Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556

บันทึกลับปลายรัชกาล(2)

ตอน การเมืองปลายรัชกาลที่ 5
จากพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

จาก หนังสือพิมพ์ เรดพาวเวอร์ ฉบับที่ 32 เดือน มกราคม 2556





เมื่อครั้นใกล้เวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสิ้นพระชนม์ ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ยังทรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารและยังไม่มีคู่ครอง พระองค์ได้ทรงนิพนธ์ระบายความในประราชหฤทัยเกี่ยวกับการถูกบีบบังคับให้เลือกคู่ครองทั้งๆที่พระองค์ไม่ทรงโปรด รวมตลอดทั้งนิพนธ์ถึงเหตุการณ์ก่อนที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระประชวรครั้งสุดท้าย ดังรายละเอียดของพระราชนิพนธ์ที่ใช้พระนามแฝงว่า ราม วชิราวุธ ซึ่งเป็นการตีพิมพ์ต่อจากฉบับที่แล้วดังนี้

ฉันถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่

                    ในวันที่ ๑๗ ตุลาคมนั้นได้มีเรื่องเนื่องด้วยตัวฉันซึ่งจะเล่าให้เธอทราบ, คือฉันได้ถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่. เวลาบ่ายวันที่ ๑๗ นั้นได้มีงานที่วังสราญรมย์เปน ๒ อย่างรวมกัน, อย่าง ๑ คือ เสด็จแม่ทรงทำบุญพระบรมอัษฐิทูลกระหม่อมปู่, และอีกอย่าง ๑ มีสวดมนตร์ในการทรงหล่อพระสมาธิ ที่จะได้ไปประดิษฐานในศาลาที่บรรจุพระอังคารของพระชนนี (คือสมเด็จพระปิยามาวดีศรีพัชรินทรมาตา) ที่วัดราชาธิวาศ. ในงานนี้เสด็จแม่ได้ตรัสแก่ฉันว่าให้เลือกคู่เสียทีเถิด, และทรงอ้างว่าทูลกระหม่อมก็ได้ทรงบ่นอยู่ว่าอยากให้ฉันมีเมีย. ส่วนพระองค์เสด็จแม่เองนั้นมีพระประสงค์ให้ฉันเลือกลูกเธอของทูลกระหม่อมองค์ ๑. และทรงแนะนำว่าหญิงน้อย (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล) เปนผู้ที่ทรงเหมาะ แต่ฉันก็ยืนยันอยู่เช่นที่ได้เคยยืนยันมาแล้วตั้งแต่กลับจากยุโรป  ว่าไม่ยอมเลือกน้องสาวเปนเมียเปนอันขาด

                    เมื่อกล่าวขึ้นถึงเรื่องเอาน้องสาวเปนเมียนี้ ฉันอดไม่ได้ ต้องขอเล่าถึงกิจการของน้องชายเล็กอีกเรื่อง ๑ ซึ่งแสดงลักษณะเห็นแก่ตัวของเธอ. ในชั้นต้น, เมื่อยังศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษด้วยกัน, น้องชายเล็กกับฉันได้เคยพูดกันถึงเรื่องเลือกเมีย, น้องชายเล็กได้กล่าวอย่างแขงแรงว่าธรรมเนียมเอาน้องสาวเปนเมียต้องงด, เพราะทำให้ฝรั่งเขาติเตียนนัก. ต่อมาตัวน้องชายเล็กเองได้กลับเข้ามาเยี่ยมบ้าน มาเกิดรักใคร่กันขึ้นกับองค์หญิงเยาวภาพงศ์สนิทแล้ว, พอกลับออกไปพบกันที่ยุโรปเธอก็พูดเปลี่ยนเสียงทีเดียว, คือไปพูดว่าฉันควรต้องเลือกน้องสาวคน ๑ เปนเมีย, เพราะจะได้เปนผู้ที่ปราศจากปัญหา, ครั้นไล่ไปไล่มาจึ่งได้ความจริงว่า ที่เธอจะเกณฑ์ให้ฉันเลือกเช่นนั้น คือจะให้เปนผู้ลองทูลขอทูลกระหม่อมดูก่อน ถ้าพระราชทานพระราชานุมัติแล้ว ตัวเธอจะได้ทูลขอบ้าง, ฉันถามว่าถ้าเผื่อถูกกริ้วจะว่ากระไร, เธอก็ตอบปัดๆไปว่า ถ้าเช่นนั้นก็ต้องพยายามหาอุบายใหม่. ฉันถามว่าในส่วนฝรั่งจะแก้กับเขาอย่างไร, เธอตอบว่าได้ทูลปรึกษาเสด็จแม่มาแล้ว เห็นพร้อมกันว่าควรแก้ได้ว่าเปนการตามระเบียบทางศาสนาของเรา, แต่ฉันคัดค้านว่าจะหลอกเขาเช่นนั้นเห็นไม่ควร, เพราะในยุโรปก็มีผู้รู้จริงในทางพระพุทธศาสนามากขึ้นแล้ว เขาคงจับได้ว่าเราพูดไม่มีมูลความจริงเลย, จะเสียชื่อเปล่าๆ น้องชายเล็กโกรธฉันมากในการที่ฉันดื้อเช่นนั้น, แต่ลงท้ายเธอก็หาได้แต่งงานกับองค์เยาวภาไม่ เมื่อเปลี่ยนเมียแล้วเธอก็เปลี่ยนอุบายด้วยทีเดียว, คือออกความเห็นว่า การแต่งงานกับน้องสาวอาจให้โทษได้มาก, คือนอกจากที่จะถูกติเตียน ยังมีโทษทางแพทยศาสตร์อีกด้วย, เธออ้างความเห็นของแพทย์มากล่าวว่าการที่หญิงชายผู้เป็นญาติสนิทแต่งงานกันอาจมีผลร้ายแก่ลูก คือทำให้เปนบ้าหรือสมองอ่อน, หรือเปนฝีในท้อง, หรือเปนโรคเลือดน้อย, ฉนั้นที่ถูกควรพยายามหาผู้ที่มิใช่ญาติเปนเมีย จึ่งจะได้เลือดใหม่เข้ามาช่วยบำรุงเลือดในสกุลของตน ฯลฯ

