บทวิเคราะห์ หน้าที่ 5
จาก RED POWER ฉบับที่ 20 ปักแรก ตุลาคม 2554
โดย นายวิจัย ใจภักดี
19 กันยายน 2554 ครบ 5 ปี การรัฐประหารที่ไม่สะเด็ดน้ำ ด้วยเกิดกระบวนการต่อต้านของประชาชน “ดื้อเงียบโมเดล” จนถึง “เสื้อแดงโมเดล” ทำให้ 5 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยคือเข้าสู่ยุค “ร้อยบุบผาบานพร้อมพักตร์ร้อยสำนักประชันเสียง” เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางที่สุดจนเกิดภาวะตาสว่างทั่วราชอาณาจักรว่า
ปัญหาที่แท้จริงของการยึดอำนาจที่คณะรัฐประหารใช้อ้างเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นปัญหามิได้เกิดจากตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่อยู่ที่ใคร ? และเพราะอะไร?
ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยโปรดติดตามประเด็นสำคัญต่อไปนี้เพื่อให้เกิดความรู้ที่เป็นจริงต่อสถานการณ์การรัฐประหารและเตรียมการเผชิญกับปัญหาวิกฤติการเมืองในอนาคตที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน
ข้อมูลที่นำมาเรียงร้อยต่อไปนี้ โปรดใช้หลักกาลามสูตร พิจารณาด้วยวิจารณญาณของท่านเอง
ภาวะระส่ำระส่ายการเมืองไทยยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ
ไม่อาจจะปฏิเสธได้เลยว่าประเทศไทยไม่เคยเกิดภาวะความสงบทางการเมืองเลยตลอดระยะเวลาเกือบ 80 ปี นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เกิดภาวะการขัดแย้งอย่างเข้มข้น นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ปี 2489 เป็นต้นมา หลักฐานที่ยืนยันและฟ้องตัวเองคือเกิดการรัฐประหารแย่งชิงอำนาจในโครงสร้างส่วนบน หรือนัยหนึ่งคือความขัดแย้งในฝ่ายอำมาตย์ด้วยกันและระหว่างฝ่ายประชาชนกับอำมาตย์ โดยมีเหตุการณ์รัฐประหารรวม 21 ครั้ง และมีการฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ (ขยันฉีกขยันร่าง) รวม 18 ฉบับ โดยฉบับแรก 2475 ใช้จนถึง 2490 นอกนั้นฉีก 17 ฉบับ อยู่ในยุคหลังจากเปลี่ยนรัชกาลเข้าสู่รัชกาลปัจจุบัน นอกจากนี้เกิดการลุกขึ้นของประชาชนเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการของรัฐบาลครั้งใหญ่ด้วยจิตสำนึก เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จนถึงขั้นเสียสละชีวิตอีก 5 ครั้งคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 , 6 ตุลาคม 2519 , พฤษภาทมิฬ 2535 , 12 – 13 เมษาเลือด 2552 และการสังหารเสื้อแดงที่เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา 10 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2553
เกิดข้อสรุปได้ชัดเจนจากภูมิหลังของวิกฤติการเมืองไทยก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือ ระบอบประชาธิปไตยของประชาชนยังไม่ตั้งมั่น ดังนั้นจึงเกิดการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในหมู่อำมาตย์กันเองด้วยกำลังอาวุธ โดยไม่เอาการลงคะแนนเสียงจากประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่นับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อนิสิตนักศึกษาประชาชนตื่นตัวลุกขึ้นทวงอำนาจของประชาชนในการปกครองตนเอง เหล่าอำมาตย์ก็สามัคคีหันหน้าเข้าหากันชั่วคราวแล้วรุมทำร้ายประชาชน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขากันเอง โดยโจมตีป้ายสีว่าคอมมิวนิสต์เข้าแทรกแซงการเมืองในระบอบรัฐสภาบ้างและที่อำมาตย์ไม่เคยเห็นด้วยเลยก็คือ ”ระบอบการเลือกตั้งของประชาชนเป็นความเลวร้าย” โดยมีทั้งนักวิชาการและสื่อสารมวลชนลูกสมุนอำมาตย์เป็นผู้คอยประโคมข่าวแล้วก็จะปิดท้ายรายการด้วยการใช้กำลังทหาร (ที่ถนัดและเคยทำกันมา) เข้าทำการยึดอำนาจ ล้มพรรคการเมือง และสร้างกลไกทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้ระบอบการเลือกตั้งของประชาชนเกิดความมั่นคง เช่นการยุบพรรค ตัดสิทธิ์หัวหน้าพรรคพร้อมกรรมการ และถอดถอนส.ส.ให้เกิดขึ้นได้โดยง่าย
