Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล: จากทรงนักเรียน ถึงข้อเสนอยกเลิกความเป็นไทย

จากประชาไท



สนทนากับ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เลขาธิการสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย และบรรณาธิการนิตยสารปาจารยสาร

หลังจากก่อนหน้านี้ "สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย" ได้รณรงค์ให้มีการยกเลิกทรงนักเรียน และต่อมากระทรวงศึกษาธิการยอมปรนด้วยการออกระเบียบกฎกระทรวงฉบับใหม่ และมีหนังสือสั่งการถึงหัวหน้าส่วนราชการที่มีสถานศึกษาในสังกัดให้นักเรียนชายไว้ผมรองทรง และนักเรียนหญิงไว้ผมยาวได้ ทันทีที่เปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2556 แต่ล่าสุด เนติวิทย์บอกว่า ได้รับการร้องเรียนว่ายังพบโรงเรียนหลายร้อยแห่งที่ไม่ยอมปฏิบัติตาม (ข่าวที่เกี่ยวข้อง [1], [2])
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวด้วยว่าทางสมาพันธ์นักเรียนไทยฯ จะเรียกร้องให้มีการยกเลิกทรงนักเรียนต่อไป รวมถึงข้อเสนอให้เรื่องการยกเลิกความเป็นไทยด้วย

"เรื่องทรงผมไม่ใช่ว่าได้รองทรงแล้วจะจบ เราจะเรียกร้องไปถึงที่สุดเลยครับ คือจำเป็นเลยที่จะต้องยกเลิกกฎระเบียบเรื่องทรงผม เพราะว่าผมเชื่อเลยครับถ้าสมัยก่อนเขาให้รองทรง นักเรียนก็ต้องต่อสู้อยู่ดี ก็ต้องเรียกร้องสิ่งที่มากกว่า ไม่มีใครหรอกครับที่จะต้องการโดนจำกัดเสรีภาพ และเสรีภาพที่ทางกระทรวง (ศึกษาธิการ) ให้ เป็นเสรีภาพจอมปลอมเท่านั้นเอง ทำให้เราหลงเชื่อว่าเรามีอิสรภาพ มีเสรีภาพแล้ว เสรีภาพที่แท้จริง ต้องไม่ควบคุมกันครับ นี่เป็นสิ่งที่เราเรียกร้องไปให้ถึงที่สุด"
"และเราจะเรียกร้องเกี่ยวกับ อาจจะเรื่องความเป็นไทยด้วย เพราะเรารู้สึกแย่กับความเป็นไทยเต็มที่แล้ว เพราะเวลาสู้เรื่องทรงผม ครูบาอาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาชอบอ้างเรื่องความเป็นไทย ดังนั้นทางสมาพันธ์ฯ ซึ่งเป็นนักเรียน เป็นเยาวชน ต้องการปลุกมโนธรรมของนักเรียน และครู อาจารย์ให้รู้ว่าความเป็นไทยมันไม่มีอยู่จริง นอกจากอุปโลกน์ขึ้นมา เราจะต่อสู้เรื่องวาทกรรมพวกนี้ด้วย และจะต่อสู้เรื่องโรงเรียนเล็กๆ โรงเรียนน้อยๆ ต่างๆ รวมถึงจะเอาเรื่องการศึกษาทางเลือกมาพิจารณา แล้วก็คุยเรื่องประเด็นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการว่าจะเป็นอย่างไร" เนติวิทย์ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กล่าวตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์
นอกจากนี้ในวันที่ 6 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ทางสมาพันธ์นักเรียนไทยฯ จะจัดเสวนาเปิดครั้งที่ 1 "ทิศทางนักเรียนไทยในอนาคต" ด้วย ที่ TK Park ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ โดยเขากล่าวว่าจะเป็นการเปิดตัวกลุ่มครั้งแรก จะมีการพูดเรื่องทรงผม เครื่องแบบนักเรียน รวมถึงทิศทางของนักเรียนไทยในอนาคต โดยจะเป็นการคุยกันให้แตกฉาน นอกจากนี้ทางกลุ่มก็จะเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนกลุ่มนักเรียนที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในโรงเรียนแห่งต่างๆ ด้วย

ในวันที่พูดคุยกับเนติวิทย์ คือวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 โดยและวันดังกล่าวเขาได้หยุดเรียน เพื่อมาฟังปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยเขาบอกว่า ได้หยุดโรงเรียนเองเช่นนี้เพื่อร่วมกิจกรรมในวันที่ 24 มิถุนายน มาเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว

โดยเขาเล่าให้ฟังด้วยว่า ในปีนี้เป็นโอกาสที่ดี ที่เขาสามารถจัดงาน "สัปดาห์รำลึกอภิวัฒน์สยาม 2475" ขึ้นภายในโรงเรียนที่เขาอธิบายว่า "มีสภาพที่อนุรักษ์นิยมอย่างเต็มที่" อย่างไรก็ตามในหมู่เพื่อนนักเรียนยังไม่ตระหนัก เพราะการเรียนที่มุ่งไปเพื่อสอบนั้น นักเรียนส่วนมากต้องสอบอย่างเดียว ยิ่งอยู่ชั้น ม.5 จึงขึ้น ม.6 แล้ว ตอนนี้ยิ่งต้องเตรียม ว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยอะไรดี จะตามฝันอย่างไรดี เขาไม่มีเวลามาสนใจเรื่องแบบนี้

เขากล่าวด้วว่าเห็นด้วยกับประกาศของคณะราษฎรอย่างเต็มที่ "โดยส่วนของหลัก 6 ประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสมอภาค เสรีภาพ เรื่องเอกราช ความปลอดภัย การศึกษา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในสังคมไทย ตอนนี้สิ่งเหล่านี้ไม่มีอย่างเต็มที่ เรื่องการศึกษาก็ดี ราษฎรก็ไม่ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันทุกคน และการศึกษาก็ห่วยแตก การศึกษาซึ่งคณะราษฎรต้องการปลูกฝังให้เราเป็นพลเมือง แต่ตอนนี้เราไม่ได้เป็นพลเมือง ตอนนี้เราอยู่ภายใต้อำนาจ ไม่สามารถคิดได้อย่างอิสระ"

วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ข่าว "เค-วอเตอร์" หนี้ท่วม ที่แท้สื่อไทยเต้าข่าวอ่านงบผิด

จากประชาไท



อ่านผลประกอบการหน้าเว็บบริษัทจัดการน้ำจากเกาหลีใต้ "เค-วอเตอร์" พบยังได้กำไรสุทธิ - สินทรัพย์มากกว่าหนี้ - มูดี้ส์ให้เครดิตระดับ A1 ส่วนกระแสข่าวหนี้ท่วม มีที่มาจากวงเสวนาจัดการน้ำที่สมาคมนักข่าวฯ เชิญนักสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ร่วมเสวนา ก่อนกลายเป็นข่าวพาดหัวหลายสื่อ

ตามที่บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น หรือ "เค-วอเตอร์" รัฐวิสาหกิจของเกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ชนะการประมูลการก่อสร้างตามแผนพัฒนาการทรัพยากรน้ำ โดย "เค วอเตอร์" สามารถประมูลการก่อสร้างได้ 2 โครงการ คือ คือ โมดูล เอ 3 และโมดูล เอ 5 ซึ่งเป็นโครงการแก้มลิงและฟลัดเวย์ ภายใต้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท

และต่อมาเมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.) มีสื่อมวลชนไทยหลายฉบับ รายงานข่าวดังกล่าวในทำนองว่า "เค-วอเตอร์" เป็นบริษัทที่มีปัญหาทางการเงิน และดำเนินโครงการล้มเหลวในเกาหลีใต้ เช่น โพสต์ทูเดย์ พาดหัวข่าวว่า "ชำแหละ" เค-วอเตอร์"หนี้ท่วม-ทำโครงการเหลว"

โดยผู้สื่อข่าวประชาไทพบว่าข่าวดังกล่าว ใช้ข้อมูลจากการเสวนา "เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการน้ำ ระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนไทย และเครือข่ายสิ่งแวดล้อมประเทศเกาหลีใต้" จัดโดยโครงการสื่อสุขภาวะชุมชนชายขอบและชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ในรายการดังกล่าว ได้อ้างอิงการอภิปรายของวิทยากรในการเสวนาดังกล่าว คือ นายยัม ฮยุง ชอล (Yum Hyung Cheol) ผู้อำนวยการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ (Korean Federation for Environmental Movement : KFEM ) ซึ่งให้ข้อมูลว่า

"ในปี 2012 จะพบว่าทรัพย์ของบริษัทเค-วอเตอร์ อยู่ที่ 6.76 แสนล้านบาท ทุนอยู่ที่ 3.04 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นหลัก 99.9% มีรายได้ 2.27 แสนล้านบาท ขณะที่หนี้สินอยู่ที่ 3.72 แสนล้านบาท ภาษีที่ได้ 9.9 หมื่นล้านบาท รายได้สุทธิอยู่ที่เพียง 8,000 ล้านบาทเท่านั้น"

"เมื่อไปดูประวัติการทำโครงการของเค-วอเตอร์ ในเกาหลี ตั้งแต่ปี 1967 ที่ก่อตั้งบริษัทในฐานะรัฐวิสาหกิจ จากช่วงปี 1970-1980 ได้งานก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมากทั่วประเทศเกาหลี"

"ถัดมาในปี 1980-1990 ย้ายไปรับงานระบบประปาและระบบน้ำ หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา เริ่มทำงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก แต่เป็นการก่อสร้างในภารกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำตลอดชายฝั่ง การก่อสร้างพนังกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วม"

"สถานการณ์ทางการเงินของบริษัทเค-วอเตอร์ ตั้งแต่ปี 2006-2012 เห็นได้ว่าทุนจะอยู่เท่าเดิม แต่หนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยในปี 2012 จะเห็นว่าหนี้สินสูงกว่าทุน ฉะนั้นเท่ากับว่าสถานการณ์ทางการเงินของเค-วอเตอร์ย่ำแย่ ภายในระยะเวลา 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2009-2012 การดำเนินงานใน 2 โครงการหลักของเค- วอเตอร์ ได้แก่ 1.พัฒนาแหล่งน้ำหรือ 4 rivers project 2.พัฒนาคลองใช้เป็นฟลัดเวย์ พบว่าหนี้สินเพิ่มขึ้นถึง 758%”







นอกจากโพสต์ทูเดย์แล้ว ยังมีรายงานข่าวในสื่อไทยหลายฉบับ โดยข้อมูลมาจากวงเสวนาเดียวกัน เช่น สำนักข่าวอิศรา รายงานโดยพาดหัวว่า "NGO เกาหลีใต้ แฉ “เค-วอเตอร์” หนี้ท่วมหมื่นล้าน เชื่อทำฟลัดเวย์ในไทยไม่สำเร็จ" เดลินิวส์ พาดหัวข่าวว่า "นักสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ชี้ "เค วอเตอร์" ทำผิดกฎหมายการเงิน-สิ่งแวดล้อม"

แนวหน้า รายงานโดยพาดหัวข่าวว่า "สื่อเกาหลีใต้แฉซ้ำ หนี้สินท่วม บี้สอบ ‘เค วอเตอร์’ งานแย่ไร้ประสิทธิภาพ เคยทำโครงการเจ๊งยับ นิวัฒน์ธำรงโต้ดีจริง" ส่วน เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ พาดหัวข่าวว่า "นักสิ่งแวดล้อมโสมขาวชำแหละ “เค วอเตอร์” ประวัติฉาว หวั่นโครงการน้ำ 3.5 แสนล.มีปัญหา"

ส่วน ไทยโพสต์ พาดหัวข่าวว่า "ทักษิณคบคิดKวอต้ม แฉประวัติบริษัทสุดแสบ/ลุ้นศาลเบรกเค้กน้ำ" พาดหัวรองว่า "แฉ ประวัติสุดแสบ เค วอเตอร์ สร้างหนี้ ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ฉีกกฎหมาย ฮั้วก่อสร้าง เอ็นจีโอเกาหลีใต้ระบุทั้ง ป.ป.ช.และ สตง.แดนกิมจิตามตรวจสอบเข้มข้น และพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 70% ไม่พอใจ ฮือฮารูปหมู่ "ทักษิณ-ผู้บริหารเค วอเตอร์" ว่อนเน็ต หึ่งตกเขียวโครงการล่วงหน้า พลิกปูม "แม้ว-ปู" ไปเกาหลีแล้วคนละ 2 หน ระทึก! ศาลปกครองสั่งคดีเอาอยู่ 3.5 แสนล้าน"

