Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชามติ? พจนานุกรมฉบับตุลาการอภินิหาร


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 391 วันที่ 22-28 ธันวาคม 2555 หน้า 18 คอลัมน์  เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน

 


สิ่งสำคัญที่ผมต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศนี้ไปข้างหน้าอย่างสันติวิธี คือการช่วยกันหยุดความล้มเหลวทาง การเมือง ซึ่งลำพังผมและพรรค ประชาธิปัตย์ไม่สามารถที่จะดำ เนินการให้ประสบความสำเร็จได้

การยุติความล้มเหลวทางการเมืองโดยประชาชนเป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะช่วยให้ประเทศของเราก้าวข้ามอุปสรรค ที่ขวางทางบ้านเมืองมานานหลายปีไม่ให้เดินไปข้างหน้า นั่นคือความต้องการอยู่เหนือกฎหมายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยการร่วมกันล้มประชามติที่นายกฯ ผู้เป็นน้องสาว กำลังจะทำเพื่อรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หวังลบมาตรา 309 เพื่อล้มคดีทั้งหลายของพี่ชายนักโทษ

หากพี่น้องทำสำเร็จก็จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทย เปรียบเสมือนการปฏิวัติโดยประชาชนตามระบบที่ไม่เสี่ยงต่อการเสียเลือดเนื้อ เพื่อยืนยันว่าประชาชนและกฎหมายยิ่งใหญ่กว่าอำนาจเงินและอำนาจรัฐ
ผมและพรรคประชาธิปัตย์จะยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องประชาชนเพื่อนำบ้านเมืองไปข้างหน้า หลังจากที่เราติดหล่มผลประโยชน์ของคนคนเดียวจนบ้านเมืองเสียหายมานานหลายปี


มาร่วมกันคว่ำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนัก โทษ ก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ นำพาประเทศเดินไปข้างหน้า ผมและพรรคประชาธิปัตย์พร้อมร่วมสุขทุกข์กับพี่น้อง เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างราบรื่น ไร้ความรุนแรง เพื่ออนาคตที่มั่นคงของประเทศของเราสืบไป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนจดหมายเปิดผนึก จากใจถึงคนไทยทั้งประเทศปลุกกระแสให้กลุ่ม เกลียดทักษิณร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์คว่ำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลมีมติให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีความชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมขึ้นหรือไม่ โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่มีการแก้ไขเรื่องรูปของรัฐ รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์

แถลงการณ์พรรคร่วมรัฐบาลยืนยันว่า ไม่ว่าผลแห่งประชามติจะออกมาในทางใด ทุกฝ่ายต้องยอม รับว่ารัฐสภาทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญ ญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นประชา ธิปไตย และไม่สอดคล้องต่อหลักนิติธรรมได้ตลอดไป

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หยุดชะงักตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องจากกลุ่มบุคคลที่ยื่นคำร้องว่าการกระทำของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ แม้ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวหา แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็แสดงจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลซ้ำซากเดิมๆคือ ทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งที่พรรคร่วมรัฐบาลก็ยืนยันว่าต้องการแก้และสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชา ธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง

การทำประชามติที่จะกำหนดไว้ในปี 2556 จึงมีความหมายอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่การแก้หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน ไม่ใช่จากการทำรัฐประหารอย่างที่ผ่านมาตลอด 80 ปี

รัฐธรรมนูญร่างทรงเผด็จการ

เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ไม่ต่างกับร่างทรงเผด็จการ ซึ่งแค่มาตรา 309 มาตราเดียวก็ถือว่าหมดความเป็นประชาธิปไตย แต่พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มที่คัดค้านกลับเห็นว่าหากยกเลิกมาตรา 309 ก็เท่ากับล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แทนที่จะพูดถึงบทบัญญัติที่พิลึกพิสดารที่ว่า

บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ของหัวหน้าและคณะ... (คปค. หรือ คมช.) ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับ สนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

เป็นการบัญญัติบทนิรโทษกรรมครั้งแรกที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของคณะรัฐประหาร

การอ้างว่าถ้ายกเลิกมาตรา 309 รัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิด จึงต้องคัดค้านแบบหัวชนฝานั้น จึงสะท้อนว่ากลุ่มที่คัดค้านเห็นแก่ตัวอย่างยิ่งที่เอาคนคนเดียวมาแลกกับความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมือง ไม่ต่างอะไรกับ ยอมเผาบ้านเผาเมืองเพื่อฆ่าหนูเพียงตัวเดียว

