Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

บทสรุป คอป. เสียเวลาเปล่า

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 378 วันที่ 22-28 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 16-17 คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย วัฒนา อ่อนกำปัง



นายนิสิต สินธุไพร ผู้อำนวยการโรงเรียน นปช. แดงทั้งแผ่นดิน รับไม่ได้กับรายงานสรุปของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เพราะรายงานดังกล่าวเป็นเพียงความเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่งการสอบสวนข้อเท็จจริงต้องการหาคนผิดที่สั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษ แต่หาไม่เจอเพราะมีสาเหตุดังนี้

******************************

มองการวินิจฉัยกรณีนายพัน คำกอง อย่างไร

เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลชี้ออกมาว่ากรณีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งชัดเจนว่าการชุมนุมที่ผ่านมาเป็นการชุมนุมโดยสงบภายใต้หลักสันติวิธี แต่มีการกล่าวหาว่าการตายของพี่น้องทั้ง 98 ศพ เพราะฆ่ากันเอง หรือเพราะชายชุดดำ หรือเพราะเหตุอื่น ซึ่งเป็นการกล่าวหากลุ่มคนเสื้อแดงมาโดยตลอด

เมื่อมีการวินิจฉัยของศาลวันนี้เห็นชัดเจนว่าเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่มีการนำเรื่องต่างๆไปไต่สวนจนได้ข้อสรุปจากคำสั่งศาล การตัดสินครั้งนี้ถือเป็นคดีแรก และยังมีอีกหลายคดีที่กำลังรอการพิจารณาจากศาล ซึ่งพี่น้องประชาชนบางส่วนดำเนินการฟ้องร้องเองทั้งทางแพ่งและอาญากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

ส่วนกรณีการเผาศาลากลางและห้างเซ็นทรัลเวิลด์นั้นสร้างความคลางแคลงใจให้กับประชาชน เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากบรรดาแกนนำเข้ามอบตัวแล้ว ดังนั้น เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงต้องดำเนินการสอบสวนอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ได้ความจริงมากที่สุด ซึ่งผมเชื่อว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างยุติธรรมกับประชาชน และให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ที่ผ่านมากลุ่มคนเสื้อแดงรวมถึงแกนนำถูกกระทำมากกว่า ทุกคนที่ถูกฆ่าพบว่ากระสุนพุ่งไปที่หน้าผากและหัวใจ ถือว่าคนยิงเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ประชาชนทั่วไปแน่นอน ส่วนเหตุการณ์ในวัดปทุมฯยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งยังไม่ทราบข้อสรุป แต่น่าจะคล้ายกับกรณีของนายพัน คำกอง

ความจริงกำลังไล่ล่าใคร

อาจกล่าวได้ว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการสอบสวนและการเปิดเผยความจริงของการสังหารประชาชนในการเรียกร้องทางการเมือง เพราะตั้งแต่อดีตไม่เคยมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 6 ตุลา หรือ 14 ตุลา แต่ละครั้งที่พี่น้องประชาชนเสียชีวิตจะต้องมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงโดยกระบวนการยุติธรรม ครั้งนี้ไม่ใช่การไล่ล่า แต่เป็นการค้นหาความจริง และดำเนินคดีกับผู้สั่งการให้ใช้กำลังปราบปรามประชาชน

มองรายงานของ คอป. อย่างไร

ต้องไม่ลืมว่าการดำเนินการของ คอป. เป็นการดำเนินการตามคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ และคนที่ปฏิบัติการก็ไม่ใช่ศาล ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่ทำการสืบสวนสอบสวน เราเคารพความเห็นของ คอป. แต่ไม่ยอมรับรายงานฉบับดังกล่าว เพราะจากการอ่านรายงานพบว่ามีนัยทางการเมืองแอบแฝงอยู่ และไม่เป็นกลางทางการเมือง คณะกรรมการชุดนี้ใช้เวลาพิจารณากว่า 2 ปี แต่การสืบสวนสอบสวนค่อนข้างหละหลวม ไม่เป็นไปตามหลักกระบวนการยุติธรรม รายงานของ คอป. จึงถือว่าเป็นความเห็น เป็นข้อสังเกต ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง

ชายชุดดำมีอยู่จริงหรือไม่

กรณีชายชุดดำเป็นเพียงข้อกล่าวหา แต่กระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และอัยการ ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้เห็นว่าขณะนี้ชายชุดดำยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าคือใคร แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่สามารถดำเนินการจับชายชุดดำได้เลยแม้แต่คนเดียว จนกระทั่งหมดอำนาจไปก็ยังมีการใช้วาทกรรมเรื่องชายชุดดำมาเป็นเกราะป้องกันตัวเอง รวมทั้งกล่าวหาว่าการตายที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจากกระทำของชายชุดดำ ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้กระบวนการตรวจสอบและหาความจริงดำเนินการต่อไปจนกว่าจะได้ข้อเท็จจริงว่าชายชุดดำคือใคร และใครกันแน่ที่เป็นคนก่อกำเนิดชายชุดดำ

รัฐบาลเพื่อไทยมุ่งหาความจริงเรื่องนี้หรือไม่

ผมคิดว่าการหาความจริงจากเหตุการณ์การชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อค้นหาความจริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นอำนาจที่ทุกรัฐบาลต้องดำเนินการ เมื่อมีคนตายกลางบ้านกลางเมืองจะต้องมีการพิสูจน์ว่ามาจากสาเหตุอะไร ถ้ารัฐบาลไม่รับผิดชอบเรื่องที่ประชาชนตายก็เป็นรัฐบาลของประชาชนไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ดำเนินการเรื่องนี้ตามปรกติ และเป็นหน้าที่ของรัฐในการดูแลและคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยในการใช้ชีวิต รัฐใดที่มีการละเว้นและละเลยถือเป็นรัฐบาลที่ไม่รับผิดชอบ จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอีก

จะเอาผิดกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพอย่างไร

เรื่องนี้ต้องดำเนินการต่อไปหลังจากศาลมีคำสั่งกรณีนายพัน คำกอง ซึ่งถือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าต้องมีการส่งเรื่องให้อัยการดำเนินการตั้งข้อกล่าวหาฟ้องร้องผู้ที่สั่งการและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในการสั่งให้ใช้อาวุธและการตายของประชาชนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถบิดเบือนพยานหลักฐานได้

การตั้งข้อหาฆ่าคนตายกับรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

เรื่องนี้เป็นไปตามพยานหลักฐาน ตามที่ศาลมีการสั่ง ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามคำสั่งศาล กรณีนี้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ถือว่าไม่เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหา เพราะเป็นการดำเนินการตามคำสั่งศาล ทุกฝ่ายต้องยอมรับ

กองทัพไม่ยอมรับว่ามีอาวุธจะทำเช่นใด

การใช้กำลังในการปราบปรามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการใช้อาวุธในการปราบปรามประชาชน และใช้ทหารเป็นกำลังหลักจนก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของประชาชน แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่กองทัพจะยอมรับในการกระทำ ต้องไม่ลืมว่าในความเป็นจริงคนที่ทำการฆาตกรรมหรือคนที่เป็นฆาตกรไม่มีวันที่จะยอมรับอะไรง่ายๆ

ดังนั้น เมื่อมีการตายเกิดขึ้นคิดหรือว่าคนที่ทำจะบอกว่าฉันฆ่าคน เอาอาวุธสงครามมาประหัตประหารประชาชน ไม่มีการยอมรับอยู่แล้ว การหาความจริงของเจ้าหน้าที่จะเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่าความจริงเกิดจากอะไรกันแน่

การตรวจสอบที่เข้มขึ้นจะทำให้ทหารไม่พอใจหรือไม่

เท่าที่ทราบการสืบสวนสอบสวนและการค้นหาความจริงของเจ้าหน้าที่ เป้าหมายหลักคือต้องการเอาคนที่สั่งการให้เอาอาวุธสงครามออกมาเป็นอาวุธหลักในการสลายการชุมนุมมากกว่า เอาคนสั่งการที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทำงาน โดยเฉพาะระดับนโยบาย ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อการตายของประชาชน

การเดินหน้าของคนเสื้อแดงเป็นอย่างไร

คนเสื้อแดงมีหลักการและเป้าหมายของการขับเคลื่อนอยู่ 3 ข้อคือ 1.ล้มอำมาตย์ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ เราสามารถทำให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างสันติวิธีและเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย 2.ล้มรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนและสนับสนุนให้มีการยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ทางการเมืองของคณะรัฐประหาร เป็นพิษร้ายต่อสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้ 3.โค่นล้มระบอบอำมาตย์ คือต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง และตีกรอบความคิดระบอบอำมาตย์ให้น้อยลงมากที่สุด นี่คือภารกิจของคนเสื้อแดง

ผมไม่คิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะเป็นชนวนเหตุทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เพราะในขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เห็นได้จากการรณรงค์เลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค. 2554 พรรคเพื่อไทยชูประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นหลักในการหาเสียง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน ทำให้ได้ ส.ส. เป็นจำนวนมากถึง 265 คน ถือว่าเป็นการชนะเด็ดขาด

แต่การดำเนินการไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นรากเหง้าของเผด็จการได้รับการปกป้องโดยกลุ่มอำมาตย์ และเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการทำร้ายปรปักษ์ทางการเมือง ย่อมทำให้กลุ่มอำมาตย์ไม่ยอมให้มีการแก้ไข คนที่สูญเสียอำนาจหรืออาจจะมีการสูญเสียอำนาจหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ยอมง่ายๆ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การรัฐประหารหรือไม่

ผมไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ฉันทานุมัติเมื่อครั้งเลือกพรรคเพื่อไทยให้มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันนี้จะเป็นเกราะป้องกันอย่างดีให้กับรัฐสภาในการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน กระบวนการใดๆที่จะมาขัดขวางการแก้ไขจะต้องฟังเสียงของประชาชนด้วย ไม่ใช่พยายามก่อให้เกิดความวุ่นวายเพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญปี 2550 ไว้ จากการสังเกตการณ์เชื่อว่าม็อบต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะน้อยลง หรือบางส่วนอาจจะหันมาเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว และประชาชนจะเป็นคนกดดันต่อ ส.ส. และรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตามให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

6 ปีของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นอย่างไรบ้าง

6 ปีที่ผ่านมาจากการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 จะพบว่าคณะผู้ก่อการรัฐประหารยังคงอยู่ ยังมีความแข็งแกร่งอยู่ แต่มีมวลชนที่ให้การสนับสนุนบรรดาผู้ก่อการรัฐประหารน้อยลง 6 ปีของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มเสรีประชาธิปไตย การขับเคี่ยวกันยังไม่แตกหัก ไม่มีการชนะทางการเมือง แม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความแตกต่างได้ นั่นแสดงว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังคงมีความเข้มแข็ง

ในเรื่องนี้ต้องอาศัยระยะเวลาให้การเมืองมีความชัดเจนในแนวทางของประชาชนตามแนวทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และจะทำให้ประเทศไทยสามารถเดินไปในทางที่ถูกที่ควรมากขึ้น ในที่สุดเมื่อการเมืองเข้มแข็ง เหตุการณ์บ้านเมืองก็จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

หากเกิดรัฐประหารคนเสื้อแดงจะอยู่อย่างไร

ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะการดำเนินคดีรวมทั้งการค้นหาความจริงเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ได้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา จึงไม่น่าจะก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่กองทัพ

เสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยจะเดินอย่างไร

พรรคเพื่อไทยกับคนเสื้อแดงแม้จะเป็นคนละองค์กร แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ การเดินไปสู่การพัฒนาประเทศและความเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มใบ คนเสื้อแดงคือกระบวนการของประชาชนที่ไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมือง แต่มีเป้าหมายเดียวคือการต่อต้านการรัฐประหารและเดินหน้าประชาธิปไตย หากพรรคเพื่อไทยเดินออกจากแนวทางของประชาธิปไตย คนเสื้อแดงก็ไม่สามารถเดินไปด้วยกันกับพรรคเพื่อไทยได้ เพราะยุทธศาสตร์ของกลุ่มคนเสื้อแดงคือการต่อต้านเผด็จการและรักษาประชาธิปไตย หากพรรคเพื่อไทยยังเป็นพรรคของประชาชนก็ยังเดินต่อไปด้วยกันได้ และเป็นการเดินทางที่ยาวนาน

คนเสื้อแดงมีจำนวนเท่าไร

ไม่สามารถตอบได้ เพราะคนเสื้อแดงคือกลุ่มคนที่รักความยุติธรรมและรักประชาธิปไตย จึงไม่สามารถจำกัดได้ว่าใครเป็นคนเสื้อแดงบ้าง แต่คนเสื้อแดงคือคนที่ต้องการเห็นประเทศชาติเดินหน้าและไม่ต้องการเห็นการรัฐประหาร กลุ่มคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มคนที่มีความรักต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าใจว่าอดีตนายกฯถูกรังแก คนกลุ่มนี้ก็มีจำนวนไม่น้อย คนเสื้อแดงคือประชาชนทั่วไปที่สนใจการเมือง สนใจประเทศชาติ แต่ไม่มีแนวคิดในการจัดตั้งพรรคการเมือง

มอง 1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างไร

ต้องยอมรับว่าหลังจากการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลงไปมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่นายกฯเป็นคนพูดน้อยและไม่โต้ตอบทางการเมือง เป็นคนที่มีความประนีประนอม มีการประสานงานกันอย่างดีเยี่ยม จึงทำให้อุณหภูมิทางการเมืองเย็นลงมาบ้าง

เชื่อว่าในอนาคตต่อไปหากผู้นำหรือหัวหน้ารัฐบาลยังเป็นเช่นนี้รัฐบาลน่าจะมีอายุครบเทอม เพราะเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย การเดินหน้าในการบริหารประเทศก็จะทำได้ง่าย รวมทั้งสากลโลกให้การยอมรับรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จะเห็นได้ว่าในขณะนี้ทั่วโลกให้การยอมรับนายกฯคนนี้มากขึ้น

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

‘ฆ่าคนตาย’ โดยเจตนา?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 378 วันที่ 22-28 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 18-19 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน


“จากพฤติการณ์ต่างๆดังกล่าว เชื่อว่าวันเกิดเหตุกลุ่มที่ร่วมระดมยิงอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามใส่รถตู้คันเกิดเหตุนั้นเป็นเจ้าพนักงานทหาร แม้ไม่มีประจักษ์พยานว่าผู้ตายถูกลูกกระสุนปืนของผู้ใด แต่บริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าพนักงานทหารที่ควบคุมพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งถนนของที่เกิดเหตุ สภาพรถตู้ถูกยิงจากด้านหน้าซ้ายและขวาของตัวถังรถ ในช่วงเกิดเหตุไม่มีคนร้ายเข้าไปในที่เกิดเหตุในลักษณะเข้าไปยิงปะทะต่อสู้กับเจ้าพนักงานทหาร ตามที่วินิจฉัยข้างต้นคงมีเพียงเจ้าพนักงานทหารที่สามารถใช้อาวุธปืนยิงรถตู้ เพราะฝ่าฝืนคำสั่งที่ประกาศเตือนไม่ให้แล่นเข้าไปในพื้นที่ควบคุม เป็นเวลาเดียวกับที่ผู้ตายวิ่งออกไปดูเหตุการณ์หน้าสำนักงานขายคอนโดฯ”

ศาลอาญาอ่านคำสั่งกว่า 1 ชั่วโมงครึ่งในการไต่สวนกรณีการตายของนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตในคืนวันที่ 14 ต่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 บริเวณแอร์พอร์ตลิ้งค์ราช ปรารภ หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียมชื่อไอดีโอ คอนโด ในเหตุการณ์ทหารยิงรถตู้ที่วิ่งเข้ามา ถือเป็นคดีแรกที่ศาลอ่านคำสั่งคดี 98 ศพ โดยพยานหลักฐานทั้งหมดชี้ว่านายพันถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) อาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามของเจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถตู้หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพ มหานคร ที่มีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ ซึ่งวิ่งเข้ามายังพื้นที่ควบคุม แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกนายพันถึงแก่ความตาย ในขณะที่เจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ทั้งนี้ ให้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป

