บทสัมภาษณ์
เรื่องจากปก RED POWER ฉบับที่ 19 ปักแรก กันยายน 2554
ก่อนข่าวการโยกย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปนั่งเป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเปิดทางให้แก่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ทำไมข่าวต้องมาโฟกัสที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นเพียงเพราะเป็นญาติห่างๆของนายกฯยิ่งลักษณ์ กระนั้นหรือ ? และทำไมจึงเกิดความปั่นป่วนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาล ? สำนักงานตำรวจแห่งชาติพึ่งปั่นป่วน หรือปั่นป่วนมาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ? ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หลายคำถาม หลายสาเหตุ Red Power มีคำตอบจากบทสัมภาษณ์เจาะลึกไปที่ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรอง ผบ.ตร. และในฐานะคณะกรรมการตำรวจ (ก.ต.ร.) สายเลือกตั้งแล้วจะรู้ว่าทำไม พล.ต.อ.วิเชียร ต้องพ้นจากตำแหน่ง แล้วความเป็นธรรมจะกลับคืนสู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อย่างไร ?
ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความยินดีที่ท่านได้เป็นกรรมการสำนักงานตำรวจจากสายเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดในประวัติศาสตร์
ผมเป็นครู ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นตำรวจมาก คะแนนก็เลยมาก
ผมคิดว่าที่ท่านได้คะแนนสูงไม่ได้เกิดจากว่าเป็นเรื่องครู อาจารย์อย่างเดียว แต่เป็นบทบาทของท่านที่ตรงไปตรงมา
บ้านเมืองน่าห่วงใยตรงที่ว่าเมืองไทยมักจะฟังความด้านเดียว เชื่อและชอบอะไรแล้วก็จะเอนเอียงไปทางนั้นเลยแล้วก็จะปลูกต้นชังขึ้นมากับอีกฝ่ายหนึ่งที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกัน แทนที่จะใช้วิจารณญาณอย่างมีเหตุมีผลในหลักพุทธศาสนา ต้องไตร่ตรองสิ่งที่ได้เห็นได้ฟัง การเชื่อต้องใช้ปัญญาไตร่ตรอง เมื่อคนไทยเป็นอย่างนี้แล้วก็ทำให้ความเป็นฝักฝ่าย ใครที่รู้ธรรมชาติคนไทยก็สามารถไปดึงเหนี่ยวรั้งให้เป็นฝักฝ่ายได้ ผมเป็นคนตรงไปตรงมาไม่เอนเอียงไปตามกระแสที่ไม่ถูกต้อง แต่เป็นไปได้ที่ตำรวจเขาอยากให้ผมเป็นปากเป็นเสียงให้
จากสิ่งที่ท่านอชิรวิทย์ เป็น ผมว่าตำรวจต้องฝากความหวังจึงลงคะแนนให้ ดังนั้นจากการที่เขาฝากความหวังไว้ให้ท่านและในเวลา 2 ปี ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกิดปัญญาหามากที่สุด ในรัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ ท่านจะอธิบายอย่างไร?
