Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

กรณี วีระ ราตรี จุดยืน ทรรศนะ วิธีการ อภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์

จาก มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 26 กันยายน 2554 หน้า3

มีความแตกต่างอย่างแน่นอนระหว่างรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือ นายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์

เป็นความแตกต่างบนพื้นฐานของ "ความพยายาม" เช่นเดียวกัน

รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันมี นายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็พยายาม

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันมี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็พยายาม

แต่ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับวิธีวิทยาแห่งการบริหารจัดการ

วิธีแห่งการบริหารจัดการอันแตกต่างกันสะท้อนมุมมองทางความคิดต่อความสัมพันธ์กับกัมพูชาที่แตกต่างกัน

มุมมองแตกต่างกัน ความคิดเห็นย่อมแตกต่างกัน วิธีการจัดการปัญหาก็แตกต่างกัน

ความแตกต่างกันเห็นได้จากการแต่งตั้ง นายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ความแตกต่างกันเห็นได้จากการแต่งตั้ง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ผลก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาปรากฏออกมาแตกต่างอย่างเด่นชัด

การแต่งตั้ง นายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รู้ทั้งรู้ว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชามีปัญหา

มีปัญหาเพราะว่า นายกษิต ภิรมย์ เคยวิพากษ์ประมุขแห่งกัมพูชาเสมอว่าเป็น "กุ๊ย"

มีปัญหาเพราะว่า นายกษิต ภิรมย์ อยู่ในสถานะเป็นวิทยากรบนเวทีปราศรัยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมองเห็นรัฐบาลกัมพูชาเป็นศัตรู

การตั้ง นายกษิต ภิรมย์ จึงมิได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างสัมพันธ์ แต่ต้องการปะทะมากกว่า

จาก นายกษิต ภิรมย์ ก็โยงไปยังการตั้ง นายอัษฎา ชัยนาม เป็นประธานคณะกรรมาธิการร่วมเขตแดน (เจบีซี) อันโยงไปยัง นายสุรพงษ์ ชัยนาม ซึ่งมีบทบาทเป็นอย่างสูงในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ทั้งหมดนี้มิได้ประกอบส่วนขึ้นเพื่อความเป็นมิตร หากแต่สะท้อนเจตนาที่จะปะทะและขัดแย้งกัน

จึงเมื่อเกิดกรณี นายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ จึงยากและยากส์

ยากและยากส์เพราะการบริหารจัดการในการขอตัวดำเนินไปแกนๆ ตามพิธีกรรมทางการเมืองระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน อีกฝ่ายหนึ่งก็สนองตอบกลับมาในเชิงพิธีกรรมอันมากด้วยกฎระเบียบเช่นเดียวกัน

"วีระ-ราตรี" จึงนอนคุกตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2554 เป็นเวลา 9 เดือน

ตรงกันข้าม กับกระบวนการบริหารจัดการของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมิได้ยึดแนวทางอันเป็นพิธีกรรมทางการทูตอย่างปกติ

มีการเดินทางไปร้องขอโดย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา

มีการเดินทางไปร้องขอโดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นี่เป็นกระบวนการนอกเหนือไปจากความสัมพันธ์อันดีที่ สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยอยู่แล้ว

นี่เป็นกระบวนการนอกเหนือไปจากความสัมพันธ์อันดีที่ นายฮอ นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา มีต่อ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย อยู่แล้ว

จึงไม่แปลกที่จะมีแถลงจาก โฆษกประจำตัว สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่า

"สมเด็จฯ ฮุน เซนกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยและกัมพูชาจะต้องมาหารือกันเรื่องการแลกเปลี่ยนนักโทษ"

นี่เท่ากับเป็นคำตอบถึงกรณี นายวีระ สมความคิด น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ โดยตรง

ความสำเร็จนี้ไม่เพียงแต่ต่อครอบครัวสมความคิด ครอบครัวพิพัฒนาไพบูรณ์ เท่านั้น หากยังหมายถึงครอบครัวนักโทษชาวไทยคนอื่นๆ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในกัมพูชาด้วย

นี่ย่อมเป็นผลงานอันเป็นความสำเร็จของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเป็นรูปธรรม

ครูบาทางการเมืองสอนว่าจะดูใครต้องดูให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง จุดยืน ทรรศนะ วิธีการ

จุดยืนอย่างไร ทรรศนะย่อมเป็นอย่างนั้น ขณะเดียวกัน วิธีการในการบริหารจัดการต่อแต่ละปัญหาย่อมมาจากจุดยืนและความคิดอันแตกต่างกัน

ผลที่ออกมาก็แตกต่างกันระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น