Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

เปิดแนวรบ...ส่องแนวรุกจาก ‘มองโก’ มองถึง ‘ไทย’

นำเสนอโดย ทีมข่าว สุนัยแฟนคลับ
โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์



สุนทรพจน์ของ "นายกปู" วันนี้ หากไม่ได้บอกว่าพูดที่ 'มองโกเลีย' ก็คงต้องนึกว่าพูดบน 'เวทีหาเสียง'

กลเกมส์การเมืองนี้ หากเป็นดังที่เดา ก็คงต้องบอกว่า ไม่ธรรมดา และอันตราย

รัฐบาลเข็นประเด็นเข้ามาพร้อมกัน ทั้งกู้ 2 ล้านล้าน แก้รัฐธรรมนูญ และนิรโทษกรรม ยังไม่ต้องพูดถึงเจรจาใต้ และอื่นๆ

สอดคล้องกับท่าทีการจัดเวที และออกจดหมายชนศาล สอดคล้องกับการเช็คแถวพรรค สอดคล้องกับท่าที ดร. เฉลิม ที่ขยันทั้งเรื่องลงใต้ และเรื่องคุณทักษิณ สอดคล้องกับกระแสปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ จะพ่วงกระแสผลงานที่ศาลโลกมาหนุนก็ได้ด้วย

การเมืองตอนนี้ หากมีใครหลวมตัวกลายมาเป็น "ข้ออ้าง" ให้รัฐบาลบอกว่าการเมืองเดินต่อไปไม่ได้ ก็อาจมีการชิงจังหวะ "ยุบสภา" แม้ผลวัดกระแสเลือกตั้ง กทม. และเชียงใหม่ อาจไม่โดนใจ แต่ก็ไม่ถือว่าหลุดเป้า

ถ้า "ยุบจริง" ก็สนุกแน่ครับ เพราะจะมี 'โปรเด็ด' ถ้าอยากได้รถไฟความเร็วสูง ถ้าอยากได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ถ้าอยากได้ความปรองดอง ประชาชนโปรดแสดงจุดยืนโดยการเลือก "เพื่อไทย"

เรียกว่า ยุบทั้งที ขอยุบให้คุ้ม

แต่ 'โปรโมชั่น' เด็ดที่ว่า อาจมาพ่วงแกมบังคับมาเป็นชุด อยากได้รถไฟ แต่ไม่อยากได้นิรโทษกรรม ก็แยกกันไม่ได้ ทั้งที่ความจริง การยุบสภาอย่างจริงใจนั้น หากจะให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นที่ถกเถียงกัน กาไปเลยพร้อมกันในวันเลือกตั้ง ใบแรกเลือก ส.ส. ใบที่สองเรื่องรถไฟ ใบที่สามเรื่อง สสร. ใบที่สี่เรื่องปรองดอง ก็คงสนุกดีไม่น้อย

แต่ถ้าใจร้อน มัดมาสอดไส้ทุกเรื่องไว้บนขบวนเดียวกัน หากไม่ระวัง อาจตกรางได้ทั้งขบวนนะครับ !

ที่ผ่านมาที่ 'พันธมิตร' ยังไม่เคลื่อนไหวอะไรมาก หากมองแบบให้เกียรติ ก็คืออ่านเกมส์ทัน

ด้าน 'ประชาธิปัตย์' ผมก็ขอสวดมนต์ ภาวนา ปฏิรูปให้ทันเขาหน่อยนะครับ

ส่วน 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ที่เหมือนจะไม่ทันเกมส์อะไรกับเขาเลย ก็คงไม่มีทางเลือกแล้วครับ ท่านทำตัวท่านเอง ลดตัวมาเล่นการเมือง การเมืองก็จะเล่นท่าน ท่านจะยอมถอยเพื่อคลายสถานการณ์ หรือท่านจะ 'สร้างสถานการณ์' ให้คนนำไปอ้างต่อเอง

ทั้งหมด หากเป็นดังนี้ ก็ต้องถามว่า การเดินหมากแบบกล้าได้กล้าเสียแบบนี้ มีสักกี่คน ที่คิดได้ครับ ?

ประวัติศาสตร์ มิได้สอนอะไรเราเลยหรือ ?

-------------------------------------------------------

ผมชวนคุยเรื่องนี้ไปแล้วเมื่อวาน พอวันนี้มาเห็นสุนทรพจน์แล้ว สัญญาณมันเลยยิ่งแรง : http://youtu.be/NSbpHj9qBbg

วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

บทกวีราษฎร์ : ศาลรัฐธรรมนูญ


บทกวี โดย จักรภพ เพ็ญแข - Jakrapob Penkair
 


เรียกตัวเองว่า ศาลก็ด้านหนัก       หนาทั้งพักตร์หนาทั้งจิตผิดวิสัย

นักกฎหมายหรือขี้ข้าเทวาลัย           มันช่างไร้ศักดิ์ศรีเสรีชน
รัฐธรรมนูญมีเอาไว้รับใช้ราษฎร์        ใช่ให้พวกขี้ขลาดไปเช็ดก้น
นี่ล่ะหรือตุลาการพาลชน                 อายถึงต้นตระกูลใดให้เกิดมา
มีพ่อแล้วยังผวาหาพ่อใหม่              คลานเข้าไปเคารพศักดิ์ของนักฆ่า
รับคำสั่งเปื้อนเลือดเดือดเดือดมา      ปล้นประชากลางเมืองจนเลื่องลือ
วิถีพุทธดันรับนับถือผี                     ประชาธิปไตยก็มีเอาขี้หรือ
นักกฎหมายหัวดีดีมีฝึกปรือ             บำเพ็ญตนเป็นกระสือรื้อกองมูล
ศาลเยี่ยงนี้ย่อมาจาก สุสาน         เอาวิญญาณเลวร่วมมารวมศูนย์
ความระยำอัปรีย์ทวีคูณ                   ยึดกองมูลแสนเหม็นว่าเป็นนาย
ลืมประชาลืมธรรมลืมกำพืด             ลมหายใจควายฟืดก็เลือนหาย
มีกรรมชั่วคอยดึงไม่ถึงตาย              เพื่อให้ได้ทรมานนานหลายปี
หวังกำหนดมาตรฐานเป็น ศาลหลัก ศาลแท้แท้ถามทักเพราะใช่ที่
ก็ยังด้านเดินต่อไม่รอรี                    ศาลดีดีต้องมาด้านเพราะศาลปลอม
แค่คนใช้เผด็จการศาลที่ไหน           แถมอ้วนท้วนทันใจใช่ศาลผอม
รับเสี้ยวเศษอาหารกินเพราะยินยอม   ช่วยอ้อมค้อมตีความตามบัญชา
เกือบแก่ตายใกล้โลงยังโกงชาติ       ด้วยมั่นใจในอำนาจวาสนา
ไม่นานดอกบารมีที่มีมา                  จะหมดท่าสิ้นทางจนวางวาย
ไม่ท้าใครกลับมาท้าประชาราษฎร์     แสนอนาถนักหนาศรัทธาสลาย
เมื่อผลงานโฆษณามายาคลาย         ทุกหญิงชายชาวไทยเข้าใจดี
วินิจฉัยกันไปเถิดแค่เปิดศึก             เราเจ็บลึกเพียงไหนไม่หน่ายหนี
เจตนารมณ์ปวงประชาเขามาดี          ใครเข้าขี่ขู่เข็ญได้เห็นกัน
ใหญ่กันอยู่หมู่เดียวเที่ยวกดปุ่ม         สร้างศาลคุมควบประกบให้ขบขัน
ทำลายขวัญหวั่นหวาดราชทัณฑ์       ถึงคืนวันหายขลาดเลิกหวาดกลัว
อวดว่าไทยแตกต่างต่างตรงไหน      ถ้าคนไทยล้วนไม่มีเสรีทั่ว
เผด็จการศาลใหญ่ใช้ความกลัว        เพื่อกดหัวปิดปากลากประจาน
ไฉนความยุติธรรมหาไม่ได้              หรือเพราะไทยในวันนี้ไม่มีศาล
ศาลแห่งความยุติธรรมเพียงตำนาน   หรือคนดีในศาลไม่กล้าพอ
อาจเพราะไทยถึงเวลารื้อสารบบ       ต้องล้างลบอุปถัมภ์ร่ำร้องขอ
อย่าเกลื่อนกลบหลบเลี่ยงแค่เพียงพอ          ประชาชนเลิกรอต้องรุกเร้า
รวมพลเถิดประชาชนคนเป็นเหยื่อ      ละความเชื่อไสยเวทซากเศษเก่า
ให้รัฐไทยใหม่ชัดว่ารัฐเรา                ศาลของเขาคืนไปไม่ต้องการ
ใครอยู่ในเมืองไทยให้รอบคอบ         ใครนอกกรอบช่วยคืบให้สืบสาน
ใช่เพียงช่วยแก้ขัดให้รัฐบาล            แต่เพื่อกาลต่อไปเมืองไทยเรา
ขบวนการเรานานกว่า ยิ่งลักษณ์    มาช่วยเสริมเติมน้ำหนักต้องปักเสา
ในวันนี้ร่วมรถก็ร่วมเรา                    ถึงป้ายเขาเขาลงเราตรงไป
สู้กับศาลไม่ต้องรวมกันหน้าศาล       สังเกตการณ์อยู่บ้านพวกหนึ่งได้
แต่มุ่งในความคิดและจิตใจ             ต้องเปลี่ยนในขั้นฐานแล้วสานทอ
ใครไม่พร้อมออกด้วยโปรดช่วยคิด    จะแก้ผิดประเทศไทยอย่างไรหนอ
เตือนให้พอกลับกลายเป็นไม่พอ       ความเป็นต่อเขาทั้งหมดจึงลดลง
คนมาใหม่ใช่ว่าจะวิเศษ                  ตัวกิเลสตัณหายังพาหลง
แต่หลายสิ่งที่เขาทำจะดำรง            เป็นต้นทุนเสริมส่งตรงประเด็น
ผู้พิพากษาที่ดีมีอยู่แน่                    รู้เกิดแก่เจ็บตายมีให้เห็น
มองเห็นความอยุติธรรมอันลำเค็ญ    แม้ยามเร้นหลบใครอยู่ในครุย
สามประสานศาลไทยทำให้ถูก          อย่าให้ลูกหลานตรมหรือถ่มถุย
ถึงทำท่าน่าเชื่อสวมเสื้อครุย             เดินกรายกรุยเรียกท่านอย่าทันที
อำนาจศาลมาจากประชาชน             ใช่มาจากพวกปล้นหรือภูติผี
ยึดอำนาจเขามานั่นกาลี                 ใครคอยชี้ว่าเป็นศาลอย่าด้านตาม
เอาธรรมะมาเป็นเครื่องยุติ               เอาดำริราษฎร์รองไม่ต้องถาม
รัฐธรรมนูญหรือสิ่งใดในเขตคาม จะ ดี” “งาม” “จริงแท้แก่ตนเอง.

