Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประมวลสงครามความคิด...นิติราษฎร์ VS สมคิด อธิการฯ มธ.(นายหน้าเผด็จการ) หาอ่านได้ที่นี่ที่เดียว

ยังเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่อง กรณีแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ในประเด็นลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

เนื่องจากหลักการการลบล้างดังกล่าวถือเป็น 'ของใหม่' ในระบบกฎหมายไทยตามที่ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ระบุ แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์จึงไม่เพียงเป็นการต่อสู้ทางความคิดระหว่างฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยกับฝ่ายรับใช้เผด็จการเท่า
แต่ยังเป็นการต่อสู้อย่างแหลมคมทางความคิดของบุคคลในแวดวงนักวิชาการด้านกฎหมายอีกด้วย ท่ามกลางการต่อสู้ทางความคิดดังกล่าว เป็นที่กล่าวถึงมากก็คือการปะทะถาม-ตอบระหว่างนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ กับนายพนัส ทัศนียานนท์
ซึ่งถือเป็นมวยถูกคู่

คนแรก นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ปัจจุบันเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
ส่วนคนหลัง นายพนัส ทัศนียานนท์ เป็นอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งชุดแรก

แลกกันหมัดต่อหมัด

เริ่มต้นจากนายสมคิด เป็นฝ่ายตั้งคำถามถึงคณะนิติราษฎร์ 15 ข้อผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว
แต่ยังไม่ทันที่นักวิชาการคณะนิติราษฎร์จะตอบ ปรากฏว่าคนนอกอย่างนายพนัส ได้ออกมาตอบแทนเสียก่อนครบถ้วนทั้ง 15 ข้อ
สมคิดถาม 15 ข้อ พนัสตอบ
จาก มติชนออนไลน์ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554
๑. สมคิด ถามว่า "เราสามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ เช่น การยกเลิก รธน. ๒๕๔๙"
คำตอบ คือ ได้ เพราะ รัฐธรรมนูญ ๔๙ ถูกรับรองการก่อผล (ของรัฐธรรมนูญปี ๔๙) ให้ดำรงอยู่โดยชอบด้วยมาตรา ๓๐๙ ตามรัฐธรรมนูญ ๕๐ หมายความว่า รัฐธรรมนูญ ๕๐ ได้ผนวกเอา "สภาวะทางกฎหมาย" ของรัฐธรรมนูญ ๔๙ เข้าไว้เป็นเนื้อหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ ๕๐ นั่นเอง ซึ่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ ๗๘๔๑/๒๕๕๓ (คดีที่คุณฉลาด ฟ้อง คมช) เพิ่งพิพากษาเมื่อปี ๕๓ (ซึ่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญ๕๐ แล้ว) ก็ได้อ้าง ผลบังคับของรัฐธรรมนูญ ๔๙ ในฐานะแหล่งอ้างอิงความชอบด้วยกฎหมาย ในปัจจุบัน

๒. "ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมาแต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่"
ตอบ ดูตอนท้าย ในส่วนที่ผมตอบ กิตติศักดิ์ ปรกติ

๓. "ถ้ามีคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วง คมช.ไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการใหม่ คนอีกกลุ่มเห็นว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น ศาลตัดสินผิดโดยสิ้นเชิง คนกลุ่มหลังจะขอให้ยกเลิกรธน. ๒๕๔๐ ตั้งศาลรธน.ใหม่ แล้วพิพากษาคดีซุกหุ้นใหม่ จะได้หรือไม่"
ตอบ ได้ถ้าคุณใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ

๔. "ประชาชนจะลงมติแก้รธน.ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่"
ตอบ ย้อนไปดูคำตอบในข้อ ๑.