2 ปี เป็นความขมขื่นที่สุดต่อคนที่รักและศรัทธากับองค์กร คนที่หวงแหน และมีความรู้สึก มีส่วนร่วมกับองค์กรจะรู้สึกเลยว่าองค์กรตำรวจนี้ผู้มีอำนาจบางกลุ่มเขาจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมองค์กร ไม่คำนึงถึงว่าตัวบทกฎหมายว่าอย่างไร เพราะฉะนั้นใน 2 ปีที่ผ่านมาระบบการทำงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำไปเพื่อสนองเจตนารมย์ของรัฐบาลมากกว่าที่จะสนองรับใช้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นายกอภิสิทธิ์ปล่อยให้ตำแหน่ง ผบตร. ทิ้งร้างเป็นปี ต้องบอกว่าเรื่องทั้งหลายทั้งปวงมีจุดเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับรัฐบาลของท่านนายกสมชายซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าฝ่ายพันธมิตรฯ ในขณะนั้น วันนี้ความจริงมันเปิดออกมาแล้วว่าใครที่สนับสนุน จุนเจือ ค้ำจุนฝ่ายพันธมิตรฯ มาโดยตลอดแล้วก็มาแตกกันตอนหลัง เพราะฉะนั้นประเด็นปัญหามันอยู่ที่ว่าตำรวจถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐตำรวจอยู่ในฝ่ายอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นตำรวจ คือความจริง ผมพูดหลายครั้งแล้วว่าตำรวจนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นกลไกของรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย ใครกุมอำนาจรัฐคนนั้นก็ต้องกุมตำรวจ ตำรวจนั้นมีวินัยสั่งให้ทำอะไรก็ทำเพราะมีกรอบของวินัยบีบบังคับอยู่ ประกอบกับกฎหมายตำรวจให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดเพราะเมื่อแก้ไขกฎหมายตำรวจจากฉบับดั้งเดิมที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีกฎหมายใหม่ปี 47 เมื่อแก้กฎหมายก็ไปขึ้นตรงกับนายยกรัฐมนตรี ๆ จึงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจและยังเป็นประธาน กรรมการ คณะกรรมการนโยบายตำรวจซึ่งเป็นบอร์ดสูงสุด และเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจอีกส่วนหนึ่งอีกด้วย เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรีจึงสวมหมวกทุกใบ และที่สำคัญที่สุดในกฎหมายฉบับใหม่คนที่จะแต่งตั้งเสนอแต่งตั้ง ผบตร.คือนายกรัฐมนตรีต้องเสนอเข้าบอร์ด กตช.แล้วไปเสนอใครก็ได้ ที่กฎหมายฉบับใหม่เปิดกว้างที่เป็น พล.ต.อ.ไปเป็น ผบ.
ซึ่งขณะนั้นในยุคอภิสิทธิ์มีสักกี่คนที่เข้าคิวที่จะเสนอเป็น ผบ.ตร. ได้?
ในขณะนั้นมีประมาณ 5-6 คน แต่ตอนหลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนวันนี้มีเกือบๆ 10 คน
แต่ ณ เวลานั้นคนที่ถูกจับตาคนหนึ่งชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ใช่ไหม?
ตอนนั้นคุณเพรียวพันธ์ตกคิว หมายความว่าอยู่ในคิวแล้วถูกดึงออกไปนอกวงการ ด้วยประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยถูกเตะโด่งไปประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมกับคุณชลอ ชูวงศ์ เมื่อมีการเปลี่ยนตัวท่านโกวิท ผู้อาวุโสที่สุดที่จะขึ้นเป็น ผบ.ตร.คือ ท่านเพรียวพันธ์ แต่เมื่อถูกเตะโด่งออกไปท่านเสรี พิสุทธิ์ จึงถูกรัฐบาลคุณสุรยุทธ์ ตั้งคุณเสรี พิสุทธิ์ ขึ้นมารักษาการอยู่ได้ 6 เดือนและเป็นตัวจริงอีก 6 เดือน ก็เปลี่ยนแปลงรัฐบาลมีการเลือกตั้ง คมช.