*************************

ใครบ้างต้องการกษัตริย์พระองค์ใหม่

ข้อมูลจาก Thai E-News 

:คำถามต่อคนหนุ่มสาวทั้งที่รักเจ้า และไม่เอาเจ้า



 เราจำเป็นต้องนำสถาบันกษัตริย์มาทดสอบตนเองในระบอบประชาธิปไตย

ถอดความโดย ระยิบ เผ่ามโน จากเรื่อง Who wants a new king? ของMichiel Bles ใน (RNW)


เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ของวันที่ ๓๐ เมษายน นี้ วิลเล็ม อเล็กซานเดอร์ แห่งราชวงศ์ออเร้นจ์ จะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์ เมื่อสมเด็จพระมารดา ราชินีบีอาทริกทรงลงพระปรมาภิไธยสละราชสมบัติ อันจะมีพิธีเฉลิมฉลองกันขนานใหญ่ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าร่วมในการนี้


ต่อไปนี้เป็นคำถาม ๕ ข้อ ต่อผู้ที่เป็นตัวแทนของสองฝ่าย กลุ่มรักเจ้า และกลุ่มไม่เอาเจ้า


มาร์ติน แวน เบโคเว็น วัย ๓๕ ปี เป็นประธานของ สมาคมออเร้นจ์กลุ่มรักเจ้าแห่งเนเธอร์แลนด์ ที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่เอี่ยม ซึ่งมีความนิยมในสถาบันกษัตริย์อย่างแม่นมั่น เขากล่าวว่า “ราชวงศ์ดั๊ทช์เป็นหน้าเป็นตาของเนเธอร์แลนด์ในต่างประเทศ ทำให้เกิดการเคารพศรัทธาได้มากกว่าประธานาธิบดี” 

กิ้จส์ เพ็สเก็นส์ ๒๗ ปี เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรีพับลิกัน ฝ่ายไม่เอาเจ้า ซึ่งหมกมุ่นกับการจัดงานรายการต่างๆ เพื่อต่อต้านสถาบันกษัตริย์ เขาลงข้อความในหน้าเว็บhetis2013 ของเขาตอนหนึ่งว่า“ราชาธิปไตยจงพินาจ” 




ต่อคำถามว่า “คุณจะทำอะไรในวันที่ ๓๐ เมษายน นี้”
มาร์ติน :“เรา จัดเป็นเทศกาลดนตรีครั้งใหญ่ขึ้นในตำบลของเรา ผมดูแลเรื่องผังรายการ และวงดนตรี มันจะเป็นรายการตามประเพณีสำหรับทุกๆ คน มีทั้งการละเล่น และอาหาร ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมแบบราชวงศ์ออเร้นจ์ ผมจะไม่สวมมงกุฏจำลองหรอกนะ แต่จะสวมเสื้อสีส้มเป็นสัญญลักษณ์”
กิ้จส์ :“เราจะไปชุมนุมต่อต้านกัน ที่จตุรัสวอเตอร์ลูในอัมสเตอดัม มีคนจำนวนมากกว่า ๑ พันลงชื่อเข้าร่วมแล้ว และในช่วงก่อนถึงวันที่ ๓๐ เมษายน เราจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้นมากมายเกี่ยวกับการที่จะแสดงความเห็น อย่างสร้างสรรค์กันอย่างไรในเรื่องนี้ พวกฝ่ายศิลป์ก็จัดทำแผ่นป้ายกัน มีทั้งการเขียนสีบนร่างกาย มีนักกฏหมายคอยให้คำแนะนำถึงสิทธิที่แท้จริงของเรามีอย่างไร แม้จะทำการประท้วงกันภายนอกบริเวณของทางราชการ ทุกคนจะสวมเสื้อผ้าชุดขาวเพื่อแสดงการต่อต้าน สีขาวเป็นตัวแทนของสิ่งที่ไม่กำหนดว่าอะไรเป็นอะไร สำหรับเราหมายถึงอนาคตของราชวงศ์ที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นไปอย่างไร ด้วยเหตุว่าสรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง”
“แล้วทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญต่อคุณนัก”

มาร์ติน :“ใน ตำบลของเราไม่เคยมีอะไรให้ทำในวัน ควีนส์เดย์ ของพระราชินี  พวกคนหนุ่มสาวมักจะไปเที่ยวกันตามเมืองใหญ่ๆ เราจึงจัดงานสังสรรค์ขึ้นสำหรับพวกเราเอง เราต้องการแสดงให้เห็นจริงๆ ในความรู้สึกที่เป็นความสามัคคี ความรู้สึกแบบออเร้นจ์ เราภาคภูมิในเนเธอร์แลนด์ และก็เป็นเรื่องดีที่จะเฉลิมฉลองกัน”

กิ้จส์ :“เรา ต้องการให้มีการถกปัญหาสถาบันกษัตริย์กันขึ้น มันล่าช้าล่วงเลยมานานเกินไปแล้ว มันไม่ถูกต้องถ้าเราไม่สามารถตัดสินอย่างใดๆ ในประมุขแห่งรัฐของเราได้ สิทธิพิเศษเพื่อปกป้องคุ้มครองนั้นไม่ควรมีอีกต่อไปแล้วในเวลานี้ ผู้นำควรที่จะตรวจสอบได้ และได้รับเลือกตามคุณสมบัติ มิใช่จากภูมิหลังของครอบครัว”
“คุณหวังอะไรจากกษัตริย์ และราชินีองค์ใหม่”
มา ร์ติน :“ผมคิดว่าทั้งสองพระองค์จะไม่ทรงติดยึดกับแบบแผนประเพณีเก่าๆ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวันสำคัญแห่งชาติ คิงสเดย์ ของเราจะไม่เป็นแบบโบราณเหมือนวัน ควีนสเดย์ ที่มีแต่การเล่นวิ่งกระสอบ และ สปิจเกอร์โพเป็น (แปลตรงตัวได้ว่า อึตะปู) ผมหวังว่าคนหนุ่มสาวจะเข้ามาร่วมกันมากขึ้น และทำให้เป็นการฉลองแบบทันสมัย”
กิ้จส์ :“โอ เค วิลเล็ม อเล็กซานเดอร์ทรงทันสมัยมากกว่าพระราชมารดา แต่ถ้าจะให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ทรงควรที่จะตรัสว่า “บัดนี้ข้าพเจ้าได้เข้าดำรงตำแหน่งแล้ว มาทำประชามติกันในเรื่องอนาคตของราชวงศ์เสียเถอะ” บนหน้าเว็บของเรามี  ข้อเรียกร้อง ให้ แก้ไขกฏหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ ในขณะนี้สามารถทำประชามติได้ทุกเรื่องในเนเธอร์แลนด์ ยกเว้นเรื่องสถาบันกษัตริย์ เราคิดว่านั่นเป็นสิ่งเหลวไหล”
“คุณคิดอย่างไรกับคนที่มีความเห็นตรงข้ามกับคุณอย่างที่สุด”
มาร์ติน :“มัน เป็นเรื่องของความคิดเห็นนะ ผมคิดว่าราชวงศ์เป็นหน้าเป็นตาของเนเธอร์แลนด์ในต่างประเทศ ราชวงศ์สร้างความเคารพศรัทธาได้มากกว่าประธานาธิบดี ผมรู้จักกับคนเยอรมันจำนวนมาก พวกเขาคลั่งไคล้ราชวงศ์ออเร้นจ์กันมากทีเดียว เหมือนกับฟุตบอลน่ะ เราอิจฉาเยอรมันเพราะเขาเป็นแชมเปี้ยนฟุตบอลบ่อยเหลือเกิน แต่คนเยแรมันก็อิจฉาเราที่มีราชวงศ์”
กิ้จส์ :“อย่าง นั้นก็ดีละถ้ามันจะทำให้นาวาของคุณลอยล่องได้ แต่ก็ต้องเปิดตาของคุณต่อความเป็นจริง ว่าอะไรมันจะดีขึ้นได้อย่างไรกันแน่ เราจำเป็นต้องนำสถาบันกษัตริย์มาทดสอบตนเองในระบอบประชาธิปไตย
“คุณอยากจะบอกอะไรกับฝ่ายตรงข้ามของคุณ”
มาร์ติน :“ก็ ดูสิว่าจะมีอะไรทางเลือกถ้ากำจัดสถาบันกษัตริย์ออกไปเสียแล้ว มันไม่สำคัญหรอกว่าเรามีกษัตริย์ หรือประธานาธิบดี ถึงอย่างไรก็มีเพียงบุคคลคนเดียวที่เป็นตัวแทนของประเทศชาติ”
กิ้จส์ :“มาร่วมลงชื่อกับข้อเรียกร้องของเราสิ แม้ว่าคุณจะเป็นฝ่าย โปร (สนับสนุน) เพราะเหตุว่านี่มันเป็นปี ค.ศ. ๒๐๑๓ นะครับ”

