Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เปิดงบประมาณกองทัพไทย ยุทธศาสตร์ปี 2020 หวั่นพุ่งอีก 2 เท่า

ข้อมูลจาก thaipublica
เรียบเรียงและนำเสนอโดย Sunai FanClub



หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระทรวงกลาโหมกลายเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมเคยได้รับที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ในช่วงก่อนหน้า แต่ภายหลังรัฐประหาร งบประมาณดังกล่าวกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ในเวลาไม่ถึง 3 ปี

ขณะที่หลายฝ่ายมีการตั้งข้อสังเกตถึงการเพิ่มงบประมาณด้านทหารและการป้องกันประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า อาจเกิดจากความเกรงใจจากการที่ฝ่ายทหารเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทางการเมือง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของงบประมาณด้านทหารในปัจจุบันจะไปกระทบกับงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ เช่น การศึกษาหรือการสาธารณสุข และขัดกับกระแสของโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่มุ่งเน้นการทำสงครามทางการค้ามากกว่าที่จะสะสมอาวุธ

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute – SIPRI) ระบุว่า การใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกเมื่อปี 2008

โดยในปี 2011 ถือเป็นปีแรกตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ที่งบทหารรวมทั่วโลกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงน้อยลง โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% จากปีก่อนหน้า และมีมูลค่ารวมกว่า 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของ GDP โลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่มีการตัดลดงบทหารลง เช่น กรีซ อิตาลี สเปน และประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาก็มีการใช้จ่ายงบทหารต่ำกว่าแผนที่วางไว้ ยกเว้นบางประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ยังคงมีการเพิ่มงบประมาณด้านทหารอยู่ เช่น จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์



แผนปฏิรูปกองทัพ-Modernization plan

สำหรับประเทศไทย อาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากที่มีอยู่เป็นอาวุธที่ใช้มาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น ซึ่งกำลังจะล้าสมัยและมีต้นทุนในการบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้กองทัพมีแผนที่จะปรับปรุง-ปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยขึ้น ด้วยการเสริมเขี้ยวเล็บ สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมาแทนที่ของเก่า เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพไว้ถ่วงดุลกับประเทศเพื่อนบ้าน

ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อฝูงบินกริพเพนของกองทัพอากาศจำนวน 12 ลำ ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ไฮเทค มาแทนที่เครื่องบิน F-5 เก่าที่เคยประจำการ และมีการปรับปรุงฝูงบิน F-16 ที่มีอยู่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการปรับปรุงนี้ จะเพิ่มศักยภาพด้านการรบทางอากาศของไทยให้อยู่ได้อีก 2030 ปี เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ประเทศไทยมีกองทัพอากาศที่มีศักยภาพเท่าเทียมกับของเพื่อนบ้านในภูมิภาค

ส่วนกองทัพเรือก็มีการปรับปรุงระบบเรดาร์ชายฝั่งใหม่ ปรับปรุงกองเรือฟริเกต และมีแผนที่จะซื้อเรือดำน้ำในอนาคต แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายก็ตาม

และกองทัพบกก็ได้ซื้อรถหุ้มเกราะ BTR 3E1 จากยูเครน 96 คัน สั่งซื้อรถถัง OPLOT ประมาณ 100 คัน จากยูเครนเช่นกัน เพื่อแทน M41 ที่มีอายุการใช้งานมานาน และมีการปรับปรุงรถถังเบาสกอร์เปียนที่มีอยู่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น




แผน 10 ปี Vision 2020 กับงบประมาณ ล้านล้าน

สำหรับประเทศไทย ในปี 2011 กระทรวงกลาโหมไทยได้มีการพัฒนาแผน 10 ปี ที่ชื่อว่า แผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ปี 2554-2563 (Modernization Plan : Vision 2020) ที่มีสาระสำคัญคือ

จากการประมาณการของสำนักงบประมาณกลาโหม บนสมมุติฐานที่จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปีงบประมาณ 2563 กระทรวงกลาโหมจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณคิดเป็นร้อยละ 2 ของGDP”

โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้ที่ผลักดันแผนนี้ เคยให้เหตุผลว่า ประเทศเพื่อนบ้านมีการเพิ่มงบประมาณทางการทหารเมื่อเทียบกับสัดส่วนจีดีพีอย่างต่อเนื่อง หากประเทศไทยยังคงสัดส่วนงบประมาณทางการทหารเมื่อเทียบกับจีดีพีในระดับต่ำ จะไม่สามารถสร้างดุลอำนาจกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเสริมกำลังรบอย่างต่อเนื่องได้

สำหรับร่างแผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ปี 2554-2563 ได้กำหนดความต้องการโครงการพัฒนา และจัดหายุทโธปกรณ์หลักของกระทรวงกลาโหม แบ่งเป็นความต้องการระดับสูงสุด 332 โครงการ วงเงิน 1.3 ล้านล้านบาท และความต้องการระดับต่ำสุด 301 โครงการ วงเงิน 0.77 ล้านล้านบาท

โดยความต้องการตามแผนนี้ เฉพาะการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์นั้นมีโครงการของกองทัพบกวงเงิน 4.97 แสนล้านบาท กองทัพอากาศ วงเงิน 4.4 แสนล้านบาท และกองทัพเรือ 3.25 แสนล้านบาท

ในอนาคต หากกองทัพไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วน 2% ของ GDP ต่อเนื่องจนถึงปี 2020 ตามแผนที่วางไว้ อาจทำให้งบประมาณของกระทรวงกลาโหมในปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบเป็น 2 เท่าของงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมในปัจจุบันได้รับ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และคิดเป็นเงินงบประมาณตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดแผนประมาณ 2 ล้านล้านบาท

ปัจจุบัน งบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้รับล่าสุด คือปี 2014 อยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 7.5 % ของงบประมาณภาครัฐ และเป็น 1.6% ของ GDP โดยงบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้ในการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ แต่หากนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารในปี 2006 จะพบว่างบประมาณด้านการทหารของไทยจนถึงปัจจุบันยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้วิกฤติเศรษฐกิจจะส่งผลให้งบประมาณในปี 2010 ถูกตัดลดลงไป 11% เหลือ 1.5 แสนล้านบาท จากที่เสนอมา 1.7 แสนล้านบาท

แต่เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ก็พบว่ากระทรวงกลาโหมยังคงได้งบประมาณเพิ่มขึ้นจนกลายเป็น 1.8 แสนล้านบาทในปัจจุบัน

ตารางแสดง งบประมาณทหาร (% ต่องบประมาณของรัฐบาล) – Military expenditure (% of central government expenditure)


งบประมาณทหารไทย

จากการจัดอันดับของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์มระบุว่า ในปี 2011 ทั่วโลกมีการใช้จ่ายงบประมาณด้านทหารรวมมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของ GDP โลก ประเทศที่มีงบประมาณด้านทหารมากที่สุดในโลกคือสหรัฐอเมริกา มีมูลค่ากว่า 0.71 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 40% ของทั้งโลก รองลงมาคือจีน 0.14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และรัสเซีย 0.07 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ส่วนประเทศไทย สถาบันวิจัยระบุว่ามีงบประมาณด้านทหารในปี 2011 ที่ 5,114 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยประเทศที่มีการใช้จ่ายงบทหารเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วน GDP ในปี 2011 มากที่สุดคือประเทศซาอุดีอาระเบีย มีงบทหารคิดเป็นสัดส่วน 8.4% ของ GDP รองลงมาคืออิสราเอล 6.8 % ของ GDP และโอมาน 6% ของ GDP ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยมีงบประมาณด้านทหารคิดเป็นสัดส่วน 1.6% ของ GDP น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค คือ สิงคโปร์ 3.6% ของ GDP เวียดนาม 2.2% ของ GDP

ขณะที่การใช้งบทหารเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่องบประมาณทั้งหมดของรัฐบาลในปี 2010 ปรากฏว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายงบทหารมากที่สุด คิดเป็น 28% ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาคือ สาธารณรัฐคีร์กีซ 19.9% และโคลอมเบีย 19.8% สำหรับประเทศไทยในปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่กระทรวงกลาโหมถูกตัดงบลง 11% เหลือ 1.5 แสนล้านบาท งบประมาณส่วนนี้มีสัดส่วนคิดเป็น 8.2% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นอันดับที่ 29 ของโลก โดยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มากกว่าไทย มีมาเลเซีย 8.3% และสิงคโปร์ที่สูงที่สุด ส่วนที่ต่ำกว่ามีอินโดนีเซีย 4.6% และประเทศเพื่อนบ้านที่เหลือยังไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วน

แรงกดดันของอาเซียนในการปฏิรูปกองทัพ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทยมีการใช้จ่ายด้านงบประมาณทหารมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนักวิเคราะห์ด้านการทหารหลายฝ่ายมองว่า การเติบโตด้านการทหารของจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

จากเศรษฐกิจที่เติบโต และการเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารของจีน ส่งผลให้ชาติอาเซียนต่างเพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหารมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจ และเป็นการปกป้องเส้นทางขนส่ง ท่าเรือ และเขตแดนทางทะเล ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศ

และจากกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ทำให้หลายประเทศในอาเซียนต่างเพิ่มแสนยานุภาพทางการทหาร โดยเฉพาะแสนยานุภาพทางทะเล ด้านการเฝ้าระวังชายฝั่งและทางทะเล และเรือตรวจการณ์

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม พบว่า เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บูม ส่งผลให้การใช้จ่ายด้านกลาโหมเพิ่มขึ้น 42% ระหว่างปี 2545-2554 โดยเฉพาะเรือรบ เรือตรวจการณ์ ระบบเรดาร์ เครื่องบินโจมตี รวมถึงเรือดำน้ำ และขีปนาวุธโจมตีเรือ ซึ่งเป็นการสกัดการเข้าถึงน่านน้ำ โดยมีสิงคโปร์เป็นผู้นำเข้ายุทโธปกรณ์รายใหญ่อันดับ 5 ของโลก ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนามก็ลงทุนซื้อเรือดำน้ำเช่นกัน

ประเทศไทยในฐานะประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ จึงได้รับแรงกดดันให้มีการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย และมีศักยภาพมากขึ้น เพื่อให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน


ลิ้งค์เรื่องที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
 

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ปชป. ขาย ‘ความจริง’ หรือขาย ‘ความกลัว’

เรื่องจากปกจากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ ปีที่ 14 ฉบับที่ 3492 ประจำวัน จันทร์ ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2013



แม้ยังไม่ใช่เวทีสุดท้าย แต่ชัดเจนว่าอีก 5 วันที่เหลือพรรคประชาธิปัตย์จะใช้วิธีวาดความกลัว ขายความกลัว กับคนกรุงเทพฯ เพื่อให้หันมาเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เบอร์ 16 แทนการเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 9 พรรคเพื่อไทย

เวทีปราศรัยเมื่อค่ำวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยประโยคเผาบ้านเผาเมืองเพื่อกระตุ้นคนเมืองหลวงให้คิดถึงภาพเก่าๆเมื่อปี 2553 เพื่อผูกโยงไปถึงพรรคเพื่อไทย และกระทบชิ่งไปถึง พล.ต.อ.พงศพัศ แม้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

แม้แต่ลูกพี่ใหญ่อย่างนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษา ก็เอากับเขาด้วย

นายชวนปราศรัยตอนหนึ่งว่า “...ใครสั่งเผาบ้านเผาเมือง ไม่สามารถนิรโทษกรรมหรือมาสั่งลดโทษตัวเองได้ ดังนั้น ประชาชนต้องตัดสินใจเองว่าจะเลือกพรรคไหน บ้านเมืองต้องมีรอยต่อ อย่าให้ใครกินรวบ ซึ่งรอยต่อหมายถึงระบบการตรวจสอบ คานอำนาจ เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้ขอบเขต ไม่ใช้อำนาจข้ามกัน...

เผาเมืองบ้านเมืองต้องมีรอยต่อเพื่อคานอำนาจ คือมุมมองของนายชวน ซึ่งอาจต่างจากการมีรอยต่อแบบขัดแข้งขัดขาจนงานไม่เดินในมุมมองของประชาชน

ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า “...การที่กลุ่มรัฐบาลไม่ให้พูดเรื่องเผาบ้านเผาเมืองนั้น ก็เพราะเป็นเรื่องที่แทงใจดำ ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่ฝ่ายรัฐบาลคงคิดว่าคนกรุงเทพฯลืมไปแล้ว ซึ่งอยากจะบอกว่าวันนี้เราลืมไม่ได้ เพราะในอนาคตรัฐบาลจะเอากรุงเทพฯเป็นตัวประกัน และนำกรุงเทพฯมาสู่สมรภูมิอีกครั้ง...

...หากคนของรัฐบาลจริงใจ ทำไมไม่เคยได้ยินคำขอโทษเลย และในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยก็เป็นตำรวจอยู่ จึงอยากถามว่าทำไมไม่ออกมาทำอะไรเพื่อคนกรุงเทพฯบ้าง ซึ่งหากวันนี้ชาวกรุงเทพฯยังคิดไม่ออกว่าจะเลือกใคร ก็ขอให้ดูว่าใครจริงใจมากกว่ากัน...

ประโยคที่ว่า หากคนของรัฐบาลจริงใจ ทำไมไม่เคยได้ยินคำขอโทษเลย ก็มีเสียงสะท้อนกลับเหมือนกันว่า

รัฐบาลที่บริหารสถานการณ์จนมีคนตาย 99 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ทำไมไม่คิดขอโทษประชาชนบ้าง

ขณะที่ประโยคที่ว่า ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยก็เป็นตำรวจอยู่ จึงอยากถามว่าทำไมไม่ออกมาทำอะไรเพื่อคนกรุงเทพฯบ้าง

ก็มีคำถามกลับเช่นกันว่า คนพูดไม่รู้หรือว่ารัฐบาลที่ตัวเองร่วมนั่งบริหารอยู่ด้วยนั้นตั้งใจใช้กำลังทหารกับผู้ชุมนุมเป็นหลัก และการเป็นตำรวจก็ใช่ว่าคิดจะทำอะไรก็ได้ เพราะต่างมีบทบาทตามตำแหน่งหน้าที่ของตัวเอง

ข้ามมาถึงหัวหน้าพรรคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังปราศรัยถึงการเผาบ้านเผาเมือง และยกย่อง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ที่กล้าขัดแย้งกับรัฐบาลเพื่อคนกรุงเทพฯในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

ชัดเจนว่าไม่ได้ไยดีต่อความเดือดร้อนของคนนนทบุรี ปทุมธานี บางส่วนของนครปฐม หรือแม้แต่คนที่อยู่ชายขอบของกรุงเทพฯ อย่างฝั่งธนบุรี หนองจอก ดอนเมือง ที่ต้องจมน้ำนานนับเดือน

คนชายขอบของกรุงเทพฯเหล่านี้ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากความกล้าขัดแย้งกับรัฐบาลของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ที่ทำให้การระบายน้ำไม่สะดวก

บางทีการปราศรัยโดยบิดประเด็นเพื่อเอาดีใส่ตัวโยนชั่วใส่คนอื่นก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะความน่าเชื่อถือขึ้นอยู่กับเครดิตของผู้พูด

คำพูดของคนในพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่วันนี้ถูกมองว่ามีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับเดียวกันกับ ส.ส.วัชระ เพชรทอง ที่หน้าแหกจากการเอารูป น.ส.อามีนา กูล หรือไอซ์ ดารา มาโมเมแถลงข่าวเป็นลูกสาวของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง


ข้อเท็จจริงของรัฐบาลที่บริหารสถานการณ์จนมีคนตาย 99 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน


ข้อเท็จจริงในความเดือดร้อนของคนชายขอบกรุงเทพฯจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ เพราะความไม่ร่วมมืออย่างจริงใจในการแก้ปัญหาของผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์

เหล่านี้ต่างหากคือ ความจริงที่คนกรุงเทพฯ...ต้องรู้

 

วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เปิดแฟ้มลับ…..องค์กร (ลับ) ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา

ตามเหตุการณ์ ทันกระแสโลก
จาก RED POWER ฉบับที่ 33 เดือนกุมภาพันธ์  2556
โดย ทนงศักดิ์ ปิ่นถาวร e-mail: tanongsak.pinthaworn@gmail.com



“ ในค่ำคืนที่มืดมิดและหนาวเย็นของปี 1995 ในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ นาปาร์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ผู้คนกำลังหลับใหล ได้ปรากฏฝูงบินฮอริคอปเตอร์ ลำเลียงขนาดใหญ่ สีดำทะมึนกว่า 10 ลำ แผดเสียงก้องทำลายความเงียบไปอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งหน้าไปสู่เทือกเขาทางทิศใต้ของเมือง ซึ่งฮอริคอปเตอร์ทั้งหมดไม่ได้ติดสังกัด หรือแสดงสัญลักษณ์ว่ามาจากหน่วยงานใด กองทัพ หรือเหล่าไหน …….สิ่งที่เห็นมีเพียงสีดำที่กลืนไปกับความมืดในยามราตรี” นี่คือคำบอกเล่าของชาวเมืองนาปาร์ แคลิฟอร์เนีย ที่ได้เห็นเหตุการณ์ในช่วงไม่ถึง 1 นาที ที่ได้เห็นบนฝากฟ้าบ้านเกิดของตัวเอง…..


