Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

นักวิชาการมช.ยกงานวิจัยชี้ "เสื้อแดง" ไม่ใช่แค่ "คนชั้นกลางระดับล่าง" แต่มีลักษณะ "ข้ามชนชั้น"

ที่มา เว็บไซต์ประชาธรรม

เมื่อวันที่ 1 กันยายน มีการจัดเวทีวิชาการ "ประสบการณ์ประชาธิปไตยของชาวบ้านเชียงใหม่" ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในการนี้ ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง "พัฒนาการจิตสำนึกและปฏิบัติการทางการเมืองของขบวนการเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งโครงการวิจัยโครงการใหญ่ที่ชื่อว่า "ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ทางการเมืองในชนบท" ซึ่งสำนักข่าวประชาธรรมได้เรียบเรียงมานำเสนอในเว็บไซต์ มติชนออนไลน์เห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนมาเผยแพร่ต่อดังนี้

ขบวนการเสื้อแดงเป็นขบวนการที่น่าสนใจ ในแง่หนึ่งสมาชิกมีแหล่งกำเนิดมาจากชนบท แต่ขบวนการเสื้อแดงกลับไม่ได้เกาะเกี่ยวกันด้วยความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของชนชั้นชาวนา เหมือนกับสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาเมื่อทศวรรษ 2510 ขณะเดียวกันขบวนการนี้ก็ต่างไปจากขบวนการสมัชชาคนจน

นักวิชาการที่เขียนเรื่องขบวนการเสื้อแดง ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องต้องกันว่าขบวนการเสื้อแดงมีความสลับซับซ้อนและประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลายสถานะ หลากความคิดทางการเมือง ยากที่จะกำหนดด้วยเส้นแบ่งทางเศรษฐกิจ หรือกระทั่งความต่างระหว่างเมืองและชนบท

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ และอาจารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ เสนอเรื่องแนวคิดชนชั้นกลางระดับล่างในเมืองและชนบท อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และอ.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ก็เรียกขบวนการนี้ว่าเป็นกลุ่มที่ผสมกันระหว่างกลุ่มที่คัดค้านรัฐประหารกับมวลชนผู้สนับสนุนทักษิณ อ.เกษียร เตชะพีระ ก็มองว่าขบวนการนี้เป็นแนวร่วมระหว่างชนชั้นรากหญ้าและชนชั้นนายทุนใหญ่ อ.คายส์ (ชาร์ลส์ คายส์) ก็เรียกชาวชนบทที่เข้าร่วมขบวนการนี้ว่าเป็น "กลุ่มคนชนบทผู้เห็นโลกกว้าง" (cosmopolitan villagers) อ.วัฒนา สุกัณศีล ก็เรียกคนเหล่านี้ว่าเป็นผู้ประกอบการทางการเมือง

มี
หลายคนพยายามตั้งคำถามและหาคำอธิบายเกี่ยวกับขบวนการนี้ งานของตนก็พยายามทำอะไรแบบนั้นเหมือนกัน โดยมีคำถามหลักอยู่ 3 คำถาม คือ 1.ขบวนการเสื้อแดงในเชียงใหม่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนสถานะใด ก่อรูปขึ้นเป็นขบวนการเสื้อแดงได้อย่างไร และมีพัฒนาการเช่นไร (ที่เลือกศึกษาเสื้อแดงในเชียงใหม่เพราะว่าเชียงใหม่เป็นหนึ่งในเมืองหลวงของเสื้อแดง) 2.เงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองอะไร ที่มีอิทธิพลต่อการก่อรูปของจิตสำนึกทางการเมืองของพวกเขาเหล่านั้น จนนำไปสู่การตัดสินใจเข้าร่วมในปฏิบัติการทางการเมือง การสวมรับความเป็นแดงของพวกเขามีนัยยะเช่นไร สะท้อนตัวตนความเป็นพลเมืองที่ต่างไปจากเดิมอย่างไร และมีนัยยะที่เปลี่ยนแปลงไปจากการประทะทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลาอย่างไร 3.สื่อเสื้อแดงในระดับท้องถิ่น อาทิ วิทยุชุมชน มีบทบาทเช่นไรในการสร้างและขับเคลื่อนขบวนการเสื้อแดงในระดับท้องถิ่น ขบวนการนี้มีความแตกต่างจากขบวนการก่อนหน้านี้ถ้าเทียบกับสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาหรือสมัชชาคนจน เพราะมีการใช้สื่อค่อนข้างมาก มีสื่อเป็นของตัวเอง ด้วยความแตกต่างนี้มันทำให้ขบวนการนี้แตกต่างจากขบวนการอื่นอย่างไร