ช็อตเด็ดวันนี้:แก้พิพาทพื้นที่ทับซ้อน4.6ตารางนิ้ว

Cafe ที่ตั้งประชิดเส้นแบ่งเขตแดนเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียมแบบลากเก้าอี้ข้ามไปมาได้


ข้อมูลจาก Thai E-News
ที่มา thaiblogspot

นอก จากประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศเบลเยี่ยมจะมีพรมแดนติดกันแล้ว พรมแดนระหว่าง 2 ประเทศบริเวณ Baarle-Hertog ยังค่อนค้างซับซ้อน สาเหตุเกิดจากสนธิสัญญาที่ทำขึ้นในสมัยยุโรปยุคกลางระหว่าง Lords of Breda และ Dukes of Brabant  ตกลงซื้อขายแบ่งที่ดินกัน โดยสิ่งปลูกสร้างและแหล่งเพาะปลูกตกเป็นของ Dukes of Brabant  ที่ดินนอกจากนั้นตกเป็นของ Lords of Breda  

ซึ่ง ข้อตกลงนี้ได้ ถูกยึดถือให้เป็นเส้นพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศภายใต้สนธิสัญญา Treaty of Maastricht ในปี 1843 ทำให้มีดินแดนเล็กๆ  22 แห่ง ที่เป็นของประเทศเบลเยียมตั้งอยู่ภายในประเทศเนเธอร์แลนด์ (Exclaves) 

และ ที่แปลกไปกว่านั้นก็คือ ภายในดินแดนของเบลเยี่ยมส่วนที่อยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์กลับมีดินแดน เล็กๆ   ที่เป็นของประเทศเนเธอร์แลนด์ 6 แห่งซ้อนอยู่ภายในอีกทีหนึ่ง

ด้วย ความซับซ้อนของพรมแดน เราจะเห็นอาคารร้านค้ามากมายตั้งอยู่ติดชายแดนของ 2 ประเทศ บางร้านค้าถึงกับมีพื้นที่อยู่ทั้ง 2 ประเทศ  มีเรื่องเล่ากันว่าในอดีตภัตตาคารในเนเธอร์แลนด์จะปิดร้านเร็วกว่าใน เบลเยียม 

ลูกค้า ที่ต้องการรับประทานอาหารต่อก็เพียงแค่ขยับที่นั่งเท่านั้นก็สามารถหลีก เลี่ยงกฎหมายได้   ภาพที่นำมาให้ชมกันเป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่ติดระหว่างดินแดนของ 2 ประเทศครับ

ข้อมูลที่มา:wikipedia

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

สภาทำถูกต้อง ไม่รับอำนาจศาล

โดย เสรีชนประชาไท
ที่มา ประชาทอล์ค
27 เมษายน 2556

สภาทำถูกต้อง ไม่รับอำนาจศาล ถามว่า ตุลาการจะทำอะไรได้ หากสภาสู้ ประชาชนร่วม ศาลระยำธรรมนูญก็จบเห่



เขาพยายามบอกว่า เขามาถ่วงดุลสภาเสียงข้างมาก  ผมถามกลับว่า ถ่วงดุล คือ ต่างคนต่างงัดกัน มิให้ใครเผด็จอำนาจซึ่งจะทำให้ประชาธิปไตยคลอนแคลนกลายเป็นเผด็จการ ถามว่า ใครถ่วงดุลศาล รธน รัฐบาล สภาถ่วงดุลศาลระยำได้ตรงไหน มีแต่พวกมันใช้เล่ห์เพทุบาย บีบสภาไม่ให้แก้ไข รธน ไม่ให้ทำอะไรนอกจากพวกมันต้องการ

กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย มาตรา 68 เป็นอำนาจอัยการสูงสุดที่จะฟ้องใครละเมิดทำลายประชาธิปไตย มันก็ขยายความว่ามันมีอำนาจเพื่อคุมรัฐสภา ทั้งที่เวปไซด์ของศาล รธน ของมันเอง ยังบอกว่าอำนาจเป็นของอัยการ ตุลาโกงกลับตระบัดสัตย์แปลกฎหมายไปอีกทางหนึ่งได้ ขัดต่อความเห็นของนักนิติศาสตร์ ตำรากฎหมาย และร่างรายงานการประชุม รธน

หากสภาไม่รับอำนาจศาล ศาล รธน จะทำอะไรได้ คำตัดสินของศาล รธน จะผูกพันทุกองค์กร ต้องเป็นกรณีตัดสินตามกฎหมาย ไม่ใช่ตัดสินนอกกฎหมาย ฉะนั้น เมื่อการแก้ รธน มีบทบัญญัติชัดเจนอยู่แล้ว ศาล รธน จะไปตัดสินมั่วแบบมั่วกรณีตัดสินสมัครทำกับข้าวถือเป็นลูกจ้าง หรือดำน้ำว่า ศาลมีอำนาจรับคำร้องในกรณีมีผู้ละเมิดจะทำลายประชาธิปไตยได้เอง คงปล่อยให้เกิดขึ้นอีกไม่ได้แล้ว

หากสภาไม่ยอม เดินหน้าแก้ รธน ต่อ ผมไม่เห็นว่า ศาลจะทำอะไรได้ ปชป วอล์คเอ๊าท์ก็วอล์คไป แก้เสร็จทูลเกล้าถวายร่าง รธน แก้ไขจบ

ศาลจะสั่งทหาร ก็สั่งไม่ได้ จะเรียกร้องมวลชนก็ตกเป็นฝ่ายสภา  จะขอมือที่มองไม่เห็นสั่ง มือเหี่ยวๆ ก็หมดอำนาจลงทุกทีแล้ว

ทางเดียวที่ศาลจะทำได้คือ แก้หน้า ยกฟ้องกลุ่ม 40 สว เพื่อลดวิกฤติ เพราะเดินหน้าต่อ หากกองทัพมวลชนบุกศาล รัฐบาลไม่บังคับกฎหมาย ไม่ส่งคนไปคุ้มกันศาล

ศาลจะทำอะไรได้ เพราะอำนาจบริหารก็อยู่ในมือรัฐบาล  ทหารจะออกมาช่วยก็เป็นกบฎ ชนกับมวลชนแดง ทหารก็แพ้ เพราะทหารจำนวนไม่น้อยที่อิงรัฐบาล

ผมเคยเขียนบ่อยๆ ในเวปประชาไท จนถึงประชาทอล์คว่า บทจะลุยก็ต้องสู้ คนอย่างพลเอกเปรม ผมโตมาทันยุคท่าน ท่านเป็นคนขลาด ทำเป็นฟอร์มจัด พอใครสู้ แกไม่เอาด้วย แกจะสู้เมื่อแกเห็นทางชนะเท่านั้น เรื่องร่มเกล้าคือ ตัวอย่างที่ทำให้เห็นจิตใจของคนฮอร์โมนเพศผิดปกติคนนี้

ตัดสินใจถูกแล้วที่ใช้สภาสู้ อีกด้าน ฝ่ายประชาธิปไตยก็ลุกสู้ มวยเรากำลังฮึกเหิม

งานนี้ ผมขอน้อมหัวให้ฝ่ายประชาธิปไตย พิสูจน์กันไปเลยว่า เผด็จการตุลาการจะยืนได้อย่างไร ถ้าหากมวลมหาประชาชนหนุนทำลายกำแพงเผด็จการ  !!!


