Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เปิดใจ"ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" นิรโทษ"แน่ใจเข้าถูกซอย"

ที่มา:มติชนรายวัน 28 ต.ค.2556
สัมภาษณ์พิเศษ โดย ปิยะ สาระสุวรรณ, ศุภกาญจน์ เรืองเดช

 

 

 

 

หมายเหตุ : นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และในฐานะแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเตรียมเดินหน้าร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... แบบสุดซอย
คนเสื้อแแดงเรียกร้องให้แกนนำที่เคยต่อสู้ร่วมกันมาออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องนี้

ผมยืนยันไปแล้วว่าจะไม่เปลี่ยนจุดยืน แต่ว่าหากจะหมายถึงการระดมพี่น้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกันอย่างเข้มข้นในสถานการณ์นี้ ผมคิดว่าไม่เกิดประโยชน์ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งที่เขาเฝ้ามองอยู่จะรู้สึกพึงพอใจ สมประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งฝ่ายตรงข้ามของเราไม่ใช่แค่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่กลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในขณะนี้เท่านั้น แต่หมายถึงขบวนการของอมาตยาธิปไตยทั้งหมด

ขณะนี้เกิดรอยร้าวขึ้นในองคาพยพพรรคเพื่อไทย

เป็นธรรมดา เพราะว่าเราเดินในยุทธศาสตร์สองขามาโดยตลอด เมื่อขาทั้งสองข้างเดินไม่ตรงจังหวะกัน ภาวะชะงักงันและภาวะที่ต้องหาคำตอบจากกันและกันเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้น แต่จะปล่อยให้ขัดแข้งขัดขากันจนเกิดล้มลงไปทั้งหมดไม่ได้

จะประสานรอยร้าวนี้อย่างไร

รอยร้าวที่ว่ามันเกิดขึ้นเพราะสิ่งที่กำลังเป็นอยู่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดการรับรู้มาก่อนในหมู่ของคนเสื้อแดง เพราะฉะนั้นเมื่อมันเกิดเหตุการณ์ขึ้น แน่นอนความโกลาหล ความสับสนทางความคิด เสียงเอื้ออึงของการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น แต่มันต้องดูปลายทางว่าสุดท้ายแล้วร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีมติออกมาจากที่ประชุมสภาอย่างไร

แกนนำพรรคและสมาชิกพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ต้องการเดินหน้าต่อ

หากสุดท้ายพรรคเพื่อไทยยืนยันที่จะเดินหน้าต่อ คนเสื้อแดงก็ยังคงจะต้องยืนหยัดตามหลักการเดิม แต่ไม่ให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในฝ่ายเดียวกัน

วันนี้ท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณชัดเจนว่าอยากให้นิรโทษกรรมแบบสุดซอย

ผมคิดว่าจนถึงวันนี้มันยังเป็นเรื่องท่าที มุมมอง และเหตุผลของแต่ละฝ่าย ที่ยังต้องทำความเข้าใจกันและจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าการลงมติวาระสองและสามจะเห็นชอบตามร่างของนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานกรรมาธิการนิรโทษฯ

ผมยืนยันจุดยืนเดิมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณไปแล้ว และผมกำลังสงสัยว่าเราไปถูกซอยหรือเปล่า ถ้าซอยนี้มันจะเป็นซอยที่จะนำพาประเทศออกจากวิกฤตได้จริงก็ยังถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ถ้าซอยนี้เป็นซอยที่จะทำให้เราถูกลากเข้าไปสู่มุมมืดแล้วมีใครคอยซุ่มโจมตีอยู่ อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าเสียใจ

พ.ต.ท.ทักษิณและแกนนำหลายคนมีท่าทีไม่ค่อยฟังเสียงคัดค้านของ ส.ส.เสื้อแดงสักเท่าไหร่

ผมไม่คิดอย่างนั้นนะ จากการพูดคุยหลายๆ ฝ่ายในพรรคก็มีท่าทีรับฟัง

พ.ต.ท.ทักษิณส่งสัญญาณชัดเจนต้องการเซตซีโร่

ผมยังไม่ได้รับสัญญาณนั้นเลยและที่ผ่านมาก็เป็นท่าที อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ส่วนต่างๆ ของพรรคเพื่อไทยจะส่งสัญญาณมาชัดเจน ก็เป็นหน้าที่ที่ผมต้องไปอธิบาย ไอ้คำว่าเซตซีโร่นี่มันหมายถึงอะไร เพราะสิ่งที่เราคิดว่าการจะให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าโดยการหยิบยื่นความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย โดยที่คนกระทำต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนยังต้องถูกดำเนินการทางกฎหมายก็เป็นช่องทางที่สร้างความปรองดองได้ และเป็นช่องทางที่จะหยุดยั้งการฆ่า หยุดยั้งการทำร้ายทำลายชีวิตประชาชนได้ด้วย

คนเสื้อแดงที่สูญเสียญาติจะยอมรับการเซตซีโร่ได้หรือไม่

ผมว่าเรื่องเซตซีโร่หรือไม่ยังเป็นเรื่องเล็กกว่าการหยิบยื่นความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย และการรักษาหลักการที่ถูกต้องของประชาธิปไตยเอาไว้ให้ได้โดยการหยิบเอาบทเรียนจากอดีตมากำหนดอนาคตที่มันควรจะเป็น อันนี้สำคัญกว่า เพราะมันไม่ได้แน่เสนอไปว่าการกลับมาเริ่มต้นกันใหม่แล้วความขัดแย้งจะยุติ

เกรงว่าฝ่ายอำมาตย์อาจจะออกมาทำอะไรบางอย่างหรือไม่

ไม่กลัวครับ เพราะว่าวิธีการขับเคลื่อนพยายามทำด้วยความรัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างให้กับฝ่ายตรงข้ามที่กำลังจ้องมองเรื่องนี้อยู่ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้คนในสังคมทั่วไป ฝ่ายตรงข้ามเขาจับตาเรื่องนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ แล้วถ้ามีการเปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามสอดแทรก หรือโจมตีเข้ามาได้ภายใต้ความแตกต่างหรืออาจจะเลยเถิดไปถึงความขัดแย้งในฝ่ายเดียวกัน อันนั้นอาจจะเกิดความเสียหายมากกว่า

แสดงว่าขณะนี้ฝ่ายตรงข้ามจ้องมองอยู่

แน่นอน ต้องระวัง เพราะถึงเวลา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอาจจะเดินไม่ไปถึงไหน แต่ถ้าเกิดความขัดแย้งแตกแยกจากภายในของเราอย่างเห็นได้ชัด ชนิดแตกหักกันไปเสียก่อน เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะเป็นเรื่องเล็กทันที เพราะเราอาจจะถูกขย้ำจากสหบาทาของอีกฝ่ายหนึ่งทันที

จะทำความเข้าใจกับกลุ่มเสื้อแดงที่มีความหลากหลายแตกต่างกันอย่างไร

เป็นเสรีภาพและวิธีคิดของแต่ละฝ่าย แต่เรื่องอย่างนี้มันต้องปิดประตูคุยกันในบ้าน แต่ถ้าออกมาเถียงกันนอกรั้วบ้าน มันจะทำให้บ้านตรงข้ามหรือฝ่ายตรงข้ามแอบซุ่มตี ซุ่มยิง แอบหาประโยชน์เอาทีหลัง

มีคนเสื้อแดงบางส่วนออกมาแสดงจุดยืนพร้อมที่จะอยู่ตรงข้ามรัฐบาล

เป็นความรู้สึกที่พี่น้องแต่ละคนสะท้อนออกมา แต่ความเห็นของผมคงไม่ลุกขึ้นมาเผชิญหน้าชนกับพรรคเพื่อไทยให้ล้มไปข้างหนึ่ง

มั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่สูญเสียมวลชน

พรรคเพื่อไทยต้องเป็นผู้ประเมิน สำหรับผมไม่กลัวที่จะเสียมวลชน เพราะเอาเข้าจริงแล้วผมก็เป็นมวลชนคนหนึ่งในขบวนการของคนเสื้อแดง ผมเติบโตมาพร้อมกับมวลชนกลุ่มนี้ ผมไม่เคยมีประสบการณ์ต่อสู้ทางการเมืองอื่น ซึ่งผมมั่นใจว่าผมรับรู้ความรู้สึกของมวลชนกลุ่มนี้

สามารถตอบแทนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ได้หรือไม่

ผมมั่นใจเช่นนั้นว่า ไม่ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ขบวนการคนเสื้อแดงจะยังอยู่ ส่วนความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยจะเป็นอย่างไร ยังไม่จำเป็นต้องเร่งรัดสรุปวันนี้

ในฐานะแกนนำคนเสื้อแดงที่ได้รับตำแหน่งในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยอมหรือไม่ที่จะออกมายืนอยู่กับมวลชนคนเสื้อแดงโดยไม่รับตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล

ผมฟันธงตรงนี้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นผมเป็นคนเสื้อแดง ผมเป็นมวลชนคนหนึ่งในขบวนการนี้อย่างแน่นอน

ไม่กลัว พ.ต.ท.ทักษิณลอยแพแกนนำคนเสื้อแดงหากยังยืนยันในจุดยืนเดิม

ผมไม่ได้กังวลเรื่องนั้น เพราะผมทำด้วยความปรารถนาดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถ้าการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้สามารถทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณสามารถกลับบ้านได้จริงก็อยากให้เกิดขึ้น แต่เราเห็นว่าสถานการณ์นี้เดิมพันมันสูงเกินไป และหากเกิดความผิดพลาด ผลกระทบที่เกิดขึ้นมันจะไม่ส่งผลดีใดๆ เลยกับฝ่ายประชาธิปไตย

ยอมที่จะอยู่ตรงไหนก็ได้ของพรรคเพื่อไทยโดยไม่รับตำแหน่งทางการเมือง

ผมจะเป็น ส.ส.หรือรัฐมนตรีหรือไม่ มันเป็นเรื่องเล็ก กว่าการที่ผมจะเป็นอะไรโดยที่ยังรักษาจุดยืนของตัวเองไว้ได้หรือไม่ ตราบใดที่ยังรักษาจุดยืนและหลักการของตัวเองไว้ได้ ผมจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ตราบใดที่ผมไม่สามารถรักษาหลักการและจุดยืนของตัวเองไว้ได้ ผมจะเป็นอะไรก็ไร้ความหมายและเป็นคนเสื้อแดงไม่ได้

พร้อมที่จะเดินไปพร้อมกับยุทธศาสตร์ขาที่เป็นมวลชนคนเสื้อแดง

ยุทธศาสตร์ 2 ขา มันต้องผลัดกันเดินทีละก้าว และก้าวที่เดินต้องสัมพันธ์กัน ทิศทางที่เดินต้องไปในทางเดียวกัน แต่ถ้าวันหนึ่งมันเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สัมพันธ์กัน ผมคิดว่าขาข้างที่เป็นมวลชนคนเสื้อแดงจะปักหลักที่เดิม จะไม่เปลี่ยนไปจากจุดที่เรายืนอยู่ และไม่มีปัญหาอะไรกับขาที่เดินไปอีกข้างหนึ่ง

คุยกับสุรชัย แซ่ด่าน : เห็นอะไรหลังสงครามในเมือง ในป่า และในคุก

มุทิตา เชื้อชั่ง
 



สรุปประวัติของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ พร้อมมุมมองการเมือง ทั้งต่อ รัฐบาล นปช. คนเสื้อแดง นำเสนอการเปลี่ยนผ่านสังคมอย่างสันติ รวมถึงไอเดีย “เวลาที่เหมาะสม” สำหรับการนิรโทษกรรมบุคคลต่างๆ


วิดีโอสัมภาษณ์สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ตอบคำถามเรื่องสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ คิดอย่างไรเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม ใครควรได้รับการนิรโทษกรรม ใครไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม มองสถานการณ์การเมืองในเวลานี้เป็นอย่างไร และชีวิตหลังได้รับอิสรภาพจะเป็นอย่างไร
 
สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือนามสกุลเก่าคือ แซ่ด่าน อายุอานาม 72 ปีแต่หน้าตายังสดใส เคลื่อนไหวกระฉับกระเฉง ดูแข็งแรง ในวันที่นัดคุยกันเขามากับภรรยา คือ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ วัย 56 ปี หรือที่ใครๆ เรียกกันว่า ป้าน้อย ภรรยาผู้คอยเยี่ยมสามีทุกวันตลอด 2 ปี 7 เดือนที่อยู่ในเรือนจำ พร้อมๆ กันนั้น ป้าน้อยยังคอยช่วยเหลือดูแล ประสานงานต่างๆ ให้นักโทษการเมืองคนอื่นๆ ด้วย จนเป็นที่เคารพนับถือของผู้คน

สำหรับสุรชัย เราคงไม่ต้องกล่าวแนะนำตัวอะไรมากนัก เพราะมีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ยุคสงครามคอมมิวนิสต์ แต่อาจมีไม่น้อยที่ไม่รู้ว่า พื้นเพของเขานั้นเป็นคนชั้นล่างโดยทั่วไปของสังคม อาศัยอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราช การศึกษาไม่สูง ชีวิตวัยเด็กยากลำบากจนเรียกได้ว่าอยู่อย่างอดๆ อยากๆ เมื่อเติบใหญ่มีอาชีพซ่อมวิทยุโทรทัศน์ และจับพลัดจับผลูเข้าสู่ “การเมือง” ด้วยสถานการณ์ที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ม็อบเบ่งบาน รวมถึงม็อบไล่ผู้ว่าฯ ในพื้นที่บ้านของเขาด้วย คุณสมบัติส่วนตัว ที่พูดเก่ง โน้มน้าวใจคนเก่งและรักความเป็นธรรม ประกอบกับช่วงนั้นม็อบขาดคนปราศรัย เพียงเท่านี้ก็ลากเขาจากโต๊ะซ่อมวิทยุมาสู่เวทีปราศรัยเสียฉิบ! ทั้งที่จริงแค่ตั้งใจแวะไปดูการชุมนุม

“ผมไม่เคยผ่านการอบรมวิชาการใดๆ แต่ผมเชื่อว่า การที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ยากจนทนทุกข์ แต่คนส่วนน้อยมั่งคั่งมีสุข เป็นเพราะการจัดสรรปันส่วนทางเศรษฐกิจไม่เป็นธรรมนั่นเอง และแม้ผมจะไม่เคยผ่านโรงเรียนการฝึกพูด แต่ผมก็สามารถกล่าวคำพูดให้ประชานนิยมชมชื่นได้ เพราะสิ่งที่ผมกล่าวคือ คำพูดที่ถอดออกมาจากหัวใจอันเป็นดวงเดียวกันกับประชาชนผู้ทุกข์ยากนั่นเอง” (น.143 หนังสือ “ตำนานนักสู่ สุรชัย แซ่ด่าน” ,2530.)