และหลังการนำเสนอข่าวดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ให้ความเห็นผ่านรายการ "วันฟ้าใหม่" ทางสถานีโทรทัศน์ Blue Sky Channel ด้วยโดยเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจง โดยกล่าวว่า โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะกรณีบริษัทเค วอเตอร์ที่มีหนี้สินจำนวนมากกลับได้ประมูลมากที่สุดนั้น ทางรัฐบาลโดยเฉพาะคณะกรรมการที่เป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติของบริษัทต่างๆ ต้องออกมาชี้แจงตามข้อเท็จจริง นอกจากนี้ รัฐบาลต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นไปตามกฎเกณท์กติกา ผลประกอบการ หนี้สิน ภาพรวมการทำงานของบริษัทเป็นอย่างไร เพราะเมื่อมีคนของเกาหลีมาตั้งข้อสังเกตรัฐบาลก็ต้องรับฟัง การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปเกาหลีก็มีคนมาวิจารณ์ว่าบริษัทนี้จะได้ประมูลแล้วก็ได้จริงๆ  เอาเข้าจริงบริษัทเค วอเตอร์คงไม่ดำเนินการโครงการเอง แต่อาจจะให้บริษัทของไทยเป็นผู้ดำเนินการต่อ

 

000

อ่านผลประกอบการหน้าเว็บบริษัท-ยังได้กำไร-มูดี้ส์ให้เครดิต A1

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวประชาไท เทียบรายงานที่สื่อฉบับต่างๆ นำเสนอในเรื่องผลประกอบการของเค-วอเตอร์ เทียบกับผลประกอบการของบริษัท ปี ค.ศ. 2012 ซึ่งอยู่ในเว็บไซต์ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งพบว่า ใน ปี ค.ศ. 2012 ผลประกอบการของบริษัทซึ่งมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเกาหลีใต้ดังกล่าว แม้จะมีหนี้สิน แต่ก็ได้กำไร และไม่ได้ขาดทุนสะสมอย่างที่มีการนำเสนอข่าว

โดยในปี ค.ศ.2012 เค-วอเตอร์ มีสินทรัพย์ 25,016,382,827,000 วอน (25.02 ล้านล้านวอน) หรือ 6.77 แสนล้านบาทโดยประมาณ มีหนี้สิน 13,777,920,820,000 วอน (13.78 ล้านล้านวอน) หรือ 3.73 แสนล้านบาทโดยประมาณ มีเงินลงทุน 11,238,500,000,000 วอน (11.2 ล้านล้านวอน) หรือ 3.04 แสนล้านบาทโดยประมาณ

นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 2012 เค-วอเตอร์ มีรายรับ 3,668,445,409,000 วอน (3.67 ล้านล้านวอน) หรือ 9.93 หมื่นล้านบาทโดยประมาณ มีกำไรก่อนเสียภาษี 401,689,496,000 วอน (4.02 แสนล้านวอน) หรือ 1.09 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 308,295,352,000 วอน (3.08 แสนล้านวอน) หรือ 8.35 พันล้านบาท

ส่วนที่สื่อมีการนำเสนอของนายยัม ฮุง ชยอล ผู้อำนวยการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ (KFEM) ที่รายงานว่าสถานการณ์การเงินของ เค วอเตอร์ มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จนมีหนี้สินสูงกว่าทุน "พบว่ามีหนี้สินเพิ่มขึ้นถึง 758%" ฯลฯ นั้น ผู้สื่อข่าวประชาไทได้ตรวจสอบส่วนผลประกอบการย้อนหลังของ 7 ปีก่อน พบว่าเค-วอเตอร์ แม้จะมีหนี้สินสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน และสินทรัพย์ก็เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ขณะที่ผลประกอบการของเค-วอเตอร์ ก็ได้กำไรสุทธิทุกปี

โดยใน ค.ศ. 2006 เค-วอ เตอร์ มีสินทรัพย์ 11,397,405,000,000 วอน (11.40 ล้านล้านวอน) หรือ 3.09 แสนล้านบาท มีหนี้สิน 1,743,575,000,000 วอน (1.74 ล้านล้านวอน) หรือ 4.72 หมื่นล้านบาท มีรายรับ 1,721,104,000,000 วอน (1.72 ล้านล้านวอน) หรือ 4.66 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 217,005,000,000 วอน (2.17 แสนล้านวอน) หรือ 5.88 พันล้านบาท

ค.ศ. 2007 พบว่า เค-วอเตอร์ มีสินทรัพย์ 11,443,850,000,000 วอน (11.43 ล้านล้านวอน) หรือ 3.1 แสนล้านบาท มีหนี้สิน  1,575,552,000,000 วอน (1.58 ล้านล้านวอน) หรือ 4.27 หมื่นล้านบาท มีรายรับ 1,498,004,000,000 วอน (1.50 ล้านล้านวอน) หรือ 4.06 หรือหมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 158,736,000,000 วอน (1.58 แสนล้านวอน) หรือ 4.30 พันล้านบาท

ค.ศ. 2008 เค-วอเตอร์ มีสินทรัพย์ 11,981,700,000,000 วอน (11.98 ล้านล้านวอน) หรือ 3.24 แสนล้านบาท มีหนี้สิน 1,962,286,688,000 วอน (1.96 ล้านล้านวอน) หรือ 5.31 หมื่นล้านบาท มีรายรับ 2,044,532,725,000 วอน (2.04 ล้านล้านวอน) หรือ 5.54 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 138,773,516,000 วอน (1.39 แสนล้านวอน) หรือ 3.76 พันล้านบาท

ค.ศ. 2009 เค-วอเตอร์ มีสินทรัพย์ 13,277,070,000,000 วอน (13.28 ล้านล้านวอน) หรือ 3.60 แสนล้านบาท มีหนี้สิน 2,995,639,000,000 วอน (3 ล้านล้านวอน) หรือ 8.11 หมื่นล้านบาท มีรายรับ 2,005,384,000,000 วอน (2 ล้านล้านวอน) หรือ 5.43 หมื่นล้านบาท มีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 81,576,000,000 วอน (8.16 หมื่นล้านวอน) หรือ 2.21 พันล้านบาท

ค.ศ. 2010 เค-วอเตอร์ มีสินทรัพย์ 18,484,424,534,000 วอน (18.48 ล้านล้านวอน) หรือ 5.01 แสนล้านบาท มีหนี้สิน 7,960,714,386,000 วอน (7.96 ล้านล้านวอน) หรือ 2.16 แสนล้านบาท มีรายรับ 2,144,749,561,000 วอน (2.14 ล้านล้านวอน) หรือ 5.81 หมื่นล้านบาท มีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 142,103,845,000,000 วอน (1.42 แสนล้านวอน) หรือ 3.95 พันล้านบาท

และ ค.ศ. 2011 เค-วอเตอร์ มีสินทรัพย์ 23,425,915,630,000 วอน (23.43 ล้านล้านวอน) หรือ 6.34 แสนล้านบาท มีหนี้สิน 12,580,936,220,000 วอน (12.58 ล้านล้านวอน) หรือ 3.41 แสนล้านบาท มีรายรับ 6,325,785,989,000 วอน (6.33 ล้านล้านวอน) หรือ 1.71 แสนล้านบาท มีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 293,267,171,000 วอน (2.93 แสนล้านวอน) 7.94 พันล้านบาท


ขณะเดียวกัน ในเว็บไซต์ เค-วอเตอร์ ยังเผยแพร่ผลการจัดอันดับเครดิตของสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส หรือมูดี้ส์ ให้เค วอเตอร์ อยู่ในระดับ A1 และ S&P ให้เค วอเตอร์อยู่ในอันดับ A+

อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. รายการฮาร์ดคอร์ข่าว ออกอากาศทาง ททบ.5 มีการนำเสนอข่าวกรณีเค-วอเตอร์ ชนะประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย 2 โครงการ โดยก่อนเข้าสู่รายงานดังกล่าว ผู้ประกาศข่าวได้กล่าวแนะนำรายการว่า "มีการเปิดเผยข้อมูลว่าบริษัทเค-วอเตอร์นั้นมีหนี้สินอยู่ถึง 700% และไม่เคยรับหน้าที่ในการบริหารจัดการกับโครงการขนาดใหญ่ ก็เลยกังวลกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น" อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่รายงานพิเศษได้ประมาณ 30 วินาที ก็ถูกตัดเป็นโฆษณาทีโอทีแทน และไม่มีการออกอากาศรายงานข่าวดังกล่าวอีก (ชมวิดีคลิป) โดยภายหลัง นสพ.ข่าวสด รายงานข่าว ผู้บริหาร ททบ.5 ชี้แจงว่าเป็นการตัดสินใจระงับการออกอากาศเอง เนื่องจากข้อมูลที่ได้ไม่มีความชัดเจนพอ เป็นเพียงข้อมูลที่ถูกเสนอออกมาผ่านสื่อสาธารณะ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการถูกหมิ่นประมาทและฟ้องร้อง กองบรรณาธิการจึงตัดสินใจไม่นำออกอากาศ เพื่อป้องกันตัวเองและสถานี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โจทย์ใหม่ เหลือง-แดง และการเมืองแบบศีลธรรม

ปาฐกถา เกษียร เตชะพีระ
จาก ประชาไท



26 มิ.ย.56 ที่ห้องสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ มีพิธีมอบรางวัลกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2555 แก่ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรางวัลดังกล่าวมีการมอบเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย และจะมีปาฐกถาจากกีรตยาจารย์ ในปีนี้มีขึ้นในหัวข้อ โจทย์การเมืองไทยที่เปลี่ยนไปสองทศวรรษจากพฤษภาฯ 2535 ถึงปัจจุบัน

เกษียร กล่าวว่าปาฐกถานี้จะนำเสนอว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โจทย์การเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างไร มีความพยายามหาคำตอบอย่างไรบ้าง หรือไม่หา ไม่เห็นโจทย์นั้นอย่างไรบ้าง โดยแบ่งหัวข้อออกเป็น 4 ข้อหลัก คือ  1.บริบทความคิดการเมืองหลังพฤษภา 35 -45 อะไรคือโจทย์หลัก ความพยายามหาคำตอบเป็นอย่างไร 2) อะไรคือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มเสื้อเหลือง 3)อะไรคือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงและแนวร่วม 4) ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและศีลธรรม

เขาอธิบายด้วยว่า การพูดครั้งนี้ไม่ใช่ original research แต่เป็นการนำข้อค้นพบทางวิชาการที่ค่อนข้างใหม่ในช่วง 2-3 ปีนี้จำนวนหนึ่งนำมาสังเคราะห์ โดยชิ้นที่สำคัญ คือ 1. งานศึกษา ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล โดย พัชราภา ตันตราจิน อาจายร์จากม.บูรพา เนื่องจากเห็นว่า ความคิดของเสกสรรค์สะท้อนโจทย์การเมืองในทศวรรษหลัง 2535 ได้ดีที่สุด 2) วิทยานิพนธ์ของ อุเชนทร์ เชียงเสน เรื่อง ประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน : ความคิดและปฏิบัติการของนักกิจกรรมทางการเมืองปัจจุบัน โดยเน้นที่ระบบคิด วิธีคิดของกลุ่มคนที่เรียกว่า พธม.  3) งานวิจัยชื่อ ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย เป็นการวิจัยที่เกิดขึ้นหลังเห็นความขัดแย้งทางเมืองอย่างดุดเดือนในช่วงหลัง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เรียกว่า คนเสื้อแดง อาจารย์จากหลายสถาบันได้มารวมกันเป็นทีมวิจัยเพื่อวิเคราะห์ว่า ภูมิทัศน์ของการเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างไร 4) งานนักวิชาการชาวออสเตรเลีย Andrew Walker ในงานชื่อว่า Thailand’s Political Peasants : Power in the Modern Rural Economy