 
ตามเหตุการณ์ ทันกระแสโลก ฉบับนี้ขอรับใช้ท่านผู้อ่านด้วยเรื่องราวขององค์กรลับแต่ทรงอิทธิพล ที่มีอำนาจจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ ที่น้อยคนจะรู้จัก ในดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแม่แบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยนั่นคือสหรัฐอเมริกา
 

ครับท่านผู้อ่าน ฉบับนี้ขอรับใช้ท่านด้วย องค์กรลับที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสหรัฐอเมริกา ที่แม้แต่อำนาจประธานาธิบดี และกองทัพอันเกรียงไกรก็ยังไม่อาจเทียบได้ น่านคือองค์กรที่ชื่อว่า ฟีม่า หรือ FEMA ซึ่งย่อมาจากคำว่า Federal Emergency Management Agency หรือแปลเป็นไทยให้เข้าใจได้ง่ายว่า สำนักงานบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติ แต่ไม่ได้มีหน้าที่หรือทำงานเหมือนกับ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. บ้านเรา ที่ประกาศพื้นที่ใช้กระสุนจริง ยิงชาวบ้านนะครับ   ชื่อของ FEMA ก็บอกแล้วว่า เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อ จัดการ บริหารงาน และรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นความฉุกเฉินทุกรูปแบบ ไม่เพียงแต่เหตุการณ์ที่เป็นความฉุกเฉินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศสหรัฐอเมริกาทุกประเภทด้วย โดยมีอำนาจในการบริหาร สั่งการ ดำเนินการ สกัดกั้น และฟื้นฟูต่อภัยพิบัติทุกประเภท ตั้งแต่การจลาจล การก่อการร้าย ไปจนถึงการวางแผนลอบสังหารต่อตัวผู้นำ และเหนือสิ่งอื่นใด ที่ถือว่าเป็นภารกิจและหน้าที่หลักก็คือ การรักษาไว้ซึ่งความต่อเนื่องและคงอยู่ของรัฐบาลกลางสหรัฐ ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะกาล ภายใต้สถานการณ์ใดๆ ก็ตาม บางคนได้พูดถึงหน่วย FEMA นี้ว่าเป็น Secret Government หรือรัฐบาลลับ ของสหรัฐอเมริกา ที่ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน แต่มีงบประมาณเป็นของตัวเองปีละกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ โดยขึ้นตรงต่อ “คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี” โดยมีอำนาจพิเศษที่สูงกว่าสภาคองเกรส และรัฐธรรมนูญของอเมริกา มีอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย มีอำนาจในการโยกย้ายประชากรทั้งหมดจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง มีสิทธิ์ที่จะจับกุม หรือกักขังได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการไต่สวน สามารถปิดล้อมพื้นที่ ควบคุมการส่งเสบียง ควบคุมระบบการจราจร และมีอำนาจในการยับยั้งรัฐธรรมนูญหากฟีม่าพิจารณาเห็นแล้วว่าไม่สามารถอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงาน

        เมื่อได้ทราบกันแบบนี้แล้วว่า ฟีม่า หรือ FEMA  มีอำนาจล้นฟ้า บารมีคับแผ่นดิน ทีนี้เราลองมาดูกันว่า องค์กร หรือหน่วยงานนี้เค้าทำงานกันยังไง มีกฎหมายใดมารองรับ หากเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ฉุกเฉิน” ขึ้นมา
 



ฟีม่า (FEMA - Federal Emergency Management Agency) เป็นหน่วยงานภายรัฐของสหรัฐอเมริกาที่ก่อตั้งขึ้นสำหรับปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อ 1 เมษายน 2522  ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาโดย “คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี” ที่ 12127 ในปี ค.ศ. 1979  (Presidential Executive Order No. 12127 ) โดยก่อตั้งครั้งแรกในสมัยของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ปรับปรุงโครงสร้างในสมัย ประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) และถูกเพิ่มอำนาจและบทบาทมากขึ้นในสมัยประธานาธิบดี โรนัล เรแกน (Ronald Reagan) และประธานาธิบดี จอร์จ บุช (George Bush) ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของ ฟีม่า ตั้งอยู่ในกรุงแอตแลนต้า จอร์เจีย โดยมีสำนักงานย่อยกระจายอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกา แต่กองบัญชาการด้านยุทธศาสตร์ของฟีม่า ตั้งอยู่ที่ฐานที่มั่นลับใต้ดินซึ่งซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขา เมาท์ เวเธอร์ (Mt. Weather) หรือที่รู้จักกันในนาม ศูนย์ควบคุมปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินเวอร์จิเนียตะวันตก (the Western Virginia Office of Controlled Conflict Operations) โดยถูกซ่อนเร้นโดยสิ่งปลูกสร้างที่ดูแสนจะธรรมดา ทุ่งหญ้าเขียวขจี และสภาพแวดล้อมที่ดูสวยสบายตา แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่า สิ่งที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินนั้นคือกองบัญชาการทางยุทธศาสตร์ที่มีความสลับซับซ้อน มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่เจ้าหน้าที่กว่า 1,000 คนสามารถปฏิบัติงาน โดยได้รวมเอาเจ้าหน้าที่และฝ่ายบริหารของกระทรวงทุกกระทรวง ทบวงกรมซึ่งสามารทำงาน อยู่กินและนอนได้เป็นแรมปี โดยไม่ต้องโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดิน โดยมีโรงพยาบาล มีร้านค้า เครื่องผลิตน้ำจืด โรงบำบัดน้ำเสีย และอุปกรณ์สื่อสาร เครื่องตรวจจับสัญญาณที่ทันสมัยและครอบคลุมการสื่อสารแบบทันทีทันใด (real time) ทั่วโลก โดยน้อยคนที่จะรู้จักสถานที่แห่งนี้ แม้แต่วุฒิสมาชิกบางคนก็ยังไม่ทราบว่าสถานที่นี้จะมีอยู่จริง หรืออยู่แห่งหนตำบลใดโดยจุดประสงค์ของตั้งกองบัญชาการนี้อยู่บนสมมุติฐานว่า หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นบนโลก และได้กวาดทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นดินของสหรัฐอเมริกา เมาท์ เวเธอร์ นี้ก็จะกลายเป็นที่พักพิงและปฏิบัติงานชั้นยอดที่รวบรวมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ทุกอย่างสำหรับผู้นำประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับสูงทุกคน


จริงอยู่แม้ว่าฟีม่าจะเป็นที่รู้จักกันในนามของ หน่วยงานบริหารความเสี่ยงและสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีภารกิจในการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย ตามการร้องขอจากรัฐบาลท้องถิ่น แต่นั้นเป็นเพียงภารกิจหนึ่งที่ปกปิดหน้าที่ที่แท้จริงของฟีม่าเอาไว้จากภารกิจลับอีกมากมาย อย่างที่ผมได้เรียนท่านผู้อ่านให้ทราบแล้วตอนต้นว่า จุดประสงค์หลักและถือว่าเป็นความสำคัญสูงสุดของฟีม่าก็คือ การรักษาความอยู่รอด และความต่อเนื่องของรัฐบาลกลางสหรัฐ ไม่ว่าประเทศจะอยู่ในภายใต้ภาวะและสถานการณ์ใด รัฐบาลจะต้องมีตัวแทนและมีสายบังคับบัญชาที่ต่อเนื่องและดำเนินต่อไป ดังนั้นภารกิจหลักของฟีม่าส่วนใหญ่ (ในทางลับ) จะเกี่ยวข้องกับกองทัพ ตำรวจ และหน่วยงานความมั่นคง โดยมีการปฏิบัติเตรียมความพร้อมของ หน่วยทหารต่างๆ เช่น การรบในเมือง การรบในภูเขาและชนบทห่างไกล การควบคุมฝูงชนในเมือง การต่อต้านการก่อการร้าย งานข่าวกรอง การควบคุมการอพยพขนย้ายประชากร การจัดตั้งชุมชนเคลื่อนที่ การเข้าควบคุมโรงไฟฟ้า ควบคุมการจราจร การสัญจรทางทะเล และสั่งการอากาศยาน เอาล่ะครับผมได้รับใช้ท่านผู้อ่านเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และหน้าที่ของฟีม่ามากันพอสมควรแล้ว คราวนี้เราลองมาดูกันว่าอำนาจหน้าที่ของฟีม่าภายใต้การสะบัดปากกาของประธานาธิบดีสหรัฐ ที่รู้จักกันในนามของ “คำสั่งพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐ” หรือ Presidential Executive Order จะมีอำนาจสั่งการเฉพาะกาลอย่างไร จากคำสั่งพิเศษดังกล่าวได้ให้อำนาจ ฟีม่า อย่างมากมายล้นหลามในการปฏิบัติการต่างๆ ในภาวะฉุกเฉิน เราลองมาดูตัวอย่างของ คำสั่งพิเศษเหล่านั้นกันบ้างว่ามีอะไรบ้างที่น่าสนใจ

 คำสั่งพิเศษ ที่10990 (EXECUTIVE ORDER 10990) : อนุญาตให้รัฐบาลกลางจัดการควบคุมการขนส่งทุกประเภท ทั้งทางบก และทางทะเล


คำสั่งพิเศษ ที่  10995  (EXECUTIVE ORDER 10995) : อนุญาตให้รัฐบาลกลางเข้าทำการควบคุมการสื่อสารทุกประเภท


คำสั่งพิเศษ ที่  10997  (EXECUTIVE ORDER 10997):  อนุญาตให้รัฐบาลกลางเข้าควบคุมโรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน และเหมืองแร่ต่างๆ


คำสั่งพิเศษ ที่  10997  (EXECUTIVE ORDER 10998)  : อนุญาตให้รัฐบาลกลางเข้าควบคุมแหล่งอาหาร และฟาร์มต่างๆ ได้


คำสั่งพิเศษ ที่  11000  (EXECUTIVE ORDER 11000) : อนุญาตให้รัฐบาลกลางเข้าควบคุมประชากร และเกณฑ์ไปเพื่อใช้แรงงานตามคำสั่งของรัฐบาลได้