กล่าวโดยสรุป โดยส่วนลึกของหัวใจแล้ว มวลอำมาตย์ไม่ชอบระบอบอำนาจที่มาจากประชาชนโดยตรง
ก่อนหน้าที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะก้าวขึ้นตามกลไกของระบอบประชาธิปไตยของประชาชนพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติและกำลังจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้น ระบอบอำมาตย์ก็ป้ายสีแล้วทำลายด้วยการรัฐประหารเช่นกัน
แต่เมื่อเข้าสู่ยุครัฐธรรมนูญประชาชนฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นผลจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนกับรัฐประหารของ พลเอกสุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ก็เกิดความมั่นคงของระบอบพรรคการเมือง และระบอบประชาธิปไตยของประชาชนขึ้นและโดยผลแห่งรัฐธรรมนูญทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณก้าวขึ้นเป็นนายกฯคนแรกที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคการเมืองเดียวได้เป็นครั้งแรกสำเร็จนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 โดยมีเสียง ส.ส. ในสภาถึง 377 เสียง และด้วยจำนวนเสียงอย่างมั่นคงนี้ทำให้แกนนำอำมาตย์เกิดภาวะวีนแตก และพรรคประชาธิปัตย์ที่ปกปิดตัวเองมานานก็เปิดโปงตัวเองว่า 60 กว่าปีที่ผ่านมาเนื้อแท้คือพรรคลูกสมุนอำมาตย์ก็เกิดภาวะวีนแตกตามมา ด้วยการถูกใช้ให้เข้าร่วมก่อจลาจลกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อช่วงชิงอำนาจให้อยู่ในอุ้งมือของอำมาตย์ต่อไป แต่ประชาชนเกิดภาวะตาสว่างจึงไม่ยินยอม จึงเกิดภาวะต่อต้านในขอบเขตทั่วโลก
ดังนั้นปฐมเหตุแห่งการรัฐประการเมื่อ 19 กันยายน 2549 จึงไม่ใช่มาจากทักษิณ หากแต่มาจากโครงสร้างของระบอบอำนาจอำมาตยาธิปไตย ที่มีอำนาจตัวจริงคือ กองทัพที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทุกครั้งเมื่ออำนาจของฝ่ายประชาชนจะเริ่มตั้งมั่นและฝ่ายอำมาตย์กำลังเพลี่ยงพล้ำ
ส่วนปัจจัยความขัดแย้งเฉพาะบุคคลและเฉพาะสถานการณ์ในขณะนั้นก็มีส่วนสำคัญที่ต้องนำมาประกอบการวิเคราะห์ด้วย ดังจะกล่าวต่อไป
ข้อกล่าวหาทักษิณ 5 ปี พังทลายสิ้น
ความเก่งกาจของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กลายเป็นสายล่อฟ้าที่เร่งให้อำนาจนอกระบบตัดสินใจทำลายตัวทักษิณโดยปล่อยไว้ต่อไปไม่ได้ เนื่องจากเวลาฝ่ายอำมาตย์วิตกกังวลใกล้จะมาถึงและจำเป็นจะต้องเร่งควบคุมอำนาจ จากความสามารถในการบริหารจัดการ และการจัดทำนโยบายที่ก้าวหน้าและทันสมัยเพื่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกองทุนหมู่บ้าน , นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค และนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดอย่างได้ผล รวมถึงการสวมบทที่สามารถปฏิบัติตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนได้ทั้งหมด ทำให้คะแนนนิยมในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พุ่งกระฉูด และจากผลการเลือกตั้งรอบ 2 เป็นตัวชี้วัดคือชัยชนะอย่างท่วมท้นโดยได้จำนวน ส.