โดยสรุป เกษียรกล่าวถึงโจทย์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากพรรคไทยรักไทยเข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทย โดยเริ่มนโยบายที่ให้ประโยชน์รูปธรรมกับประชาชนรากหญ้า หลังจากเกิดรัฐประหารและเกิดการเมืองสองขั้วอย่างชัดเจน ฝ่ายเสื้อเหลืองชูปัญหาใหญ่ของทุน แต่คำตอบของกลุ่มนี้ยังคงวนไปที่เผด็จการทหาร พระบารมี ขณะที่เสื้อแดงไม่ให้ความสำคัญของปัญหาทุน ทั้งที่เป็นปัญหาที่สำคัญและเป็นเนื้อเดียวกับการเมืองมากขึ้น กลุ่มวิชาการที่มีอิทธิพลต่อขบวนการเสื้อแดงอย่างนิติราษฎร์เองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แนวทางของกลุ่มเสื้อเหลืองก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าไม่ใช่คำตอบ นอกจากไม่แก้ไขปัญหาเก่ายังสร้างปัญหาใหม่ เพราะการในสถานการณ์ที่ชนบทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก (ไม่โง่ ไม่จน ไม่เจ็บ) เราไม่สามารถหดประชาธิปไตยให้เล็กลงได้ มีแต่ต้องขยายออก หากหดหรือลดทอนอำนาจผู้เลือกตั้งก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง นอกจากนี้เขายังพูดถึงข้อถกเถียงร่วมสมัยเกี่ยวกับการเมืองกับศีลธรรมด้วย โดยให้ความเห็นว่า ทั้งสองสิ่งเป็นไปด้วยกันได้ในเงื่อนไขของสังคมเปิด และการยอมรับความหลากหลายของแนวคิดทางศีลธรรม เพื่อสร้างสังคมการเมืองที่แข็งแรง แต่สังคมการเมืองไทยดูเหมือนไม่อยู่ในสภาพเช่นนั้น

สำหรับรายละเอียดของปาฐกถา มีดังนี้



2535-2545: ปัญหาอยู่ที่นักเลือกตั้ง คำตอบอยู่ที่ภาคประชาชน

วิกฤตในทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยช่วงนั้น คือ วิกฤตรัฐประหาร รสช.-การลุกฮือในปี 2535 กับวิกฤติต้มย้ำกุ้ง
ในแง่ของวิกฤตทางการเมือง ข้อวิเคราะห์ของคนจำนวนมากชี้ไปทางเดียวกันว่า มูลเหตุของปัญหาคือ นักเลือกตั้ง ระบอบเลือกตั้งธิปไตย หรือการเสื่อมรูป กลายรูปของระบอบประชาธิปไตยที่ไปเน้นที่อำนาจของคนที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วไปตัดองค์ประกอบอื่นของระบอบเสรีประชาธิปไตยทิ้งไป ทำให้การเมืองมีปัญหา คอรัปชั่น การฉวยใช้อำนาจ คำตอบที่ได้ช่วงนั้นคือ การเมืองภาคประชาชน หรือการเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจมากขึ้นแทนที่จะพึ่งพาแต่นักการเมือง
ในแง่ของวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงบทบาทเจ้าของเงินกู้อย่างไอเอ็มเอฟ และสังคมชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า วิกฤตนี้เกิดขึ้นเพราะไทยเข้าสู่ระเบียบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์แบบไม่พร้อม ขาดประสบการณ์ คำตอบสำหรับยุคสมัยนั้นก็หันไปพึ่งเศรษฐกิจแบบอื่น ในนามเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง


รัฐบาลที่กินได้สมัยทักษิณ และความเสื่อมของรัฐชาติในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์

ในช่วงท้ายของทศวรรษนี้ รัฐบาลทักษิณได้ทำให้ภูมิทัศน์การเมืองเศรษฐกิจเปลี่ยน ในแง่การเมือง รัฐบาลทักษิณดำเนินนโยบายให้ความสำคัญกับระบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ดำเนินนโยบายบางอย่างที่สนองตอบต่อผลประโยชน์รูปธรรมโดยเฉพาะของชนบทอย่างไม่เคยมีมาก่อน คำตอบใหม่ของรัฐบาลทักษิณที่เสนอ คือ รัฐบาลแบบตัวแทนที่กินได้  ในแง่เศรษฐกิจ มุ่งเปิดนโยบายประชานิยมจำนวนมาก นำโอกาสและทุนไปถึงประชาชนรากหญ้า ผลักดันพวกเขาเข้าไปต่อสู้ในตลาดทุนนิยม ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน แสดงออกโดยการชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นของพรรคไทยรักไทย

เมื่อพ้นระยะนั้น มีความขัดแย้งที่นำไปสู่การรัฐประหาร แบ่งเป็นฝักฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง หากนำงานของเสกสรรค์มาวาง  โดยเฉพาะงานวิจัยที่ได้ทุนปรีดี พนมยงค์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย ตีพิมพ์ปี 2548 จะพบว่ามีเรื่องสำคัญในงานของเขาที่คนไม่ค่อยมองหรือให้ความสำคัญนัก คือ การพูดถึงปัญหาหลักของการเมืองเศรษฐกิจไทยว่ามาจากอำนาจทุน ซึ่งมีที่มาจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐชาติทั้งหลายเสื่อมโทรมลง มีข้อกำหนดนโยบายหลายอย่างที่รัฐชาติไม่สามารถควบคุมได้เหมือนแต่ก่อน ผลดังกล่าวทำให้หลักการสำคัญ 2 อย่างทางการเมืองเสื่อมไปด้วย คือ Political Consensus ความเห็นพ้องต้องกันในหมู่ประชาชนในสังคมอย่างกว้างขวาง และหลัก Political Consent ฉันทานุมัติที่คนทั้งหลายยอมรับรัฐบาลให้ปกครอง
ในสภาพที่สังคมมีความเห็นพ้องต้องกันทางการเมืองน้อยลง ความยอมรับทางการเมืองก็เสื่อม ปรากฏการณ์หน้ากากขาว ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เขาแสดงออกมาว่าไม่อยากให้รัฐบาลปกครองอย่างชัดเจน อาการเหล่านี้นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเรื้อรัง รัฐบาลไม่มั่นคงเสียที เพราะรัฐภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์แบบนี้จะขาดพร่องความชอบธรรมทางการเมือง ขาดพร่องฉันทามติภาคส่วนต่างๆ เดินแนวนี้อาจมีกลุ่มคนเห็นด้วย แต่ก็มีคนเสียประโยชน์ที่คัดค้าน

 

อะไรคือโจทย์ใหญ่ของเสื้อเหลือง – เสื้อแดง

ปัญหาอำนาจทุนที่นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายใต้ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์นั้น หากดูข้อเสนอทางหลักการ น้ำเสียงของบรรดาผู้นำ ปัญญาชน ผู้เข้าไปเกี่ยวพันกับพันธมิตรฯ จะเห็นว่าเขาเห็นปัญหาอำนาจทุนชัดเจน แต่ฝั่ง นปช.และเสื้อแดงไม่ให้น้ำหนักกับปัญหาอำนาจทุนเท่าไรนัก ที่ชัดเจนที่สุด คือกลุ่มนิติราษฎร์

ปัญหาอำนาจทุน เหลืองเห็น-แดงไม่เห็น

“ในความเห็นของผม นิติราษฎร์คือกลุ่มปัญญาชนที่ใกล้ชิด และมีอิทธิพลอย่างชัดเจนมากในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ก่อนหน้านั้นความเข้าใจของผมคือ กลุ่มเสื้อแดงเหมือนลูกกำพร้า อาจมีแนวร่วมนักธุรกิจ แนวร่วมนักการเมือง มีมวลชนเยอะ แต่ไม่ค่อยมีปัญญาชนที่ไปสนับสนุน ให้ความคิด แนะนำให้คำปรึกษากับขบวนการเสื้อแดงสักเท่าไร การเกิดขึ้นของนิติราษฎร์เข้าไปอุดช่องว่างตรงนี้ เล่นบทบาทเหมือนเสนาธิการทางปัญหาของขบวนการเสื้อแดง มีข้อคิด ข้อวิเคราะห์ เช่น การยกเลิกผลพวงรัฐประหาร การแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 แต่ข้อเสนอประดามีของคณะนิติราษฎร์มันจบแค่มิถุนายน ถึง ธันวาคม 2475 เป็นข้อเสนอที่พัวพันกับปัญหาอำนาจรัฐและเครือข่ายอำมาตย์ ..... แต่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ยังไม่ถึงช่วงที่อาจารย์ปรีดี เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจด้วยซ้ำ ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปเศรษฐกิจสยามขนานใหญ่ กำเนิดมาจากวิกฤตการตกต่ำของทุนนิยมทั่วโลกอย่างหนักเมื่อปี  ค.ศ.1929 ปัญหานี้ไม่ปรากฏในครรลองความสนใจ การวิเคราะห์ปัญหาของนิติราษฎร์เลย ทำให้มีช่องโหว่ที่น่าสนใจในเรื่องอำนาจทุน ทั้งที่อำนาจทุนเริ่มสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเนื้อเดียวกับอำนาจรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ”

ขณะที่แดงไม่ให้ความสำคัญ แต่ฝ่ายเหลืองเห็นว่าปัญหาของทุนเป็นเรื่องสำคัญ สังเกตดูคำอภิปรายของกลุ่มสยามประชาภิวัตน์ นักวิชาการที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของ พธม. แต่วิธีแก้ปัญหาของกลุ่มนี้ในที่สุดก็วนกลับไปที่อำนาจเผด็จการทหาร หรือไม่ก็เสนอให้มีอำนาจพิเศษ วิธีพิเศษ พึ่งพระบารมี วิธีดังกล่าวชัดเจนมากจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่ามันไม่เวิร์ค นอกจากจะไม่แก้ปัญหาเก่าแล้วยังเพิ่มปัญหาใหม่ด้วย


ชนบทเปลี่ยน ไม่จน ไม่โง่ ไม่รอคอย

ในแง่กลับกันอะไรคือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อแดง มีงานวิชาการจำนวนมากพยายามจะตอบ ซึ่งล้วนมองทิศทาง ชูประเด็นปัญหาใหม่ขึ้นมาใกล้เคียงกันว่า โจทย์ใหม่ทางการเมืองนี้ชัดเจนมากหลังรัฐประหาร และเกิดมีขบวนการเสื้อแดงปรากฏขึ้นมา ซึ่งสะท้อนว่า ชนบทกำลังเปลี่ยนอย่างสำคัญ และมุมมองต่อชนบทกำลังเปลี่ยน

ภาพเดิมชนบทคือสังคมการเกษตร ชาวนายากจน อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ขาดความรู้ ขายเสียง ทางออกจากเรื่องเหล่านี้ก็ยึดการเมืองภาคประชาชนเป็นทางออก เช่น การเคลื่อนไหวแบบสมัชชาคนจน และเศรษฐกิจพอเพียง แต่หลังรัฐประหาร 2549 งานวิชาการหลายชิ้นวาดภาพชนบทใหม่ คือ ไม่ใช่สังคมการเกษตรเป็นส่วนใหญ่อีกต่อไป  มีคนเลิกเป็นเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ , ส่วนใหญ่ของชาวนาเป็นผู้มีรายได้ปานกลาง อาจไม่เท่าชนชั้นกลางในกรุงเทพ แต่ไม่ได้ยากจนไม่พอกิน และมีความหวังว่าจะดีขึ้น แต่ปัญหาหลักคือยังมีผลิตภาพต่ำ ยากที่จะสร้างความมั่งคั่งทางรายได้ได้ การพยุงฐานะของพวกเขากระทำผ่านเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ  ไม่ว่าจะผ่านการกระจายอำนาจ งบ อปท. เงินช่วยเหลือฉุกเฉินต่างๆ  โครงการกระตุ้น-เสริมราคาพืชผลเกษตร หรือเรียกว่ามี  inverse resource flow จากเมืองย้อนสู่ชนบทผ่านงบประมาณของรัฐ ซึ่งดำเนินการเป็นมาระยะยาวนาน ดังนั้น ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องความยากจน แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างชนบทกับเมือง หรือชนบทภูมิภาคต่างๆ