“อภิสิทธิ์-สุเทพ” ขึ้นเขียง

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายฝ่ายผู้เสียชีวิต ระบุว่า การอ่านคำสั่งศาลถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อระบุว่าผู้ตายเป็นใคร ตายด้วยเหตุอะไร ใครเป็นผู้ทำให้ตาย ยังไม่ใช่การพิพากษาคดีหรือหาคนกระทำผิด หลังจากศาลอ่านคำสั่งแล้วจะส่งสำนวนให้อัยการดำเนินการตามขั้นตอนคดีอาญาทั่วไป ซึ่งอัยการจะส่งให้ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อหาผู้กระทำผิดต่อไป

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะผู้รับผิดชอบคดี 98 ศพ กล่าวภายหลังศาลอ่านคำสั่งว่า ถือเป็นคดีแรกที่มีผลสรุปสาเหตุการเสียชีวิต และขอให้ทุกฝ่ายยอมรับคำตัดสินของศาล ซึ่งหลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะเรียกสำนวนดังกล่าวว่าเป็นเรื่อง “คดีฆาตกรรม” โดยจะนำสำนวนและคำสั่งมาเป็นแนวทางในการสืบสวนสอบสวนคดีที่เหลืออีก 35 คดี

นายธาริตระบุว่า มีแนวโน้มสูงที่อาจจะต้องพิจารณาดำเนินคดีในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา เป็นคดีฆาตกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มาตรา 289 และมาตรา 59 กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศอฉ. ในขณะนั้น เพราะเป็นผู้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการ ทั้งนี้ กฎหมายให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาสามารถแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันหรือระงับเหตุร้าย ซึ่งเรื่องนี้จะไม่ได้อยู่ที่ดุลยพินิจของดีเอสไอ ตำรวจ และอัยการ แต่จะต้องส่งคดีกลับไปยังศาลเพื่อให้ดำเนินการต่อไป

ส่วนทหารที่ทำหน้าที่นั้น นายธาริตระบุว่าจะได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ซึ่งพนักงานสอบสวนสามารถทำสำนวนได้ 2 แนวทางคือ นำตัวทหารมาแจ้งข้อหาแต่ไม่ดำเนินคดี หรือไม่ดำเนินคดีแต่กันตัวไว้เป็นพยาน อย่างไรก็ตาม การแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับบุคคลใดบ้างต้องรอผลการลงมติจากคณะพนักงานสอบสวนการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ชุมนุม 91 ศพก่อน

“อภิสิทธิ์” ยันไม่เคยสั่งให้ฆ่าคน

ขณะที่นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีที่นายธาริต อาจดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนตายกับตนและนายสุเทพว่า จะดูว่าการใช้อำนาจของฝ่ายต่างๆเป็นไปตามกระบวนการแค่ไหน ส่วนที่จะมีการโยงว่าเป็นคำสั่งของ ศอฉ. นั้น ศาลได้บอกแล้วว่าคำสั่งของ ศอฉ. เป็นการสั่งให้เข้าควบคุมพื้นที่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการสั่งให้ไปฆ่าคน หรือทำให้เกิดความสูญเสีย ฉะนั้นต้องดูสภาวะแวดล้อม พฤติการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของอัยการและพนักงานสอบสวน ถ้าไม่สะท้อนความจริงคงไม่ได้

ส่วนกรณีที่นายธาริตจะนำคดีนายพันมาเป็นบรรทัดฐานของคดีฆาตกรรมกับอีก 35 คดีที่จะเข้าสู่การไต่สวนนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า แต่ ละคดีจะนำมาผูกโยงกันหมดไม่ได้ เพราะแต่ละเหตุ การณ์ไม่ได้เกิดขึ้นในที่เดียวกันและเวลาเดียวกัน อย่างกรณีของนายพันศาลระบุว่าเสียชีวิตจากช่วงที่ มีการยิงรถตู้ ซึ่งจะนำไปใช้กับอีก 20-30 คดีไม่ได้

“ตอนนี้นายธาริตพูดในสิ่งที่ฝ่ายการเมืองฝ่ายนู้นเขาพูดมาก่อน ซึ่งข้องใจว่าเป็นการชี้นำหรือไม่ โดยผมจะดูหนทางในการดำเนินคดี และทุกฝ่ายต้องอยู่ใต้กระบวนการยุติธรรม ทุกคนมีสิทธิตามกฎหมาย ผมจะดูว่าการดำเนินการต่อจากนี้ไปให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายหรือไม่ ซึ่งคาดว่ากลุ่มที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองน่าจะนำเรื่องนี้ไปขยายผล และจะกลายเป็นปัญหาว่าเราไม่พยายามค้นหาความจริงที่นำไปสู่การปรองดอง แต่พยายามสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่” นายอภิสิทธิ์กล่าว

คอป. จุดเปลี่ยนคดี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ทนายผู้เสียชีวิตและแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จ การแห่งชาติ (นปช.) วิตกในขณะนี้คือ รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความ จริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ล่าสุดที่ระบุว่ามีหลักฐานว่ามี “ชายชุดดำ” จริง และทำให้ทหาร ตำรวจ และพลเรือนเสียชีวิตจำนวน 9 คน ซึ่ง “ชายชุดดำ” หลายคนมีความใกล้ชิดกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และการ์ด นปช. รู้เห็นเป็นใจ แต่ไม่มีหลักฐานโยงไปถึงแกนนำ นปช. แม้จะยืนยันว่า ศอฉ. มีคำสั่งอนุญาตให้ใช้สไนเปอร์และมีการใช้กระสุนจริงยิงผู้ชุมนุมก็ตาม

แต่รายงานของ คอป. ระบุว่าแม้การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย แต่ผู้จัดการชุมนุมต้องดำเนินการให้อยู่ในกรอบกฎหมาย และประสานกับเจ้าหน้าที่ให้อยู่ในกรอบของการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การชุมนุมจึงไม่ใช่สิทธิอันสมบูรณ์ รัฐสามารถจำกัดสิทธิได้ตามสมควรแก่เหตุและสถานการณ์หากพบว่าผู้ชุมนุมบางคนมีลักษณะใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ การปราศรัยบนเวทีมีการส่งเสริมความรุนแรง มีการใช้สิ่งเทียมอาวุธ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อบังคับใช้กฎหมายได้

รายงานของ คอป. จึงไม่ต่างกับที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพใช้ชี้แจงทั้งในสภาและนอกสภาว่ามี “ชายชุดดำ” ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธในกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่งนายอภิสิทธิ์กล่าวถึงรายงานของ คอป. เช่นกันว่าพนักงานสอบ สวนต้องนำการตรวจสอบต่างๆของ คอป. ไปใช้ในสำนวนคดีด้วย จะละเลยไม่ได้ ถ้าละเลยก็เหมือนกับจงใจละเว้น

เช่นเดียวกับวาทกรรม “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” ที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพอ้างว่าไม่ใช่คำสั่งให้สลายการชุมนุม จึงไม่ใช่ “คำสั่งฆ่า” หรือ “ฆ่าคนตายโดยเจตนา” ซึ่งอดีตนาย ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมให้ความเห็นว่าจะใช้วาทกรรมอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลที่เป็นไปได้ทั้งผิดและไม่ผิด แต่ถ้าจะให้มีหลักฐานชัดเจนเพื่อเอาผิดต้องให้ทหารที่ทำหน้าที่ “สไนเปอร์” หรือชุดซุ่มยิงบนรางรถไฟฟ้าอย่างน้อย 5-6 คน กล้าออกมาเป็นพยานว่าใช้อาวุธและกระ สุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุม โดยเฉพาะเหตุการณ์ 6 ศพที่วัดปทุมวนารามและกรณี เสธ.แดง

รุมประณาม คอป.

กรณีชายชุดดำที่ คอป. ระบุว่าเกี่ยวข้องกับ เสธ.แดงจึงเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ซึ่ง น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลูกสาวของ เสธ.แดง กล่าวถึงรายงานของ คอป. ว่าเป็นการแต่งนิทานให้ร้าย พล.ต.ขัตติยะ ผู้ชุมนุมเสื้อแดง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยโยนบาปทั้งหมดให้ พล.ต.ขัตติยะ เพื่อให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์พ้นจากความผิดและความรับผิดชอบ อีกทั้งในรายงานยังระบุว่าไม่พบเจ้าหน้าที่ยิงปืนแนวระ นาบ ทั้งที่มีการเล็งกระสุนจริงไปแนวระนาบ เพราะ คอป. คือคู่ทุกข์คู่ยากของรัฐบาลอภิสิทธิ์

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และแกนนำ นปช. กล่าวถึงรายงานของ คอป. ว่าทำงานมา 2 ปี น่าจะมีข้อมูลเชิงลึกมากกว่านี้ เพราะความขัดแย้งของสังคมไทยเป็นความขัดแย้งทางโครงสร้าง และจำเป็นต้องจัดสมดุลใหม่ เพื่อให้สมดุลทาง การเมืองสามารถนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย แต่ คอป. มีเพียงข้อมูลระดับพื้นผิวที่หาอ่านได้ตามสื่อและส่วนอื่นๆ โดยรายงานมุ่งเน้นสถาน การณ์ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 และพยายามเจาะลึกความมีตัวตนของชายชุดดำ แต่ก็ไม่ได้ลึกเกินกว่าที่คนของพรรคประชาธิปัตย์เคยอธิบายมา และในรายงานกลับไม่ปรากฏว่ามีสไนเปอร์กี่กระบอก เจ้าหน้าที่กี่คน และคำสั่งออกยังไง ซึ่งหาไม่ยากเลย แค่เอาเอกสารราชการมาเรียง

โดยเฉพาะข้อสรุปของ คอป. ที่ว่าปัญหาความ ขัดแย้งทั้งปวงมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณนั้น นายณัฐวุฒิยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นหนึ่งในเหยื่อของความขัดแย้งและโครงสร้างอำนาจในสังคมไทยเท่านั้น รายงานของ คอป. ไม่ใช่กุญแจสำคัญที่จะนำ ประเทศไทยออกจากความขัดแย้งได้ เพราะไม่ได้เข้าไปแตะต้องรากแก้วของปัญหาเลยแม้แต่น้อย

ส่วนเหตุการณ์เผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ที่ คอป. สรุปว่าน่าจะมาจากคนเสื้อแดงนั้น นายณัฐวุฒิย้อนถามว่า ได้ไปสัมภาษณ์นักผจญเพลิงของเซ็นทรัลเวิลด์หรือไม่ ซึ่งตนได้ไปคุยกับนักผจญเพลิงเหล่านั้น ต่างพูดชัดว่าคนเผาห้างไม่ใช่ฝีมือคนเสื้อแดง แต่มีกองกำลังติดอาวุธที่เป็นเจ้าหน้าที่ปักหลักอยู่บนห้าง และเมื่อออกมาก็เกิดเหตุไฟไหม้

โกหกเรื่องเดิมๆ

ส่วน น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอขนานนามรายงาน คอป. ว่า the same old lies หรือโกหกเรื่องเดิมๆ เพราะแอบสอดไส้ผลงานของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่เป็นผลพวงของคณะรัฐประหารเข้าไปในรายงานด้วย ทั้งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าชายชุดดำคือใคร เป็นเพียงเรื่องเล่า สมมุติฐานขึ้นมาลอยๆ ไม่เป็นมืออาชีพ อ่านแค่อารัมภบทก็เห็นว่าเป็นการเขียนรายงานชุ่ยๆ สอบตกโดยสิ้นเชิง จึงอยากให้ คอป. ออกมาขอโทษประชาชนข้างโลงศพของ เสธ.แดง

ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับนายคณิตที่มาเสียตัว เสียผู้เสียคนเมื่อแก่แล้ว เสียดายสติปัญญาของนายคณิตมาก คิดว่านายคณิตคงเกลียดชัง พ.ต.ท. ทักษิณมากจนไปปิดบังสติปัญญาของตัวเอง หากนายคณิตออกมาขอโทษก็พร้อมให้อภัย และขอปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องชายชุดดำ ยืนยันว่ารายงานของ คอป. ไม่น่าเชื่อถือ มีเจตจำนงซ่อนเร้นสร้างความชอบธรรมให้ ศอฉ. และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคดีนายพันที่ศาลสั่งว่าเสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐตามคำสั่งของ ศอฉ. ว่า ศอฉ. ต้องรับผิดชอบ เมื่ออัยการส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพ ตำรวจก็ต้องนำสำ นวนชันสูตรพลิกศพที่ศาลสั่งส่งดีเอสไอ โดยได้สั่งนายธาริตว่าไม่ต้องมารายงาน แต่ให้ทำไปตามข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะตายศพเดียวหรือกี่ศพก็เข้าหลักประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ใช้ จ้างวานให้ผู้อื่นกระทำความผิด ถ้าความผิดสำเร็จ ผู้ใช้รับโทษเหมือนตัวการ ตามมาตรา 83 ป.อาญา คือเท่ากับลงมือทำผิด มาตรา 59 กระทำโดยเจตนา ถึงไม่ประสงค์ต่อผล แต่เล็งเห็นผลที่จะเกิดขึ้น เช่น การสั่งสลายชุมนุมในเวลากลางคืน ซึ่งหลักสากลไม่ทำกัน จะเข้าความผิดองค์หลักหรือมาตรา 288 ส่วนจะสอบสวนนายอภิสิทธิ์หรือนายสุเทพเพิ่มเติมหรือไม่ก็แล้วแต่พนักงานสอบสวน “แค่นี้ก็ตายแล้ว ไม่ต้องหลายคดีหรอก”

ตกนรกทั้งเป็น

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายและนักวิชาการอิสระ ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากต้องติดตามว่าดีเอสไอและอัยการจะฟ้องคดีนี้อย่างไรแล้ว ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ หรือทหารที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมด้วย ที่สำคัญและน่าสนใจมากคือรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีจุดยืนอย่างไรหลังศาลมีคำสั่ง จะยังอ้างรายงานของ คอป. อย่างที่ผ่านมาหรือไม่ หรือจะวางตัวออกห่างเพื่อเลี่ยงการขัดแย้งกับกองทัพ เพราะคำสั่งศาลยังเกี่ยว ข้องกับประเด็น “ศาลอาญาระหว่างประเทศ” หรือ “ศาลอาญาโลก” เพราะกฎหมายระหว่างประเทศจะไม่ให้ “ศาลอาญาโลก” พิจารณาคดีที่ยังมีการดำเนินการอยู่ตามปรกติโดยระบบกฎ หมายภายในประเทศ

ดังนั้น แม้ คอป. ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้กำลังทหารของ ศอฉ. ไม่เหมาะกับการควบคุมฝูงชนด้วยประการทั้งปวง รวมทั้งอนุญาตให้ใช้อาวุธสงครามในการควบคุมฝูงชน เช่น รถสายพานลำเลียง ปืนเล็กยาว กระสุนจริง หรือเฮลิคอปเตอร์ก็ตาม แต่การจะเอาผิดกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในคดีฆาตกรรมข้อหา “ฆ่าคนตายโดยเจตนา” อย่างที่นายธาริตแสดงความเห็นนั้นยังมีตัวแปรอีกหลายปัจจัย โดยเฉพาะกลุ่มอำนาจนอกระบบที่ยังถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณคือปัญหาของบ้านเมือง

เพราะประธาน คอป. เองยังตอกย้ำว่าบ้านเมืองจะสงบและเกิดสันติได้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องยุติบทบาททางการเมือง และยังเตือนให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำเรื่องการหักดิบกฎหมายให้กระจ่าง เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมมีความเคลือบแคลง หรือการร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามา ประธาน คอป. ก็เห็นว่าเป็นการเสียเกียรติภูมิของประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้การเอาผิดนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพจะไม่ง่าย แต่การที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพจะกลายเป็น “ผู้ต้องหา” คดีฆาตกรรมในข้อหา “ฆ่าคนตายโดยเจตนา” นั้นก็เหมือน “ตกนรกทั้งเป็น” แล้ว!

