Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ถึงเวลาอวสาน ประชาธิปัตย์ในยุคการนำของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ?

บทความจาก Siam Intelligence
http://www.siamintelligence.com/the-end-of-abhisit-era/

เมื่อ 12 ปีก่อนสปอร์ตไลท์ดวงใหญ่ในวงการการเมืองจับไปที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นักการเมืองหนุ่มปูมหลังดี หน้าตาดี มีการศึกษาระดับสูง และเป็นความหวังของการเมืองไทยยุคใหม่ ที่ในขณะนั้นยังเต็มไปด้วยผู้เฒ่าทางการเมืองหัวโบราณ ด้วยความมุ่งมั่นและจริงจังทำให้ชื่อของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนนี้ในรัฐบาลชวน หลีกภัย 2 ผุดปรากฏขึ้นมาว่าจะเป็นผู้สืบทอดทางการเมืองของชวน หลีกภัย

บางคนบอกว่าเขานี่แหละคือผู้ที่จะนำพรรคประชาธิปัตย์ สถาบันทางการเมืองที่เก่าแก่ยาวนานไปสู่ยุคผลัดใบ หลายคนยังให้ทัศนะว่า สักวันหนึ่งนักการเมืองหนุ่มคนนี้จะก้าวถึงตำแหน่งสูงสุด คือเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

ปูมหลังอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับการเมืองมวลชนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ในระยะหลังมานี้หลายคนอาจรู้สึกว่าพรรคประชาธิปัตย์เล่นเกมเคลื่อนไหวมวลชนสู้กับพรรคเพื่อไทยไม่ได้ แต่หากย้อนหลังไปเมื่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 พรรคประชาธิปัตย์เคยมีประวัติร่วมเคลื่อนไหวกับม็อบที่ต่อต้านคณะรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราปะยูร อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะวาทกรรม พรรคเทพ-พรรคมาร ที่กล่าวหาพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลกับทหารว่าเป็นพรรคมาร ซึ่งต่อมาภายหลัง เมื่อพรรคมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลของตัวเองกลับโดนโจมตีว่าเป็นการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารเช่นกัน

เมื่อครั้งเป็นส.ส.หน้าหยก ขวัญใจแม่ยก
ในเวลานั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีอาชีพเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้มีส่วนเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิตนักศึกษา ถ้าหากเอ่ยชื่อแกนนำในยุคนั้น ปัจจุบันหลายคนก็เติบใหญ่เป็นผู้ที่บทบาททางสังคม เช่น กรุณา บัวคำศรี ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อ.ส.ม.ท. และปริญญา เทวนฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬยุติลง พรรคประชาธิปัตย์ได้สร้างวาทกรรม จำลองพาคนไปตาย เพื่อลดฐานเสียงของพรรคพลังธรรมที่กำลังร้อนแรง จากการที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยก่อนหน้านั้น และในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์พิชิตชัย มหาจำลองพล.ต.จำลอง ศรีเมือง จนได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 1 และต้องบันทึกว่าในครั้งนั้นเป็นชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนับถึงวันนี้ก็ผ่านมา 20 ปีเต็ม

อย่างไรก็ตามพื้นที่กรุงเทพมหานครตอนนั้นเกิดกระแส จำลองฟีเวอร์พรรคพลังธรรมกวาดที่นั่งในกรุงเทพฯ ครองใจชนชั้นกลาง ม็อบมือถือเป็นอย่างมาก ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เหลือที่นั่งในกรุงเทพฯ เพียงเขตเดียว คือ เขตยานนาวา ซึ่งเป็นเก้าอี้ของนักการเมืองหนุ่มหน้าตาดี มีชาติตระกูล หัวสมัยใหม่ในวัยเพียง 27 ปี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก และเป็นก้าวแรกทางการเมืองของอภิสิทธิ์