ออกไประหว่างนั้นคุณเพรียวพันธ์ก็สู้คดีฟ้องศาลปกครองจนกระทั่งเมื่อคุณเสรีถูกนำตัวออกไปแล้วเช่นเดียวกัน ก็ตั้งคุณพัชรวาทขึ้นมา คุณเพรียวพันธ์ถึงกลับมาสำนักงานตำรวจได้ คุณพัชรวาทคือน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คุณพัชรวาทมาบริหารงานเมื่อปี 2551 ก็เกิดวิกฤติของพันธมิตรก็โดนพรรคประชาธิปัตย์โดยท่านนายกฯอภิสิทธิ์ในขณะนั้นรวบรวมเรื่องราวในการสลายการชุมนุมของคุณพัชรวาทไปร้องต่อ ปปช. เมื่อปปช.ชี้มูลความผิดคุณพัชรวาทและคณะ จึงเปิดช่องให้คุณอภิสิทธิ์สั่งให้คุณพัชรวาทออกจากราชการไปก่อน ข้อหาตาม มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ทำให้ประชาชนต้องมีการบาดเจ็บและล้มตายไป คน 2 คน กรณีพันธมิตร แต่ก่อนที่คุณพัชรวาทจะพักราชการ รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้แสดงออกถึงความไม่มีหลักเกณฑ์ เช่น บางครั้งบางคราวก็ออกคำสั่งให้เอาคุณพัชรวาทไปราชการที่ 3 จังหวัดภาคใต้แล้วตั้งคุณวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รักษาราชการแทนเพื่อทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจใหม่แทนคุณพัชรวาท หลังจากนั้นก็ได้รับการทักท้วงก็เปลี่ยนตัวเป็นคุณธานี พอคุณพัชรวาทถูกออกแล้วก็เอาคุณประทีปมารักษาการแทนอีก เรื่องคุณพัชรวาทก็จบเกมส์ๆ ก็จะต้องหาตัวจริงให้ได้ นายกฯอภิสิทธิ์ท่านก็ผัดผ่อนเรื่อยมา คำให้สัมภาษณ์ของท่านที่คลาสสิกที่สุดเป็นถ้อยคำที่ฟังดูแล้วเข้าท่ามากคือการให้สัมภาษณ์ที่ประเทศอังกฤษว่าโลกไม่ได้หมุนรอบเก้าอี้ ผบ.ตร.เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2552 กลับไปจะตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ตุลาคม แต่ปรากฏว่า กตช. (คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ)ไม่เห็นด้วยกับรายชื่อที่คุณอภิสิทธิ์เสนอถึง 2 ครั้งโดยที่ประชุม กตช. คัดค้านเพราะว่ามีกระแสหนึ่งอยากให้คุณจุมพล มั่นหมาย เป็น ผบ.ตร. แต่คุณอภิสิทธิ์ก็ไม่ยอม มีการเปลี่ยนตัว กตช. ในที่สุดก็ให้ พล.ต.อ.ประทีป ว่าราชการเรื่อยมาในฐานะผู้รักษาราชการ ซึ่งการกระทำของท่านนายกฯอภิสิทธิ์มันผิดตัวบทกฎหมายตามมาตรา 157 เพราะระบบราชการให้ตั้งข้าราชการมีเงื่อนมีเวลาต้องมีการทดแทนกำลังพลก็ไม่ทำก็ปล่อยตำแหน่งว่าง และนอกจากนั้นในยุคท่านนายกอภิสิทธิ์การแต่งตั้งล่าช้าทำให้ข้าราชการตำรวจเสียสิทธิ์ไปมากมายๆ คือ 1.สิทธิเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 2.สิทธิในการได้เงินค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง
ตอนที่พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย และ พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ กำลังแข่งขันกันเข้าวินก็มีข่าวลือว่าคุณอภิสิทธิ์ก็ไม่มีอำนาจจริงๆที่จะตั้งใคร มีอำนาจลึกลับสั่งให้เอาคุณจุมพล อีกคนสั่งให้เอาคุณประทีป ใช่ไหม ?
ข่าวที่ว่าผมก็ได้ยิน แต่เมื่อได้ยินก็เป็นข่าวที่เขาเล่าว่าจะไปชี้ชัดว่าเท็จอย่างไร จริงอย่างไรนั้นไม่ได้ เป็นข่าวที่เป็นหลายกระแสเพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้แล้วคนที่น่าจะรู้ดีที่สุดคือคุณอภิสิทธิ์
ถ้าอย่างนั้นพอจะบอกได้หรือไม่ในฐานะที่ท่านอยู่ในวงการตำรวจ ว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้คุณอภิสิทธิ์ไม่กล้าแต่งตั้งคุณประทีป ให้เป็น ผบ.ตร.ตัวจริงแต่ให้แค่เป็นผู้รักษาการ กลายเป็นคนแรกที่รักษาการยาวนานที่สุดในตำแหน่ง ผบ.ตร. อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณอภิสิทธิ์เลือกที่จะใช้วิธีการรักษาราชการ?