ข้อเสนอมุมมองใหม่ก็คือ สังคมชนไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์แบบเดิม ชาวนาไม่ได้แผ่หลารอคอย แต่ชาวนาฉลาดในการดึงอำนาจภายนอก ไม่ว่ารัฐ ทุน หรือวาทกรรมชุมชน มาตะล่อมใช้สนองผลประโยชน์ตัวเอง ดูดดึงเอาทรัพยากรเหล่านี้มาเพิ่มผลิตภาพตนเอง แล้วรู้จักใช้เงื่อนไขภายนอกให้เป็นประโยชน์กับตัว ไม่ได้เป็นเบี้ยล่างตลอด

หากจะบอกว่าชาวนาขาดความรู้ การศึกษา ภาพตอนนี้ก็เปลี่ยนไป มีชาวนาพันธุ์ใหม่ หรือ post-peasant บางคนเรียก cosmopolitan ผู้รอบรู้โลก บางคนเรียก extra local president ผู้เป็นสมาชิกหมู่บ้านที่ทำมาหากินในกรุงเทพฯ จังหวัดใหญ่หรือต่างประเทศ

หากจะบอกว่าชาวชนบทซื้อเสียง ภาพนี้ไม่ใช่ไม่จริง งานล่าสุดของประจักษ์ ก้องกีรติ ชี้ว่า เรื่องซื้อสิทธิขายเสียงทำกันทุกพรรค แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด สังคมการเมืองชนบทสามารถต่อรอง ตะล่อมอำนาจภายนอก และขัดแย้งตรวจสอบกันเองภายในตามธรรมนูญชนบท (วัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่น) เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการซื้อขายในร้านสะดวกซื้อ แต่มีกระบวนการที่เงินต้องไหลเข้าไปในพื้นที่สังคมการเมืองหนึ่งที่มีกฎเกณฑ์ของมัน แล้วชาวชนบทก็ต่อรองเพื่อเอาอำนาจภายนอกมาเพิ่มผลิตภาพของตัว

“มันแปลว่าเขาไม่มีศีลธรรมทางการเมืองเลยอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่ เขาเลือก การซื้อต้องมีมารยาท การซื้อต้องมีวัฒนธรรม เขาเลือกระหว่างคนที่ซื้อแล้วหายหัวไปเลย กับคนที่ซื้อแล้วมาดูแลใส่ใจ ในทางกลับกัน อาจมองว่ามันไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่าที่ให้คุณไปช้อปปิ้งแล้วได้คะแนนเสียงมา เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมการเมืองของตัวเองและสนองตอบ ตอบโต้กับการซื้อสิทธิขายเสียงเหล่านั้นได้” 
 
แล้วการเมืองภาคประชาชนเป็นทางออกหรือไม่ คำตอบอยู่ที่การเลือกตั้งระดับต่างๆ มากว่าที่เป็นทางหลักในการต่อรองช่วงชิงกดดันเอาทรัพยากรมา ขณะที่การเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนน้อยเท่านั้น การม็อบ การชุมนุมต่อรองยังใช่กันอยู่บ้าง

ส่วนเศรษฐกิจหลักที่เขาต้องการก็เป็นเศรษฐกิจการค้า ที่ดึงดูดปัจจัยภายนอกเอามาเพิ่มผลิตภาพเพื่อประคองฐานะคนชั้นกลางของเขาให้อยู่ได้และเติบโตขึ้นได้

“ข้อเสนอเสื้อแดงคือ เพื่อจะต้อนรับความเปลี่ยนแปลงในชนบทเหล่านี้ ต้อนรับคนเป็นแสนเป็นล้านที่หลุดจากการเป็นชาวนาแบบเดิม ทางเดียวที่จะอยู่กับเขาได้ในทางการเมืองคือ ต้องขยายประชาธิปไตย ถ้าจะซื้อสันติสุขทางการเมืองจากชนบทที่เปลี่ยนไปแล้วนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น คุณหดปชต.ไม่ได้ มีแต่ต้องขยายตัวขึ้น เมื่อไรที่หดปชต. ยกเลิกการเลือกตั้ง ยกเลิกอำนาจของคนที่เขาเลือก เมื่อนั้นมีความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง”


จุดอับตันของของเสื้อแดง “ความหวังใหม่”

นักคิดปัญญาชนที่เข้าไปศึกษาเรื่องราวเหล่านี้จำนวนมากก็หวังว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นฐานใหม่ทางประชาธิปไตย แต่โดยส่วนตัวยังเห็นว่ามี 2 ปัญหาหลักที่เป็นจุดอับตัน คือปัญหาทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมการเมือง

ทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่าภาวะที่รัฐอุดหนุนชาวนาที่ผลิตภาพต่ำแต่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในชนบทนั้นยั่งยืนได้ยาก เพราะมีขีดจำกัดทางการคลัง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเป็นคนชั้นกลางแล้วและไม่ยอมถอยกลับด้วย ปัญหาที่กำลังเกิดจากนโยบายจำนำข้าวสะท้อนสิ่งนี้ นโยบายนี้มีความเสี่ยงทางการคลังสูง แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ หากไม่ทำคนเหล่านี้จะไม่สามารถประคองสถานะคนชั้นกลางได้ จึงต้องทำไปเรื่อยๆ แต่การจะเปลี่ยนให้หลุดพ้นจากภาวะนี้ต้องพลิกเปลี่ยน เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้พวกเขาออกจากภาคการเกษตร ไปทำงานแบบใหม่

“นี่คือฐานคิดที่มาของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท มันต้องอาศัยการทุ่มทุนขนานใหญ่ไปผลักให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้ชาวนาหลุดออกมาจากภาวะผลิตภาพต่ำ พึ่งพาการอุดหนุนจากรัฐ ทั้งหมดนี้ถูกกำหนดจากชนบทที่เปลี่ยนแล้วต้องหาทางไป”

ทางด้านวัฒนธรรมการเมือง จะเห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเมืองแบบไม่มีสมอง แต่เขามีค่านิยมธรรมนูญชนบทอยู่ แต่ก็ยังมีลักษณะคับแคบ ยึดผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง และเป็นค่านิยมที่แตกต่างกับค่านิยมสังคมเมือง ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนค่านิยมเหล่านี้ ค่านิยมเหล่านี้ไม่คลี่คลายขยายตัว ก็ยากที่จะสร้างสังคมการเมืองร่วมกัน  ยกตัวอย่างท่าทีที่ชัดเจนในสังคมการเมืองชนบทในภาคเหนือ เขาไม่คิดว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนสำคัญเท่าไร เช่น เรื่องฆ่าตัดตอน เขาแคร์ว่ามันแก้ปัญหาได้บ้างมากกว่า ค่านิยมแบบนี้มีเหตุผลของตัวเอง แต่เข้ากันได้ยากกับแนวคิดแบบที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม

ในท่ามกลางคำตอบทั้งหลายในช่วงหลังนั้น คำตอบหนึ่งที่มักได้ยินอยู่เสมอคือ การเมืองต้องมีศีลธรรม คำพูดแบบนี้ทั้งออกมาจากข้าราชการ ผู้ใหญ่ในสังคมการเมือง แต่ในเวอร์ชั่นที่เป็นวิชาการที่สุดคือ งานของสมบัติ จันทรวงศ์ ซึ่งทำวิจัยให้ สกว. เรื่อง วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาของพลเมือง การศึกษาการประกาศธรรมของประกาสกร่วมสมัย โดยสรุปคือ สมบัติฟังพวกที่วิจารณ์การเมืองประชาธิปไตยเก่าๆ แบบไทยๆ ขณะที่พยายามเสนอประชาธิปไตยแบบใหม่แบบพวกเสื้อแดงแล้วรู้สึกไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีเรื่องศีลธรรม  หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการเอานักวิชาการอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วิจิจจะกูล เกษียร เตชะพีระ ไปชำแหละว่าพวกไม่คิดถึงศีลธรรมมีปัญหาอย่างไรบ้าง


นักวิชาการเสื้อแดงแยกศีลธรรมออกจากการเมือง ถูกต้องหรือไม่

ข้อเสนอหลักในบทคัดย่อ คือ “ผู้เขียนใช้กรอบแนคิดเรื่องธรรมวิทยาแห่งพลเมือง ของ Robert Bellah เพื่อศึกษาความคิดซึ่งอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันระหว่างเสื้อเหลือง เสื้อแดง โดยพบว่า อุดมการณ์ของพวกเสื้อแดงหลักๆ แล้วเป็นผลผลิตทางความคิดของนักประวัติศาสตร์ ซึ่งปฏิเสธค่านิยมแบบจารีตของไทยทั้งที่เป็นค่านิยมทางศีลธรรมและการเมือง ที่ผูกโยงอย่างใกล้ชิดกับพุทธศาสนาและระบบกษัตริย์ เหล่าประกาศกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักประวัติศาสตร์อาชีพชั้นนำของไทย เลือกที่จะทดแทนสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวระบบอบทางประชาธิปไตยที่เน้นความเท่าเทียมกัน ซึ่งก็ต้องอาศัยการดำรงอยู่ของมวลหมาประชาชนผู้ล่วงรู้แจ้งและความแน่นอนว่าจะต้องเกิดขึ้นและความใฝ่ฝันในความเสมอภาค (ทั้งในแง่ของผลประโยชน์และสิ่งอื่นใด) อันถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของการเป็นพลเมืองที่ดี แต่เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะเห็นว่าธรรมวิทยาแห่งพลเมืองที่ปราศจากเนื้อหาทางศาสนาหรือจริยธรรมเลย จะสามารถยึดโยประชาชาติใดให้อยู่ด้วยกันได้เป็นเวลาที่นานพอ สังคมในอุดมคติที่ไม่ต้องการสำนึกทางศีลธรรมนี้อาจเกิดขึ้นได้จริง แต่จะเหมาะหรือไม่กับการพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นเรื่องที่ยังต้องการคำตอบ”

โดยสรุปคือ ข้อเสนอของปัญญาชนฝั่งเสื้อแดงขาดมิติทางศีลธรรม และค่อนข้างต่อต้าน แยกศีลธรรมออกจากการเมือง ลักษณะนี้จะเป็นสิ่งที่เหมาะหรือไม่ เป็นโจทย์ที่น่าสนใจและน่าขบคิด  อยากเสนอว่า สังคมการเมืองที่ยึดลัทธิศีลธรรมเป็นเจ้าเรือนมีปัญหาของมันอยู่ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ปาฐกถาของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ ก่อนเกิดรัฐประหารไม่นาน ที่ระบุว่า ชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครมีสิทธิ์ยึดถือเป็นของตนเองได้ เชื่อว่า พระสยามเทวาธิราชย์ จะปกป้องคนดี สาปแช่งคนทรยศให้พินาศ นับเป็นกามองประเด็นความดี ความชั่วเป็นแก่นกลาง  หรือการที่มีพระเทศนาเกี่ยวกับ “คนชั่วที่แอบอ้างเป็นคนไทย”  นี่เป็นประโยคที่เกิดขึ้นซึ่งสะท้อนทั้ง เรื่องศีลธรรม การเมือง ชาตินิยม วัฒนธรรม และกฎหมายความเป็นพลเมืองและเอกลักษณ์ชาติด้วย


การเมืองกับศีลธรรมไปด้วยกันได้ (ในสังคมเปิด)

โดยส่วนตัว คิดว่าการเมืองกับศีลธรรมควรไปด้วยกัน และไปด้วยกันได้ ในเงื่อนไขบางอย่าง เงื่อนไขที่จำเป็นคือ free market place of moral idea มีตลาดความคิดทางศีลธรรมที่เปิดกว้างให้ถกเถียงกันได้เรื่องศีลธรรมแลหลักที่ควรทำไม่ควรทำทางการเมือง ถ้ามีแบบนี้สังคมการเมืองจะมีสุขภาพดี แต่ถ้าไปเป็นแบบเอาลัทธิศีลธรรมเป็นเจ้าเรือน เอาเรื่องนี้ไปคลุมการเมืองทั้งหมดโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้งจะเป็นปัญหา เพราะไม่ว่าจะชอบหรือชัง โลกสมัยใหม่มีความหลากหลายทางศีลธรรมและศาสนาอย่างไม่อาจหดลดได้ ไม่สามารถยึดเอาศีลธรรมแบบเดียว ศาสนาหนึ่งใดเป็นหลักแล้วบังคับทั้งหมดได้ เราจึงต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริงที่ยอมรับความหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยมีขีดจำกัดจำนวนมากที่ทำให้การถกเถียงในสังคมไทยก็ไม่มีเสรีภาพเพียงพอ ยกตัวอย่าง รายการ Devas cafe ของคำ ผกา ที่วิจารณ์ศาสนาแล้วถูกกดดันหนักให้ต้องสารภาพปากพร้อมยุติรายการ 1 เดือน  เมื่อไม่มีพื้นที่เปิด จึงยากมากที่จะเอาศีลธรรมมาผูกการเมืองแล้วจะไม่เป็นการกดขี่หรือกีดกันคนอื่น อีกประการคือ การที่ชนชั้นนำทางการเมืองมักแสดงจริตว่าตนเป็นคนมีศีลธรรม แต่ข้างหลังเละ ยิ่งบ่อนทำลายเรื่องนี้  แล้วยังทำให้เกิด ผู้ใหญ่ ซึ่งมีฐานะพิเศษที่จะบอกให้รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี โดยไม่มีการตรวจสอบ