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

บทวิพากษ์บทความอนาคต 3G ไทย ต้อง ‘มองไกล’ กว่า ‘เงินประมูล’

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง
นักวิชาการอิสระด้านการสื่อสาร
 
คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ได้เขียนบทความ “อนาคต 3G ไทย ต้อง ‘มองไกล’ กว่า ‘เงินประมูล’” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ โพสต์ ทูเดย์ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 ผู้เขียนเห็นว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริงและหลักการที่ควรจะเป็น จึงขอแลกเปลี่ยนความเห็นกับคุณวีรพัฒน์
ก่อนอื่นขอทบทวนก่อนว่า ในการประมูลครั้งนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ทั้งหมด 45 MHz โดยแบ่งย่อยออกเป็น 9 สล็อต สล็อตละ 5 MHz วัตถุประสงค์ในการแบ่งคลื่นออกเป็นสล็อตก็เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันประมูลคลื่นความถี่ โดยท้ายสุดผู้เข้าประมูลอาจได้จำนวนคลื่นความถี่ไม่เท่ากัน แต่เดิมนั้น กสทช. กำหนดเพดานการประมูลคลื่นความถี่ไว้ที่ 20 MHz และราคาตั้งต้นการประมูลที่ 4,500 ล้านบาท ทว่าภายหลังจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็น กสทช. ได้ปรับลดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ในการประมูลคลื่น 2.1 GHz จาก 20 MHz เป็น 15 MHz โดยไม่ได้มีการปรับเพิ่มราคาตั้งต้นการประมูลที่กำหนดไว้ที่ 4,500 ล้านบาท
นักวิชาการและภาคประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่าการลดจำนวนเพดานการประมูลคลื่นดังกล่าว โดยคาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย คือ AIS DTAC และ True และไม่มีการปรับเพิ่มราคาตั้งต้น ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่มีการแข่งขันประมูล ย่อมหมายความว่า ผู้เข้าประมูล 3 ราย จะได้คลื่นความถี่ไปรายละ 15 MHz ในราคาใกล้เคียงกับราคาตั้งต้น คือ 4,500 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นราคาที่ต่ำเกินจริงเมื่อพิจารณาจากปัจจัยและลักษณะเฉพาะของตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทย อาทิ ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการลดส่วนแบ่งรายได้ในระบบสัมปทานที่สูงถึง 20-30% ไปสู่ค่าธรรมเนียมในระบบใบอนุญาตที่อยู่ที่ประมาณ 6%
ในบทความ คุณวีรพัฒน์แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของ กสทช. ดังที่ได้กล่าวไป ด้วยเหตุผลหลัก 3 ประการ คือ
1. กสทช. ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบแค่เพียงการจัดประมูลเพื่อหารายได้เข้ารัฐให้มากที่สุด แต่ยังต้องกำกับดูแลอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเพื่อให้เกิดการแข่งขัน การควบคุมคุณภาพบริการ และการควบคุมราคาค่าบริการ ฯลฯ หากไม่มีการลดเพดานการถือครองคลื่นเหลือ 15 MHz ก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 ราย (ซึ่งตีความได้ว่าหมายถึง DTAC และ AIS) จะประมูลคลื่นไปรายละ 20 MHz (เพื่อกีดกันการแข่งขันจากรายที่สาม ไม่ใช่เพื่อคุณค่าทางเศรษฐกิจ) และเหลือคลื่นเพียง 5 MHz ให้กับอีกเจ้าหนึ่ง (หมายถึง True) ซึ่งไม่เพียงพอต่อการให้บริการที่มีคุณภาพและแข่งขันได้ ด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจลดเพดานการถือครองคลื่นจึงเป็นการคุ้มครองการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมในระยะยาว
2. การคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 รายนั้นเป็นเพียงการคาดเดา และถึงเกิดขึ้นจริง ก็เป็นเรื่องที่โทษใครไม่ได้ เพราะ กสทช. ไม่ควรทำนายอนาคตและเลือกสูตรเฉพาะสำหรับกรณีที่มีผู้ประมูล 3 ราย รวมถึงไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเพดานการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งจะนำไปสู่การลดการแข่งขันในตลาดดังที่ได้กล่าวไป
3. การกำหนดราคาประมูลตั้งต้นที่ชุดละ 4,500 ล้านบาท เป็นอำนาจขององค์กรกำกับดูแลที่เราควรเคารพ และเห็นว่าราคาประมูลที่สูงเกินไปย่อมส่งผลต่อ “ค่าบริการ” และ “คุณภาพบริการ” ที่ผู้ประกอบการต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลในการขยายโครงข่าย 3G หลังการประมูล หากค่าประมูลใบอนุญาตสูงเกินไป ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาโครงข่าย ซึ่งจะกระทบกับคุณภาพบริการในที่สุด
ประเด็นทั้งสามที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะคณะกรรมการ กสทช. และที่ปรึกษาบางท่าน ก็ได้โหมประชาสัมพันธ์ชุดข้อมูลและความเชื่อข้างต้นมาตลอด เพียงแค่คุณวีรพัฒน์อาจจะมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันเท่านั้นเอง ผู้เขียนขอแลกเปลี่ยนในแต่ละประเด็นดังนี้
ประเด็นแรกในข้อโต้แย้งแรกในบทความคือ การออกแบบการประมูลครั้งนี้ เราควรให้ความสำคัญกับการแข่งขันเพื่อเข้าสู่ตลาด (หมายถึงการแข่งขันประมูล) หรือการแข่งขันในตลาด (มีผู้ให้บริการหลายราย) แน่นอนว่าการรักษาสมดุลเพื่อให้เกิดการแข่งขันในทั้งสองฝากนั้นควรเป็นเป้าหมายสูงสุดของผู้ออกแบบการประมูล อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมและกฎเกณฑ์การกำดับแลในปัจจุบัน เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าการแข่งขันในตลาดสุดท้ายแล้วจะเหลือแต่เจ้าเดิมที่ให้บริการอยู่แล้ว
ที่คาดการณ์เช่นนี้เนื่องจาก 1) ตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยยังไม่มีการเปิดเสรีอย่างแท้จริง เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และประกาศการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว กีดกันนักลงทุนต่างชาติที่มีเงินทุนมากเพียงพอในการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง 2) การกำกับดูแลที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการรายย่อย เช่นกรณีของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ Hutch ซึ่งต้องถอนตัวออกไปจากตลาดเนื่องจากการเรียกร้องค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจากผู้ให้บริการรายใหญ่ในราคาที่สูงเกินไป และ 3) ผู้มาซื้อใบสมัครประมูลก็ยังวนเวียนอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการทั้งสามรายเดิม
ประเด็นนี้เกี่ยวพันกับข้อโต้แย้งที่สองในบทความที่มองว่าไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช. ในการคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 3 ราย และเลือกสูตรการประมูลที่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันจากเงื่อนไขดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่า ในการประมูลคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติของสาธารณะและเกี่ยวพันกับเม็ดเงินเข้าประเทศหลายหมื่นล้านบาท ย่อมไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ กสทช. จะไม่ทำการศึกษาเรื่องเหล่านี้และนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ออกแบบการประมูลให้เกิดการแข่งขันมากที่สุด นอกจากนั้น การเลือกสูตรการประมูล เช่น สูตร N-1 ดังที่เคยมีการเสนอใช้เมื่อการประมูลครั้งก่อน ก็ไม่ใช่สูตรเพื่อใช้สำหรับการประมูลเพียง 3 รายเท่านั้น ประเด็นสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่การคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าประมูลกี่ราย แต่อยู่ที่การนำข้อมูลและผลการศึกษาของ กสทช. มาใช้เพื่อออกแบบการประมูลให้เกิดการแข่งขันประมูลมากที่สุด
กลับมาข้อโต้แย้งที่หนึ่ง ในเมื่อเราคาดการณ์ได้ว่า การแข่งขันในตลาดจะไม่มีมากไปกว่าสภาพปัจจุบันแล้ว ยกเว้นแต่จะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กสทช. ก็ควรกลับมาเน้นการออกแบบการประมูลให้เกิดการแข่งขันมากที่สุด เพื่อนำเงินเข้ารัฐ ซึ่งจะช่วยลดภาระภาษีที่รัฐต้องจัดเก็บกับประชาชนในการลงทุนและพัฒนาบริการสาธารณะ คุณวีรพัฒน์อาจโต้แย้ง (เหมือนที่ กสทช. บางท่านได้โต้แย้งมาตลอด) ได้ว่า การลดเพดานถือครองคลื่นเป็นการป้องกันการแข่งขันในตลาดที่อาจเหลือเพียง 2 รายใหญ่เท่านั้น หาก True ได้คลื่นไปเพียง 5 MHz
ในแง่นี้ ผู้เขียนมีข้อโต้แย้ง 2 ประเด็น คือ หนึ่ง คุณวีรพัฒน์และ กสทช. บางท่านอาจจะลืมไปว่าการแข่งขันการให้บริการข้อมูลความเร็วสูงในตลาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับคลื่น 2.1 GHz เท่านั้น ขณะนี้ True ได้เปรียบผู้ประกอบการเจ้าอื่นด้วยการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 850 MHz ภายใต้สัญญาร่วมกับบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยไม่ต้องเสียค่าประมูลคลื่น ดังนั้น ต่อให้ True ได้คลื่นไปเพียง 5 MHz ก็ไม่ได้หมายความว่า True จะไม่สามารถแข่งขันให้บริการ 3G ได้ นอกจากนั้น กสทช. บางท่านก็ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อตลอดว่า คลื่นความถี่ในช่วง 1800 MHz ที่จะกลับคืนมายัง กสทช. เพื่อจัดสรรใหม่ในปี 2556 จะถูกนำมาใช้รองรับเทคโนโลยี 4G ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น รวมถึงบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็มีแผนที่จะให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ 2.3 GHz เช่นกัน
ประเด็นที่สองคือ หากคุณวีรพัฒน์และ กสทช. เชื่อว่า การลดเพดานการประมูลคลื่นเหลือเพียง 15 MHz เป็นการกระทำที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการผูกขาดในตลาด ก็เป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งที่จะใช้เครื่องมือ “ราคาประมูลขั้นต่ำ” ในการสร้างรายได้เข้ารัฐในราคาที่สมน้ำสมเนื้อกับมูลค่าคลื่นความถี่ ในภาวะที่จะไม่มีการแข่งขันประมูล ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับข้อโต้แย้งที่สามในบทความที่เชื่อว่า การกำหนดราคาประมูลตั้งต้นสูงเกินไปจะกระทบกับค่าบริการและคุณภาพบริการ
ในแง่ของผลกระทบกับค่าบริการ คุณวีรพัฒน์ออกตัวตลอดว่าพูดในฐานะนักกฎหมาย จึงอาจจะหลงลืมประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ที่มีนักวิชาการหลายท่านได้ออกมาชี้แจงว่า ราคาค่าประมูลนั้นจะไม่มีผลกระทบกับราคาค่าบริการของผู้บริโภค เนื่องจากเงินที่ผู้ประกอบการนำมาประมูลจะถูกคิดจากกำไร ไม่ใช่ต้นทุน เงินประมูลจะกลายเป็นต้นทุนจมที่ไม่ถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภค ปัจจัยหลักที่จะกระทบต่อราคาค่าบริการคือสภาพการแข่งขันในตลาด หลักการทางเศรษฐศาสตร์นี้ไม่ได้ถูกอ้างโดยนักวิชาการนอก กสทช. เท่านั้น แต่รายงานการประมูลคลื่นความถี่ฯ ซึ่ง กสทช. ได้ว่าจ้างให้คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ รวมถึงรายงานผลกระทบจากการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ IMT ที่ กทช. ได้จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมการประมูลครั้งก่อนหน้า ก็ยืนยันว่าราคาค่าประมูลจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
ในแง่ผลกระทบด้านคุณภาพบริการนั้น AIS และ DTAC ได้ออกมาให้ข่าวว่าได้จัดเตรียมเงินลงทุนในเครือข่าย 3G ในช่วงปี 2555-2557 ประมาณ 50,000 และ 40,000 ล้านบาท ตามลำดับ โดยเงินส่วนนี้เป็นคนละส่วนกับที่ได้จัดเตรียมไว้สำหรับการประมูล ซึ่ง AIS เตรียมไว้ 17,000 ล้านบาท และ DTAC 15,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อได้ว่าจำนวนเงินดังกล่าวเป็นเงินขั้นต่ำที่เตรียมไว้ [1] ความกังวลของคุณวีรพัฒน์จึงเป็นความกังวลแทนผู้ประกอบการมากเกินไป
ในข้อโต้แย้งที่สาม คุณวีรพัฒน์ยังกล่าวอีกด้วยว่า การตั้งราคาประมูลความถี่ชุดละ 4,500 ล้านบาท ถือเป็นดุลยพินิจขององค์กรกำกับดูแลที่เราควรเคารพในฐานะนักกฎหมาย เหตุผลดังกล่าวเป็นการตีกรอบกระบวนการกำหนดนโยบายแบบคับแคบให้อยู่ในพื้นที่ทางการเท่านั้น และละเลยแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอื่น ซึ่งย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามกับนโยบายที่อาจถูกผลิตขึ้นภายใต้ขอบเขตข้อมูลและความรู้ที่จำกัด หรือกระทั่งภายใต้โครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์แบบหนึ่ง
นอกเหนือจากสามประเด็นหลักที่โต้แย้งไปดังกล่าวแล้ว ยังมีบางประเด็นที่ทำให้ผู้เขียนสับสนตรรกะที่ปรากฏในบทความ ดังเช่นคำกล่าวที่บอกว่า
“ที่สำคัญไม่ควรลืมว่า ในทางกฎหมาย กสทช. ก็ยังมีอำนาจคุ้มครองประโยชน์แก่รัฐและผู้ใช้บริการในระยะยาวได้ เช่น อำนาจในการเก็บค่าตอบแทนการใช้คลื่นความถี่หรือค่าธรรมเนียม และการจัดสรรรายได้อื่นเข้ารัฐ รวมไปถึงอำนาจการกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการ รวมถึงมาตรการป้องกันการผูกขาดและการกำกับการมีอำนาจเหนือตลาดต่างๆ”
การกล่าวถึงอำนาจในการเก็บค่าตอบแทนการใช้คลื่นความถี่หรือค่าธรรมเนียม คุณวีรพัฒน์คงจะหมายถึงค่าธรรมเนียมรายปีและค่า Universal Service Obligation (USO) หรือการให้บริการครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งการเก็บค่าธรรมเนียมในส่วนนี้มากเกินไป จะกลายเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มที่ถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภค (ต่างจากต้นทุนจมในกรณีการประมูลคลื่นความถี่) ส่วนการกล่าวถึงเครื่องมือการกำกับดูแลอื่นๆ เช่น การกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการ หรือมาตรการป้องกันการผูกขาด เครื่องมือเหล่านี้ต่างหากที่จะถูกใช้เพื่อป้องกันค่าบริการที่สูงเกินไป ซึ่งน่าจะช่วยลดข้อกังวลของคุณวีรพัฒน์ในเรื่องดังกล่าว
คุณวีรพัฒน์กล่าวไว้ในช่วงหนึ่งของบทความว่า “ผลการประมูลชุดคลื่น 15-15-15 MHz ที่อาจจะเกิดจะเกิดขึ้นได้ อาจ “ไม่น่าปรารถนานัก” นัก แต่ในฐานะนักกฎหมายก็จำต้องยึด “หลักการ” เหนือ “ความปรารถนา”” ผู้เขียนไม่เชื่อว่า “ความปรารถนาที่ดี” ควรจะเบี่ยงเบนจาก “หลักการที่ควรจะเป็น” เว้นแต่เราจะอ้าง “หลักการ” เพื่อ “ความปรารถนา” ของใครบางคน
..........................

วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน The Zombie Opposition


โดย เกษียร เตชะพีระ

ที่มา:กระแสทรรศน์ มติชนรายวัน 21 กันยายน 2555
 
"สุเทพยื่น ป.ป.ช.ฟันธาริต-ประเวศน์ผิด ม.157 ไม่ฟ้องผังล้มเจ้า-ตู่"

ไทยรัฐออนไลน์, 23 พ.ค.2555
http://m.thairath.co.th/content/pol/262809

"คำต่อคำ : เปิดใจแกนนำพันธมิตรฯ ลั่นพร้อมรบ "สนธิ"ย้ำชุมนุมต้องแตกหัก จี้ทหารร่วมมือ ปชช.ปฏิวัติ"

Manager Online, 20 ม.ค.2555 http://www.manager.co.th/politics/viewnews.aspx?NewsID=9550000009019



ในภาวะ The Weary Moderation หรือกระแสสังคมการเมืองเข็ดล้าจนปรับตัวหันมาเดิน สายกลางราวปีกว่าที่ผ่านมา ซึ่งผมเสนอนิยามรวบยอดไว้ว่า:

"ไม่เอาผังล้มเจ้า ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาสงครามครั้งสุดท้าย" (อีกแล้ว) นั้น

ท่าทีของแกนนำสำคัญของฝ่ายค้านทั้งในและนอกสภาข้างต้นบ่งชี้ชัดว่าพวกเขาทั้งตกกระแสและสวนทวนกระแสหลักของสังคมการเมืองไทยอย่างไร

เหล่านี้เมื่อประกอบกับพฤติกรรมและแนวทางที่แสดงออกของฝ่ายค้านทางการเมืองในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ทำให้พวกเขาสุดโต่ง คับแคบ โดดเดี่ยว ตีบตัน หดเล็ก อ่อนเปลี้ย ค้านเบี่ยงเบน แผกเพี้ยนผิดฝาผิดตัวหลุดโลกหยุมหยิมไม่เป็นเรื่อง กลายเป็นอันธพาลวาทกรรมดื้อรั้นหัวชนฝา ไม่ฟังเหตุผลข้อเท็จจริง, นักเลงเกกมะเหรกเกเรอาละวาดวุ่นวายไม่เคารพกฎเกณฑ์กติกาในที่ประชุมสภาอันทรงเกียรติ, หรือตัวตลกเปิ่นเท่อซุ่มซ่ามฝังหัวงมงายให้ผู้คนส่ายหน้าด้วยความเอือมระอาและยิ้มเยาะไยไพ

หลายเรื่องเด่นๆ ที่เล่นตั้งแต่คำกล่าวหานายกรัฐมนตรีหญิงในเรื่องส่วนตัวเสียๆ หายๆ, การคัดค้านไม่ให้ชดเชยแก่ผู้ชุมนุมที่ถูกรัฐล่วงละเมิดสิทธิในร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน, การยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหาว่าการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเป็นการล้มล้างการปกครอง, การก่อภาวะไร้ระเบียบหรืออนาธิปไตยขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของประธานที่ประชุมและ ล้มการประชุมสภา, การชุมนุมข่มขู่สภาว่าจะก่อ "สงครามครั้งสุดท้าย" (อีกแล้ว) ขัดขวางร่างกฎหมายปรองดอง, การปลุกประเด็นการเมืองการทหารเลื่อนลอยเพื่อคัดค้านความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศในการตรวจสอบวิจัยปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง, การกอดศพ

"ผังล้มเจ้า" ที่ปลุกไม่ฟื้นและดีเอสไอกับอัยการสูงสุดตัดสินใจฌาปนกิจแล้ว, การมัวเสียเวลาสาละวน ปกป้องระวังแผลเหวอะหวะกลางหลังจากปัญหาการรับราชการทหาร คำสั่งแทรกแซงราชการประจำเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และเหตุปราบปรามฆ่าหมู่กลางเมืองในอดีต, การโน้มตัวลงเจริญรอยตามพันธมิตรนอกสภาในประเด็น "ล้มเจ้า" และกลายสภาพเป็นกองโฆษณาชวนเชื่อทางทีวีดาวเทียมอีกหนึ่งสถานี, การปั้นแต่งนิยายขายข่าวเรื่องภัยอเมริกายึดครองไทยตามทฤษฎีสมคบคิดไม่รู้จบ ไม่ว่ากรณีมหาวิทยาลัยคอร์แนล นาซาสตาร์วอร์ หรือไม่มีเครื่องบินชนตึกตอน 9/11, กระทั่งเมาหมัดซัดแม้แต่สมาชิกอาวุโสพรรคเดียวกันเองในเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งอย่างราคาอาหารในสภาโดยมิพักไต่สวนสอบถามให้ดีเสียก่อน ฯลฯ

เหล่านี้ทำให้การคัดค้านที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ในระบอบเสรีประชาธิปไตยต่อพรรคฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างมากที่เคยมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงส่อไปในทางแสวงประโยชน์ส่วนตนและฉวยใช้อำนาจในทางมิชอบในอดีต กลับไม่ได้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ แสดงความด้อยสมรรถภาพในการค้าน โลๆ เลๆ เลอะเทอะเหลวไหล ไม่เอาไหน ไม่เป็นโล้เป็นพาย เหมือนมือสมัครเล่นมากกว่ามืออาชีพ จนแม้แต่ผู้อาวุโสฝ่ายค้านข้างเดียวกันยังถึงแก่ออกปากว่า:

"ผมให้เกรดนายกฯยิ่งลักษณ์มากกว่าหัวหน้าพรรคของผม..... ผมคิดว่าอภิสิทธิ์ได้คะแนน ไม่เกิน 60 ส่วนคุณยิ่งลักษณ์ไม่เกิน 75 คะแนน.....

"การที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการปฏิวัติ พรรคประชาธิปัตย์กลับไม่มีคอมเมนต์ออกมาสักคำหนึ่งเลย แสดงให้เห็นว่าประชาธิปัตย์เปลี่ยนแล้วใช่หรือไม่..... พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองมีหรือไม่ที่ออกแถลงการต่อต้านเผด็จการ เปล่าเลย มันกระทบกระเทือนจิตใจผมเหลือเกินว่าสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์รักและหวงแหนมานั้น กลายเป็นไม่มีใครสนใจเลย คือดีใจซะจนลืม.....

"ถ้ายังเป็นแบบนี้ต้องรออย่างน้อย 8 ปี อีก 2 เทอม เสียใจที่พูดอย่างนี้....."

"พิชัย รัตตกุล ให้คะแนนผ่านแว่นผู้อาวุโส ปู-มาร์คใครเหนือใคร"

มติชนสุดสัปดาห์, 14-20 กันยายน 2555, น.34



ฝ่ายค้านในและนอกสภาที่เคยคว่ำโค่นและสั่นคลอนระบอบทักษิณนานหลายปีพลันปรับตัวตามกระแส The Weary Moderation ไม่ทัน กลับกลายเป็น The Zombie Opposition (ค้านแบบผีดิบซอมบี้เดินตัวแข็งตายด้านทึ่มมะลื่อทื่อ จะรอบีบคอกินเนื้อซดเลือดทักษิณกับยิ่งลักษณ์ท่าเดียว) ไปได้อย่างไร?

เริ่มจากขบวนการฝ่ายค้านนอกสภา.....

"และผมจะบอกให้รู้ว่าผมไม่ได้นั่งเฉยๆ ผมเตรียมพร้อมทุกวินาทีที่จะออกมาสู้ แล้วสู้ครั้งนี้ พี่น้องไม่ใช่มาประท้วงที่ถนน จะต้องสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐเลย ต้องสู้เพื่อแตกหัก เพราะถ้าไม่แตกหักแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเราไปไม่รอด ผมเป็นคนแรกที่บอกว่า ทหารเท่านั้นที่จะเป็นเสาค้ำพระเจ้าอยู่หัว แต่ถ้าทหารไม่สามารถจะค้ำได้ อีกไม่นานพวกเราคงต้องออกมาค้ำพระเจ้าอยู่หัว และถ้าออกมาครั้งนี้ต้องชนะอย่างเด็ดขาด ไม่มีการตีงูให้กากิน แล้วก็ไม่มีการที่จะให้ไอ้พวกแมลงสาบมาตีกินพวกเราอีก ผมเชื่อว่าในที่สุดแล้ว มีพลังของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะค้ำจุนประเทศชาติได้ ทหารอย่านั่งเฉย รีบออกมาปฏิวัติเสีย แล้วพันธมิตรทั่วประเทศจะออกมาร่วมกับทหารยึดประเทศไทยคืนมาจากไอ้พวกชั่วๆ เท่านี้ล่ะครับพี่น้องครับ ขอบพระคุณพี่น้องมากครับ"

สนธิ ลิ้มทองกุล โฟนอินงานตรุษจีนปีใหม่พันธมิตร

Manager Online, 20 ม.ค.2555



ปัญหาพื้นฐานของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็คือตกลงจะเป็นพลังต่อต้านที่ปฏิเสธไม่เอาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งทั้งระบบ (a force of resistance to the whole political system of electoral democracy) หรือจะเป็นพลังฝ่ายค้านนอกสภาในระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง

(an extra-parliamentary opposition in electoral democracy) กันแน่?

ปัญหานี้ถูกจุดขึ้นจากการที่แกนนำพันธมิตรบางคนเรียกร้องและสนับสนุนให้ทหารก่อรัฐประหารโค่นรัฐบาลทักษิณและเครือข่ายที่ชนะการเลือกตั้งหลายครั้งหลายหน, ต่อมาก็เสนออย่างเปิดเผยให้ใช้ระบบรัฐสภาแบบแต่งตั้ง 70 เลือกตั้ง 30 ที่เพิ่มอำนาจพิเศษแก่สถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมาก, การแสดงท่าทีจะเดินเข้าสู่ระบบการเมืองจากการเลือกตั้งโดยสร้างพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาถูกสะบั้นตัดขาดและแตกหักแยกทางในช่วงสุดท้ายพร้อมกับเสียงกล่าวหาซึ่งกันและกันของแกนนำสองฝ่ายดังขรม, และก็ดังตัวอย่างคำแถลงที่ยกมาข้างต้นซึ่งมีให้ได้ยินได้ฟังเป็นพักๆ จากแกนนำพันธมิตรมันสะท้อนว่าพวกเขามีปัญหาจริงๆ ในการปรับตัวจากการเมืองแบบสู้รบ (militant politics) ไปสู่การเมืองแบบปกติธรรมดา (normal politics) ในระบอบประชาธิปไตย

ในการต่อต้านระบอบทักษิณ พันธมิตรได้เลือกปรับแต่งสารการเมืองที่สื่อ, เรียกหา พลังสนับสนุน, และระบุเอกลักษณ์สังกัดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ (gear its message and appeal to as well as identify with) ฐานมวลชนอนุรักษนิยม-ชาตินิยมในหมู่คนชั้นกลางชาวเมืองซึ่งระแวง นักการเมืองจากการเลือกตั้งกับเสียงข้างมาก และเพิ่งตื่นตัวเข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมืองใหม่ๆ อย่างขาดประสบการณ์

ในฐานะผลผลิตของแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ระบอบรัฐราชการรวมศูนย์ อุปถัมภ์ และรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยในรัชกาลปัจจุบัน มวลชนคนชั้นกลางเหล่านี้กลายเป็นพลังที่ยึดมั่นระเบียบบ้านเมืองอันเหลื่อมล้ำทางอำนาจ ปลอดการเมือง ทว่าสงบเรียบร้อยดี งามเพราะมีคนดีคอยดูแลให้แต่เก่าก่อน พวกเขารู้สึกหวาดระแวงและถูกคุกคามให้เสื่อมถอย อิทธิพลจากกระแสการตื่นตัวเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับล่างในเศรษฐกิจนอกระบบและหัวเมืองชนบทที่มีระบอบทักษิณเป็นหัวขบวนตัวแทนอย่างยิ่ง การเลือกยึดมั่นตั้งมั่นอยู่กับพลังที่ปฏิกิริยาล้าหลังทางการเมืองนี้ทำให้ยากที่พันธมิตรจะขยับปรับตัวยอมรับ การปฏิรูประเบียบอำนาจใดๆ ได้ต่อให้เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมาถึงในที่สุดก็ตาม



เสน่ห์ของการเมืองแบบสุดโต่ง (political fanaticism) ก็คือแม้มันจะแปลกแยกจากกระแสสังคมส่วนใหญ่ (the weary moderation) ตั้งอยู่บนฐานกลุ่มก้อนผู้ยึดมั่นศรัทธาฝังใจที่แคบเล็ก แต่ก็อำนวยความอบอุ่นใจสบายใจมั่นอกมั่นใจในความถูกต้องบริสุทธิ์ไม่ประนีประนอมปรองดองกับคนชั่วสิ่งผิดของตัวแก่ทั้งแกนนำและผู้ตาม มีคุณสมบัติแข็งทื่อมั่นคงที่วางใจได้คาดเดาได้ไม่ผันแปร ล้วนคนหน้าเดิมที่ผูกรักภักดีฝังใจเพราะได้พิสูจน์ตัวเองท่ามกลางกระแสการต่อสู้อันดุเดือด กอดคอร่วมเสี่ยงร่วมเสียสละร่วมแพ้ร่วมชนะมาแล้วในอดีต ต่างได้ลงทุนทั้งเงินทองวัตถุ ความคิดจิตใจ และความหมายในชีวิตให้แก่กันและแก่กองกลางจนรู้สึกอิ่มบุญกลางสมรภูมิการเมือง สายใยต่อกันแน่นแฟ้นเชื่อมโยงชนิดที่ว่าเรียกหาว่า "พี่น้องเอ๊ย" เมื่อไหร่ก็พร้อมมา เดิมพันได้เสียทั้งส่วนตัวและส่วนรวม, ต้นทุนทางความคิดและศักดิ์ศรีที่ลงไป, รวมทั้งแรงเฉื่อยเชิงสถาบันที่รั้งดึงทำให้ขบวนการทั้งเหนียวแน่นมั่นคง ไม่ล้มหายตายจากไปไหน แต่ก็แคบเล็กและมีแนวโน้มจะค่อยๆ เรียวลงจนกลายเป็น groupuscules (กลุ่มย่อยเล็กถือแนวทางการเมืองสุดโต่ง ปิดตัวเองจากกระแสหลักนอกกลุ่มหล่อเลี้ยงด้วยศรัทธาในความถูกต้องอย่างสิ้นสงสัยของตัวเบื้องหน้าความหลงผิดและโง่เขลา ไม่รู้ความจริงของคนส่วนใหญ่ในสังคม) ที่เฝ้ารอวิกฤตวันพิพากษาและชัยชนะใน "สงครามครั้งสุดท้าย" ที่จักต้องมาถึงซึ่งจะพิสูจน์ยืนยันความถูกต้องของตนในที่สุด

ที่แปลกก็คือพรรคฝ่ายค้านในสภาเสมือนถูกกักขังทางความคิดและจินตนาการ พลอยถูกโน้มดึงชักจูงให้เจริญรอยตามแนวทางสุดโต่งของฝ่ายค้านนอกสภาต้อยๆ ไปด้วย เล่นเรื่องเดียวกัน ด้วยกระบวนท่าคล้ายกัน โดดเดี่ยวจากเสียงข้างมากและกระแสหลักของสังคมการเมืองเหมือนกัน จนดูเหมือนว่าไม่สามารถปรับตัวและวิธีคิดวิธีทำงานการเมืองจากสถานะ [พรรคฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยที่คอยตั้งรับ] มุ่งสู่การเป็น ? [พรรคที่รุกเข้าหาคนส่วนใหญ่เพื่อเป็นเสียงข้างมากให้จงได้] ยังคงยึดมั่นเกาะติดกับฐานเสียงอนุรักษนิยม-ชาตินิยมที่จำกัดแคบเล็กและปฏิกิริยารวมทั้งฐานเสียงเฉพาะถิ่นภูมิภาคดั้งเดิม ปล่อยให้ฐานเสียงดังกล่าวกำกับบงการระเบียบวาระและปฏิบัติการทางการเมืองทั้งในและนอกสภาของตน จนคัดค้านปฏิเสธการปฏิรูปที่จำเป็นใดๆ ไม่ยอมปรับตัวเปลี่ยนแนวเพื่อโน้มเข้าหาช่วงชิงและย้ายฐานเสียงไปแย่งยึดพื้นที่ในใจเสียงข้างมากของสังคม

เหล่านี้เมื่อประกอบกับชนักติดหลังแกนนำพรรคอันเนื่องมาจากคดีความสืบเนื่องจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต 2553 ก็ทำให้การ "เปลี่ยนการนำ-แปรแนวทาง-ปรับขบวน" ที่จำเป็น เพื่อฟื้นฝ่ายค้านในสภาและมุ่งสู่การเป็นพรรคเสียงข้างมากของสังคมการเมืองไทยให้ได้ไม่เกิดขึ้น จนแล้วจนรอด กลับทำท่าพอใจที่จะเรียวลงเป็น groupuscules ในสภาไปเสียฉิบ?