ที่สำคัญการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่แค่มาตรา 309 แต่ต้องมีเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประเภทสรรหา ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน แต่ถูกยัดเยียดจากร่างทรงเผด็จการ เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่า ส.ว.ลากตั้งกลายเป็นพลังสำคัญในการต่อสู้กับนักการเมืองที่มาจากประชาชน รวมทั้งช่วยปกป้องผลประโยชน์ต่างๆของกลุ่มเผด็จการและฝักใฝ่เผด็จการอีกด้วย

หรือมาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง ซึ่งร่างทรงเผด็จการประกาศชัดเจนว่าต้องการลดอำนาจนักการเมืองและพรรคการเมือง ถือเป็นปัญหาต่อการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง โดยใช้องค์กรอิสระเป็นกลไกในการเอาผิดและตัดสิทธิทางการเมือง

ยังไม่นับองค์กรอิสระต่างๆในปัจจุบันที่มีที่มาจากการรัฐประหารและมีวาระอยู่ยาวนาน เพื่อรักษาอำนาจที่เกิดจากการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

รัฐธรรมนูญฉบับมดลูก คมช. หรือหน้าแหลมฟันดำ จึงเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆที่ปกป้องคนที่ละเมิดกฎหมาย โดยการออกกฎหมายนิรโทษฯตัวเองในการทำผิดและละเมิดกฎหมาย คนที่ปกป้องจึงไม่ต่างกับการร่วมกันกระทำผิดและเป็นฝ่ายตรงข้ามระบอบประชาธิปไตยที่ฝักใฝ่เผด็จการ ซึ่งเป็นพวก อีแอบและ แอ๊บขาวทั้งนักการเมือง นักกฎหมาย นักวิชาการ และกลุ่มการเมืองภาคประชาชน แต่พยายามยัดเยียดให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นพวก เผด็จการทุนสามานย์ที่ต้องกระชับอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

วาทกรรมโกหกตอแหล

ใบตองแห้งคอลัมนิสต์ชื่อดัง เขียนบทความลงในเว็บไซต์ ประชาไทเล่าเหตุการณ์ที่เคยสัมภาษณ์พิเศษนายอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2550 อยู่ในช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งฉบับร่างมาตรา 299 ตรงกับมาตรา 309 ในปัจจุบันนั้น นายอภิสิทธิ์แสดงความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีว่า

ก็นิรโทษฯไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ผมไม่เห็นความจำเป็น เพราะว่าตามประเพณีของเรา อะไรที่นิรโทษฯไปแล้วก็จบ เมื่อก่อนนี้มีพระราชกำหนดนิรโทษฯ พ.ร.ก. เข้าสภา สภาคว่ำ เขาก็บอกว่าไม่มีผลอะไร เพราะนิรโทษฯไปแล้ว เรามีประกาศคณะปฏิวัติ ประกาศคณะปฏิรูปตั้งกี่สมัย นี่ยังใช้อยู่เลย เรื่องสัมปทาน เรื่องอะไรต่ออะไร ทำไมจะต้องมาตระหนกตกใจว่า คมช. คปค. เดี๋ยวมีปัญหา ผมไม่เข้าใจ ไม่จำเป็นต้องมี มีแล้วเป็นปัญหาการเมืองเปล่าๆ ถ้าไปบอกว่า คปค. ทำไม่ชอบ อย่างนั้นรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ไม่ชอบ รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ชอบ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ชอบ เราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ในบ้านเราก็ตีความมาตลอดว่าพอใครปฏิวัติก็เป็นองค์อธิปัตย์ ยอมรับกันไป ก็จบไปแล้ว ไปเขียนไว้ให้ตำตาตำใจคนทำไมให้ทะเลาะกันอีก

ใบตองแห้งระบุเหตุผลที่นำบทสัมภาษณ์นี้ขึ้นมาทบทวนไม่ใช่แค่การ ตอกหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ยืนกรานไม่แก้ ไม่แตะ แต่ลึกลงไปคือบทเรียนน่าเศร้าของนักการเมืองที่ เล่นการเมืองแล้วไม่สามารถยืนหยัดในความคิดเห็นของตัวเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมไม่เข้าใจเลยว่าอภิสิทธิ์เอาคดีความที่ตัวเองต้องข้อหามาปลุกล้มประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ไง คนละเรื่องกันเลย