                    ส่วนฉันไม่เปลี่ยนแปลงความคิดเดิมเลย คงดื้อดันมั่นอยู่ว่าไม่ยอมเลือกน้องเปนเมีย. ในข้อนี้ฉันต้องเถียงกับใครๆมากมายจนเหลือที่จะจดจำ, บางคนขู่ว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้นจะนับว่าเปนอันผิดราชประเพณี, แต่ในข้อนี้ฉันชี้แจงว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงได้น้องเปนพระชายาก็เคยมีมา ๒ พระองค์เท่านั้น คือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงได้เจ้าฟ้ากุณฑลเปนพระมเหษีพระองค์ ๑, กับทูลกระหม่อมของฉันอีกพระองค์ ๑.

                    เมื่อฉันไม่ยอมเลือกน้องสาวเปนเมียแล้ว เสด็จแม่จึ่งทรงยอมว่าถ้าเช่นนั้นก็ให้เลือกหม่อมเจ้าหญิงคนใดคน ๑. ฝ่ายฉันเห็นว่าจะอิดเอื้อนหรือผัดผ่อนต่อไปก็ไม่งดงาม, จึ่งทูลว่าถ้าเช่นนั้นขอเลือกลูกสาวเสด็จลุงคน ๑. เสด็จแม่จึ่งรับสั่งว่าทรงเห็นว่าพอใช้ได้มีอยู่คน ๑ คือ................(ที่เรียกกันว่า หญิงโอ), แต่ในเวลานั้นฉันยังมิได้รู้จักมักคุ้นอะไรเลย, จึ่งตกลงเปนอันว่าเสด็จแม่ทรงรับจะฝึกฝนกิริยามรรยาทและสั่งสอนให้เรียบร้อยก่อน, แล้วจึ่งค่อยนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าหลวงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อไป

                    เมื่อได้ตกลงเช่นนั้นแล้วฉันรู้สึกชอบกล ฉันเองเปนผู้ที่ได้เคยกล่าวค่อนแคะผู้ชายที่แต่งงานกับหญิงที่ไม่รู้จัก, มาบัดนี้สิฉันเองจะต้องทำเช่นนั้น ฉันได้เคยฟังผู้ใหญ่พูดอยู่ว่า การที่มิได้เคยรักใคร่กันอยู่ก่อนนั้นไม่สำคัญอะไร, พอได้อยู่กินด้วยกันแล้วก็เกิดความรักกันขึ้นเอง จริงอยู่, ที่เขาเปนเช่นนั้นก็มีอยู่เปนอันมาก, แต่ฉันอดรู้สึกไม่ได้เลย ว่าการแต่งงานกันเช่นนั้นเปนเหมือนการทดลอง, ซึ่งถ้าเปนผลสำเร็จก็อาจที่จะได้รับความสุขพอสถานประมาณ, แต่ถ้าไม่เปนผลสำเร็จก็อาจที่จะเปนเครื่องให้ความทุกข์และรำคาญมากอยู่, ส่วนหญิงโอนั้นฉันยังมิได้เคยรู้จักมักคุ้น และในเวลานั้นนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าหน้าตารูปร่างเปนอย่างไร, ทั้งคุณสมบัติก็ไม่ปรากฏว่ามีอย่างไร นอกจากที่เปนลูกเสด็จลุงกับแม่ใหญ่, (พวกลูกเมียน้อยของเสด็จลุงนั้นเสด็จแม่ท่านทรงตัดเอาออกนอกประเด็ดหมด) ส่วน โทษของหญิงโอนั้น ได้ความว่ามีอยู่คือเคยแผลงฤทธิ์กับแม่ถึงลงนอนดิ้นร้องกรี๊ดๆ, ซึ่งฟังดูเปนลักษณะของ ฮีสเตเรียอยู่, แต่เสด็จแม่ทรงพระดำริห์ว่าถ้าได้มีผัวเสียแล้วคงจะหาย ข้อนั้นอาจจะเปนได้ แต่ก็ถ้าไม่หายจะทำอย่างไร ฉันจะมิต้องมีเมียที่คุ้มดีคุ้มร้ายอยู่หรือ แล้วก็ฉันจะได้ความสุขอย่างไร แต่ในการเลือกเมียให้ฉันครั้งนั้น ดูไม่เห็นใครค่อยพะวงถึงความสุขของฉันนัก, เพราะมัวแต่นึกถึง ความเหมาะเสียมากกว่า. เสด็จแม่ถึงออกพระโอษฐ์ว่า สำหรับผู้ชายไม่เห็นยากอะไร, เพราะเมื่อเมียไม่เหมาะใจก็หาเอาใหม่ได้ ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้นไป เสด็จแม่ก็ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยฝึกสอนหญิงโอเพื่อให้สมควรเปนเมียฉัน, แต่ต่อมาภายหลังเสด็จแม่กริ้วและทรงบอกงดเองตามที่เธอได้ทราบอยู่แล้ว