ส. 377 เสียงจาก 500 เสียงในสภาสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้นี้เป็นผลให้อำนาจนอกระบบตัดสินใจทำลายทักษิณและพรรคไทยรักไทยด้วยเพราะ ทักษิณมิได้กุมเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น หากแต่กุมเสียงเกินครึ่งหนึ่งของทั้งสองสภารวมกัน (สองสภามีเสียงสมาชิกรวม 700 เสียง) เท่ากับทักษิณสามารถกุมการตัดสินใจตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้ทั้งหมด ดังนั้นความหวาดกลัวของใครบางคนที่มีอยู่เดิมแล้วได้พัฒนากลายเป็นความวิตกกังวล และนับจากนั้นสารพัดม๊อบและสารพัดข้อหาความผิดจึงถาโถมใส่พ.ต.ท.ทักษิณ ประดุจเป็นสายล่อฟ้า ไม่ว่าจะเป็นความผิดเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เริ่มต้นจากการทำบุญประเทศในวัดพระแก้ว , ความผิดเรื่องหวยบนดิน , ทุจริตกล้ายาง , ทุจริตสนามบิน และฆ่าประชาชน ตามนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด และเมื่ออำนาจนอกระบบเข้ายึดอำนาจแล้วก็มีการจัดตั้ง ค.ต.ส. (คณะกรรมการกินโต๊ะสหบาทา) ก็เกิดขึ้น โดยนำบุคคลที่ล้วนแล้วแต่เคยมีข้อพิพาทและเป็นคู่กรณีกับพ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อให้เล่นงานพ.ต.ท.ทักษิณสถานเดียว การสอบสวนสรุปคดีส่งฟ้องศาลดำเนินไปอย่างเร่งด่วนและมุ่งที่จะเอาผิดทักษิณให้ได้ เพื่อใช้เป็นชนักปักหลังให้ทักษิณตายทางการเมืองให้ได้ แต่แล้วก็เอาผิดตามข้อกล่าวหาที่รุนแรงไม่ได้แม้แต่คดีเดียว คงเอาผิดได้เพียงเรื่อง “ขี้หมา” คือลงนามรับรองสำเนาถูกต้องบัตรประชาชน เพื่อให้ภรรยาไปประมูลซื้อที่ดินรัชดาเท่านั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง (ศาลพิเศษศาลเดียวจบ) ได้ตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แทนที่คำพิพากษานี้จะ”ศักดิ์สิทธิ์” แต่นับวันจะกลายเป็น “ศักดิ์เสื่อม” ยิ่งศาลรัฐธรรมนูญแสดงตัวตัดสินให้สมัครออกจากนายกฯ เพราะทำกับข้าวแล้วตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน เอาสมชายออกจากนายกฯซึ่งแสดงออกชัดว่ามีเป้าหมายชัดเจน คือจะไม่ให้คนใกล้ชิดทักษิณเป็นนายกฯเลยยิ่ง ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษาที่เกี่ยวกับคดีการเมืองไม่ว่าจะเป็นเรื่องยุบพรรค ตัดสิทธิ์ หรือยึดทรัพย์ทักษิณ กลายเป็นคำพิพากษา“ศักดิ์เสื่อม” และยิ่งทำให้ฐานะของทักษิณได้รับความเห็นอกเห็นใจจากประชาชนมากขึ้น หลักฐานที่สนับสนุนข้อสมมุติฐานนี้ คือ ปรากฏการณ์ยิ่งลักษณ์ จากคนที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับวงการการเมืองเลย กลับสวมบทก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศได้ภายในเวลา 45 วัน เพียงเพราะมีนามสกุลเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคะแนนเสียงที่คุณยิ่งลักษณ์ได้รับนั้นส่วนที่เป็นหลักมาจากความเห็นอกเห็นใจอันเป็นพลังแห่งทักษิณ
ชัยชนะของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประชาชนไม่เชื่อในข้อกล่าวหาที่คณะรัฐประหารกระทำต่อ พ.ต.ท.ทักษิณตลอดระยะเวลา 5 ปี
การปรากฏตัวของพลเอกเปรมที่มีนัยสำคัญต่อการรัฐประหาร
การปรากฏตัวของพลเอกเปรมถือเป็นความสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคนี้ที่ไม่อาจจะมองข้ามได้