“ในทางปรัชญา ผมเชื่อว่ามีความขัดแย้งขั้นมูลฐานอยู่ระหว่าง หลักเป้าหมายที่ดีที่ถูกต้อง ย่อมให้ความชอบธรรมกับวิธีการใด ๆ ก็ได้ หรือ The end justifies the means. ในทางการเมือง กับ หลักเอกภาพทางศีลธรรมของเป้าหมายกับวิธีการ หรือ the moral unity of means and end หลักสองอันนี้มีความขัดแย้งแตกต่างกันลึกๆ และการพยายามจะผูกการเมืองเข้ากับศีลธรรมมันอิหลักอิเหลื่อมากเพราะหลักการสองอันนี้”  

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

24 มิถุนา มหาศรีสวัสดิ์ : สุนัย จุลพงศธร

การเมืองที่ถูกต้องไม่ได้บอกว่าดีหรือเลว แต่เป็นการเมืองที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ของมัน”
โดย ส.ส.ดร.สุนัย จุลพงศธร



นอกจากการตามติดมุมมองจากลูกหลานคณะราษฎรผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน ยังนำเสนอความคิดเห็นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร...ถึงวันนี้ ทัศนะของพวกเขาเป็นอย่างไร

การพูดคุยกับลูกหลาน คณะราษฎรผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คงเป็นเพียงมุมหนึ่ง ในขณะที่ ประชาธิปไตยของประเทศไทยที่ผ่านยังคงสะดุดแล้วสะดุดอีก และไม่แคล้วที่สุดท้ายแล้ว นักการเมืองจะต้องเป็นที่สุดแห่งเสียงก่นด่าราวกับเดรัจฉาน ท่ามกลางมายาคติทางการเมืองของนักการเมือง เราจึงขอสวนทางด้วยการเลือกคุยกับนักการเมือง เพื่อนำปากคำจากมุมที่มีภาพลักษณ์สีหม่นมาสะท้อนความเป็นจริงอีกด้านอาจอาจหมองกว่า โดยครั้งนี้ เราเริ่มที่ สุนัย จุลพงศธรส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้ที่มีบทบาทในสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย ทั้งยังเข้าไปมีส่วนในขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางการเมืองที่มีพลังอย่างยิ่งในปัจจุบัน

ภาพของ สุนัย ที่คนทั่วไปได้สัมผัสผัสคือ  ส.ส. ที่มักอภิปรายในสภาอย่างดุเดือด แต่อีกภาพหนึ่งที่ไม่ค่อยได้รับการมองเห็นมากนักนั่นคือการยืนอยู่บนจุดยืนของอุดมการณ์เสรีนิยมอย่างเด่นชัด และเราเห็นได้ชัดจากคำตอบหลายคำถามของเราครั้งนี้

เราเริ่มต้นด้วยการถามถึงเรื่องทั่วๆไปอย่างมุมมองของเพื่อนสมาชิกในสภาของเขากับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นอย่างไร แต่คำตอบที่ได้กลับเป็นภาพสะท้อนของปัญหาหลักทางโครงสร้างของประเทศที่ชวนให้ต้องขบคิดอะไรกันใหม่ไม่น้อย

ผมคิดว่า ส.ส.- ส.ว. ในสภามีจำนวนไม่ใช่น้อยไม่รู้ ที่ไม่รู้ไม่ใช่เพราะความไม่รู้ของเขา แต่เป็นเพราะระบบโครงสร้างและระบบการศึกษาพยายามปกปิดเรื่องวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ยกตัวอย่างเจ้าหน้าที่ที่เคยมาช่วยงานซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีถือเป็นภาพสะท้อนได้ดีที่เขาไม่รู้จักคนชื่อ ปรีดี พนมยงค์หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดังนั้น ใครที่ไม่รู้จักเรื่อง24 มิถุนายน 2475 จึงไม่ใช่ความผิดของเขาแต่เป็นความผิดของสังคมนี้ เป็นความของผิดของคนบางคนที่มีความคิดคับแคบ

ทั้งนี้ สุนัย เชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือความตั้งใจที่ต้องการ ปกปิดอันสืบเนื่องมากจากเรื่องประโยชน์ในอำนาจ ทั้งที่เรื่อง 24 มิถุนายน 2475 เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีสิทธิบิดเบือนได้ และคนที่มานั่งอยู่ในสภาในวันนี้ก็ถือว่าเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475

แต่จะว่าใครก็ไม่ได้ แม้กระทั่งอาจารย์ที่จบมาจากต่างประเทศ หรือบางคนที่เป็นอาจารย์ของสถาบันพระปกเกล้าเองที่พยามจะปิดเบือนเรื่องของ 24 มิถุนายน 2475 ว่าเป็นเรื่องของการชิงสุกก่อนห่าม ซึ่งความจริงไม่จำเป็นที่ต้องมีการศึกษาสูงเพียงแต่เอาความจริงมาร้อยเรียงต่อกันก็จะรู้ความจริงว่า การกระทำของคณะราษฎรนั้นไม่ใช่การชิงสุกก่อนห่าม แต่เป็นเรื่องวิวัฒนาการของสังคมโลกที่เคลื่อนตัวมาแล้วร้อยกว่าปีในเวลานั้น และได้เคลื่อนตัวเข้ามาสู่สังคมไทย การเคลื่อนตัวครั้งนั้นมีทั้งการเคลื่อนตัวทางเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางความคิด จึงได้เกิดคนอย่างเทียนวรรณขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ”

สุนัย อธิบาย เพิ่มเติมเพื่อให้ภาพยาวๆก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ว่า เคยมีกรณีหมอเหล็งที่ได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการณ์ล้มราชวงศ์ชิงในประเทศจีน เมื่อ ค.ศ. 1911 เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่ทำให้เกิดคนอย่างหมอเหล็งที่พยายามเลียนแบบหมอ ซุนยัดเซ็นดังนั้น เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงไม่ใช่เรื่องชิงสุกก่อนห้ามแต่เป็นเรื่องที่มีความเป็นมาสืบเนื่องเป็นลำดับ

แต่จะอธิบายอย่างไรในเมื่อ รัชกาลที่7 เองก็กำลังจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ สุนัย ตอบในกรณีนี้ว่า หากเป็นรัฐธรรมนูญ ของรัชกาลที่ 7 ก็คงไม่มี ส.ส.นั่งอยู่ในสภา

ในเวลานั้นที่ปรึกษาส่วนพระองค์คือ ฟานซิส บีแซร์ เป็นฝรั่งที่ให้คำแนะนำ มีบันทึกหลักการโดยเป็นรัฐธรรมนูญที่มี 10 กว่ามาตรา ส.ส.มาจากไหน มาจากในหลวงทรงแต่งตั้ง รัฐมนตรีมาจากไหน มาจากในหลวงแต่งตั้ง ซึ่งจะถอดถอนใครอย่างไรก็ได้หมด มันไม่ใช่โครงสร้างรัฐธรรมนูญอย่างนี้เลย ก็แปลกใจกับคนที่เป็นอาจารย์ทางการเมืองโดยเฉพาะอาจารย์สถาบันพระปกเกล้า หรือคนที่จบจากต่างประเทศ ทำไมกล้าทรยศกล้าบิดเบือนประวัติศาสตร์ได้ขนาดนั้น แต่เสียงเขาดังกว่า เสียงของนายสุนัยไม่ดัง หรือเสียงของคนที่พูดสัจจะแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ดัง เพราะถ้าเสียงดังมากติดตระราง

สุนัย ยกตัวอย่างหนึ่งขึ้นมานั่นคือกรณีของ สมยศ พฤกษาเกษมสุขแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย ว่า ก็คือคนหนึ่งที่พยายามตามหาวันชาติ 24 มิถุนายน ใช้เวลาตามหา 2 ปี ก็ถูกจับกุม แม้ข้อกล่าวหาไม่ใช่เรื่องวันชาติแต่เป็นกรณี 112 แต่ก็นำไปสู่ผลกระทบทางความรู้สึกของผู้ที่ทำงานเคลื่อนไหวให้เกิดวันชาติ 24 มิถุนา และผลของสังคมที่ปกปิดประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง สุดท้ายแล้วก็คือ ความกลัวนั่นเอง

ไม่มีใครรู้หรอกว่าถ้าเราไม่เคารพความเป็นจริงแห่งประวัติศาสตร์นั้น ประเทศชาติจะพัฒนายาก เพราะว่าความเข้าใจทางประวัติศาสตร์จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า เราจะพัฒนาทางการเมืองกันอย่างไร แต่เมื่อเราไม่เข้าใจบิดเบือนกันหมดหรือที่เรียกในสำนวนใหม่ว่า ตอแหลแลนด์เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมันก็สับสน เกิดการตีกัน ไม่ยอมรับประชาธิปไตยกัน อ้างประชาธิปไตยกันไปคนละอย่าง การอ้างคนละอย่างก็เกิดจากการปกปิดประวัติศาสตร์ 2475 มันเลยเกิดการทะเลาะกันเนื่องจากการไม่ยอมเปิดประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง เมื่อเราเรียงหินขึ้นมาแล้วทุกคนบอกว่าหินนั้นไม่มี ดังนั้นจึงต้องมาหาเส้นใหม่ ก็เลยเกิดเส้นทางของการปกครองระบบใหม่ขึ้นมาซึ่งผมก็ยังไม่รู้ว่าระบบไหน

ในช่วงสมัยหนึ่ง ผู้มีอำนาจได้เสนอให้รื้อตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย เพราะอย่างนี้จึงต่อความไม่ถูก เมื่อต่อความไม่ถูกจึงได้มีการสร้างระบบการปกครองใหม่ขึ้นมา จึงได้เกิดการเมืองใหม่ขึ้นมา  อย่าง 70:30 ตามความคิดของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล มันเกิดการเมืองใหม่ในแนวแปลกๆขึ้น เช่น ขณะนี้มีการร่างรัฐธรรมนูญ มีคนส่วนหนึ่งบอกว่าการแต่งตั้งดี แต่ถ้าการแต่งตั้งดีจริง ทำไมไม่แต่งตั้งทั้งสองสภาเลย เหตุที่มีการแต่งตั้งแค่สภาเดียวเพราะโลกบอกว่ามันไปแบบนั้นไม่ได้แล้วจึงได้แต่งตั้ง ส.ว. ครึ่งสภา เมื่อมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยที่สากลเขาเป็นกันก็บอกว่าสากลไม่ดี แต่วันนี้ไม่มีใครกล้าคัดค้านในกรรมาธิการวิสามัญ

ผมเป็นกรรมาธิการวิสามัญแก้รัฐธรรมนูญอยู่ในหมวดการเลือกตั้ง ส.ว. ทั้งหมดมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 113 มาตรา 114 ปรากฏว่า แม้กระทั่ง ส.ว.แต่งตั้งเองยังไม่มีใครกล้าคัดค้านว่า ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญแล้วให้ ส.ว. แต่งตั้งคงมีอยู่เพียง แต่มีคนบิดเบือนให้มีการเลือกตั้งแบบนั้นเลือกตั้งแบบนี้ เช่นให้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เพราะหวังว่าเมื่อมีการเลือกตั้งจะได้หาคะแนนสักกลุ่มหนึ่ง 5,000-10,000 คน ก็จะได้กลับมาเป็นส.ว.แล้ว บางคนพยามยามบอกว่าต้องเลือกตั้งโดยจัดกลุ่มอาชีพใหม่เพื่อไม่ให้เป็นลูกหลานของส.ส. นี่คือตัวอย่างความสับสนเพราะเราไม่ยอมรับประวัติศาสตร์พัฒนาการของมันถึงตรงนี้ สุนัย ยังคงย้ำอีกครั้ง การบิดเบือนประวัติศาสตร์ก็คือปัญหาของวิกฤติประชาธิปไตยในวันนี้

ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยอยู่ตรงนี้มันเป็นผลแห่งกรรม ถ้าเราเป็นชาวพุทธต้องยอมรับผลแห่งกรรม ผลแห่งกรรมจากวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ที่มีการยึดอำนาจโดยพรรคการเมืองหนึ่งที่จับมือกับคณะทหารล้มกระบวนการพัฒนาของประชาธิปไตยทั้งหมด ล้มรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ โดยอาศัยการสิ้นพระชนม์ของในหลวงราชการที่ 8 ที่บิดเบือนประวัติศาสตร์แล้วใช้สถาบันพระมหากษัตริย์มาทำลายคู่แข่งทางการเมือง

ผลแห่งกรรมของการกระทำนั้น ส่วนหนึ่งคือการฟื้นอำนาจของระบบราชการ โดยนัยหนึ่งก็คือทำระบบอำมาตย์ให้เข้มแข็งขึ้น แล้วใส่ร้ายให้ระบบการเลือกตั้งเป็นระบบที่เลวร้ายไปทั้งขบวน ดังนั้นผลแห่งกรรมจึงได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายในวันนี้และไม่สามารถที่จะสร้างเอกภาพทางความคิดของประชาชนเพื่อให้ยอมรับระบบประชาธิปไตยที่พัฒนาการมากว่า 200 ปี พิสูจน์ความถูกต้องมาแล้วแม้กระทั่งรัสเซียที่พยายามจะพลิกออกไปในระบบสังคมนิยมอีกแบบหนึ่งโดยการไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเลยแต่เป็นไปไม่ได้ หรือจีนที่พยายามผ่านไปสู่ระบบคอมมิวนิสต์โดยไม่ผ่านประชาธิปไตยเลยก็เป็นไปไม่ได้

สุนัย ได้เน้นว่า คำว่า กระบวนการแบบประชาธิปไตยหมายถึง การปกครองแบบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม การพยายามไม่ผ่านก็ไปไม่ได้ แต่สังคมไทยเป็นผลแห่งกรรมที่ไม่ยอมให้กระบวนการดังกล่าวผ่าน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์แบบจีนหรือรัสเซีย แต่เพราะไม่ยอมรับพัฒนาการของโลกหรือที่เรียกว่า เสรีภาพส่วนบุคคลซึ่งหัวใจที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยคือปัจเจกชน เพราะในเรื่องดังกล่าวเราจะพูดกันได้หรือเราทะเลาะกันได้โดยอยู่บนพื้นฐานแห่งกฎหมาย

วันนี้ยังมีหน้ากากขาวพร้อมที่จะล้มระบอบประชาธิปไตย คนที่สนับสนุนการล้มประชาธิปไตยก็คือคนชุดเดิมไม่ใช่ชาวบ้าน เป็นบุคคลสำคัญมีตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆโดยไม่ผิดกฎหมาย รูปแบบหน้ากากขาวหากไปอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยบอกว่าจะล้มประธานาธิบดี จะล้มระบบ เขาถูกจับทันที แต่อำนาจของเราไม่ได้อยู่กับประชาชน เล่นอย่างนี้ เราจึงได้รับผลแห่งกรรมที่คนมีอำนาจกลุ่มหนึ่งกระทำการตั้งแต่ปี 2489  ปี2490 เป็นต้นมาถึงวันนี้  ปิดทุกอย่าง ปิดวันชาติ ปิดวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปิดบุคคลสำคัญ หรือแม้แต่ไม่มีสัญลักษณ์ของคณะราษฎรอยู่ในสภาเลย กระทั่งบางคนที่เป็นลูกของคณะราษฎร เวลาหาเสียงเลือกตั้งยังไม่กล้าบอกว่าตนเองเป็นลูกของคณะราษฎรส.ส.สุนัยพูดถึงกรรมของการกระทำในอดีต

เราถามต่อไปว่าแล้วจะมีวิธี แก้กรรมอย่างไร

สุนัย บอกว่า การแก้กรรมไม่ใช่การแก้เชือก แต่ต้องรับอานิสงค์ผลแห่งกรรมไปสักระยะหนึ่ง จนกระทั่งบุญใหม่เพิ่มเข้ามา แต่ศาสนาพุทธล้างบาปไม่ได้ บุญส่วนบุญบาปส่วนบาป บาปที่ได้สร้างมา เราจึงได้รับผลกรรม ซึ่งเขาก็ยืนยันที่จะสวนกลับในสิ่งที่เชื่อว่า การทำงานอย่างหนักและยืนยันในเรื่องนี้ตลอดเวลาก็คือการต้องการสร้างเนื้อนาบุญใหม่ทางการเมืองให้แก่สังคม

เนื่องจากผมกำลังกินเงินเดือนในตำแหน่ง ส.ส. ก็ใช้เวลาทั้งหมดให้กับการสร้างการเมืองที่ถูกต้อง ซึ่งการเมืองที่ถูกต้องไม่ได้บอกว่าดีหรือเลวแต่เป็นการเมืองที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ของมัน ผมคนเดียวไปแก้กรรมทั้งระบบไม่ได้แต่ถือได้ว่าเราได้เติมเนื้อนาบุญลงไปในระบบเรื่อยๆให้คนตาสว่างให้คนเข้าใจปัญหามากขึ้น

สิ่งนี้คงสะท้อนการทำงานและทัศนคติของ ส.ส. คนหนึ่งในรัฐสภาของเราณ ขณะนี้ เมื่อเวลาเดินมาถึงคำถามสุดท้ายเราย้อนไปที่ กรรมแรกเมื่อการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 ก็คือการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มปัญญาชนกับกลุ่มทหาร ในขณะที่พรรคเพื่อไทยที่เขาสังกัดก็มีบทเรียนจากการรัฐประหารโดยทหาร หากมองย้อนกลับไป จำเป็นจริงหรือที่ทหารจะต้องเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลง

ผลแห่งกรรมแห่งการกระทำนี้มันส่งผลเขาตอบ แต่วิวัฒนาการของสังคมได้ทำให้ประชาชนตาสว่างขึ้น กระบวนการต่างๆแห่งการใช้หนี้กรรมกำลังจะจบแล้ว

เมื่อใกล้จะจบ แล้วทหารจะจบด้วยหรือ สุนัย บอกว่า การรัฐประหารโดยทหารได้หมดสิ้นไปแล้วอย่างชัดเจนที่สุดคือ การรัฐประหาร พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ถือเป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายของทหารขุนศึก เป็นปลายน้ำของทหาร แต่ว่ากำลังทหารยังถูกใช้อยู่

การรัฐประหาร19 กันยายน 2549 ไม่ใช่เป็นการรัฐประหารของทหาร เพียงแต่ใช้กลไกทหารในการดำเนินการ สังเกตชัดเจนที่สุดคือ ผู้นำทหารไม่ได้กระทำการรัฐประหารเพื่อตัวเอง แต่ใช้กลไกลของระบบราชการหรืออีกนัยหนึ่งก็คือระบบราชการ จึงได้เห็นผู้พิพากษาออกมานั่งกันเป็นแผง นี่คือยุคใหม่ของการรัฐประหาร หรืออาจจะมีอีกครั้งแล้วจบ การรัฐประหารได้หมดสิ้นไป เพราะความล้มเหลวของการรัฐประหารเป็นบทเรียนที่ทำให้ประชาชนมีความชัดว่าการรัฐประหารนั้นไม่ใช่คำตอบของทางออกจากปัญหา ไม่มีการรัฐประหารครั้งใดที่นำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรื่อง

สิ่งที่แตกต่างจากการจัดตั้งของประชาชน สุนัย บอกว่า ทหารเป็นกลุ่มเดียวที่มีระบบการจัดตั้งเดียวที่มีเงินเดือน ไม่ว่าการจัดตั้งของกลุ่มเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง เมื่อเป็นอย่างนี้การจัดตั้งของทหารจึงเข้มแข็งใช้ได้ในทันทีทันใด แต่เหมือนกับไฟไหม้ฟางที่จบระยะสั้นสั้นๆ

 
ที่สำคัญที่สุดของการรัฐประหารไม่ว่าจะโดยทหารหรือขุนนางอำมาตย์ต้องจบเพราะโลกไม่ได้มีเชื้อฟืนเหล่านี้ให้แล้ว ในศตวรรษที่ 21 ก้าวเข้าสู่ความทันสมัย เข้าสู่ความเป็นปัจเจก ใครปฏิเสธประชาธิปไตยที่ดำเนินอยู่มา 200 ปี เท่ากับปฏิเสธศาสนาใหม่ของมนุษย์นั้นเอง
 
การใช้หนี้กรรมในยุคที่ปัจเจกชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆมากขึ้นพร้อมๆกับการ ปกปิดยังคงดำเนินต่อไป สุดท้ายแล้วคงเป็นสิ่งที่ เราในฐานะประชาชนคงจะต้องกำหนดกันด้วยตัวเองเสียทีว่า เราอยากเห็น ความจริงหรือไม่ และ ปลายทางของเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไรกันแน่
 

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เปิดพินัยกรรมต่อสู้ "ทักษิณ" จาก "เสื้อเหลือง" ถึงแนวรบ "หน้ากากขาว"

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 20 มิ.ย. 2556



เมื่อประวัติศาสตร์อังกฤษที่ถูกแปลงเป็นภาพยนตร์เมื่อ 8 ปีก่อน กลายเป็นโรคระบาด ณ ประเทศไทยในพุทธศักราช 2556 เมื่อแรงต่อต้านรัฐบาลจากกระแสในโลกออนไลน์ วิวัฒนาการสู่การเคลื่อนไหวจริงริมถนนทั่วประเทศ เมื่อ "V for Vendetta" หรือ "หน้ากากขาว" กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของกลุ่มมวลชน "ผู้เห็นต่าง" จากการบริหารงานของรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
"ขณะนี้กองทัพประชาชนได้ลุกขึ้นมาแล้ว ข้าขอประกาศว่า ข้าจะล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย"

เป็น วรรคทองที่กลุ่มมวลชนใช้บุกโจมตีเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ถูกเชื่อว่าเป็น พรรค-พวกของ "ทักษิณ ชินวัตร" ทั้งเฟซบุ๊ก "แฟนเพจพรรคเพื่อไทย" และ "แฟนเพจโอ๊ค" ของนายพานทองแท้  ชินวัตร และอีกหลายองค์กรที่ถูกเกี่ยวโยงถึง ภายในเวลาก่อตัว 30 วัน จากกลุ่มคนหลักสิบสู่มวลชนหลักหมื่น จากแรงต้านในโลกออนไลน์สู่ถนนการเมืองแห่งความเป็นจริง "หน้ากากขาว" ขยายตัวอย่างรวดเร็ว กระทั่งพบการปรากฏตัวอยู่ทั่วประเทศไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็น "เมืองหลวงเสื้อแดง"

การเคลื่อนพลนับหมื่นเมื่อวันที่ 14-16 มิ.ย.ที่ผ่านมา แผนการประกาศอุดมการณ์ "ต่อต้านระบอบทักษิณ" ใน 25 จังหวัด

ทั่วประเทศ อาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องระลึกว่า "หน้ากากขาว" ไม่ใช่กลุ่มคน "ขาจร" ดังที่คอการเมืองหลายคนคาดการณ์ก่อนหน้านี้

แม้ การเคลื่อนไหวของ "หน้ากากขาว" จะคล้ายคลึงกับกลุ่มอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์ในทิศทางเดียวกัน แต่คำประกาศจุดยืน "ไร้แกนนำ" กลายเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากมวลชนทุกสีเสื้อบนถนนการเมืองไทย