จากผู้นำปราศรัยเรียกร้องความเป็นธรรม สถานการณ์ระลอกที่สองก็ผลักให้เขาไปไกลยิ่งขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ประท้วงผู้ว่าฯ บานปลายจนมีการเผาจวนผู้ว่าฯ แน่นอน จับใครไม่ได้ก็ต้องแกนนำผู้ปราศรัย เขาจึงหลบหนีเข้าป่าหาพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนคลื่นนักศึกษาจะเข้าป่าหลังถูกปราบในปี 19 ไม่นาน คือ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2519 และใช้ชีวิตอยู่ในนั้นจนวันที่ 23 มิถุนายน 2524 ในวันที่นักศึกษา “อกหัก” พากันกออกจากป่าด้วยนโยบาย 66/23 เขาก็ยังอยู่ที่นั่น และลงจากป่าครั้งสุดท้ายด้วยหน้าที่ “ทูตสันติภาพ” มาเจรจาระหว่างทางการไทยกับ พคท. แต่สุดท้ายถูกจับกุม เขายังคงเรียกการกระทำนั้นว่า “การหักหลัง” มาจนทุกวันนี้

สุรชัย ถูกขังที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน สถานที่เดียวกับเรือนจำหลักสี่ คุมขังนักโทษการเมืองในปัจจุบัน ในวันที่ 29 มิถุนายน 2524 ก่อนจะนำมาขังที่เรือนจำบางขวางเมื่อ 27 พฤษภาคม 2525  จากนั้นวันที่ 21 ตุลาคม 2526 ศาลพิพากษาคดีเผาจวนผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช ก่อการจลาจลเป็นคดีแรก ลงโทษจำคุก 23 ปี ตามมาด้วยคดีคอมมิวนิสต์และปล้นรถไฟ ในวันที่ 29 มกราคม 2529 ซึ่งศาลทหารพิพากษาประหารชีวิต จากนั้นเขาทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษและได้รับพระเมตตาจากโทษประหารก็เหลือจำคุกตลอดชีวิตในปลายปีเดียวกันนั้นเอง สุรชัยอยู่ในเรือนจำเรื่อยมา ได้รับพระราชทานอภัยโทษในวาระต่างๆ เหมือนนักโทษโดยทั่วไปอีก 5 ครั้ง จึงสามารถออกจากเรือนจำได้ในกลางเดือน มิถุนายน 2539 รวมระยะเวลาในเรือนจำครั้งนั้น 16 ปี

และสำหรับครั้งนี้ ข้อหาหมิ่นสถาบัน อีก 2 ปี 7 เดือน (ระหว่าง. 22 ก.พ.54 – 4 ต.ค. 56 ) จากโทษจริง 12 ปี 6 เดือน โดยใช้ช่องทางเดิม อันที่จริง คดีของเขามีความน่าสนใจในแง่ที่เจ้าหน้าที่พื้นที่ต่างๆ ทยอยแยกกันแจ้งความ โดยอ้างอิงถ้อยคำจากการเดินสายปราศรัยของเขาในหลายพื้นที่ คำปราศรัยของเขาส่วนใหญ่จะตรงไปตรงมาและติดตลก แต่ไม่หยาบคายหรือรุนแรง กระนั้นก็ยังไม่สามารถรอดพ้นการฟ้องร้องไปได้

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของชายผู้ผ่านประสบการณ์ต่อสู้ทางการเมืองกว่า 40 ปี จนปัจจุบันยังคงแอคทีฟในนามกลุ่ม “แดงสยาม” พร้อมทั้งตั้งใจจะจัดการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสนามหลวง ... เราจึงขอใช้โอกาสแห่งอิสรภาพพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ กับชายผู้นี้ เป็นการพูดคุยในบ่ายวันหนึ่งก่อนที่ประเด็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะร้อนขึ้นมา



===============
มองสถานการณ์คดี 112 ยังไง ?

มาตรา 112 ไม่ใช่เพิ่งมีเดี๋ยวนี้ มันมีมาตลอดและมีทางออกในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เบื้องต้นถ้าไม่มีใครไปแจ้งความมันก็ไม่เป็นคดี แต่ถ้ามีคนแจ้งความก็เป็นคดี เราจะตัดสินใจเดินทางไหนแต่ละรายต้องรู้ตัวเองว่า สู้คดีชนะไหม ปัญหาหลักก็คือ ได้ประกันตัวหรือเปล่า อย่างยุทธภูมิชนะคดีแต่ติดคุกไปแล้วปีหนึ่ง อย่างนี้จะเรียกว่าชนะอย่างไร

เรื่องประกันตัว เป็นหัวใจสำคัญ คดีอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ได้ประกันตัวถึงชนะคดีก็ติดคุกไปแล้ว

กรณีดา สมยศ จะสู้คดีชนะได้อย่างไร เราต้องอย่าหลอกตัวเอง คนไม่อยากติดคุกและคิดว่าสู้แล้วจะไม่ติดคุกแต่สู้แล้วกลับติดคุกยาวกว่า

ดารณีเคยพูดว่าอยากสร้างบรรทัดฐานคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก คิดยังไง ?

ถามว่ามันได้ผลตรงไหน เรื่องนี้ผมทำมาก่อนตั้งแต่เรื่องเผาจวน ปล้นรถไฟ เราไม่ยอม เราสู้คดีเพื่อเป็นต้นแบบ แล้วผลมันคืออะไร ผลคือโดดเดี่ยวเดียวดายในคุก ผมไม่รับนโยบาย 66/23 เขาบอกมอบตัวจบ แต่เราไม่มอบ เราอยากสร้างต้นแบบเป็นนักปฏิวัติต้องกล้าหาญ กล้าเผชิญ แล้วเป็นยังไง โดดเดี่ยวเดียวดายอยู่ในคุก 16   ปีปรับลดจากโทษประหารชีวิต แล้วออกมายังต้องใช้หนี้แทนพรรคคอมมิวนิสต์อีก 1.2 ล้าน ค่าปล้นรถไฟ พรรคปล้น ไม่ใช่ผม ยิงตำรวจก็คนอื่นยิง ผมไม่ได้เกี่ยวข้องเลย แต่ผมต้องถูกตัดสินประหารชีวิตฟรีๆ โดยไม่ได้ทำผิด แล้วก็ถูกคดีเผาจวน 23 ปีฟรีๆ ไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้เกี่ยวข้องเลย เราถือว่าเราบริสุทธิ์ ต้องการพิสูจน์แล้วเป็นยังไง

คดีนี้เราถึงยอม เพราะถ้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์เราคงแก่ตายในคุก ถามว่าแล้วใครให้คะแนนความบริสุทธิ์คดีเผาจวน ปล้นรถไฟ แม้แต่ในแวดวงเดียวกันพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้ให้ราคาเลย เอาตัวรอดหมด ทิ้งให้เราต้องรับเคราะห์คนเดียว

เหมือนกันกับยุคนี้ไหม ?

เดี๋ยวนี้ยังดีกว่า เพราะมันหลากหลาย ไม่ใช่หลอกคนเสื้อแดงไปติดคุกไม่ดูแล ตอนนี้ก็ดูแลกันหลายส่วน พรรคดูแล คนเสื้อแดงด้วยกันเองดูแล แต่ของเราตอนนั้นไม่มีเลย 6 เดือนไม่มีคนไปเยี่ยมต้องปลูกผักบุ้งขาย ได้วันละ 10 บาทเผื่อจะได้เอาไปซื้อขนมปังกินสักแถวหนึ่ง ต้องซ่อมวิทยุโทรทัศน์หากินในคุก สู้กับขบวนการกรมราชทัณฑ์ มาเฟียบางขวาง ไม่มีใครไปดูแล คนเดือนตุลา พรรคคอมมิวนิสต์ ไม่มีใครไปเหลียวแล ปล่อยให้เราถูกเพิ่มโทษ ถูกลดชั้น ถูกขังซอย ถูกรังแกย่ำยียิ่งกว่าตอนนี้พันเท่า เพราะดันไปเปิดเผยเรื่องทุจริต นสพ.อาทิตย์วิวัฒน์ของชัชรินทร์ (ไชยวัฒน์) นักข่าวมาสัมภาษณ์ว่าในคุกบางขวางมีการค้ายาเสพติด ตั้งตัวเป็นผู้อิทธิพลไหม เราก็บอกไปลงได้แต่อย่าบอกว่าใครบอก แต่เขาก็ดันไปลงว่าสุรชัยให้ข่าวมา เรียบร้อย โกรธทั้งกรมเลย แล้วก็สั่งลดชั้น 2 ชั้น นั่นแหละสิ่งที่ประสบมาแล้ว พิสูจน์มาแล้ว สร้างบรรดทัดฐานมาแล้ว ตัวเราต้องแบกรับหนัก แต่คุณค่าที่เราสร้างไม่มีใครให้คุณค่าเลย

คุณสุรชัยมีบทเรียนทางการเมืองมาหนักหนาสาหัส ทำไมหลังรัฐประหารยังออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก ?

ก็มันถูกบังคับ ถูกทำ หลังออกจากคุกจริงๆ ก็ต่อสู้แนวทางสภา ปี 2545 ลงสมัคร ส.ว.เลือกตั้งซ่อม ได้ 120,000 คะแนนแต่ถูกประชาธิปัตย์รุม แข่ง 16 คน ปชป.ส่งถวิล ไพรสน ลงเลือกตั้ง ตั้งกองบัญชาการที่สุราษฎร์ กวาดส.ส.จากจังหวัดต่างๆ มารุมเราคนเดียว ใช้เงิน 42 ล้าน จนชนะไป 20,000 กว่าคะแนน แต่เรามีเงินอยู่ 600,000

ไม่คิดจะพักผ่อน ?

ถามว่าจะออกไปได้ยังไง ตอนนี้อยากออก รับปากผู้ใหญ่เลยว่าอยากกลับบ้าน แต่ออกมายังไม่ทันได้เปลี่ยนกางเกง ใส่ขาสั้น เขาพาไปแล้ว วันนี้ถ้าจะให้หยุดก็ได้ ปิดโทรศัพท์แล้วกลับไปอยู่บ้าน แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นข่าวจะออกมาดีหรือ เหมือนไก่ถูกขังแล้วปล่อยออกมาก็ฝังเลย แต่พอเปิดโทรศัพท์มันจะอยู่ได้หรือ เขาก็โทรกันมาไม่หยุด คนเสื้อแดงเยอะแยะ แล้วจะบอกว่า “ผมหยุดแล้วครับ” ได้เหรอ เหมือนรถวิ่งมาด้วยความเร็ว 120 แล้วหยุดทันทีมันก็คว่ำ ต้องค่อยๆ ผ่อนความเร็ว คิดว่าทำได้ เพราะเดี๋ยวนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ที่ชุมนุมกันเป็นแสนแล้วไม่ชนะไม่เลิก มันไม่ได้แล้ว ตอนนี้มันสู้กันในคุณภาพมากกว่าแดงกับเหลือง

ช่วยขยายความเรื่องการต่อสู้ในเชิงคุณภาพที่ว่า

สถานการณ์มันคลี่คลาย ฝ่ายเหลืองพ่ายแพ้ในทางยุทธศาสตร์ หมายความว่า โดยภาพรวมทั้งหมด ที่เขาต่อต้านทุนโลกาภิวัตน์ วันนี้ในที่สุดคนที่เข้าร่วมก็เห็นว่ามันไม่ใช่ เพราะความต้องการให้สังคมหยุดนิ่งและถอยหลังเป็นไปไม่ได้ วันนี้ พูดง่ายๆ ว่า ทักษิณเป็นผู้ร้ายที่เขาชูขึ้นมาเท่านั้นเอง ความขัดแย้งวันนี้ไม่ใช่ทักษิณขัดแย้งกับสนธิ เพื่อไทยขัดแย้งกับประชาธิปัตย์ แต่มันเป็นความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างสังคม มันเป็นความขัดแย้งในเรื่องกฎวิวัฒนาการ สังคมมาถึงจุดนี้แล้วมันไม่ไปต่อไม่ได้

การไปข้างหน้าก็คือ การเป็นทุนนิยมเสรี แบบยุโรป ญี่ปุ่น สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ไม่ใช่สังคมนิยม โลกนี้ยังไม่มีสังคมนิยม จีนก็ยังไม่ใช่ วิวัฒนาการสังคมก็คือ พอถึงยุคศักดินา ก็จะเสื่อมแล้วไปยุคทุนนิยม แล้วก็พัฒนามาถึงยุคโลกาภิวัตน์ ยุคข้อมูลข่าวสาร มันถอยหลังไม่ได้ทั้งความคิดของคน พลังการผลิต วิวัฒนาการทางสังคม
หลังจากทุนนิยมเสรีก็จะไปสู่สังคมรัฐสวัสดิการ ไปสู่สังคมนิยม และสังคมคอมมิวนิสต์ เพียงแต่ว่านานเท่าไรแค่นั้นเอง

ยังเชื่อในคอมมิวนิสต์ ?

แน่นอน สังคมไหนมันจะหยุดนิ่งได้ โลกต้องไปข้างหน้าซึ่งต้องมีรูปการณ์ ไปข้างหน้าไม่รู้ไปไหน ไม่ได้ คนที่เป็นนักสังคมต้องเข้าใจว่าข้างหน้าคืออะไร วันนี้รูปการณ์มันก็ชัดเจน

มองขบวนเสื้อแดงยังไง ?