ทูลกระหม่อมทรงพระประชวรครั้งสุดท้ายและเสด็จสวรรคต

          บัดนี้จะอ้างกล่าวถึงการที่ทูลกระหม่อมทรงพระประชวรครั้งสุดท้ายต่อไป. ตามที่ฉันได้เล่าแล้วข้างบนนี้, ในวันที่ ๑๘ ยังมิได้มีผู้ใดนึกฝันว่าจะทรงพระประชวรมากมายอะไร, ทราบกันอยู่แต่เพียงว่าพระธาตุไม่ปรกติเล็กน้อยเท่านั้น. เวลาพลบค่ำ วันที่ ๑๙ ตุลาคม ฉันได้เข้าไปคอยเฝ้าที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิตตามเคย, ก็หาได้เสด็จออกไม่, และยังไม่ได้ความว่ามีพระอาการอย่างไร. ต่อมาเช้าวันที่ ๒๐ ฉันจึ่งได้ทราบตามพระราชหัตถเลขาซึ่งพระราชทานมาถึงฉันว่าพระอาการคลื่นเหียน, และได้ทรงพระอาเจียนเมื่อคืนวันที่ ๑๘ ครั้ง ๑ ต่อนั้นมาจะเสวยอะไรก็ทรงรู้สึกว่าเต็มอยู่เสมอไม่ใคร่จะพร่องเลย, ทรงพระโอสถสูบหรือเสวยพระศรีถูกเวลาไม่เหมาะก็ทรงคลื่นเหียน. ครั้นเวลาค่ำวันที่ ๒๐ ฉันเข้าไปฟังพระอาการได้ความว่า เมื่อคืนวันที่ ๑๙ มีทรงแน่น, หมอถวายฉีดยาแก้แน่นและยาถ่าย, บรรทมหลับได้บ้าง, มาวันที่ ๒๐ ไปพระบังคนหนักหลายครั้ง, มีพระอาเจียนเมื่อเสวยน้ำ. หมอฝรั่งที่เข้าไปรักษาอยู่มี ศาสตราจารย์แพทย์เบอร์เคอร์ (Professor Dr.Borger) แพทย์เยอรมันประจำพระองค์, หมอเออเจนไรเตอร์ (Dr.Eugene Reytter,ภายหลังเปนพระยาประเสิรฐสาตรดำรง), กับหมออา. ปัวซ์ (Dr.A. Poix, ภายหลังเปนพระยาอัศวินอำนวยเวท) ฝ่ายหมอไทยมีพระยาแพทย์พงศา (นาค โรจนแพทย์) พระยาแพทย์บอกแก่ฉันว่าได้ถวายพระโอสถระบายอย่างไทย แทรกเกลือ, แล้วยังได้ทรงแถมเองอีกด้วย, พระบังคนจึ่งได้ไปมาก.  ฝ่ายหมอฝรั่งได้ถวายพระโอสถแก้แน่นเฟ้อและพระโอสถทาภายนอก.ตามที่ฟังๆข่าวได้ความว่าพระธาตุได้เริ่มเสียเพราะเสวยกุ้งแนมเวลาดึก. เวลา ๑๑ นาฬิกาเศษคืนวันที่ ๒๐ นั้น หมอว่าพระอาการทุเลาลงมากแล้ว, และหมอฝรั่งได้ฉีดมอร์เฟียถวาย บรรทมหลับแล้ว, ฉันจึ่งได้กลับไปวังสราญรมย์.