อภิสิทธิ์ สั่งสมประสบการณ์ทั้งการเป็นพรรครัฐบาล และการเป็นฝ่ายค้านในสมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา เรียนรู้วิชาและเกมทางการเมืองจนมีฝีมือกล้าแข็ง สร้างความน่าเชื่อถือจากสังคมเป็นอย่างมาก และเมื่อรัฐบาลพรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประสบปัญหาค่าเงินบาทลอยตัวและโรคต้มยำกุ้งจนไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็อาศัยเกมส์การเมืองและ งูเห่าของพรรคประชากรไทย จนแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคชาติพัฒนา ของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณได้สำเร็จ

อภิสิทธิ์ชิมลางงานบริหารในสมัยรัฐบาลชวน 2 ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วยผลงานที่โดดเด่นเช่น เสนอพระราชบัญญัติการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ที่มีการให้จัดตั้งหน่วยงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีขึ้น และด้วยวิสัยทัศน์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ กล้าคิด บุคลิกดี เป็นกันเอง ทำให้ครองใจของกองเชียร์พรรคประชาธิปัตย์ บวกกับแรงผลักดันของ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ทำให้ความโดดเด่นยิ่งมากขึ้น เขาก้าวขึ้นจุดสูงสุดเมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ในวัย 44 ปี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 60 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27

การพ่ายแพ้จากการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ต่อพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้นายชวน หลีกภัย ตัดสินใจผลัดใบ เปิดโอกาสเพื่อให้มีการสรรหาหัวหน้าพรรค ซึ่งอภิสิทธิ์ได้ลงสมัครแข่งกับนาย บัญญัติ บรรทัดฐาน แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับความเก๋าและสายสัมพันธ์ภายในพรรค จนเมื่อเกิดการเลือกตั้งในปี 2548 นายบัญญัตินำพรรคแก้การเลือกตั้งแบบ แลนด์สไลด์ต่อทักษิณอีกคำรบ ที่ทำให้พรรคไทยรักไทยกลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียวครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อนั้นโอกาสของอภิสิทธิ์ก็มาถึงเมื่อได้รับโอกาสให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

ก้าวที่พลาดของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับจังหวะที่ไม่มีโอกาสแก้ตัว

ในขณะที่เริ่มขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีต้นทุนทางสังคมและการเมืองเป็นอย่างมาก เขาถูกมองว่าจะเป็นคนที่ขึ้นมาต่อกรกับทักษิณได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ แต่แล้วเขากลับทำโอกาสต่างๆ หลุดลอยไป

นี่คือการประมวลเหตุการณ์ที่ทำให้อภิสิทธิ์เสียสถานะทางสังคมที่เคยมีอยู่สูงไป

1. ในปี 2549 เคลื่อนไหวบอยคอตการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน ร่วมกับอีกสองพรรคการเมือง ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง ทักษิณประกาศไม่ขอเข้ารับตำแหน่ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินเกมนอกสภา ขอ นายกรัฐมนตรีพระราชทานเพื่อปลดล็อกทางการเมือง ซึ่งต่อมากลายเป็นจุดที่ถูกคู่ต่อสู้ทางการเมืองโจมตีว่าไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และมีฉายา มาร์ค ม.7″ ติดตัวมาแต่บัดนั้น

2. ในปี 2549-2550 ไม่ได้แสดงเจตจำนงในการต่อต้านคณะรัฐประหาร คมช. โดยแสดงท่าทีนิ่งเฉย กลายเป็นข้อโจมตีว่าได้รับประโยชน์จากการยุบพรรคไทยรักไทย และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก่อนมีการเลือกตั้งได้มีการประกาศเป็นพันธมิตรกับพรรคชาติไทยและพรรคชาติพัฒนาเพื่อที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันล่วงหน้า แต่แล้วการพ่ายแพ้การเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ทำให้พรรคแนวร่วมย้ายไปจับขั้วกับพรรคพลังประชาชนของนาย สมัคร สุนทรเวช ตั้งรัฐบาลแทน

3. ในปี 2551 หลังจากที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลของพรรคพลังประชาชนอย่างเข้มแข็ง อภิสิทธิ์ ก้าวสู่จุดสูงสุดทางการเมือง เมื่อเป็นผู้นำฝ่ายค้านในการอภิปรายรัฐบาลของนายสมัคร อภิปรายในสภาว่า