ในส่วนของสีแดง เขายืนอยู่กับปัจจุบัน วันนี้ทุนโลกาภิวัตน์คือปัจจุบัน ผมไม่ได้บอกว่าทุนโลกภิวัตน์ดีหรือไม่ดี อันที่จริงทุนมันก็ไม่ดีหรอก แต่ถามว่าทุนโลกาภิวัตน์มันก้าวหน้ากว่าทุนอนุรักษ์นิยมไหม

แต่เพื่อนๆ คุณสุรชัยเลือกทุนเก่าเยอะเลย

เขาหลงทาง พอป่าแตก ต้องเข้าใจก่อนว่า คนเดือนตุลาเขาสู้กับเผด็จการทหาร เป้าชัดเจนว่าคือกองทัพ  ผู้ถืออาวุธ แต่หลังจาก 14 ตุลา มันไม่ใช่แล้ว สังคมเปลี่ยน จากคนถือปืนมีอำนาจทางการเมืองมาเป็นคนถือเงิน 14 ตุลาไม่ใช่วันประชาธิปไตยนะ แต่เป็นวันปลดโซ่ตรวนให้ทุนนิยมไทย ทุนไทยได้ประโยชน์ หลังจากนั้นบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ถูกนายทหารเป็นกรรมการเสวยผลประโยชน์ ก็ได้รับอิสระ สามารถสะสมทุน ขยายทุนและเริ่มเข้ามาไต่เต้าทางการเมือง การเมืองเปลี่ยน แล้วหลังจากนั้นคนถือปืนก็พยายามจะต่อสู้ให้ฟื้นมาในยุคสุจินดา ดิ้นเฮือกสุดท้ายแล้วก็จบ ถามว่าวันนี้ทหารยังเข้ามาในการเมืองอยู่นี่ วันนี้มันเป็นเรื่องของทหารหลงยุค ไม่ใช่เจ้าของยุค

เพื่อนๆ ยุคนั้นคิดอีกแบบเพราะ ?

เป้าเปลี่ยนจากทหาร เข้าสู่ยุคทุน ก็ไม่รู้ว่าสู้กับใคร ดังนั้น พอเขาชูทักษิณขึ้นมาว่าเป็นมารร้าย พวกนี้ก็คิดว่าเขาต่อสู้ทุนนิยม

มันเป็นปัญหาแค่เรื่องมองคู่ขัดแย้งหลักต่างกัน หรือมีปัจจัยอื่นด้วย ?

วันนี้ต้องมองให้ออกว่าคู่ขัดแย้งหลักคือใคร ไม่ใช่เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ไม่ใช่เสื้อแดงกับเหลือง คู่ขัดแย้งหลักคือ ทุนใหม่โลกาภิวัตน์กับทุนเก่าอนุรักษ์นิยม ทุนชั้นบนสุดของสังคม ทุนเก่าเป็นด้านหลักของความขัดแย้ง ทุนใหม่เป็นด้านรอง เสื้อแดงและพรรค เป็นผลสืบเนื่องมาถึงรากหญ้า ถ้าแก้ต้องแก้ที่ยอดบนสุด แต่พวกนี้เป็นโครงสร้างทางอำนาจ ทุนเก่าที่มีอำนาจต่อเนื่องมายาวนานคุมทุกอย่างรวมถึงความเชื่อ เขากลัวทุนใหม่เหมือนแต่ก่อนกลัว ถนอม ประภาส นั่นแหละ พวกจารีตนิยมเขากลัวทหาร ล้มทหารไม่ได้ ถนอมคุมหมด ก็เลยสร้างขบวนการนักศึกษาขึ้นมาไม่รู้ตัว เหมือนกับที่สร้างสนธิ ลิ้มฯ ขึ้นมาในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั่นแหละ

พูดง่ายๆ ว่า เป้าตอนนั้นคือทหาร แต่ตอนนี้เป็นกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ ขณะที่ทหารลดต่ำลง ทุนก็ไต่ระดับขึ้น ในช่วงนั้นทั้งต่อสู้และร่วมมือกันระหว่างทหารกับทุน ไต่มา 28 ปี กลุ่มทักษิณตัวแทนทุนโลกาภิวัตน์เข้ามา ทุนเก่าเริ่มกลัวเหมือนกลัวถนอม ดังนั้น จึงชิงลงมือก่อน ล้มทักษิณเสียก่อน แต่บังเอิญว่ามันไม่เหมือนล้มถนอม เพราะถนอมมันอยู่ในระบบราชการ ปลดแล้วก็จบ แต่ทุนใหม่มันไม่ใช่เฉพาะในประเทศแต่มันเป็นตัวแทนรูปการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจของทั้งโลก มันเป็นไปไม่ได้

คำอธิบายนี้เน้นโครงสร้างส่วนบนของอำนาจ คนทั่วๆ ไปอย่างคนเสื้อแดง ในสายตาคุณสุรชัยเป็นยังไง และอยู่ตรงไหนในคำอธิบายของคุณสุรชัย ?

ถามว่า 3 เกลอรู้รึเปล่า ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ารู้หรือยัง เพราะเขามองเป้า ตอนแรกก็สนธิ ลิ้มฯ เหมือนคนเพิ่งต่อยมวยใหม่ ต่อมาก็สู้กับประชาธิปัตย ต่อมาก็สู้กับระบอบอำมาตย์ อาจจะยังไม่รู้ว่าระบอบอำมาตย์คืออะไร หนึ่ง รู้แต่แกล้งไม่รู้ หรืออาจไม่รู้จริงๆ   อาจมีเพดานจำกัด ตรงนั้นก็มีส่วนด้วย แต่พวกเขาเองความเข้าใจก็ยังไม่พอ แต่เดี๋ยวนี้คงรู้เหมือนเสื้อแดงรู้ ตาสว่างเหมือนกัน

คุณวีระ (วีระกานต์ มุสิกพงศ์) ก็เคยโดนจับในคดีหมิ่นฯ คนที่โดนจับในคดีเขาจะมองไม่เห็นสิ่งที่คุณสุรชัยเห็นเลยหรือ ?

ต้องเข้าใจ เขานักการเมืองประเภทผู้กว้างขวาง ไม่ใช่คนต่อสู้แบบคนเดือนตุลา เป้าหมายของเขาไม่ใช่เปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม ที่ถูกจับไม่ใช่ปัญหาความคิดแต่เป็นพูดติดลมไป เหมือนพวกเราหลายคนที่โดนคดี 112 บางคนเพราะโกรธ ใช้อารมณ์ ความรู้สึก เช่น ขู่วางระเบิด แต่ถ้าระดับความคิด ดา  สมยศ ผม นี่เป็นระดับความคิด

นี่ก็ยังเป็นส่วนของแกนนำ ในส่วนของมวลชนเห็นยังไง ?

เดิมทีที่มามันก็หลายส่วน ที่มาเพราะชอบทักษิณเยอะเลย ไม่พอใจฝ่ายโน้น ส่วนไอ้ที่จะรู้เบื้องลึกอะไรก็ไม่รู้หรอก มีแดงดาราเสียเยอะ ไม่รู้เป้าหมายเชิงโครงสร้าง จตุพรเดือนพฤษภาก็เป็นความคิดเดือนตุลา ต่อสู้หากบาดเจ็บล้มตายจะมีประมุขของประเทศมาแยก และอยู่ข้างประชาชน

ปัจจัยที่ทำให้เหตุการณ์ 53 ไม่เหมือน 14 ตุลาคืออะไร ?

คู่ต่อสู้เปลี่ยน

การวิเคราะห์สถานการณ์ของ นปช.ปี 53 ผิดหรือเปล่า ?

เราไม่อยากจะพูดแบบนั้น แต่ถามว่าทำไมปี 53 ผมไม่ร่วม จนวีระก็ยังประกาศไล่เวทีเรา แม้แต่ปลายข้อลปลายแขน ในความคิดผม การชุมนุมเป็นเพียงยุทธวิธี ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ และการบอกว่าไม่ชนะไม่เลิกนั้นไม่ได้ เป็นคำขวัญที่ผิด แบบผมนี่แหละคือไม่ชนะไม่เลิก สู้มา 40 ปีแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลา ติดคุก ออกมาแล้วสู้ต่อ นี่คือความหมายของไม่ชนะไม่เลิก แต่ไม่ใช่ชุมนุมแล้วไม่เลิก ถามว่าชุมนุมไม่เลิกแล้วมันชนะตรงไหน ชนะในทางยุทธวิธี อภิสิทธิ์ยอมรับ ยอมยุบสภา แล้วเลือกตั้งเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ถามว่าจบไหมมันก็ยังไม่จบ แล้วตอนนั้นถ้าอภิสิทธิ์เป็นยอมยุบสภา วันนี้เพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล และแทนที่จะเป็นผู้ต้องหา อภิสิทธิ์จะกลายเป็นฮีโร่เลย

เชื่อในพลังชนบทไหม หลายคนเห็นตรงกันว่าพลังชนบทก็เอาทุนนิยมโลกาภิวัตน์

ต้องให้เขารู้ปัญหาด้วย แค่มาชุมนุมเพราะฉันชอบทักษิณ ไม่กี่วันก็จางถ้าชอบบุคคล แต่ถ้าเขาต้องการเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศ เพราะโครงสร้างนี้มันพาประเทศไปต่อไม่ได้ แบบนี้ถึงจะไปได้ยาว และการเปลี่ยนโครงสร้างก็ไม่ใช่แบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

ตอนนี้ผมนำเสนอว่า การปฏิรูปประเทศไทย คณะกรรมการปฏิรูป มันใช้ไม่ได้ เพราะมันคือการซ่อมแซม โดยโครงสร้างก็ยังเหมือนเดิม วันนี้ต้องใช้คำว่า เปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ ฉะนั้น วันนี้ยุทธศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายต้องกำหนดตรงนี้ เป็นคณะกรรมการเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ เพราะสังคมต้องเปลี่ยนแปลง

หมายความว่า ฝ่ายเราเป็นฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ส่วนฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง เราต้องให้โอกาสเขา ให้เวลาเขาในการปรับความคิด เราต้องเข้าใจพัฒนาการทางความคิดของคนว่า คนเราพัฒนาความคิดได้
สิ่งที่ต้องนำเสนอในเสื้อแดงวันนี้คือ จุดหมายปลายทางคืออะไร และต้องไปอย่างไร สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงคือความรุนแรง

ผมเสนอว่า คณะกรรมการเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ จุดหมายปลายทางในการทำให้เกิดการปรองดอง ลดความขัดแย้งคือ ต้องพาสังคมไทยเปลี่ยนไปข้างหน้า ไม่ใช่เปลี่ยนแบบประเทศที่ไม่มีประมุข เปลี่ยนไปในแบบประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี่แหละ ตัวอย่างในต่างประเทศก็มี แล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยน ฝ่ายที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงต้องเยือกเย็นที่จะรอคอย ให้อีกฝ่ายปรับความคิด อีกฝ่ายก็ต้องค่อยๆ ศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องค่อยๆ เปลี่ยน

ต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน และคุณสุรชัยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนั้นไหม ?

สถานการณ์วันนี้เริ่มคลี่คลายแล้ว และเริ่มมีคุณภาพใหม่ของการเปลี่ยนแปลง นี่เป็นสิ่งที่ผมสบายใจมาก

อะไรคือคุณภาพใหม่ของการเปลี่ยนแปลง ?

เราดูสิ ความขัดแย้งในสังคมวันนี้ ฝ่ายใหม่ฝ่ายเก่าในทางสภา ฝ่ายเก่าพ่ายแพ้ในทางยุทธศาสตร์อย่างสิ้นเชิง วันนี้มันมีแค่เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ถามว่าวันนี้ประชาธิปัตย์โอกาสที่จะชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลมีกี่เปอร์เซ็นต์ ถามว่านอกสภาวันนี้จะสร้างคนเสื้อเหลืองเป็นแสนเป็นล้านมาล้อมสนามบินเป็นไปได้ไหม นี่คือคุณภาพใหม่ ฝ่ายที่เคยคึกคักกันใหญ่โต นายทุนหนุนเพียบ ก็เรียกว่าแพ้ทางยุทธศาสตร์เช่นกัน กองทัพ อันนี้สำคัญที่สุด วันนี้การแสดงออกชัดเจนมากว่าไม่เข้าฝ่ายในความขัดแย้ง ถ้าสมัยก่อนออกมาเต้นแล้ว ผบ.ทบ.ออกมาแสดงความเห็นให้นายกฯ ลาออก

วันนี้ฟันธงได้เลยว่า พันเปอร์เซ็นต์เรื่องทหารลากรถถังมายึดอำนาจ ผมไม่กลัวเลย ยึดวันนี้ถามว่าใครเป็นนายกฯ ถ้ายึดอำนาจประเทศไทยไปแบบซีเรียทันที ประเทศรอบบ้านเขาจะเข้าสู่ AEC พม่ายังเปลี่ยนแล้วไทยจะกลับไปหรือ ถ้าเป็นอย่างนั้นผมรับรองว่าไปหมด ไปทั้งยวงด้วย หมดทั้งระบอบเลย อเมริกาก็ไม่เอา ไม่เอาทั้งโลก ทหารคงไม่ปัญญาอ่อนถึงขนาดนั้น

ตอนนี้แนวรบที่ยังเหลืออยู่คือ ตุลาการ กับ องค์กรอิสระ ตุลาการนี่เรามองเห็นเลยตั้งแต่มีมติว่านายกฯ จะต้องไปยื่นกรณีแก้รัฐธรรมนูญ เรื่อง ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญไม่กล้า ในที่สุดก็ยอม เรื่องงบประมาณก็ยอม แนวรบนี้เริ่มถอย
ทุกแนวรบทางยุทธศาสตร์ ฝ่ายเก่าแพ้ทุกแนวรบ นี่คือสถานการณ์คลี่คลาย

ฝ่ายแดงมีปัญหาขัดแย้งภายในไม่น้อย ระหว่างฝ่ายที่ปกป้องรัฐบาลกับฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คุณสุรชัยคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่จุดแตกหักไหม และบทบาทรัฐบาลที่เป็นอยู่นี่มันเวิร์คไหม ?

เรื่องนี้ไม่วิตก เป็นเรื่องปกติธรรมดาในทุกขบวนการ แต่ถามว่ามันขัดแย้งรุนแรงถึงกับล้มล้างกันไหม เป็นความขัดแย้งที่ไม่ใช่ศัตรู ความขัดแย้งจะเป็นบ่อเกิดของการพัฒนา แล้วสุดท้ายจะรู้ว่าใครเป็นหลัก เป็นรอง ใครถูก ไม่ถูกเรื่องไหน เหมือนผมกับ นปช.ตอนแรกก็ขัดแย้งกัน ตอนนี้ก็ไม่ขัดแย้งกันแล้ว ทำงานร่วมกันได้ ไม่โกรธกัน เพราะมันเป็นความขัดแย้งในฝ่ายมิตรที่คิดไม่ตรงกัน

มองบทบาท นปช.ยังไง ?