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะประธานองคมนตรี โดยวัฒนธรรมการเมืองถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณธรรมและจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแต่ในความเป็นจริงบทบาทของพลเอกเปรมกลับมีบทบาททางการเมืองที่มีลักษณะฝักฝ่ายที่แตกต่างจากประธานองคมนตรีท่านก่อนเช่น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เคยปฏิบัติมาอย่างน่านับถือ รูปธรรมที่ต้องให้ความสำคัญเกิดขึ้นตั้งแต่กลางดึกของคืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 ก่อนการรัฐประหารด้วยการที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวพาดพิงถึงท่านประธานองคมนตรีพลเอกเปรม ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าว่า “เราชนะแล้ว เพราะสามารถยื่นหนังสือขับไล่ทักษิณได้ 3 ฉบับสำเร็จ คือฉบับที่ 1 ยื่นให้แก่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ณ ที่บ้าน 4 เสา , ฉบับที่ 2 ยื่นให้แก่ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้น และฉบับที่ 3 ยื่นให้แก่สำนักพระราชวัง” ในคืนกลางดึกของวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่พลเอกสนธิทำการยึดอำนาจ พลเอกเปรมก็เป็นผู้นำคณะรัฐประหารอันได้แก่ ผู้นำเหล่าทัพทั้งหลายเข้าเฝ้าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ แต่หากใครจะมองว่าการกระทำดังกล่าวของพลเอกเปรมเป็นความจำเป็นในฐานะผู้ใหญ่ของประเทศก็อาจจะมีเหตุผล แต่หากจะพิจารณาบทบาทของพลเอกเปรมอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นก็เห็นได้ว่าไม่อาจจะสรุปเป็นอย่างอื่นได้เลยนอกจากว่าพลเอกเปรมนั่นแหละคือหัวหน้าคณะรัฐประหารตัวจริงเพราะนับแต่ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ทูลเกล้าเสนอผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีและทีมงานผู้บริหารในรัฐบาลของคณะรัฐประหารที่นำโดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ทั้งหมดล้วนเป็นคนใกล้ชิดพลเอกเปรมทั้งสิ้น ไม่มีคนของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เลย และข้อเท็จจริงก็ปรากฏด้วยว่าเมื่อพลเอกสนธิ เกษียณอายุราชการแล้วเพียงแค่จะขอเข้ามาถืออำนาจในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ และหากจะมองการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นหัวใจของอำนาจก็ยิ่งเห็นชัดเพราะประธานยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือ นายประสงค์ สุ่นศิริ ที่ไม่เพียงแต่มีฐานะเป็นลูกป๋าแต่หากเป็นลูกกระเดือกของพลเอกเปรมอีกด้วย เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลของคณะรัฐประหารขึ้นแล้วพลเอกเปรมก็แสดงออกถึงการสนับสนุนอย่างเปิดเผยด้วยการกล่าวชื่นชม พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่า “เป็นนายกฯเชอร์ชิล” แห่งอังกฤษ
แม้หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้วก็เกิดการรัฐประหารเงียบขึ้นอีกด้วยการล้มรัฐบาลนายสมัครและรัฐบาลนายสมชาย แล้วนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลรัฐประหารเงียบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลเอกเปรมก็แสดงบทบาทเกินความเหมาะสมต่อตำแหน่งองคมนตรีอันเป็นตำแหน่งที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพยำเกรงของประชาชน ด้วยการเปิดบ้านต้อนรับค.ร.ม.ของนายอภิสิทธิ์พร้อมออกปากชมนายอภิสิทธิ์อย่างออกหน้าออกตาว่า “ประเทศไทยโชคดีที่ได้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ” พร้อมทั้งให้คณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ทุกคนถ่ายรูปร่วมกับพลเอกเปรม ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวนี้เป็นการแสดงออกอย่างมีนัยสำคัญว่า พลเอกเปรมมีบทบาทต่อการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 และการใช้วิธีรัฐประหารเงียบตลอดระยะเวลา 5 ปี ต่อจากนั้นโดยล้มรัฐบาลที่ท่านไม่พึงพอใจคือรัฐบาลสมัคร – สมชาย จนกระทั้งจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่ท่านพึงพอใจขึ้นมา ยิ่งเป็นการยืนยันถึงบทบาทสำคัญของท่านในฐานะตัวจริงเสียงจริง