๕. "รธน.๒๕๕๐ ได้รับการลงประชามติโดยประชาชน ในทางกฎหมายเราจะพูดได้หรือไม่ว่า ประชาชนลงมติโดยไม่ถูกต้อง หรือรธน. ๒๕๕๐ ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน?"
ตอบ สมคิด ได้อ่านข้อเสนอนิติราษฎร์ไม่ เพราะหากอ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ ไม่เคยปฏิเสธการดำรงอยู่ของ รธน ๔๙ และ ๕๐ และไม่ปฏิเสธความชอบธรรมในระดับหนึ่งของประชามตินั้นด้วย แม้จะไม่เป็นประชามติโดยแท้(เลือกในสิ่งที่ไม่มีตัวเลือกที่ชัดเจน) , และนิติราษฎร์เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนำร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว ไปลงประชามติ อีกครั้ง เช่นนี้ สมคิด จะตื่นเต้นอะไรครับ? เนื่องจาก นิติราษฎร์ มุ่งกำจัดสิ่งปฏิกูลของคณะรัฐประหาร และนำตัวพวกเขาเหล่านั้นมาลงโทษก่อกบฎ ทั้งตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุน

๖. "คตส. ตั้งโดยคมช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตั้งโดย คมช. ใช่หรือไม่"
ตอบ ไม่ใช่ แต่ คตส ซึ่งแต่งตั้งโดยประกาศ คปค เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนพิจารณาของศาล และนิติราษฎร์กล่าวชัดว่า ศาลฎีกาฯ ตัวองค์กรตั้งมาก่อนแล้ว แต่กระบวนการทางคดี มิชอบ (โปรดดูตอนท้าย ที่ผมตอบ กิตติศักดิ์ เพิ่มเติม)

๗. "การดำเนินการตามแนวคิดของนิติราษฎร์ ไม่มีผลทางกฎหมายต่อนายกฯทักษิณเลยใช่หรือไม่"
ตอบ การกระทำความผิดหรือไม่ผิด ของทักษิณ ยังคงดำรงอยู่ตามกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะที่กระทำ และอายุความก็ยังคงนับไปเรื่อยๆ เสมือนไม่มีการดำเนินคดีเกิดขึ้น หมายความว่า ปปช ซึ่งต้องถูกรีเซ็ตองค์กรมใหม่ จะฟ้องทักษิณ ก็ยังคงทำได้จนกว่าจะหมดอายุความ ทั้งนี้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะ การลบล้าง คือ ไม่เคยมีการฟ้อง มาก่อน

๘. "มาตรา ๑๑๒ ขัดแย้งกับ รธน .จริงหรือ และขัดกับรธน. ๒๕๕๐ ที่จะถูกยกเลิกใช่หรือไม่"
ตอบ ขัดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ทุกฉบับครับ สมคิด ควรตอบให้ตรงๆ เลยว่า ความพอสมควรแก่เหตุระหว่างความผิดทางวาจา (มาตรา ๑๑๒) กับ โทษ เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งเป็นรากหรือแก่น ของรัฐธรรมนูญในนิติรัฐประชาธิปไตยหรือไม่ นี่คือมาตรชี้ ที่นิติราษฎร์เสนอว่า ขัดรัฐธรรมนูญครับ (ไม่ว่าจะมี รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙หรือไม่ก็ตาม)

๙. "ประเทศทั้งหลายในโลกรวมทั้งเยอรมัน เขาไม่คุ้มครองประมุขของประเทศเป็นพิเศษแตกต่างไปจากประชาชนใช่หรือไม่"
ตอบ คุ้มครองครับว่า จะจับกุมคุมขังมิได้ เป็นเอกสิทธิ์ประมุขแห่งรัฐ เช่น ประมุขรัฐหนึ่ง เอาปืนยิงคน เช่นนี้จับกุมไม่ได้ ต้องถอดจากตำแหน่งเสียก่อน (เช่นการประหาร พระเจ้าหลุยส์ ตอนปฏิวัติฝรั่งเศส) แต่ freedom of expression เป็นคนละเรื่องกับ immunity of head of state ใน sense แบบนิติรัฐเสรีประชาธิปไตย นะครับ

๑๐. "ถ้ามีคนไปโต้แย้งนิติราษฎร์ในที่สาธารณะเขาจะไม่ถูกขว้างปาและโห่ฮาเหมือนกับหมอตุลย์ใช่หรือไม่"
ตอบ ผมไม่ใช่หมอดู หมอเดา หรือสุนัขรับใช้รัฐประหาร ที่จะตอบคำถามแบบนี้นะครับ

๑๑. "ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาส สฤษดิ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกฯทักษิณ"
ตอบ นิติราษฎร์ เสนอว่า ให้ยกเลิกบรรดา "รัฐประหารที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ" ถ้ากรณีใดเข้าข่าย ต้องเอาผิดทั้งสิ้น, แต่บางกรณีบังคับการไม่ได้โดยสภาพ ผลคือ คดีอาญาระงับ ไงครับผม, สำหรับกฎหมาย เราให้ล้างหมด แล้ว valid ทีหลัง (ในทางสัญลักษณ์)