นปช. พูดง่ายๆ ว่า เขาแยกไม่ออกจากพรรคเพื่อไทย และไม่แตกกันเหมือนพันธมิตรฯ กับประชาธิปัตย์ เพราะคนใน นปช.เองก็เข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาล แล้วเขาเดินยุทธศาสตร์ 2 ขา จุดหมายปลายทางคือ สนับสนุนให้พรรคได้เป็นรัฐบาล เมื่อเป็นแล้วก็ป้องกันไม่ให้รัฐบาลถูกล้ม แต่ปัญหาประเทศไทยวันนี้ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนรัฐบาล แต่เป็นการเปลี่ยนโครงสร้าง การเป็นรัฐบาลแล้วไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างได้ เป็นรัฐบาลแล้วไม่ชนะ ไม่ชนะในเชิงโครงสร้างทางสังคม แม้แต่คนเสื้อแดงในคุกยังเอาออกไม่ได้เลย ถามว่ามีอำนาจอะไร เจ้าของโครงสร้างอำนาจเก่ายังมีอำนาจเหนือนรัฐบาล แล้วจะเอาอะไรไปชนะ  นปช.เป็นรถพ่วง รัฐบาลเป็นรถลาก พอรถลากหยุด รถพ่วงก็หยุด ลากมวลชนไปไม่ได้เพราะเป็นรถพ่วง

ผมเสนอว่า วันนี้ นปช.ต้องแยก แยกกันเดิน รวมกันตี อย่าเป็นสองขา วันนี้ควรใช้คำว่า สองแนวทาง สองยุทธศาสตร์ นปช.และคนเสื้อแดงต้องเดินแนวทางนอกสภา ยุทธศาสตร์คือตาสว่าง ส่วนพรรคเพื่อไทยเดินแนวทางในสภา ยุทธศาสตร์ ชนะเลือกตั้งและทำอย่างไรให้ประชาธิปัตย์เล็กลง แบบนี้จะไม่ขัดแย้งกัน

สิ่งที่อยากนำเสนอคือ ยุทธศาสตร์เปลี่ยนผ่านอย่างสันติ เดินไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้าง ไม่ใช่ทำลายฝ่ายเก่า ทำอย่างไรให้ฝ่ายเก่ายอมรับในการเปลี่ยนแปลง ถ้าทำลายฝ่ายเก่าก็จะเป็นการปฏิวัติประชาชนแบบพรรคคอมมิวนิสต์ คนชนะก็ชนะบนซากปรักหักพัง ชัยชนะบนซากปรักหักพังและซากศพมันไม่ใช่ชัยชนะ อันนี้เป็นสิ่งที่อยากให้ข้อคิดทั้งแดงทั้งเหลือง 

ไม่กังวลเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลผู้มีอำนาจ ผู้ที่ชนะในทางยุทธศาสตร์หรือ

ถ้าสังคมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เข้าสู่ความเป็นทุนนิยมเสรีแล้ว ทุนใหม่ชนะฝ่ายทุนเก่าเด็ดขาดแล้ว ต่อไปคนเสื้อแดงต้องมีความเป็นอิสระที่จะต่อสู้กับทุนใหม่อีกนะ ไม่ใช่จบ คนเสื้อแดงวันนี้จึงไม่ใช่รถพ่วงของพรรค ผมสนับสนุนทักษิณ สนับสนุนเพื่อไทย แต่ไม่ใช่ทักษิณหรือเพื่อไทยจะมากำหนดความคิดผม และต่อไปไม่แน่ในอนาคตผมอาจต้องต่อสู้กับทักษิณ กับเพื่อไทย ถ้าพวกคุณเกิดเปลี่ยนไป ดังนั้น เราต้องกำหนดว่า เมื่อคุณชนะแล้วคุณต้องทำยังไง คุณเข้าไปแล้วต้องอุ้มคนชั้นล่าง ลดความได้เปลี่ยนของคนชั้นบน สร้างคนชั้นกลางให้มากที่สุด คุณจะต้องต่อยอดประชานิยมของคุณไปสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้า ที่ผ่านมา เอาล่ะ มันลดแลกแจกแถม แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการ จุดมุ่งหมายของมันคือ อุ้มคนชั้นล่าง ไม่ใช่อุ้มทุกชนชั้น การลดความได้เปรียบของคนชั้นบน ไม่ใช่แบบพรรคคอมมิวนิสต์ไปยึดของเขามา แต่ลดด้วยระบบกฎหมายและภาษี ในต่างประเทศก็ให้เห็นอยู่ มีรายได้มากต้องเสียภาษีมาก มรดกเยอะเก็บภาษีมากหน่อย ในทางการเมืองก็ต้องส่งทอดให้ชนชั้นกลาง เพราะโลกในยุคต่อไปเป็นยุคของคนชั้นกลาง มันต้องกระจาย คนชั้นกลางมาจากไหน ก็อุ้มขึ้นมาจากชนชั้นล่าง และชนชั้นบนลดความได้เปรียบหน่อย ไม่ได้ให้ชนชั้นบนกลับมาเป็นคนชั้นล่าง

ทำแบบนี้ทักษิณก็จบในทางการเมืองอย่างสวยงาม แต่ถ้ายังผูกขาดอำนาจเต็มที่เพื่อชนชั้นตัวเอง ก็กลายเป็นทุนอนุรักษ์แล้วฝ่ายที่ก้าวหน้ากว่าก็ต้องโค่นล้มคุณ ดังนั้น คนเสื้อแดงต้องเตรียมความพร้อมตรงนี้ ไม่ใช่ส่งทักษิณถึงฝั่งแล้วจะไม่ทำอะไร เราต้องสร้างตรงนี้ขึ้นมาเพื่อดูแลเขา ไม่ใช่ให้ร้ายเขาแต่เพื่อดูแลเขาว่าคุณอย่าเปลี่ยนไปนะ คุณชนะได้เพราะเป็นกลุ่มการเมืองที่ก้าวหน้า อย่ากลายเป็นกลุ่มเก่า ถ้าคุณไม่ทำเราก็จะเอากลุ่มที่ก้าวหน้ากว่าเข้ามา ต้องสู้กับคุณอีก

เครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านสังคมอย่างสันติ คืออะไร?

พูดง่ายๆ ว่าทั้งในสภาและนอกสภา ต้องเป็นพลังมวลชนและต้องพัฒนาพลังความคิด สังคมที่จะพัฒนาได้ต้องมีพลังการผลิตสูงและมีจิตสำนึกสูง รัฐประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าต้องสร้างระบบการศึกษาที่ก้าวหน้า  ทำยังไงไม่ให้คนเห็นแก่ตัว บางคนบอกมึงอยากมีชีวิตที่ดีนั่นเห็นแก่ตัว ไม่ใช่ การอยากอยู่ดีกินดีไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวคือ การที่เราอยู่ดีมีความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่นต่างหาก

พูดถึงการเปลี่ยนผ่าน คงต้องพูดถึงนิรโทษกรรม ในฐานะที่เป็นนักโทษทางการเมืองคนหนึ่ง มองยังไงเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งมีข้อถกเถียงกันมาก แต่เกือบทุกคนเห็นเป็นทางเดียวกันคือ ไม่รวม มาตรา 112 คิดว่าใครควรได้นิรโทษ และใครไม่ควรได้?

จริงๆ แล้ว 112 จะไม่เรียกเป็นนักโทษทางการเมืองได้ยังไง นี่มันนักโทษทางความคิด นักโทษทางมโนธรรมสำนึก มันเหนือกว่าคนไปชุมนุม คนชุมนุมบางทีไม่ได้มีความคิดอะไร ไปชุมนุมแล้วก็พลอยถูกจับไปด้วย ผมต่อสู้มา 40 ปี ถามว่าผมไม่ใช่นักโทษทางการเมืองหรือ ผมมันยิ่งกว่าการเมืองทุกคนที่ถูกจับด้วยซ้ำ

เรื่องนิรโทษกรรมในทางการเมืองเป็นเรื่องจะต้องทำ แต่จังหวะเวลาไหนที่เหมาะสมคือประเด็น ดังนั้นที่ออกมาของคุณวรชัย เหมะ คือ พวกปลาซิวปลาสร้อย เอาไปขังทำไมเขาเป็นแค่เหยื่อ ดังนั้น พันธมิตร 5 คนที่ยึดรถเมล์ก็ควรได้นิรโทษกรรม คนเสื้อแดงที่ถูกขังเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แกนนำควรได้ ปล่อยเขาไป ส่วนระดับอภิสิทธิ์ สุเทพ แกนนำทั้งหลายค่อยว่ากัน แล้วก็ต้องนิรโทษกรรมในท้ายที่สุดอยู่ดี เพราะไม่เช่นนั้นติดคุกหมดทุกคน ทักษิณ ติด 2 ปียังน้อย แต่คนน่าห่วงคือคุณอภิสิทธิ์ แต่คุณอภิสิทธิจะติดคุกเมื่ออายุ 60 กว่า คุณสุเทพเมื่ออายุ 80 กว่า กลายเป็นตาแก่เข้าไปอยู่ในคุก เป็นเรื่องน่าสงสาร เพราะหมดสภาพทางการเมืองหมดแล้วกลายเป็นคนแก่รับกรรมเก่าเหมือนประธานาธิบดีฟูจิโมริแห่งเปรู ที่ไปแก่หง่อมอยู่ในคุก น่าสงสารไหมตรงนี้ ดังนั้น นิรโทษกรรมเป็นเรื่องจำเป็นต้องใช้ แต่วันนี้ต้องนิรโทษกรรมให้ปลาซิวปลาสร้อยก่อน พวก 112 ก็อย่าไปกีดกันเลย แล้วขั้นต่อไปก็ระดับแกนนำ ขั้นต่อไปก็ระดับทักษิณ อภิสิทธิ์ สุเทพ แต่ว่าควรนิรโทษเมื่อศาลตัดสินแล้วเข้าไปอยู่ในคุกซักพักก่อน

ก็ทั้งหมด แต่ต้องดูว่าเวลาไหน ตอนนี้ยังไม่เหมาะจะนิรโทษอภิสิท และสุเทพ ตอนนี้มันยังร้อนๆ อยู่ ความเสียใจ ความเจ็บปวด มันยังไม่จาง แต่ถ้าผ่านไปอีกซัก 10 ปี เขาเริ่มจาง อีก 10 ปีข้างหน้า อภิสิทธิ์ สุเทพ ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองอะไรแล้วกลายเป็นคนแก่ไปอยู่ในคุก ญาติผู้สูญเสียก็สงสารได้ แต่ต้องให้ศาลลงโทษก่อน ตัดสินก่อน ซึ่งผมคิดว่าเวลาก็ยัง 10   ปีข้างหน้า มันเป็นเรื่องของเวลา

สมัยก่อนระหว่างคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล รบ ฆ่ากันตายเท่าไร ใครจะยอมให้คอมมิวนิสต์มามอบตัวแล้วไม่เอาเรื่อง แต่ทำไมเขายอมกันได้ ผมกับ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา น่าจะต้องโกรธกันตลอดชีวิต เพราะเป็นคนหักหลังผม จับผมเข้าคุก แต่พอมาอยู่พรรความหวังใหม่ด้วยกัน แกเป็นประธานภาคใต้ ผมเป็นที่ปรึกษาทำงานด้วยกัน ทำไมไม่โกรธกัน เพราะกาลเวลามันผ่านไป สภาพการณ์มันเปลี่ยนไป

ดังนั้น นิรโทษกรรมมันต้องเกิดแต่ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม สำหรับคนเล็กๆ นิรโทษกรรมได้เลย เขาไม่ได้ฆ่าใคร และเขาถูกกล่าวหา ถูกกล่าวหาว่ามาชุมนุม ถูกล่าวหาว่าเผาศาลากลาง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเผาจริง ไม่เผาจริง และไม่มีญาติพี่น้องของศาลากลางไหนจะเจ็บปวด มันเป็นรัฐไม่ใช่บุคคล

ขึ้นบันไดต้องค่อยๆ ก้าวทีละก้าว อย่าก้าวเร็ว ไม่งั้นขาฉีก

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เสวนา: ปฏิรูปกาศึกษาไทย รัฐสวัสดิการคือทางออก?


เรียบเรียงโดย ประชาไท
 
 
 

ชี้น่าเป็นห่วงเรื่องเด็กเลิกเรียนกลางคันเกือบ 50% ปัญหาคุณภาพครูผู้สอน ไปจนถึงระบบอำนาจนิยมในการศึกษา ด้านแนวร่วมนร.นศ.ผลักดันปฏิรูปการศึกษาไทยแถลงขอให้ทีนิวส์ขอโทษที่ลงข่าวบิดเบือน มิเช่นนั้นจะฟ้องกลับด้วยพ.ร.บ. คอมพ์

 

26 ต.ค. 2556 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มสภาหน้าโดม จัดงานเสวนาในหัวข้อ “การศึกษาไทย รัฐสวัสดิการคือทางออก?” โดยมีวิทยากรที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาเข้าร่วมการอภิปราย 

 

 

โดยก่อนการเริ่มเสวนา ทางกลุ่มแนวร่วมนักเรียนนักศึกษาผลักดันปฏิรูปการศึกษาไทย ได้แถลงข่าวต่อกรณีการรายงานข่าวของเว็บไซต์ทีนิวส์กรณีการจับกุมกลุ่มนักเรียนนักศึกษา เมื่อวันที่ศุกร์ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาบิดเบือนจากความจริง 

 

ทางกลุ่มระบุว่า เมื่อเวลา 18.42 น. ของวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข่าวการทำกิจกรรมของนักศึกษาเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยทางเว็บไซต์สำนักข่าวทีนิวส์ โดยมีการพาดหัวว่า "เนติวิทย์" เหิมหนักเปิดเครื่องเสียงดังลั่น ระหว่างปชช.ทำพิธีส่งเสด็จ "พระสังฆราช" ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยในระหว่างการทำกิจกรรมทางกลุ่มนักศึกษาพบว่า ไม่มีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวทีนิวส์เข้ามาทำข่าวเลย เป็นเพียงการนำข้อมูลจากสำนักข่าวอื่นๆ บิดเบือนเท่านั้น  

 

โดยทางกลุ่มได้ชี้แจงว่า ในระหว่างการชุมนุม ได้มีการใช้เครื่องขยายเสียง ทางตำรวจสน.ดุสิตจึงได้เข้ามาล้อมที่รถ และได้แจ้งว่า นักศึกษากลุ่มนี้ถูกจับกุมในข้อหาละเมิดพ.ร.บ.จราจร และระบุว่าจะมีการจับกุมในข้อหาละเมิดพ.ร.บ.ความมั่นคง รวมถึงข้อหาการดัดแปลงรถยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ต่อมาพบว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง ทำให้ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม นักเรียนนศ. ที่ไปชุมนุมทั้งหมดถูกปรับรวมกันเป็นจำนวน 500 บาท  