          วันที่ ๒๑ ตุลาคม ในตอนเช้าฉันได้ใช้นายวรการบัญชา (เทียบอัศวรักษ์) เดี๋ยวนี้เปนพระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง) ให้ไปสืบพระอาการของทูลกระหม่อม กลับไปรายงานว่าเมื่อเวลา ๖ นาฬิกาเศษเช้าวันนั้นเสด็จแม่ได้มีรับสั่งให้ไปเชิญเจ้านายบางองค์, คือน้องชายบริพัตร์ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต), กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์, กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ, และกรมหลวงดำรงราชานุภาพ, เข้าไปปรึกษาในเรื่องทูลกระหม่อมทรงพระประชวร, เพราะหมอว่าไม่ให้เสวยทั้งพระโอสถและพระกระยา ถ้าทำให้ทรงพระอาเจียน. ทูลกระหม่อมกริ้วหมอว่าจะทิ้งไว้เฉยๆ อย่างองค์อุรุพงศ์ เจ้านายได้ตกลงกันว่าให้นิ่งๆไว้ก่อน, เพื่อให้พระอุทรได้มีโอกาสพัก เวลาบ่ายฉันได้ให้ไปฟังพระอาการอีกที ๑, ได้ความว่าพระบังคนหนักไม่มี, มีพระบังคนเบาบ้างเล็กน้อย, พระอาเจียนไม่มี เวลาค่ำ, เมื่อได้รอคอยจะให้เสด็จแม่รับสั่งให้หา แต่ไม่เห็นมีใครไปตาม, ฉันทนอยู่ไม่ได้จึ่งได้ดันเข้าไปเองทั้งๆ ที่มิได้มีผู้ใดตาม. เมื่อเข้าไปแล้วได้ทราบพระอาการว่า บรรทมหลับๆตื่นๆ มีซึมและอ่อนเพลีย พระบังคนไม่มีทั้ง ๒ อย่าง. เวลา ๘ ล.ท.เศษ หมอขึ้นไปตรวจพระอาการ, ว่ามีพระองค์ร้อน ปรอดขึ้น ๑๐๑ เศษ. หมอปัวซ์ว่ามีทางที่ต้องระวังในเรื่องพระบังคนเบา, เพราะมีพระโรคไตพิการชนิดเรื้อรัง (chronic Nephritis) ซึ่งไม่เปนโรคร้ายแรงก็จริงอยู่, แต่ก็มีโรคอื่นมักพลอยซ้ำ หมอได้ตกลงกันถวายพระโอสถรักษาทางพระวักกะ (ไต) . หมอปัวซ์ว่าในวันนั้นยังไม่ต้องวิตก เพราะแรกเริ่มเดิมทีประชวรด้วยพระธาตุเสียและพระบังคนผูก, เสวยพระโอสถระบายมาก พระบังคนหนักก็ออกมากเปนน้ำ, ทั้งมีทรงพระอาเจียนด้วย นับว่าน้ำได้ออกมากแล้วทั้ง ๒ ทางนี้จึ่งไม่มีพระบังคนเบา. อีกประการ ๑ หมอว่าพระโลหิตฉีดขึ้นพระเศียรมาก, จึ่งไม่พอที่จะบังคับพระวักกะให้ทำการตามน่าที่.

วันที่ ๒๒ เวลาเที่ยงคืนล่วงแล้วสักหน่อย ๑ ปวดพระบังคนหนัก, แต่หาได้มีพระบังคนออกมาไม่, มีแต่พระวาตะ, แต่ข้อนี้หมอกล่าวว่าเปนพยานอยู่ว่าพระอุทรทำงานแล้ว, จึ่งตกลงว่าให้ยอมถวายพระกระยาต้ม ถ้าจะโปรดเสวย. ฝ่ายหมอฝรั่งอยากให้ถวายน้ำสูปไก่, แต่เจ้านายเห็นกันว่า ทูลกระหม่อมได้ทรงบ่นอยากเสวยพระกระยา, ไม่ให้เสวยท่านก็ทรงบ่นว่าจะให้อด  ฉนั้นถ้าได้เสวยพระกระยาอาจจะทำให้สบายพระราชหฤทัยขึ้นได้ และถ้าเสวยลงก็ต้องเข้าใจว่าไม่มีข้อเสียหายอันใด จะเปนเครื่องบำรุงพระกำลังดีขึ้นเสียอีก ในระหว่างเที่ยงคืนกับ ๑ ล.ท.เสวยสูปได้ ๒ ช้อน. ๑ ล.ท.เศษ ไปพระบังคนหนัก, ซึ่งหมอตรวจว่าไม่มีพิษสงอะไร หมอปัวซ์ออกไปผสมพระโอสถขับพระบังคนเบาอีก ครั้นเวลา ๒ ล.ท.ฉันได้ปรึกษากับเสด็จลุงเห็นกันว่าการที่เสด็จแม่มิได้โปรดให้ไปตามฉันตั้งแต่เช้าวันที่ ๒๑ นั้นคงจะเปนเพราะทรงเกรงว่าคนจะตื่นว่าเปนการใหญ่โตมากไป, ฉนั้นในคืนนั้นก็ดึกอยู่แล้ว ควรฉันจะกลับออกไปเสียทีหนึ่ง เพื่อระงับความตื่นเช่นนั้น. เสด็จลุงได้เข้าไปทูลเสด็จแม่, ก็ทรงเห็นชอบด้วย, ฉันจึ่งตกลงกลับไปวังสราญรมย์

วันที่ ๒๒ เวลาเช้าจวน ๑๐ นาฬิกา กรมหลวงดำรงได้เสด็จไปปลุกฉันที่วังสราญรมย์ บอกว่าพระอาการทูลกระหม่อมหนัก, ฉันจึ่งรีบเข้าไปที่วังสวนดุสิต, เมื่อเข้าไปถึงเสด็จลุงได้ทรงส่งหนังสือรายงานแพทย์ให้ฉันอ่าน. รายงานนั้นเปนภาษาอังกฤษ, มีความพิสดารดังต่อไปนี้.-

“To the Ministers of H.M. The King.

“We, the undersigned, Consider it necessary to inform the Ministers that, at the present moment, the symtoms of leraemia are clearly evident.

“This condition is consequence of the Chronic Nephritis (Sclerotic), from which His Majesty has Suffered Since about five years.

“The Present serious state is caused by the intestinal troubles, existing for some days.

“The prognosis is very serious, and if the Anuria (absence of wrine) does not cease quickly there is great far that His Majesty may soon become unconscious.

“Bangkok, the 22nd October, 1910,10 a.m.”

(คำแปล โดยกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ)

ถึงท่านเสนาบดีทั้งหลายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.

          ข้าพเจ้าผู้มีนามท้ายหนังสือนี้ มีความเห็นว่าจำเปนจะต้องบอกแก่ท่านเสนาบดีทั้งหลายว่า ในเวลาบัดนี้มีพระอาการเห็นชัดว่าพระบังคนเบาเปนพิษ.