++++++++++++++++++++++

ความเห็นกรณีตุลาการรัฐธรรมนูญจากเฟซบุ๊ค

Phuttipong Ponganekgul - การกระทำละเมิดรัฐธรรมนูญโดยองค์กรตามรัฐ ธรรมนูญ(เช่นศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญซ้ำๆซากๆ) หากไม่มีองค์กรอื่นใด "โต้/ยับยั้ง การกระทำเช่นว่านั้น" ผลจะกลายเป็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้กระทำรัฐประหารโดยคำวินิจฉัย และถูกทำให้ valid ในทางรัฐธรรมนูญ เพราะทุกองค์กรของรัฐ "ยอมรับความมิชอบนั้นเสียหมด" ครับ นี่คือเหตุผลที่ต้อง "โต้-ยุบ" ศาลรัฐธรรมนูญในโครงสร้างที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน (ทั้งในระบบกฎหมาย และทั้งพวกที่ทำตัวเป็นสัมภเวสีนอกระบบกฎหมาย)

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล - ด้วยความเคารพต่อทุกท่านที่ทนอากาศร้อน ชุมนุม ไล่ ตลก อยู่ในขณะนี้นะครับ เมื่อครู่ โฆษกหญิงบนเวที ได้ประกาศว่า "เราทำกันเอง เราไม่มีแบ็ค" สมมุติว่า เป็นเช่นนั้น ผมก็เห็นว่า ถึงจุดนี้ ฝ่ายการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย, บรรดา สส. หรือ แม้แต่ นปช เอง น่าจะหาทางเข้าไป "รับเรื่อง" หรือ "รับช่วง" อย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่น สส รับปากจะไปทำเรื่อง ถอดถอนตุลาการ เป็นต้น) เพื่อเป็นการเปิด "ช่องทางลง" ให้กับท่านทีชุมนุมตอนนี้ ได้อย่าง "สวยงาม" (ทางการเมือง) ระดับหนึ่ง

โฆษกเวที ยังประกาศว่า "ครั้งนี้ ไม่ชนะ เราไม่เลิก" และ "เราจะเอาให้จบ วันนี้ พรุ่งนี้" ผู้ปราศรัยอีกท่าน ที่ขึ้นมาหลังจากนั้น ก็ประกาศยืนยัน มีแผนจะ "ยกระดับ" การต่อสู้ ขึ้นอีกเรื่อยๆ มองในฐานะ "ผู้สังเกตการณ์" ผมต้องสารภาพว่า มองไม่ออกว่า เจตนารมณ์ ดังกล่าว จะบรรลุยังไง นะครับ มองไม่ออกว่า จะมีมาตรการของผู้ชุมนุม อันใด ไม่ว่าจะ "ยกระดับ" ยังไง ทีจะทำให้บรรลุเป้าหมายทีประกาศไว้ได้ (ถ้าไม่ใชมาตรการทีเป็นทางการ ประเภท ผ่าน การถอดถอน โดย สภา อะไรแบบนั้น)

ผมจึงอยาก "ฝาก" ไปยัง ฝ่ายการเมือง พรรคเพือ่ไทย และ สส หรือ นปช เองว่า น่าจะหาทาง เข้าไป "รับเรือ่ง" ต่อ ดังกล่าว ได้แล้วกระมังครับ เพื่อไม่ให้ผุ้ชุมนุม ทีอุตส่าห์ลำบากมากๆกันมาเกือบ 1 สัปดาห์เต็มๆแล้ว จะได้ "พัก" บ้าง ให้คนระดับ "ตัวแทน" ของพวกเขา ทำงานในเรื่องนี้ อย่างจริงๆจังๆ สืบต่อแทนน่ะครับ






ของแถม - ย้อนรอยพฤติกรรมศาลรัฐธรรมนูญไทย 
บันทึกคลิปโดย ohmygod3009 

Uploaded on Oct 29, 2010 การปรึกษาหารือของตุลาการเพื่อจะแก้ปัญหาคลิปที่ถูกบันทึกในกรณีที่พวกตัว เองลักลอบ­เอาข้อสอบไปให้ญาติและพวกตัวเองอ่านก่อนสอ­บ ชึ่งตุลาการเกือบทั้งคณะสมคบกัน มีทั้งชื่อผู้ให้และผู้รับ ครบกันถ้วนหน้า .ยากที่จะแก้ตัวว่าถูกจัดฉากเพราะบทสนทนาคือคำสารภาพ ที่ล่อนจ้อน





วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

กางตำรา ม.68 อ่านเกมตุลาการบนตาชั่ง ศาลรัฐธรรมนูญกำลังเล่นการเมือง !?

ข้อมูลจาก ประชาชาติ ออนไลน์



ไม่นานหลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีที่ ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่อยู่ระหว่างการแปรญัตติในวาระที่ 1 ทั้ง 3 ฉบับ ของฝ่าย ส.ส.และ ส.ว.เลือกตั้ง จำนวน 312 คน ว่ามีมูลขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

ฝ่าย ส.ส.และ ส.ว.จึงงัดกลยุทธ์ตอบโต้ดุลพินิจของศาลด้วยการออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาล ไม่ยอมยื่นเอกสารชี้แจงเหตุผลของการกระทำ บานปลายถึงการวิจารณ์ศาลว่าแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ และเตรียมยื่นถอดถอนตุลาการทั้งองค์คณะพ้นบัลลังก์

กางตำรานิติศาสตร์ เริ่มต้นตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่เป็นปัญหาอย่างละเอียด ในฐานะนักวิชาการเขายอมรับว่า ไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญที่มารับวินิจฉัยคำร้องตามมาตรา 68 และยังเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำทางเพื่อเล่นการเมืองเสียเอง



- รัฐธรรมนูญมาตรา 68 เจตนารมณ์จริง ๆ เป็นอย่างไรมาตรา 68 บทบาทของมันคือกลไกการป้องกันตัวเองของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การชุมนุม และอื่น ๆ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้ใช้สิทธิเสรีภาพพื้นฐานเหล่านั้นมาล้มล้างระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีการจำกัดขอบเขตเอาไว้ว่า บรรดาสิทธิเสรีภาพทั้งหลายนั้นจะใช้ในทางล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ จึงเชื่อมโยงกับข้อต้องห้ามของพรรคการเมือง เมื่อพรรคการเมืองใดที่ล้มล้างระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญย่อมไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ

- ตามหลักการรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีมาตรา 68 หรือไม่
ความจริงมันก็มีรัฐธรรมนูญมาตรา 28 บัญญัติไว้อยู่แล้ว ซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และเท่าที่ไม่ขัดศีลธรรมอันดีของประชาชน" แต่มันก็ไม่ได้ระบุว่าถ้าหากใช้สิทธิเสรีภาพในการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ต้องแก้ไขอย่างไร

มาตรา 68 จึงเป็นส่วนขยายของมาตรา 28 ว่าที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 28 มันหมายถึงการไม่ล้มล้างระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ และถ้าบุคคลใดพบเห็นการกระทำดังกล่าวก็ให้ร้องต่ออัยการสูงสุดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยให้หยุดการกระทำดังกล่าว


 
-มาตรา 68 ถือเป็นสิ่งที่สามารถถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมันเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 68 เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเขียนเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติเดิม ถามว่าสิ่งที่เขียนใหม่จะขัดกับของเดิมหรือไม่ แน่นอนย่อมขัดอยู่แล้ว เพราะถ้าบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วมันขัดรัฐธรรมนูญเดิมทั้งหมด แบบนี้ก็ไม่สามารถแก้ได้เลย

ถามว่าถ้าเป็นอย่างนี้จะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ใช่ไหมเมื่อไม่มีการตรวจสอบ..ก็ไม่ใช่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1) วรรค 2 บัญญัติว่า ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนรูปของรัฐจะเสนอไม่ได้ อันนี้คือขอบเขตการห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนเรื่องซึ่งประชาชนจะฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในมาตรา 68 และประชาชนสามารถเลือกได้ว่าจะไปฟ้องผ่านอัยการสูงสุด หรือ ฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเกิดการตีความให้ฟ้องตรงต่อศาลได้จึงกลายเป็นบรรทัดฐาน คนก็ฟ้องตรงต่อศาลทั้งหมด แล้วเขียนมาทำไมว่าให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ได้ใช้ เห็นได้ว่ามันผิดเจตนารมณ์แน่ ๆ