 

ทางกลุ่มย้ำว่า การเผยแพร่ข่าวของเว็บไซต์ทีนิวส์ไม่เป็นความจริงและเป็นการใส่ร้ายป้ายสีกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และได้เรียกร้องให้สำนักข่าวทีนิวส์ทำการขอโทษกลุ่มนักเรียนนักศึกษา มิเช่นนั้น ทางกลุ่มจะดำเนินคดีฟ้องร้องสำนักข่าวทีนิวส์ ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14  ในข้อหาการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  

 

น่าห่วงนักเรียน-นศ.ตกหายระหว่างทาง

 

เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์  กล่าวว่า ในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐพยายามจะเพิ่มเงินอุดหนุนการศึกษา พบว่า ในระดับมัธยม ช่องว่างระหว่างร้อยละ 20 แรกของคนรวยที่สุด และร้อยละ 20 ของคนจนที่สุดในประเทศ ยังไม่ห่างกันมากนัก อย่างไรก็ตามในระดับอุดมศึกษา ช่องว่างระหว่างร้อยละ 20 แรกและสุดท้ายห่างกลับห่างออกกันไปเรื่อยๆ 

 

อย่างไรก็ตาม ในระดับมัธยมยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งรัฐสวัสดิการอาจจะแก้ปัญหานี้ไม่ได้สักทีเดียว คือเรื่องของการเรียนจบการศึกษา และจำนวนของการเลิกกลางคันระหว่างเรียน ยังไม่มีการเก็บสถิติในระดับนี้อย่างเป็นทางการ แต่พบว่าช่วงม.สามและปวช.จะเกิดการหล่นหายไประหว่างทางมากที่สุด หากเปรียบเทียบคร่าวๆ จากนักเรียนที่เข้าเรียนชั้นประถม 1 จำนวน 50 คน มีเพียง 28 คนเท่านั้น ที่จบการศึกษาในชั้น ม.6 หรือปวส. ปัญหานี้จึงน่าเป็นห่วงและต้องแก้ให้ได้

 

อย่างไรก็ตามในเชิงอุดมการณ์เอง การศึกษาไทยก็ยังมีปัญหาอยู่ ในแง่ที่สถาบันการศึกษายอมรับการจัดการศึกษาจากรัฐ หรือโครงสร้างส่วนบน คือยอมรับอะไรก็ตามที่รัฐประทานมาให้ ถือว่าเป็นบุญคุณ เช่นเดียวกันกับผู้ที่ให้การศึกษา ซึ่งยังมีความคิดว่าการให้การศึกษาเป็นบุญคุณ ซึ่งขัดกับแนวคิดเรื่องของรัฐสวัสดิการ 

 

นอกจากนี้ เดชรัตยังเล่าถึงประสบการณ์รัฐสวัสดิการของประเทศเดนมาร์ค ซึ่งเมื่อเทียบกับของไทยแล้วชี้ให้เห็นว่า รัฐสวัสดิการไม่ใช่เพียงแค่การเสียภาษีจากประชาชนและได้ของฟรีจากรัฐเท่านั้น แต่รัฐสวัสดิการในยุโรปจะมีลักษณะเป็น “สังคมนิยมโดยวัฒนธรรม” ซึ่งหมายถึงการที่รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ รู้สึกว่าเป็นหน้าที่และวัฒนธรรมที่จะต้องให้ความดูแลประชาชน มีวัฒนธรรมที่ผู้แพ้ไม่ถูกคัดออก แต่จะถูกฝึกฝนให้มีความสามารถเท่าๆ กับผู้ชนะ นอกจากนี้ เขายังเล่าว่า นักศึกษาเดนมาร์คยังได้รับเงินเดือนอุดหนุนจากรัฐด้วย 

 

มองปัญหาหลักคือคุณภาพครูผู้สอน

 

ปิยรัฐ จงเทพ เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องและประชุมเชียร์แห่งชาติ กล่าวว่า การเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของเยาวชนไทยที่ยังนับว่าน้อยอยู่มาก โดยอ้างสถิติการเข้าเรียนของนักเรียนไทย ปี 2541 มีจำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนในระดับประถม 50 คน แต่เมื่อถึงม. 3 เหลือเพียง 28 คน ในขณะที่สถิติปี 2540 มีนักเรียนที่เข้าเรียนในระดับประถม 1 ล้าน 1 แสนคน  แต่มีเพียง 8 แสนคนเท่านั้น ที่สามารถจบการศึกษาในชั้นม. 3

 

มีการวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวจากสภาการศึกษา พบว่า นักเรียนที่เรียนไม่จบนั้นมีปัญหาจากด้านการเงิน ต้องออกจากการเรียนกลางคันเพื่อไปช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวน หรือไม่มีเงินส่งเรียนต่อในระดับสูงขึ้น ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะเห็นว่า ในปี 2540 มีนักเรียนเข้าถึงการศึกษา 65% แต่ในปี 40 กลับลดลง เหลือเพียงร้อยละ 60% เท่านั้น

 

ปิยรัฐมองว่า ปัญหาหลักๆ ของระบบการศึกษา มาจากคุณภาพของครูที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ ในระยะสามสิบปีที่ผ่านมา ใครก็ได้มาเป็นครู ไม่ได้มีการคัดเลือกที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ มหาวิทยาลัยอย่างมศว. ที่เคยให้ความสำคัญกับการสร้างครูโดยเฉพาะ ก็ไม่เป็นเหมือนแต่ก่อน

 

นอกจากนี้ นอกจากรัฐสวัสดิการจะสามารถช่วยในแง่การเข้าถึงการศึกษาได้แล้ว รัฐสวัสดิการยังมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ด้วย อย่างประเทศในตะวันตกที่มีรัฐสวัสดิการด้านสาธารณสุข เช่น มีการบังคับให้แม่ต้องฝากครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์ เพื่อให้ทารกมีสุขภาพที่ดีและเอื้อต่อการเรียนรู้ นี่เป็นวิธีหนึ่งที่รัฐสวัสดิการจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเรียนรู้และการศึกษาของประชากรในสังคมได้ 

 

ต้องพัฒนาอาชีวะ,พาณิชย์ รองรับความสามารถที่หลากหลาย

 

อั้ม เนโกะ นศ. คณะศิลปศาสตร์ มธ. ผู้รณรงค์เรื่องการให้ยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบในมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยเรียนครุศาสตร์มา ในวิธีการเรียนการสอน มีแนวคิดที่ให้ควรให้นักศึกษาพัฒนาศักยภาพตามที่ตนเองสนใจ แต่ในความเป็นจริงของประเทศไทย ยังเป็นระบบการให้การศึกษาตามยถากรรม คือไม่มีการพัฒนาศักยภาพตามความสนใจของตนเองจริงๆ ยังมีการเป็นไปตามแบบแผน ว่าจบประถม มัธยม เข้ามหาวิทยาลัย และรับปริญญา นี่เป็นการจัดความศึกษาที่ให้ความสำคัญกับมิติเดียว

 

เธอกล่าวว่า ทุกวันนี้เรามีนักศึกษาที่เรียนในระดับอุดมศึกษามากเกินไป ในขณะที่คุณภาพกลับลดลง ในขณะเดียวกันประเทศในยุโรป อย่างเช่น เยอรมนี มีวิทยาลัยดนตรี การเต้น รวมถึงระดับหลักสูตร diploma หรือ certificate ที่รองรับการสร้างคนที่มีความหลากหลาย ในสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพ วิชาการ หรือเชิงพาณิชย์ เป็นต้น 

 

"ทุกวันนี้ เรามองเด็กพาณิชย์ ในแง่ลบว่า เป็นสก๊อย เป็นพวกที่ไม่สามารถเรียนต่อมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัยได้ แต่สิ่งที่รัฐควรทำคือเอางบประมาณไปพัฒนาวิทยาลัยเฉพาะด้านให้เท่าเทียมกัน ไม่ควรมองว่านักศึกษามหาวิทยาลัยเท่านั้นที่จะเป็นอนาคตของชาติได้แต่เพียงผู้เดียว" 

 

อั้มกล่าวว่า มีการเสนอว่าให้แก้ปัญหาการศึกษาไทยที่แบบเรียน เนื่องจากมีประวัติศาสตร์เรื่องของชาติเต็มไปหมด มีแต่เรื่องของสถาบันกษัตริย์ แต่กลับไม่มีเรื่องของปรีดี พนมยงค์ ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่มีประวัติศาสตร์สังคม หรือประวัติศาสตร์ของประชาชนในแบบเรียนเลย นี่เป็นการสร้างกลไกความเชื่อแบบที่รัฐไทยต้องการที่จะให้เป็น และอยู่ภายใต้ระบบคิดที่มีปัญหา

 

เธอเสนอว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาการศึกษาเมืองไทย ต้องพูดถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาของสถานะสถาบันกษัตริย์ด้วย หากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องของสถาบันกษัตริย์ จะไม่สามารถแก้ปัญหาอื่นๆ ที่รองลงมาได้เลย ถ้าจะพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเพียวๆ แบบพูดมาเป็นสิบปี อย่างนี้ก็ไม่เปลี่ยน ตราบใดที่ยังมีตำราเรียนที่ดีแค่ไหน แต่หากอุดมการณ์เรื่องสถาบันชาติ ศาสนา กษัตริย์ยังคงครอบงำอยู่ คนยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่รอบด้าน ยังมีการเลือกคัดจัดสรรข้อมูลโดยรัฐให้ประชาชนได้รับรู้ ถ้ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาแกนกลางของการเมืองไทย ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้เช่นกัน 

 

สิ่งสำคัญของเรื่องการศึกษาคือ การที่เราสามารถคิดอย่างตั้งคำถาม เชิงวิพากษ์ต่อชุดความรู้นั้น ว่ามีปัญหาอย่างไรด้วยการใช้เหตุผล ไม่ว่าจะเป็นชุดความรู้ของตะวันตก หรือของเราเอง เพื่อให้เราเรียนรู้ ไม่ใช่คิดว่าเราเป็นชาติที่ดีเลิศที่สุดและไม่ต้องการที่จะพัฒนาตนเองไปไหนอีก 

 

การกดขี่ในสังคมสะท้อนการขดขี่ในโรงเรียน

 

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล  สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติ เห็นด้วยกับการมองปัญหาการศึกษาผ่านมุมมองของชนชั้น คือมุมมองผู้ปกครอง และชนชั้นของผู้ถูกกดขี่ แม้จะมีความก้าวหน้าของสังคมขนาดไหน แต่ก็ยังมีการกดขี่เกิดขึ้นอยู่ในสังคม รวมถึงในระบบการศึกษาด้วย 

 

เนติวิทย์เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียน แต่ไม่ได้เป็น เนื่องจากไม่ได้ไปเลือกตั้ง จึงต้องยอมสละสิทธิ์ตามกฎของโรงเรียน และทางโรงเรียน ก็ลดตำแหน่งให้มีแค่รองประธานนักเรียนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กลับมีการยุบสภา เพื่อเป็นการกลั่นแกล้ง เนื่องจากพวกครูไม่พอใจที่ตนเองได้รับเลือกเป็นประธาน จากเดิมที่ตนเองจะได้เป็นกรรมการ ก็เลยไม่ได้เป็น จึงหันมาอ่านหนังสือในห้องสมุด จัดกิจกรรมเสวนา อ่านหนังสือ ฉายหนังในโรงเรียน และรวบรวมครูที่หัวก้าวหน้าไว้ได้จำนวนหนึ่งในเครือข่าย 

 

เขาเล่าวว่า ตอนนี้โรงเรียนจะมีการสร้างอนุเสาวรีย์รัชกาลที่ห้า มีตนคนเดียวที่คัดค้าน เพราะต้องให้สถาบันการศึกษาเป็นที่ที่เอื้อให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ห้า ต้องสนับสนุนให้มีการวิจารณ์ร.ห้า ไม่ใข่ส่งเสริมให้รัก นี่คือสภาพของการเมืองไทยที่สะท้อนลงมาถึงในโรงเรียน 

 

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

‘ทักษิณ’จิบกาแฟปฏิรูปชี้ต้องไม่ ‘Winner-take-all’ พร้อมนิยามระบอบทักษิณ

เรียบเรียงจาก ประชาไท



บก.ลายจุดชวนทักษิณจิบกาแฟปฏิรูป คุยปัญหาการเมือง ชี้ต้องไม่เป็นการเมืองแบบ ‘Winner-take-all’ เพราะจะขาดการรับฟังเสียงข้างน้อย พร้อมร่วมนิยาม ‘ระบอบทักษิณ’ ระบุตัวเองเป็นสุญญากาศ คุยรู้เรื่องแต่ถ้าแข่งแล้วสะกดคำว่าแพ้ไม่เป็น


23 ต.ค.2556 เมื่อเวลา 18.00 น. สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง โพสต์คลิปการสนทนาในหัวข้อ “กาแฟปฎิรูป กับ ทักษิณ ชินวัตร” ความยาวประมาณ 14 นาที ซึ่งเป็นการสนทนากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงประเด็นทางการเมือง ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงถอดบทสนทนาดังกล่าวมาเผยแพร่ดังนี้

00000
“การเมืองต้องไม่ใช่การเมืองแบบ Winner-take-all ถ้าเมื่อไหร่ที่การเมืองเป็นการเมืองแบบ Winner-take-all มันจะขาดเสียงข้างน้อยที่จะรับฟัง..” - ทักษิณ ชินวัตร