          การที่เปนเช่นนี้เปนผลแห่งพระโรคพระวักกะพิการอันเรื้อรัง, ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเปนมาแล้วประมาณ ๕ ปี

          พระอาการที่หนักลงบัดนี้ เปนด้วยพระโรคภายในพระอุทร ซึ่งมีมาหลายวันแล้ว.

          การทำนายพระโรคต่อไปเห็นว่าเปนที่น่ากลัวอย่างยิ่ง, และถ้าการที่พระบังคนเบาคั่งนี้ไม่ทุเลาลงโดยฉับพลัน, เปนที่น่ากลัวอย่างยิ่งว่าในไม่ช้าคงจะหมดพระสติ

                    เมื่อได้ทราบความตามรายงายหมอฉบับนี้แล้ว  ฉันรู้สึกใจคอเหมือนถูกใครเอามือล้วงเข้าไปบีบหัวใจ, เพราะรู้สึกความสิ้นปัญญาและสิ้นหวังเสียแล้ว. ในตอนเช้าวันที่ ๒๒ นั้น หมอฝรั่งยังพูดอยู่ว่าถ้าแม้มีพระบังคนเบามาเสียได้จะทุเลา หมอได้ถวายพระโอสถขับพระบังคนเบาเรื่อยๆ อยู่, เมื่อเห็นว่าทรงกลืนลำบากก็ได้ฉีกถวายทุก ๒ ชั่วโมง ครั้นเมื่อเที่ยงแล้วหมอจึ่งได้เห็นพร้อมกันว่าควรเปลี่ยนเปนถวายยาดิจิตาลีน (Digitalin), เปนยาเร่งพระโลหิตให้เดิรแรง เพื่อช่วยพระหทัยให้บีบอยู่ ในตอนบ่ายหมอบอกว่าหมดหนทางที่จะแก้ไขเยียวยาเสียแล้ว, พระอาการมีแต่ซุดลง, พระสติค่อยคลายลงทุกที, ตรัสได้เปนท่อนๆไม่ต่อกัน ในเวลาบ่ายฉันกับเจ้านายผู้ใหญ่ได้ตกลงกันให้ตามพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เข้าไป เพื่อให้ได้ชื่อว่ามีนายแพทย์ไทยรักษาอยู่ด้วย ครั้นเวลาบ่าย ๔ นาฬิกาเศษ เสด็จแม่ได้เสด็จลงมาจากห้องที่พระบรรทมชั้น ๓ , รับสั่งบอกว่า ทูลกระหม่อมนั้นพระเนตรตั้งเสียแล้ว, จึ่งได้ตกใจกันใหญ่ พัก ๑. แต่ก็ระงับไปได้ชั่วคราว ส่วนเสด็จแม่นั้นได้ทรงพยาบาลมาตลอดอย่างดีและแขงแรงที่สุด, ทรงอดทนเปนอย่างยิ่ง, เพราะยังทรงมีความหวังอยู่ว่าจะมีหนทางที่พระอาการของทูลกระหม่อมจะกลับดีขึ้นได้อีกบ้าง, แต่ในครั้งนี้ทอดพระเนตร์เห็นว่าหมดหนทางแน่แล้ว, จึ่งเหลือที่จะทรงอดกลั้นไว้ได้อีก, ประทับลงทรงพระกรรแสงที่อัฒจันท์ด้านหลังนั้นเอง ฉันเข้าไปทูลปลอบก็ยังไม่ใคร่ทรงสงบ, จนเสด็จลุงเข้าไปทูลด้วยเสียงแน่นแฟ้น ว่ายังไม่ถึงเวลา, และจะทำให้คนตื่นกันมากไป, จึ่งเปนอันทรงกลั้นพระกรรแสงได้, และเสด็จกลับขึ้นไปข้างบน. ต่อนั้นมาจนเที่ยงคืนก็ไม่มีอะไรนอกจากนั่งคอยรอฟังอยู่อย่างใจเต้นเท่านั้น. นับว่าเปนวันและคืนที่ฉันรับทุกขเวทนามากที่สุดในชีวิตของฉัน.