การใช้วาทกรรมกลับไปกลับมา หรือใช้วาทกรรม คนดีเพื่อตำหนิหรือทำลายฝ่ายตรงข้าม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกของนักการเมือง โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์เคยยกเรื่อง จริยธรรมและ ความรับผิดชอบทางการเมืองมาอภิปรายในสภาเพื่อให้นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พิจารณาตัวเองในการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีคนเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บนับร้อย

แต่เหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตที่มีคนตายถึง 99 ศพ และบาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน นายอภิ สิทธิ์กลับยืนยันว่าไม่ผิด ไม่ขอโทษ และไม่แสดงความ รับผิดชอบทางการเมืองใดๆ ทั้งยังพยายามกล่าวหาว่าเป็นความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณและ ชายชุดดำ

กกต. เตือนติดคุก-ยุบพรรค

ขณะที่นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรม การการเลือกตั้ง เห็นด้วยกับการทำประชามติก่อนจะลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพื่อลดความขัดแย้ง แต่ควรกำหนดประเด็นในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน

ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองและออกเสียงประชามติ เตือนนายอภิสิทธิ์ที่จะรณรงค์ให้ประชาชนล้มการจัดทำประ ชามติว่า อาจสุ่มเสี่ยงผิดต่อมาตรา 43 (3) ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2552 ที่ระบุว่า ห้ามผู้ใดหลอกลวง บังคับขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สำคัญผิดในวัน เวลาที่ออกเสียง หรือวิธีการลงคะแนนออกเสียง ซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น การกระทำใดที่ส่อเป็นความผิดอาจถูกร้องต่อ กกต. และศาลอาญาได้ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดทางอาญา

ถ้าประชาชนไม่ออกไปลงเสียงประชามติก็ไม่ถือว่าขาดสิทธิเหมือนการเลือกตั้งทั่วไป แต่หากมีบุคคลใดไปบังคับขู่เข็ญไม่ให้ออกไปใช้สิทธิตามระ บอบประชาธิปไตยถือว่ามีโทษทางกฎหมาย จึงอยากให้ฝ่ายที่ค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรรณรงค์ให้ประชา ชนออกไปลงเสียงประชามติและกากบาทในช่องไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติน่าจะดีกว่า และไม่เสี่ยงขัดกับหลักกฎหมาย หรืออาจมีผลถึงการยุบพรรค

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ตอบโต้นางนางสดศรี โดยเตือนว่าอย่ามาขู่ ถ้า กกต. ขู่ก็เท่ากับว่าทำผิดกฎหมาย กกต. มีหน้าที่ดูแลการทำประชามติไม่ให้มีการใช้อำนาจอิทธิพลไปข่มขู่ คุกคามให้ไปในทางใดทางหนึ่ง แต่การใช้เหตุผลเพื่อหักล้างกันคือกระบวน การประชาธิปไตยที่จะรองรับประชามติ จึงอยากให้ กกต. ตั้งหลักให้ดีและต้องเป็นกลาง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันมาตลอดว่าปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ยอมรับการรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยคดีของบางคน ซึ่งบังเอิญพรรคเพื่อไทยหลุดออกมาว่าจะทำอะไร เจตนารมณ์ในการทำประชามติคือทุกฝ่ายต้องมีเวทีในการแสดงเหตุผลได้

ทำไมปกป้องเผด็จการ?

นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ที่กล่าวหาว่าแก้ไขรัฐธรรม นูญทั้งฉบับหวังลบมาตรา 309 เพื่อล้มคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า ถือว่าบิดเบือนรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ตามขั้นตอนยังไม่มี ส.ส.ร. อีกทั้งการจัดทำประชามติต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และตั้งคำถามกับนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ว่าทำไมจึงพยายามปกป้องรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ทั้งที่เป็นผลพวงของการรัฐประหาร

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ เห็นว่าการรณรงค์คว่ำประชามติของนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ไม่เป็นความผิด ถือเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 69 บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี เพราะกฎหมายกำหนดลักษณะการกระทำที่เจาะจงคือ ต้องมีพฤติการณ์ใช้ประโยชน์จูงใจ หรือหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม ถ้าจะพอเป็นไปได้ก็อาจเป็นกรณีที่มีการหลอกลวง แต่ถ้ารณรงค์โดยอธิบายเหตุผลก็ถือว่าเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ที่น่าสนใจคือข้อเสนอของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลัก นิติธรรมแห่งชาติ (คอ.ธน.) เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรม นูญทั้งฉบับ ไม่ควรทำเป็นรายมาตรา เพราะจะทำให้กระทบกับอีกหลายมาตรา และไม่ควรใช้รูปแบบการตั้ง ส.ส.ร. เพราะขัดกับหลักนิติธรรมว่าด้วยความเสมอภาคและไม่เป็นธรรม เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีประชากรไม่เท่ากัน แต่มี ส.ส.ร. ได้จังหวัดละ 1 คน ทั้งอาจมีปัญหาเรื่องความเป็นตัวแทนของพรรคการ เมือง ซึ่งจะทำให้สถานการณ์บานปลาย แถมยังต้องใช้งบประมาณถึง 7,000 ล้านบาท และใช้เวลานาน 20 เดือน แต่ถ้าตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะใช้งบ ประมาณน้อยกว่า และใช้เวลาเพียง 15 เดือนเท่านั้น