คำถามคือ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" และ "ระบอบทักษิณ" จะล่มสลายตามที่ถูกหมายมั่นเอาไว้หรือไม่

คลิกอ่านรายละเอียด

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สื่อนอกแฉ! สื่อไทยสร้างข่าวจำนำข้าวให้ "มูดี้ส์" และอ้าง "มูดี้ส์" กลับมาละเลงที่ไทย

จากผู้สื่อข่าว Go6TV

สำนักข่าว Asian Correspondent.com ให้ข่าวเส้นทางข่าวจำนำข้าวในสื่อภาษาอังกฤษ
สำนักข่าว Asia Correspondent  ได้เปิดโพยแฉกลยุทธ์การเต้าข่าว "จำนำข้าว"  โดยมีเส้นทางการเดินข่าวโดยสรุปดังนี้

1. เริ่มต้นด้วยการเขียนข่าวขึ้น จากสำนักข่าวในประเทศไทยแห่งหนึ่ง ด้วยข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วน ไม่สามารถพิสูจน์ได้  จากนั้น ส่งข่าวนี้เผยแพร่ไปเมืองนอก

2. ถัดจากนั้น มูดี้ส์ ก็พูดเกี่ยวกับจำนำข้าว โดยอ้างอิงรายงานจากข้อเขียนของสำนักข่าวประเทศไทยเจ้านั้น  แต่ไม่ได้มีข้อความใดบ่งบอกว่าจะลดอันดับแต่อย่างไร

3. สำนักข่าวภาคภาษาอังกฤษของไทย ก็นำข่าวที่ "มูดี้ส์" พูด กลับมารายงานโดยเน้นอ้างอิง "มูดี้ส์" โดยไม่บอกว่า มูดี้ส์พูดตามรายงานข่าวเก่าชิ้นไหน และ "เพิ่มเติมข้อความ ที่มูดี้ส์ไม่ได้พูด" เข้าไปในหัวข้อข่าวและเนื้อข่าว

4. จากนั้น สื่อมวลชนไทยทั้งสองค่ายใหญ่ และสื่อฯไทย ก็โหมกระแส "มูดี้ส์พูดว่า....." กันอย่างมากมาย โดยไม่ได้ตรวจสอบที่มาของข่าว และแหล่งข่าวใดๆ หลงเชื่อว่า "มูดี้ส์พูดว่า......" กันไปหมดจนกระทั่ง

5. มูดี้ส์ ได้ออกมายืนยันว่า ข่าวการจำนำข้าวของไทย ไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเลย?  แต่ช้าไปแล้วเพราะข่าวไทย ตัดต่อแต่งเติมข้อความไปอีกขั้น และก็ไม่มีสำนักข่าวใด ที่จะออกมาเผยแพร่ข่าวของมูดี้ส์ฉบับนี้เท่าไรนัก



ข่าวเริ่มต้นครั้งแรก ที่สำนักพิมพ์แห่งนี้ และพูดถึงเม็ดเงินจำนำข้าวที่ไม่มีความชัดเจน โดยอ้างอิงข้อมูลไปที่ระดับผุ้ใหญ่ของกระทรวงฯ 
ขั้นที่ 1 สำนักข่าวบางกอกโพสต์ ได้รายงานข่าวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม เกี่ยวกับประมาณการเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ว่าอาจจะสูงถึง 2แสนล้านบาท โดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่ "สุภา ปิยะจิตติ"


เนื้อข่าวบรรยายชัดเจนว่า ผู้ให้ข่าวชิ้นนี้น่าจะชื่อ "สุภา" และรายงานข่าวนี้ถูกรายงานซ้ำ โดยมูดี้ส์


มูดี้ส์ ได้มีรายงานข่าว วันที่ 3 มิถุนายน ได้อ้างอิงรายงานข่าวของบางกอกโพสต์ วันที่ 23 พฤษภาคม พูดถึงเรื่องการจำนำข้าว โดยไม่มีการยืนยันตัวเลขที่ชัดเจน และอ้างอิง "ตัวเลขเงิน 2 แสนล้าน" จากบางกอกโพสต์
ขั้นถัดมา  วันที่ 3 มิถุนายน มูดี้ส์ ได้ "รายงานซ้ำ" ข่าวจากบางกอกโพสต์ วันที่ 23 พฤษภาคม โดยอ้างอิงคำพูดของข่าวดังกล่าว  แต่ข่าวนี้ไม่ได้รายงานยืนยันความถูกต้องทั้งหมด จึงเป็นเพียงแค่ "การรายงานข่าวซ้ำจากบางกอกโพสต์"

สำนักพิมพ์บางกอกโพสต์ นำข่าวที่มูดี้ส์รายงานซ้ำ  มาอ้างอิงว่า "มูดี้ส์ เตือนปัจจัยลบของเรตติ้งประเทศไทย"
ขั้นตอนนี้ ทันทีที่ "มูดี้ส์" พูด  สำนักพิมพ์บางกอกโพสต์ นำข่าวที่ตนเองรายงานไปให้มูดี้ส์ รายงานซ้ำกลับมา โดยเพิ่มเติมข้อความเข้าไป  เขียนมากกว่าที่มูดี้ส์เขียน และเขียนในสิ่งที่มูดี้ส์ไม่ได้เขียน  โดยไม่ได้บอกให้คนอ่านทราบว่า ข่าวชิ้นนี้ มูดี้ส์อ้างจากไทย

ข่าวถูกผลิตซ้ำ ในวันที่ 4 มิถุนายน โดยเพิ่มเติมหัวข้อกลายเป็น เครดิตประเทศไทยอยู่ในอันตราย
จากนั้น วันที่ 4 มิถุนายน สำนักพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้ผลิตซ้ำข่าว และพาดหัวข่าวหนักขึ้นว่า เครดิตประเทศไทยอยู่ในระดับเสี่ยง  โดยในเนื้อข่าว ก็อ้างอิงกลับไปที่ข่าววันที่ 3 ของมูดี้ส์


วันที่ 6 ผ่านไป 3 วัน ก็ยังผลิตซ้ำ โดยเพิ่มข้อความเขย่าขวัญหนักกว่าอีกว่า "ปัญหาจำนำข้าว อาจทำร้ายเศรษฐกิจไทยและทำให้อันดับประเทศไทยลดลง"
ผ่านไป 3 วัน วันที่ 6 ก็ผลิตข่าวนี้ซ้ำอีก โดยเพิ่มเติมข้อความข่าวลงไปให้หนักขึ้นว่า ประเทศไทยกำลังถูกลดลำดับความน่าเชื่อถือและเศรษฐกิจไทยกำลังแย่เพราะพิษโครงการจำนำข้าว

จากนั้น สำนักข่าวเนชั่น ก็ร่วมวงไพบูลย์ ด้วยการอ้างอิง "มูดี้ส์" พาดหัวข่าวในสิ่งที่มูดี้ส์ ไม่ได้พูด
จากนั้น เนชั่น ก็เริ่มข่าวด้วยการอ้าง "มูดี้ส์" เช่นกัน โดยเริ่มต้นพูดถึงการหั่นอันดับความน่าเชื่อถือ

เริ่มกลยุทธ์ "โต้ปิงปอง" อ้างอิงข่าวไปถามบุคคลที่เกี่ยวข้องว่ามูดี้กำลังจะหั่นลำดับเศรษฐกิจของไทย


ผลิตซ้ำในวันที่ 6  มิถุนายน โดยอ้างอิง TDRI มาร่วมในข่าว


เล่นข่าวต่ออย่างต่อเนื่องจนคนไทย "ลืมสังเกต" ว่าข่าวตั้งต้นมาจากไหน


มูดี้ส์ ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ลำดับเครดิตความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ไม่ได้มีผลกระทบอะไรเลย กับโครงการรับจำนำข้าว
จากนั้น มูดี้ส์ ออกมาปฏิเสธข่าวการลดลำดับความน่าเชื่อถือ โดยบอกว่า การจัดลำดับความน่าเชื่อถือนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับโครงการรับจำนำข้าว และหากดูถึงการวิเคราะห์การจัดอันดับเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จะเห็นปัจจัยบวกหลายประการที่ส่งผลให้ไทยยังอยู่ในลำดับ Baa1 อยู่เป็นปกติ และยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง โดย มูดี้ส์ ได้กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์




ข่าวจำนำข้าว ไปไกลเกินกว่าจะกู่กลับมามองข้อเท็จจริงกันแล้ว
แต่การแถลงข่าวของ มูดี้ส์ กับสำนักข่าวรอยเตอร์ ไม่มีประโยชน์อันใดกับสื่อมวลชนไทยแล้ว เพราะทุกคนกำลังสนุกสนานกับข่าวที่ "ไปไกลเกินกว่าข้อเท็จจริง" และแม้ "มูดี้ส์" จะพูดชี้แจงความจริงอย่างไร  สื่อไทยก็ไม่สนใจจะรับฟัง เพราะแม้มูดี้ส์ จะพูดแถลงข้อเท็จจริงออกมา "เนชั่น" ก็ยังพาดหัวข่าวว่าการจัดอันดับประเทศไทยดิ่งเหวเหมือนเดิม

บทเรียนนี้ สำหรับสื่อมวลชน และคนไทยทุกคน ที่ควรรู้ทันกลยุทธ์การเต้าข่าวของสำนักข่าวประเทศไทยว่าเขาใช้วิธีอย่างไร!

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไม่เอาเลือกตั้ง! แล้วจะเอาระบอบอะไร ?


จาก โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 9 (14) ฉบับที่ 415 วันที่ 8-14 มิถุนายน พ.. 2556



ประกาศขณะนี้ทางเพจ V For Thailand ต้องการสมาชิกเพิ่มอีกจำนวนมากเพื่อที่จะสามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ขอให้ทุกท่านเชิญชวนเพื่อนๆเข้ามากด Like และ Shareข้อความนี้ออกไปให้ได้เยอะที่สุด

ข้อความในเพจ V For Thailand ที่สร้างกระแสหน้ากากขาวโดยใช้สัญลักษณ์ กายฟอคส์” (GuyFawkes) ในโซเชียลมีเดีย ระบุว่า ตอนนี้หลังจากเราเปิดตัวออกไปแล้ว เพจเราเป็นเป้าโจมตีทันที แต่เพื่อความพร้อมที่เราจะยืนหยัดสู้ต่ออำนาจมืด และเพื่อไม่ให้เพจถูกปิด เราจะต้องอาศัยแรงของนักรบหน้ากากขาวทุกท่าน ช่วยกระจายข้อความและคำประกาศนี้ออกไปให้ได้เยอะที่สุด
 

เป้าหมายของแอดมิน V For Thailand คือต้องการให้มีการจัดกิจกรรมรวมพลในแต่ละจัง

หวัดให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด หลังจากจัดกิจกรรม ยุทธการประกาศศักดารวมพลใหญ่คนหน้ากากครั้งแรกที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยแอดมิน V For Thailand ผู้จัดกิจกรรมกล่าวก่อนเริ่มกิจกรรมว่า
 

วันนี้ผมและคุณจะออกไปเป็นประกายไฟ

แรกที่ลามลุกให้เกิดแสงสว่างแห่งความถูกต้องความดีงาม และความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ขอให้ออกมา ออกมา และก็ออกมา ออกมากู่ก้องให้โลกได้รับรู้ว่าประเทศไทยของเราได้ถูกครอบงำโดยอำนาจจากการเลือกตั้ง และอำนาจนี้กำลังอาศัยคำว่าประชาธิปไตย

บังหน้า ทำการทรยศประชาชนคนไทยทั้งประเทศ กอบโกยแสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋า

ของนักเลือกตั้งและพวกพ้องเพียงกลุ่มเดียว ถึงเวลาแล้วที่ภารกิจของวี (we) จะต้องกวาดล้างปลิงเหล่านี้ออกจากประเทศไทย