ความคิดกระแสหลักเกี่ยวกับคนเสื้อแดงสามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มความคิดหลัก ความคิดแรกมองว่าเป็นชนชาวรากหญ้าที่มีการศึกษาต่ำ เป็นชาวชนบทที่จงรักภักดีต่อทักษิณ และถูกลากเข้าสู่การเมืองของชนชั้นนำ ทัศนะนี้สะท้อนความคิดของผู้ปกครอง ชนชั้นกลาง และนักวิชาการบางท่านก็มองเช่นนี้ คือมองว่าผู้นำตีกันแล้วลากชาวบ้านเข้ามายุ่งทางการเมือง

กลุ่มความคิดอันที่สอง มองจากฐานความคิดเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก คือมองว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นชนชั้นกลางระดับล่างในชนบท ที่ชีวิตทางเศรษฐกิจนั้น "ปริ่มน้ำ" นโยบายไทยรักไทย ได้ช่วยให้คนเหล่านี้พ้นจากอาการปริ่มน้ำหรือความเสี่ยงได้ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับพวกเขา เมื่อมีการรัฐประหารได้ทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจอันนี้ พวกเขาจึงรวมตัวกันทวงสิทธิให้กับพรรคการเมืองของตนเองที่ได้เลือกขึ้นมา

ความคิดทั้งสองแบบไม่ผิด แต่มันไม่พอ ความคิดที่ว่าผู้นำตีกันแล้วลากชาวบ้านเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตนไม่มีความเห็นเพราะเป็นวิธีอธิบายความขัดแย้งในสังคมไทยที่มันดำเนินมาตลอดช่วงสมัยอยู่แล้ว คือมองว่าประชาชนไม่มีสมองหรือปัญญาเป็นของตนเองที่จะวิเคราะห์การเมือง สามารถที่จะถูกลากมาประหนึ่งว่าเป็นวัวควาย จึงเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไปโต้เถียงทางวิชาการ

ความคิดแบบที่สองอาจจะเป็นหลักคิดที่น่าสนใจกว่า คือ การมองว่าการรวมตัวของกลุ่มคนรากหญ้าเหล่านี้ มีแรงผลักทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเคยเถียงกับนักวิชาการหลายท่าน เพราะคิดว่ามันไม่พอที่จะนำมาใช้ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ของชนบททั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ผ่านมา พูดง่ายๆ คือ การอธิบายแบบใช้เศรษฐกิจกำหนดนั้น ไม่ช่วยให้เข้าใจว่า ความคิดทางการเมืองของชาวบ้านเปลี่ยนไปอย่างไร และเพราะอะไร

งานวิจัยชิ้นนี้จึงพยายามอธิบายแบบกลับหัวกลับหาง คือแทนที่จะมองการเมืองจากด้านบนลงมา ตนพยายามทำความเข้าใจในความขัดแย้งทางการเมืองจากฐานคิดของรากหญ้า ชาวบ้านที่เข้าร่วมขบวนการนี้เขาคิดอย่างไร ขบวนการนี้ต่างไปจากขบวนการทางสังคมอื่นในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง

ข้อค้นพบเบื้องต้นพบว่า ก็จริงที่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบอบเลือกตั้ง ( Election Politic) มีผลอย่างยิ่งต่อจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชนในชนบท ในทุกหมู่บ้านที่ตนเข้าไปศึกษา ในยุคก่อนไทยรักไทย ชาวบ้านไม่เคยคิดว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และไม่คิดว่าการเลือกตั้งคือปริมณฑลทางการเมือง คือเป็นปริมณฑล (ทางการเมือง) ของคนกรุงเทพ แต่ไม่เคยคิดว่าปริมณฑลของการเลือกตั้งจะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในชนบท

รัฐบาลไทยรักไทยสองสมัยได้เปลี่ยนความคิดนี้ แล้วก็ช่วยทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบอบเลือกตั้งนั้นมีผลโดยตรงต่อสถานะทางเศรษฐกิจ ตรงนี้เป็นตัวทำให้ชาวบ้านมองว่าสิทธิทางการเมืองจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจในชนบท คือการเชื่อมโยงของสองอันนี้มันทำให้จิตสำนึกทางการเมืองของชาวบ้านในชนบทปัจจุบันไม่ต่างไปจากสำนึกทางการเมืองของปัญญาชนหรือชนชั้นกลางทั่วไป แต่ก่อนเรามองว่าชาวบ้านนั้นไม่เข้าใจการเมืองในระบอบเลือกตั้ง หรือมองการเมืองในระบอบการเลือกตั้งห่างไกลจากชนบท ซึ่งแต่ก่อนนั้นอาจจะใช่ แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการมองแบบนี้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป

เวลามองขบวนการเสื้อแดงเฉพาะในเชียงใหม่จังหวัดเดียวตนพบว่า มันไม่จริงที่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจเป็นตัวลากชาวบ้านเข้ามาร่วมกัน จากงานวิจัยเราพบว่า มันมีพหุลักษณ์ของเหตุผล และผูกสัมพันธ์กลุ่มชนชั้นต่างๆที่เข้ามาร่วมกันสร้างขบวนการ บางกลุ่มเป็นเหตุผลทางการเมืองหรืออุดมการณ์ บางกลุ่มเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ

จากคำบอกเล่าของแกนนำ เหตุผลการขึ้นมาค้านรัฐประหารของเสื้อแดงเชียงใหม่ไม่ใช่เพราะทักษิณ แต่เป็นเรื่องของการประกาศกฎอัยการศึกในเชียงใหม่ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจท่องเที่ยวตกต่ำ เมื่อกลุ่มแกนนำไปประท้วงกัน ทหารก็จับไปขัง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ขบวนการต่อเนื่องตามมา

มันมีเหตุผลมากมายของผู้คนที่เข้ามาร่วมกับขบวนการเสื้อแดง ความหลากหลายเหตุนี้มันจึงน่าสนใจถ้าเทียบกับขบวนการเคลื่อนไหวของขบวนการสังคมในยุคก่อนๆ ขบวนการชาวนาชาวไร่ประเด็นคือค่าเช่านา ขบวนการของสมัชชาคนจน ประเด็นคือค้านโครงการขนาดใหญ่ เสื้อแดงอาจจะเป็นขบวนการแรกในประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีเหตุผลที่มากมายแต่สามารถที่จะเหลาประเด็นให้เป็นประเด็นเดียวกันได้ในเวลาต่อมา

ขบวนการดังกล่าวมีความเป็นเอกเทศ และรวมตัวกันแบบหลวมๆ ซึ่งมันตรงกันข้ามกับคำอธิบายกระแสหลักที่ว่า เป็นประเด็นที่สั่งการมาจากศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ ตนพบจากการศึกษาว่า ขบวนการนี้รวมตัวกันแบบหลวมๆไม่มีใครสั่งใครได้ ถ้าเห็นพ้องกันว่าการเคลื่อนไหวมีเป้าหมายสำคัญก็รวมตัวกัน เป็นขบวนการแนวนอนเชื่อมโยงในรูปแบบเครือข่ายและพึ่งพาตัวเองในแง่ทุน เราพบว่า กลุ่มที่เรียกว่าเสื้อแดงในระดับอำเภอ หรือท้องถิ่น พัฒนายุทธศาสตร์อย่างหลากหลาย กล่าวคือ สมัชชาคนจนอาจจะได้ทุนมากมาย ส่วนหนึ่งมาจากการระดมทุน ส่วนหนึ่งเอ็นจีโอสนับสนุนทุนด้วย แต่ขบวนการของชาวบ้านเสื้อแดงพึ่งพาตัวเองในแง่จัดหาทุนค่อนข้างเติบโตและเป็นตัวของตัวเอง

