เป็นพันธมิตรกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

รายงานหลายชิ้น ระบุในทำนองเดียวกันว่า หากกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งที่ผ่านมามีศาลและกองทัพเป็นพันธมิตรกับพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงแทรกแซงการเมืองนอกกรอบประชาธิปไตย สังคมไทยอาจได้เห็นสงครามกลางเมือง

อำนาจเก่า

บทวิเคราะห์ ชื่อ 'Thai protesters push for eradication of Shinawatra from politics'  เขียนโดย James Hookway เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม เริ่มด้วยการฉายภาพพัฒนาการของประชาธิปไตยในไทย


Hookway บอกว่า ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา อำนาจทางการเมืองได้ผลัดมือกันไปมาระหว่างรัฐบาลพลเรือนที่มีอายุสั้น กับรัฐบาลที่กองทัพแต่งตั้ง แต่เศรษฐกิจที่รุ่งเรืองขึ้นเมื่อช่วงทศวรรษ 1980-1990 ทำให้โภคทรัพย์ที่เคยรวมศูนย์อยู่ในกรุงเทพเริ่มกระจายออกไปยังพื้นที่อื่นๆของประเทศไทย ทำให้เกิดนักการเมืองรุ่นใหม่ คนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ ทักษิณ

รายงาน "ผู้ประท้วงมุ่งขับตระกูลชินวัตรพ้นวงจรการเมือง" ชิ้นนี้ บอกว่า ทักษิณได้พลิกโฉมการเมืองไทยด้วยนโยบายสนับสนุนคนยากจน ช่วยให้เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงแหล่งทุน, บริการสาธารณสุข และทำให้สิทธิ์เสียงทางการเมืองของคนเหล่านี้มีความหมาย เมื่อปี 2548 ทักษิณได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย นับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำพลเรือนได้กลับเข้าครองตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง แต่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของอวสานแห่งอำนาจของเขา

กลุ่มอำนาจเก่าเกิดความตื่นตระหนกที่ทักษิณเริ่มมีอิทธิพลบดบังพวกตน กองทัพเข้าโค่นอำนาจเขา นับแต่นั้นมา ประเทศไทยเผชิญภาวะกลับไปกลับมาระหว่างรัฐบาลที่สนับสนุนทักษิณ ซึ่งกวาดคะแนนเสียงท่วมท้นในเขตชนบท กับรัฐบาลที่กลุ่มอำนาจเก่าและชนชั้นกลางกรุงเทพให้การสนับสนุน

Hookway บอกว่า เหตุการณ์ประท้วงบนท้องถนนของกรุงเทพเมื่อวันจันทร์ เป็นภาพสะท้อนของแรงเสียดทานระหว่างประชาชนฝ่ายที่ออกเสียงเลือกรัฐบาลที่สนับสนุนทักษิณ กับผู้ประท้วงที่ได้ขับไล่รัฐบาลเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยความช่วยเหลือของกองทัพและศาล

เขาบอกว่า การประท้วงขับไล่รัฐบาลเมื่อวันจันทร์ ขับเน้นให้เห็นทัศนะอันตรงข้ามสุดขั้ว ในประเด็นที่ว่า ราชอาณาจักรอันมั่งคั่ง และพันธมิตรสำคัญของสหรัฐ แห่งนี้ ควรเป็นประเทศแบบไหน ในศตวรรษที่ 21

นโยบายแบบเคนเซียน

นิตยสาร The Economist นำเสนอรายงานเรื่อง "Has Yingluck played her ace?"  ระบุว่า กรณีนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภา ถือเป็นการเดินหมากแบบปิดประตูแพ้


ที่ผ่านมา พรรคที่สนับสนุนทักษิณเคยชนะเลือกตั้งใหญ่ทุกครั้งนับแต่ปี 2544 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ขณะที่ประชาธิปัตย์แทบไม่เคยครองเสียงข้างมากเด็ดขาดพรรคเดียวในประวัติศาสตร์อันยาวนานของพรรค ครั้งสุดท้ายที่พรรคนี้รวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็คือ เมื่อปลายทศวรรษ 1990