ผมคิดว่าเป็นสามัญสำนึกง่าย ๆ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างนี้ คนก็ไม่ไปร้องอัยการสูงสุดอีกเลย ถ้าเป็นอย่างนี้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คิดไม่ออกเหรอตอนร่าง...ใช่ไหม ซึ่ง ส.ส.ร.เขาเขียนให้มีอัยการสูงสุดขึ้นมากลั่นกรอง ถ้าเขาเขียนให้เลือกได้ทั้งสองอย่าง ก็รู้อยู่แล้วว่าอัยการสูงสุดจะไม่มีความหมาย และศาลรัฐธรรมนูญเองก็ดูเหมือนจะรู้ด้วยซ้ำไป เพราะมีหลักฐานปรากฏในเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีคดียื่นเรื่องตามมาตรา 68 ศาลก็บอกว่าต้องผ่านอัยการสูงสุด

เรื่องการถ่วงดุลอำนาจระหว่างนิติบัญญัติกับตุลาการ หากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในยุโรปหรืออเมริกา ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติรับไม่ได้กับการตีความของตุลาการแบบนี้ เขาก็จะแก้กฎหมายหรือแก้รัฐธรรมนูญโดยใช้อำนาจนิติบัญญัติ ดังนั้นสิ่งที่รัฐสภากำลังแก้ไขมาตรา 68 จึงเป็นเรื่องการถ่วงดุลฝ่ายตุลาการ

ส่วนที่บอกว่าการแก้ไขมาตรา 68 เป็นการละเมิดอำนาจศาล ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้ผิด คนที่พูดแบบนี้เหมือนเข้าใจหลักการแบ่งแยกอำนาจไม่ชัดเจนนัก เพราะนี่คืออำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจตุลาการเขาถ่วงดุลกัน ซึ่งการแก้ไขไม่มีผลต่อคดีที่จบไปแล้ว แต่มันจะมีผลในคดีต่อไป ว่าง่าย ๆ มาตรา 68 จะแก้หรือไม่แก้ไม่เกี่ยวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ค้างการโหวตวาระ 3 ในสภา

ดังนั้นจึงมีแนวทางออกกลาง ๆ คือ ให้ฟ้องที่อัยการสูงสุดก่อน แล้วกำหนดเป็นกรอบเวลาไว้ว่าอัยการสูงสุดต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน หรือ 90 วัน จากนั้นจึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าอัยการสูงสุดไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็ไปฟ้องตรงที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีในเมื่อมีข้อโต้เถียงว่าประชาชนจะยื่นตรงต่อศาล หรือ ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียว ก็เอาจุดดีของทั้งสองแนวทางแปรญัตติในสภา



- ขณะเดียวกันศาลบอกว่า เหตุที่รับคำร้องตามมาตรา 68 เพราะเป็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงตีความอย่างกว้างให้ประชาชนมีสิทธิยื่นฟ้องได้
คือมันอย่างนี้...ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่าตีความเพื่อเพิ่มสิทธิประชาชน แต่มันคือการเพิ่มอำนาจตัวเองด้วย มันไม่ได้เป็นการเพิ่มสิทธิประชาชนเพียงอย่างเดียว มันเป็นเรื่องซึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญพูดแค่ด้านเดียว แล้วการเพิ่มอำนาจตัวเองด้วยล่ะ

มาตรา 68 ที่ขัดแย้งกันเยอะ เพราะถ้าจะทำอะไรที่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วมันเข้ามาตรา 68 จากนี้ไปคนที่ไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญ มันก็มีการร้องศาลรัฐธรรมนูญได้หมด แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็อาจมีส่วนได้ส่วนเสียได้ ถ้ามีการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญเอง ปัญหาความขัดแย้งก็ยิ่งเกิดหนักเข้าไปอีก เช่น มีคนขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตราที่ว่าด้วยเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลก็ตีความว่านี่เข้าข่ายมาตรา 68 มันก็จะมีปัญหาตามมาอีก

- การที่ศาลเพิ่มอำนาจให้ตนเอง เช่น อาจเป็นกลไกการป้องกันไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติมาลดอำนาจศาล

ผมใช้คำว่าเขาทำทางไว้ดีกว่า เอ่อ...เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่าเป็นเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ช่องทางที่พอเห็นเป็นทางมายังศาลรัฐธรรมนูญได้ก็มีแต่มาตรา 68 ถึงแม้ศาลยกคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.ว่าไม่เป็นการล้มล้างการปกครองก็ตาม แต่ศาลก็ทำเป็นทางไว้ว่าครั้งนี้ไม่ล้มล้าง เพราะยังไม่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าหากมีการดำเนินการเมื่อไหร่แล้วมีใครเห็นว่าจะเป็นการล้มล้างก็ค่อยมาร้องใหม่ เพราะมันมีทางไว้แล้ว

- มันเป็นเกมที่ศาลกำลังเปิดช่องให้ตัวเองลงมาเล่นเกมการเมืองบนกระดานหรือเปล่า

ก็...ในแง่นี้ถือว่า...ใช่ ในแง่ที่ว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญลงมาตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้



- ผิดหลักการตรวจสอบถ่วงดุลและการแบ่งแยกอำนาจหรือเปล่า
ศาลตีความบางทีก็มีผิดได้ ผมย้ำอีกทีนะ กรรมการฟุตบอลตัดสินผิด เรายังต้องยอมรับเลย ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นกรรมการ ต่อให้ผิดและเราไม่เห็นด้วย เราก็ต้องยอมรับ แต่พอเกิดการตีความขึ้นมาแล้ว แล้วฝ่ายนิติบัญญัติไม่เห็นด้วยกับการตีความของศาล ถ้าเป็นฟุตบอลก็จะกลับไปเข้าเท้าของฝ่ายนิติบัญญัติอีกที ว่าง่าย ๆ ก็เป็นอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติที่เขาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่มันยาก มันยุ่ง (เน้นเสียง) ในการใช้อำนาจนิติบัญญัติถ่วงดุลฝ่ายตุลาการ เพราะพอฝ่ายนิติบัญญัติจะแก้กติกา ฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมให้แก้ขึ้นมา มันก็เลยทำให้ถ่วงดุลไม่ได้

ปัญหาทั้งหมดจึงอยู่ที่มาตรา 68 มันเป็นความระแวงของฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นว่าฝ่ายพรรคเพื่อไทยที่เป็นเสียงข้างมากในสภา ต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 หรืออย่างเบาลงมาก็ไปยกเลิกมาตรา 309 ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกการตรวจสอบถ่วงดุล ดังนั้นถ้าต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน แล้วอัยการสูงสุดเห็นว่าไม่ส่งให้ศาล เขาก็ไม่มีช่องทางในการถ่วงดุล หรือต่อกรกับพรรคเพื่อไทยได้เลย

แต่หากประชาชนฟ้องตรงต่อศาลได้ ก็แปลว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ฟ้องตรงได้ สามารถเปิดเกมได้หมด ดังนั้น เกมที่เอากลับไปที่ศาลได้เมื่อไหร่ มันก็เป็นเกมที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการ ในเมื่อตัวเองยกมือแพ้ในสภา เขาก็เลยเอาศาลรัฐธรรมนูญสู้ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงยืนยันว่าไม่ยอมให้แก้ไขมาตรา 68 เพราะถ้าให้ยื่นต่ออัยการสูงสุดก่อนเขาจะคุมเกมไม่ได้

แต่ในขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องมองด้วยว่า ส.ส.ร.เขียนให้ยื่นอัยการสูงสุดก่อนไว้เพื่ออะไร ถ้าฟ้องตรงต่อศาลได้อย่างนี้จะเขียนมีอัยการสูงสุดไว้ทำไม คนก็ไปฟ้องตรงต่อศาลกันหมดแล้ว



- แต่ข้ออ้างของฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า หากต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อนก็ไม่แฟร์สำหรับประชาชน เพราะอัยการสูงสุดมีแค่คนเดียวคอยกลั่นกรอง จะสู้ต่อศาลรัฐธรรมนูญมีตั้ง 9 คนช่วยกรองได้อย่างไร
ประเทศไหนก็แล้วแต่ที่ประชาชนฟ้องตรงได้ เขาจะเจอปัญหาว่าคดีไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเยอะมาก เช่น ประเทศเยอรมนีที่ให้ประชาชนฟ้องตรงได้ คดีเป็น 4 หมื่นคดี ทำยังไงครับ...เขาก็ตั้งคณะองค์คณะชุดเล็กขึ้นมากรอง เขาถึงไปรอด ไม่งั้นพิจารณาไม่ไหว แล้วปรากฏว่าการกรองของเขาคดีมีผ่านการกรองแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ถึงให้ประชาชนฟ้องตรงได้ แต่ก็ต้องมีการกรอง