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

" อภิสิทธิ์ชนโมเดล "


จาก หนังสือพิมพ์ RED Power ฉบับที่ 28 เดือน สิงหาคม 2555
ประเทศไทยมีภาพการปกครองสวยหรูตามแบบฉบับของประเทศที่เจริญแล้ว นับตั้งแต่มีการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ.2475  ถึงวันนี้ก็ 80 ปีแล้วหากเปรียบเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์และความรู้มากมาย มีรากฐานข้อมูลแน่นปึกเป็นประโยชน์ให้กับอนุชนคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี  แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า 80 ปีที่ผ่านมาเราเห็นแต่ภาพคนแก่สุขภาพไม่แข็งแรงป่วยกระเสาะกระแสะ ไม่สามารถเป็นที่พึ่งทางใจให้กับลูกหลานได้    คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สร้างคุณอนันต์ก็ช่างน้อยนิดเหลือเกิน  จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นประชาชนในชาติไทยต้องล้มลุกคลุกคลานไปกับการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มี    ภาพการไร้ซึ่งเสถียรภาพทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม  ตลอดจนภาพทหารก่อการรัฐประหารเปลี่ยนผ่านอำนาจกันเป็นว่าเล่น  สลับกับการยอมคืนอำนาจให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามสิทธิและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเมื่อถูกพลังมวลมหาประชาชนทวงถาม  วัฎจักรพรรคการเมืองใหม่แทรกผ่านกาลเวลาเบียดพรรคการเมืองเก่าให้เห็นเป็นระยะๆ  นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง หรือถูกวางตัวจากผู้มีอำนาจก็ผลัดเวียนวนกันจัดตั้งรัฐบาลตามจังหวะสถานการณ์แต่ละห้วงเวลา 
 
          วันนี้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากเสียงประชาชน ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเดินหน้าทำหน้าที่ไปพร้อมกับพรรคร่วมรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไม่หวั่นไหวต่อแรงเสียดทานจากพรรคฝ่ายค้าน ที่วันนี้ผู้นำพรรคฝ่ายค้านจงใจเดินสายปราศรัยเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่ผู้อื่น โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่นำเสนอจะเป็นการปลุกระดมมวลชนให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติหรือไม่    ครั้งล่าสุดถึงขนาดลงทุนสวมใส่เสื้อยืดสีแดงขึ้นเวทีปราศรัย  พร้อมกับยกวาทะกรรมอ้างว่าสีแดงไม่ใช่สีของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เป็นสีที่หมายถึงชาติ ใครใส่สีแดงที่มีอุดมการณ์ต้องไม่เห็นด้วยกับ พรบ.ปรองดอง และอื่น ๆ อีกมากมาย   มองได้ว่าการสร้างวาทะกรรมดังกล่าวเป็นความพยายามสร้างประเด็นสร้างกระแสคล้ายกับต้องการแยกมวลชนคนเสื้อแดงออกจากพรรคเพื่อไทยซะงั้น  แต่งานนี้ประชาชนหรือคนเสื้อแดงฟังแล้วจะเห็นด้วยหรือให้ความสำคัญมากน้อยขนาดไหนก็คงต้องติดตามกันต่อไป 
 
แต่หากจะประเมินผลสะท้อนกลับจากการสร้างวาทะกรรมดังกล่าวของผู้นำพรรคฝ่ายค้านกันคร่าว ๆ  ก็น่าเชื่อได้ว่าประชาชนจำนวนมิน้อยคงต้องชั่งใจและกลั่นกรองกันพอสมควรเพราะก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วันผู้นำพรรคฝ่ายค้านถูกสื่อหลักจับเป็นประเด็นขึ้นหน้าหนึ่งพาดหัวตัวโต ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์  วิทยุโทรทัศน์ โด่งดังไปทั่วราชอาณาจักรไทยกันเลยทีเดียว ในประเด็นเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร  เรื่องนี้ถึงขนาดทำให้ผู้นำพรรคฝ่ายค้านออกอาการเต้นและร้อนรุ่มขนาดเอาเรื่องและฟ้องร้องแกนนำคนเสื้อแดงอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ข้อหาหมิ่นประมาทที่กล่าวหานายอภิสิทธิ์ฯว่าหนีการเกณฑ์ทหาร จะว่าไปถ้านายอภิสิทธิ์ฯ ไม่ฟ้องร้องในประเด็นดังกล่าวก็คงไม่มีใครให้ความสนใจไปขุดคุ้ยอดีตของนายอภิสิทธ์ฯกันอย่างจริงจัง เหมือนอย่างในวันนี้ และหากนายอภิสิทธิ์จะปล่อยให้เป็นเรื่องของศาลทำหน้าที่ตามกระบวนการไปอย่างเงียบ ๆ  ไม่ออกมาโต้ข่าวรายวันอย่างที่ทำ หรือเที่ยวท้าทายจะเอาเรื่องกับคนที่กล่าวหาตน โดยไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหมใด ๆ ทั้งสิ้น เหมือนอย่างวันนี้  เรื่องการเกณฑ์ทหารของนายอภิสิทธิ์ฯ ก็อาจเป็นแค่คลื่นน้อย ๆ กระทบฝั่งเท่านั้นเอง
 
แต่คงเพราะที่ผ่านมาในอดีตถือว่ามีเส้นดี  มีมือที่มองไม่เห็นคอยอุ้ม หรือเพราะดวงดีแต่กำเนิดหรือไม่ไม่กล้ายืนยัน จึงทำให้นายอภิสิทธิ์กล้าท้าชนคนไปทั่วไม่ว่าหัวหงอกหัวดำชนิดไม่มีลดลาวาศอกให้แก่กันละ  ขนาดพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ออกมาแถลงข่าวกรณี  นายอภิสิทธิ์ฯ ใช้สด.9 ปลอม สมัครเข้าร.ร.จปร. และได้สั่งกรมพระธรรมนูญพิจารณาขั้นตอนถอดยศ ร้อยตรี และเรียกเงินเดือนขึ้น ก็ได้ย้ำว่าเรื่องนี้ต้องทำอย่างรอบคอบ ไม่มีการเมืองเกี่ยว  นายอภิสิทธิ์ฯ ก็ประกาศที่จะเอาเรื่องเหมือนกัน คนของพรรคประชาธิปัตย์ก็ขุนพลอยพยักไปด้วยว่า รมต.กลาโหม จะต้องขอขมานายอภิสิทธ์ฯ  ถ้าหากผลการพิสูจน์ออกมาว่าไม่มีมูลตามที่กล่าวหา

การดิ้นรนต่อสู้ด้วยการใช้วาทะกรรมให้ดูเสมือนมีหลักการดี  มีคุณธรรมและจริยธรรมสูงส่งกลบเกลื่อนปกปิดพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องไปพร้อม ๆ กับการชี้หน้ากล่าวหาใส่ความผู้อื่นว่าเลวกว่า  พบมาโดยตลอดในสังคมไทยในอดีต และยิ่งชัดเจนมากขึ้นในปัจจุบันจากพรรคการเมืองบางพรรคซึ่งพฤติกรรมที่ว่าแสดงออกกันจนแทบจะเป็นพฤติกรรมต้นแบบให้คนในสังคมอีกจำนวนหนึ่งเลียนแบบ จนวันนี้คงไม่ผิดหากจะเรียกพฤติกรรมดังว่าเป็น อภิสิทธิ์ชนโมเดล    อภิสิทธิ์ชนโมเดลได้แพร่หลายในสังคมฟากฝั่งสมุนลิ่วล้ออำมาตย์  และพรรคการเมืองที่อำมาตย์ให้การสนับสนุนบางพรรค  ไม่ว่าพวกนี้ทำอะไรลงไป พูดอะไรออกมา จะเลวจะร้าย  ก็ไม่เคยมีความผิด อยู่รอดปลอดภัยมาโดยตลอด  กระบวนการยุติธรรมเหมือนจะเอื้อมถึงแตะต้องได้  แต่สุดท้ายก็แทบไม่ได้เห็นผลลัพธ์ที่มีนัยยะสำคัญเอาผิดกับพวกเหล่านี้ให้เห็นสักครา  ตัวอย่างง่าย ๆ เหล่าพันธมิตรที่ยึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ วันนี้มีใครบ้างที่ได้รับโทษทัณฑ์จากการกระทำดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมบ้าง  จนเป็นเหตุให้ฉงนต่อสังคมว่าการยึดสนามบินไม่มีความผิดหรืออย่างใด ประชาชนคนไทยวันนี้ตาสว่างเบิกโพลงอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะต่างได้เห็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นอภิสิทธิ์ชนโมเดลจนยากปฎิเสธว่า บ้านนี้เมืองนี้มันมีสองมาตรฐาน มีการเลือกปฎิบัติอย่างชัดเจน  หลายเคสหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินเมืองยิ้ม  มีการตีความช่วยเหลือผู้ที่กระทำผิดแทนที่จะช่วยกันประนามและลงโทษทางกฎหมาย  บางคนตำแหน่งสูงใหญ่แต่ก็บุกรุกที่ป่าสงวน เพียงเพราะอยากมีอยากเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินและอยากได้ สัมผัสบรรยากาศทะเลหมอกที่หาชมไม่ได้ในเมืองกรุง  ทั้งที่หน้าฉากสุดแสนจะสร้างภาพสำนึกในคุณแผ่นดิน รักชาติยิ่งชีพ คุณธรรมจริยธรรมสูงปรี๊ดให้เห็น   พอถูกจับได้ก็แก้เกี้ยวส่งคืน แต่สุดท้ายกฎหมายก็เอื้อมไม่ถึงเพราะผู้คนเหล่านี้ล้วนอยู่ในสังคมและเดินตามกรอบอภิสิทธิ์ชนโมเดล แถมบางคนกลับได้ดียิ่งกว่าเก่าเสียอีก  โอน่าตกใจมิน้อยที่เห็นภาพเช่นนั้น ยิ่งวันสองวันนี้เห็นข่าวการรื้อถอนรีสอร์ทของนักธุรกิจบางรายที่รุกที่ป่าสงวนจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และเห็นเจ้าของรีสอร์ทให้ข่าวว่าได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง และจะฟ้องเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ที่ไปรื้อถอน  น่าประหลาดใจมากว่าคนไทยวันนี้เป็นอะไรไปกันหมดแล้ว  แข็งขืนทั้งที่กระทำผิด เมื่อไหร่จะยอมสลัดกรอบอภิสิทธิ์ชนโมเดลเสียที แล้วกลับมาอยู่ในกรอบของกฎหมาย  กรอบศีลธรรมอันดีงามอย่างที่คนไทยที่ดีควรมีควรเป็นกันเสียที    นอกจากเคสตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นแล้วยังมีอีกหลายเรื่องราวที่ผู้คนในสังคมบางกลุ่มไม่ยอมสลัดให้หลุดจากอภิสิทธิ์ชนโมเดล  นอกจากไม่ยอมสลัดทิ้งแล้วยังจะพยายามโอบอุ้มขยายเครือข่ายโมเดลผิดเพี้ยนให้แพร่หลายมากขึ้น

หลายๆ คนสร้างภาพแสร้งว่าเป็นคนดีมีคุณธรรมสูงส่ง ทั้งที่มีชนักปักหลังมากมาย แต่ก็กล้าแสดงบทไร้ยางอายด้วยการชี้หน้าด่าคนอื่นว่าเลวกว่าตน ประเทศไทยถ้าหากปล่อยให้อภิสิทธิ์ชนโมเดลคงอยู่   สังคมไทยมีแต่จะทรามเสื่อมถอยลงทุกวัน  คุณภาพชีวิตของประชาชนจะไม่มีวันก้าวไปข้างหน้า วิสัยทัศน์ก้าวไกลก็คงไม่มีวันเกิดขึ้นได้  วันนี้ส่วนหนึ่งของความไม่สงบทางการเมืองก็เพราะมีพรรคบางพรรคที่มิได้เป็นรัฐบาลทำหน้าที่เกินบทบาทตนเองมากเกินไปชี้นำสั่งรัฐบาลให้ทำโน่นนี่นั่นทุกวัน  ทั้งที่การบริหารราชการแผ่นดินเป็นเรื่องของรัฐบาล   ถ้าอยากจะพูดน่าจะรอให้เปิดสมัยการเปิดการประชุมรัฐสภาน่าจะดีกว่ามั้ย  อยากจะพูดจะติติงการทำงานรัฐบาลจะเสนอแนะอะไรปล่อยเต็มที่ช่วงนั้นจะดีกว่ามั้ย  ความไม่สงบสุขและดูวุ่นวายทางการเมืองอยู่เนือง ๆเพราะพรรคฝ่ายค้านแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลผ่านสื่อหลักมากไปมั้ย  วันนี้สื่อหลักบ้าจี้ตามพรรคฝ่ายค้านมากเกินระดับจรรยาบรรณที่ดีเกินไปมั้ย    ประชาชนหลายภาคส่วนเริ่มตั้งคำถามกันอย่างกว้างขวางแล้ว  ถึงขนาดมีเสียงสะท้อนให้ได้ยินว่า ถ้าพรรคฝ่ายค้านและสมุนพรรคหัดหุบปากลงบ้างความสงบสุขของบ้านเมืองและดัชนีชี้วัดความสุขของประชาชนน่าจะสูงปรี๊ดทีเดียว  ที่สำคัญช่วยหยุดแพร่กระจาย อภิสิทธิ์ชนโมเดลเสียที   และเลิกอ้างเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่ผู้อื่นทั้งที่ทำผิดอยู่โทนโท่  ลากเก้าอี้ประธานสภางี้   ฉุดกระชากแขนประธานสภาในสมัยการประชุมฯ งี้  แล้วอ้างว่าทำดีทำถูก  โอพระเจ้าจอร์ช  น่าตกใจมากนะเนี่ยถ้ายังปล่อยให้อภิสิทธิ์ชนโมเดลยังคงอยู่ต่อไป   ไทยแลนด์แดนสมายคงไม่ใช่แล้ว  มันจะกลายเป็นเมืองที่ผู้คนหน้าด้าน  ไร้ยางอายมากขึ้นสุดท้ายจะกลายเป็นเมืองตอแหลแลนด์  ที่ปกครองโดยระบอบอภิสิทธิ์ชนโมเดล  ถ้าไม่ใช่วัวใช่ควาย ไม่น่าจะอึดและทนรับกับโมเดลที่ว่ากันได้นะสิบอกไห่ประชาชนชาวไทยที่รักทั้งหลายเอ๋ย !!!!!

วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

6 ปีรัฐประหารอัปยศ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 377 วันที่ 15-21 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 5 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ



เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นายทหารกลุ่มหนึ่งที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมด้วย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 เป็นต้น ได้นำกองทัพเข้าก่อการยึดอำนาจทำการรัฐประหาร เพื่อล้มรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการล้มเลิกประชาธิปไตยและล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งชาติไปด้วย

มาถึงขณะนี้เวลาผ่านมาแล้ว 6 ปี คงจะต้องสรุปว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งที่ล้มเหลวที่สุด เป็นรัฐประหารที่นำมาสู่ความวุ่นวาย ความแตกแยก และการนองเลือดของประชาชน ชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีการอันไม่เป็นประชาธิปไตยภายใต้กรอบแนวคิดอนุรักษ์นิยมจัด ย่อมไม่ได้ผลและนำไปสู่ความอัปยศเป็นที่สุด

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่าการรัฐประหารในประเทศไทยครั้งนั้น เผชิญปัญหาประการแรกทันที เพราะเป็นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เอื้ออำนวยของสถานการณ์ระหว่างประเทศ เพราะโลกนานาชาติไม่ได้ถือกันแล้วว่าการรัฐประหารเป็นวิถีทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบอารยะ ประเทศที่ก้าวหน้าในยุโรปไม่มีการรัฐประหารมาเป็นเวลาช้านาน ในลาตินอเมริกา แอฟริกา แทบจะไม่เหลือประเทศที่เปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยวิธีการรัฐประหารเลย

รัฐประหาร พ.ศ. 2549 ของไทยจึงถูกมองด้วยความประหลาดใจและไม่เข้าใจ กล่าวกันว่าแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาก็มีความเห็นว่ารัฐประหารในไทยครั้งนั้น “ไม่มีเหตุผลที่จะยอมรับได้” สถานการณ์เช่นนี้ทำให้คณะรัฐประหารไม่สามารถถือครองอำนาจไว้ได้ยาวนาน ต้องรีบดำเนินการให้กลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองปรกติโดยเร็ว

ความล้มเหลวของการทำรัฐประหารประการสำคัญ เห็นได้จากการไม่บรรลุข้ออ้างการทำรัฐประหาร เช่น ทำเพื่อการป้องกันความรุนแรงและความแตกแยกในสังคม แต่หลังรัฐประหารสังคมไทยยิ่งแตกแยกยิ่งกว่าเดิม และยิ่งนำมาซึ่งความรุนแรงมากยิ่งกว่าเดิม จนถึงขณะนี้ผลกระทบจากความแตกแยกและความรุนแรงยังไม่อาจเยียวยาได้ แม้ว่า พล.อ.สนธิในวันนี้จะเปลี่ยนบทบาทมาเป็น ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร และรับตำแหน่งประธานกรรมาธิการปรองดองฯของรัฐสภา พร้อมทั้งเสนอกฎหมายปรองดองเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่การปรองดองก็ยังไม่บรรลุผล

ข้ออ้างต่อมาคือ เรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เห็นได้ชัดว่าหลังจากรัฐประหารมีการอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาทำลายศัตรูทางการเมืองกันชัดเจน เช่น การใช้มาตรา 112 จับกุมประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก จนถึงขณะนี้ยังมีผู้บริสุทธิ์ถูกคุมขังอยู่ การที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขังผู้บริสุทธิ์ หรือทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตคาคุกเช่นนี้ ไม่ได้เป็นการปกป้องพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด แต่จะยิ่งทำให้เกิดความแยกห่างจากประชาชนมากยิ่งขึ้น

ข้อกล่าวหาเรื่องรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณแทรกแซงองค์กรอิสระ วันนี้องค์กรอิสระทั้งหมดก็ยังถูกแทรกแซงโดยฝ่ายตุลาการ จนทำให้องค์กรเหล่านี้ถูกมองว่ามีบทบาทอันอัปลักษณ์บิดเบี้ยว การดำเนินการและผลงานล้วนไม่เป็นที่ยอมรับ กลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอยุติธรรมเช่นเดียวกับองค์กรตุลาการอื่น

ส่วนข้อกล่าวเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์อันชัดเจนแต่อย่างใด เรื่องนี้จึงยังเป็นมายาคติขนาดใหญ่ที่มีการสร้างกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฝ่ายประชาชนเสื้อเหลืองเชื่อว่าเป็นความจริง และยังต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณอย่างไม่ลืมหูลืมตา

แต่ผลของรัฐประหารที่เสียหายอย่างยิ่งคือ การล้มเลิกรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะความจริงแล้วการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยพัฒนาอย่างราบรื่นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ และมีกติกาชัดเจนว่าพรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุด และรวบรวมเสียงในรัฐสภาได้มากกว่าครึ่งจะได้จัดตั้งรัฐบาล การเปลี่ยนรัฐบาลก็เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยเสมอ

ยิ่งกว่านั้นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2540 ถือว่าเป็นฉบับประชาธิปไตย และประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดฉบับหนึ่ง แต่คณะรัฐประหารล้มเลิกหมด แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับอัปลักษณ์ ที่ให้อำนาจแก่ศาลอยู่เหนือการเมืองมาใช้แทน จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่กระนั้นความพยายามที่จะแก้ไขยกเลิกรัฐธรรมอัปลักษณ์นี้ก็ยังถูกต่อต้านจากฝ่ายปฏิกิริยาเสมอมา

ปัญหาสำคัญที่นำมาสู่ความรุนแรงก็คือ การที่กลุ่มอำมาตยาธิปไตยที่อยู่เบื้องหลังทางการเมืองหลังรัฐประหารสนับสนุนให้มีการตั้งรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 ในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2550 โดยการรวบรวมเสียงจากพรรคเสียงเล็กๆ กับกลุ่มแปรพักตร์มาตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ นั่นคือรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่รับตำแหน่งในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 จึงนำมาซึ่งการต่อต้านคัดค้านอย่างหนัก โดยกลุ่มชนชั้นนำที่ค้ำจุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้ “ผังล้มเจ้า” มาใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้าม เพื่อเปิดทางให้เกิดการใช้ความรุนแรงในการกวาดล้างปราบปรามประชาชนโดยกองทัพ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 94 คน และบาดเจ็บนับพันคน มีผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก และขณะนี้ก็ยังมีการดำเนินคดีกับประชาชนที่ถูกจับกุมอยู่

แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐประหาร พ.ศ. 2549 ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หวนกลับ โดยเฉพาะการตื่นตัวของประชาชนที่มีความสนใจและมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้การทำรัฐประหารครั้งใหม่เกิดขึ้นได้ยาก ที่เห็นได้คือการเกิด “ปรากฏการณ์ตาสว่าง” ที่ทำให้ประชาชนเห็นถึงความชั่วร้ายของฝ่ายอำมาตย์ และทำให้เกิดการปฏิเสธสถาบันหลัก (Establishment) ที่ครอบงำสังคมไทยมาช้านาน ทำให้เห็นว่าสังคมไทยที่แท้จริงแล้วเป็นเมืองตอแหล หน้าไหว้หลังหลอก พร่ำพูดกันแต่เรื่องดีด้านเดียว ไม่สนใจความจริง ชนชั้นนำไทยไม่สนใจและเอาใจใส่ชีวิตของประชาชนระดับล่าง ยิ่งกว่านั้นยังได้เห็นธาตุแท้ของตุลาการและกระบวนยุติธรรมที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนชั้นล่าง แต่ยอมจำนนกับการรัฐประหารและพร้อมจะเอื้ออำนวยให้มีการจับผู้บริสุทธิ์เข้าคุก

สถานการณ์ในระยะ 6 ปีนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่จะสร้างประเทศให้มีความก้าวหน้ามั่นคงไม่อาจจะฝากความหวังใดกับชนชั้นนำ เพราะชนชั้นนำไทยมีแนวโน้มทางทรรศนะที่เป็นอนุรักษ์นิยมจัด โลกทัศน์แคบ หวาดกลัวความคิดแตกต่าง ยอมรับและปอปั้นอภิสิทธิ์ชนและไม่นิยมประชาธิปไตย

อำนาจในการเปลี่ยนแปลงสังคมจึงอยู่ที่ประชาชนระดับล่าง ซึ่งมีใจรักประชาธิปไตย เคารพในสิทธิของมนุษย์ คิดในหลักเสมอภาคและมีจิตใจกล้าต่อสู้ ปัญญาชนที่ก้าวหน้าและอยู่ฝ่ายประชาชน เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ ครก.112 กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนักวิชาการแนวหน้าคนอื่นๆ อาจจะมีบทบาทในการนำเสนอประเด็นต่อสังคมไทย แต่การผลักดันให้เป็นจริงย่อมอยู่ที่การทำให้ประเด็นเหล่านั้นมีลักษณะยอมรับร่วมกันในหมู่ประชาชน การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยจึงจะเป็นจริงได้

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

เมื่อ“ความจริง”กำลังไล่ล่า..วาทกรรมตอแหล

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 377 วันที่ 15-21 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 18 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน



คดีนายพัน คำกอง อายุ 43 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ ที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิต เนื่องจากเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภ และพยานทั้งหมดยืนยันตรงกันว่าทหารเป็นฝ่ายยิงผู้เสียชีวิต เพราะพื้นที่บริเวณนั้นอยู่ในความดูแลของทหารเพียงฝ่ายเดียวนั้น ถือเป็นคดีแรกที่ศาลจะมีคำสั่งไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตตามกฎหมายในวันจันทร์ที่ 17 กันยายนนี้ ไม่ว่าคำสั่งจะระบุเช่นใด ขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของคณะพนักงานสอบสวนรับไม้ต่อ เพื่อทำสำนวนการสอบสวนดำเนินคดีให้เสร็จสิ้น

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความคดีนายพัน ระบุเป้าหมายการไต่สวนครั้งนี้ว่า ต้องการให้ศาลเชื่อว่าบริเวณที่นายพันถูกยิงเสียชีวิตไม่มีประชาชนหรือ “ชายชุดดำ” ตามที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนั้นกล่าวอ้าง มีเพียงทหารตั้งกำลังสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เข้าไปยังสี่แยกราชประสงค์ นายพันจึงถูกยิงจากทหาร

คดีนายพันที่ศาลจะมีคำสั่งคดีจึงมีความสำคัญอย่างมากกับการสั่งสลายการชุมนุม นปช. เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่มีผู้เสียชีวิต 98 คน และบาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้หารือกับ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน และได้ข้อสรุปว่าจะแยกสำนวนการสอบสวนคดีฆาตกรรมเป็นรายคดี โดยแบ่งตามสถานที่เกิดเหตุและผู้เสียชีวิตออกเป็นแต่ละสำนวน โดยยึดหลักการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ

“ถ้าจุดเดียวกันมีผู้เสียชีวิตหลายคน จึงเชื่อได้ว่าผู้ทำให้เสียชีวิตต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน จึงเห็นควรรวมคดีเป็น 1 สำนวน เช่น กรณีการเสียชีวิต 6 ศพในวัดปทุมวนารามวรวิหาร และดำเนินคดีฆาตกรรมกับผู้กระทำให้เสียชีวิต โดยแจ้งข้อกล่าวหาฆ่าคนตายกับผู้ก่อเหตุ แต่เรื่องดังกล่าวมีข้อกฎหมายอาญา มาตรา 70 เกี่ยวข้อง ทหารที่ปฏิบัติภารกิจในครั้งนั้นเป็นการทำตามคำสั่งจึงอาจไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 70”

แจ้งข้อหาผู้สั่งการสูงสุด

นายธาริตยังระบุว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “บุค คลสั่งการ” หรือ “ผู้ออกคำสั่ง” ซึ่งมีการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ออกคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น พนักงานสอบสวนจะแยกเป็นอีก 1 คดี โดยจะพิจารณาเรื่องของเจตนาในการกระทำให้เสียชีวิตตามกฎ หมายอาญา มาตรา 59 ซึ่งต้องวิเคราะห์ว่าเป็นเจตานาเล็งเห็นผลหรือไม่ เพื่อจะนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาฆ่าคนตายโดยเจตนากับผู้สั่งการสูงสุดต่อไปคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปตามพยานหลักฐาน

นายธาริตชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีผู้ร้องมายังดีเอสไอว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ซึ่งมีทั้งได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสกว่า 2,000 ราย พนักงานสอบสวนจะแยกสำนวนเป็นรายคดีเช่นกัน หากนับตามรายชื่อผู้บาดเจ็บประ มาณ 2,000 สำนวนคดี ถ้าคำสั่งศาลระบุว่าสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานสอบสวนก็แจ้งข้อกล่าวหาพยายามฆ่ากับผู้เกี่ยวข้องทั้ง 2,000 สำนวน หากการตายเกิดต่างสถานที่และวันเวลา แต่เท่าที่ทราบบางสถานที่มีผู้เสียชีวิตพร้อมกันหลายคนก็ใช้หลักเดียวกันกับการดำเนินคดีฆาตกรรม คือรวมสำนวนคดี

4 มาตราเอาผิดคดีฆาตกรรม

นายธาริตในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบ สวน ยังอธิบายข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำ เนินคดีและแนวทางการทำงานของพนักงานสอบสวน หลังศาลมีคำสั่งวันที่ 17 กันยายนว่า จะอธิบายเป็นเพียงข้อเท็จจริงตามตัวบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดี เพราะต้องการให้ประชาชนเข้าใจในข้อกฎหมายที่พนักงานสอบสวนต้องใช้พิจารณาในการดำเนินคดี ไม่ใช่การชี้นำแนวทางการสอบสวนแต่อย่างใด

แต่คำสั่งไต่สวนคดีนายพันของศาลจะมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายอาญา มาตรา 150 ที่ระบุว่า ศาลจะต้องระบุว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย โดยเฉพาะถ้ามีคนทำร้ายให้ตาย ศาลต้องระบุว่าใครเป็นผู้ทำร้ายให้ตายเท่าที่จะทราบได้ ถือเป็นรายละเอียดที่ระบุไว้ในกฎหมาย ซึ่งสำนวนของพนักงานสอบสวนและอัยการที่ส่งให้ศาลไต่สวนคือ เจ้าหน้าที่รัฐทำให้ตาย

ดังนั้น ถ้าหากศาลเห็นพ้องตามอัยการและมีคำสั่งดังกล่าว ตามกฎหมายอาญา มาตรา 150 ระบุให้ศาลทำคำสั่งส่งไปยังพนักงานอัยการเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อ ประกอบด้วย อัยการ ดีเอสไอ และตำรวจ เมื่อพนักงานสอบสวนตั้งเป็นสำนวนคดีฆาตกรรม จะมีข้อกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 4 มาตราคือ มาตรา 288 ความผิดฐานฆ่าคนอื่นให้ถึงแก่ความตาย กฎหมายกำหนดว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี

ส่วนข้อเท็จจริงในพฤติการณ์จะมีมาตรา 84 มาเกี่ยวข้องกับความรับผิดของผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด ที่ระบุว่า ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ว่าด้วยการใช้บังคับขู่เค็ญ หรือจ้างวาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีการอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

มาตรา 59 เกี่ยวกับเจตนา ระบุว่า บุคคลที่ต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อต้องกระทำโดยเจตนา แต่กฎหมายระบุว่ากระทำโดยเจตนามี 2 อย่างคือ 1.รู้สำนึกโดยการกระทำ และขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล และ 2.เล็งเห็นผลต่อการกระทำนั้น

และมาตรา 70 ระบุว่า ผู้ใดกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน แม้คำสั่งนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎ หมาย แต่ผู้กระทำมีหน้าที่หรือเชื่อโดยบริสุทธิ์ว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม มิต้องรับโทษ

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การสอบสวน “ผู้สั่งการสูงสุด” ที่พนักงานสอบสวนต้องไล่ลำดับจากผู้สั่งการสูงสุดจนถึงพลทหาร ตามมาตรา 70 เจ้าพนักงานที่ออกคำสั่งระดับสูงสุดคือ นายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพ ซึ่งมีการร้องทุกข์กล่าวโทษทั้งสองจากญาติผู้เสียชีวิตให้ดำเนินคดีในฐานะ “ผู้สั่งการสูงสุด” ทั้งการสอบสวนก็ระบุว่าเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้คำสั่งการของ ศอฉ. ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบสูงสุดคือ นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศอฉ.

ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ การออกคำสั่ง ไม่มีคำสั่งโดยตรงให้ออกไป “ฆ่าประชาชน” แต่มีคำสั่ง ศอฉ. ให้ใช้ “อาวุธ” เพื่อขอคืนพื้นที่และกระชับพื้นที่ แม้จะกำหนดให้ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก พนักงานสอบสวนต้องนำมาวิเคราะห์ข้อเท็จจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการสั่งที่มีเจตนาเล็งเห็นผลตามมาตรา 59 หรือไม่ แต่ทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพก็ยืนยันว่าไม่เคยมีคำสั่งให้ทำร้ายหรือฆ่าคน

ปริศนาชายชุดดำ?

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่กลายเป็นการตอบโต้ทางการเมือง นอกจากกรณีที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. เรียกร้องให้ดีเอสไอเรียกสอบพลซุ่มยิงเพิ่ม เพราะมีเอกสาร ศอฉ. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพลซุ่มยิงจำนวน 39 คน และไม่เชื่อว่าจะใช้กระสุนยางแล้ว คือกรณี “ชายชุดดำ” หรือ “ไอ้โม่งชุดดำ” ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาแถลงพร้อมหลักฐานว่ามีกองกำลังชุดดำที่สนับสนุน นปช. จริง

โดยนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เคยออกมายอมรับว่ามีกองกำลังติดอาวุธอยู่จริง และชายชุดดำที่โดนจับก็ยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุที่บริเวณแยกคอกวัว ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในกระบวนการชั้นศาลหมดแล้ว แต่ นพ.เหวงตอบกลับว่าให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมตรวจสอบ แต่ยืนยันว่า เสธ.แดงกับกลุ่มคนเสื้อแดงไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งยังเคยสั่งให้จับเสธ.แดงถึง 2 ครั้ง

โดยเฉพาะกรณีนายมานพ ชาญช่างทอง คนเก็บของเก่าขาย ซึ่งนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ตอบโต้ “ข่าวสด” ที่ว่านายชวนนท์มั่ว ยืนยันว่านายมานพเป็น “ชายชุดดำ” โดยอ้างคำแถลง ของนายธาริตเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 ว่ามีหลักฐานว่านายมานพเป็น “ชายชุดดำ” ที่ยิงปืนใส่ทหารและประชาชนบนถนนดินสอ และวันที่ 21 มกราคม ดีเอสไอนำไปฝากขังต่อศาล 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2554 เท่ากับว่าขณะนี้นายมานพยังเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายอยู่

ชีวิตจริง “ซาเล้งชุดดำ”

ขณะที่ “ข่าวสด” ได้สัมภาษณ์และนำภาพนายมานพที่ปัจจุบันพักอยู่ที่ อ.บางบัวทอง จ.นนท บุรี กับภรรยาและลูกรวม 4 คน ภายในบ้านโทรมๆที่ปลูกขึ้นเอง ใช้ไม้เก่าจากแผ่นป้ายโฆษณาทำเป็นฝาบ้าน และสังกะสีเก่าๆที่เก็บได้มามุงหลังคา นอกจากนี้ยังเลี้ยงเป็ดและปลูกผักไว้กินเอง จนชาวบ้านใกล้เคียงส่วนใหญ่สงสาร มักนำอาหารและขนมมาให้เป็นประจำ

นายมานพกล่าวว่า ร่วมชุมนุมกับ นปช. ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เนื่องจากเห็นว่าประ ชาชนถูกกลุ่มอำมาตย์ปล้นประชาธิปไตยไป จึงต้องการไปทวงคืนกลับมา โดยตนทำหน้าที่เป็นการ์ดอาสาช่วยดูแลความปลอดภัยให้พี่น้องเสื้อแดงที่มาชุมนุม เข้าเวรยามช่วงเที่ยงคืนถึงเช้า และทุกวันจะมีหน้าที่ซื้อหนังสือพิมพ์ให้แกนนำ นปช. เวลาที่เหลือจะเดินเก็บขวดน้ำ กระป๋องน้ำอัดลมในพื้นที่ชุมนุมเพื่อนำไปขายหารายได้ จนวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่มีการโยนแก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์ และช่วงเย็นเริ่มมีเสียงปืนดังขึ้น

นายมานพเล่าว่า ขณะนั้นทราบมาว่ามีกำลังทหารนำรถถังและรถหุ้มเกราะมาปิดล้อมพื้นที่ด้านโรงเรียนสตรีวิทยาและแยกคอกวัว แกนนำประกาศบนเวทีขอกำลัง 5,000 คน ไปช่วยผู้ชุมนุมที่คอกวัว จึงเดินทางไปช่วย และใช้เวลาเดินทางนานมาก เนื่องจากทหารปิดถนนหลายสาย กว่าจะไปถึงก็เที่ยงคืนกว่า และเสียงปืนก็เงียบลง เห็นกลุ่มทหารกว่า 30 นาย พร้อมอาวุธปืนตกอยู่ในวงล้อมของผู้ชุมนุมบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา จึงประสานกับแกนนำ นปช. ว่าจะเอาอย่างไรกับทหารกลุ่มนี้ หากปล่อยไว้คงจะเป็นอันตราย จากนั้นเข้าไปพูดกับนายทหารผู้คุมกำลังเพื่อขอปลดอาวุธทั้งหมด และจะพาออกไปอย่างปลอดภัย อาวุธที่ปลดไปเป็นปืนทราโว 4 กระบอก และเอ็ม 16 แต่ก่อนจะนำไปมอบให้แกนนำ นปช. ที่เวทีผ่านฟ้าฯ ระหว่างทางมีช่างภาพหลายคนเข้ามาถ่ายรูปจนถูกกล่าวหาเป็น “ชายชุดดำ” และจำเลยในคดีก่อการร้าย เพราะวันเกิดเหตุใส่เสื้อดำและสวมไอ้โม่งดำจริง เนื่องจากเห็นคนอื่นใส่แล้วเท่ดี และตนเป็นคนหัวล้านจึงใส่บ้าง ส่วนที่ใส่ถุงมือก็เพื่อไว้จับกระป๋องแก๊สน้ำตาที่ทหารโยนใส่ผู้ชุมนุม และยืนยันว่าตนเองยิงปืนไม่เป็น

หลังถูกจับต้องอยู่ในคุกหลายเดือน จนกระทั่งมีผู้ใหญ่นำเงิน 600,000 บาท มาช่วยประกันตัวออกมา ทุกวันนี้ยังเก็บขยะขาย มีรายได้เฉลี่ย 2-3 วันประมาณ 300 บาท

ความจริงไล่ล่าวาทกรรมตอแหล

กรณี “ชายชุดดำ” จึงมีจริง แต่จะเป็น “ไอ้โม่งชุดดำ” ที่เป็น “ผู้ก่อการร้าย” หรือ “ชายชุดลายพราง” ที่ใช้ปืนซุ่มยิงนกยิงใส่ผู้ชุมนุมนั้น วันนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ไม่ว่าจะจากการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) หรือดีเอสไอ ซึ่ง พ.ต.อ.ประเวศน์ยอมรับว่าเป็นเงื่อนปมที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครถูก “ชายชุดดำ” ยิงบาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีเพียงคลิปภาพที่ถนนราชดำเนินและบ่อนไก่เท่านั้น จึงพยายามหาหลักฐานว่า “ชายชุดดำ” ที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ และทำร้ายเจ้าหน้าที่เป็นใคร

ขณะที่มีคลิปทหารจำนวนมากวิ่งผ่านกล้อง และมี “ทหารใส่ชุดพลเรือน” คนหนึ่งถือปืนวิ่งผ่านไป แต่ ศอฉ. กลับใช้วาทกรรมตอแหลบิดเบือน ว่าเป็นภาพทหารชุดยิงคุ้มครองเพื่อนำคนเจ็บออกจากพื้นที่ ส่วนทหารที่ใส่ชุดพลเรือนถือปืนเอ็ม 16 เป็นเพียงแค่ “เด็กส่งอาหาร” ให้กองกำลังในจุดต่างๆซึ่งอันตราย จึงมีความจำเป็นต้องใส่ชุดพลเรือน ให้กลมกลืนกับบุคคลทั่วไปเพื่อความปลอดภัย

จึงไม่แปลกที่วันนี้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพก็ยังใช้ปริศนา “ชายชุดดำ” มาโจมตีคนเสื้อแดงว่าเป็นคนที่ยิงทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม แม้การไต่สวน คดี 98 ศพ พยานจะยืนยันว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะนายพัน แต่ยังมีกรณี 6 ศพในวัดปทุมวนาราม กรณีนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ส ชาวญี่ปุ่น หรือกรณี นายฟาบิโอ โบเลงกี ช่างภาพอิสระ ชาวอิตาลี

ปรากฏการณ์นอนตาย “ตาสว่าง”

ปริศนา “ชายชุดดำ” จึงเป็นตัวแปรสำคัญในคดี 98 ศพที่อาจพลิกไปทางไหนก็ได้ เพราะมีหลักฐานทั้งภาพถ่าย วิดีโอ และข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศว่ามี “ชายชุดดำ” จริง แต่จะเป็นของฝ่ายใด หรือของทั้งสองฝ่าย หรือเป็นแค่ “คนสวมชุดดำ” ก็ตาม ทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพก็นำวาทกรรม “ชายชุดดำ” มาใช้เป็น “ความชอบธรรม” ในการขอคืนพื้นที่และกระชับวงล้อม

แม้วันนี้ “ชายชุดดำ” ยังไร้ร่องรอย ปรากฏเพียง “ชายชุดดำซาเล้งเก็บขยะ” ที่กลายเป็น “ชายชุดดำซาเล้งอำมหิต”?, “ชายชุดดำยิงหนังสติ๊ก”, “ชายชุดดำยิงบั้งไฟ” และมีแนวโน้มจะเป็นเหมือน “ผังล้มเจ้า” ที่กลายเป็น “ผังกำมะ ลอ” ที่ดึง “เบื้องสูง” มาใช้ทำลายฝ่ายตรงข้าม แต่กลับไม่มีใครเอาผิด “ผู้สั่งการสูงสุด” ได้

“ความคาดหวัง” จากครอบครัวผู้เสียชีวิต 98 ศพ รวมทั้งผู้บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน ที่เชื่อว่าในที่สุดเมื่อความจริงค่อยๆปรากฏจะสามารถเอาตัว “คนผิด” ที่ “สั่งฆ่า” ประชาชน เจ้าหน้าที่ และผู้บริสุทธิ์นั้น นับว่าเป็น “ความคาดหวัง” ที่ยากจะเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อเทียบเคียงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา หรือช่วงพฤษภาทมิฬนั้น ไม่เคยมีเหตุการณ์ใดสามารถสาวถึงผู้บงการ หรือหาคนที่กระทำความผิดได้เลย

ประเทศไทย ณ วันนี้จึงมิอาจคาดหวัง “คำพิพากษา” ใดๆได้จากกระบวนการยุติธรรมไทยภายใต้อำนาจที่ไม่ปรกติ

อาจมีเพียง “คำพิพากษาจากสังคม” และ “ความจริง” เท่านั้นที่กำลังไล่ล่า “ฆาตกรมือเปื้อนเลือด” ท่ามกลางโศกนาฏกรรมระหว่างประชา ชน “ผู้บริสุทธิ์ที่ นอนตายตาสว่าง” กับ “ฆาตกรตอ แหลที่นอนหลับ ตาไม่ลง” เท่านั้น!

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

สมุหราชองครักษ์ยืนยันจากสัญญาณเปลือกทุเรียน “ทหารยิงประชาชน” แต่ชาวบ่อนไก่ต้องระวังต่อไปคือ....?


จาก ข่าวเจาะลึก หนังสือพิมพ์ RED Power ฉบับที่ 28 เดือน สิงหาคม 2555

การสังหารประชาชนคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ สุเทพยืนถือธงว่าคนชุดดำเป็นคนฆ่า นายชวนก็เดินตามมาว่าคนเสื้อแดงฆ่ากันเอง ทหารคนเก่งก็ว่าใครฆ่าไม่รู้ เล่นสนุกขุดรูอยู่ไม่ยอมดูเดือนดูตะวันมานานกว่า 2 ปีแล้ว คราวนี้เห็นทีจะพูดไม่ออก เมื่อคนระดับรองสมุหราชองครักษ์ พล.อ.ณพล บุญทับ กล่าวเองในที่สาธารณะ กล่าวอย่างจะจะโดยไม่ใช่การสอบสวน ปรากฏว่าเป็นข่าวหน้าหนึ่งกันทุกฉบับเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2555 เป็นการต้อนรับวันแม่ แต่ที่นำมาอ้างอิงนี้นำมาจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับสำนักพระราชวังจึงต้อง จึงขอลอกข่าวสดดังนี้
                   เวลาประมาณ14.00น.ที่โรงแรมเฟิร์ส ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กทม.      พล.อ.ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการบรรยายพิเศษในหัวข้อ ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า
 
สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงบอกให้ผมไปดูว่าชาวบ้านตรงบ่อนไก่มีปัญหาอะไร เพราะท่านรู้ว่ามีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ก็มีคนค้านว่าจะไปช่วยทำไมตรงนั้น บ่อนไก่แดงทั้งเมือง พระองค์ท่านก็ไม่ว่าอะไร รับสั่งให้ผมลงไป เพราะเชื่อว่าผมจัดการได้ พร้อมพระราชทานเงินเบื้องต้นใส่ถุงมา 2 ล้านบาท ผมแต่งชุดธรรมดา ใส่เสื้อขะมุกขะมอม หมวกทรวงม้าเหยียบไปดู คุยหาข่าวจากร้านส้มตำไก่ย่าง ถามว่าไปไหนกันหมด เขาบอกว่าไปหาเงินเพราะพวกทหารไล่ยิงเดือดร้อน รถเข็นเดือดร้อนยิงหม้อก๋วยเตี๋ยวทะลุ กระจกพัง ชาวบ้านบอก ทหารตัวดี ถ้าเจอจะเอาทุเรียนตบหน้า เท่าที่ฟังชาวบ้านไม่ได้รับการช่วยเหลือจากทางการ เพราะหาบเร่ รถเข็นไม่มีใบทะเบียนการค้าที่จะได้รับสิทธิ์ได้เงินชดเชย
 
พล.อ.ณพล กล่าวด้วยว่า จากนั้นตนนัดหมายให้ชาวบ้านมารับความช่วยเหลือที่กองงานของรองสมุหราชองครักษ์ ในเบื้องต้นมีคนมาขอให้ช่วยเหลือ 50 คน ซึ่งตนได้มอบเงินพระราชทานให้คนละ 5 พันบาทเพื่อใช้ทำทุนในการค้าขายหรือซื้อรถเข็นใหม่ พร้อมถุงยังชีพพระราชทานที่ใช้ยังชีพได้ 2-3 สัปดาห์ พร้อมได้บอกชาวบ้านว่ามีใครเดือดร้อนอีกให้มากรอกประวัติ และแจ้งความเสียหายแล้วเราจะส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจ เพื่อช่วยเหลือต่อไป ปรากฏว่ามีชาวบ้านมาแจ้งความจำนงจำนวนมาก สรุปแล้วเราช่วยชาวบ้านที่บ่อนไก่ไปกว่า 2 พันคน ใช้เงิน 20 ล้านบาทที่พระองค์ท่านพระราชทานลงมา
 
                   ผู้นำไทยนั้นสุดยอดขนาดไหน ก็ขนาดสำนักข่าวต่างประเทศทุกสำนักออกภาพให้เห็นกันชัดๆว่าทหารนั่งห้างยิงประชาชนทั้งเหตุการณ์ผ่านฟ้าและราชประสงค์ ก็ยังบอกว่าคนเสื้อแดงยิงกันเอง คราวนี้เจอรองสมุหราชองครักษ์จัดหนัดเต็มๆอย่างนี้เห็นทีจะต้องหยุดโกหกได้แล้วว่าใครฆ่าประชาชน
                   ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าเนื้อข่าวก็คือ ไฉนข่าวทำนองนี้จึงหลุดออกมาจากหน่วยงานที่สำคัญสูงสุด น่าคิดๆเห็นท่าจะเกิดพิธีบูชายัญทางการเมืองเพื่อให้อภิสิทธิ์ได้ขึ้นสวรรค์ที่กรุงเฮกแน่ละกระมัง หวังว่าระหว่างประกอบพิธีคงไม่มีเทพอัปสราฟ้อนรำด้วยเปลือกทุเรียนนะเค๊อะ
                   แต่ข่าวเจาะลึกที่หาที่ไหนไม่ได้นอกจาก Red Power ที่เดียว ที่ชาวบ่อนไก่ต้องระวังต่อไปโดยเฉพาะย่านชุมชนแออัดที่อยู่ในที่ดินของเถ้าแก่ใหญ่อีกไม่นานข่าวไล่ที่จะตามมา ถึงวันนั้นคนที่ได้เงินมา 5 พันบาทคงนั่งปวดฟันพูดก็ไม่ได้จะฟ้อนเปลือกทุเรียนก็คงจะเลี่ยนเต็มที.
.