๑๒. "ความเห็นของนักกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกับนิติราษฎร์แต่ดีกว่านิติราษฎร์ รัฐบาลนี้จะรับไปใช่หรือไม่"
ตอบ ไปถามรัฐบาลนะครับ อย่าคิดเอาเองแบบพวกนักรัฐประหาร นะครับ

๑๓. "ศาลรธน. ช่วยนายกฯทักษิณคดีซุกหุ้นถือว่าใช้ได้ แต่ไม่ช่วยคดียึดทรัพย์ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นตุลาการภิวัตน์ใช่หรือไม่"
ตอบ ผมไม่สนว่าใครช่วยใคร แต่ทุกคนจะถูกดำเนินคดีต่อเมื่ออยู่ในระบบกฎหมายที่ปกติ ไม่ถูกก่อตั้งสถานะและอำนาจโดยการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งสถานะและอำนาจดังกล่าว เป็นบ่อเกิดของตุลาการภิวัตน์) ถามว่า กรณีซุกหุ้น ศาลพิพากษาโดยผ่านกระบวนการ รัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือไม่? ตอบคือ ไม่ ศาลพิพากษาในระบบกฎหมายปกติ และไม่ล้มสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น การล้มผลการเลือกตั้ง โดยขัดหลักความพอสมควรแก่เหตุ เป็นต้น

๑๔. "บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรธน. ๒๕๕๐ แย่กว่า รธน. ๒๕๔๐, ๒๔๗๕ ที่นิติราษฎร์จะนำมาใช้ใช่หรือไม่"
ตอบ สมคิด ครับ รัฐธรรมนูญ เกิดทีหลัง ประชาชน ซึ่งมีสิทธิเสรีภาพมาก่อนแล้ว ; ฉะนั้น แม้จะไม่มีหมวดสิทธิเสรีภาพ ถามว่า ประชาชน จะไม่มีสิทธิเสรีภาพหรือ? คำตอบคือ ไม่ เขายังมีบริบูรณ์ทุกประการ ; สังเกต จากรัฐธรรมนูญ ที่เขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพ ของอเมริกา นะ เขียนเชิง negative ตลอดเลย คุณไม่ต้องไปเขียน เพราะยิ่งเขียน มันยิ่งแสดงอำนาจรัฐในการควบคุมสิทธิเสรีภาพเข้าไปเรื่อยๆ ล่ะครับ

๑๕. "คมช. เลว ส.ส.ร.ที่มาจาก คมช.ก็เลว รธน.๒๕๕๐ ที่มาจาก ส.ส.ร.ก็เลว แต่รัฐบาลที่มาจาก รธน. เลว เป็นรัฐบาลดีใช่หรือไม่"
ตอบ รัฐบาล ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ นะครับ รัฐบาลคลอดมาจาก เจตจำนงของประชาชน , รัฐธรรมนูญ เป็นเพียงฐานรับรองที่มาของรัฐบาล(ว่าให้มาจากการเลือกตั้ง แบ่งเขตอย่างไร) เป็นเพียง "วิธีการ" ซึ่งจะเลวหรือไม่ ต้องถามประชาชน หรือถ้าตอบว่า เลว แล้วถามต่อไปว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เลวหรือไม่ ในเมื่อคลอดรัฐธรรมนูญ(อย่างน้อยในการยกร่างฯ) มาจาก ผู้ร่างฯ ตรรกะเดียวกัน

"ส.ส.ร.ที่มาจากรัฐบาลชุดนี้และที่ อ.วรเจตน์จะเข้าร่วม ก็เป็น ส.ส.ร.ที่ดีใช่หรือไม่"
ตอบ ผมยังไม่เคยได้ยินว่า วรเจตน์ บอกว่า เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ทราบเพียงว่า ถ้าเข้าแล้วทำได้ตามประกาศนิติราษฎร์ ก็จะไป ซึ่งจะเป็นสสร ที่ดีหรือไม่ ผมตอบคุณสมคิด ไม่ได้หรอก แต่ถ้าถามว่า สสร ชุดที่มาจาก กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสถาบันการเมืองซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการ มีความชอบธรรม (legitimacy) หรือไม่ ตอบว่า สสร.ซึ่งมีที่มาดังกล่าว ย่อมมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ครับ