คำสั่งพิเศษ ที่ 11001 (EXECUTIVE ORDER 11001) : อนุญาตให้รัฐบาลกลางเข้าควบคุมสวัสดิการด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา และระบบสวัสดิการอื่นๆ


คำสั่งพิเศษ ที่ 11003 (EXECUTIVE ORDER 11003) : อนุญาตให้รัฐบาลกลางเข้าควบคุมสนามบิน อากาศยาน รวมถึงเครื่องบินพาณิชย์ทุกประเภท

คำสั่งพิเศษ ที่ 11004 (EXECUTIVE ORDER 11004) : อนุญาตให้การเคหะแห่งชาติ และสถาบันการเงินเข้าจัดตั้งชุมชนใหม่ สร้างอาคารหลังใหม่ด้วยงบประมาณแผ่นดิน ละทิ้งพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพื่อก่อสร้างชุมชนใหม่



โดยทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของคำสั่งพิเศษบางข้อที่ผมได้ยกตัวอย่างมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ ซึ่งยังมีคำสั่งพิเศษอีกหลายข้อที่ครอบคลุมการปฏิบัติงาน อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานกลางต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ฟีม่า สามารถออกคำสั่งและขอให้ทำการโอนกำลังทหารทุกหมู่ ทุกเหล่า ทุกสังกัด และระดับบังคับบัญชาร่วมของกองทัพ โดยแต่งตั้งให้นายทหารเข้ามารับผิดชอบเพื่อให้เข้ามาปฏิบัติภารกิจภายใต้คำสั่งของฟีม่าได้ สามารถที่จะสั่งปิดพรมแดนทั้งหมดของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นน่านฟ้า พรมแดนทางทะเล และทางบก และมีสิทธิ์เข้าตรวจสอบเอกสาร ธุรกรรมการเงิน ตลอดจนจดหมายของทุกคนได้ และแม้แต่เอกสารที่เราๆ ทั่วไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน บ้าน และอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ซึ่งถ้าหากอยู่ในบนทางผ่านเส้นทางน้ำ เส้นทางสัญจร หรือในแผนอพยพหรือแผนบริหารความเสี่ยง ทางฟีม่าก็มีสิทธิ์ที่จะยึดคืนเพื่อนำมาเป็นพื้นที่ภายใต้การบริหารและจัดการได้ทันที หากเกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น  

ขั้นตอนการทำงานของ ฟีม่า จะเริ่มจากจะเข้าไปช่วยจัดการเมื่อทางผู้ว่าการรัฐได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและได้แจ้งเรื่องไปยังประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาให้ทาง ฟีม่า ช่วยจัดการกับภัยพิบัติดังกล่าวการประสานงานของ ฟีม่านอกเหนือจากการจัดการและบรรเทาภัยพิบัติแล้วทางฟีม่ายังมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสายวิชาชีพ ครอบคลุมทุกๆ ด้าน ช่วยในการจัดการทั้งทางด้านบูรณะโครงสร้างพื้นฐาน ประสานงานและช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ฟีม่ายังคงมีการจัดอบรมให้กับทางประชาชนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาเพื่อไหร่ ทางฟีม่า มีสิทธิ์และกฎหมายรองรับให้เข้ามาจัดการบริหาร และควบคุมได้ทุกอย่าง ไม่เว้นแต่การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การดำเนินชีวิตประจำวัน แต่เหตุการณ์และการปฏิบัติแบบนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อเกิหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นเท่านั้น

เมื่อได้ทราบที่ไปที่มา ตลอดจนขอบข่ายอำนาจหน้าที่ที่ล้นฟ้าเหนือดินแดนพญาอินทรีแล้ว ผมก็จะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ ฟีม่า ได้เคยปฏิบัติการณ์ หรือถึงขั้นอยู่ในระดับเฝ้าระวังขั้นสูงสุดมาแล้วให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกัน ดังเช่นในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1984 ประธานาธิบดี โรนัล เรแกน ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษที่ 54 อนุญาตใฟ้ฟีม่าจัดการซ้อมปฏิบัติการลับ เพื่อเตรียมความพร้อม ภายใต้รหัส REX 84 โดยทดสอบความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น เช่นการจัดเตรียมกองกำลังทหาร ตลอดจนกองกำลังรักษาดินแดนเพื่อเข้าทำการควบคุมและจัดตั้งสถานกักกันประชากรที่อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายกว่า 400,000 คน โดยจะควบคุมในศูนย์กักกันมากกว่า 10 แห่งในฐานทัพต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และเมื่อปี ค.ศ. 1990 เมื่อสหรัฐอเมริกาได้เข้าสู่สงครามอิรักในปฏิบัติการ “พายุทะเลทราย”  โดยก่อนหน้าที่ประธานาธิบดี จอร์จ บุช จะตัดสินใจบุกอิรักนั้น ทางฟีม่า ได้เริ่มวางแผนการรับมือต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นไว้แล้วโดยไม่จำเป็นที่จะต้องรอคำสั่งหรือการอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่น ที่ปกติแล้วจะมีขั้นตอนการปฏิบัติงานตามสายบังคับบัญชาที่เข้มงวดมากในอดีต โดยได้มีการจัดทำแผนรับมือและประเมินสถานการณ์หากเกิดผลกระทบขึ้นมา เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อ หรือการเดินขบวนและอาจลุกลามไปสู้การจลาจลและสงครามกลางเมือง อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วยุโรปอันเป็นผลมาจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย


สำหรับประเทศไทย เมื่อคราวที่เกิดอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา  กระทรวงการต่างประเทศของไทยก็เคยร้องขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยโดยการจัดส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานบริหารจัดการ สถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติของสหรัฐฯ (Federal Emergency Management Agency : FEMA) หรือหน่วย "ฟีม่า" มาช่วยทางการไทยรับมือกับเหตุน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ  ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของไทยหลังจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินใจส่งทีมผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้คำแนะนำกับไทยในการ วางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศหลาย สำนักระบุว่า  กระทรวงการต่างประเทศของไทย มีความคาดหวังว่า  ประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่จาก "ฟีม่า" ในการรับมือกับภัยพิบัตินานาชนิดในสหรัฐฯ  รวมถึงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของฟีม่า  จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยเหลือรัฐบาลไทยภายใต้การนำของน.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตร ในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตคนไทยไปแล้วอย่างน้อย 283 ราย ขณะที่ประชาชนอีกมากกว่า 2 ล้านคนในเกือบ 30 จังหวัดได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ แม้ในขณะนี้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า  นางเจเน็ต นาโปลิตาโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ  ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของ "ฟีม่า" จะตอบรับคำร้องขอของรัฐบาลไทยหรือไม่อย่างไร




ครับ และนี่ก็คือทั้งหมดเกี่ยวกับองค์กรฟีม่า ที่ภายนอกดูหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย ช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่จริงๆ แล้วมีภารกิจและอำนาจที่ซ่อนเร้น เป็นความลับ โดยมีอำนาจและงบประมาณมากมายเป็นฉากหลัง ซึ่งรัฐบาลสหรัฐก็มีหน่วยงานลักษณะนี้ที่ใช้ชื่อแสนจะธรรมดา ดูไม่เป็นพิษเป็นภัยไม่ว่าจะเป็น องค์การนาซ่า (NASA) ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (CDC) และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า หน่วยงานทั้งหมดนี้เป็นเครือข่ายการปฏิบัติงานภายใต้ ฟีม่า หมด ดังนั้นเมื่อเรามามองเรื่องใกล้ตัวเราโดยเฉพาะรัฐบาลไทย การที่จะขอความช่วยเหลืออะไรจากประเทศสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของเขา เราก็ควรที่จะได้มีคณะทำงานวิเคราะห์และพิจารณาการเข้ามาปฏิบัติงานของหน่วยงานเหล่านี้ เพราะสิ่งที่เราๆ ท่านๆ เห็นและได้อ่านตามบทความและฟังการวิเคราะห์ของนักวิชาการนั้น อาจจะเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งที่เขาต้องการให้เราเห็น แต่สิ่งที่อยู่ใต้น้ำที่ฐานของภูเขาน้ำแข็งล่ะ เราอาจจะไม่เคยได้เห็นและได้รับรู้ ……..ฉะนั้นแล้วผมก็ขอลาท่านผู้อ่าน และจบงานเขียนแนวไซไฟของผมในครั้งนี้แต่เพียงแค่นี้ครับ พบกันใน Red Power ฉบับหน้ากับเรื่องราวในต่างแดนที่ท่านไม่เคยทราบ ไม่ว่าจะลึกลับ เล่นหนซ้อนกลขนาดไหน ผมก็จะไปขุดมารับใช้ทุกท่านครับ สวัสดีครับ

วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ย้อนรอย 22 ปี รสช.วังวนปฏิวัติรัฐประหาร

จาก Black Story voice TV







วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ คณะนายทหาร ที่เรียกตัวเองว่า รสช. นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก ยึดอำนาจจาก นายกรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุผล รัฐบาลร่ำรวยผิดปกติ บุฟเฟ่ต์คาบิเนต จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ชนวนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดจากการที่ประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาลที่มีพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 จนนำไปการปราบปรามและปะทะกันระหว่างทหารกับผู้ชุมนุม ทำให้ผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหายจำนวนมาก
 