เมื่อมีประชาชนเพียง 1 คน หรือแสนคน มาเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตัวเองนั้น ไม่ได้ขัดหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะถ้ามีข้อสงสัยว่าการบริหารประเทศนั้นละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิประชาชน หรือทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องเหล่านี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่รอให้กฎหมายจัดการ แต่จะมีสำนึกความรับผิดชอบทางการเมือง

และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ในกรณีให้มีการสลายการชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภาจนมีผู้เสียชีวิต 2 คนว่า

ไม่มีที่ไหนในโลกที่ประชาชน ถูกทำร้ายจากภาครัฐแล้วรัฐบาลที่มาจากประชาชนไม่แสดงความรับผิดชอบ ไม่มี

แต่เมื่อเกิดการชุมนุมเรียกร้องในปี 2552-2553 ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนมีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 100 คน อภิสิทธิ์ก็ยังเดินหน้าดำรงตำแหน่งอีก 1 ปีกว่าจนประกาศยุบสภาในช่วงพฤษภาคม 2554 และพ่ายแพ้การเลือกตั้งในที่สุด ทำให้เกิดคำถามว่า เขาพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยเชื่อ หรือ เขาไม่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองพูด?”

4. ในปี 2551 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีการตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคชาติพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เดินเกมส์การเมือง งูเห่าภาคสอง ดึงบางส่วนของพรรคพลังประชาชนในโควตาของเนวิน ชิดชอบ ที่กลายร่างเป็นพรรคภูมิใจไทยในการจัดตั้งรัฐบาล รวมไปถึงพรรคเก่าในนามใหม่ที่ถูก ข้อเสนอที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ให้ร่วมรัฐบาลจากปากคำของคนตระกูลศิลปอาชา

รัฐบาลอภิสิทธิ์เริ่มต้นด้วยคำประกาศนโยบาย “99 วันทำได้จริง แต่ก็ไม่สามารถทำได้มากนัก เช่น ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งในยุคของอภิสิทธิ์ได้มีการใช้เครื่อง LRAD หรือเครื่องบีบแก้วหูสลายการชุมนุมของพนักงานไทรอัมพ์ฯ จนถูกประณามว่าละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ในยุคนี้ยังมีการปิดกั้นเสรีภาพทางการแสดงออกอย่างกว้างขวาง ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์มักโจมตีพรรคคู่แข่งว่าใช้อำนาจแทรกแซงสื่อ จะเห็นได้จากการเอื้อประโยชน์ให้กับเครือข่ายสื่อมวลชนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เช่น เครือเนชั่น (ในกรณีข่าวข้นคนข่าว และ เช้าข่าวข้นคนข่าวเช้า ที่เพิ่งถูดถอนโดยอ้างว่าเป็นวาระการเมือง ซึ่งตอนที่ได้สัมปทานก็เป็นวาระทางการเมืองเช่นกัน) และเครือทีนิวส์ (ในกรณี NBT) ที่ได้สัมปทานรายการข่าวของรัฐ การอัดฉีดงบประชาสัมพันธ์จนสำนักนายกรัฐมนตรียุค สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ติดอันดับที่ 10 องค์กรที่ใช้งบประชาสัมพันธ์มากที่สุด รวมไปถึงการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง

การดำเนินนโยบายที่ล้มเหลวจนกลายเป็นที่มาของคำว่า ดีแต่พูดของจิตรา คชเดช แกนนำกลุ่มแรงงานไทร์อาร์ม และเป็นเหตุให้พ่ายแพ้ทางการเลือกตั้งต่อพรรคเพื่อไทยในภายหลัง

5.ในปี 2552-2553 จากเหตุการณ์ทางการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง รัฐบาลอภิสิทธิ์ตัดสินใจใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการเข้าสลายผู้ชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ถึงแม้จะประดิษฐ์วาทกรรม กระชับพื้นที่-ขอคืนพื้นที่ ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นการสังหารหมู่ 6 ศพที่วัดปทุมฯ หรือ ป้ายเขตใช้กระสุนจริงไว้ได้ อีกทั้งยังมีการจับกุมและตั้งข้อหานักโทษทางการเมืองจำนวนมาก โดยมีการประกาศกฏหมายพิเศษอย่างกว้างขวาง