ผมว่าคุณอภสิทธิ์ทั้งชีวิตท่านไม่เคยเป็นนักบริหารและผู้บังคับบัญชา เมื่อท่านจบการศึกษาแล้วท่านก็มาเป็น สส. ตำแหน่งที่ท่านเคยเป็นก่อนมาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกซึ่งท่านปฏิบัติงานตามคำสั่งของท่านนายกฯชวน หลีกภัย เมื่อถึงจุดๆหนึ่งซึ่งภาษาบริหารที่นักบริหารควรจะต้องทำคือการตัดสินใจ ผมว่าคุณอภิสิทธิ์ไม่มี เมื่อไม่มี ก็ไม่กล้าตัดสินใจ กล้าๆกลัวๆก็ปล่อยให้คาราคาซังอยู่แบบนั้นจะตั้ง คุณจุมพลก็ไม่กล้า จะตั้งคุณประทีปก็ไม่กล้า
พอจบจากพล.ต.อ.ประทีปแล้ว อยู่ๆคนที่มาเป็น ผบ.ตร.ก็กลายเป็น พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ซึ่งรับราชการในสำนักพระราชวังมาโดยตลอด ถามท่านว่าโดยตำแหน่งเคยมีหรือไม่ที่ตำรวจอยู่ในสำนักพระราชวังโดยตลอดนี้ก้าวข้ามกระโดดมาเป็น ผบ.ตร. ในประวัติศาสตร์มีหรือไม่?
ไม่เคยมี
ทำไมในอดีตจึงไม่เคยมี?
ที่ไม่เคยมีคือมีอยู่ครั้งหนึ่งเคยจะมีแต่ก็ไม่ได้มีเหมือนท่าน วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี คือท่านวสิทธิ์ เดชกุญชร ท่านออกจากวังมาเป็น พล.ต.ท.ในตำแหน่งจเรตำรวจแล้วก็ไต่ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยเป็นรอง ผบ.ถึงจะมาเป็น ผบ. แต่ในขณะเดียวกันท่านวสิทธิ์ ท่านรับราชการในกรมตำรวจก่อนที่ท่านจะเข้าไปรับราชการในวัง ท่านยังผ่านตำแหน่งสารวัตร ผู้กำกับเสียก่อนแล้วไปเป็นผู้การ ต.ช.ด.จนกระทั่งได้เข้าไปในวัง ท่านไม่ได้อัตรา พล.โท ในฐานะหัวหน้าราชสำนักแต่ท่านออกจากวังมาเป็นจเรตำรวจและเลื่อนเทียบเท่าตำแหน่งผู้บัญชาการขณะนั้นอัตรา พล.ต.ท.และเลื่อนเป็นผู้ช่วยและเป็นรองอธิบดีตำรวจ ตามขั้นตอนขณะเข้าแข่งขันเป็นอธิบดีตำรวจกับท่านแสวง ธีระสวัสดิ์ มีการวัดอาวุโสกันเรื่องนี้เป็นนิยายในกรมตำรวจ ก็ปรากฏว่าถ้าวัดกันเป็นนายตำรวจท่านวสิทธิ์ท่านเป็นก่อนหน้าอาจารย์แสวงแต่ถ้านับอายุราชการตามกฎหมายเก่าทางอาจารย์แสวงเป็นก่อนเพราะเป็นพลตำรวจก่อนก็ทำให้ระบบวัฒนธรรมองค์กรที่ตั้งผู้มีอาวุโสทำให้ท่าน พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร ท่านตัดสินใจให้ พล.ต.อ.แสวงขึ้นเป็นอธิบดีจึงแตกต่างกับคุณวิเชียร
ดังนั้นคุณวิเชียรถือว่าเป็นตำรวจคนแรกที่ไม่เคยผ่านสถานีตำรวจไล่จับผู้ร้ายเลยใช่ไหม?
ท่านผ่านแค่ในฐานะรองสารวัตร
มีคนกล่าวว่าคุณวิเชียรนี้เป็นตำรวจที่ใช้ชีวิตตำรวจในวังเป็นหลัก ไม่ได้ทำสำนวนสอบสวนเลยท่านจะอธิบายว่าอย่างไร?