บก.ลายจุด  : เวลาพูดถึงการปฏิรูปมันจะมีมุมของพรรคการเมืองซึ่งตอนนี้แข่งกันเหลือ 2 พรรคแล้ว คือประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ประเด็นอยู่ที่ว่ามีคนเชื่อว่าใครปฏิรูปได้ก่อนฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายที่นำชัยชนะในระยะยาว แต่ว่าตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์เขาเป็นรอง ทีนี้การริเริ่มของอลงกรณ์ (พลบุตร) เกี่ยวกับการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์นั้น คุณทักษิณมองอย่างไร ?
ทักษิณ : จริงๆ แล้วผมอยากเห็นพรรคการเมืองมีการปฏิรูปให้ก้าวหน้าให้สมกับการรองรับประชาธิปไตยที่เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากพรรคการเมืองยังเป็นพรรคการเมืองที่ยังยึดแนวทางที่ยังขาดความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยมันก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อใครเลย ไม่เป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองนั้นๆ และประชาชน
อย่างเช่นพรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ไม่ใช่มีหน้าที่ค้านทุกเรื่องหรือฝ่ายรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องยอมรับว่าตัวเองทำถูกทุกเรื่อง มันถึงจะเป็นลักษณะของการเมืองที่ผมพยายามใช้คำพูดว่า การเมืองต้องไม่ใช่การเมืองแบบ Winner-take-all ถ้าเมื่อไรที่การเมืองเป็นการเมืองแบบ Winner-take-all มันจะขาดเสียงข้างน้อยที่จะรับฟัง แต่ข้างน้อยก็ไม่ใช่ว่าจะเอาใจตัวเอง ว่าขัดใจตัวเองไม่ได้ มันจะต้องทำอย่างไร ที่จะทำให้ระบบพรรคการเมืองยอมรับฟังเสียงข้างน้อย แต่ไม่ใช่เสียงข้างน้อยเอาแต่ใจตัวเอง ในที่สุด การตัดสินแน่นอนว่าเรายึดหลักเสียงข้างมาก แต่เสียงข้างมากจะต้องรับฟังเสียงข้างน้อย การปฏิรูปตรงนี้จะต้องเกิดขึ้นทั้งในพรรคการเมือง จนถึงในระบอบประชาธิปไตยโดยรวม

บก.ลายจุด  : แต่ว่าพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคนี้ ทางฝ่ายประชาธิปัตย์เขาเป็นเสียงข้างน้อยไปแล้ว เขามองว่าการปฏิรูปของเขาจะนำไปสู่ชัยยนะในสนามการเลือกตั้ง คุณทักษิณมองว่าการปฏิรูปของเขาจะนำไปสู่ชัยชนะไหม?
ทักษิณ : มันอยู่ที่ปฏิรูปอย่างไร ปฏิรูปนี้ต้องเป็นการปฏิรูปความคิด ปฏิรูปให้เป็นพรรคการเมืองที่เสนอทางออกให้กับประชาชน เสนอแนวคำตอบให้กับประชาชนว่านี่คือแนวทางที่ประเทศจะเดินหน้า นี่คือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการที่มีพรรคการเมืองที่มีคุณภาพ แต่ถ้ายังเป็นนักการเมืองที่บอกว่าผมไม่เอาเรื่องแนวคิด ผมจะขอโจมตีอย่างเดียว ผมจะเปิดแผลอย่างเดียว ซึ่งอะไรที่มันมากเกินไปมันก็ไม่ดี น้อยเกินไปมันก็ไม่ดีทั้งนั้น ความพอดีมันอยู่ตรงไหน พรรคการเมืองจะต้องเข้าใจความพอดีว่าการเป็นพรรคการเมืองนั้นจะต้องเสนอสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ความจริงแล้วไทยรักไทยเกิดขึ้นได้ และชนะได้นี่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มองตลอดเวลาว่าเพราะเงิน มองอย่างเดียวคือเงิน แต่ไม่ได้มองว่าประชาชนชอบอะไร คิดอะไร ใช้ความรู้สึกตอบตลอดเวลา ความรู้สึกอย่างเดียวมันไม่พอหรอกจริงๆ แล้วทุกอย่างต้องอาศัยคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์คือต้องตรวจสอบจากประชาชน มีการสำรวจให้รู้ว่าจริงๆ ประชาชนคิดอะไร แล้วก็ทำตามที่ประชาชนคิดจะดีกว่า
ผมคิดว่าการปฏิรูปมันไม่ใช่แค่ระบบการบริหารจัดการในพรรค แต่มันต้องปฏิรูปความคิดที่ให้มันเป็นที่ยอมรับของประชาชน ตรงนั้นต่างหากที่จะชนะเลือกตั้ง ไม่ใช่ปฏิรูปโดยการเปลี่ยนหัวหน้าพรรค ไม่เกี่ยวเลย



บก.ลายจุด : คุณทักษิณคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะปฏิรูปสำเร็จไหม?
ทักษิณ : คงยาก เพราะอะไร ไม่ได้ดูถูกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ว่าเป็นหลักวิชาวัฒนธรรมองค์กร องค์กรไหนที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง แม้ว่าจะดีไม่ดีไม่รู้ แต่ว่าเข้มแข็งมาก วัฒนธรรมองค์กรนี้อยู่มานานแล้วยึดถือมาโดยตลอด การจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องอาศัยผู้นำซึ่งมาจากข้างนอกและเป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำสูง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ เขาเรียก promote from within คือจะต้องเลื่อนจากคนข้างใน ซึ่งคนนอกเข้าไปอยู่ในประชาธิปัตย์สักแป๊บนึงถูกวัฒนธรรมกลืน พอกลืนปุ๊บมันเปลี่ยนไม่ได้แล้ว ตัวเองก็เป็นวัฒนธรรมนั้นแล้ว ดังนั้นวัฒนธรรมองค์กรของพรรคประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนแปลงยาก เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างนี้อีกนาน จนกว่าจะได้ผู้นำสดใหม่จากข้างนอกและมี strong leadership

บก. ลายจุด : กลับมาที่พรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคการเมือใหม่ มีคนพูดถึงคุณภาพของพรรคเพื่อไทยเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยไทยรักไทยว่าหากเปรียบเทียบกันแล้วมันไม่เหมือนเดิม?
ทักษิณ : อันนี้ต้องยอมรับนะ ผมพูดเล่นๆ ผมบอกว่าผมมีอุดมศึกษามาให้ ยุบพรรคผมแล้วบอกให้อุมดศึกษาหยุดเล่นการเมือง ก็ได้มัธยม มัธยมเสร็จก็ยุบอีก ก็ต้องได้ประถม เพราะประชาชนจะเอาพรรคนี้ เพราะอะไร? ประชาชนชอบแนวคิด ประชาชนชอบวิธีทำงาน ถึงแม้คุณภาพของ ส.ส. จะลดลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะปรับปรุงไม่ได้ และเมื่อกรอบวิธีคิดของพรรคยังอยู่ ดังนั้นคนที่เข้ามาถึงแม้ว่าเด็กจบใหม่จะให้มีประสบการเท่าคนมีประสบการณ์ไม่ได้ แต่ก็เทรนได้ มันก็ต้องเทรนกันขึ้นไป


บก.ลายจุด : เวลาเราพูดถึงการปฏิรูปการเมือง มักพูดว่าหลังการปฏิรูปมันจะเกิดการคลี่คลายใหญ่ การเคลื่อนตัวครั้งใหญ่ในสังคมไทย ตัวพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย เราแค่ต้องการกลับไปจุดที่ไทยรักไทยเคยทำได้ หรือว่าจริงๆแล้วเราต้องฝันไปให้ไกลกว่าจุดที่ไทยรักไทยเคยทำได้?
ทักษิณ : ไทยรักไทยทำได้มี 2 มิติ มิติหนึ่งคือตอนนั้นเป็นพรรคใหม่มีแนวคิดใหม่ได้คนใหม่ๆ เข้ามา และวันนั้นการเมืองไม่ดุ ไม่รุนแรง คนมีคุณภาพก็อยากเข้า แต่การเมืองเป็นอย่างนี้คนมีคุณภาพก็เริ่มหนีการเมือง กลัวการเมือง อีกมิติหนึ่งคือมีติของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจและอำนาจของประชาชนสูงกว่า แต่วันนี้ประชาชนอยู่ไหนไม่รู้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ก็ต้องยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งใจให้เกิด แต่ถูกบังคับว่ามันต้องเกิด ก็เลยเกิดแบบแค่นๆ ให้กันแบบแค่นๆ เพราะฉะนั้นจะแก้ตรงนั้นก็ต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญเพื่อให้กติกามันเป็นการยอมรับอำนาจประชาชนมากขึ้น ตรงนั้นมันจะเป็นอีกมิติหนึ่ง พรรคไทยรักไทยเข้มแข็งเพราะ 2 มิติ
แต่วันนี้พรรคพลังประชาชนก็ดี พรรคเพื่อไทยก็ดี ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเพราะ หนึ่ง คุณภาพคนมันหายไป ไม่กล้าเข้ามาเพราะการเมืองที่ดุ อันที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญอย่างนี้ระบบตรวจสอบชนิดที่เรียกว่า “พวกมึงกูจะตรวจสอบ พวกกูกูยกให้” ถ้าแบบนี้มันก็ไม่มีใครกล้าเข้า


บก. ลายจุด : คุณทักษิณจะบอกว่าเพื่อไทยไม่สามารถแม้แต่จะกลับไปยืนตรงจุดยืนเดิมได้?
ทักษิณ : จะกลับไปยืนจุดเดิมได้มันมี 2 ลักษณะ หนึ่ง บรรยากาศของการเมืองมันต้องให้มั่น ก็คือรัฐธรรมนูญจะต้องเคารพอำนาจประชาชน สองระบบตรวจสอบทั้งหลายก็ต้องมีระบบถ่วงดุล ไม่ใช่เป็นผู้ตรวจสอบคนอื่นแล้วสามารถไม่ถูกตรวจสอบได้ มันไม่มีการถ่วงดุล คนก็เลยลุแก่อำนาจ และให้ตัวเองขยายขอบอำนาจไป เกิดการโอเวอร์ริสระหว่างหน่วยงานแต่ละหน่วยงานของระบบตรวจสอบทั้งหลาย มันก็ทำให้คนมีความรู้สึกว่าอย่าไปยุ่งเลยการเมือง เลยกลายเป็นการเมืองเป็นเรื่องของคนไม่มีอะไรจะเสียเข้ามา ไม่มีอะไรจะเสียเข้ามาบ้านเมืองก็เสียหาย
อยากให้มองให้รอบ ถ้าเรามองเฉพาะพรรคการเมืองหรือรัฐธรรมนูญมันไม่พอ มันต้องมีมองทั้งระบบและมองเรื่องของการแทรกแซงระบบ อย่าลืมว่าประเทศไทยมันระบบบารมี อย่างผมก็มีบารมีในพรรค ถ้าระบบบารมีแทรกแซงระบบปกติโดยไม่มีเหตมีผล โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน โดยไม่คำนึงถึงความผาสุขของบ้านเมืองนี่ อันนี้อันตราย เขาเรียกว่า เมื่อไหร่ informal structure มัน supersedes formal structure มันก็ทำงานลำบาก”


บก.ลายจุด : หลายปีมานี้คนที่เมืองไทยยังไม่เลิกพูดถึงระบบทักษิณ เกิดกลุ่มประชาชนโค่นล้มระบบทักษิณ คุณทักษิณอาจจจะไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นปัญหาสำหรับคนพวกนี้ แต่คนพวกนี้เห็นว่าคุณทักษิณเป็นปัญหา
ทักษิณ : เป็นปัญหาเพราะผมไง เขาถึงแพ้ตลอด เพราะผมคิด ผมนำ และประชาชนเชื่อผม ก็เลยแพ้ตลอด ก็เลยจะโค่นผม แล้วโค่นระบอบผมคืออะไร ระบบอผมไม่มีอะไรเลย ความจริงแล้วก็คือวิธีคิดเพื่อประชาชน มีแนวคำตอบให้กับประชาชนในทุกข์ยากของเขาแล้วเข้ามาซุกตัวเองอยู่กับประชาธิปไตย 100% ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง 100% ไม่ได้มาจากวิธีอื่น ไม่ต้องให้ไปตั้งในค่ายทหาร ไม่มี ไม่ต้องรอให้ทหารปฏิวัติ แล้วเอาตัวเองมาตั้ง ไม่มี คุณเขียนกติกากี่รอบ ผมเป็นผู้ปฏิบัติตามกติกาไม่ใช่คนเขียนกติกา รัฐธรรมนูญปี 40 พรรคไทยรักไทยก็ไม่ได้เกิดก่อน เกิดทีหลังก็เดินตามกติกาที่มีอยู่ ก็ชนะด้วยกติกาที่มีอยู่ ปี 50 พวกคุณล้มแล้วเขียนอีก เราก็ชนะตาม 50 อยู่ๆ คุณเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งกระทันหันขึ้นมา คุณอยากจะเอาชนะด้วยวิธีนี้ เราก็ยังชนะอีก มันต้องถามว่าประชาชนเขาคิดอะไรกับพวกคุณ แล้วคุณจะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเขาคิดดีกับคุณได้ ไม่ใช่ขว้างเก้าอี้ ไม่ใช่ปิดถนนเผารถตำรวจ อย่างนี้ไม่มีทางที่จะให้ประชาชนเขาคิดดีได้ จะเปลี่ยนหัวหน้าพรรคกี่รอบก็ไม่มีความหมาย


บก.ลายจุด : รัฐบาลตั้งสภาปฏิรูป คุณอลงกรณ์ พูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ต้องปฏิรูป หลายๆ กลุ่มพูดถึงกระแสการปฏิรูป สมติว่าเป็นเรื่องของคุณทักษิณ ถ้าจะต้องปฏิรูปตัวเองคุณทักษิณคิดว่าประเด็นตรงไหนมองว่าจะต้องปฏิรูป แล้วจะปฏิรูปอย่างไร?
ทักษิณ : ผมคิดว่าใครจะคิดปฏิรูปอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ถ้าเราคิดว่าเราจะทำอะไรให้เกิดความผาสุขแก่บ้านเมือง ทำอะไรให้เกิดความรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติ ทำไปเถอะนั่นล่ะเขาเรียกว่าการปฏิรูป ง่ายที่สุด สำหรับผมนี่ปฏิรูปของผมมันไม่อยู่ตรงนั้น มันกลายเป็นว่าเพราะผมเป็นตัวคิดทำให้พวกเขาแพ้เลือกตั้ง ทำให้เขาไม่สามารถเข้าสู่อำนาจได้ ทำให้เขาไม่มีที่ยืน เขาไม่กลับไปคิดตัวเขาเองว่าทำอย่างไรถึงหาที่ยืนในทางการเมืองได้ ทำอย่างไรจะให้ประชาชนศรัทธาได้ ตรงนั้นต่างหาก และบอกว่าไม่ให้ผมเล่นการเมือง ถ้าไม่ให้ผมเล่นการเมืองแล้วจะเอาอย่างไร ให้ผมเลิกการเมือง ให้ผมถอยไปซะ