          เมื่อมาหวลนึกดูในเวลานี้จึ่งมารู้สึกว่า ในระหว่างเวลาที่รู้กันขึ้นแล้วว่าพระเจ้าหลวงประชวรหนักนั้น ได้มีอะไรๆที่น่าขัน และน่ารำคาญอยู่หลายอย่าง, ซึ่งฉันมิได้จดลงไว้ในสมุดจดหมายเหตุรายวัน,แต่ซึ่งฉันยังจำได้ดีอยู่ราวกับได้เปนไปเมื่อวานนี้. ฉันขอเล่าข้อความนั้นๆให้เธอฟังบ้าง และเธอจะมีความเห็นอย่างไรก็ตามใจเถิด, การทรงพระประชวรนั้น ได้ตั้งใจปิดกันมากอยู่, แต่เปนธรรมดาของเช่นนี้ยากที่จะปิดให้มิดจริงๆได้. ในวันที่ ๒๒ นั้น จึ่งมีเจ้านายและข้าราชการเข้าไปทอยๆกันเรื่อย จนในเวลาดึกนับว่าได้อยู่พร้อมกันหมด น้องชายเล็กนั้น ฉันนั่งรอๆอยู่ไม่เห็นเข้าไป, ฉันรู้สึกรำคาญจึ่งใช้ให้หม่อมหลวงเฟื้อ (คือเจ้าพระยารามราฆพ) เอารถไปรับตัวเข้าไป. พอเข้าไปถึงฉันก็ให้ดูรายงานหมอ และเล่าพระอาการให้ฟังเท่าที่รู้กันอยู่ เธอพยักหน้าและบอกว่า ทำนายอยู่แล้วว่าจะไปไม่ได้อีกนาน. ดูเธอไม่ใคร่วิตกในเรื่องพระอาการของทูลกระหม่อมมากเท่าเปนห่วงถึงกิจการอนาคต, คือเปนห่วงถึงรัชกาลที่ ๖ เธอนั่งซักถามอะไรต่อมิอะไรต่างๆ ว่าจะคิดเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรอย่างไรบ้าง, เปนอเนกประการเหลือที่จะจดจำ, แต่สรุปความก็เปนอันว่าฉันควรคิดกะการเสียตั้งแต่ต้นมือทีเดียวว่าจะทำอะไรบ้าง เพื่อหาชื่อเสียงแข่งกับทูลกระหม่อม ฉันต้องขอว่ารอให้ทูลกระหม่อมท่านสวรรคตเสียก่อนแล้วจึ่งค่อยคิดการนั้นๆ ก็จะดีกว่า คราวนี้จึ่งพูดไปถึงที่อยู่ของฉัน, น้องชายเล็กออกความเห็นว่า ควรอยู่ที่วังจันทร์, ซึ่งจะต้องเร่งให้ทำตึกขึ้นให้แล้วเร็วๆ และในระหว่างเวลาที่วังจันทร์ยังไม่แล้วฉันควรอยู่ที่วังสราญรมย์ไปก่อน. ส่วนวังสวนดุสิตเธอเห็นควรยกถวายให้เป็นที่ประทับของเสด็จแม่, ให้ย้ายจากสวนสี่ฤดูขึ้นไปประทับที่บนพระที่นั่งอัมพร. ฉันตอบว่าน่ากลัวจะไม่เปนไปได้ตามความคิดนั้น, เพราะประการ ๑ ท่านพวกผู้ใหญ่ๆ คงไม่ยอมให้ฉันอยู่ที่วังสราญรมย์, ซึ่งเปนวังเล็กและล้อมวงยาก, อีกประการ ๑ เสด็จแม่คงไม่โปรดขึ้นไปประทับบนที่นั่งอัมพรเปนแน่. ต่อนั้นพูดถึงมเหษีของฉัน เล็กว่าคราวนี้เห็นจะต้องคิดหาละ ฉันบอกว่าได้นึกอยู่แล้ว, และเล่าให้ฟังว่าเสด็จแม่ได้ทรงเลือกหญิงโอไว้แล้ว, เล็กตอบว่า, หม่อมฉันยินดีและโล่งมากถามว่าทำไม, เธอตอบว่า ได้นึกหวั่นๆ อยู่ว่าจะทรงเลือกลูกสาวกรมดำรง เมื่อทราบว่าทรงเลือกลูกสาวเสด็จลุงก็นับว่าควรโล่งได้ชั้น ๑ แล้ว เพราะเสด็จลุงนั้นพอพูดจาว่ากล่าวกันได้อยู่, แต่หญิงโอนั้นหม่อมฉันพอใจมาก, เพราะชอบกับเมียหม่อมฉัน, เธอเรียกเมียหม่อมฉันว่าพี่, ฉนั้นอย่างไรๆ ก็คงปรองดองกันอย่างดีเป็นแน่ละ นี่เป็นแบบของน้องชายเล็กเข้าทีเดียว นึกถึงตัวและความสะดวกของตัวมากกว่าอย่างอื่น, เปนอาจิณปฏิบัติอยู่อย่างนี้ นอกจากนี้ยังมีเจ้าพี่ของฉันอีก ๒ องค์ ซึ่งแย่งกันเอาฉันเป็นเจ้าของท่าน สององค์นี้คือ กรมราชบุรี กับกรมนครชัยศรี, ซึ่งโดยปรกติก็เปนขมิ้นกับปูนกันอยู่แล้ว, แต่ในเวลาเย็นวันที่ ๒๒ นั้นสำแดงความเปนอริกันอย่างชัดเจนทีเดียว. ฝ่ายกรมนครชัยศรีเวลานั้นเป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ, เมื่อทราบว่าทูลกระหม่อมมีพระอาการหนักจะไม่รอดแน่แล้ว จึ่งได้พูดกับฉันขออนุญาตเรียกทหารไปล้อมวงที่พระราชวังสวนดุสิต, ฉันก็เห็นว่าเปนการสมควรและถูกต้องตามแบบธรรมเนียมโบราณฉันจึ่งได้อนุญาต, พอทหารมา กรมราชบุรีก็ย่องเข้าไปสกิดฉันบอกว่าขอพูดด้วยสักหน่อย, ฉันจึ่งลุกออกไปจากห้องแป๊ะเต๋งไปยืนพูดกับกรมราชบุรีที่นั่น. กรมราชบุรีจึ่งกระซิบว่า หมอเขาว่าทูลกระหม่อมอาจจะสวรรคตลงเมื่อไรก็ได้ ฉนั้นขอให้ฉันระวังตัวให้มาก,  และกล่าวเป็นคำถามว่า, ทรงทราบไหมว่ากรมนครชัยศรีเขาได้เรียกเอาทหารมาเตรียมไว้พร้อมแล้วที่พระลาน? ” ฉันตอบว่าทราบแล้ว, เพราะกรมนครชัยศรีได้ขออนุญาตฉันก่อนแล้วจึ่งได้ไปตามทหาร. กรมราชบุรีถามว่าทำไมต้องอนุญาตด้วยเล่า, ฉันตอบว่าเป็นธรรมเนียมเช่นนั้น, กรมราชบุรีสั่นพระเศียรและกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นก็เปนธรรมเนียมที่ควรจะสั่งเลิก, ฉันถามตรงๆว่า สงสัยว่ากรมนครชัยศรีจะแย่งราชสมบัติฉนั้นหรือ , กรมราชบุรีตอบว่าเขาคงไม่โง่พอที่จะทำเช่นนั้นตรงๆดอก, แต่ว่าท่านชงักไว้เพียงนั้น, ฉันก็เลยไม่ได้รู้ว่ากรมราชบุรีท่านได้นึกระแวงว่ากรมนครชัยศรีจะทำอะไร. พอกรมราชบุรีหลีกไปพ้นจากฉันแล้วไม่ช้ากรมนครชัยศรีก็เข้าไปหาฉันและถามว่า กรมราชบุรีทูลอะไรกับทูลกระหม่อม ?” ฉันตอบปัดๆไปว่า พูดกิจส่วนตัว. กรมนครชัยศรีจึ่งพูดว่า เกล้ากระหม่อมทายได้ว่ากรมราชบุรีคงหาว่าเกล้ากระหม่อมจะคิดขบถ. แต่ทูลกระหม่อมทรงรู้จักเกล้ากระหม่อมอยู่ดีพอที่จะทรงทราบแล้วว่าเกล้ากระหม่อมจะไม่ยอมให้ใครมาเปนนายเกล้ากระหม่อมในโลกนี้นอกจากทูลกระหม่อม. อีกประการหนึ่งใครๆ ก็รู้กันอยู่ว่า เกล้ากระหม่อมยังไม่ได้เคยเปนหัวหน้าพวกก่อกำเริบต่อพระราชอำนาจเลย, ก็ยังดีกว่าผู้ที่มีหน้ามาหาความร้ายป้ายเกล้ากระหม่อมในครั้งนี้ ฉันต้องพูดไกล่เกลี่ยเสียขนานโตจึ่งได้เปนอันระงับความลงได้, หาไม่ท่านพี่ชายทั้ง ๒ องค์นั้นอาจจะถึงวางมวยกันขึ้นได้.  ต่อนั้นฉันจะกระดิกไปทางไหนท่าน ๒ องค์นั้นก็คอยคุมเชิงกันและกันอยู่ตลอดเวลา. นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ควรกล่าวถึงอยู่อีกคน ๑ คือ....................คืนวันที่ ๒๒ นั้น เปนวันเสาร์ กำหนดมีลครที่โรงลครนฤมิตร์................เข้าไปฟังพระอาการพระเจ้าหลวงแล้วเที่ยวหาฤๅคนโน้นคนนี้ว่า, ลครเห็นจะไม่จำเปนต้องงดนะ ? ถ้างดผู้คนจะตื่นมากไปเปล่าๆ จริงไหม ?” ผู้ที่ถูกหาฤๅเช่นนั้นเขาขี้คร้านจะตอบ, ก็เปนแต่พยักๆ เท่านั้น แล้ว...................ก็กลับออกไปเล่นลคร. ขอให้นึกดูว่าช่างมีแก่ใจออกไปเล่นลครได้เมื่อรู้อยู่แล้วว่าพระเจ้าอยู่หัวมีพระอาการหนักถึงปานนั้น  แต่ราษฎรพลเมืองยังมีความคิดมากกว่า....................., เพราะได้ทราบว่าในคืนวันที่ ๒๒ นั้นแทบจะไม่มีคนไปดูลครของ................เลย