คือคุณวิเชียรเข้าไปอยู่ในวังตั้งแต่อายุประมาณ 26 ปี และอยู่เรื่อยมาจนถึง 50 กว่าปี ไต่เต้าตั้งแต่เป็นนายตำรวจยศร้อยตำรวจเอก มาจนกระทั่งท่านได้มาเป็นหัวหน้านายตำรวจราชสำนัก
ซึ่งตามประเพณีการแต่งตั้งอธิบดีตำรวจหรือใครที่จะมาเป็น ผบ.ตร. ตามประเพณีปฎิบัติท่านจะต้องไต่บันไดขึ้นมาจากฐานของกรมตำรวจใช่หรือไม่?
ใช่ ตามประเพณีหรือวัฒนธรรมองค์กรต้องตั้งอาวุโสเบอร์ 1 ที่ไต่ขึ้นมาเป็นอธิบดีหรือ ผบตร.ท่านวิเชียรก่อนที่ท่านจะออกจากวัง ออกมาประจำก่อนในตำแหน่งที่ปรึกษา สบ.10 ท่านโกวิท วัฒนะ ซึ่งเป็น ผบ.ในขณะนั้นท่านมอบหมายให้ผมในฐานะเป็นรอง ผบ.ฝ่ายบริหารไปแก้ปัญหาให้กับคุณวิเชียรซึ่งเป็นปัญหาบางประการที่เกิดขึ้นในตำแหน่งหัวหน้าราชสำนักกับหัวหน้าผู้บัญชาการนายตำรวจราชสำนักให้ไปแก้ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจนกระทั่งเรารับตัวคุณวิเชียรออกมาจากวังในตำแหน่งประจำก่อนแล้วถึงมาขอดำรง ตำแหน่งเป็น ศบ.10 ให้ตำแหน่งที่ปรึกษาเสร็จแล้วก็ปรับตำแหน่งคุณวิเชียรอีกครั้งเป็นรอง ผบ.แล้วถึงจะขึ้นมาเป็น ผบ.
กรณีอย่างนี้ถือว่าข้ามศรีษะผู้หลักผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลายคน เกิดการหมดกำลังใจกันหรือไม่?
ผมเรียนอย่างนี้ว่าเราต้องวิเคราะห์เป็น 2 กรณีด้วยกัน กรณีที่ 1 ถามว่าโดยตำแหน่งเทียบเท่าคุณวิเชียรหัวหน้าราชสำนักเป็นพล.ต.อ.ชั้นยศและตำแหน่งเทียบเท่ารอง ผบ.คือตัวยศท่านทำให้ท่านได้เข้ามาเทียบ แต่ถ้าถามว่าท่านมีประสบการณ์กับงานตำรวจหรือไม่ก็ต้องตอบได้ว่าท่านมี ในตำแหน่งรองสารวัตรประมาณ 2-3 ปีในตำแหน่งผู้ช่วยนายเวรอธิบดี และมีตำแหน่งรองผบ.ประมาณ 1 ปี เท่านั้น นั่นคือประสบการณ์ในงานตำรวจจริงๆที่ท่านมีอยู่
แล้วบังเอิญอายุราชการของท่านยาวนานด้วย เข้ามาแล้วอย่างน้อย 3 ปีเป็น ผบ.ตร.แล้วตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ในระดับที่จะเติบโตขึ้นมาที่ถือว่ารับราชการมาตลอดและมีความมุ่งหมายที่จะเจริญเติบโตตามขั้นตอน ตำรวจระดับชั้นผู้ใหญ่หมดกำลังใจหรือไม่?
ต้องถามท่าน ถ้าถามผมๆตอบได้คำเดียวว่าท่านวิเชียรเป็นผู้มีบุญมาเกิดและโดยอุปนิสัยใจคอของท่านๆเป็นคนน่ารัก สุภาพ อ่อนน้อม ท่านเป็น ผบ.ตร. มาก็นานพอสมควรแล้ว เสวยบุญมาพอแล้ว
ส่วนประชาชนจะได้รับบุญนั้นหรือเปล่า?