ในท้ายนี้ ขอกล่าวสั้นๆว่า ผมไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใด รัฐธรรมนูญฉบับ ๕๐ จึงร่างได้ห่วยแตก มักง่าย ตั้งแต่สารบัญหรือการจัดหมวดของรัฐธรรมนูญ (ขออภัยที่ใช้คำสามัญ) เมื่อได้เห็นวิธีตั้งคำถาม และมองประเด็นของคุณสมคิด เลิศไพฑูรย์ ในฐานะ ผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ คมช. ตลอดจน การที่ คุณสมคิด ตั้งคำถามลักษณะนี้ ซึ่งไม่จำต้องใช้สติปัญญาทางวิชาชีพแต่ประการใด จะมักง่ายไปล่ะมังครับ? ท่านไม่ต้องวิตกครับว่า หากอธิบายเป็นเนื้อความแล้ว จะมีคนมองว่า ท่าน "กลวง" แล้วหมดความเลื่อมใสทางวิชาการ เพราะอย่างน้อย ท่านจะยังมีความกล้าหาญทางวิชาการอยู่บ้าง.


นายสมคิดทะลึ่งพาดพิงปรีดี ลูกสาวปรีดีโต้กลับ
ภาพจาก แฟซบุ๊คนายสมคิด
วิวาทะร้อนผ่านเฟซบุ๊คข้างต้นมีปฐมเหตุจาก คำถามของ นายสมคิด ข้อที่ 11."ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาส สฤษดิ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกฯทักษิณ"
ทำให้คุณดุษฎี บุญทัศกุล บุตรีของนายปรีดี พนมยงค์ ออกมาแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊คของ นายสมคิด ว่า อาจารย์เข้าใจผิดอะไรหรือเปล่าคะ ที่พูดพิงถึงนายปรีดีเกี่ยวกับรัฐประหาร โปรดอธิบายด้วย
นายสมคิดตอบว่า : ผมเข้าใจท่านปรีดีครับ การรัฐประหารการปฏิวัติแตกต่างกันครับ แต่อยากให้ผู้คนได้คิดหาเหตุผลตรึกตรองเรื่องต่างๆ
คุณดุษฎีตอบว่า : กลับไปอ่านบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ต่อสาธารณชนก่อนคะ ขอบคุณค่ะที่นำปรีดีมาเทียบเท่า สุจินดา ถนอม ประภาส สฤษดิ์  จอมพลป.



“สมคิด” ลบ “ผลพวงคำถามถึงนิติราษฎร์” เกลี้ยงเฟซบุ๊ก “แอ๊บแบ๊ว” บอกเคารพ อ.ปรีดี
จาก มติชนออนไลน์ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่นางดุษฎี บุญทัศนกุล บุตรสาวนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 ได้ตั้งคำถามต่อนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีม.ธรรมศาสตร์คนปัจจุบัน บนหน้ากระดานเฟซบุ๊กของนายสมคิด หลังอธิการบดีธรรมศาสตร์ตั้งคำถาม 15 ข้อ ไปยังนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ และมีข้อหนึ่งที่มีข้อความพาดพิงว่านายปรีดีเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร

ต่อมาข้อความสนทนาโต้ตอบระหว่างนายสมคิดกับนางดุษฎี รวมทั้งข้อความคำถาม 15 ข้อถึงคณะนิติราษฎร์ และข้อความสนทนาเกี่ยวกับประเด็นทางวิชาการที่สืบเนื่องจากข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์อื่นๆ ได้ถูกลบทิ้งออกจากหน้ากระดานเฟซบุ๊กของอธิการบดีธรรมศาสตร์เกือบทั้งหมด

จากนั้น ในคืนวันที่ 29 กันยายน นายวินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ตั้งคำถามบนหน้ากระดานเฟซบุ๊กของนายสมคิดว่า