การปรากฏตัวของตุลาการที่มีนัยสำคัญต่อการรัฐประหาร
การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการรัฐประหารครั้งแรกของประเทศไทยก็ว่าได้ ที่มีลักษณะพิเศษที่สุดไม่เหมือนครั้งใดที่ผ่านมานั่นคือ ผู้พิพากษาระดับสูงที่มีอิทธิพลต่อระบบตุลาการได้แสดงตัวเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐประหารด้วย นับตั้งแต่ก่อน 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบันที่นักวิชาการสอพลอให้การยกย่องว่าเป็น”ตุลาการภิวัฒน์”
บทบาทของผู้พิพากษาดังกล่าวข้างต้นเริ่มตั้งแต่ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้นและเลขานุการคู่ใจ นายจรัญ ภักดีธนากุล รวมทั้งนายอักขราธร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด เข้าร่วมวางแผนการรัฐประหารกับพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ที่บ้านนายปีย์ มาลากุล (จากการเปิดเผยของพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ซึ่งร่วมนั่งประชุมด้วย) หลังจากการรัฐประหาร นายจรัญ ภักดีธนากุล ผู้พิพากษาผู้ใกล้ชิด นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ก็ได้รับตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ในขณะที่นายชาญชัย จากประธานศาลฎีกาก็มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วยกัน และนายจรัญก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญอีกคนหนึ่งที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ที่รักษาอำนาจของคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตัวจริงไว้ด้วยการสร้างระบบการแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาขึ้นมาควบคุมรัฐบาลที่มาจากประชาชน และวางอำนาจให้องค์กรอิสระครอบงำอำนาจประชาชนโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง และให้มีอำนาจอยู่ยาวนานถึง 9 ปี ได้แก่ องค์กร ปปช. รวมทั้งอำนาจของผู้บริหารศาลก็ให้มีอำนาจอยู่เกินเกษียณอายุจาก 60 ปี ขยายเป็น 70 ปี โดยไม่ต้องออกจากอำนาจในการบริหารกระบวนการยุติธรรมและที่สำคัญที่สุดก็คือ ร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจล้มรัฐบาลของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งได้ และมีอำนาจยาวนานถึง 9 ปี แล้วก็แสดงบทบาท “คำพิพากษา” ที่กลายเป็น “คำพิพากเสื่อม” ด้วยการตัดสินล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ด้วยข้อหาทำกับข้าวออกโทรทัศน์ และตัดสินล้มรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ด้วยการยุบพรรคอย่างรวดเร็วและฉุกละหุก ตามแผนการรัฐประหารเงียบ เพื่อจะจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาเป็นต้น อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังแสดงบทบาทชัดเจนในการประสานงานกับอำนาจนอกระบบในการคุ้มครองรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่ทหารร่วมจัดตั้งขึ้น ด้วยการตัดสินยุบพรรคทุกพรรคที่ผ่านมาในฝ่ายของพรรคการเมืองที่มารวมกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลกับนายสมัคร สุนทรเวช แต่ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆที่ข้อหาชัดเจนเช่นกัน