Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ: เกมระดับชาติหรือท้องถิ่น?

จาก Thai Publica
โดย อภิชาต สถิตนิรามัย




คำถามสองประเด็นต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ที่ผมอยากร่วมตอบคือ หนึ่ง ทำไมชาวกรุงฯ จึงออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยประมาณ 50% เศษเท่านั้นในหลายครั้งที่ผ่านมา สิ่งนี้สะท้อนความเบื่อหน่ายการเมืองของคนกรุงใช่ไหม? สอง ทั้งที่การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เป็นการเมืองระดับท้องถิ่น แต่ทำไมการเลือกตั้ง กทม. จึงเป็นเสมือนการเลือกตั้งของสองพรรคใหญ่ระดับชาติ ทำไมโอกาสที่ผู้สมัครอิสระจะชนะการเลือกตั้งมีน้อยมาก?

สำหรับคำถามที่หนึ่ง ก็คงจะใช่ที่คน กทม. เบื่อหน่ายการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่มันไม่แปลกเลยที่คนกรุงจะเบื่อ แม้ว่าการบริหารกรุงเทพฯ จะเป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีอำนาจและทรัพยากรในมือมากกว่าท้องถิ่นประเภทเทศบาลหรือ อบต. ก็ตาม แต่เมื่อมองไปรอบตัวแล้วถามว่า การจัดการของ กทม. กระทบกับชีวิตประจำวันของคนกรุงมากน้อยเพียงใด คงตอบได้ว่าไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนที่มีฐานะไม่ยากจน

ตัวอย่างเช่น มีกี่เปอร์เซ็นต์ของคน กทม. ที่พึ่งพาบริการโรงพยาบาลหรือโรงเรียนของ กทม. ถนนหนทางทั้งสายหลักและสายรองใครเป็นคนสร้างและบำรุงรักษา ใครจัดการบริการดับเพลิง รถไฟฟ้าที่เราอยากได้มากๆ นั้นใครเป็นคนกำหนด กทม. ไม่มีแม้แต่อำนาจที่จะควบคุมตำรวจจราจร เราคงถามแบบนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ แต่คำตอบในภาพรวมคือ สิ่งที่คนกรุงต้องพึ่งพาในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่นั้นถูกบริหารจัดการโดยรัฐส่วนกลาง หรือไม่ก็เอกชนหากคุณมีฐานะพอที่จะจ่าย พูดอีกแบบคือ กทม. ในฐานะรัฐบาลท้องถิ่นก็ไม่ได้แตกต่างจากท้องถิ่นอื่นๆ มากนักในแง่ที่มีอำนาจบริหารท้องถิ่นไม่เพียงพอ รัฐส่วนกลางยังหวงอำนาจไว้ในระดับสูง แล้วจะไม่ให้ชาว กทม. เบื่อหน่ายการเลือกตั้ง กทม. ได้อย่างไร ในเมื่อเลือกตั้งไปแล้ว ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะก็ตาม ชีวิตชาวกรุงก็จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากความเป็นอยู่ของเขาขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลกลางมากกว่าของ กทม.
 
จึงไม่แปลกอีกเช่นกันที่พรรคเพื่อไทยจะใช้จุดขายว่า “การเมืองไร้รอยต่อ” เพราะนักการเมืองตระหนักดีว่า คน กทม. รู้ว่าผู้ว่า กทม. ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากมายที่จะดลบันดาลให้คนกรุงอยู่ดีมีสุขได้โดยตัวเอง จุดขายนี้จึงมีความนัยว่า คน กทม. ควรจะเลือกผู้ว่าที่สังกัดพรรคเดียวกับรัฐบาลกลาง เพื่อที่รัฐบาลกลางจะทุ่มเทงบประมาณมาดูแลกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น ทั้งหมดนี้จึงไม่แปลกที่คน กทม. จะออกมาใช้สิทธิลงคะแนนในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย

คำถามที่สอง คือ ทั้งที่การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เป็นการเมืองระดับท้องถิ่น แต่ทำไมการเลือกตั้ง กทม. จึงเป็นเสมือนการเลือกตั้งของสองพรรคใหญ่ระดับชาติ ทำไมโอกาสที่ผู้สมัครอิสระจะชนะการเลือกตั้งมีน้อยมาก คำถามนี้ตอบได้สองประเด็น คือ

ก) ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยต่างมีการจัดตั้งมวลชนพื้นฐานในจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว ทั้งฐานเสียงของ สส., สก. และ สข. พูดอีกแบบคือ ผู้สังกัดพรรคการเมืองได้เปรียบผู้สมัครอิสระ เพราะสามารถใช้ฐานเสียงร่วมกับการเลือกตั้งในระดับอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องนับว่าผู้สมัครสังกัดพรรคมีทรัพยากรในการหาเสียงมากกว่าผู้สมัครอิสระ ที่สำคัญคือ เนื่องจากมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อย ดังนั้น ฐานเสียงจัดตั้งของพรรคการเมืองจึงทวีความสำคัญในการกำหนดผลการเลือกตั้งมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกรณีที่คน กทม. ออกมาใช้สิทธิ์สูงๆ

ข) ทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ได้เปรียบผู้สมัครอิสระเพิ่มขึ้นจากการเมืองเรื่องสีเสื้อ กล่าวคือ ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในหลายปีนี้ จะทำให้คนกรุงจำนวนมากมีพฤติกรรมการลงคะแนนเชิงยุทธวิธี (tactical voting) เนื่องจากเราคาดการณ์ได้ว่า โอกาสที่ผู้สมัครอิสระจะชนะการเลือกตั้งมีน้อยมาก ตัวอย่างเช่น หากเราเป็นคนเสื้อเหลือง ต่อให้เราชมชอบผู้สมัครอิสระคนหนึ่งคนใดมากกว่าผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์เพียงไรก็ตาม เราก็จะไม่เลือกผู้สมัครอิสระคนนั้น แต่จะเลือกผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์แทน เพื่อกีดกันไม่ให้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง เช่นเดียวกัน หากเราเป็นคนเสื้อแดง ต่อให้ชอบผู้สมัครอิสระมากกว่าผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยก็ตาม เราก็จะเลือกคนจากพรรคเพื่อไทย เพื่อกีดกันพรรคประชาธิปัตย์ไม่ให้ชนะ

ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นว่า เกณฑ์ที่คนจำนวนมากจะใช้ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนี้นั้น ไม่ใช่การเลือกคนที่ชอบหรือถูกใจมากที่สุด แต่กลายเป็นการเลือกพรรคที่เราเกลียดน้อยที่สุดแทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น