การเกิดขึ้นของชมรมเสื้อแดงในแต่ละอำเภอมี นปช.เสื้อแดง ซึ่งแตกต่างจากขบวนการสังคมในอดีต เราพบว่าในขณะที่ขบวนการชาวไร่ชาวนา กลุ่มจัดตั้งหลักเป็นกลุ่มนักศึกษา หรือชนชั้นกลาง ปัญญาชนในเมือง ขบวนการสมัชชาคนจนกลุ่มที่จัดตั้งเป็นขบวนการเอ็นจีโอ ในขบวนการเสื้อแดงเราพบว่าชาวบ้านธรรมดาผันตัวเองขึ้นมาเป็นนักกิจกรรมชนบท ทำงานจัดตั้งกันเอง ทำงานสร้างเครือข่ายกันเอง ซึ่งเป็นมิติที่ไม่มีในขบวนการสังคมในอดีต

งานวิจัยยังพบอีกว่าสิ่งที่เรียกว่า อุดมการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงนั้น มีการเปลี่ยนผ่าน มันไม่ได้เริ่มจากฐานความคิด ความเชื่อเดียวกัน (ตอนแรกเขาอาจจะคิดง่ายๆว่า เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่) มีการเปลี่ยนผ่านสำคัญที่มีผลอย่างยิ่งต่อวิธีคิดของคนเสื้อแดงในการมองความสัมพันธ์ของตนเองกับสถาบันต่างๆสองระลอก (จริงๆแล้วเปลี่ยนผ่านหลายระลอก) โดยเหตุการณ์พฤษภา 53 ถือเป็นระลอกที่สำคัญ

ความเชื่อที่ว่าคนเสื้อแดงเกิดขึ้นมาเป็นแขนขาพรรคไทยรักไทยเพื่อกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ก็ไม่จริงทีเดียว เพราะหลังจากพรรคไทยรักไทยถูกโค่นใหม่ๆ กลับไม่มีปฏิบัติการทางการเมืองใดๆ จนกระทั่งมีรัฐประหารแล้ว กรณีของเสื้อแดงเชียงใหม่ มันเริ่มต้นจากในเมืองก่อนชนบท มีการก่อตัวของชนชั้นกลางในเมืองที่รวมตัวกันตั้งกลุ่มขึ้นมาแล้วค่อยๆขยายลงสู่ชนบท และเครื่องมือหรือกลไกสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มในระดับอำเภอคือวิทยุชุมชน

นอกจากนี้พบว่าสมาชิกเสื้อแดงในระดับอำเภอมีความหลากหลายทางอาชีพมาก กลุ่มแดงดอยสะเก็ด มีประธานเป็นพ่อค้าในตลาดดอยสะเก็ด แกนนำของกลุ่มประกอบไปด้วย ครู นักธุรกิจท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร ข้าราชการในอำเภอ เกษตรกร แรงงานรับจ้าง และแม่ค้า-แม่บ้าน ซึ่งแทบทุกกลุ่มจะมีสมาชิกที่สังกัดสถานะทางสังคมทุกสถานะ ไม่ใช่แค่เป็นเกษตรกรหรือชาวนารับจ้างอย่างเดียว

กรณีกลุ่มรักฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ ก็เช่นเดียวกัน แกนนำมาจากหลายหมู่เหล่า ทั้งผู้นำทางการของชุมชน อดีตสหาย กลุ่มครู นักธุรกิจท้องถิ่น โดยมีคหบดีท้องถิ่นเป็นประธานกลุ่ม ในสันกำแพง กลุ่มสันกำแพงรักประชาธิปไตย กลุ่มหลักประกอบด้วยแม่ค้า และนักธุรกิจ

การยกกลุ่มหลากอาชีพเพื่อจะชี้ให้เห็นว่ามันเป็นขบวนการข้ามชนชั้น ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางอาชีพและทางสถานะอย่างยิ่งแต่สามารถที่จะมารวมตัวกันภายใต้อุดมการณ์ร่วมเดียวกันได้ ซึ่งขบวนการแบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะความเชื่อว่าคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่างกันจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันได้อย่างไร