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจาก การยึดอำนาจ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมตรี ขณะนำพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก รองนายกรัฐมนตรี ไปเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ขณะโดยสารเครื่องบิน ซี 130 จากท่าอากาศยานทหาร บน. 6
ที่มาของ รสช. เกิดจากกระแสข่าว ปลด นายทหาร นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 5 ออกจากตำแหน่ง จนต้องมีการนัดทานข้าวระหว่างนายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.สุจินดา แกนนำ จปร.รุ่น ที่ 5 ที่เรือนรับรองกองทัพอากาศ ก่อนยึดอำนาจ 5 วัน และเรือนรับรองกองทัพอากาศกลายเป็นสถานที่ขังพลเอกชาติชาย
 
เหตุผลที่ รสช. ใช้อ้าง คือ พฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นรัฐบาล บุฟเฟ่คาบิเนต ร่ำรวยผิดปกติ จากนั้น ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน หรือ คตส. มีพลเอกสิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน เพื่อยึดทรัพย์ของอดีตรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ถึง 10 คน แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ระบุว่า คำสั่งยึดทรัพย์ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย และให้เพิกถอนคำสั่ง วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2536
 
มีการวิเคราะห์ สาเหตุการรัฐประหารของ รสช.มาจากความขัดแย้งที่สั่งสมระหว่างคณะรัฐบาลกับกองทัพ ซึ่งผู้นำกองทัพขณะนั้นคาดหมายว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนรับฟังเมื่อถูกตักเตือน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุการขยายบทบาทของพลเอกสุจินดา พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล และพลเอกวิโรจน์ แสงสนิท ปรารถนาที่จะมีบทบาททางการเมือง แต่ไม่ต้องการตั้งพรรคและลงสมัครรับเลือกตั้ง หากแต่ต้องการขึ้นสู่อำนาจทางอ้อม การรัฐประหารจึงเป็นวิถีทางที่นายทหารเหล่านี้เลือก
 
ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงของการรัฐประหาร ครั้งที่ 11 ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ร้อยละ 5.5 จะมาจากเหตุผลใด แต่ได้กลายเป็นต้นแบบของการยึดอำนาจประชาธิปไตยจากประชาชน ในการรัฐประหาร 19 กันายน 2549 ในอีก 15 ปีต่อมา

งบประมาณประเทศไทยอยู่ตรงไหน?

ข้อมูลจาก ประเทศไทยอยู่ตรงไหน?



การกระจายความเจริญโดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน (การคมนาคมขนส่ง การศึกษา การสาธารณสุข) ไปสู่ระดับภูมิภาคเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงการเพิ่มรายได้ในส่วนภูมิภาค ลดภาระและค่าใช้จ่ายให้กับเมืองหลวงที่แออัด ลดความเสี่ยงเช่นในกรณีที่เกิดมหาอุทกภัยในปีที่แล้ว ช่วยยกระดับแรงงานของประเทศเนื่องจากประชากรส่วนมากของประเทศอาศัยอยู่นอกเมืองหลวง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันและความเป็นธรรมในทางการเมืองอีกด้วย
ธนาคารโลก (World Bank) ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในประเทศไทย [1] ซึ่งมีข้อมูลการกระจายตัวของเงินงบระมาณไปยังภูมิภาคในเชิงเปรียบเทียบกับตัวเลขอื่นๆดังนี้

หากลองเปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆจะได้ว่า

หากเราแทนประชากรในประเทศไทยด้วยคน 100 คน จะเป็นคนในแต่ละท้องที่ดังนี้
กรุงเทพ 17 คน
ภาคกลาง 17 คน
ภาคเหนือ 18 คน
ภาคอีสาน 34 คน
ภาคใต้ 14 คน

หากคนไทยทั้งประเทศทำงานสร้างเงินได้ 100 บาทต่อปี แต่ละภูมิภาคจะสร้างรายได้ดังนี
กรุงเทพ 26 บาท
ภาคกลาง 44 บาท
ภาคเหนือ 9 บาท
ภาคอีสาน 11 บาท
ภาคใต้ 10 บาท

ทุกๆ 100 บาทที่รัฐบาลนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ จะไปให้
กรุงเทพ 72 บาท
ภาคกลาง 7 บาท
ภาคเหนือ 7 บาท
ภาคอีสาน 6 บาท
ภาคใต้ 8 บาท

จะเห็นได้ว่า ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มากระหว่างภูมิภาค หากเราพิจารณารายได้ GDP ต่อประชากรแล้ว จะพบว่าทั้งกรุงเทพฯ และภาคกลางจะมีรายได้ต่อประชากรสูงมาก เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้อาจเป็นเรื่องไม่แปลกใจนักหากเราคำนึงถึงบทความ“เงินร้อยบาทในกระเป๋าคุณมาจากไหน?” [2] ว่ารายได้กว่า 39% ของประเทศมาจากอุตสาหกรรมซึ่งมักจะอยู่ในส่วนภาคกลาง
หากเราพิจารณาส่วนของงบประมาณจากภาครัฐแล้ว จะพบว่าถึงแม้กรุงเทพฯ จะมีประชากร 17% ของประเทศ ทำรายได้ 26% ของ GDP ประเทศ แต่กลับได้รับงบประมาณถึงกว่า 72% ในทางกลับกันภาคอีสานที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศถึง 34% ทำรายได้ 11% แต่กลับได้รับงบประมาณเพียง 6% ของงบประมาณใช้จ่าย

นั่นแปลว่าไม่ว่าจะมองจากมิติของ GDP หรือมิติด้านจำนวนประชากร การจัดสรรงบประมาณรัฐยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก ซึ่งหลักการจัดสรรงบประมาณอย่าง“เป็นธรรม” นั้นขึ้นกับหลักคิดพื้นฐานว่าอะไรคือความเท่าเทียม/ยุติธรรม

บางคนเชื่อว่าหากเราต้องการเห็นพัฒนาที่เท่าเทียมกันมากขึ่น เราควรช่วยเหลือภูมิภาคที่มี GDP น้อยให้มากขึ้น เพื่อให้ภูมิภาคเหล่านั้นสามารถพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของความเจริญและการดึงดูดประชากร นอกจากนั้นสภาพงบประมาณที่ไม่สมสัดส่วนเช่นนี้มีแต่จะซ้ำเติมปัญหาการกระจุกตัวของความเจริญในกรุงเทพ ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงที่สูงมากหากเกิดภัยพิบัติ และยังจะยิ่งทำให้ต้นทุนการบริหารเมืองสูงขึ้นไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด (เมืองยิ่งแออัด ก็ยิ่งบริหารจัดการยาก ต้นทุนสูง)
ในทางกลับกัน บางคนอาจเชื่อว่าความเป็นธรรมหมายถึงการจัดสรรเงินให้พื้นที่ซึ่งสามารถ “เอาเงินไปต่อเงิน” ได้ดีกว่าเพื่อเพิ่ม GDP ให้มากขึ้นในภาพรวม (ซึ่งหมายถึงการสร้างงาน และการพัฒนาประเทศที่มากกว่าแบบแรก) อีกทั้งค่าครองชีพของเขตเมืองกับชนบทก็แตกต่างกัน การลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า (คมนาคม การศึกษา สาธารณสุข) ดังนั้นก็ย่อมเป็นธรรมดาที่เขตเมืองเช่น กทม. ย่อมสมควรได้รับงบประมาณมากกว่า

นิยามของ “ความเป็นธรรม” ดูจะเป็นสิ่งทีสังคมไทยต้องถกเถียงค้นหาคำตอบร่วมกันต่อไป แต่ที่แน่ๆคือปัญหาการกระจุกตัวของเมืองใหญ่อย่าง กทม. นั้นคือระเบิดเวลาที่รอการแก้ไขอย่างจริงจังและมีแต่จะย่ำแย่ลงทุกปี

วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วาทกรรม ชกลม กรณี เผาบ้าน เผาเมือง วาทกรรม อำพราง

ที่มา: มติชนรายวัน 22 ก.พ.2556



ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรพยายามลากดึงเอากรณี "เผาบ้าน เผาเมือง" มาเป็นประเด็นในการหาเสียงโจมตีพรรคเพื่อไทยและ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ มาตั้งแต่ต้นมือ

เริ่มจากเฟซบุ๊กของวอลเปเปอร์ นายศิริโชค โสภา

ตามมาด้วยเฟซบุ๊กของโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อย่างเอาการเอางาน

ยิ่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยิ่งไม่เคยเหน็ดหน่าย

ไม่ว่าบนเวทีที่สุเหร่าแดง ไม่ว่าบนเวทีที่วงเวียนใหญ่ เบื้องหน้าพระพักตร์ พระเจ้าตากสิน ล้วนโหมประโคมในเรื่องคนเสื้อแดง

เช่นเดียวกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เน้นอย่างหนักแน่นเรื่อง "เสียกรุง"

อันเท่ากับเป็นการเสียกรุงให้กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เสียกรุงให้กับพรรคเพื่อไทย ในที่สุดแล้วก็เสียกรุงให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แปลกที่ไม่มีเสียงตอบโต้

ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่างเงียบมิดอิมซิม

กล่าวสำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน อาจมิใช่แนวถนัด

นี่เป็นเช่นเดียวกับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ

ไม่ว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สันทัดในการเดินพบปะประชาชน แย้มยิ้มโอภา

นำเสนอแนวทางจะทำอย่างไรให้ กทม.เจริญรุดหน้า มีความสุข

นี่ย่อมแผกต่างไปจากท่วงทำนองตอบโต้ทุกเม็ด ไม่ปล่อยให้ใครเอาเปรียบของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่คราวนี้กลับไม่ตอบโต้อะไรเลย

พูดตามภาษามวยจีน ไม่ว่าจะมองจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมองจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าจะมองจาก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ปฏิบัติการไม่ตอบโต้เช่นนี้ย่อมทำให้ฝ่ายของพรรคประชาธิปัตย์เสียแรงเปล่า

เท่ากับชกลม เท่ากับวืด

ตรงกันข้ามหากมองจากสายตาประชาชน ที่ปรากฏผ่านโพลทุกสำนัก คะแนนความนิยมของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ กลับมาแรงแซงขึ้นหน้าและทิ้งห่างคะแนนความนิยมของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มากขึ้น

มากขึ้นจากการไม่ตอบโต้

ไม่มีใครรู้เหตุผลของพรรคเพื่อไทยว่า เหตุปัจจัยอะไรจึงไม่ตอบโต้วาทกรรม "เผาบ้านเผาเมือง" อันมาจากพรรคประชาธิปัตย์

เหตุผล 1 อาจมาจากมิได้เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย

ยิ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งยากที่จะให้คำอรรถาธิบาย เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ซึ่งรับราชการอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จึงแทบไม่มีคำอธิบาย

หรือถึงมีคำอธิบายก็ไม่น่าจะต้องตรงกับความต้องการในทางอัตวิสัยของพรรคประชาธิปัตย์อย่างครบถ้วน

พูดไปก็สองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง

เหตุผล 1 อาจมาจากสภาวะที่คลี่คลายขยายตัวของสภาพของเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ในความรับรู้ของประชาชน

ศาลได้ให้คำวินิจฉัยสาเหตุการตายแต่ละศพออกมาเป็นลำดับว่าตายเพราะคำสั่งใคร

การพิจารณาคดีในศาลมีความคลี่คลายว่าใครเป็นใครในเซ็นทรัล เวิลด์ และที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ บอกว่าไม่มีทหารบนรางรถไฟฟ้าบริเวณวัดปทุมวนาราม ทหารก็ออกมารับในศาลเองว่ามีและมีการยิงจริง

ความจริงต่างหากคือคำตอบ

ยังไม่มีใครสรุปได้ว่าวาทกรรม "เผาบ้านเผาเมือง" จะสร้างหรือทำลายคะแนนพรรคประชาธิปัตย์

คำตอบ 1 สัมผัสได้ผ่านโพลไม่ว่าจะเป็นนิด้า ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

คำตอบ 1 คือผลจากวันที่ 3 มีนาคม

แฉ! ขุมอำนาจ ใคร? ครอบงำธุรกิจพลังงาน

ข้อมูลจาก thaipublica.org

 
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2555 นายนพนันท์ วรรณเทพสกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนองานวิจัยหัวข้อ บริษัทกึ่งรัฐวิสาหกิจกึ่งเอกชน อำนาจและอิทธิพลในการสร้างความยิ่งใหญ่ของทุนพลังงานไทย หลังวิกฤติ 2540 ต่อที่ประชุมในเวทีสัมมนาทางวิชาการ ซึ่งจัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานวิจัยชิ้นนี้อธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจพลังงาน ในช่วงปี 2549-2555 โดยมีการยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจพลังงาน กรณีของการใช้เครือข่ายอำนาจรัฐเข้ามาแสวงหาประโยชน์ มานำเสนออย่างเป็นรูปธรรม

นายนพนันท์กล่าวว่า หลังวิกฤติปี 2540 เป็นต้นมา องค์กรที่มีลักษณะกึ่งรัฐ-กึ่งเอกชน เริ่มแตกกิ่งก้านสาขา อย่างกรณีของบริษัท ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แตกบริษัทลูก บริษัทหลาน เข้ามาครอบคลุมธุรกิจพลังงานอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำรัฐประหารในปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ทำให้กลุ่มธุรกิจพลังงานมีอำนาจและอิทธิพลสูงมากต่อการกำหนดนโยบายพลังงาน

การแผ่อิทธิพลผ่านเครือข่ายดังกล่าวนี้มีกระบวนอย่างไร ต้องทำความเข้าใจโครงสร้างของกิจการพลังงานก่อน เริ่มจากเครือข่ายธุรกิจของกลุ่ม ปตท.

บริษัท ปตท. มี 2 บทบาท โดยบทบาทแรกเป็นรัฐวิสาหกิจ มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 51% ส่วนอีกด้านหนึ่งมีฐานะเป็นบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปตท. จึงมีฐานะเป็นทั้งองค์กรกึ่งรัฐ-กึ่งเอกชน


จากนั้น บริษัท ปตท. แตกกิ่งก้านสาขาไปถือหุ้นบริษัทลูกอีกหลายบริษัท เช่น ถือหุ้นบริษัท ปตท.สผ. 65.29%, ถือหุ้นบริษัทพีทีที โกลบอล เคมีคอล 48.92% และถือหุ้นบริษัทไทยออยล์ 49.10%

ถัดจากบริษัทลูก ก็แตกเป็นบริษัทหลาน เช่น บริษัท ปตท. ร่วมกับบริษัทพีทีที โกลบอล เคมีคอล แตกแขนงออกไปถือหุ้นบริษัท พีทีที ฟีนอล ทำธุรกิจปิโตรเคมี, บริษัท ปตท. ร่วมกับบริษัท พีทีที ฟีนอล เข้าไปถือหุ้นบริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้า, บริษัท ปตท. ร่วมกับไทยออยล์พาวเวอร์ ถือหุ้นบริษัทผลิตไฟฟ้าอิสระ เป็นต้น

ขณะที่กลุ่ม กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% กฟผ. ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.) แต่ไปถือหุ้น บจ. 2 แห่ง คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งไปลงทุนทำธุรกิจที่แท้จริง จากนั้นก็แตกลูกแตกหลานออกไปอีก เช่น EGCO ไปถือหุ้นอยู่ในบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก

งานวิจัยระบุว่า องค์กรกึ่งรัฐ-กึ่งเอกชนจะได้รับสิทธิพิเศษ 2 รูปแบบ หรือ 2 ออปชั่นให้เลือกใช้ได้ในยามคับขัน คือ สิทธิประโยชน์จากความเป็นรัฐวิสาหกิจ และสิทธิประโยชน์จากการเป็นบริษัทเอกชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ

สิทธิประโยชน์จากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ กู้เงินจากแหล่งต่างๆ มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน, เมื่อเกิดข้อพิพาทถูกดำเนินคดีในชั้นศาล มีอัยการสูงสุดเป็นผู้จัดทำคำแก้ต่าง และเมื่อมีปัญหาประเด็นข้อกฎหมาย มีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่ปรึกษา

ส่วนสิทธิพิเศษด้านประโยชน์จากการเป็นบริษัทเอกชน คือ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับกระทรวงการคลัง แถมยังได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ นี่คือสิทธิประโยชน์ที่บริษัทกึ่งรัฐ-กึ่งเอกชนจะได้รับ

สำหรับการใช้อำนาจผ่านระบบข้าราชการและทางการเมืองในธุรกิจกลุ่มพลังงานมี 2 รูปแบบ คือ 1. เป็นอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ กำหนดกฎเกณฑ์ หรือ ออกใบอนุญาตตามกฎหมาย 2. ใช้อำนาจและอิทธิพลผ่านเครือข่ายข้าราชการ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย หรือโครงการที่ต้องการ



แจงเครือข่ายข้าราชการครอบงำกิจการพลังงาน

โครงสร้างการใช้อำนาจรัฐกำกับดูแลกิจการพลังงาน ปัจจุบันมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กระทรวงพลังงาน โดยข้าราชการระดับสูงกระทรวงพลังงานเข้าไปนั่งเป็นกรรมการ กำหนดนโยบายพลังงานของประเทศทุกชุด อาทิ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.), คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.), คณะกรรมการจัดวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2010)

นอกจากนี้ยังดึงข้าราชการระดับสูงจากส่วนราชการอื่นมาร่วมเป็นกรรการด้วย เช่น คณะกรรมการจัดวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ), ผู้ว่าการ กฟผ., กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เป็นกรรมการ

ส่วน กพช. ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีเลขาธิการกฤษฎีกา, เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ นั่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ขณะที่ กบง. มีเลขาธิการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ นั่งเป็นกรรมการ ร่วมกับปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องอีกหลายกระทรวง