                    ในคืนวันที่สุดแห่งพระชนมายุของทูลกระหม่อมนั้น พระราชโอรสธิดาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้ไปอยู่พร้อมกันที่พระที่นั่งอัมพรสถาน, พวกผู้ชายอยู่ที่ในห้องแป๊ะเต๋งหรือเฉลียงของห้องนั้น ฝ่ายผู้หญิงอยู่ที่เฉลียงข้างห้องที่พระบรรทมที่ชั้นสาม. แท้จริงนั้นพวกลูกเธอผู้หญิงไม่ควรที่จะขึ้นไปอยู่ที่ชั้นบนนั้นเลย, เพราะแต่ก่อนแต่ไรมาเวลาประชวรก็มิได้เลยขึ้นไป. และในคราวที่สุดนี้ทูลกระหม่อมก็มิได้รับสั่งให้หาผู้ใดขึ้นไปเลย, แต่ทูลกระหม่อมหญิงกรมหลวงศรีรัตนโกสินทรเปนผู้ไปเรียกพี่น้องผู้หญิงให้ขึ้นไป, จึ่งได้ขึ้นไปอยู่กันแน่นคลัก, รวมทั้งพวกเจ้าจอมอีกด้วย เวลาที่จวนสวรรคตจึ่งมีผู้หญิงอยู่ชั้นสามนั้นเต็มไปหมด. ลูกเธอที่มิได้อยู่ในเวลานั้นก็มีแต่ผู้ที่ยังศึกษาอยู่ที่ยุโรป, คือ น้องชายแดง, น้องชายติ๋ว (สมเด้จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณอินทราชัย), น้องเอียดน้อย (สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา), กับพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (กรมชัยนาท)