คำถามใหญ่ซึ่งมักจะถูกถามอย่างยิ่งจากนักรัฐศาสตร์ คือเสื้อแดงนั้นสัมพันธ์อย่างไรกับพรรคการเมือง ตนพบว่าพรรคการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคไทยรักไทยมีบทบาทสำคัญในขบวนการเสื้อแดงอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าสนใจในช่วงการก่อตัวในยุคแรก พรรคการเมืองหรือนปช.ส่วนกลางมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง หรือไม่ค่อยเข้ามาเกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวของเสื้อแดงในระดับท้องถิ่นทำกันเอง พรรคการเมืองไม่ได้สนับสนุน แกนนำให้สัมภาษณ์ด้วยซ้ำไปว่า "อยากให้พรรคการเมืองท้องถิ่นสนับสนุน" แต่หลายส่วนค่อนข้างกลัวเพราะอยู่ในช่วงของการรัฐประหาร

เมื่อมีกิจกรรมขึ้นมาแล้ว พรรคการเมืองจึงเริ่มเข้ามาสัมพันธ์ด้วย แต่ความสัมพันธ์เป็นไปในเชิงเครือข่ายพันธมิตร พรรคการเมืองสนับสนุนเรื่องเงินบ้าง แต่ส่วนใหญ่มาจากการระดมทุนกันเอง เป็นลักษณะของการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรม เป็นมวลชนที่เลือกพรรคเพื่อไทย

ประเด็นที่สองคือเรื่องการกลายเป็นแดง เสื้อแดงไม่ได้เป็นอัตลักษณ์ที่จะเป็นกันง่ายๆ ในช่วงหลายปีของการเข้าร่วมขบวนการ หรือกลายเป็นแดงค่อนข้างหลากหลายจนสร้างอัตลักษณ์ร่วมขึ้นมาได้ ในที่สุดก็ถามว่าความเป็นแดงคืออะไร ชาวบ้านนิยามในความหมายที่คล้ายๆกัน คือ "ตัวตนใหม่ของพลเมืองเสรีนิยม"

คำพูดของแกนนำ นปช. จังหวัดเชียงใหม่คนหนึ่งในระดับชาวบ้านพูดชัดว่า

"ผมว่าเรื่องที่เราต่อสู้ช่วงแรกเนี่ย ต้องถือว่าปัญหาเป็นหลักใหญ่ใจความก็คือว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็คือว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่ปวงชน ฉะนั้นนั่นหมายความว่าสามอำนาจต้องถูกเลือกจากประชาชน...แล้วทุกคนพูดถึงระบอบ ถึงโครงสร้างตัวนั้นเนี่ย ผมบอกว่าตัวนั้นถ้าไม่ปรับตัวนะ ผมว่าพัฒนาการขับเคลื่อนทางสังคม ผมทายไว้ก่อนเลยนะครับ มิคสัญญีจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยล้านเปอร์เซ็นต์ ตราบใดสังคมนี้ไม่ได้ประชาธิปไตย หนึ่ง โครงสร้างไม่ปรับ สอง ยาก ผมบอกเลย ยาก ที่สังคมจะสงบนะครับ"

คำพูดของชาวบ้านสันทรายคองน้อย อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ก็น่าสนใจ โดยกล่าวว่ากระบวนการกลายเป็นแดงหรืออัตลักษณ์แดงมันไม่ได้คล้ายกับสมบัติที่ไปซื้อมาแล้วอยู่ๆก็เป็น แต่เห็นว่าผู้ขึ้นมามีอำนาจไม่ทำตามกติกาจึงกลายมาเป็นแดงคนเสื้อแดงบางส่วนกลายเป็นแดงด้วยเหตุผลนี้

"แต่ก่อนน่ะเหรอ เมื่อก่อนเป็นสีเหลืองน่ะสิ เมื่อก่อนนี้ก็เป็นเสื้อเหลือง อนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม พวกนี้ ในป่า ในอะไรพวกนี้ แล้วที่นี้เรื่องที่เป็นเสื้อแดงก็หมายถึงว่า ความไม่ยุติธรรม หมายความว่า กติกาคนเราจะต้องมีกติกาใช่ไหม กติกาก็หมายถึงสัญญา แล้วทีนี้ รัฐบาลมันไม่ทำตามสัญญาเราใช่ไหม ไม่ทำตามสัญญา ก็หมายความว่า ไปละเมิดข้อสัญญาเรา ไม่มีการเลือกตั้งขึ้นมา มีการไปแต่งตั้งขึ้นมา ไม่มีการเลือก แต่งตั้งแล้วเอาอภิสิทธิ์เป็นนายก อันนี้คือประชาชนเราไม่ได้เลือกตั้งขึ้นมา อันนี้หมายความว่าไม่ทำตามกติกา เหมือนกับชาวบ้านเราเหมือนกันน่ะ เมื่อมีการประชุม เราก็จะมีการกติกานะ ให้ทำตามแบบนี้ แล้วที่นี้ ทางรัฐบาลไม่ยอมทำตามกติกาเรา ตาก็เลยเริ่ม เออ ความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นมา ก็เลยเป็นเสื้อแดง เป็นเสื้อแดงแบบนี้แหละครับ"