การปรากฏตัวของผู้พิพากษาที่มีฐานะเป็นผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูงมิได้มีลักษณะเฉพาะตัว แต่หากมีลักษณะเป็นกระบวนการดังจะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี นับแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กลไกของระบบตุลาการยังแสดงบทบาท 2 มาตรฐานแห่งดุลพินิจที่มีลักษณะเลือกฝ่ายระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองอย่างชัดเจนจะเห็นได้ว่าถ้าหากเป็นคดีของเสื้อแดงเริ่มต้นจะไม่ได้รับการประกันตัวและพิจารณาลงโทษอย่างรวดเร็ว แต่คดีของฝ่ายเสื้อเหลืองไม่ว่าจะร้ายแรงขนาดไหน เช่น การยึดสนามบิน ยึดทำเนียมรัฐบาล และยึดสถานีโทรทัศน์ NBT เริ่มต้นจะได้รับความปราณีด้วยการประกันตัวก่อน จนกระทั้งถึงขณะนี้แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยตามรูปแบบแล้ว แต่เนื้อแท้แนวคิดเผด็จการ 2 มาตรฐานยังดำรงอยู่ ยังเห็นได้ชัดเจนว่าประชาชนฝ่ายเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีจากอดีตยังไม่ได้รับการประกันตัวอีกจำนวนมากเช่นนายสุรชัย แซ่ด่าน และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และเสื้อแดงระดับมวลชนอีกจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว บทบาทของกระบวนการตุลาการที่ถูกขนานนามว่า ”ตุลาการภิวัฒน์” นี้หากกล่าวถึงที่สุดแล้วก็คือการปกป้องจิตวิญญาณของการรัฐประการ 19 กันยายน 2549 และต่อต้านการกลับมาของอำนาจฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณจนถึงที่สุด และการตัดสินที่สำคัญและมีบทบาทกลายเป็นจระเข้ขวางคลองไม่ให้ทักษิณกลับเมืองไทย คือคำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ข้อหาลงนามรับรองสำเนาบัตรประชาชนถูกต้องให้ภรรยาซื้อที่ดินรัชดาและยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ใครคือตัวกระตุ้นให้เกิดขบวนการตุลาการภิวัฒน์? จนส่งผลให้ผู้พิพากษาอาวุโสหลายคนกล้าท้าทายหลักนิติธรรมถึงเพียงนี้ ? เป็นคำถามที่หากผู้อ่านค้นพบเมื่อไรก็จะรู้ทิศทางของการเมืองไทยอย่างชัดแจ้ง
การล้มรัฐบาลสมัคร – สมชาย : ผลแห่งตุลาการภิวัฒน์
การล้มรัฐบาลสมัคร – สมชาย ในทางประวัติศาสตร์ถือได้ว่าเป็นการรัฐประหารรูปแบบหนึ่ง เพราะเป็นการเปลี่ยนรัฐบาลที่มิใช่เป็นไปตามกลไกของระบอบรัฐสภา กล่าวคือ มิได้ใช้กลไกของสภาทำการเปลี่ยนรัฐบาล หากแต่ใช้กลไกของศาลที่มิได้มาจากประชาชนล้มรัฐบาลของประชาชน และใช้กระบวนการนอกกฎหมายด้วยการใช้มวลชนจัดตั้งประสานกับอำนาจทางการทหารและอำนาจศาลเปิดไฟเขียวให้มวลชนจัดตั้งทำการก่อจลาจลล้อมสภา , ยึดทำเนียบรัฐบาล , ยึดสนามบิน โดยไม่ผิดกฎหมาย จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จนถึงขณะนี้แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามกลไกการเลือกตั้ง โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ไม่อาจจะก้าวเข้าไปถ่วงดุลกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมของตุลาการได้ ดังจะเห็นได้ว่ากระบวนการแห่งอำนาจนอกระบบยังกางแขนกางขาปกป้องการกระทำผิดของมวลชนจัดตั้งเสื้อเหลือง ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรัฐประหารเงียบที่ผ่านมา โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่อาจจะดำเนินการทางกฎหมายได้ และบทวิเคราะห์นี้ขอฟันธงว่าเรื่องการจลาจลด้วยการปิดล้อมสภา , การยึดสนามบิน และการยึดทำเนียบรัฐบาล ของกลุ่มพันธมิตรจะต้องกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งอย่างแน่นอน เหตุการณ์การล้มรัฐบาลสมัคร – สมชาย จึงเป็นเหตุการณ์ที่บอกความจริงถึงอำนาจของการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ว่าเกิดการผนวกอำนาจระหว่างทหารกับศาลเข้าด้วยกัน และแม้จะผ่านมา 5 ปี แล้วก็จริง แต่อำนาจของคณะรัฐประหารยังอยู่โดยสมบูรณ์ เพราะเนื้อแท้ของการรัฐประหาร 19 กันยา คือเนื้อแท้ของอำนาจรัฐตัวจริง – เสียงจริง ที่อยู่นอกระบบรัฐสภา ที่ทางวิชาการรัฐศาสตร์ขนานนามมายาวนานว่า “อำนาจนอกระบบ”