ปลัดพลังงาน-ผอ.สนพ. ผู้กุมเครือข่ายตัวจริง

งานวิจัยระบุว่า หากพิจารณาลงไปในรายละเอียด ตั้งแต่คณะกรรมการระดับชาติไปจนถึงคณะกรรมการระดับกระทรวง อาทิ กบง. คณะกรรมการปิโตรเลียม คณะกรรมการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมพลังงานทดแทน ฯลฯ เครือข่ายทั้งหมดนี้ จะพบว่ามีปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการทุกชุดที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และกำกับดูงานกิจการพลังงาน
นอกจากนี้ ยังมีการกระจายอำนาจไปยังระดับอธิบดีกรมสำคัญๆ อีกหลายหน่วยงาน เช่น อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นั่งเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการปิโตรเลียมแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจอนุมัติสัมปทานสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมให้กับภาคเอกชน รวมถึงมีอำนาจลดหย่อน หรือกำหนดค่าภาคหลวง ขณะที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน นั่งเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง มีอำนาจออกใบอนุญาตจัดตั้งคลังน้ำมันเชื้อเพลิง และการขนส่งน้ำมันผ่านท่อ เป็นต้น


รายงานวิจัยชี้ว่า อำนาจในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล ตกอยู่ในมือของกลุ่มข้าราชการระดับสูงในสังกัดกระทรวงพลังงาน เช่น กพช. กำกับดูแลกิจการพลังงาน, คณะกรรมการปิโตรเลียม มีอำนาจอนุมัติสัมปทานปิโตรเลียม เป็นต้น

ส่วนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชื่อก็บอกว่ากำกับกิจการพลังงานทั้งหมด แต่ข้อเท็จจริงมีอำนาจแค่กำหนดอัตราค่าผ่านท่อก๊าซและค่าไฟฟ้าเท่านั้น ส่วนเรื่องการจัดหาก๊าซและน้ำมันดิบไปจนถึงปลายทางคือโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำมาจนถึงปลายน้ำ กกพ. ไม่มีอำนาจเข้าไปกำกับดูแล เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติเอาไว้ ธุรกิจก๊าซจึงเกิดการผูกขาดโดยธรรมชาติมาจนถึงปัจจุบัน

งานวิจัยระบุต่อว่า หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 พบว่ามีข้าราชการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ไปสนับสนุนกิจกรรมของภาคเอกชนอยู่หลายรายการ เช่น ก่อนที่จะมีการจัดตั้ง กกพ. ตาม พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน 2550 ขณะนั้นธุรกิจท่อส่งก๊าซอยู่ในการกำกับดูแลของ สนพ. โดย สนพ.ได้มีการจัดทำคู่มือคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ และอัตราค่าบริการขนส่งก๊าซธรรมชาติ ต่อมาได้มีการอนุมัติให้มีการปรับขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซ ทำให้บริษัท ปตท. มีกำไรเพิ่มขึ้นทันที เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในช่วงจังหวะที่ ปตท. กำลังถูกดำเนินคดีในศาลปกครอง กรณีคัดค้านการแปรรูปบริษัท ปตท. และศาลยังไม่มีคำพิพากษาออกมา

และในปีเดียวกันนี้เอง มีการใช้อำนาจรัฐเกิดขึ้นอีกหลายรายการ เช่น กรณี กกพ. ก็มีมติให้ขยายอายุการใช้งานของท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซ ทำให้ราคาจำหน่ายก๊าซ ณ โรงแยกก๊าซปรับตัวสูงขึ้น ถัดมาก็เป็นกรณี สนพ. อนุญาตโครงการขนส่งน้ำมันผ่านระบบท่อไปยังภาคเหนือและภาคอีสาน พร้อมกับให้ ปตท. เพิ่มทุนในบริษัทแทปไลน์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานขนส่งน้ำมันในบริเวณนั้น

สำหรับบริษัท ปตท. แม้แปรรูปมานานกว่า 10 ปี แต่ที่รายงานวิจัยฉบับนี้เลือกนำเสนอเฉพาะกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2550-2555 เนื่องจากช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีการใช้อำนาจหน้าที่ของทางราชการ เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ธุรกิจพลังงานมากที่สุด นอกจากประเด็นที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีหลายตัวอย่าง เช่น กรณีการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จ่ายเงินชดเชยให้กับโรงกลั่นน้ำมันที่ผลิตน้ำมันดีเซล และเบนซินตามมาตรฐานยูโร 4, นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชดเชยเอ็นจีวีอย่างไม่เหมาะสม และกรณีการนำเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้รับประโยชน์ตามไปด้วย

และนี่คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ที่เกิดขึ้นของผู้บริหารหน่วยงานกำกับดูแลกิจการพลังงาน

ผลประโยชน์ทับซ้อน-ข้าหลวงพลังงานสวมหมวก 2 ใบ

นอกจากนี้ รายชื่อข้าราชการระดับสูงที่ไปนั่งเป็นคณะกรรมการกำหนดนโยบายและกำกับกิจการพลังงานตามที่กล่าวมาในข้างต้น ไม่ได้มีบทบาทตามตำแหน่งหน้าที่เฉพาะในหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น เครือข่ายข้าราชการเหล่านี้ ยังไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทพลังงาน ยกตัวอย่าง ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการอยู่ใน กพช., กบง. และเป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงแผนพีดีพี โดยตำแหน่งหน้าที่ ขณะเดียวกันก็ไปนั่งประธานกรรมการ บริษัท ปตท. และเป็นกรรมการใน กฟผ. ส่วนผู้อำนวยการ สนพ. เป็นกรรมการใน กพช.และ กบง. อีกฝากหนึ่งก็ไปนั่งเป็นกรรมการ กฟผ. อธิบดีกรมในสังกัดกระทรวงพลังงาน ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน

ปรากฏการณ์ผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างบทบาทรัฐกับบทบาทภาคเอกชนมีให้เห็นอีกหลายตัวอย่าง แม้กระทั่งส่วนราชการอื่นที่ถูกดึงเข้ามาร่วมกำหนดนโยบาย ก็มีปัญหาในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นเดียวกัน อาทิ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ เป็นกรรมการ กพช.และ กบง. ขณะเดียวกันก็ไปนั่งเป็นกรรมการ ปตท. ด้วย


รายงานวิจัยระบุว่า ในสมัยนายพรชัย รุจิประภา เป็นประธานคณะกรรมการ กบง. โดยตำแหน่ง คณะกรรมการ กบง. มีมติให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันไปลงทุนปลูกปาล์มน้ำมัน หรือการนำไปอุดหนุนในน้ำมันอี 20 และ อี 85 ขณะที่หมวกอีกใบหนึ่งของนายพรชัยในขณะนั้นคือนั่งเป็นกรรมการ บริษัท ปตท. ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 คณะกรรมการ ปตท. มีมติให้จัดตั้งบริษัท กรีน เอ็นเนอยี่ ที่มี ปตท. ถือหุ้น 100% ไปลงทุนในธุรกิจปาล์มน้ำมัน

ถัดมาเป็นกรณีของนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน กพช. และประธานคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 กพช. มีมติเห็นชอบแผนพีดีพี 2010 ในเวลาต่อมา คณะกรรมการ ปตท. ก็อนุมัติให้กลุ่มบริษัท ปตท. จัดตั้งบริษัท บี.กริม เอนเนอจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด แล้วไปร่วมทุนกับ สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จำกัด (BIP) กลายเป็นบริษัท บี.กริม บีไอพี เพาเวอร์ จำกัด ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง แสดงให้เห็นว่ามีการใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกื้อหนุนกับบริษัทเอกชนที่ตนทำงานอยู่ให้สามารถขยายการลงทุนได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2550 ช่วงนั้นมีการผลักดันให้ติดตั้งระบบผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน พร้อมกับจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการ ตัวละครเอก คือ อธิบดีกรมธนารักษ์ ซึ่งสวมหมวกถึง 3 ใบ กล่าวคือ หมวกใบแรกนั่งเป็นกรรมการการไฟฟ้านครหลวง หมวกใบที่ 2 นั่งเป็นกรรมการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ เมื่อเปลี่ยนไปสวมหมวกใบที่ 3 ก็นั่งเป็นกรรมการบริษัท ปตท. หลังจากที่คณะกรรมการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ บรรจุโครงการติดตั้งระบบผลิตพลังงานความร้อนฯ เข้าไปอยู่ในโครงการศูนย์ราชการ วันที่ 26 ตุลาคม 2549 คณะกรรมการ ปตท. ก็มีมติให้ ปตท. ทำโครงการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จากนั้นวันที่ 20 มิถุนายน 2550 คณะกรรมการ ปตท. มีมติให้จัดตั้ง บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด หลังจากก่อตั้งบริษัทเสร็จเรียบร้อย ก็เข้ามารับงานในโครงการนี้ โดยไม่ต้องมีการประมูล หรือประกวดราคาแต่อย่างใด

รายงานวิจัยได้ชี้อีกว่า นับตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2554 ในระดับนโยบายของรัฐบาล ได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับพลังงานหลายฉบับ อาทิ ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 ทำให้เกิดค่าลดหย่อนค่าภาคหลวงปิโตรเลียม รวมถึงการอนุมัติแปลงสัมปทานใหม่ๆ โดยไม่จำกัดแปลงสำรวจให้กับธุรกิจพลังงานหลายกลุ่ม และในปีเดียวกันนั้น ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐาน สำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5 และ 6) พ.ศ. 2550 เพื่อเปิดทางให้ข้าราชการระดับสูงไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจได้หลายแห่งโดยไม่ผิดกฎหมาย แต่มีข้อแม้ว่า แต่งตั้งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทแม่ก่อน จากนั้นคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจถึงจะส่งชื่อไปนั่งในบริษัทลูกที่เป็นเครือข่ายได้