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

สงครามน้ำ 2555รัฐบาลกับกลุ่มต่อต้าน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 376 วันที่ 8-14 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 11 คอลัมน์ กรีดกระบี่บนสายธาร โดย เรืองยศ จันทรคีรี
คาดหมายไม่ยากนักสำหรับการสัประยุทธ์ในวาทกรรมอุทกภัยระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านจะต้องเกิดขึ้น ซึ่งฝ่ายค้าน รวมไปถึงฝ่ายต่อต้านทุกแขนงไผ่ แม้แต่ฝ่ายที่เรียกว่า “อำนาจแฝง” หรือ “อำนาจเร้นลับ” ก็ตาม

การเริ่มต้นของสงครามเห็นได้จากกรณีที่นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ออกมาโต้แย้งนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) หรืออดีตอธิบดีกรมชลประทานอย่างนายกิจจา ผลภาษี ที่เสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปลดนายปลอดประสพออกจากประธาน กบอ. โดยให้เหตุผลว่านายปลอดประสพไม่รู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะในอดีตเป็นแค่อธิบดีกรมประมงและกรมป่าไม้ จึงเกิดวิวาทะร้อนแรงเรื่องการแก้ไขปัญหาอุทกภัยช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

วิวาทะสงครามน้ำยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังมีการตอบโต้รัฐบาลที่มีแผนให้ทดสอบการระบายน้ำ โดยนายปลอดประสพเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำว่าเป็นอย่างไร เพื่อรองรับอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น ประเด็นแรกจะได้รู้ว่างบประมาณที่ให้ กทม. ไปบริหารได้กระทำเสร็จหรือไม่ และถ้ามีปัญหาอย่างไรจะได้แก้ไขให้ดีขึ้น

รายการทดสอบนี้มีการสร้างวิวาทะอีกรอบ ทั้งจากฝ่ายนายปราโมทย์และ กทม. โดยเฉพาะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยในการทดสอบการระบายน้ำ และอยากให้เลื่อนออกไปเป็นเดือนตุลาคมมากกว่า โดยให้เห็นผลว่าเนื่องจากช่วงวันที่ 5 และ 7 กันยายนที่จะทดสอบการระบายน้ำนั้นเป็นช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง และอาจมีพายุเข้ามาด้วย จึงเสี่ยงที่จะสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้

กรณีนี้แม้รัฐบาลจะอธิบายว่าการระบายน้ำไม่มีปัญหา เพราะระบายเพียง 30% เท่านั้น ถ้าเกิดปัญหาก็ระงับได้ทัน ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในฐานะที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของ กทม. ย้ำว่าถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็ขอให้ฟังความเห็นของตัวเองเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่ต้องฟัง กบอ. แม้จะออกมาแถลงว่าไม่มีปัญหาขัดแย้งกันแต่อย่างใดก็ตาม

ความจริงไม่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใดว่าปี 2555 นี้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะเอาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งมาเป็นอาวุธโจมตีรัฐบาล โดยคาดหวังจะต้อนให้รัฐบาลเข้ามุมอับ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่เรื่องงบประมาณ 350,000 ล้านบาท เพียงอย่างเดียว ความจริงแล้วรัฐบาลมีประสบการณ์การบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยจากเมื่อปีที่แล้ว ก็จะรู้ว่าอะไรเป็นจุดอ่อน จุดบกพร่อง และจุดแข็ง แล้วจึงประมวลเป็นวิธีบริหารจัดการในปี 2555 ได้เป็นอย่างดี โดยสรุปจากบทเรียนเก่า และแก้ไขข้อบกพร่องในเชิงประชาสัมพันธ์อย่างเป็นรูปแบบ เช่น การจัดนิทรรศการเปิดเผยเรื่องการจัดนิทรรศการน้ำให้ประชาชนรับทราบ เปิดเผยข้อเท็จจริงการป้องกันอุทกภัย การตั้งรับ ตลอดจนการฟื้นฟูและพัฒนาในระยะยาว ซึ่งปีที่แล้วเห็นได้ชัดเจนว่าการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลด้อยประสิทธิภาพอย่างมาก

แต่งานประชาสัมพันธ์เพียงเท่านี้คงไม่พอที่จะตั้งรับสงครามทางการเมืองกับวาทกรรมน้ำ เพราะบริบทการเล่นงานรัฐบาลคงมีทุกมิติ ทั้งในสภาและนอกสภา รวมทั้งสงครามข่าวสารทั่วไป

ตั้งแต่หลังวันที่ 7 กันยายนเป็นต้นไปจึงจะเห็นชัดเจนว่าสงครามน้ำปี 2555 จะมีความกราดเกรี้ยวไม่แพ้ปีที่ผ่านมา ทั้งจะเป็นบทเรียนนอกตำราที่ไม่มีในหลักสูตรใดๆอีกด้วย เพราะการเมืองเรื่องน้ำศึกษาได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นเอง อีกทั้งยังเป็นการอวดภูมิรู้ที่แตกต่างกันอีกด้วย

ความยากของรัฐบาลจึงไม่ใช่เพียงการบริหารจัดการน้ำเท่านั้น หากต้องบริหารบุคลากรที่มีความรู้ทั้งหลายให้สามารถบูรณาการร่วมกันได้อย่างไร นอกจากการตีรันฟันแทงให้พินาศไปเพราะลุแก่อำนาจ

สงครามน้ำครั้งนี้จึงจะได้เห็นอำนาจแฝงอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง และจะเปิดเผยตัวตนให้เห็นมากมายว่าใครเป็นใครในสงครามน้ำปีที่ผ่านมาและปีนี้

พรรคประชาธิปัตย์ต้องจับเรื่องนี้เป็นเกมสัประยุทธ์อย่างซับซ้อนและทุกมิติ บางบริบทอาจเป็น “หลุมลึก” ที่อาจกลายเป็น “กับดัก” ให้รัฐบาลหลงทางได้ไม่ยาก

เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมากกว่าปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากการฆ่าแกนนำในการเรียกร้องค่าชดเชยเรื่องน้ำที่อยุธยาเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเชื่อว่าแกนนำดังกล่าวมีความขัดแย้งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยอย่างไม่ยุติธรรม

ความขัดแย้งระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชนอาจกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนขึ้นมาได้ จึงเป็นไปได้ว่าหมากที่ซ้ำซ้อนจนแปรให้ “น้ำผึ้งหยดเดียว” กลายเป็นวิกฤตนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

จึงเป็นอีกหลุมการเมืองที่รัฐบาลต้องระมัดระวังให้มาก เรียกว่าประมาทไม่ได้แม้แต่นิดเดียว เพราะสงครามน้ำปี 2555 จะเกิดขึ้นอย่างซับซ้อนและละเอียดอ่อนกว่าปีที่แล้วแน่นอน ทั้งอาจกลายเป็นไม้ตายไม้หนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการหวังโค่นล้มรัฐบาลได้ ตลอดจนการสนับสนุนของแนวร่วมสารพัดกลุ่มที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งสุดจะหยั่งคาดการณ์ได้

สงครามน้ำจึงจะมีไปอย่างต่อเนื่องและรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่รัฐบาลก็กำลังทำให้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่ทดสอบการระบายน้ำโดยปล่อยน้ำเข้า กทม.

สงครามครั้งนี้จึงอาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์สร้างภาพ สร้างสถานการณ์ขัดขวางการระบายน้ำผ่านคูคลองต่างๆ ซึ่งถ้าทำจริงประชาชนก็จะเดือดร้อน แต่จะเป็น “บูมเมอแรงที่ย้อนกลับมาหารัฐบาลอย่างเต็มเป้า”

ลูกโป่งอาจจะแตกตอนนี้ก็ได้!

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

เรื่องของคนเก่งในบ้านเมืองเรา


จาก หนังสือพิมพ์ RED Power ฉบับที่ 28 เดือน สิงหาคม 2555
โดย  ลุงชาญ
ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา  เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีความรู้ ความสามารถเสนอตัวเข้ามาให้คัดเลือกเป็นตัวแทน  เพื่อเข้ามาบริหารประเทศ  โดยใช้อำนาจที่ประชาชนมอบให้  เป้าหมายก็เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่  มีชีวิตที่ดีขึ้น  อีกทั้งพัฒนาประเทศให้เจริญขึ้นตามลำดับ
                   แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  เรามีผู้นำเก่ง ๆ ที่จะมาบริหารประเทศน้อยมาก  คนแรกที่เก่ง ต้องยกให้ อาจารย์ปรีดี  พนมยงค์  ซึ่งเป็นผู้ที่เรียนจบจากเมืองนอกมา  ได้เริ่มนำพาประเทศไทยได้ก้าวหน้ามาระดับหนึ่ง  แต่สุดท้ายก็ถูกใครไม่รู้เขี่ยกระเด็นจนไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ แต่ความเก่งของอาจารย์ปรีดี ก็ได้แค่แสดงความสามารถการบริหารด้านปกครอง ด้านการเมือง  และพยายามสร้างไทยให้เป็นไทจริง ๆ โดยไม่ยอมอยู่ภายใต้คนฝรั่ง  ซึ่งสมัยนั้นฝรั่งได้เข้ามาเอารัดเอาเปรียบคนไทยหลาย ๆ ด้าน  เช่น ขอสัมปทานการค้าทรัพยากรต่าง ๆ ของไทย  และที่ร้ายไปกว่านั้นคือไม่ยอมรับอำนาจศาลไทย เมื่อทำการค้าเกิดความผิดก็จะไปขึ้นศาล ณ ประเทศของเขา  อาจารย์ปรีดี  ก็ได้ต่อสู้จนฝรั่งต้องยอมรับบนความเสมอภาค
                    คนต่อมาเป็นทหารทำการรัฐประหาร  ตั้งตัวเองเป็นผู้บริหารประเทศโดยประชาชนมิได้เลือกมา  เขาเข้ามาบริหารประเทศโดยอาศัยอำนาจจากปลายกระบอกปืน  ซึ่งผมจะไม่นำมาเอ่ยถึง  เพราะสร้างผลงานตามระบบราชการ คือ คอยฟังแต่ข้อเสนอของข้าราชการ และพ่อค้าคนจีนสมัยก่อน  ที่เข้าหา และเสนอผลประโยชน์ร่วมกัน
                   คนที่ทำผลงาน พอมีอยู่บ้างก็คงจะเป็น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  ที่ยังพอเหลียวมองประชาชน คนรากหญ้าอยู่บ้าง  แต่สุดท้ายก็ยังคงรักษาผลประโยชน์ของพวกชนชั้นสูงอยู่นั่นเอง
                   ถัดมาก็เห็นจะเป็นนายก พล.อ.ชาติชาย  ชุณหะวัณ  ซึ่งแม้ว่าจะมาจากทหาร  แต่ก็มาจากการเลือกของประชาชน  อีกทั้งเป็นนักเรียนนอก  และครอบครัวก็เป็นนักธุรกิจกับเขาเช่นกัน  จึงทำให้นอกจากเป็นผู้บริหารประเทศแล้ว  ยังค้าขายให้กับประเทศได้ด้วย  คำพูดอมตะของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ คือ “จะเปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า”  แต่พอจะฉายแววคนเก่งของประเทศก็ถูกโค่นลงเหมือนคนก่อน
                   ต่อมาไม่นาน เราก็ได้คนเก่งที่ชื่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไปเรียนจบปริญญาเอกจากต่างประเทศ  ผ่านการทำธุรกิจมาหลายอย่าง  ล้มลุกคลุกคลานบ้าง  ประสบความสำเร็จบ้าง  จนมีประสบการณ์มากมาย  ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จใหญ่หลวงจากธุรกิจดาวเทียม และการสื่อสาร  เติบใหญ่เป็นมหาเศรษฐีรุ่นใหม่  จนเป็นที่อิจฉาของนักธุรกิจด้วยกันเอง
                   พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร  เมื่อประสบความสำเร็จด้านธุรกิจแล้ว  ก็ตั้งใจจะมอบความสามารถทั้งหมดเพื่อให้กับประเทศของเรา  จนเป็นที่ยอมรับของประชาชน คนรากหญ้า  และเป็นที่ยอมรับจากนักการเมืองอีกจำนวนมาก  จนเป็นที่อิจฉาของนักธุรกิจคนอื่น ๆ จนกลายเป็นศัตรูของนักการเมืองเก่าเป็นอย่างมาก  ความเก่ง และความสามารถของท่าน  ผมต้องขอกล่าวว่า เก่งแบบไม่มีบันยะ บันยัง  เก่งเกินหน้า เกินตาคนอื่น ๆ  เขาเก่งจนล้น  เก่งจนเกินพอดี  จึงเป็นเหตุให้ นายกทักษิณ ชินวัตร  ต้องอยู่ด้วยกันไม่ได้  จนเป็นที่มาของคำว่า “ไม่เอานะ  ระบบทักษิณ”
                   สุดท้าย นายกทักษิณ ชินวัตร  ก็ต้องตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกันกับคนเก่งคนก่อน ๆ ที่แล้ว ๆ มา

 
                   ต่อมาปัจจุบันนี้  เราได้นายกหญิง ชื่อ นายกยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  ตอนโดดลงมาในสนามการเมืองใหม่ ๆ ก็ไม่เก่งสมบูรณ์  แต่พอเป็นนายกรัฐมนตรี  ประสบการณ์จากการเป็นนักบริหารที่เคยบริหารธุรกิจระดับพัน ๆ ล้าน  และได้รับการเติมเต็มจากอดีตนายกทักษิณ  ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย  และทีมงานการเมือง  ตลอดจนทีมงานยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย  ขณะนี้จึงพูดได้ว่า เป็นนายกหญิงที่มีสติปัญญาเต็มสมบูรณ์ทีเดียว  มีภาวะผู้นำ  ชัดเจนเด็ดขาด  เห็นได้จากการแต่งตั้ง ผบ.ตร. มาแล้ว 2 คน  ไม่มีติดขัดอันใดเลย  เสร็จสิ้นภายในเวลาอันรวดเร็วโดยไม่มีปัญหา
                   ถ้าหากนายกยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  รักษาความเก่ง  ความอ่อนน้อมถ่อมตน  ความอ่อนโยน  ความสุภาพ ให้คงเส้นคงวา  ไม่ให้ขาด  ไม่ให้เกิน  คนอื่น ๆ ก็จะทำอะไรไม่ค่อยได้  ได้แต่ค่อนแคะ และทำตาปริบ ๆ  นั่งดู ยืนดู นอนดู นายกหญิงคนเก่งคนนี้บริหารประเทศไปเรื่อย ๆ
                   ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง  ผมก็จะขอภาวนาให้นายกหญิง คนดี คนเก่งของผม  จงอยู่ยงคงกระพันตลอดไป  ให้ครบเทอม และต่ออีกเทอม อีกเทอม ไปเรื่อย ๆ เทอญ....... 
                  
สวัสดี