                    วันที่ ๒๓ ตุลาคม, เวลาเที่ยงคืนแล้วไม่ช้าหมอไรเตอร์ สั่งลงมาจากข้างบนให้บอกฉันว่า ทูลกระหม่อมทรงอ่อนเต็มทีแล้ว, ฉันจึ่งได้ขึ้นไปชั้นบนพร้อมด้วยลูกเธอของทูลกระหม่อม กับมีทูลกระหม่อมอา (สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช) กับกรมขุน (ภายนอกเปนกรมหลวง)  สรรพสิทธิประสงค์, เสนาบดีกระทรวงวัง, ขึ้นไปด้วย พอขึ้นไปถึงฉันก็รู้สึกรำคาญจนแทบจะหน้ามืด, เพราะได้เห็นผู้หญิงนั่งเบียดเสียดเยียดยัดกันแน่นอยู่ตามเฉลียงโดยรอบห้องที่พระบรรทม, จุกแน่นทุกช่องพระทวารจนแทบจะไม่มีทางลมเข้า, ราวกับเบียดกันดูลครอะไรอันหนึ่ง. ฉันนึกๆ อยากจะไล่ให้หลีกกันไปเสียบ้าง, แต่นึกๆ ไปก็เห็นว่าถ้าจะไล่ขับกันในเวลานั้นคงเปนเหตุยุ่งเหยิงมากมายไปเปล่าๆ, ทั้งเมื่อพูดปรารภขึ้นกับกรมสรรพสิทธิ์ท่านก็ร้องว่า จะไปไล่เขาอย่างไรได้, จึ่งเปนอันหมดหวังในทางที่จะขอความช่วยเหลือจากท่าน, และฉันจะลุกขึ้นเอะอะขับไล่เองก็ไม่ถนัด, ตกลงเปนต้องสกดใจนิ่งไว้ เปนแต่ในขณะที่ยังนั่งนิ่งคอยอยู่นั้น ฉันอดนึกไม่ได้ว่า ควรที่จะได้จัดการห้ามพวกผู้หญิงเสียตั้งแต่ในชั้นต้น, จะเปนที่เรียบร้อยดีกว่า.

                    ครั้นเวลาเที่ยงคืนล่วงแล้ว ๔๕ นาที พระบาทสมเด็จพระรามาศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต, โดยมิได้มีทรงรู้สึกพระองค์เลย, นับว่าปราศจากความลำบากทุรนทุรายทุกประการ

                    พอเสด็จสวรรคตลงฉันก็ต้องได้เห็นสิ่งซึ่งทำให้ฉันรู้สึกโกรธและสลดใจอย่างที่สุด  พวกผู้หญิง, ทั้งลูกเธอและเจ้าจอมที่ได้ไปอัดกันอยู่ก่อนแล้วนั้น, พอปรากฏว่าเสด็จสวรรคตแล้วก็ตรูกันเข้าไปที่พระแท่นและล้อมดูกันแน่น, คนโน้นจับทีคนนี้จับที, อย่างชุลมุนที่สุด, ซึ่งในเวลานั้นฉันนึกไม่ออกว่าจะเปรียบด้วยอะไร, แต่มาภายหลังนี้นึกออกว่า มีเปรียบแต่กับราษฎรฮือกันเข้าไปแย่งเมล็ดข้าวที่หว่านในพิธีแรกนา ฉันมิได้เคยนึกเคยฝันเลยว่าจะต้องเห็นกิจการเช่นนั้น ฉันได้เคยนึกแต่ว่าเมื่อสวรรคตลงจะมีผู้แสดงความเศร้าโศกเปนธรรมดา, แต่คงจะเป็นอย่างราบคาบเรียบร้อย, โดยความเข้าใจว่าคงจะยังต้องมีความเคารพอยู่. ครั้นเมื่อได้เห็นความจริงที่เปนไปในคืนนั้น จึ่งทำเอาฉันตกตลึง, เพราะผิดคาดมากมายเหลือเกิน. ความอลหม่านหาอะไรเท่าไม่มีเลย, เห็นเข้าล้อมและรุมกันจับพระบรมศพราวกับจะดึงเอาไปคนละชิ้น, และร้องไห้ส่งเสียงแข่งกัน ว่าใครจะร้องได้ดังกว่ากัน. ฉันสั่งน้อยชายเล็กและหมอไรเตอร์ให้ดูแลพยาบาลเสด็จแม่, ซึ่งประชวรพระวาโยอยู่, และว่าเมื่อหายแล้วให้เชิญเสด็จลงไปที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู, และฉันสั่งกรมสรรพสิทธิ์ให้จัดการต้อนพวกผู้หญิงลงจากชั้นบนให้หมดโดยเร็ว, แล้วฉันเองก็กลับลงไปที่ห้องแป๊ะเต๋ง

                   (อ่านต่อฉบับหน้า พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ ทรงบรรยายถึงเหตุการณ์ประวิติศาสตร์หลังการสิ้นพระชนม์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕)

         

 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น