6.ในปี 2554 หลังจากการพ่ายแพ้เลือกตั้งต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทยอย่างขาดลอย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้รักษาสัญญาด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ถ้าเขาจัดสินใจลงจากตำแหน่งในขณะนั้นอาจเป็นเรื่องที่ดี) แต่แล้วอภิสิทธิ์ก็ย้อนกลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง โดยในครั้งนี้มีส่วนในการเลือกกรรมการบริหารพรรคจากกลุ่มฐานอำนาจของตน ที่แยกส่วนเป็นเอกเทศจากกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เคยสนับสนุนตนเองในพรรค อภิสิทธิ์มักถูกติงจากผู้ใหญ่ในพรรคหลายๆ ครั้งในประเด็นต่างๆ ตลอดที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ดีแต่พูด กลายเป็นโลโก้ของพรรคประชาธิปัตย์ ยุคอภิสิทธิ์เสียแล้ว - ภาพจาก voice Tv
7.ในปี 2555 เมื่อมีการผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่รัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์ทิ้งโอกาสในการแสดงบทบาทฝ่ายค้านมืออาชีพ ที่เน้นการอภิปรายข้อบกพร่องของร่างฉบับดังกล่าวและหาแนวร่วมในการสนับสนุน เช่น กลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนที่มีความไม่พอใจในบางท่อนของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เลือกกลับเป็นเกมการเมืองแบบ ดิบ เถื่อน ถ่อยทั้งการขว้างปาสิ่งของ การแย่งเก้าอี้ประธานสภา และการเข้าล้อมประธานสภา ที่แย่ไปกว่านั้น นายอภิสิทธิ์กลับแถลงถึงกรณีดังกล่าวว่า

หากพรรคประชาธิปัตย์จะต้องเสียภาพลักษณ์ เพื่อสกัดกั้นกฎหมายทำลายชาติ ก็ต้องยอมรับ แม้จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคก็ยอม ถ้าสามารถสกัดกั้นความเสียหายที่จะเกิดจากร่างกฎหมายดังกล่าวได้ และขอตำหนิการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่พยายามรวบรัดการพิจารณา และปิดโอกาสการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายและต้นตอของปัญหาจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ

สรุปก็คือ อภิสิทธิ์พยายามจะแก้ต่างกับพฤฒิกรรมในสภาว่าเป็นการ เสียภาพลักษณ์เพื่อชาติคำอธิบายเหล่านี้ยิ่งทำให้คนเสื้อแดงฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ต้องหันมาปกป้องรัฐบาลที่พวกเขาเลือกเสียก่อน เรื่องถือว่าเป็นการเดินหมากที่ผิดพลาดอย่างมากของพรรคประชาธิปัตย์ และแม้กระทั่ง นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนาย สมเกียรติ อ่อนวิมล นักข่าวสาวกพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์ยังออกมาตำหนิ

ไม่ว่าการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่อนาคตทางการเมืองของอดีตนักการเมืองหนุ่มที่เคยเป็นความหวังของประเทศไทยน่าจะหลุดลอยไปแล้ว ถ้าหากนายอภิสิทธิ์ยังคงฝืนดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป ถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะเริ่มลดความนิยมลงในอนาคต แต่โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาครองอำนาจคงน้อยยิ่งกว่าหากไม่พึ่ง กลไกพิเศษแบบที่แล้วมา พรรคประชาธิปัตย์คงต้องเป็นฝ่ายค้านไปอีกนาน
SIU หวังว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเองในทางบวก ขึ้นมาเป็นที่พึ่งของประชาชนในการคานอำนาจกับพรรคเพื่อไทยให้จงได้ ถ้าทำไม่สำเร็จ คนไทยโดยรวมก็จะเสียประโยชน์ไปด้วย เพราะสภาพ การเมืองขั้วเดียวจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น