รายงาน ชื่อ "ยิ่งลักษณ์เล่นไม้ตาย?' ชิ้นนี้ บอกว่า ฝูงชนในกรุงเทพที่รวมตัวกันในวันนี้ ไม่ใช่ตัวชี้วัดอารมณ์ของคนไทยทั้งประเทศ เมืองหลวงแห่งนี้เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์มาช้านาน ในเขตชนบทภาคเหนือ เรื่องราวเป็นคนละอย่างกันเลย เกษตรกรหลายล้านได้โหวตเลือกทักษิณและผู้นำคนต่อมาให้ครองเสียงข้างมากในสภา พรรคฝ่ายค้านจึงกลัวการเลือกตั้ง

ผู้ประท้วงโจมตีว่า ทักษิณชนะเพราะ "ซื้อเสียง" และ "ติดสินบน" ด้วยคำสัญญาที่จะช่วยเหลือเกษตรกรยากจน แต่แทบไม่มีหลักฐานว่า การเลือกตั้งเหล่านั้นมีการซื้อเสียงอย่างเป็นระบบ หรือโกง อันที่จริงแล้ว โครงการที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นเงินก้อนโตนั้น ในประเทศตะวันตก ก็คือ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจตามแนวทางสำนักเคนเซียน ที่เน้นใช้มาตรการทางการคลังและการเงิน อัดฉีดกระตุ้นการเติบโต นั่นเอง

สงครามชนชั้น?

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานถึงการประท้วงในเมืองไทย ว่า เป็นผลจากความเป็นปฏิปักษ์ที่ดำเนินมานานเกือบทศวรรษแล้ว ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงเทพ โดยมีพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน กับประชาชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ยากจนของประเทศ

รายงาน ชื่อ "Thai PM calls snap election, protesters want power now" อ้างความเห็นของนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความวิตกที่พรรคประชาธิปัตย์หนุนหลังขบวนการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา และคาดการณ์ว่า ถ้านายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มต่อต้านรัฐบาล มีชัยชนะ ความโกลาหลจะบังเกิด ขบวนการคนเสื้อแดงซึ่งสนับสนุนทักษิณจะออกมาตอบโต้

สำนักข่าวเอเอฟพี เสนอบทวิเคราะห์ในชื่อ "Elections no magic cure for Thai political crisis" อ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคน ชี้ว่า ภาพผู้ต่อต้านรัฐบาลนับแสนบนท้องถนนในกรุงเทพเมื่อวันจันทร์ บ่งบอกว่า การเลือกตั้งอาจไม่สามารถปิดฉากความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองในไทยได้

รายงาน ชื่อ "การเลือกตั้งไม่ใช่โอสถทิพย์ เยียวยาวิกฤตการเมืองไทย" บอกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความแตกแยกอันลึกซึ้ง ระหว่างผู้คนต่างภูมิภาคและต่างชนชั้น ในสังคมไทย ได้ตกผลึกเป็นความเกลียดชังเข้ากระดูกดำ ระหว่างผู้สนับสนุนทักษิณ ซึ่งเป็นชนชั้นแรงงานและชาวชนบท กับชนชั้นกลางเขตเมืองรอยัลลิสต์และชนชั้นนำ

เดวิด สเตรกฟัส นักวิชาการอิสระในประเทศไทย บอกว่า ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งแพ้เลือกตั้งตลอดมา กำลังเรียกหา 'ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์' ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เราเข้าใจกัน ภายหลังการเลือกตั้ง อาจเกิดรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐประหาร แต่การยึดอำนาจของกองทัพจะถูกต่อต้านอย่างแน่นอน ทำให้สังคมไทยยิ่งแบ่งขั้วหนักขึ้น


สำนักข่าวบลูมเบิร์ก อ้างความเห็นนักวิเคราะห์ ในรายงานข่าว "Thai vote looms as Yingluck dissolves Parliament"  บอกว่า ประเทศไทยอาจเลี่ยงไม่พ้นสงครามกลางเมือง

"วิกฤตการณ์ของประเทศไทยจะแก้ไขไม่ได้เลย เว้นแต่เกิดการประนีประนอม, สงครามกลางเมืองอันนองเลือด, หรือพระมหากษัตริย์ทรงเข้ายุติปัญหา"  พอล แชมเบอร์ แห่งสถาบันกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับบลูมเบิร์ก.

ที่มา : Wall Street Journal ; Economist ; Reuters : AFP ; Bloomberg







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น