บก.ลายจุด : วันหนึ่งคุณทักษิณก็ต้องเลิกอยู่ดี
ทักษิณ : เลิกอยู่แล้ว ความจริงนี่ผมตั้งใจอยู่แล้วว่า 2 เทอมผมเลิก แต่ปฏิวัติผมก่อน ผมบอกตลอดเวลา ปฏิวัติเสร็จผมยังโทรหาคุณสนธิและโทรหาคุณสุรยุทธ์ด้วย ว่าผมลูกผู้ชายนะจบเป็นจบนะ แล้วอย่าแกล้งผมทางการเมือง ถ้าแกล้งผมทางการเมืองผมก็สู้ทางการเมือง ของผมนี่เป็นคนที่พูดรู้เรื่อง แต่ถ้าว่าแข่งขัน แพ้ไม่เป็น ถ้าจะต้องสู้กัน แข่งขันกัน แพ้ไม่เป็น ไม่ตายไม่แพ้ เพราะฉะนั้นต้องรู้จักนิสัยผม แต่ระหว่างรบกันนี้บอกหยุดเมื่อไรบอกเลย คุยรู้เรื่อง แต่ถ้าไม่คุยบอกว่าจะรบกัน คำว่าแพ้ไม่มี สะกดไม่เป็น แต่ว่าขออย่างเดียวว่าพูดรู้เรื่องพูดกันได้ เอาเลยบอกให้ผมเลิกการเมืองเลยไหม ไม่ให้ผมยุ่งการเมืองไหม ก็ได้ แล้วอย่างไร แล้วบ้านเมืองจะดีขึ้นไหม ผลสุดท้ายผมก็กลับมาถามว่าแล้วบ้านเมืองดีขึ้น ประชาชนดีขึ้น ผมเป็นอะไรก็ได้ เลิกก็ได้ ไม่เลิกก็ได้ คำตอบก็คืออยู่ที่ประชาชน คำตอบไม่ได้อยู่ที่ผมเพราะผมไม่มีความหมาย ผมเป็นสุญญากาศ ผมอยู่อย่างไรก็ได้ ผมไม่ได้เดือดร้อนอะไร ผมรักบ้านเมืองผมรักประชาชน เพราะฉะนั้นบ้านเมืองดี ประชาชนดีนี่ผมเป็นอะไรก็ได้ อยู่ตรงไหนก็ได้

วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ทุนนิยมยุคใหม่

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร




ทุกวันนี้ดูเหมือนจะยอมรับกันทั่วโลกเสียแล้วว่า ระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นระบอบเศรษฐกิจที่เลวน้อยที่สุดในบรรดาระบอบเศรษฐกิจทั้งหลาย ที่นักคิดทางการเมืองและนักคิดทางเศรษฐกิจพยายามค้นคิดตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา สงครามทางความคิดเรื่องบทบาทของรัฐกับปัจเจกชนซึ่งต่อสู้กันมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ก็เป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ได้พังทลายลง เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์แพ้ "สงครามอวกาศ" หรือ "Star wars" ในสมัยประธานาธิบดีเรแกนแห่งสหรัฐอเมริกา

และฝ่ายนิยมสหภาพแรงงาน ซึ่งได้แก่ พรรคแรงงานในอังกฤษ และพรรคสังคมนิยมอื่น ๆ ในประเทศยุโรปตะวันออก พ่ายแพ้แก่นายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แทตเชอร์ แห่งสหราชอาณาจักร ที่ทำการต่อสู้กับสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหิน ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่และเข้มแข็งที่สุดในประเทศอังกฤษ


สาเหตุที่คำทำนายของ คาร์ล มาร์กซ์ ไม่เป็นความจริง กล่าวคือ ระบบทุนนิยมนั้นเป็นระบบที่ทำลายตัวเอง เพราะการขูดรีดของชนชั้นนายทุนซึ่งมีจำนวนน้อย กับชนชั้นกรรรมาชีพซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้นายทุนสามารถกดค่าแรงไว้ในระดับที่ต่ำเท่าที่จะประทังชีวิตอยู่ได้เท่านั้น

 

สมมติฐานนี้ก็ไม่เป็นความจริงเมื่อเกิดมีสหภาพแรงงานขึ้นในยุโรป สหภาพแรงงาน ทำให้กรรมกรสามารถต่อรองกับนายทุนผ่านทางสหภาพแรงงานได้ สหภาพแรงงานเติบใหญ่โตขึ้นจนสามารถตั้งพรรคการเมืองและจัดตั้งรัฐบาลได้

อีกทั้งสมมติฐานที่ว่า ถ้าค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นเมื่อไหร่ ชนชั้นกรรมาชีพก็จะมีลูกมากขึ้น การที่ชนชั้นกรรมาชีพมีลูกมากขึ้นทำให้จำนวนแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าแรงก็จะไม่สูงขึ้นตามอุปสงค์อุปทานของตลาดแรงงานก็ไม่จริง เมื่อสังคมร่ำรวย มีการศึกษามากขึ้น การวางแผนครอบครัวก็เป็นที่แพร่หลาย ไม่ได้ผูกขาดอยู่แต่เฉพาะชนชั้นนายทุนเท่านั้น ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงเมื่อคิดในรูปข้าวของสินค้าก็สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนนายทุนต้องออกไปหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ นอกประเทศที่ยังมีสัดส่วนของแรงงานต่อทุนมากกว่าประเทศของตน อันเป็นเหตุให้การพัฒนาได้กระจายตัวออกไปจากภูมิภาคหนึ่งไปสู่อีกภูมิภาคหนึ่ง จนกระทั่งครอบคลุมไปทั่วโลก ในที่สุดแม้ว่าในขบวนการดังกล่าวจะมีประชาชนบางส่วน "ตกรถ" ด้วยเหตุผลบางอย่าง แต่ก็เป็นส่วนน้อยไม่ใช่ส่วนใหญ่

แม้แต่สิ่งที่เคยพูดว่าระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตย อย่างเช่น ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ยุโรป อังกฤษแบบพรรคกรรมกร ซึ่งยังให้ความสำคัญกับบทบาทของ "รัฐ" ในการจัดสวัสดิการการรักษาพยาบาล บัดนี้ก็ดูจะค่อย ๆ เลือนหายไปจากการสนทนาโต้เถียงกัน ทั้งในเชิงทฤษฎีและการปฏิบัติ ประเทศที่เป็นที่ยกเว้นเห็นจะเป็นสหรัฐอเมริกา หัวหน้าค่าย "ทุนนิยม" เสียเองที่กำลังต่อสู้กันอยู่ในเรื่องสวัสดิการของรัฐในเรื่อง "การรักษาพยาบาล" เพราะรัฐบาลประธานาธิบดี

โอบามากำลังต่อสู้ที่จะจัดโครงการ "สุขภาพดีถ้วนหน้า" โดยการออกกฎหมายให้คนอเมริกันทุกคนต้อง "ประกันสุขภาพ" ไม่ของเอกชนก็ของรัฐบาล

ทั้งนี้ ก็เพราะว่าค่ารักษาพยาบาลในอเมริกันแพงมาก ที่แพงมากก็เพราะคนไข้อเมริกันชอบฟ้องแพทย์และพยาบาลเรียกค่าเสียหายมาก ๆ อยู่เสมอ หมอและพยาบาลก็ต้องซื้อประกัน ค่าประกันหมอก็แพงมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่าบริการรักษาพยาบาลที่อเมริกาก็เลยแพง ที่ยุโรปก็แพง แต่ยุโรปเขาบังคับให้ทุกคนประกันสุขภาพมานานแล้ว

คนอเมริกันและยุโรปหลาย ๆ คนบินมารักษาที่เมืองไทย อยู่พักผ่อนเที่ยวเล่นจนหาย บินกลับแล้วค่อยไปเบิกค่าพยาบาลรักษาที่บ้าน คิดรวมหมดแล้วยังถูกกว่า คุณภาพดีกว่า บริการดีกว่า

 

คนที่มีฐานะดีในอเมริกาซึ่งส่วนมากนิยมพรรครีพับลิกัน และสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากบริการของเอกชนได้จึงคัดค้าน ทั้ง ๆ ที่มีน้ำหนักน้อย

อย่างที่เป็นข่าวอยู่ในสภาล่างของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน โดยเหตุที่ข้อเสียหรือจุดอ่อนของระบอบ "ทุนนิยม" ถูกแก้ไขได้เพราะระบอบทุนนิยมนั้นอยู่คู่กับระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย มิได้เป็นระบอบ "เผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพแบบคอมมิวนิสต์" ในขณะเดียวกัน ข้อดีของระบอบทุนนิยมก็ได้รับการสนับสนุน เช่น ประสิทธิภาพในการผลิตของพนักงาน ประสิทธิภาพของตลาด ประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร เพราะมีการแข่งขัน รวมทั้งโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ ทำให้เทคโนโลยีหรือวิทยาการ

การผลิตใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อการอยู่รอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดถ้าหน่วยผลิตเป็นของ "รัฐ" หรือเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดอย่างเต็มที่ ประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจึงมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รายได้ต่อหัวของประชากรก็สูงขึ้น มีสินค้าและบริการให้ประชาชนในประเทศได้อุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ

แต่อันตรายของระบอบทุนนิยมในหลายเรื่องก็ยังมีอยู่ เช่น นายทุนก็จะมุ่งแต่จะแข่งขันแสวงหากำไร ทำลายทรัพยากรของชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แร่ธาตุ สัตว์น้ำในทะเลและแม่น้ำลำคลอง มลพิษ เช่น น้ำเสีย อากาศเสีย รวมทั้งทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของชาวบ้าน ซึ่งสร้างขึ้นตามวิถีชีวิตแบบเดิมที่อาศัยเศรษฐกิจการเกษตรดั้งเดิม หรืออุตสาหกรรมในครัวเรือน ศิลปะพื้นบ้าน รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดและคุณค่าของสังคมที่ไม่ใช่ตัวเงิน

ขณะนี้ก็เกิดแนวความคิดเรื่อง "ความรับผิดชอบต่อสังคมของนายทุน" หรือที่ชอบเรียกกันว่า
CSR หรือ Corporate Social Responsibility ทำโดยกลุ่มเอ็นจีโอ หรือหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐในยุโรป ตามด้วยอเมริกา ทำการต่อสู้เรียกร้องและคัดค้านข้อที่เป็นจุดเสียของระบอบทุนนิยม

กลุ่มนี้มีหลายสมาคม หลาย ๆ หน่วยงาน แต่ทั้งหมดพยายามรณรงค์ให้ผู้บริโภคให้ความสนใจต่อบทบาทของนายทุนในการขูดรีดแรงงาน การทำลายสิ่งแวดล้อม การทำให้โลกร้อน การรักษาพันธุ์สัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ การทรมานสัตว์ และอื่น ๆ

ในทางการเมือง เมื่อชนชั้นนายทุนสามารถเอาชนะชนชั้นศักดินา สามารถสถาปนาระบอบการปกครอง "ประชาธิปไตย" ขึ้น ก็จะเกิดการต่อสู้ระหว่างนายทุนกับประชาชน ซึ่งควรจะเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยแต่ยังไม่เป็น จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "ทุนนิยมสามานย์" ซึ่งเป็นระบอบการปกครองของโลกในปัจจุบัน

ในทางเศรษฐกิจ ระบบการผลิตก็จะอยู่ในมือของชนชั้นนายทุน มิได้อยู่ในมือหรืออิทธิพลของผู้บริโภค ตามปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ในระบบเศรษฐกิจเสรีนั้นอำนาจอธิปไตยเป็นของผู้บริโภค หรือ
Consumer Sovereignty ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ กระแสการต่อสู้จึงเกิดขึ้น เป็นกระแสการต่อสู้ระหว่างนายทุนกับผู้บริโภค ไม่ใช่นายทุนกับผู้ใช้แรงงานอีกต่อไปแล้ว เพราะปัญหาการต่อสู้ระหว่างผู้ใช้แรงงานกับนายทุนสงบแล้ว หลังชัยชนะของนายกรัฐมนตรีหญิงมาร์กาเรต แทตเชอร์

กระแสทุนนิยม "
New Capitalism" หรือ "ทุนนิยมที่บรรลุ" "Enlightened Capitalism" กำลังเกิดขึ้น กล่าวคือ ทุนนิยมหรือนายทุนหรือกิจการของบริษัทจะสำเร็จอยู่ได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อบริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีกลุ่มที่สามารถสร้างกระแสให้ผู้บริโภคไม่ซื้อหรือไม่ยอมรับสินค้า หรือบริการที่ผู้ผลิตไม่รับผิดชอบต่อสังคมได้ และกระแสที่ว่านี้เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ กระแสที่ว่านี้พยายามสถาปนาอำนาจอธิปไตยของผู้บริโภคให้ปรากฏเป็นจริงให้มากขึ้นเรื่อย ๆ คล้ายกับขบวนการประชาธิปไตยที่พยายามจะสถาปนาอำนาจประชาธิปไตยให้เป็นของประชาชนให้เป็นจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมืองไทยของเราก็คงจะได้เห็นการเกิดขึ้นของกระแสทั้ง 2 กระแสอย่างแจ้งชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ จะหลีกเลี่ยงก็คงจะเป็นไปได้ยาก
บริษัท ห้างร้าน และนายทุนที่ต้องพึ่งตลาดในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ได้ตระหนักในเรื่องความรับผิดชอบต่อคนอย่างมาก และถ้าเป็นสินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสุขภาพ จะได้ราคาสูงกว่าสินค้าปกติ และคุ้มกับการปฏิบัติตามค่านิยมนี้

ส่วนชนชั้นปกครองของเราจะเห็นกระแสเช่นว่านี้หรือไม่ก็ไม่ทราบ ถ้าไม่เห็นก็ควรจะพยายามเห็นและปรับตัวอย่างพวกนายทุนเสีย สังคมและบ้านเมืองจะได้สงบเรียบร้อย เป็นผลดีกับทุกฝ่าย อย่างไรเสียก็คงหนีไม่พ้นสองกระแสนี้

วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การเลือกตั้ง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


ที่มา:มติชนรายวัน 21 ต.ค.2556


ถ้าสักวัน เราจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ เราน่าจะคิดกันเรื่อง กกต.ใหม่ด้วย