จุดกระแสให้ติด

กลุ่มหน้ากากขาวจะถูกมองว่าเป็นตลกร้ายหรือแค่การจัดกิจกรรม รวมพลคนหน้ากากไม่ว่าที่กรุงเทพฯ รวมถึงในจังหวัดต่างๆที่ระบุว่ามีผู้สนใจทยอยเข้าไปกดไลค์ร่วมกิจกรรมครบทุกจังหวัดนั้น อย่างน้อยก็มีผลทางจิตวิทยาให้กลุ่มหน้ากากขาวมีความคึกคักแม้แต่ละจังหวัดจะมีไม่กี่คนก็ตาม
 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า กลุ่มหน้ากากขาวได้นัดรวมพลกันอีกครั้งในวันที่ 9 มิถุนายนที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านระบอบทักษิณ ระบอบเผด็จการรัฐสภาและคอร์รัปชัน แต่อีกด้านหนึ่งก็เชื่อว่าเป็นการตรวจสอบว่าหลังจากการเคลื่อนไหวจะมีมวลชนมาเข้าร่วมมากน้อยแค่ไหน เช่นเดียวกับการประกาศจัดกิจกรรมในต่างจังหวัดที่ต้องการสร้างภาพมากกว่าจำนวนคนที่เข้าร่วม


ขณะที่ ผู้จัดการออนไลน์ได้พยายามสร้างกระแสให้กลุ่มหน้ากากขาวได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพาดหัวข่าวหรือเขียนบทความ เพื่อไม่ให้กระแสหน้ากากขาวหายไป รวมถึงชักชวนให้ซื้อสติ๊กเกอร์กาย ฟอคส์ที่ ASTV Shop บ้านเจ้าพระยาที่เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม แม้แต่ซื้อ “ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ยังมีสติ๊กเกอร์แถมในเล่ม โดยลงข้อความให้ร่วมกันขยายเครือข่ายปฏิบัติการหน้ากาก V” จากโลกไซเบอร์สู่ท้องถนนและทุกซอกมุมในสังคมด้วยการติดสติ๊กเกอร์หน้ากาก V เพื่อเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐบาลเผด็จการภายใต้ระบอบทักษิณซึ่งเดินหน้าทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องโดยไม่ฟังเสียงประชาชน
 

เกมคนหน้าเดิม

ขณะที่ ...เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกลุ่มหน้ากากขาวว่า เป็นกลุ่มเสื้อเหลืองที่แปลงร่าง เพราะนำรูปที่ตำรวจสันติบาลถ่ายไว้ตั้งแต่มีการชุมนุมประท้วงมาเปรียบเทียบดูแล้ว ส่วนแกนนำสำคัญที่อยู่เบื้องหลังยังไม่รู้ ยังไม่โผล่หน้าออกมา เพราะยังไม่มั่นใจในพลัง จึงส่งพวกปลาซิวปลาสร้อยมาก่อน ทั้งถากถางถึงพวกไทยสปริงว่าเป็นคนหน้าเดิมที่ไม่มีงานทำ ป่วนบ้านป่วนเมือง เมื่อตัวละครไม่เปลี่ยน ใครจะเอาด้วย

 

ฝากถามว่าที่ออกมาเคลื่อนไหวจะเอาใครเป็นนายกฯ หรือจะเอาอภิสิทธิ์มาอย่างเก่าก็ไม่มีใครเอาด้วยแล้ว ไอ้ชุดนี้เป็นมะพร้าวไม่มีกะทิ คั้นมาแกงไม่ได้ ผมห่วง ไม่ได้ขู่นะไอ้พวกที่มีศัตรูเยอะแล้วออกมาเปิดประเด็นสร้างศัตรูเพิ่ม วันหนึ่งถ้ามีปัญหาอะไรอย่ามาโทษรัฐบาล


...เฉลิมยังกล่าวว่า ไม่ได้ดูถูกพวกไทยสปริงหรือหน้ากากขาว แต่รัฐบาลนี้มาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย จะมาทำเป็นอีแอบ หากรัฐบาลเอาจริงไปดำเนินคดีก็หาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนที่อ้างว่ารัฐบาลมีจุดตายหลายเรื่องนั้น ทำไมไม่ไปบอกนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน เพื่อจะได้นำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งย้ำว่าถ้ารัฐบาลไม่ทุจริต รัฐบาลอยู่ยาวแน่ กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเหมือนลมพัดยอดหญ้า ไม่กระทบเสถียรภาพรัฐบาล

 
แต่นายก่อแก้ว พิกุลทอง ..บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)กลับมองว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มหน้ากากขาวเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องความสนใจ จุดประสงค์เพื่อล้มรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับหลายๆกลุ่มที่มีการชุมนุมและจัดสัมมนาขณะนี้ แต่ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรมาก และไม่เห็นด้วยที่มีกลุ่มเสื้อแดงบางส่วนสวมหน้ากากแดงชุมนุมคู่ขนานกับกลุ่มหน้ากากขาว เพราะที่ผ่านมาคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยไม่มีปิดบังอำพราง จึงไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก ซึ่งอาจยิ่งกระตุ้นความสนใจให้กับกลุ่มหน้ากากขาว

 

รวมพลคนเกลียดทักษิณ

ที่น่าสนใจคือคำถามที่ว่า ทำไมกลุ่มเกลียดทักษิณและต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงออกมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นลูกโซ่ขณะนี้ ซึ่งสอดคล้องกับพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม ส..ลากตั้งที่พุ่งเป้าโจมตีร่าง พ...นิรโทษกรรมและร่าง พ...ปรองดองแห่งชาติว่าต้องการช่วยคนคนเดียวคือ พ...ทักษิณ ชินวัตร และพยายามโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และมีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนเลยก็ตาม
 

เมื่อผนวกกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มหน้ากากขาว ไทยสปริง กลุ่มนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดินและเครือข่ายภาคประชาชนไทย ที่ปักหลักชุมนุมที่ท้องสนามหลวงต่อต้านรัฐบาลขณะนี้รวมทั้งการประสานกับ พล...ชัย สุวรรณภาพ และพล...วัชระ ฤทธาคนี จากองค์การพิทักษ์สยาม พล..สมเจตน์ บุญถนอม..สรรหา อดีตหัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)พล...บรรณวิทย์  เก่งเรียน หนึ่งในสมาชิกและผู้ก่อตั้งสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ฯลฯ

 
แม้จะเป็นคนหน้าเดิม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสื้อเหลืองหรือสลิ่ม แต่ไม่ใช่พวกปลาซิวปลาสร้อยอย่างที่ ร...เฉลิม สบประมาท แม้ขณะนี้ดูเหมือนมวลชนจะหนีหายไป แต่เบื้องหลังของทุกกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวมีกำลังทรัพย์และอำนาจทั้งในระบบและนอกระบบจาก มือที่มองเห็นและ มือที่มองไม่เห็นพร้อมจะโค่นล้มรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยตลอดเวลาเพียงแค่ทำให้ประชาชนเริ่มไม่เชื่อและไม่พอใจรัฐบาล ไม่ว่าจะกดดันให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร หรือใช้กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ที่ยังเป็นคนหน้าเดิมๆ

 
เช่นกันโดยเฉพาะการเดินเกมคู่ขนานระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่ม 40 .. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการกระทำของ นายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และ ส..-.. 312 คน ที่ร่วมสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 237ถือเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้ยุบพรรคการเมือง 6 พรรคคือพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน พรรคประชาธิปไตยใหม่และพรรคชาติพัฒนา ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ ส.. และ ส.. ดังกล่าวสังกัดอยู่
 

จึงเห็นชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวทุกองคาพยพจากทุกกลุ่มทุกสีที่เกลียดทักษิณและต้องการล้มล้างระบอบทักษิณนั้น จำเป็นต้องประสานกันไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ หรือไม่เป็นเอกภาพอย่างในอดีตก่อนมีการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะเห็นว่ายิ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่นานก็ยิ่งมีผลงาน มีความมั่นคงและแข็งแกร่ง ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่ พ...ทักษิณจะกลับประเทศก็มีมากขึ้นด้วย

 

การเมืองไทยเหมือนวิ่งเข้าซอยตัน

เพราะกลุ่มล้มล้างระบอบทักษิณ

ไม่เอาทั้งการเลือกตั้งและ

ไม่เอาประชาธิปไตย

แล้วจะเอาระบอบอะไร? เพื่ออะไร?

เพื่อผลประโยชน์ของใคร?

ใครยุบก่อน-ใครไปก่อน

 

แม้แต่องค์กรอิสระที่เป็นหนึ่งในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวด้วย เพราะพรรคเพื่อไทยได้แสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องแก้ไขทั้งที่มาและอำนาจขององค์กรอิสระใหม่ทั้งหมดโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่เพียงถูกตั้งคำถามเรื่องสองมาตรฐานมาโดยตลอด ฝ่ายการเมืองยังมีการตรวจสอบคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อย่างกรณีของนายชัช  ชลวร ว่ายังคงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่ หลังจากมีการประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งข้อสังเกตในบทบรรณาธิการเว็บไซต์กฎหมายมหาชนหัวข้อ การสลับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ(วันจันทร์ที่ 3 ถึงวันอาทิตย์ที่16 มิถุนายน 2556) ตอนหนึ่งว่า

 
หลังจากวันที่คุณชัช ชลวร พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการแล้ว ไม่มีที่ใด ทั้งในรัฐธรรมนูญหรือในประกาศพระบรมราชโองการที่บอกว่าคุณชัชชลวร ยังคงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ คงมีเพียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยกันเองที่เห็นว่าคุณชัช ชลวร ยังคงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ และยินยอมทำงานร่วมกับคุณชัช ชลวร อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ตั้งข้อสงสัยถึงสถานะของคุณชัช ชลวร แต่อย่างใด

นายนันทวัฒน์ยังสรุปว่า ไม่ทราบว่ามีมาตราใดในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจและหน้าที่ในการเขียนบทบัญญัติเพิ่มเติมไว้ในรัฐธรรมนูญได้ ดูๆแล้วเรื่องของนายชัช ชลวร มีลักษณะคล้ายกับเรื่องมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เข้าไปเขียนบทบัญญัติเพิ่มอำนาจให้ตนเองขึ้นมาใหม่นั่นเอง

 ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพการเป็น ส.. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (6) หรือไม่ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งปลด ร..อภิสิทธิ์ออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุน

 
ซอยตันการเมือง

การเมืองวันนี้ไม่ใช่แค่การต่อสู้กันในสภาแต่ยังใช้การเมืองนอกสภามาเคลื่อนไหวกดดันรวมถึงการดึงองค์กรอิสระที่มีอำนาจมากมายมาเป็นเครื่องมือ เพราะแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยก็ยังทำไม่ได้ แตะไม่ได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจนวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตรา

 
แม้แต่รัฐบาลจะเสนอร่าง พ...ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ ก็ถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เช่นเดียวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ก็หนีไม่พ้นถูกยื่นให้องค์กรอิสระตรวจสอบเช่นกัน
 

สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ไม่ว่าการเคลื่อนไหวในสภาและนอกสภาจึงมีเป้าหมายเดียวกันคือ ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและล้มล้างระบอบทักษิณ ไม่ว่ากลุ่มหน้ากากขาวเสื้อเหลือง สลิ่มหลากสี และไทยปริง ก็ประกาศชัดเจนว่า ต้องล้มล้างระบอบทักษิณให้สิ้นซาก


การเมืองไทยวันนี้จึงวิกฤตทั้งรัฐธรรมนูญและกระบวนการยุติธรรม เพราะกลุ่มเกลียดทักษิณและต้องการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งระบุชัดเจนว่าการเลือกตั้งไม่ใช่จุดหมายของประชาธิปไตย

อย่างที่แกนนำพันธมิตรฯเสนอรูปแบบ การเมืองใหม่โดยลดบทบาทและความสำคัญของนักการเมืองที่ถือเป็น นักเลือกตั้ง ให้เหลือเพียง 30% ของจำนวนผู้แทนฯทั้งหมดในสภา ที่เหลือให้มาจากการสรรหา โดยเพิ่มสัดส่วนหรือจำนวนผู้แทนฯจากภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน เหมือนข้อเสนอ แช่แข็งประเทศไทยของ พล..บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม


การเมืองไทยจึงเหมือนวิ่งเข้าซอยตันเพราะกลุ่มที่ประกาศล้มล้างระบอบทักษิณและล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่อ้างสถาบันและผูกขาดความรักชาตินั้น ไม่เอาทั้งการเลือกตั้งและไม่เอประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศ

 
จึงต้องถามว่า แล้วจะเอาระบอบอะไร ? เพื่ออะไร? เพื่อผลประโยชน์ของใคร?