ต้องว่ากันไปตามหลักบริหาร ต้องย้อนกลับมาประเด็นปัญหาของท่านเพรียวพันธ์ ก็คือว่าท่านเพรียวพันธ์ต้องเกษียณก่อนท่านวิเชียร 1 ปี ท่านวิเชียรไปเกษียณปี 56 ท่านเพรียวพันธ์เกษียณปี 55 วันนี้เรื่องที่ท่านเพรียวพันธ์ฟ้องร้องศาล ทั้งศาลปกครองและปปช.แต่ท่านฟ้องศาลปกครองชนะ 1 ครั้งมาแล้ว ที่นำตัวท่านออกไปจากองค์กรตำรวจ
ช่วงมีการแต่งตั้งและขับเคี่ยวกันระหว่าง คุณจุมพล มั่นหมาย กับคุณประทีป ตันประเสริฐ ตอนนั้นท่านเพรียวพันธ์กลับมาหรือยัง?
ท่านเพรียวพันธ์ยังไม่ได้กลับเต็มตัวแต่พอกลับมาแล้วทางรัฐบาลท่านนายกฯอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้คำนึงเลยเรื่องระบบอาวุโสเพราะวันดีคืนดีช่วงที่ท่านประทีปยังไม่รักษาการ ท่านนายกอภิสิทธิ์ให้ท่านวิเชียรบ้างให้ท่านประทีปบ้าง วันดีคืนดีนึกอย่างไรไม่ทราบสั่งให้ท่านธานี สมบูรณ์ทรัพย์ซึ่งอาวุโสหลังสุดรักษาการจนบ้าง กระทั่งท่านธานีเกษียณในปี 2552 ในขณะที่มีความขัดแย้งกันระหว่างจะตั้งท่านจุมพลหรือท่านประทีป ท่านธานี หลังจากที่ท่านได้รักษาการ ผบ.ตร.หลังจากที่รักษาการแล้วเกษียณไป 2 เดือน ท่านนายกฯท่านก็ตั้งให้ท่านธานีไปเป็นรองเลขาสำนักนายกอีก
ในช่วงนั้นถือว่าปั่นป่วนที่สุด ความปั่นป่วนอย่างนี้ซึ่งไม่เป็นธรรมในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ท่านในฐานะเป็น กตร.คิดว่าจะนำความเป็นธรรมกลับคืนมาสำนักงานตำรวจได้หรือไม่ และจะนำกลับมาอย่างไร?
เป็นเรื่องของท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ท่านจะสั่งการอย่างไร ทำอย่างไรนี้ผมได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้วครั้งหนึ่งว่าตำแหน่งประธาน กตร.นั้นท่านมอบหมายให้ใครมานั่งไม่ได้เพราะเหตุผลว่ากฎหมายตำรวจนั้นไม่ได้ระบุว่าใครมาแทน กฎหมายตำรวจระบุไว้ว่านายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กตร.โดยตำแหน่ง ในกรณีที่ประธานไม่อยู่ให้ที่ประชุมเลือก กตร.คนหนึ่งคนใดเป็นประธานแทน แต่ปรากฏว่านายกฯอภิสิทธิ์ท่านมอบให้คุณสุเทพท่านมานั่ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผิดหรือถูกต้องตามกฎหมาย ยังเป็นคดีและมีการฟ้องร้องอยู่ในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นข้อแรกสำหรับรัฐบาลผมได้ให้สัมภาษณ์มติชน ไทยรัฐ ไปว่าท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ต้องมานั่งเป็นประธานเองส่วนจะมอบหมายให้รองนายกฯคนใดมาคุมงานตำรวจนั่นคือมาคุมข้างนอกแต่ไม่ได้คุมกำลังพล งานกำลังพลนั้นต้องเป็นเรื่องที่ท่านนายกมานั่งเป็นประธานเอง
กรณีคุณเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งวันนี้มีคนจับตามองซึ่งเป็นญาติของท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ แต่ในอดีตที่ผ่านมาก็ถูกรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเด้งไปก็เพราะความเป็นญาติของคุณยิ่งลักษณ์อีกเหมือนเดิม จะเรียกได้ไม๊ว่าเป็นเหยื่ออธรรมของระบบในเวลานั้น?