การสิ้นศรัทธาต่อระบอบตุลาการของไทยจึงกลายเป็นต้นทุนของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่แพงที่สุดที่เคยมีการรัฐประหารกันมาตลอดระยะเวลาเกือบ 80 ปี ดังนั้นการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติที่มีศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานเพื่อหาแนวทางฟื้นศรัทธาของระบบนิติธรรมของไทยจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่จะเดินได้ตลอดรอดฝั่ง หรือจะถูกทำลายไปพร้อมกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นเรื่องท้าทายที่ต้องติดตามกันต่อไป
การฆาตกรรมประชาชนกรณี ผ่านฟ้า – ราชประสงค์ เป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหาร
การต่อต้านการรัฐประหารของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ แท็กซี่ประชาธิปไตยที่เลือกวิธีการต่อต้านด้วยการขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถัง และต่อมาก็ตัดสินใจผูกคอตายประท้วง เป็นครั้งแรกที่คนไทยกล้าตัดสินใจเสียสละชีวิตอย่างทันทีทันใดด้วยความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่แทนที่หัวหน้าคณะรัฐประหารตัวจริงจะเกิดความสำนึกว่าประชาชนไทยได้เกิดการพัฒนาการด้านจิตสำนึกทางประชาธิปไตยถึงขั้นยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องสิทธิประชาธิปไตยของเขา พวกเขากลับดูถูกดูแคลนลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ว่าเกิดจากอาการทางประสาทแล้วในที่สุดการทำรัฐประหารเงียบด้วยการก่อจลาจลยึดทำเนียบรัฐบาล และยึดสนามบิน แล้วใช้กระบวนการทางศาลล้มรัฐบาลสมัคร – สมชาย ก็เกิดการต่อต้านในเส้นทางเดียวกับที่ลุงทองนวม ไพรวัลย์ เดินมา แต่คราวนี้มาในลักษณะการเคลื่อนไหวของมหาชนในเหตุการณ์เมษาเลือด 2552 แม้จะถูกปราบอย่างรุนแรงแต่ก็ไม่มีใครเกรงกลัว และในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 ประชาชนก็ลุกฮือขึ้นต่อต้านการบริหารอำนาจของรัฐบาลอภิสิทธิ์หุ่นเชิดของอำนาจเผด็จการอีก ด้วยการเรียกร้องให้ประกาศยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ลูกสมุนเผด็จการ กลับดูถูกดูแคลนการชุมนุมของผู้รักประชาธิปไตยว่าเป็นเพียงลูกจ้างของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งไม่ต่างจากที่หัวหน้าคณะรัฐประหารพลเอกสนธิเคยดูถูกลุงทองนวม ไพรวัลย์ ,พวกเผด็จการจึงตัดสินใจกำจัดพวกทักษิณด้วยใช้วิธีการปราบปรามด้วยความรุนแรงมีคนตาย 91 ศพ และบาดเจ็บมากกว่า 2,000 คน ซึ่งเป็นการใช้ความรุนแรงที่โหดเหี้ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ต่อประชาชน แต่แทนที่รัฐบาล,ทหาร,ศาล และสื่อมวลชน จะสำนึกต่อบาปที่กระทำต่อประชาชน เหตุการณ์กลับกลายเป็นการใส่ร้ายอย่างออกหน้าออกตาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและไม่ได้รับการปราณีหรือเมตตาใดๆจากกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยเลย รวมตลอดถึงสื่อมวลชนบางกลุ่มก็แสดงตนเป็นซาตานผู้กระหายเลือดลงข่าวใส่ร้ายผู้ตายและบาดเจ็บอย่างขาดสำนึกทางมนุษยธรรมอย่างผิดสังเกต รวมทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็สวมบทของซาตานร่วมด้วย