ต่อมาในช่วงปี 2552-2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศประเภทโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งในด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพจำนวน 11 รายการ กรณีนี้เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง เหตุการณ์ได้บานปลายไปจนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับโครงการลงทุน 76 โครงการ เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคดี


สำหรับกรณีตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะเป็นกรณีที่มีการใช้อำนาจทางการเมือง ผสมผสานกับเครือข่ายข้าราชการ ในระดับรัฐบาล ปี 2550 หลังจาก ครม. เห็นชอบแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฉบับที่ 3 กระทรวงพลังงานได้ออกมาตรการมารับลูกต่อทันที ด้านหนึ่งทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยตรึงราคาพลังงาน อีกด้านหนึ่งทำให้มีเงินไหลออกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงส่งไปให้ธุรกิจพลังงาน และบางครั้งจ่ายชดเชยมากเกินสมควร

ขณะเดียวกันในระดับของบริษัทกึ่งรัฐ กึ่งเอกชน คณะกรรมการของบริษัทเหล่านี้ ก็ทยอยออกมติให้มีการขยายลงทุนในโครงการต่างๆ หลายโครงการ ยกตัวอย่าง กลางปี 2550 หลังจากที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเสร็จ กระทรวงพลังงานก็ชงเรื่องให้ ครม. อนุมัติลดหย่อนค่าภาคหลวงปิโตรเลียม พร้อมกับมอบอำนาจให้กระทรวงพลังงาน มีอำนาจขยายอายุแหล่งสัมปทาน ต่อมากระทรวงพลังงานก็ดำเนินการออกสัมปทานปิโตรเลียมให้กับแหล่งปิโตรเลียม 4 ฉบับ

ขณะที่ในระดับของกลุ่มข้าราชการ ที่ไปนั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการปิโตรเลียม ได้ทำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แนะนำให้โอนอำนาจในการสำรวจ และกำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจไปให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จากนั้นบริษัท ปตท.สผ. ก็ได้รับแปลงสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยหลายแปลง พร้อมกับมีการลงนามในสัญญาซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติระหว่างบริษัท ปตท. กับ ปตท.สผ ต่อมามีการนำประเด็นเรื่องอำนาจในการอนุมัติระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฉบับที่ 3 มาอ้างอิงกับแผนพีดีพี 2510 ในที่สุดแผนการลงทุนในกิจการท่อส่งก๊าซของ ปตท. มูลค่า 1 แสนล้านบาท ก็ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล ทำให้บริษัท ปตท. สามารถปรับขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซ ส่วน กฟผ. ได้ขึ้นค่าไฟฟ้า
กลุ่มธุรกิจพลังงานขยายการลงทุนอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดอดทนต่อปัญหาขยะมลพิษอุตสาหกรรมไม่ไหว รวมตัวกันมายื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ให้ระงับโครงการลงทุนปิโตรเคมี ไฟฟ้า ท่อส่งก๊าซ และกิจกรรมอื่นๆ รวม 76 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการของกลุ่มบริษัท ปตท. 24 โครงการ ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจปิโตรเคมี เช่น กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย กลุ่มธนาคารกรุงเทพ โครงการของนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

เปิดกระบวนการปลดล็อคคดีมาบตาพุด

รายงานวิจัยกล่าวถึงกรณีของมาบตาพุดว่า มีการใช้อำนาจการเมืองผสมผสานเครือข่ายอำนาจของข้าราชการ หากดูตามแผนภาพที่นำเสนอจะมี 5 ขั้นตอนดังนี้ คือ

ขั้นตอนที่ 1 กลุ่มธุรกิจของ ปตท. และ กฟผ.ให้ความเห็นทางเทคนิคต่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดประเภทกิจการว่า โครงการประเภทไหนที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน

ขั้นตอนที่ 2 กระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ส่งไปคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ขั้นตอนที่ 3 จากนั้นทำเรื่องส่งไปหารือข้อกฎหมายกับคณะกรรมการกฤษฎีกา

ขั้นตอนที่ 4 คณะกรรมการกฤษฎีกา แนะนำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ ซึ่งเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำรายชื่อโครงการที่อาจจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง ส่งมาที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อออกประกาศรายชื่อโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

และขั้นตอนสุดท้าย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นำประกาศรายชื่อ 11 โครงการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง อุทธรณ์ต่อศาลปกครองยกฟ้อง และในที่สุด ศาลปกครองมีคำสั่งปลดล็อคให้ 74 โครงการ จากทั้งหมด 76 โครงการ ทั้งหมดเป็นกระบวนการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มข้าราชการ กลุ่มธุรกิจพลังงาน และกลุ่มมวลชนที่เดือดร้อนจากปัญหามลพิษอุตสาหกรรม ต้องสู้กันในเรื่องของความรู้ การกำหนดนิยามว่าการลงทุนประเภทไหนที่จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ตามประกาศฯ ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น หากมีการขยายกำลังการผลิตเกิน 35% ของกำลังการผลิตเดิม จะต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างเข้มงวดกว่าปกติ (H.I.A.) แต่การลงทุนของบริษัทพลังงาน ณ ขณะนั้นมีกำลังผลิตแค่ 20% เท่านั้น ทุกโครงการจึงไม่เข้าข่าย ตามประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดนิยามว่า หากมีการขยายกำลังการผลิตเกิน 100 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 ถือเป็นกิจการที่มีผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ส่วนกรณีที่เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2A ต้องขยายกำลังการผลิตเกิน 700 ตันต่อวัน ถึงจะอยู่ในข่าย

ปรากฏว่าบริษัทพีทีที อาซาฮี เคมีคอล และบริษัทพีทีที ฟีนอล ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนั้น เป็นกลุ่มที่ผลิตสารเคมีก่อมะเร็งกลุ่ม 2A มีกำลังการผลิตไม่เกิน 200 ตันต่อวัน โครงการลงทุนปิโตรเคมีของ ปตท. จึงไม่เข้าข่ายประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นี่คือประเด็นข้อสงสัย ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติไม่อยู่ในประกาศโครงการที่ต้องทำ H.I.A.

ปลัดพลังงานรวยเละ! รับค่าตอบแทนสูงกว่าเงินเดือน 4.5 เท่า

รายงานวิจัยได้ชี้ถึงเรื่องผลประโยชน์ จากการที่เครือข่ายข้าราชการไปนั่งทับซ้อนกันอยู่ในองค์กรรัฐกับองค์กรเอกชน โดยหมวกใบหนึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรภาครัฐ ส่วนอีกใบเป็นกรรมการบริษัทเอกชน ซึ่งงานวิจัยได้ทำการสำรวจในช่วงปี 2549-2552 กระทรวงพลังงานมีการเปลี่ยนแปลงปลัดกระทรวงถึง 3 คน โดยในปี 2549 นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน นั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจและเอกชนรวม 7 แห่ง ซึ่งต่อมาในช่วงปี 2551-2552 กระทรวงการคลังมีการแก้ไขระเบียบการเป็นตัวแทนในรัฐวิสาหกิจ จึงยอมลดลงมาเหลือแค่แค่ 3 ตำแหน่ง ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับปรับตัวลดลงเล็กน้อย



หากนำผลตอบแทนค่าเบี้ยประชุมและเงินโบนัสที่ได้รับ จากการไปนั่งเป็นกรรมการในกลุ่มธุรกิจพลังงาน คำนวณ ณ ปี 2552 พบว่า ปลัดกระทรวงพลังงานมีรายได้สูงกว่าเงินเดือนข้าราชการรวมค่าตำแหน่งถึง 4.5 เท่าตัว

นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งปันผลประโยชน์ กระจายไปยังกลุ่มข้าราชการระดับสูง ทั้งข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมนอกกระทรวงพลังงานกันอย่างทั่วถึง เช่น ค่าตอบแทนกรรมการที่ไปนั่งเป็นกรรมการ บริษัท ปตท. เคมีคอล ประมาณ 2.75 ล้านบาทต่อคน กรรมการบริษัทราชบุรีโฮลดิ้งประมาณ 1.15 ล้านบาทต่อคน ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จะมีข้าราชการมานั่งเป็นกรรมการในบริษัทกึ่งรัฐ-กึ่งเอกชนเหล่านี้ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป คนเก่าออก คนใหม่มาสวมแทน เสมือนเป็นส่งไม้ต่อสืบทอดอำนาจกันต่อไป


รายงานวิจัยสรุปว่า การเข้ามาครอบงำธุรกิจพลังงาน ไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 เท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสีไหน (แดง สีเหลือง ฟ้า) เข้ามาบริหารประเทศ ก็จะมีการใช้อำนาจทางการเมืองผสมผสานกับอำนาจของข้าราชการ เข้ามาเกื้อหนุนให้ธุรกิจพลังงานขยายตัวเติบใหญ่ต่อไป