เป็นเรื่องปกติคนก็ต้องหาที่พึ่ง เมื่อช่องทางนี้สู้แล้วแพ้ ก็จะหาช่องทางอื่นสู้ ฉะนั้น ช่องทางศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นช่องทางที่คนเห็นว่าสู้ได้ เบรกอยู่ ดังนั้นคดีไปศาลรัฐธรรมนูญเยอะแน่ถ้าไม่มีการกรอง แล้วที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่ามีเยอะ
 

วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

ตุลาการนะ! ไม่ใช่ตุลาเกรียน

บทความโดย ใบตองแห้ง


อ่านข่าวคนขับรถท่านวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ออกพูดเรื่องนายถูกข่มขู่ แล้วอดไม่ได้ที่จะคิดถึงใครคนหนึ่ง ที่ถูกข่มขู่อยู่เนืองๆ เมื่อสถานการณ์การเมืองร้อนระอุ เขาคือประสงค์ สุ่นศิริ ผู้ถูกทุบรถ ถูกอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง จนขี้เกียจจำ จำได้แต่ว่าทุกครั้งที่จะออกมาไล่รัฐบาล ประสงค์เป็นต้องถูกข่มขู่เอาฤกษ์เอาชัย ทั้งที่ได้ฉายาซีไอเอเมืองไทย (ซีไอเอโดนขู่ อย่างนี้มีแต่ในประเทศไทย)
ให้บังเอิ๊ญ ท่านวสันต์ท่านก็ออกมามี “บทบาททางการเมือง” ครั้งแรกในคดีที่เจ้าของฉายา “ปีศาจคาบไปป์” ถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคดีซุกหุ้นฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งตอนนั้นผมก็ชูสองมือเชียร์ท่านสุดใจ ท่านพูดถูกครับ ตุลาการต้องตัดสินคดีไปตามเนื้อผ้า ต้องไม่เอาประเด็นทางการเมือง อคติ สุคติ มาชี้นำ เป็นห่วงเป็นใยว่าถ้าทักษิณผิดแล้วจะไม่มีใครบริหารประเทศ
 
คดีซุกหุ้นคือต้นกำเนิดของ “ตุลาการภิวัตน์” ซึ่งต่อมาอีกฝ่ายก็เอามาใช้ คิดว่าถ้าไม่เอาทักษิณให้ตาย ประเทศชาติจะพินาศฉิบหาย
 
ท่านวสันต์น่าจะเข้าใจดี และน่าจะยืนหยัดหลักที่ท่านพูดไว้
 
ท่านวสันต์ยังเป็นฮีโร่สำหรับผม เมื่อครั้งวิกฤติตุลาการปี 2534 ที่ท่านเป็นโฆษกฝ่าย “กบฎ” คัดค้าน อ.ประภาศน์ อวยชัย รมว.ยุติธรรม เข้ามาแทรกแซงอิสระของฝ่ายตุลาการ ในการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา มองย้อนหลังไปอย่างไรผมก็เห็นว่าท่านทำถูกต้อง ท่านปกป้อง “ประชาธิปไตย” ของผู้พิพากษา ในการเลือกคนที่ “ประชานิยม” เอ๊ย “ผู้พิพากษานิยม” เข้ามาเป็นประธานศาลฎีกา
 
กรณีนี้ “กบฎตุลาการ” ไม่ได้รบกับนักการเมืองนะครับ แต่รบกับ อ.ประภาศน์ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ใครๆ ก็เคารพนับถือ ไม่ใช่นักการเมืองเลวชั่วมาจากไหน ท่านเป็นคนดี แต่คิดแบบ “อำมาตย์” คือมองว่าคนที่ “ประชานิยม” เอ๊ย “ผู้พิพากษานิยม” ไม่ใช่คนดี แล้วท่านก็พยายามใช้อำนาจสกัดกั้นสิทธิอิสระของตุลาการ จึงถูกผู้พิพากษารุ่นหนุ่มสมัยนั้นต่อต้าน ทั้งท่านวสันต์ ท่านจรัญ ภักดีธนากุล ท่านวิชา มหาคุณ ฯลฯ ร่วมกับท่านอุดม เฟื่องฟุ้ง ซึ่งท่านวสันต์ก็เจอวิบากกรรมจนถูกโยกย้าย
 
กาลเวลาพิสูจน์ว่า อ.ประภาศน์มองถูกบางเรื่อง แต่ “กบฎตุลาการ” ก็ต่อสู้ในเรื่องหลักการ ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล หลักความเป็นอิสระ ของ ก.ต.ที่มาจากการเลือกตั้ง (1 คน 1 เสียง ฮิฮิ) “อำมาตย์” จะมาแทรกแซงไม่ได้
 
แต่ถ้าจะมีอะไรที่ผมไม่เห็นด้วยกับท่านวสันต์ ก็คือตอนที่ท่านผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเข้ามาแคนดิเดทเป็น กกต.แล้วไม่ยอมแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อวุฒิสภา โดยย้อนว่าทำไมต้องแสดง ในเมื่อวุฒิสภาก็ไม่ได้เหนือกว่าท่าน องค์กรอิสระที่วุฒิสภาเลือกก็มีปัญหามากมาย
 
ผมเชื่อนะว่าท่านไม่มีลับลมคมนัยอะไรจะต้องไปปกปิดบัญชีทรัพย์สิน แต่ท่านหยิ่งในศักดิ์ศรี ไอ้พวก ส.ว.ที่ชาวบ้านจน เครียด กินเหล้า เลือกเข้ามาเนี่ย มันบังอาจจะมาบังคับให้ตุลาการผู้สูงส่งอย่างท่านเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินได้อย่างไร
 
เอ้อ วุฒิสภาชั่วดียังไงก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนครับ ท่านไม่ได้แสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ “คนชั่ว” แต่ท่านต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อองค์กรที่ทำหน้าที่แทนประชาชน โดยส่วนตัว ท่านอาจเป็นคนดีเลิศประเสริฐศรีกว่า ส.ว.ทั้งหมดในสภา แต่เมื่อท่านจะเข้ามาทำหน้าที่ ท่านก็ต้องเคารพองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง
 
แบบเดียวกันที่ อ.ประภาศน์ต้องเคารพมติ ก.ต.ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์หลานศิษย์ อ่อนด้อยมาจากไหน แต่นั่นคือองค์กรที่ได้รับมอบอำนาจมาจากผู้พิพากษา
 
หลังท่านชัช ชลวร ลาออก ท่านวสันต์ได้รับเลือกให้เป็นประธาน อย่างน่ากังขาว่าตำแหน่งนี้เปลี่ยนได้ด้วยหรือ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้โปรดเกล้าฯ ประธานพร้อมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แบบตุลาการศาลปกครองสูงสุด หรือบางองค์กร ที่เป็นตุลาการก่อนแล้วค่อยเป็นประธานอีกครั้ง
 
แต่เอาเถอะ ไม่มีใครยื่นตีความ ท่านวสันต์ก็กลายเป็นประธานที่มีสีสันที่สุด นับแต่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญมา แหม จะไม่มีสีสันได้ไง ก็เล่นวลี “สีทนได้” สมแล้วที่เป็นรุ่นน้องของ “ซ้ายที่แปด” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (คอยดูซักวันท่านจะเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนเป็นบทกวี เอ๊ะ หรือจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษหว่า)
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนท่านให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ชะอำ อ่านแล้วมันส์มาก
 
“ผมก็ทำอาชีพด้านกฎหมายนี้มา 44 ปี แล้ว แต่ก็นึกขำและตลกอยู่เหมือนกัน ที่คนที่ไม่รู้กฎหมายมาสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ ซึ่งโทรทัศน์หลายช่องเชิญนักวิชาการมารุมถล่มศาลรัฐธรรมนูญสถานเดียว ผมไม่ได้โกรธเคืองอะไร แต่ขำและแปลกใจเท่านั้น เมื่อพิธีกรถามนักวิชาการในเรื่องของเนื้อหากลับงง และตอบหน้าตาเฉยว่ายังไม่เห็นคำร้อง แต่ด่าได้เป็นฉากๆ”
 
ใครหว่า ไม่รู้กฎหมายมาสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ ผมเห็นแต่เจษฎ์ โทณะวณิก จบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา วิเคราะห์กฎหมายมหาชนเป็นคุ้งเป็นแคว นักวิชาการส่วนใหญ่เขาไม่ได้พูดเรื่องคำร้องนะครับ เขาวิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาต่างหาก เขาบอกว่ารัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ จึงไม่เข้ามาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญต่างหากที่ไม่มีอำนาจ
 
แต่ท่านก็ยังบอกอีกว่า “เราก็ไปดูในตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เตรียมจะโหวตในวาระ 3  ซึ่งดูแล้วเป็นไปได้เหมือนกัน (ที่จะล้มล้างฯ) เพราะรัฐสภาชุดนี้ขายขาดไม่รับคืน โยนกลองไปให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ”
 