การตายและบาดเจ็บจำนวนมากของประชาชนนี้ ได้กลายเป็นตราบาปของระบอบอำมาตย์ที่ยากจะลบเลือนได้อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยทำมาแล้วหลายครั้งอย่างโหดเหี้ยมในอดีตที่ผ่านมา
ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดก็คือบทบาทของพลเอกเปรมในฐานะสัญลักษณ์แห่งคุณธรรมที่พึ่งของประชาชนกลับนิ่งเฉยต่อการฆ่าประชาชนอย่างโหดร้ายนี้ ซึ่งถ้าหากจะเปรียบกับเหตุการณ์วิกฤติพฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 จะเห็นได้ชัดว่าพลเอกเปรมได้แสดงบทบาทประธานองคมนตรีที่เปี่ยมคุณธรรมที่อ้างว่ากระทำเพื่อแก้ปัญหาชาติ ด้วยการนำพลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง คู่ขัดแย้งเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี 2535 แต่สำหรับในเหตุการณ์เมษา – พฤษภาเลือดที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ ปี 2553 พลเอกเปรมกลับมิได้แสดงบทบาทห่วงใยต่อชีวิตของประชาชน
ดังนั้น การฆาตกรรมประชาชนอย่างโหดร้ายด้วยหน่วยสไนเปอร์ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ โดยรัฐบาลไม่แสดงความเมตตาใดๆต่อผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากเลยนั้น เป็นการบ่งบอกที่ชัดเจนถึงภาวะแห่งอำนาจของรัฐบาลว่ามิใช่เป็นรัฐบาลที่อยู่บนพื้นฐานของจิตสำนึกแห่งประชาชน หากแต่เป็นรัฐบาลที่อยู่บนพื้นฐานของจิตสำนึกแห่งอำนาจที่อยู่เหนือประชาชนซึ่งก็สมกับที่มาของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นในค่ายทหาร ซึ่งประวัติศาสตร์กำลังรอการพิสูจน์ว่าโดยส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์เองกล้าที่จะสั่งการฆ่า ทำร้าย ประชาชนนี้ไหม และถ้าไม่กล้า ใครคือผู้สั่งการตัวจริง
บทสรุป
หากได้ติดตามบทบาทของตัวละครทั้งตัวเก่าและตัวละครใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อรับลูกอย่างต่อเนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 ปี ที่มีความรุนแรงถึงขั้นฆาตกรรมประชาชนกลางกรุงเทพ ประกอบกับภูมิหลังความเป็นมาของประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็จะเห็นชัดว่า บทบาทของพลเอกเปรมจากบุคคลศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นคน”บุคคลศักดิ์เสื่อม”และบทบาทของกระบวนการตุลาการที่มีลักษณะคำพิพากษากลายเป็น “คำพิพากเสื่อม” เช่นนี้เป็นเรื่องที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะต้องบันทึกไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้วิเคราะห์วินิจฉัยหาเหตุผลกันต่อไป ว่าสาเหตุที่แท้จริงที่เกิดการรัฐประหารไม่ได้เกิดจากตัวพ.ต.ท.ทักษิณอย่างแน่นอนแต่เกิดจากใคร ?และใครคือหัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ตัวจริงกันแน่ แต่ที่แน่ๆผู้นำกองทัพอย่างพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน มีฐานะเป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกใช้เท่านั้น
ภาวะแห่งความผิดปกติของระบบการเมืองไทยในช่วง 5 ปีมานี้ เป็นภาวะเสื่อมอย่างยิ่งของระบอบการเมืองไทยที่กำลังบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อันเป็นผลจากภาวะความเสื่อมของระบอบที่เป็นกฎแห่งธรรมชาติอันเป็นเนื้อแท้ของภาวะความไร้ระเบียบของสังคมไทยที่ฟักตัวมายาวนาน