จาก นิตยสาร Red Power ปักแรก พฤศจิกายน 2554 ฉบับที่ 21
คำว่าสื่อ ถ้าเป็นสื่อภาคประชาชนแล้วในอดีตมักหมายถึงหนังสือพิมพ์ ส่วนวิทยุ โทรทัศน์ มักจะอยู่ในกำกับการดูแลควบคุมของรัฐ มาสมัยปัจจุบันสื่อออนไลน์ (อินเตอร์เนต) กลับมีความสำคัญและให้ข้อมูลที่รวดเร็วฉับไวกว่าหนังสือพิมพ์และวิทยุ หรือโทรทัศน์ไปแล้ว
สื่อเก่าๆกำลังจะกลายเป็นสื่อล้าหลังไปในทันทีถ้าไม่พยายามปรับคุณภาพให้ก้าวทันโลก และสังคมยุคใหม่ เพราะเดี๋ยวนี้ประชาชนไม่จำเป็นต้องรอรับฟังข่าวจากสื่อกระแสหลัก แต่คนทุกคนสามารถผันตัวเองไปเป็นนักข่าวได้ทันทีถ้าต้องการนำเสนอหรือรายงานเหตุการณ์บางอย่างที่เขาคิดว่าน่าสนใจ แค่มีกล้อง มีเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือมีโทรศัพท์ไร้สายที่ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอสั้นๆและส่งข้อมูลออนไลน์ได้
ไม่น่าเชื่อว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปจริงๆ แค่มือถือเครื่องเดียวพวกเขาก็สามารถรายงานข่าวผ่านแอปพลิเคชั่นใหม่ๆที่หลากหลายได้อย่างรวดเร็ว อาจจะเป็นการรายงานผ่านสื่อยูทูป ทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค การเขียนบล็อก หรือฟอร์เวิร์ดเมล์
เหตุที่ประชาชนต้องลุกขึ้นมารายงานข่าว สื่อสารแลกเปลี่ยนข่าวกันเอง เพราะอะไร? ความทันสมัยของเทคโนโลยีที่สามารถทำให้ทุกคนทำงานข่าวได้ง่ายขึ้นนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่ง แต่เหตุสำคัญเป็นเพราะประชาชนกำลังตั้งคำถามกับสื่อมวลชนกระแสหลักอยู่ใช่หรือไม่? เพราะสื่อกระแสหลักไม่สามารถทำงานได้ชัดเจน ตรงใจ ตรงกับความต้องการหรือความอยากรู้อยากเห็นของประชาชน สื่อกระแสหลักไม่สามารถรายงานข่าวบางข่าวได้ชัดเจน ครบถ้วน รอบด้าน ตรงไปตรงมา นักข่าวประชาชนจึงต้องออกมาทำหน้าที่นี้ด้วยตัวเอง
และเมื่อมีการนำเสนอข่าวออกมา ข่าวจากนักข่าวประชาชนให้ความรู้สึกกันเอง ใกล้ชิดกับเหตุการณ์และแหล่งข่าวได้มากกว่าสื่อตัวจริง ดูสด ใหม่ น่าสนใจ ถึงแม้จะดูดิบๆแต่น่าตื่นเต้นกว่าข่าวจากสำนักข่าว ไม่มีการเสกสรรปั้นแต่งถ้อยคำ ไม่มีการขัดเกลา ตัดทอนจากบรรณาธิการ โดยเฉพาะข่าวที่ไม่สามารถนำเสนอได้ในสื่อกระแสหลัก จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้น จึงทำให้นักข่าวประชาชนมีที่ยืนชัดเจนและมีแนวโน้มว่าจะเข้ามารุกล้ำตำแหน่งแห่งที่ของนักข่าวตัวจริงได้แน่นอนในอนาคตอันใกล้ ถ้าสื่อมวลชนในกระแสหลักยังไม่มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวเอง
การปฏิรูปสื่อพูดกันมาหลายปีดีดัก แต่ยังไม่พัฒนาไปถึงไหน เราตั้งคำถามกันน้อยเกินไปหรือเปล่า? เราไม่มีวัฒนธรรมในการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบใช่หรือไม่? เราไม่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างตรงไปตรงมาใช่ไหม? เพราะทัศนคติแบบเก่าๆที่กลัวเกรงผู้มีอำนาจ กลัวผู้ใหญ่ในบ้านเมือง กลัวคนที่เขาว่ากันว่าดี สื่อในสำนักข่าวใหญ่ๆจึงไม่กล้าวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ทำให้สื่อในกระแสหลักกำลังจะตกยุค
ยิ่งสื่อในกระแสหลักทำตัวไม่เป็นกลางซ้ำเข้าไปอีก ยิ่งมีแนวโน้มว่าตกยุคแน่นอน เพราะ ผู้ที่ประกอบอาชีพสื่อมวลชนจะมีทัศนคติอย่างไรนั้นควรเก็บความคิดนั้นไว้ที่บ้าน ไม่ควรเผลอไผลพูดออกมาเวลารายงานข่าว เพราะสื่อในที่สาธารณะ ควรเป็นพื้นที่ของความเป็นกลาง นำเสนอข้อเท็จจริงที่หลากหลาย ทัศนคติของทุกด้านแห่งความขัดแย้งโดยปราศจากอคติ มีแต่ความจริงเท่านั้นที่จะทำให้ผู้รับสารได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อมูลนั้นซึ่งถือเป็นจรรยาบรรณของสื่อที่พึงเข้มงวดในการปฏิบัติ
สำหรับสื่อภาคประชาชนนั้น แม้จะสามารถรายงานข่าวได้รวดเร็ว และมีมากมายหลากหลายมุมมอง นับว่าเป็นข้อดี แต่ข้อเสียก็มีว่า ผู้ที่รายงานไม่มีสถานะชัดเจนที่ต้องรับผิดชอบข่าวสารใดๆที่ตัวเองรายงาน บางทีใช้ชื่อปลอมหรือเป็นบุคคลนิรนาม บางครั้งข้อมูลที่เสนออาจไม่ตรงกับความจริงก็เป็นได้ ซึ่งต่างกับสื่อกระแสหลักที่มีบรรณาธิการข่าวรับผิดชอบโดยตรง