"ท่านอธิการบดีครับ ท่านหรือผู้ที่ดูแล facebook ของท่าน (ถ้ามี) ได้ลบโพสต์บางโพสต์ที่อยู่ในกระดานข้อความ FB ของท่านทิ้งไปหรือครับ เพราะผมสังเกตเห็นว่าโพสต์ที่ ดร.อลงกรณ์ (นายอลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม - มติชนออนไลน์) ได้โพสต์ถามท่านซึ่งผมร่วมแสดงความเห็นด้วยนั้นหายไป และโพสต์ที่ อ.ดุษฎี บุญทัศนกุล โพสต์ไว้ก็หายไปเหมือนกัน ถ้าลบจริง ผมอยากทราบเหตุผลครับ เพราะผมเชื่อว่าการคงไว้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการมากกว่าครับ"

ซึ่งนายสมคิดได้เข้ามาตอบคำถามของนายวินัยว่า
"ผมลบเองครับ เพราะเป็น face ของผม ถ้าคุณวินัยยังสนุกอยู่ก็เอาประเด็นไปตั้งที่ face ของคุณวินัยเองก็ได้ครับ ผมเคารพ อ.ปรีดีและครอบครัวท่านเสมอ ผมไม่ยอมให้ใครเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเล่นกันครับ"

นายวินัยจึงตั้งคำถามต่อว่า
"แต่เรื่องที่ ดร.อลงกรณ์ถามก็ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับ อ.ปรีดีนะครับ" นายสมคิดชี้แจงว่า "ผมต้องตอบใช่ไหมครับ"

นายวินัยจึงพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมว่า
"ผมไม่ได้มองว่ามันสนุกหรอกครับ แต่ผมอยากตามความคิดเห็นของคนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาสติปัญญาครับ และคนอื่นก็หวังอย่างผมเหมือนกันครับ" "ท่านอาจจะไม่ตอบก็ได้ แต่ท่านน่าจะเปิดให้คนอื่นได้แสดงความเห็นกันต่อไปครับ"

นายสมคิดจึงเข้ามาตอบอีกครั้งว่า
"อ.น่าจะรู้ว่าทุกอย่างมีขอบเขต และผมเข้าใจตอนนี้มันเลยขอบเขตไปแล้ว แทนที่จะทำให้ความเข้าใจที่ดีต่อกัน มันกลับเป็นตรงกันข้าม" สุดท้ายนายวินัยจึงตอบว่า "ครับ ผมจะพยายามเข้าใจครับ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลับมาตรวจสอบหน้ากระดานเฟซบุ๊กของอธิการบดีธรรมศาสตร์อีกครั้งในช่วงบ่ายของวันที่ 30 กันยายน ปรากฏว่าข้อความสนทนาโต้ตอบระหว่างนายสมคิดกับนายวินัยได้ถูกลบทิ้งไปเช่นกัน



ประวัติ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และ นายสุรพล นิติไกรพจน์

จาก วิกิพีเดีย
ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ หรือชื่อเล่นว่า ตู่ (9 กรกฎาคม 2502 — ) เป็นข้าราชการและนักวิชาการชาวไทย โดยเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยเป็นคณบดีคณะดังกล่าว ทั้งยังเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2550 บัดนี้ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชีวิตส่วนตัว

สมคิดเกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2502 บิดาประกอบอาชีพเป็นช่างไฟฟ้า ส่วนมารดาค้าขายเสื้อผ้าในตลาด ทั้งบิดามารดาของสมคิดมีเชื้อสายเป็นคนจีน และมีพื้นเพเป็นคนกรุงเทพมหานคร ย่านบุคคโล ฝั่งธนบุรี บิดามารดาเดิมสกุล แซ่เล แต่สมคิดได้ตั้งนามสกุล "เลิศไพฑูรย์" ขึ้นมา โดยมีคำรณ บุญเชิด (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย) น้าชาย เป็นผู้ตั้งให้
ใน พ.ศ. 2540 เขาสมรสฉัตรแก้ว นิธิอุทัย สาวศาสนาอิสลาม เขาจึงเข้ารีตเป็นมุสลิมตามภรรยา ทั้งคู่มีบุตรชายฝาแฝด คือ ฐากร เลิศไพฑูรย์ และฐากูร เลิศไพฑูรย์ ซึ่งปัจจุบันศึกษา ณ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ด้วยกันทั้งสอง