ผมดูประวัติศาสตร์รัฐบาลวางนโยบายสำคัญเรื่องอะไร เรื่องยาเสพติด วันนี้ถ้าถามตำรวจคนที่รู้เรื่องยาเสพติดดีที่สุดในกรมตำรวจระดับสูงยังไม่มีใครเหนือไปกว่าท่านเพรียวพันธ์ ในวันนี้ถ้าจะมีการต้องเปลี่ยนตัว ผบ.ตร.รัฐบาลก็มีความชอบธรรมเพื่อจะให้ดำเนินไปตามนโยบายก็ทำได้ มีกฎหมายรองรับแม้ว่ากฎหมายตำรวจจะต้องถามความสมัครใจของเจ้าตัว ผมได้แนะนำไปว่าต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถ้าต้องเปลี่ยนตัว ผบ.ตร.วิเชียร ทางรัฐบาลก็ควรจะหาตำแหน่งทดแทนที่มีเกียรติให้โดยไม่ต้องไปบังคับกะเกณฑ์ ผมเชื่อว่าท่านวิเชียรซึ่งให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่าถือเป็นสิทธิของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาท่านตอบเองไม่ได้เพราะท่านเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ผมว่าถ้าต้องเปลี่ยนก็เปลี่ยนจะเอาท่านวิเชียรไปไหนไปเป็นปลัดกระทรวงไหนผมว่าท่านวิเชียร ก็ควรไปอย่างสง่างามนะ เพราะฉะนั้นก็ตั้งท่านเพรียวพันธ์ เป็น ผบ.ตร. วัฒนธรรมขององค์กรตำรวจก็จะกลับเข้าสู่ระบบ การฟ้องร้องของท่านเพรียวพันธ์ที่มีอยู่ขอความเป็นธรรมผมเชื่อว่าศาลก็ได้ถือว่าเยียวยาแล้วพิสูจน์แล้วว่า จบไปท่านเพรียวพันธ์ก็เดินเครื่องไปเต็มสูบสำหรับเรื่องงานยาเสพติด ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่านนายกซึ่งผมถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่สุดเนื่องจากว่าจะมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2554
กรณีของคุณเพรียวพันธ์ถือได้หรือไม่ว่าเป็นเหยื่ออธรรมของอำนาจนอกระบบกับ คมช. กับ ประชาธิปัตย์ร่วมกัน?
ผมตอบอย่างนี้การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ใช่เฉพาะคุณเพรียวพันธ์เท่านั้น ผู้คนอีกมากมายตกเป็นเหยื่อของการปฏิวัติรัฐประหารรวมทั้งการเสียชีวิตของผู้คนอีกมากมายผมว่าในวันนี้เราต้องกลับมาพูดความจริงว่าถ้าเราลืม เราเช็ดล้างแผลที่เกิดขึ้นจากเหตุปฏิวัติออกไปได้เมื่อไหร่บ้านเมืองจะกลับเข้าไปสู่ความเป็นปกติสุข อะไรที่เราลืมกันได้ ลดกันได้ รับกันได้เพื่อความสมานฉันท์ ปรองดอง โดยที่ผู้คนที่บาดเจ็บ ล้มตาย เสียหายไม่ว่าฝ่ายใดที่ได้รับผลกระทบถ้าพูดภาษาให้ชัดเจนที่ได้รับผลกระทบภายหลังการปฏิวัติรัฐประหารอันเนื่องมาจากการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย สูญเสียสิทธิประโยชน์ต่างๆจากการรับราชการ หรือสูญเสียญาติสนิท มิตรสหาย ให้ผู้คนเหล่านี้ได้รับการเยียวยาเสมอภาคกันซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลท่านนายกยิ่งลักษณ์ต้องทำให้เร็วที่สุด ทำแล้วบ้านเมืองเราก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ เหลืองก็ไม่มีแดงก็ไม่มี มีแต่ผู้คนที่รู้สึกเป็นประชาธิปไตย รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย
ใน 2 ปีที่นายอภิสิทธิ์เข้ามา ที่คุณอภิสิทธิ์อ้างว่าเข้ามาโดยชอบ เป็นระบบประชาธิปไตย ท่านในฐานะสำนักงานตำรวจอยากจะเรียนถามท่านว่า 2 ปี ที่คุณอภิสิทธิ์เข้ามาดูแลกรมตำรวจทำไมเขาไม่เอาความเป็นธรรมกลับคืนให้กับกรมตำรวจในเวลานั้น เพราะอะไร?