อย่างไรก็ดีการพัฒนาของสังคมในช่วงนี้นับว่าเป็นช่วงสำคัญที่เรียกว่า การผ่านจากปริมาณไปสู่คุณภาพ คือเป็นธรรมดาของพัฒนาการตามธรรมชาติที่ต้องผ่านจากการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณก่อนจึงค่อยก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ เช่นน้ำในอุณหภูมิห้องปกติ เมื่อมีความร้อนเพิ่มปริมาณสูงขึ้น สูงขึ้น จนถึงจุด 100 องศาเซลเซียส น้ำจะเปลี่ยนคุณภาพเป็นน้ำเดือด หรือเมื่ออุณหภูมิลดลง ลดลงจนต่ำกว่าจุดเยือกแข็งหรือ 0 องศาเซลเซียส น้ำธรรมดาที่มีสถานะเป็นของเหลวจะเปลี่ยนคุณภาพเป็นน้ำแข็งทันที
หรืออย่างนิทานพื้นบ้านที่เล่าสืบต่อกันมาว่ามีครอบครัวหนึ่งลูกๆชอบทะเลาะกัน พ่อจึงให้ลูกแต่ละคนไปหาแขนงไม้ไผ่มาคนละอัน แล้วเอามามัดรวมกันพ่อส่งให้ลูกแต่ละคนลองหักด้วยมือเปล่า ไม่มีใครหักได้สักคน แต่พอเอาออกมาหักทีละอันกลับหักได้ง่ายดาย การเพิ่มแขนงไม้ไผ่จาก 1 อัน เป็น 2 อัน เป็น 3 อันหรือจนเป็นกำใหญ่ คือการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพด้วย คือพอยิ่งมีจำนวนมากทำให้ไม้ไผ่เกิดคุณภาพใหม่คือมีความแข็งแรงมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมแต่ละยุคสมัย ก็เป็นดังนี้ไม่แตกต่างกัน เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณเพิ่มจำนวนมากขึ้นๆจนถึงจุดหนึ่งที่เหมาะสม เมื่อนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติและเกิดคุณภาพใหม่ขึ้นเองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเพราะเป็นกลไกของธรรมชาติ แต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อที่จะเกิดคุณภาพใหม่นั้นจะเกิดขึ้นแบบรวดเร็ว ฉับพลัน หรือค่อยเป็นค่อยไป ก็ขึ้นอยู่กับคนในสังคมนั้นๆ ถ้าคนในสังคมมีความเข้าใจหลักการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาตินี้ คอยเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงและร่วมมือกันอย่างเป็นระบบมีกระบวนการที่สอดคล้องกับพัฒนาการตามธรรมชาติที่ต้องเป็นไป การเปลี่ยนแปลงของสังคมเพื่อนำไปสู่คุณภาพใหม่นั้นก็จะเป็นไปโดยราบรื่น
เช่นในอดีตประเทศฝรั่งเศสอยู่ในสภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยากเพิ่มปริมาณสูงขึ้นทุกที แต่คนชั้นสูงยังไม่ปรับตัว กลับใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยจากการอาบเหงื่อต่างน้ำของประชาชนผ่านกฎหมายที่เรียกว่า เงินภาษี ในที่สุดเมื่อประชาชนทนไม่ไหวจึงเกิดการปฏิวัติล้มล้างกษัตริย์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับพระนางมารีอองตัวเนต
ต่างกับประเทศญี่ปุ่นที่ในสมัยการล่าอาณานิคมของประเทศทางแถบตะวันตก กำลังขยายตัวเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศแถบเอเชีย พร้อมกับการอุตสาหกรรมและการค้าในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เริ่มเจริญเติบโตขึ้น ญี่ปุ่นยุคนั้นยังเป็นประเทศด้อยพัฒนาไม่มีปริมาณกำลังรบที่มากพอจะต่อกรกับชาวตะวันตกได้และยังไม่ได้เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในอันดับต้นๆเช่นในปัจจุบัน
จักรพรรดิเมจิผู้นำญี่ปุ่นได้มองเห็นการณ์ไกลว่าหนทางเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตรายจากลัทธิล่าเมืองขึ้นนี้คือต้องเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ โดยหันมาปกครองประเทศตามแบบตะวันตก คือระบอบประชาธิปไตยโดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นระบุไว้ว่า องค์จักรพรรดิไม่มีพระราชอำนาจในการบริหารประเทศ เป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของชนในรัฐ
เพราะความฉลาด รู้เท่าทันโลกของจักรพรรดิเมจิทำให้ญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพใหม่โดยราบรื่น ไม่ต้องเกิดการจลาจล นองเลือด
ในประเทศไทยประชาชนตื่นแล้ว แต่ถ้าสื่อยังไม่ “ตื่น” คือยังไม่ปรับตัวพัฒนาตนให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ที่การบิดเบือน ปิดบัง กลบข้อมูลข่าวสารทำได้ยากแล้ว อีกหน่อยเมื่อสื่อภาคประชาชนเพิ่มปริมาณมากขึ้นๆ จนเพียงพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพใหม่ ณ ตอนนั้น สื่อที่ยังคงมีทัศนคติล้าหลังคงไม่มีที่ทางให้ยืนอีกต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น