เตะหมูเข้าปากหมา

ขบวนการล้มการลงประชามติหรือต่อต้านการแก้ไขของรัฐบาลจึงไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ได้มีเฉพาะ พรรคประชาธิปัตย์ แต่ยังมีกลุ่มเกลียดทักษิณที่จ้องล้มรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มเสื้อหลากสี และอีแอบ

การลงประชามติจึงอาจเป็นการ เตะหมูเข้าปากหมาหรือเหมือน เข็นครกขึ้นภูเขาอย่างที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี บอกว่าทำไมต้องทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ซึ่งแนวทางของตนเองจะเสนอแก้ไขเพียง 7 ประเด็น

การลงประชามติจึงกลายเป็น กับดักพรรคเพื่อไทยไปโดยปริยาย ทั้งยังต้องรณรงค์ให้ผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งคือ 24 ล้านคน จากตัวเลขล่าสุดของผู้มีสิทธิทั้งหมดประมาณ 48 ล้านคนเศษ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังอาจเข้าทางฝ่ายแค้นและฝ้ายค้านที่จะนำมาเป็นเงื่อนไขล้มรัฐบาลอีกด้วย

อย่างที่สื่อเหลืองกล่าวหาพรรคเพื่อไทยล่วงหน้า ไปแล้วว่าใช้ประชามติเพื่อเอาประชาชนเป็นหลังพิงเท่านั้น ถ้ามีปัญหาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้จะได้อ้างกับคนเสื้อแดงว่าได้ทำตามสัญญาแล้ว รัฐบาลและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

แต่ถ้าเสียงประชามติเกินกึ่งหนึ่ง ฝ่ายแค้นและฝ่ายค้านก็ไม่ยอมให้มีการแก้ไขตามที่พรรคร่วมรัฐบาล ต้องการ โดยเฉพาะมาตรา 309 ที่รับรองความชอบธรรมคณะรัฐประหารตลอดกาล อำนาจองค์กรอิสระที่ครอบงำฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ ส.ว.สรร หาที่ลากตั้งเข้ามาแล้วยังมีอำนาจเท่ากับ ส.ว.เลือกตั้ง

เมื่อมาพิจารณาถึงเงื่อนไขที่ว่าต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่ากึ่งหนึ่ง จากผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 48 ล้านคน หมายความว่าหากมีผู้มาลงคะแนนไม่ถึง24 ล้านคน การแก้รัฐธรรมนูญจะมีอันล้มพับไปทันที แต่ถ้าหากมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกิน 24 ล้านคน แล้วผลออกมาว่าคนส่วนมากที่มาใช้สิทธิเห็นด้วยให้มีการแก้รัฐธรรมนูญได้ ก็มิใช่ว่าเรื่องจะจบ เพราะเหล่าบรรดาผู้ต่อต้านและเหล่าผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เคยชนะประชามติด้วยวาทะที่ว่า รับๆไปก่อน ค่อยแก้ทีหลังก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกว่า คำว่า กึ่งหนึ่งหมายถึงจำนวนเท่าใดกันแน่?

จะ vote “YES”, vote “NO” หรือ “NO vote” ก็ล้วนแต่เป็นการเดินสู่ กับดักแห่ง ตุลาการภิวัฒน์

การทำประชามติของพรรคร่วมรัฐบาลจึงเป็นเส้นทางสุดโหดและเต็มไปด้วย กับดักที่อาจทำให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลล้มอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะขบวนการ ตุลาการอภินิหารที่มีอำนาจล้นฟ้าและพลิกแพลงได้อย่างแยบยล!

หรืออาจเห็นศาลรัฐธรรม นูญต้องตัดสินด้วยการเปิด พจ นานุกรมมาตีความอีกครั้ง!?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 391 วันที่ 22-28 ธันวาคม 2555 หน้า 18 คอลัมน์  เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น