ฟังแล้วงงดี แบบนี้รัฐธรรมนูญ 40 ก็ขายขาดไม่รับคืน แถมท่านยัง “สะบัดธง” (ไม่ใช่ฟันธง) ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะผิด ซึ่งทำให้มีเสียงตอบโต้เซ็งแซ่ว่า ท่านทำผิดจริยธรรม แหม แต่ใครจะไปกล้าตีความ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะส่งให้ใครตีความ
 
กระนั้น คนรักเท่าผืนเสื่อคนชังเท่าผืนหนัง ไม่จีรังทุกสรรพสิ่ง คนชอบท่านก็เยอะเหมือนกัน จิ๊กโก๋แถวบ้านบอกว่าท่านพูดได้ชัดเจนดี ปากกับใจตรงกัน ต้องอย่างนี้สิ นักเลง ไม่มีอ้ำอึ้ง
 
“แล้วตกลงที่บอกว่าล้มล้างการปกครองก็ยังไม่เห็นมีใครออกมาปฏิเสธว่ามีความคิดแนวนี้หรือไม่ ไม่เห็นมีใครปฏิเสธสักคำ เป็นคู่ความประสาอะไรมิทราบ โจทย์ฟ้องจำเลยแทนที่จำเลยจะไปสู้คดีกับโจทย์แต่กลับมาสู้กับศาลฯ ไม่รู้ว่าสภาทนายความสอนแบบนี้หรือ แล้วจะชนะความได้อย่างไร และการที่รับคำร้องเพราะรับไว้เพื่อพิจารณาว่ามีหลักฐานอะไรที่จะพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ก็ยังไม่ได้บอกว่าใครจะแพ้จะชนะ ก็ดันจินตนาการ ฝันเฟื่อง ว่าอำมาตย์สั่งให้ยุบพรรครอบสองรอบสาม”
 
โห ท่อนนี้ได้ใจเด็กเกรียนได้เสียงกรี๊ดไปเต็มๆ ครับ โดยเฉพาะที่ทิ้งท้ายว่า “ผมเป็นคนไม่อาฆาตใคร แต่ค่อนข้างที่จะลืมยาก จิ๊กโก๋แถวบ้านตีความว่า “ลงบัญชีไว้แล้ว เดี๋ยวเช็คบิลระนาว” มันยังยุส่งว่านี่ถ้าท่านตัดสินให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างระบอบฯ ถอดถอนกราวรูด 461 ส.ส. ส.ว.ล้มรัฐบาลและรัฐสภาทั้งระบอบ ก็น่าถอดเสื้อเบ่งกล้ามทำหน้าถมึงทึง จะสะใจเป็นที่ซู้ด
 
ผมเลยตบหัวมันบอกว่า เฮ้ย นั่นมันมาริโอ บาโลเตลลี นี่ตุลาการนะไม่ใช่ตุลาเกรียน (แต่ขนาดนั้น เว็บไซต์บางแห่งก็ดันเอาภาพท่านไปเปรียบเทียบกับ ดอน จมูกบาน เวงกำ!)
 
ในช่วงเดียวกัน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ไป “วางบิล” เอ๊ย ยื่นถอนประกันจตุพร พรหมพันธุ์ ทำให้นักกฎหมายงงกันเป็นแถบว่าใช้อำนาจอะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีก่อการร้าย แค่จตุพรวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถส่งคำร้องถึงศาลอาญา ขอถอนประกันจตุพรได้เชียวหรือ
 
จะบอกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ก็ไม่ใช่ เพราะยังไม่ได้วินิจฉัย หรือจะบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิร้องสอด ร้องแทรก ร้องแส่ ฯลฯ
 
ถ้างั้นต่อไปนี้ จตุพร หรือจำเลยคดีอาญาคนอื่นๆ ไปเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์องค์กรอิสระ กกต.ปปช.กสม. ฯลฯ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือแม้แต่ตัวบุคคล ทุกคนทุกหน่วยก็สามารถยื่นคำร้องถึงศาลอาญา ขอถอนประกันได้ใช่ไหมครับ
 
สมมติเช่น สนธิ ลิ้ม อยู่ระหว่างประกันตัวคดีโกงแบงก์กรุงไทยติดคุก 85 ปี ไปวิจารณ์องค์การสวนสัตว์ ปลุกมวลชนขู่ล่าชื่อถอดถอน ผอ.องค์การสวนสัตว์ องค์การสวนสัตว์ก็น่าจะเลียนแบบศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนประกันสนธิ ลิ้ม มั่ง
 
ถ้าองค์การสวนสัตว์ยื่นคำร้องขอถอนประกันสนธิ ศาลจะรับไปไต่สวนไหม อธิบดีศาลอาญาจะออกมาพูดไหมว่า “ในข้อเท็จจริงแล้วแม้องค์การสวนสัตว์จะไม่ใช่คู่ความ แต่คำร้องที่องค์การสวนสัตว์ยื่นมานั้น มีผลกระทบต่อสังคมและพฤติการณ์ของนายสนธิตามที่ร้องมา ก็มีการเผยแพร่ออกทางสื่อมวลชน ที่สามารถเห็นและรับรู้ได้ เป็นกรณีที่เห็นชัดแจ้งในสังคม และเข้าข่ายข้อกำหนดในการประกันตัว ถึงองค์การสวนสัตว์ไม่มีคำร้องมา ศาลอาญาก็มีสิทธิเรียกตัวมาสอบสวนได้ และการพิจารณาเรื่องการถอนประกันนั้น ก็ไม่ได้นำประเด็นจากเอกสารองค์การสวนสัตว์มาเป็นประเด็นพิจารณาหลัก แค่ใช้เป็นส่วนประกอบเท่านั้น”
 
แหม ฟังแล้วปวดหัว ไม่รู้องค์การสวนสัตว์ต่างจากศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร จิ๊กโก๋แถวบ้านมองว่าองค์การสวนสัตว์ไม่มีอำนาจบารมี แถมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ 8 ใน 9 คน ยังมาจากตุลาการศาลยุติธรรม (แม้บางคนเลี้ยวมาจากศาลปกครอง) เคยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในศาล มีลูกศิษย์ลูกหา ลูกน้อง อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่มากมาย แถมการที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ ยังกระทบต่อภาพลักษณ์ ศักดิ์ศรี ความศักดิ์สิทธิ์ ของสถาบันตุลาการโดยรวม
 
ใช่ไม่ใช่ ท่านก็คงต้องชี้แจงพวกเอาจิตใจต่ำช้ามาวัดจิตใจวิญญูชนหน่อยละครับ
 
จอดป้ายไหนดี
ในขณะที่ใครต่อใครวิเคราะห์กันอื้ออึงว่าตุลาการจะวินิจฉัยอย่างไร จะสั่งให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผิดมาตรา 68 หรือไม่ ผมว่าพวกท่านก็คงหนักใจอยู่เหมือนกัน ว่าจะหาทางลงแบบไหน
 
คือถ้าจะเอาเรื่องไร้สาระมาเป็นข้ออ้างล้มล้างรัฐบาลและรัฐสภา โดยมีอดีตสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อดีตทหารปลดแอกประชาชนไทย มาเป็นบอดี้การ์ดระหว่างพิจารณา มันก็พิลึกกึกกืออยู่ นี่ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นศาลประชาชนโค่นล้มทุนนิยมให้พรรคคอมมิวนิสต์หรือไร
 
โห ถ้าศาลวินิจฉัยทันทีวันที่ 6 รัฐบาลล้มทั้งยืน รัฐสภาสิ้นสภาพ แล้วพวกบอดี้การ์ดหน้าโหลไชโยโห่ร้อง “พรรคคอมมิวนิสต์จงเจริญๆๆๆ ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน จงเจริญๆๆๆ” คงดูไม่จืดเลย
 
ผมเชื่อว่าศาลท่านก็น่าจะรู้ดี ถ้าวินิจฉัยออกมาแบบนี้ก็นองเลือด เพราะพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลคงยอมไม่ได้ ต่อให้บอกว่าเลือกตั้งใหม่กี่ครั้งก็ชนะ แต่ชนะแล้วแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ใครมันจะยอมครับ
 
ถ้าชี้เปรี้ยงวันที่ 6 อันที่จริงก็จังหวะดี เพราะวันเสาร์ที่ 7 การเมืองต้องหยุด 1 วัน ห้ามรบกัน เพราะเป็นวันในหลวงเสด็จฯ ชลมารค รัฐบาลและรัฐสภายังไม่ทันตั้งตัว วันอาทิตย์ พันธมิตร สลิ่ม ปชป.อาจออกมายึดสนามบิน ยึดทำเนียบ เรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่จะล้มล้างระบอบฯ ตามคำวินิจฉัยของศาล (หรือเรียกร้องนายกพระราชทาน ให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาท) แต่ถ้ารัฐบาลและรัฐสภาตั้งหลักได้ ประกาศไม่ยอมรับคำสั่งศาล ระดมมวลชนเสื้อแดงทั่วประเทศ เข้ามายึดกรุงเทพฯ ยึดจังหวัดสำคัญ ยึดค่ายทหาร ยึดสื่อ ยึดสถานีดาวเทียม ยึดทรู ยึดแกรมมี่ ฯลฯ ระดมกำลังทหารแตงโม ตำรวจมะเขือเทศ เตรียมต่อต้าน คงรบกันแหลก
 