อันนี้คือสิ่งที่พยายามจะแยกให้เห็นว่า แม้ว่าจะเป็นพันธมิตรของพรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นแขนขา ดังตัวอย่างคำพูดของแกนนำนปช.อำเภอดอยสะเก็ดที่ให้สัมภาษณ์ก่อนการเลือกตั้งว่า "แต่ถ้าสมมติว่าพรรคที่ได้รับเลือกมาเป็นพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาลนะครับ แล้วทำไม่ดี ทำห่วยยิ่งกว่าพรรคประชาธิปัตย์ เราก็จะจัดการคนของเราเองนะครับ อันนี้ก็จองกฐินไว้ล่วงหน้าเลย กลุ่มของเราชนะแล้วไม่ใช่จะเลิก" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เป็นกระบวนการตามกติกาของระบอบการเลือกตั้งที่ ถ้าพรรคการเมืองไม่ทำตามนโยบายที่ได้รับปากไว้ ประชาชนก็มีสิทธิที่จะกดดันเรียกร้องให้เปลี่ยนพรรคการเมือง

มี
คำสองคำที่พูดในขบวนการเสื้อแดงมาก คือ ความเป็นแดง กับ ความเป็นไพร่ ซึ่งเมื่อไปถามคนเสื้อแดงว่า เสื้อแดงคืออะไร ทุกคนก็จะตอบคล้ายกันว่า เสื้อแดงคือ คนที่รักความเป็นธรรม รักประชาธิปไตย เป็นผู้ที่รักความจริง

อันสุดท้ายสำคัญมาก คือชาวบ้านมองสื่อกระแสหลัก และสิ่งที่รัฐพูดนั้นเป็นข้อมูลด้านเดียว เสื้อแดงเป็นผู้ที่จะมาเปิดข้อมูลอีกด้านหนึ่งให้โลกรู้ นี่เป็นที่มาว่า สื่อเสื้อแดงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะพยายามเปิดเผยความจริงด้านที่สังคมไทยปิด นี่เป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยทางการเมือง

ส่วนความเป็นไพร่สะท้อนความเป็นพลเมืองชั้นสองภายใต้ความสัมพันธ์กับรัฐไทย แต่พอผ่านการเลือกตั้งมาก็ไม่แน่ใจว่า วาทกรรมอันนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร ก่อนการเลือกตั้งวาทกรรมนี้เป็นวาทกรรมใหญ่ ซึ่งนิยามให้เห็นว่า แม้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแต่เป็นแค่พลเมืองชั้นสอง ไม่ว่าทำอะไรรัฐไม่เคยรับรู้ และพยายามกดทับอยู่ตลอดเวลา

ความเป็นแดงและความเป็นไพร่ เป็นอัตลักษณ์ร่วม ไม่ว่าจะเป็นใครหรือว่าอยู่ชนชั้นไหน แต่ด้วยความเป็นผู้ที่รักความจริง รักประชาธิปไตย เป็นผู้ไม่มีอำนาจทางการเมืองในสังคมไทย จึงกลายเป็นเสื้อแดง

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบพระคุณสำหรับบทความดีๆ ให้ความรู้ครับ ขออนุญาตเผยแพร่ต่อนะครับ

    ตอบลบ
  2. จันแดง๑@เสรีชน18 กันยายน 2554 เวลา 05:26

    เป็นไปตามทฤษฏี เมื่อมีแรงกด ก็มีแรงต้าน เป็นธรรมดาครับ
    น่าวิเคราะห์ออกไปแนวนี้จะตรงกับความจริงมากที่สุด โดยเฉพาะแรงกดที่เกิดจากการกระทำสองมาตราฐาน เสื้อแดงจึงฟูไปทั้งแผ่นดิน

    ตอบลบ