การ เลือกตั้งเฉยๆ นั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยแน่ แต่ประชาธิปไตยที่ไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแน่เหมือนกัน ในบรรดากลไกสำหรับกำกับควบคุมการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนนั้น (เช่น สื่อ, การศึกษา, การรวมตัวเพื่อแสดงออกทางการเมือง, ฯลฯ) แม้จะมีประสิทธิภาพสักเพียงไร หากไม่มีการเลือกตั้ง ก็ไม่มีผลในบั้นปลายอย่างเต็มที่ หากไม่มีการเลือกตั้ง

เคลื่อนไหว เรียกร้องกันมาเกือบตาย ก็หวังผลว่า ในที่สุด เราจะเปลี่ยนหรือสอนบทเรียนแก่บุคคลที่อาสาเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนเราได้ ในการเลือกตั้ง

จริงอยู่ ผลบั้นปลายอาจเกิดขึ้นเมื่อครบ 4 ปี แต่ระหว่างนั้นก็ใช่ว่า ประชาชนไม่สามารถกำกับควบคุมผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนเราเสียเลย กลไกอื่นๆ ช่วยระงับยับยั้งการกระทำที่ประชาชนไม่เห็นชอบได้อีกมาก นับตั้งแต่สื่อรุมโจมตี ไปจนถึงศาลปกครอง, ศาลรัฐธรรมนูญ, ป.ป.ช., และ ฯลฯ แต่การเคลื่อนไหวทั้งหมดนอกจากมีผลระงับยับยั้งความเห็นหรือการกระทำที่ ประชาชนไม่เห็นด้วยแล้ว ยังมีผลต่อการเลือกตั้งในอนาคตด้วย

ผมคิดว่า การเคลื่อนไหวภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องไม่ลืมเป้าหมายการเลือกตั้งเสมอ แม้ว่าหวังผลให้ระงับการสร้างเขื่อนบางเขื่อน แต่ควรมีผลไปถึงการทบทวนนโยบายการจัดการน้ำด้วยเขื่อน ซึ่งจะกลายเป็นทางเลือกของนโยบายสาธารณะที่พรรคการเมืองต่างเสนอแนวทางที่ ต่างกัน แล้วสักวันหนึ่ง ประชาชนก็จะลงคะแนนเสียงเลือกว่าเห็นชอบด้วยกับแนวทางใดในการเลือกตั้ง

เคลื่อน ไหวเพื่อล้มรัฐบาลเฉยๆ โดยไม่หวังให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลง คือการเคลื่อนไหวต่อต้านประชาธิปไตย ไม่ใช่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล

ขอ อนุญาตพูดอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง แต่เกี่ยวโดยตรงไว้หน่อยว่า ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ถ้าเราเห็นคนอื่น - ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล, ส.ส.ฝ่ายค้าน, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, สื่อเลือกข้าง, ทักษิณ, กรรมการ ป.ป.ช., บอร์ด ส.ส.ส. ฯลฯ - เป็นปีศาจหรือเป็นเทวดา เราจะไม่สามารถกำกับควบคุมคนเหล่านั้นได้เลยนอกจากใช้วิธีรุนแรง เพราะกลไกการกำกับควบคุมของระบอบประชาธิปไตยนั้น ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า คนอื่นล้วนเป็นคนเหมือนเรา จึงต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันประเภทเดียวกับเรา เช่น ส.ส.ที่ถูกสังคมโจมตีมากๆ ย่อมนอนไม่หลับ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และห่วงว่าจะสอบตกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคของเขาก็มองเห็นเขาเป็นภาระอันหนัก จนไม่กล้าใช้เขาทำหน้าที่สาธารณะมากไปกว่าเป็น ส.ส. และอาจไม่กล้าส่งเขาลงสมัครในนามของพรรคอีก นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลปกครอง, ศาลยุติธรรม, ตำรวจ ฯลฯ ก็เป็นคนเหมือนกัน ย่อมตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางสังคมเหมือนมนุษย์ทั่วไป

เมื่อ ไรที่เราคิดว่าบุคคลสาธารณะเป็นเทวดาหรือปีศาจ เราก็หมดอาวุธสำหรับการกำกับควบคุมเขา จะขจัดเขาออกไปได้ก็ต้องฆ่าเขา, ชวนทหารทำรัฐประหาร, ขอพระราชอำนาจซึ่งไม่มีในรัฐธรรมนูญมาขจัดเขา, หรือเผาบ้านเขา ฯลฯ เท่านั้น

ในการปกครองของมนุษย์ด้วยกัน ไม่เกี่ยวกับปีศาจหรือเทวดานั้น การเลือกตั้งจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะการเลือกตั้งเป็นผลบั้นปลายของกลไกการกำกับควบคุมทั้งหลาย

ฉะนั้น กกต.จึงมีความสำคัญ

ผู้ จัดการเลือกตั้งในเมืองไทยตลอดมาจน 2540 คือมหาดไทย ซึ่งก็สมเหตุสมผลดี เพราะมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากและกระจายไปทั่วประเทศ แต่มหาดไทยย่อมอยู่ในกำกับดูแลของคณะบริหาร (ซึ่งมักมาจากการรัฐประหาร หรือแรงสนับสนุนของกองทัพ) จึงมีการทุจริตในการเลือกตั้งอยู่เสมอ และเป็นการทุจริตที่ทำได้เพราะผู้จัดการเลือกตั้งยินยอม หรือแม้แต่รู้เห็นเป็นใจ เช่น พลร่ม ไพ่ไฟ หรือการนับคะแนนที่ตรวจสอบไม่ได้เป็นต้น เมืองไทยไม่ได้มีแต่ "เลือกตั้งสกปรก" ใน พ.ศ.2500 เท่านั้น มีเสมอมา แล้วแต่จะใช้ความสกปรกของการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่เท่า นั้น

ก่อน 2540 จึงมีความเห็นกันกว้างขวางพอสมควรแล้วว่า ผู้จัดการเลือกตั้งต้องเป็นคนกลาง ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร รัฐธรรมนูญ 2540 ตอบสนองต่อความเห็นนี้ โดยการตั้ง กกต.ขึ้น ให้ดูแลการเลือกตั้งทุกระดับทั่วประเทศ แล้ววางกฎการนับคะแนนให้ประชาชนในพื้นที่สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น (เช่นนับที่หน่วยเลือกตั้ง)

แต่สิ่งที่เป็นกระแสที่เกี่ยวกับการ เลือกตั้งในช่วงนั้นยังมีอีกอย่างหนึ่งคือการซื้อเสียง นักการเมืองอนุรักษนิยม โดยเฉพาะที่มีฐานคะแนนเสียงในเขตเมือง มักใช้เรื่องนี้โจมตีพรรคคู่แข่งที่มีฐานคะแนนเสียงในต่างจังหวัดว่า เมืองไทยนั้นซื้อได้ด้วยเงินไม่กี่ร้อยล้านบาท ทำให้ กกต.ตั้งแต่ชุดแรก วางภารกิจตนเองไว้ที่ป้องกันปราบปรามการซื้อเสียง และระดมคนให้ไปใช้สิทธิ (ซึ่งตอนนั้นก็เชื่อว่าทำให้การซื้อเสียงทำได้ยากขึ้น รัฐธรรมนูญปี 40 จึงกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของพลเมือง)

แม้ว่าการซื้อเสียง มีจริง และทำกันเกือบจะทั่วไป (รวมทั้งในเขตเมืองด้วย) แต่การซื้อเสียงเป็นเพียงส่วนเดียวของการหาเสียง ยังมีเงื่อนไขอื่นที่สำคัญกว่าการซื้อเสียงด้วย เช่น ความเป็นญาติหรือเป็นพวก, ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ, ประสบการณ์ของผู้สมัคร ฯลฯ ถ้าสรุปจากงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำเกี่ยวกับการซื้อเสียงแล้ว ผมอยากชี้ว่าเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะได้รับคะแนนเสียงคือ "สายสัมพันธ์" (connection) การซื้อเสียงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง "สายสัมพันธ์" กับชาวบ้าน และไม่ใช่ส่วนเดียว

อันที่จริง ก่อนที่ "โรคร้อยเอ็ด" จะระบาดนั้น "สายสัมพันธ์" ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลือกตั้งอยู่แล้ว โดยเฉพาะ "สายสัมพันธ์" กับอำนาจที่เป็นทางการทั้งของท้องถิ่น และระดับชาติ (เช่นเรื่องเล่าของ ส.ส.นครศรีธรรมราชท่านหนึ่ง ซึ่งฝากเงินให้ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ช่วยส่งทางโทรเลขให้ตน แล้วก็เดินทางกลับไปหาเสียง เมื่อโทรเลขมาถึง ก็มีข่าวลือหนาหูว่าท่านรัฐบุรุษอาวุโสส่งเงินมาช่วย ผู้สมัครจึงกลายเป็นคนของท่านในสายตาของผู้เลือกตั้ง และได้รับเลือกตั้งไปในที่สุด)

แต่ต่อมา "อำนาจท้องถิ่น" ในเมืองไทยเริ่มแตกตัว นอกจากอำนาจที่เป็นทางการแล้วยังมีอำนาจที่ไม่เป็นทางการอีกด้วย อำนาจที่เป็นทางการถูกควบคุมไม่ให้ออกหน้าช่วยผู้สมัคร อำนาจที่ไม่เป็นทางการจึงขยาย "สายสัมพันธ์" ของตนให้เหมาะกับการเลือกตั้ง คือสร้างเครือข่ายการเลือกตั้งไปจนถึงระดับตำบล เครือข่ายนี้เกิดขึ้นมาก่อนจากการร่วมผลประโยชน์ทางธุรกิจ จะขยายไปเป็นเครือข่ายการเลือกตั้งได้ "เจ้าพ่อ" ก็สนับสนุนด้านการเงินไปด้วย เกิดการซื้อเสียงซึ่งเป็นการกระชับ "สายสัมพันธ์" ซึ่งมีอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่การซื้อเสียงเหมือนซื้อก๋วยเตี๋ยว

ปัญหา จึงไม่ใช่การซื้อเสียงโดยตรง แต่เป็นปัญหาของ "สายสัมพันธ์" ซึ่งโดยตัวของมันเองก็ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือไม่ เราสร้างกลไกการบริหารที่เปิดช่องให้ผู้ประกอบการบางราย สร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่ทำให้ตนตักตวงทรัพยากรประเภทต่างๆ (ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสังคม) โดยผิดกฎหมายหรือปริ่มกฎหมายได้ กลายเป็น "เจ้าพ่อ" ในท้องถิ่น ฉะนั้นหากอยากแก้ปัญหาการซื้อเสียงจริง ต้องแก้ตรงนี้ ซึ่งเกินอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ต้องกระจายการปกครองตนเองให้ครอบคลุมไปในส่วนต่างจังหวัดให้ยิ่งขึ้น

รัฐ ธรรมนูญปี 40 ก็พูดเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ไปเน้นเพียงเรื่องกระจายงบประมาณจากส่วนกลาง โดยไม่พูดถึงอำนาจการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น ซึ่งสำคัญเสียยิ่งกว่าส่วนแบ่งงบประมาณที่พึงได้จากส่วนกลาง เพราะจะเป็นผลให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถกำกับและตรวจสอบ "เจ้าพ่อ" ได้

จน ถึงทุกวันนี้ กกต.ก็ยังคงรบกับกังหันลมการซื้อเสียงอย่างไม่ลดละ ในขณะที่มีงานอื่นซึ่งตามความเห็นของผม น่าจะช่วยให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการลงคะแนนเสียงได้อย่างมีประสิทธภาพมาก ขึ้น (แม้ยังรับเงินของผู้สมัครอยู่ก็ตาม)

ประการแรก ผมคิดว่า กกต.ควรมีความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งในเมืองไทยให้มากขึ้น ทั้งความรู้ทางมานุษยวิทยา, สังคมวิทยา, จิตวิทยาสังคม ฯลฯ เพื่อเข้าใจพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงจริงๆ ของคนไทย แทนที่จะเข้าใจเอาเอง

ประการ ที่สอง จากความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นนั้น กกต.ควรมีความเห็นที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับว่า คนไทยสักกี่เปอร์เซ็นต์ และในส่วนใดบ้างที่เป็นปัจเจกบุคคล (individuals) ไปแล้ว และสักกี่เปอร์เซ็นต์ในส่วนไหนบ้างที่ยังเป็นมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับกลุ่ม (dividuals) การรณรงค์ให้ไปเลือกตั้ง, ไม่ซื้อเสียง, ใช้วิจารณญาณอย่างไร ฯลฯ ของคนสองประเภทนี้ไม่เหมือนกันนะครับ

ประการที่สาม ช่วยการใช้วิจารณญาณของประชาชนให้ง่ายขึ้น เช่นมีคณะกรรมการในท้องถิ่น สรุปนโยบายสาธารณะที่ผู้สมัครแต่ละคนหาเสียงออกมาให้ชัด กรรมการจะทำตัวเหมือนนักข่าวก็ได้ คือไปถามต่อถึงวิธีการ หากตอบไม่ได้ก็แจ้งให้ประชาชนทราบว่า เมื่อถามแล้วเขาไม่ตอบหรือตอบไม่ได้ ถ้าหากรรมการที่ยุติธรรมจริง ก็ไม่ต้องหวั่นวิตกว่าจะเป็นการให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัคร เพราะตัวผู้สมัครเองต่างหากที่เป็นผู้ให้คุณให้โทษแก่ตนเอง คงต้องร่วมมือกับสื่อท้องถิ่น โดยเฉพาะวิทยุท้องถิ่น

ประการที่สี่ ยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญต่อการเลือกตั้งซึ่ง กกต.ควรดูแล เช่นการแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องริเริ่มที่ กกต. โดยตั้งกรรมการอันประกอบด้วยหลายฝ่าย รวมทั้งพรรคการเมืองซึ่งมีส่วนได้เสียโดยตรงเข้ามาต่อรองกัน จนลงตัวแล้วจึงยื่นเป็นกฎหมายให้สภารับรอง เพราะเขตเลือกตั้งจะเกิดจากเสียงข้างมากในสภาย่อมไม่เป็นธรรมแน่

ประการ ที่ห้า คิดไปเถิดครับ มีเรื่องสำคัญๆ ที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นธรรม และมีความหมายแก่สังคม อีกหลายอย่างซึ่ง กกต.ควรทำ แทนการรณรงค์ต่อต้านการซื้อเสียง ซึ่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ทำให้คนลงคะแนนเสียงอย่างไร และเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่อยู่นอกอำนาจหน้าที่ของ กกต.อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ย่อมกระทบไปถึงข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญด้วย