คำถามคือศาลรัฐธรรมนูญพร้อมจะรับผิดชอบไหม กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีคนจำนวนไม่น้อยชี้ว่าท่านคือผู้จุดชนวน
 
อย่าลืมว่า การรับคำร้องมาตรา 68 ไม่ได้มีแค่นิติราษฎร์ หรือนักกฎหมายฝ่ายประชาธิปไตยที่คัดค้านนะครับ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกันอย่างคุณสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีต ปปช.ยังวิพากษ์ไม่มีชิ้นดี
 
ยิ่งพูดในหลักการและเหตุผล ก็ยิ่งเข้าตาจน ผมนึกภาพไม่ออกว่าตุลาการจะอธิบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างระบอบได้อย่างไร ในเมื่อจรัญ ภักดีธนากุล ก็พูดไว้ตอนดีเบตว่า รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ โดยให้มี สสร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่แบบปี 2540 มาคราวนี้ พวกท่านจะกลับไปเชื่อสมคิด เลิศไพฑูรย์ ว่ามาตรา 291 ห้ามแก้ทั้งฉบับ อย่างนั้นหรือ
 
พวกท่านต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ว่าจะเชื่อจรัญ หรือเชื่อสมคิด หรือเชื่อเมียสมคิด (ฮา) (แหม น่าเสียดาย ข่าวล่าสุรพล นิติไกรพจน์ จะไปแทนซะแล้ว)
 
พวกท่านอธิบายไม่ง่ายนะครับ แม้แต่การห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 นักการเมืองเขาลากถูกันได้ แต่นักกฎหมายต้องมีหลัก สมมติท่านย้ำว่าห้ามแก้ แก้แล้วถือว่าล้มล้างระบอบฯ ก็จะมีคนโต้ว่า อ้าว ทีรัฐธรรมนูญ รสช.2534 ยังแก้ได้ หมวด 1 เพิ่มคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (ระบอบนี้เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญ 2534 เองนะ ก่อนหน้านั้นเขาใช้คำว่า “มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”)
 
รัฐธรรมนูญ รสช.ยังไปแก้หมวด 2 ว่าด้วยการสืบราชสมบัติ ทั้งที่เนื้อหาเดิมตั้งแต่ฉบับแรก 59 ปี เขาให้รัฐสภา “เห็นชอบ” ทั้งสิ้น มีอย่างที่ไหน รัฐประหารแล้วยังบังอาจมาแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์
 
อะไรคือการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำถามไร้สาระนี้ท่านต้องตอบให้ได้ เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สรุปได้ 2 อย่างเท่านั้นคือมีประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ (ตราบใดที่มีพระมหากษัตริย์ ก็ต้องเป็นประมุข) ส่วนอื่นๆ จะเป็นเหมือนอังกฤษ สวีเดน ฮอลแลนด์ ญี่ปุ่น สเปน ฯลฯ ก็เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสิ้น
 
ท่านจะอ้างอย่างเทพเทือกว่า พรรคเพื่อไทยจะตั้งประธานศาลฎีกาเองแบบระบอบประธานาธิบดี เทือกเป็นนักการเมืองพูดเหลวไหลอย่างไรก็ได้ ท่านเป็นนักกฎหมายพูดเลอะเทอะอย่างนั้นไม่ได้ ระบอบอเมริกาเขาให้ประธานาธิบดีเสนอชื่อตุลาการศาลสูงผ่านรัฐสภา แต่ระบอบอังกฤษยิ่งหนักกว่าเพราะรัฐมนตรียุติธรรมเป็นประธานศาลฎีกาโดยตำแหน่ง ไม่มีที่ไหนบัญญัติว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้ามอำนาจปวงชนเกี่ยวข้องกับประธานศาลฎีกา
 
อ้าง ก็ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลปกครองสูงสุด เขายังต้องผ่านการรับรองของวุฒิสภา เห็นอยู่ตำตา
 
ป้ายที่สอง ถ้าท่านจะตัดสินยกฟ้อง ไม่มีความผิด รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้ พวกทหารป่าก็จะโห่ฮาป๋า หาว่าพวกท่านเป็นมวยล้มต้มคอมมิวนิสต์ เกรียนสลิ่มจะผิดหวัง จิ๊กโก๋แถวบ้านจะบ่นอุบ ว่าไม่ต่างจากบาโลเตลลีกร่างไม่ออก โดนสเปนขยี้ 4-0 อุตส่าห์เอาวากันมาถึงขนาดนี้ จะกลายเป็นโดนด่าฟรี เพราะพวกเสื้อแดงต้องด่าอยู่ดีว่าทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า
 
ลงป้ายนี้ก็เสียศาล เอ๊ย เสียศูนย์เหมือนกันนะครับ
 
ป้ายที่สาม ถ้าท่านจะวินิจฉัยว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ แต่ไม่ถือเป็นความผิด ไม่ถอดถอนคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ให้ไปแก้ไขใหม่ นับหนึ่งใหม่ แก้เฉพาะมาตรา
 
ไอ้รัฐบาลขี้แขะขี้กลัวนี่มันคงจะยอมท่านหรอก แต่สมมตินะ สมมติ มีพวกยุแยงตะแคงรั่วเสนอให้แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญก่อน ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ หรือเปลี่ยนแปลงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เลือกตุลาการกันใหม่ คราวนี้ท่านจะทำอย่างไรละครับ เพราะถ้าท่านเข้าไปขัดขวาง เขาก็จะกล่าวหาว่าท่านมีผลประโยชน์ทับซ้อนนี่หว่า หวงเก้าอี้นี่หว่า ตุลาการผู้มีคุณธรรมจริยธรรมคงหน้าบาง ไม่กล้าเข้าไปยับยั้งหรอก คริคริ
 
ป้ายที่สี่ ถ้าท่านจะวินิจฉัยว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่ไม่มีหลักประกันว่าจะล้มล้างระบอบฯ ฉะนั้นก่อนลงประชามติ สสร.ร่างเสร็จ แทนที่จะให้ประธานสภาวินิจฉัย ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจข้อสอบก่อน
 
รัฐบาลขี้ขลาดก็คงจะยอมท่านอีกแหละ ซื้อเวลาต่อไป แต่คิดให้ดีนะครับ สสร.มาจากการเลือกตั้ง การแก้ไขแต่ละประเด็น ไม่ใช่จะรวบรัดเอาในเวลาสั้นๆ ต้องมีการหยั่งเสียงในสังคม ผ่านการถกเถียงทางสื่อ ทางเวทีสาธารณะ มีคนเห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วย จึงผ่านแต่ละประเด็นมาได้
 
สมมติเช่น จะแก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่ง ให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด สอง ให้สรรหาจากสัดส่วนต่างๆ เช่น ตุลาการ อาจารย์มหาลัย องค์กรทางสังคม ทางรัฐศาสตร์ ทางกฎหมาย มีที่มาหลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ แล้วส่งชื่อให้วุฒิสภาเลือก
 
หรือถ้ามีข้อตกลงที่ตกผลึก เช่น การแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ให้ศาลเสนอผู้มีอาวุโสสูงสุด 3 ลำดับมาให้คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา แข่งกับคนนอกอีก 3 คน ที่มีข้อกำหนดว่าอย่างน้อยต้องเป็นศาสตราจารย์กฎหมายมา 5 ปี มีคุณสมบัติด้านต่างๆ ครบถ้วน มีการอภิปรายลับแล้วลงมติ ฯลฯ สังคมฟังแล้ว เออ เห็นด้วย เข้าท่าดี
 
ถามว่าตอนนั้นท่านจะไปขัดขวางเขาอย่างไร จะเอาตรงไหนไปชี้ว่าล้มล้างระบอบ
 
เฮ้อ คิดแล้วก็น่าปวดกบาลแทนนะครับ จะเลือกลงป้ายไหน ก็มีเด็กอาชีวะรออยู่ทุกป้าย ไม่น่าขึ้นรถเมล์มาเลย
 
ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ผมขอยุส่งมั่ง เลือกทางไหนก็ได้ครับที่ให้มันจบเร็วๆ ขี้เกียจยืดเยื้อ ล้มโต๊ะไปเลย หรือไม่ก็ถอยไปเลย อย่างหลังยังพอจะด่ากลับได้ว่า เห็นไหม พวกจินตนาการ ฝันเฟื่อง ว่าอำมาตย๋ให้ยุบพรรครอบสองรอบสาม