ท่านนายกฯอภิสิทธิ์ได้มอบหมาย บางเรื่องท่านนึกอยากจะทำท่านก็ทำเอง แต่อีกหลายเรื่องท่านไม่ทำ ท่านมอบให้ท่านสุเทพทำ ท่านมอบไปแล้วผมก็ไม่ทราบว่าท่านรับผิดชอบหรือไม่ บางเรื่องเห็นท่านออกมาปฏิเสธหน้าตาเฉย แต่ว่าผมไม้รู้เรื่องท่านรองสุเทพท่านสั่งเองต้องไปถามท่าน เพราะฉะนั้นเรื่องของตำรวจหรือเรื่องการบริหารบ้านเมืองในรอบ 2 หรือ 3 ปีที่ผ่านมา ท่านอ้างว่าท่านมาถูกประชาธิปไตย นั่นคือข้ออ้างของท่าน อ้างตัวบทกฎหมายนั่นคือข้ออ้างของท่านแต่ว่าการยอมรับของผู้คนส่วนใหญ่หรือไม่นั้นคำตอบมันมีมาแล้วเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พูดกันตรงๆว่าบ้านเมืองเราวันนี้ถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจทำงานเพื่อบ้านเมืองและวิธีที่ดีที่สุดที่รัฐบาลนี้พึงจะควรกระทำ รัฐบาลไม่ต้องไปเข้าข้างฝ่ายใดแม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้คนมากมายที่ใส่เสื้อสีแดงรัฐบาลทำให้ถูกต้อง คนที่รักประชาธิปไตยเห็นเอง วิธีที่จะทำให้ถูกต้องที่สุดคดีที่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐบาลต่อกรณีสลายการชุมนุมผู้คนเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม รัฐบาลนิ่งเฉยๆสิ่งที่มีมาแล้วจากรัฐบาลเดิมทำอย่างไรก็สานต่อไป สอบต่อไป มี คอป.ของท่านคณิตว่าอย่างไรก็ว่ากันไป แต่รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประชาชนที่เสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฟ้องคดีเองรายตัว ผมว่าจะทำให้เห็นว่ารัฐบาลเปิดโอกาสให้ฟ้องร้องได้ทุกคนโดยรวบรวมข้อมูลไปให้ ให้ศาลเป็นคนตัดสินว่าจะประทับรับฟ้อง ต่างกรรม ต่างวาระ แต่ละคดีหรือไม่ ถ้าศาลสั่งประทับรับฟ้องต่างกรรม ต่างวาระกันในแต่ละคดีวันนั้นแหละสมมติว่ารับฟ้องสัก 40-50 คดี สิ่งที่เราถวิลหากันนี้ก็คือการให้อภัยครบถ้วนกระบวนความกันจริงๆที่เรียกว่านิรโทษกรรมจะต้องเกิดขึ้น
สรุปปิดท้ายรายการ 2 ปีของรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมไม่ได้เยียวยาความไม่เป็นธรรมในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่?
2 ปีที่นายกอภิสิทธิ์ถ้าไปถามท่านตอนนี้ผมว่าท่านต้องบอกว่าได้มอบให้ท่านสุเทพอยู่แล้ว ดังนั้น 2 ปีที่ผ่านมาท่านต้องรับว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ปล่อยให้ตำแหน่งผู้นำองค์กรสูงสุดของตำรวจทิ้งร้างไว้ถึง 1 ปี ท่านเป็นผู้นำคนแรกที่ไม่ตัดสินใจในเรื่องที่จะทำให้ตำรวจนั้นได้รับความเป็นธรรม ท่านไม่ตัดสินใจ
ในมุมมองหนึ่งของตำรวจก็คือประชาชนตัดสินความถูกผิดของนายกฯอภิสิทธิ์ในวันที่ 3 กรกฎาคม คือวันเลือกตั้งใช่ไหม?
เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ตำรวจอย่างเดียวคิดทั้ง ทหาร ข้าราชการทุกหมู่เหล่า เมื่อเข้าไปในคูหาเลือกตั้งก็คือการใช้สิทธิของประชาชน ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเหมือนกันหมด
ขอบคุณครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น