การเคลื่อนไหวทางการเมือง

 กรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ใน พ.ศ. 2550
ในการรัฐประหารกันยายน พ.ศ. 2549 สมคิดได้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 50 จึงมีผู้ตั้งคำถามว่า เป็นไฉนเขาจึงร่วมหัวจมท้ายกับเผด็จการ สมคิดว่า “เขาเรียนและสอนเรื่องรัฐธรรมนูญเรื่อยมา ถึงเวลาต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ควรเข้าไปร่วม เพื่อให้เนื้อหาออกมาเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด”
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2553  นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มธ. สิ้นสุดวาระลง ได้มีการสนับสนุน นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นอธิการบดี มธ. คนใหม่  ได้คะแนน 1,722 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 30 จากบรรดาผู้สมัครทั้งหมด ในการเลือกตั้งอธิการบดีฯ ณ วันที่ 18 ตุลาคม ของปีเดียวกัน สมคิดจึงชนะไปด้วยคะแนนเสียง 25 คะแนน

______________________
นายสุรพล นิติไกรพจน์
จาก วิกิพีเดีย

ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการสามัญองค์กรอิสระ และรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญปฏิรูปการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549 และได้รับปูนบำเหน็จจากการรัฐประหารในครั้งนั้นโดยยกให้เป็นประธานกรรมการ บอร์ด อสมท. คุม ทีวี ช่อง9 จนถึงปัจจุบัน

การเคลื่อนไหวทางการเมือง
ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีอยู่ สุรพลได้ออกมาสนับสนุนกลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผ่านทางสื่ออยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้ามาใช้ห้องประชุมในมหาลัยเพื่อใช้เคลื่อนไหวจัดประชุมทางการเมือง หรือแม้กระทั่งออกมาโจมตี ศรีเมือง เจริญศิริ รมว. กระทรวงศึกษาธิการ และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก สมัคร สุนทรเวช ว่าเป็นนอมินีของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร  จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านภายในมหาลัยต่อตัวสุรพล จนประชาคมธรรมศาสตร์ออกมาแถลงการณ์ต่อต้านที่สุรพลสนับสนุนแนวทางของพันธมิตร ที่ให้เจ้าหน้าที่ทำการอารยะขันขืนต่ออำนาจรัฐ
ในสมัยรัฐบาลทหารของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ได้อำนาจมาโดยการปฎิวัติล้มรัฐบาลของ พลตำรวจโททักษิณ ชินวัตร สุรพลเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนแปรรูปมหาวิทยาลัย โดยการนำของ ศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ผู้เป็น รมว. กระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้น ซึ่ง ทำให้กลุ่มนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาประท้วง เนื่องจากเกรงว่าการเปลี่ยนแปลงสถานภาพจะมีผลให้ ทางมหาลัยสามารถเรียกเก็บค่าหน่วยกิจแพงขึ้นซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเหล่าพ่อแม่ผู้ปกครองนักศึกษา และ สามารถปิดสาขาวิชาที่มีนักศึกษาน้อย และไม่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาลัย แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากในขณะที่ สุรพลดำรงตำแหน่งอยู่ แต่เมื่อสุรพลพ้นจากตำแหน่งอธิบการบดี กลุ่มนักศึกษาโดยการนำของ ปราบ รักไฉไล ลุกขึ้นแสดงออกถึงการต่อต้านโดยการ "กรวดน้ำคว่ำขัน" โดยกลุ่มนักศึกษากล่าวหาสุรพลว่า สนับสนุนรับใช้อำนาจนอกระบบ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผศ.วรรณี สำราญเวทย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร จึงทำจดหมายแจ้งไปทางสื่อมวลชนว่า ปราบ รักไฉไล ไม่ได้เป็นนักศึกษาของธรรมศาสตร์ และเกรงว่าจะเป็นบุคคลภายนอกแอบอ้างว่าเป็นนักศึกษา จัดกิจกรรมโจมตีสุรพล ซึ่งหลังจากข่าวถูกตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ ในวันต่อมาปราบ รักไฉไล ได้ส่งหลักฐานการเป็นนักศึกษาไปให้สื่อมวลชน รวมถึงจดหมายรับรองจาก รองศาสตราจารย์พิภพ อุดร โดยปราบ กล่าวว่าตนใช้ชื่อจริง แต่กลัวภัยจากกลุ่มล่าแม่มดจึงจำเป็นต้องใช้นามสกุลแฝง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น